แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1101

สภาพธรรมเป็นสิ่งที่รู้ยาก เพราะฉะนั้น การที่จะประจักษ์ลักษณะของ สภาพธรรมตามความเป็นจริงต้องอดทนจริงๆ แม้แต่ในการศึกษาเรื่องของนามธรรมและรูปธรรม หรือเรื่องของปัจจัย ต้องเป็นผู้ที่อดทน และต้องใจเย็นๆ ไม่ใช่ว่า รีบที่จะรู้ อ่านให้จบมากๆ แต่ไม่เข้าใจ หรือว่าไม่พิจารณาในชีวิตประจำวัน ถ้าเป็นอย่างนั้นก็เป็นคนที่ศึกษามาก เรียนมาก แต่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ ว่าเป็นจริงตามที่ได้ศึกษาอย่างไร

เพราะฉะนั้น เรื่องของปัจจัย ซึ่งเป็นเรื่องของนามธรรมและรูปธรรมที่สัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน อุปการะกันเกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องที่ละเอียด และเป็นเรื่องที่เมื่อศึกษาแล้ว ควรพิจารณาให้รู้ลักษณะของปัจจัยตามที่ปรากฏพร้อม สติปัฏฐานด้วย

สำหรับปัจจัยที่ได้กล่าวถึงแล้ว ๕ ปัจจัย คือ

ปัจจัยที่ ๑ เหตุปัจจัย

ปัจจัยที่ ๒ อารัมมณปัจจัย

ปัจจัยที่ ๓ อธิปติปัจจัย

ปัจจัยที่ ๔ อนันตรปัจจัย

ปัจจัยที่ ๕ สมนันตรปัจจัย

ท่านผู้ฟังอาจจะไม่ชินกับชื่อ แต่ฟังบ่อยๆ และเข้าใจอรรถ หรือลักษณะ ของธรรมนั้น จะทำให้จำชื่อได้

วันหนึ่งๆ เคยพิจารณาเหตุปัจจัยบ้างไหม

ทุกท่านมีกิจการงานที่กระทำอยู่เสมอ ในวันหนึ่งๆ ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด จะไม่รู้ลักษณะของเหตุปัจจัยแน่นอนว่า ในขณะที่ตื่นขึ้นมาทำกิจวัตรประจำวันเป็นเพราะ เหตุปัจจัยอะไร แต่ถ้าสติเกิดจะทราบได้ว่า ไม่พ้นจากโลภเหตุ คือ โลภเจตสิก แต่เป็นชนิดที่บางและละเอียด ไม่ปรากฏลักษณะของความเป็นอกุศลธรรมอย่างแรง เพราะฉะนั้น ถ้าไม่รีบร้อน และพยายามทบทวนเรื่องของปัจจัยทั้ง ๕ ตามที่ได้ฟังแล้ว ก็อาจจะเกื้อกูลอุปการะให้สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งสิ่งที่ควรทราบที่จะเป็นประโยชน์กับสติปัฏฐาน คือ สำหรับ เหตุปัจจัย ได้แก่ เจตสิก ๖ ดวงซึ่งเป็นเหตุ คือ โลภเจตสิก โทสเจตสิก โมหเจตสิก เป็นอกุศลเจตสิก เป็นปัจจัยให้เกิดรูปด้วย ไม่ได้เป็นปัจจัยให้เกิดจิตเท่านั้น ซึ่ง ในชีวิตประจำวัน ท่านผู้ฟังเห็นรูปปรากฏภายนอกก็อาจจะบอกได้ว่า คนนี้กำลังมี โลภะ หรือว่าคนนั้นกำลังมีโทสะ เพราะว่าเจตสิกซึ่งเป็นเหตุปัจจัย นอกจากจะทำให้จิตเกิดแล้ว ยังเป็นปัจจัยให้รูปเกิดด้วย

ประโยชน์ คือ ถ้าท่านระลึกรู้ลักษณะของรูปในขณะที่เป็นโลภะ หรือในขณะที่เป็นโทสะ ในขณะนั้นจะรู้ว่า รูปนั้นที่เป็นเช่นนั้นเพราะโลภะเป็นเหตุปัจจัย หรือว่าโทสะเป็นเหตุปัจจัย ทำให้รูปนั้นเกิดเป็นอย่างนั้น

