แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1095

นี่เป็นประโยชน์ที่ว่า ท่านผู้ฟังจะได้ขัดเกลาการติดอย่างมากในรูป อย่าเข้าใจผิดว่า บางรูปจะเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของกุศลได้ รูปเป็นอารัมมณปัจจัยของ กุศลจิตได้จริง แต่ว่าไม่มีสักรูปเดียวที่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของกุศลจิตได้

เพราะฉะนั้น ในชีวิตประจำวัน ถ้าเกิดพอใจในรูปและคิดว่าเป็นกุศล ก็ควรที่จะได้ระลึกถึงอารัมมณาธิปติปัจจัยว่า ถ้าเป็นกุศล ไม่ติด สละวัตถุนั้นได้ ขณะนั้นจึงเป็นกุศล แต่ไม่ว่าจะพอใจในรูปใดก็ตาม และเข้าใจว่าขณะนั้นเป็นกุศล ก็ขอให้พิจารณาว่า ถ้าเป็นรูปและมีความพอใจอย่างมาก ในขณะนั้นต้องไม่ใช่กุศล

ถ. ตรงนี้น่าคิด ที่อาจารย์กล่าวว่า รูปทั้งหมดไม่เป็นอารมณ์ของกุศล

สุ. ขอประทานโทษ ไม่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย อย่าลืม แยกกัน รูปเป็นอารมณ์ของกุศลจิตได้ แต่รูปเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของกุศลจิตไม่ได้

ท่านผู้ฟังให้ทาน ก็เป็นไปในเรื่องรูป ในขณะนั้นไม่ติด สามารถที่จะเป็นกุศล สละได้ เพราะฉะนั้น รูปจึงเป็นอารัมมณปัจจัย เป็นอารมณ์ของกุศลจิตได้ แต่รูปทั้งหมดเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของกุศลจิตไม่ได้ นี่เพื่อประโยชน์ที่ท่านจะได้ละคลายอกุศล ให้รู้ว่า ขณะที่กำลังพอใจอย่างหนักแน่นในรูปใดรูปหนึ่ง ในขณะนั้น รูปนั้นจะเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของกุศลไม่ได้

ถ. รูปของพระพุทธเจ้า จะเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของกุศลก็ไม่ได้

สุ. เป็นอารัมมณปัจจัยได้ แต่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยไม่ได้

ถ. ก็น่าคิด ขณะที่มัฏฐกุณฑลี เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จไป ทำให้กุศลจิตท่านเกิด

สุ. ขณะนั้นกุศลจิตเกิดใช่ไหม รูปนั้นเป็นเพียงอารัมมณปัจจัย แต่ขณะใดก็ตามที่เกิดติดในรูปนั้น ให้ทราบว่า ขณะนั้นเป็นโลภมูลจิตแล้ว

เพราะฉะนั้น การเคารพนอบน้อมสักการะจึงต้องมีเหตุผลว่า นอบน้อมเคารพสักการะในอะไร ในคุณธรรม ในพระคุณต่างๆ และถ้าจะเกิดกุศลจิตในขณะที่มีรูปเป็นอารมณ์ก็ต้องรู้ว่า ไม่ใช่ในขณะที่เป็นโลภมูลจิต และถ้าเกิดการติด หรือเกิดพอใจอย่างมาก อย่างหนักแน่น อย่างประทับใจ ให้ทราบว่า ในขณะนั้นเป็นโลภมูลจิต

จิตเกิดดับสลับกันเร็วมาก และลักษณะของจิตที่คล้ายคลึงกัน คือ กุศลจิตที่ประกอบด้วยศรัทธา กับโลภมูลจิต ถ้าสติไม่ระลึกรู้ก็อาจจะคิดว่า อกุศลจิตเป็น กุศลจิต