ในวันหนึ่งๆ ทุกท่านก็ยิ้มแย้มแจ่มใส สติระลึกหรือเปล่า ถ้าสติไม่ระลึกก็ไม่รู้ว่า ขณะนั้นเป็นเพราะกุศลหรืออกุศลเป็นปัจจัย หรือเป็นเพราะโลภมูลจิต โลภเจตสิกเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้การยิ้มแย้มหรือการหัวเราะนั้นเกิดขึ้น เวลาที่ร้องไห้เสียใจ ก็อาจจะมีใช่ไหม ถ้าร้องไห้เสียใจไปเปล่าๆ โดยที่สติปัฏฐานไม่เกิดก็ไม่รู้ว่า แท้ที่จริงในขณะนั้น รูปนั้นเกิดขึ้นเพราะโทมนัสเวทนาเกิดกับโทสมูลจิต ซึ่งเป็นอกุศลจิต ทำให้รูปนั้นเป็นอย่างนั้น และนอกจากการยิ้มแย้ม การหัวเราะ หรือว่าการร้องไห้แล้ว แม้แต่ความไม่แช่มชื่นของจิต ก็จะทำให้ลักษณะของหน้าหรือว่ากิริยาอาการในขณะนั้นปรากฏเป็นไปด้วยสภาพของโทสมูลจิตซึ่งเป็นเหตุในขณะนั้น เพราะฉะนั้น ในชีวิตประจำวัน ถ้าสติระลึก ก็สามารถรู้ความเป็นปัจจัยของนามธรรมและรูปธรรมซึ่งเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน สำหรับในภูมิที่มีขันธ์ ๕

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะระลึกรู้ลักษณะของรูปธรรมขณะหนึ่ง ต่อไปก็อาจจะระลึกรู้ลักษณะของเวทนา คือ ความรู้สึก หรือต่อไปก็อาจจะระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตในขณะนั้นได้ เพราะการอบรมเจริญสติปัฏฐานไม่ได้จำกัดว่าจะต้องรู้เฉพาะรูปหนึ่งรูปใดเท่านั้น แต่ว่ามหาสติปัฏฐาน คือ สติระลึกเป็นไปในอารมณ์ต่างๆ ทุกอย่าง ซึ่งเคยยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล

และควรที่จะได้ทราบความพิเศษ หรือความต่างกันของปัจจัยทั้ง ๕ ปัจจัยนั้นด้วยว่า สำหรับปัจจัยที่ ๒ คือ อารัมมณปัจจัย สภาพธรรมที่เป็นปัจจัยโดยความเป็นอารมณ์ของจิตและเจตสิก อย่าลืม อารัมมณปัจจัยไม่เป็นปัจจัยแก่รูป เพราะรูปไม่ใช่สภาพรู้ เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่เป็นอารัมมณปัจจัยเป็นปัจจัยแก่จิตและเจตสิกเท่านั้น และสำหรับอารมณ์หรือสิ่งที่จิตรู้ จิตสามารถรู้อารมณ์ได้ทุกอย่าง รูปทุกชนิด ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แม้แต่นามธรรมแต่ละชนิด จิตก็สามารถรู้ได้ ลักษณะของโทสะ ลักษณะของอิสสา ลักษณะของความตระหนี่ มัจฉริยะ ลักษณะของมานะ ความสำคัญตน แม้ว่าเป็นนามธรรมแต่จิตสามารถรู้อารมณ์นั้นๆ สิ่งนั้นๆ ได้ หรือแม้แต่เรื่องราวบัญญัติ ความคิดนึก สมมติสัจจะทั้งหลาย จิตก็สามารถรู้ได้อย่างวิจิตร วิชาการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ หรือโบราณคดี ประวัติศาสตร์ต่างๆ ซึ่งเป็นเพราะจิตนั่นเองที่สามารถรู้อารมณ์ต่างๆ ได้ แต่ให้ทราบว่า สภาพธรรมใดซึ่งเป็นปัจจัยโดยเป็นอารมณ์นั้น จะเป็นปัจจัยให้แก่จิตและเจตสิกเท่านั้น ไม่เป็นปัจจัยแก่รูป

จิตสามารถรู้ลักษณะของโลภะได้ จิตสามารถรู้ลักษณะของโทสะได้ โทสะเป็นเหตุปัจจัยทำให้จิตเกิดร่วมด้วยเป็นโทสมูลจิต และทำให้รูปเกิดร่วมด้วยโดยความเป็นเหตุปัจจัย แต่ไม่ใช่โดยความเป็นอารัมมณปัจจัย ถ้าเป็นอารัมมณปัจจัย สภาพธรรมนั้นเป็นปัจจัยโดยเพียงเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้น แม้แต่สภาพธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ ความละเอียดก็ต้องรู้ว่า สภาพธรรมนี้เป็นปัจจัยโดยเป็นเหตุปัจจัย หรือว่าโดยเป็นอารัมมณปัจจัย ถ้าเป็นอารัมมณปัจจัยหมายความว่า ขณะนั้นมีจิตกำลังรู้ลักษณะของโทสะในขณะนั้น หรือรู้ลักษณะของโลภะในขณะนั้น หรือรู้ลักษณะของอโลภะในขณะนั้น รู้ลักษณะของอโทสะในขณะนั้น ในขณะนั้นเหตุหนึ่งเหตุใดใน ๖ เหตุเป็นอารมณ์ โดยเป็นอารัมมณปัจจัยของจิต

เป็นเรื่องที่พิจารณาแล้วจะทำให้เกิดความเข้าใจขึ้นสำหรับปัจจัยที่ ๒ ว่า ต่างกับปัจจัยที่ ๑ ในเมื่อได้เรียนถึง ๕ ปัจจัยแล้ว ก็ต้องพิจารณาความต่างกันของปัจจัยทั้ง ๕ ด้วยว่า สำหรับปัจจัยที่ ๑ ต่างกับปัจจัยที่ ๒ อย่างไร และสำหรับปัจจัยที่ ๓ คือ อธิปติปัจจัย ก็ให้ทราบว่า เจตสิก ๖ ดวงเป็นเหตุปัจจัยจริง แต่เฉพาะเจตสิกดวงเดียว คือ อโมหะหรือปัญญาเจตสิกเท่านั้น ที่เป็นอธิปติปัจจัยได้

นี่คือการที่ฟังแล้วไม่ลืม และเข้าใจ ซึ่งวันหนึ่งๆ ก็มีปัจจัยที่จะให้จิตคิดถึงสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง และพิจารณาจนเป็นความเข้าใจที่ชัดเจน เพื่อที่จะได้เห็นความเป็นอนัตตา ซึ่งจุดประสงค์ทั้งหมดของการฟังธรรม จะโดยย่อ หรือโดยละเอียด โดยพิสดารประการใด ก็เพื่อให้เห็นความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมที่เคยยึดถือว่า เป็นอัตตาหรือเป็นตัวตนเท่านั้น จนกว่าปัญญาจะประจักษ์แจ้งจริงๆ

ที่กล่าวว่า สำหรับเหตุ ๖ คือ โลภเจตสิก ๑ โทสเจตสิก ๑ โมหเจตสิก ๑ ไม่เป็นอธิปติปัจจัย สำหรับสหชาตาธิปติปัจจัย และสำหรับฝ่ายกุศล คือ โสภณเหตุ อโลภะ ความไม่โลภ ความไม่ติด อโทสะ ความไม่โกรธ อโมหะ ความไม่หลง เป็นเหตุได้ แต่สภาพธรรมที่จะเป็นอธิบดี คือ เป็นสหชาตาธิปตินั้น ได้แก่ ปัญญาเจตสิก คือ อโมหเหตุ เท่านั้น ที่จะเป็นอธิปติปัจจัยได้

แสดงให้เห็นว่า สภาพธรรมที่เป็นเหตุต่างกับสภาพธรรมที่เป็นอธิบดี เพราะว่า โลภะเป็นเหตุได้ พอใจ ไม่ยาก ไม่ลำบาก ความพอใจ ความชอบใจ ใครว่ายากลำบากบ้าง ลืมตาขึ้นมาก็พอใจแล้ว ยินดีแล้วที่จะทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ในชีวิตประจำวัน ทางหูก็เช่นเดียวกัน ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ไม่ยากที่จะพอใจ ไม่ต้องมี สภาพธรรมที่เป็นอธิบดี