เพราะฉะนั้น ในเรื่องของปัจจัย จึงได้แสดงไว้โดยละเอียดกว่านี้มากว่า สภาพธรรมที่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย เป็นปัจจัยให้เกิดจิตประเภทไหนซึ่งเป็น ปัจจยุปบันธรรม

ปัจจัย เป็นเหตุให้เกิดผล คือ ปัจจยุปบันธรรม

อย่าลืม รูปทั้งหมดเป็นอารัมมณปัจจัยของกุศลจิต แต่ไม่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของกุศลจิต มิฉะนั้นแล้วจะหลงมีอกุศล และเข้าใจว่าเป็นกุศลทั้งนั้น

ท่านผู้ฟังชอบดอกไม้ชนิดไหน บางท่านอาจจะถามกัน ประเภทนั้นที่ชอบเป็นพิเศษเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย เวลาที่ถวายดอกไม้บูชาพระรัตนตรัย ในขณะนั้น รูปนั้นเป็นอารมณ์ของกุศลจิตได้ แต่ขณะที่ชอบเหลือเกิน พอใจมากในดอกไม้ประเภทนั้น ในขณะนั้นต้องอย่าลืม อารัมมณาธิปติปัจจัยของโลภมูลจิต ยังจะให้เป็นกุศลไหมในขณะนั้น เป็นกุศลในขณะที่บูชาพระรัตนตรัย แต่เวลาที่กำลังชอบมากจริงๆ ในขณะนั้นยังจะให้เป็นกุศลต่อไปอีกไหม หรือว่าขณะนั้นเป็นอกุศลแล้วโดยที่ไม่รู้

สำหรับอารัมมณาธิปติปัจจัย ถ้าเป็นเรื่องที่ยุ่งยากสลับซับซ้อนจนเกินไป ขอเพียงให้รู้ข้อสำคัญที่ว่า อารัมมณาธิปติปัจจัย โดยนัยของจิต ได้แก่ จิต ๘๔ ดวง เว้นจิต ๕ ดวง ซึ่งไม่เป็นที่ปรารถนา ไม่เป็นที่พอใจ สำหรับเจตสิกก็เว้นเจตสิก ที่เกิดกับจิตเหล่านั้น สำหรับรูปทั้งหมดเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของโลภมูลจิต แต่ไม่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของกุศลจิต และสำหรับนิพพานกับโลกุตตรจิต ไม่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของโลภมูลจิต แต่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของ โลกุตตรจิต มหากุศลญาณสัมปยุตตจิต และมหากิริยาญาณสัมปยุตตจิต

ที่ว่าโลกุตตรธรรม ๙ คือ นิพพานกับโลกุตตรจิต ไม่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของโลภมูลจิต สงสัยไหม ในเมื่อโลภมูลจิต หรือสภาพธรรมซึ่งได้แก่ โลภเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพที่ติดและพอใจ ไม่เว้นอะไรเลย นอกจากโลกุตตรธรรมเท่านั้น ทุกอย่างเป็นอารมณ์ได้ทั้งหมด โลภมูลจิตเกิดนับไม่ถ้วน เป็นไปในอารมณ์ต่างๆ ทุกขณะ ทุกวันอยู่เสมอ ไม่ว่าจะมีอะไรก็พอใจได้ทั้งนั้น นอกจากโลกุตตรธรรมเท่านั้นที่ไม่เป็นอารมณ์ของโลภมูลจิต

เรื่องของปัจจัยเป็นเรื่องที่ละเอียด สลับซับซ้อน แต่ให้ทราบว่า เป็นชีวิตประจำวันแต่ละขณะจิต จิตเกิดขึ้นดวงเดียว ขณะเดียวและดับ ผู้ที่ตรัสรู้ ทรงทราบว่า อาศัยปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้จิตนั้นเกิดขึ้นเป็นไปอย่างรวดเร็ว แต่คนที่ ไม่รู้ก็ไม่รู้ และถ้าจะศึกษาตามที่ได้ทรงแสดงก็รู้สึกว่า เป็นเรื่องที่ยุ่งยากสลับซับซ้อนและละเอียด ถ้าท่านผู้ฟังรู้สึกว่า ยุ่งยาก สลับซับซ้อนและละเอียดมาก ก็ให้ทราบว่า นี่คือความจริงของจิต สลับซับซ้อนและละเอียด ยากที่จะรู้ได้โดยถี่ถ้วน โดยละเอียดจริงๆ เพราะฉะนั้น จึงควรที่จะได้ศึกษาเรื่องของจิตโดยละเอียด รวมทั้งปัจจัยที่ทำให้เกิดจิตนั้นๆ ด้วย

ถ. อย่างปุถุชน ไม่มีใครที่ไม่มีอารัมมณาธิปติปัจจัย ทุกคนย่อมมีอารัมมณาธิปติปัจจัยให้แก่โลภมูลจิต แต่ไม่ใช่ว่าคนเราจะชอบเหมือนกัน คนที่มีความชอบต่างกันนี้ อารมณ์ที่จะเป็นอธิปติปัจจัย เกิดจากการสะสมในอดีตชาติหรืออย่างไร จึงเป็นเช่นนี้

สุ. แสดงให้เห็นว่า ยังมีปัจจัยอื่นอีกหลายปัจจัยที่จะต้องทราบว่า เพราะอะไรอารมณ์นั้นๆ จึงเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของบุคคลนั้น ของจิตในขณะนั้น ก็ต้องกล่าวไปถึงปัจจัยอื่นๆ ต่อไปอีก

ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า การศึกษาสภาพปรมัตถธรรมจะทำให้รู้ลักษณะของสิ่งที่มีจริง ที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ และการรู้เรื่องของจิต เจตสิก รูป และสภาพของจิต เจตสิก รูป ซึ่งเป็นปัจจัยทำให้จิต เจตสิก รูปนั่นเองเกิดขึ้น เป็นเรื่องที่ละเอียด แต่จะทำให้เข้าใจสภาพชีวิตประจำวันถูกต้องขึ้น ละเอียดขึ้น แม้ว่าจะเป็นความเข้าใจที่อาจจะเพิ่มขึ้นเพียงทีละเล็กทีละน้อยก็ตาม แต่ก็จะทำให้เข้าใจได้ว่า เพราะอะไรชีวิตจึงดำเนินไปอย่างนี้ไม่มีวันจบสิ้น ซึ่งทุกท่านอาจจะไม่เคยคิด

เมื่อวานนี้ก็หมดไปแล้ว เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก แต่ก็ไม่ได้หมดไป สูญไป ขาดไปเลย วันนี้ก็มีอีกแล้ว วันต่อๆ ไปก็มีอีกเรื่อยๆ เพราะอะไร ถ้าไม่มีปัจจัยที่จะทำให้สภาพธรรมเหล่านี้เกิดขึ้น สภาพธรรมเหล่านั้นก็เกิดไม่ได้ และสภาพธรรมที่เกิดมีขึ้นก็ได้แก่ จิต เจตสิก และรูปนั่นเอง เพราะฉะนั้น จึงควรที่จะรู้สภาพที่เป็นปัจจัยที่ทำให้จิต เจตสิก รูปเกิดในแต่ละขณะนี้ ซึ่งข้อความใน อภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา ที่อธิบายอภิธัมมัตถสังคหะ ปริจเฉทที่ ๘ เรื่องของปัจจัย มีข้อความว่า

ควรทำสุตมยญาณให้เกิดขึ้นว่า ธรรมเหล่านี้ มีความพิเศษอย่างนี้ แล้วทำความพากเพียรเพื่อตรัสรู้ความพิเศษแห่งปัจจัยนั้น ด้วยจินตามยญาณ และภาวนามยญาณ