สำหรับสหชาตาธิปติ ได้แก่ ฉันทเจตสิก วิริยเจตสิก ปัญญาเจตสิก และจิต ซึ่งประกอบด้วยเหตุตั้งแต่ ๒ เหตุขึ้นไปจึงจะเป็นอธิปติปัจจัยได้ หมายความว่า เป็นสภาพธรรมที่มีกำลัง

เพราะฉะนั้น สำหรับเหตุ ๕ คือ โลภเหตุ โทสเหตุ โมหเหตุ หรือแม้ทางฝ่ายโสภณ ทางฝ่ายดี อโลภเหตุ อโทสเหตุ ก็ไม่สามารถที่จะมีกำลังเป็นอธิบดีได้ ทุกท่านรู้สึกว่า โลภะมีกำลัง ใช่ไหม แต่เป็นเพียงเหตุ ไม่ใช่อธิบดี คือ ไม่ใช่ธรรมที่เป็น หัวหน้าที่จะชักจูงให้สภาพธรรมอื่นเป็นไปตามกำลังของตน เป็นเหตุได้ ทำให้เกิด กุศลจิต อกุศลจิต ทำให้เกิดการกระทำที่เป็นอกุศลและกุศลได้ แต่ว่าไม่ใช่อธิปติ ถ้าเป็นอธิปติปัจจัยซึ่งเป็นสหชาตาธิปติ ต้องได้แก่ ฉันทเจตสิก วิริยเจตสิก วิมังสา คือ ปัญญาเจตสิก และจิตซึ่งประกอบด้วยเหตุตั้งแต่ ๒ เหตุขึ้นไป

เพราะฉะนั้น เมื่อศึกษาเรื่องเหตุปัจจัย และศึกษาเรื่องอธิปติปัจจัย ก็ควรที่จะเปรียบเทียบดูความต่างกันว่า เพราะเหตุใดสภาพธรรมที่เป็นเหตุปัจจัยนั้น เฉพาะปัญญาเจตสิกเท่านั้นที่เป็นอธิปติปัจจัยได้ แต่โลภะเป็นเหตุได้ เป็นอธิปติไม่ได้เพราะว่าตามปกติโลภะเกิดไม่ยาก โลภะเป็นสภาพที่ยินดีพอใจ ซึ่งความพอใจมีอยู่เสมอเป็นประจำ อะไรๆ ก็พอใจ และถึงแม้ว่าจะมีกำลัง คือ อาจจะพอใจมากก็ตาม แต่ถ้าไม่มีฉันทะ หรือไม่มีวิริยะแล้ว จะขาดความขวนขวายหรือว่าความขะมักเขม้น หรือว่าความพากเพียรเพื่อที่จะได้สิ่งนั้น

สำหรับสหชาตาธิปติปัจจัย ได้แก่ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ และปัญญา ท่านผู้ฟังลองคิดว่า จะเป็นปัจจัยให้รูปเกิดได้ไหม ตามเหตุตามผล อธิปติปัจจัยจะเป็นปัจจัยให้เกิดรูปได้ไหม ถ้าศึกษาเรื่องของปรมัตถธรรมจะทราบว่า ตรงตามเหตุผลของ สภาพธรรมนั้นจริงๆ ถ้าถูกแล้วต้องตรงกัน เพราะฉะนั้น ลองพิจารณาว่า อธิปติปัจจัยจะทำให้เกิดรูปได้ไหม