คือ ฟังให้เข้าใจก่อนในเรื่องความพิเศษของธรรมแต่ละชนิด ซึ่งเป็นปัจจัยแต่ละอย่าง เช่น เหตุปัจจัย ได้แก่ เจตสิกที่เป็นเหตุ ๖ ดวง เพราะฉะนั้น ก็เป็นส่วนพิเศษของธรรมซึ่งเป็นเจตสิก ๖ ดวง ซึ่งธรรมอื่นคือเจตสิกอื่นๆ ไม่สามารถจะเป็นเหตุปัจจัยได้อย่างเจตสิก ๖ ดวงนั้น เพราะฉะนั้น ก็เป็นความพิเศษของธรรมพวกหนึ่ง ได้แก่ ธรรมที่เป็นเหตุ

และธรรม คือ จิต เจตสิก และรูป ต่างก็มีลักษณะที่พิเศษซึ่งทำให้เป็นปัจจัยที่พิเศษต่างๆ เมื่อได้เข้าใจแล้ว ทำความพากเพียรเพื่อตรัสรู้ความพิเศษแห่งปัจจัยนั้นด้วยจินตามยญาณ คือ ต้องมีการฟัง พิจารณา ตรึก จนกระทั่งเข้าใจ เพื่อตรัสรู้ความพิเศษแห่งปัจจัยนั้น ด้วยจินตามยญาณ และภาวนามยญาณ เพื่อให้รู้ตามความเป็นจริงว่า มีแต่สภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ถ้าไม่รู้ว่าเกิดขึ้นเพราะ เหตุปัจจัย ก็ยังคงไม่รู้ไปเรื่อยๆ แต่เพราะรู้จึงเข้าใจละเอียดขึ้นว่า ขณะใดสภาพธรรมใดเป็นปัจจัยให้เกิดสภาพธรรมใด

สำหรับปัจจัยที่ ๔ คือ อนันตรปัจจัย

ท่านผู้ฟังต้องไม่ลืมความหมายของปัจจัยว่า ได้แก่ สภาพธรรมซึ่งอุปการะ เป็นที่อิงอาศัยให้สภาพธรรมอื่นเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น เมื่อกล่าวถึงปัจจัย ต้องมี สภาพธรรมที่เป็นผลที่เกิดเพราะปัจจัยนั้น สภาพธรรมที่เป็นผลที่เกิดเพราะปัจจัยนั้นภาษาบาลีใช้คำว่า ปจฺจยุปฺปนฺนธมฺม ซึ่งภาษาไทยใช้คำตามภาษาบาลีว่า ปัจจยุปบัน ไม่ใช่ปัจจุบัน แต่เป็นปัจจยุปบัน

ปัจจัยเป็นเหตุ เป็นธรรมที่อิงอาศัย เป็นธรรมที่อุปการะให้ปัจจยุปบันธรรมเกิดขึ้น บางครั้งธรรมที่เป็นปัจจัยทำให้ปัจจยุปบันธรรมเกิดพร้อมกับตน เช่น เหตุปัจจัย ได้แก่ โลภเจตสิกเกิดขึ้น เป็นปัจจัยให้จิตและเจตสิกอื่นซึ่งเป็นปัจจยุปบัน เกิดพร้อมกันในขณะนั้นและดับไป

นี่คือลักษณะของความพิเศษของเหตุปัจจัย ซึ่งทำให้ปัจจยุปบันธรรมเกิด พร้อมกันและดับพร้อมกัน แต่สภาพธรรมบางอย่างที่เป็นปัจจัย ไม่ได้ทำให้ปัจจยุปบันธรรมเกิดพร้อมกันในขณะเดียวกัน แต่ทำให้เกิดภายหลังนานแสนนานก็ได้ เช่น กัมมปัจจัย ได้แก่ เจตนาเจตสิก ซึ่งเป็นเหตุให้กระทำกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม และถึงแม้ว่าจะดับไปนานแล้ว ไม่ได้ทำให้ผลเกิดขึ้นสืบต่อทันที อาจจะดับไปถึง แสนโกฏิกัปป์ แต่ก็ยังเป็นกัมมปัจจัยที่จะทำให้จิตและเจตสิกซึ่งเป็นวิบากเกิดขึ้น พร้อมกับรูปซึ่งเกิดขึ้นเพราะกรรมนั้นเป็นปัจจัย

นี่แสดงให้เห็นถึงความพิเศษ ความต่างกันของสภาพธรรมแต่ละอย่าง

สำหรับ อนันตรปัจจัย อนันตระ หมายความถึงสภาพที่เป็นปัจจัยให้ ปัจจยุปบันธรรมเกิดขึ้นโดยไม่มีระหว่างคั่น แต่ไม่ใช่พร้อมกันกับที่ปัจจัยนั้นเกิดเพราะฉะนั้น จิตเกิดขึ้นเป็นอนันตรปัจจัย หมายความว่า เมื่อดับไปแล้ว ทำให้จิตและเจตสิกอื่นเกิดสืบต่อโดยไม่มีระหว่างคั่น ไม่เหมือนอย่างกัมมปัจจัย ซึ่งเมื่อกรรมดับไป นานแล้วก็ยังทำให้ปัจจยุปปันธรรมเกิด แต่อนันตรปัจจัย ได้แก่ จิตและเจตสิกซึ่งเกิดและดับไป ทำให้ปัจจยุปปันธรรม คือ จิตและเจตสิกอื่น เกิดสืบต่อทันทีโดยไม่มีระหว่างคั่น

บางครั้งพูดถึงปัจจัย แต่ไม่ได้กล่าวถึงปัจจยุปปันธรรม เช่น เรื่องของอารัมมณาธิปติปัจจัย ได้กล่าวว่า สภาพธรรมใดเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยได้ แต่ไม่ได้แสดงโดยละเอียดว่า ทำให้ปัจจยุปปันธรรมคือจิตกี่ประเภทเกิดขึ้น เพราะถ้ากล่าวถึงโดยละเอียดจริงๆ ก็เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก

สำหรับ อนันตรปัจจัย นั้น มีปัจจัยที่คู่กันอีก ๑ ปัจจัย คือ สมนันตรปัจจัย ได้แก่ สภาพของจิตซึ่งเกิดดับสืบต่อกันโดยดี หรือว่าด้วยดี ตามลำดับ ไม่สับสน เช่น เมื่อปฏิสนธิจิตเกิดและดับไป เป็นอนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัยให้ภวังคจิตเกิด สืบต่อ จะไม่เป็นปัจจัยให้จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็นได้ทันทีหลังปฏิสนธิ แต่เมื่อ ปฏิสนธิจิตดับไป จะเป็นอนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัยให้ภวังคจิตที่เป็นวิบากจิตเกิด ซึ่งกรรมประเภทเดียวกันนั้นเองที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดและดับไป ทำให้ภวังคจิตเกิดสืบต่อจากปฏิสนธิจิต เพราะฉะนั้น ปฏิสนธิจิตจะไม่เป็นอนันตรปัจจัยให้กับจิตอื่น นอกจากภวังคจิต

ด้วยเหตุนี้ท่านที่ศึกษา อภิธัมมัตถสังคหะ ซึ่งรจนาโดยท่านพระอนุรุทธาจารย์ จะเห็นได้ว่า ปริจเฉทที่ ๔ ทั้งหมดที่ท่านพระอนุรุทธาจารย์รวบรวมไว้ มาจาก อนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัยในคัมภีร์ปัฏฐาน คัมภีร์ที่ ๗ ของพระอภิธรรมนั่นเอง ซึ่งขอกล่าวถึงเพื่อให้เห็นว่า อนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัย เป็นการแสดงเรื่องวิถีจิตทั้งหมดในปริจเฉทที่ ๔ ของอภิธัมมัตถสังคหะ