สหชาตาธิปติปัจจัย คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะที่มีกำลัง คือ ต้องเกิดร่วมกับเหตุ ตั้งแต่ ๒ เหตุจึงจะเป็นอธิปติปัจจัยได้ และปัญญา จะเป็นปัจจัยให้รูปเกิดได้ไหม ได้เพราะว่าเหตุปัจจัยยังเป็นปัจจัยให้เกิดรูปได้ และอธิปติปัจจัยซึ่งเป็นสภาพที่มีกำลัง ต้องประกอบถึง ๒ เหตุจึงจะเป็นอธิบดีได้ จะไม่เป็นปัจจัยให้เกิดรูปหรือ และถ้าท่านผู้ฟังจะเริ่มสะสมความเข้าใจในปรมัตถธรรมไปเรื่อยๆ ทีละเล็กทีละน้อยโดยไม่ทิ้ง ให้ทราบว่า มีจิตทั้งหมด ๑๖ ดวงที่ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดรูป ได้แก่ ปฏิสนธิจิต ๑ ขณะ ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดรูป จุติจิตของพระอรหันต์ ๑ ดวง ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดรูป ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดรูป รวมเป็น ๑๒ ดวง และอรูปวจรวิบากจิตอีก ๔ ดวง ซึ่งทำให้ปฏิสนธิในอรูปพรหมเป็นอรูปพรหมบุคคล อรูปพรหมภูมิ นั้นไม่มีรูปเลย จิต ๑๖ ดวงนี้เท่านั้นที่ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดรูป เพราะฉะนั้น อธิปติปัจจัยต้องเป็นปัจจัยให้เกิดรูปด้วย

สำหรับเรื่องของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงนามธรรมแต่ละอย่าง และรูปธรรมแต่ละอย่าง ที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยต่างๆ ตามความเป็นจริง เป็นเรื่องที่ละเอียดมากกว่าจะเข้าใจว่า สภาพธรรมไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และสภาพธรรมที่กำลังเกิดปรากฏในขณะนี้เกิดขึ้นเพราะปัจจัยอะไร

การฟังธรรม ต้องฟังโดยละเอียด และต้องพิจารณาโดยละเอียดจริงๆ

เพราะฉะนั้น เพื่อที่จะให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณาถึงความละเอียดจริงๆ ขอถามว่า โลภเจตสิกซึ่งเป็นเหตุ เป็นเหตุปัจจัย เป็นสหชาตาธิปติปัจจัยได้ไหม

เมื่อถามว่า เป็นสหชาตาธิปติได้ไหม จะต้องคิดถึงสภาพธรรมที่เป็น สหชาตาธิปติปัจจัยว่า ได้แก่ ฉันทเจตสิก วิริยเจตสิก และชวนจิตที่ประกอบด้วยเหตุ ๒ ขึ้นไป และปัญญาเจตสิก เพราะฉะนั้น โลภเจตสิกเป็นสหชาตาธิปติปัจจัยได้ไหม

ทุกคนมีโลภะอยู่เสมอ แต่ยังไม่รู้ลักษณะแท้จริงของโลภะ เพียงแต่เพิ่งเริ่มรู้ว่า โลภเจตสิกเป็นเหตุที่ทำให้โลภมูลจิตเกิดขึ้น และทำให้เจตสิกอื่นๆ ซึ่งเกิดกับ โลภมูลจิตนั้นเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุนั้น คือ ถ้าโลภะเป็นเหตุ จิตที่เกิดร่วมด้วยต้องเป็นโลภมูลจิต มีโลภะเป็นมูล และเจตสิกอื่นๆ ซึ่งเกิดร่วมด้วยก็ต้องเกิดขึ้นเพราะ โลภะนั้นเป็นเหตุให้เจตสิกเหล่านั้นเกิดร่วมกับจิตนั้น

เพราะฉะนั้น ถ้ากล่าวถึงเหตุปัจจัย โลภเหตุเป็นสหชาตาธิปติปัจจัยได้ไหม ในเมื่ออธิปติปัจจัย ได้แก่ ฉันทเจตสิก วิริยเจตสิก ปัญญาเจตสิก และจิตที่ประกอบด้วยเหตุ ๒ ขึ้นไป นี่คือการที่จะได้เข้าใจว่า สิ่งที่ได้ยินได้ฟังมาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อได้ฟังอีกครั้งหนึ่งจะยังคงเป็นความเข้าใจที่ชัดเจน หรือว่ายังสงสัยยังข้องใจอยู่

คำตอบ คือ ไม่ได้ เพราะว่าอธิปติปัจจัย ได้แก่ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา

เปิด  253
ปรับปรุง  19 ต.ค. 2566