อภิธัมมัตถสังหคะ ซึ่งท่านพระอนุรุทธาจารย์ได้ประมวลไว้ ๙ ปริจเฉทนั้น เริ่มตั้งแต่

ปริจเฉทที่ ๑ จิตตสังคหวิภาค เป็นการรวบรวมจิตทั้งหมดทุกประเภท และจำแนก คือ แสดง โดยชาติต่างๆ ภูมิต่างๆ

ปริจเฉทที่ ๒ เจตสิกสังคหวิภาค เป็นการรวบรวมเจตสิกทั้งหมดทุกประเภท

ปริจเฉทที่ ๓ ปกิณณกสังคหวิภาค คือ นำสภาพธรรมเหล่านั้นมารวบรวมเป็นหมวดหมู่ เป็น ๖ หมวด ได้แก่

เวทนาสังคหะ แสดงว่า มีเวทนา ๓ มีเวทนา ๕ เกิดกับจิตกี่ดวง

เหตุสังคหะ ๖ คือ โลภะ โทสะ โมหะ อโลภะ อโทสะ อโมหะ ได้แก่ จิตกี่ประเภท ชาติอะไรบ้าง

กิจสังคหะ แสดงกิจของจิตว่า มีปฏิสนธิกิจ ภวังคกิจ อาวัชชนกิจ ทัสสนกิจ สวนกิจ ฆายนกิจ สายนกิจ ผุสสนกิจ สัมปฏิจฉันนกิจ สันตีรณกิจ โวฏฐัพพนกิจ ชวนกิจ ตทาลัมพนกิจ จุติกิจ ทั้งหมดเป็น ๑๔ กิจ

ทวารสังคหะ ๖ คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจว่า มีจิตกี่ดวงเกิดทางทวารไหน

อารัมมณสังคหะ ๖ ได้แก่ อารมณ์ ๖ ที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

วัตถุสังคหะ ๖ คือ ที่เกิดของจิต ได้แก่ จักขุวัตถุ โสตวัตถุ ฆานวัตถุ ชิวหาวัตถุ กายวัตถุ หทยวัตถุ

ปริจเฉทที่ ๔ วิถีสังคหะ คือ ทั้งหมดมาจากอนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัย เพราะกล่าวถึงวัตถุ ๖ ทวาร ๖ อารมณ์ ๖ วิญญาณ ๖ วิถี ๖ วิสยัปปวัตติ ๖ ได้แก่ ตทาลัมพนวาระ ชวนวาระ โวฏฐัพพนวาระ โมฆวาระ ซึ่งเป็นไปทางปัญจทวาร ๔ วาระ และสำหรับมโนทวารอีก ๒ วาระ

ปริจเฉทที่ ๕ วิถีมุตตสังคหะ ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องวิถีจิต แต่กล่าวถึงเรื่องภูมิ ต่างๆ ปฏิสนธิต่างๆ กรรมต่างๆ และความเกิดขึ้นแห่งมรณะ คือ ความตาย

ปริจเฉทที่ ๖ รูปสังคหวิภาค เป็นเรื่องของรูป ซึ่งรวบรวมโดยอาการต่างๆ

ปริจเฉทที่ ๗ สมุจจยสังคหวิภาค คือ การรวบรวมวัตถุธรรม ได้แก่ จิต เจตสิก รูป เป็นอกุศลสังคหะหมวดหนึ่ง มิสสกสังคหะหมวดหนึ่ง โพธิปักขิยสังคหะหมวดหนึ่ง และสัพพสังคหะหมวดหนึ่ง เป็นการแสดงประเภทของธรรมนั้นๆ

ปริจเฉทที่ ๘ ปัจจยสังคหวิภาค คือ การแสดงสภาพความเป็นปัจจัยของธรรมทั้งหมด

ปริจเฉทที่ ๙ กัมมัฏฐานสังคหวิภาค เป็นการแสดงสมถะและวิปัสสนา

เปิด  244
ปรับปรุง  19 ต.ค. 2566