แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1102

พูดถึงโลภเจตสิก อย่าลืมว่าปรมัตถธรรมมี ๔ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน เมื่อพูดถึงเจตสิก เหตุปัจจัย ได้แก่ เจตสิก แม้แต่โลภมูลจิตก็ไม่ใช่เหตุปัจจัย ต้องเฉพาะโลภเจตสิกเท่านั้นที่เป็นเหตุปัจจัย ฉันใด สำหรับสหชาตาธิปติก็เช่นเดียวกัน คือ ฉันทเจตสิกเป็นสหชาตาธิปติปัจจัย วิริยเจตสิกเป็นสหชาตาธิปติปัจจัย ปัญญาเจตสิกเป็นสหชาตาธิปติปัจจัย ไม่มีโลภะ ใช่ไหม ฉันทะ วิริยะ ปัญญา และจิตซึ่งเป็นชวนจิตที่ประกอบด้วย ๒ เหตุ หรือ ๓ เหตุ แม้แต่ชวนจิตซึ่งประกอบด้วยเหตุเดียวก็ไม่สามารถเป็นสหชาตาธิปติปัจจัยได้ เพราะฉะนั้น ไม่มีโลภเจตสิกใน สหชาตาธิปติปัจจัย แสดงให้เห็นว่า โลภเจตสิกที่ทุกคนมีเป็นประจำ เป็นเหตุให้เกิด โลภมูลจิต แต่ว่าโลภเจตสิกไม่ใช่สหชาตาธิปติปัจจัย นี่เป็นความเข้าใจซึ่งต้อง เข้าใจความละเอียด

ถามต่อไปว่า โลภมูลจิตเป็นสหชาตาธิปติปัจจัยได้ไหม คำถามเปลี่ยนแล้ว เมื่อครู่นี้โลภเจตสิกเป็นเหตุปัจจัย แต่ไม่เป็นสหชาตาธิปติปัจจัย ถ้าเปลี่ยนคำถามว่า โลภมูลจิตเป็นสหชาตาธิปติปัจจัยได้ไหม คำตอบ คือ ได้ เพราะว่าโลภมูลจิตเป็น ชวนจิตซึ่งประกอบด้วย ๒ เหตุ เป็นหนึ่งในชวนจิต ๕๒ ดวงซึ่งเป็นสหชาตาธิปติปัจจัย

ทุกท่านทราบว่า โลกียวิบากจิตทั้งหมดไม่เป็นอธิบดี และสำหรับจิตซึ่งจะเป็นอธิปติปัจจัยได้ต้องเป็นขณะที่ทำชวนกิจ เป็นจิตที่มีกำลัง และต้องประกอบด้วยเหตุ ๒ จิตซึ่งไม่ประกอบด้วยเหตุที่ทำชวนกิจ ได้แก่ หสิตุปปาทจิต เป็นจิตที่ทำให้พระอรหันต์ยิ้มหรือแย้ม ไม่เป็นสหชาตาธิปติ โมหมูลจิตก็ไม่เป็นสหชาตาธิปติ เพราะว่าเป็นจิตซึ่งไม่มีกำลัง ประกอบด้วยเหตุเดียว แต่โลภมูลจิตทำชวนกิจ และประกอบด้วย ๒ เหตุ จึงเป็นสหชาตาธิปติปัจจัยได้

เป็นเรื่องละเอียดที่จะเข้าใจสภาพธรรมซึ่งทุกคนมีตามความเป็นจริงในชีวิตประจำวันให้ถูกต้อง ซึ่งจะเห็นความเป็นอนัตตาว่า แม้สภาพธรรมซึ่งเป็นเจตสิก เป็นเหตุจริง ไม่เป็นสหชาตาธิปติปัจจัย แต่สำหรับโลภมูลจิตเป็นสหชาตาธิปติปัจจัย

ชีวิตประจำวันหรือเปล่าที่ตอบว่าเป็นได้ ทราบโดยเหตุผล แต่ในชีวิตประจำวันสามารถที่จะรู้ลักษณะของจิตตาธิปติไหมในขณะที่เป็นโลภมูลจิต ทุกคนมีโลภมูลจิต และเป็นจิตตาธิปติปัจจัยด้วย แต่จะทราบไหมว่า ขณะไหนโลภมูลจิตนั้นเป็น จิตตาธิปติปัจจัย

ขอให้คิดดูว่า ในวันหนึ่งๆ ถึงแม้ว่าโลภมูลจิตจะเกิด มีขณะใดบ้างซึ่งปรากฏลักษณะของโลภะ เพราะหลายท่านกล่าวว่า ท่านไม่มีโลภะ ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นว่า แม้โลภมูลจิตจะเกิด แต่ก็ไม่ใช่จะปรากฏลักษณะสภาพของโลภะ หรือสภาพของความต้องการ แม้ว่าความต้องการนั้นจะเกิดอยู่เป็นประจำ

เพราะฉะนั้น ในขณะที่ฉันทะเป็นอธิบดี ก็ยังเห็นว่า แต่ละท่านทำตามสิ่งที่ท่านพอใจ ท่านพอใจสิ่งใดท่านก็ทำสิ่งนั้น ขณะนั้นฉันทะเป็นอธิบดี บางครั้งไม่ได้ทำด้วยความพอใจ แต่ประกอบด้วยวิริยะซึ่งต้องการให้กิจการงานนั้นสำเร็จ ในขณะนั้น วิริยเจตสิกก็เป็นอธิปติ ในขณะใดที่ปัญญากระทำกิจของปัญญาโดยเห็นชัดว่า เป็นการรู้ เป็นสภาพที่เข้าใจ ปัญญาก็เป็นอธิบดี แต่ในขณะที่โลภมูลจิตซึ่งมีอยู่เป็นประจำเป็นอธิปติปัจจัย จะเป็นในขณะไหน

ท่านที่เป็นนักค้นคว้า หรือว่านักวิทยาศาสตร์ หรือว่านายแพทย์ หรือว่าศัลยแพทย์ ขณะที่ท่านกำลังทำการผ่าตัด จิตเป็นอะไร จะบอกได้ไหมว่า ไม่มีโลภะ จะกล่าวได้ไหมว่า ในขณะนั้นไม่เป็นโลภะ

ผู้ฟัง ไม่เป็น

สุ. กุศลจิตจะเกิดตลอดเวลา หรือว่ามีความสนใจ มีความตั้งใจ มีความ เอาใจใส่ที่จะให้กิจธุระนั้นสำเร็จ อย่าปนกัน ขณะจิตเกิดดับอย่างรวดเร็ว นักวิทยาศาสตร์ นักฟิสิกส์ หรือนักเคมีก็ตามแต่ สนใจศึกษาในเรื่องนั้นๆ บางท่านอาจจะตลอดเวลาหลายชั่วโมง ขณะนั้นจะกล่าวได้ไหมว่า ไม่เป็นโลภมูลจิต ก็ไม่ได้

แต่ถ้าจะมีใครกล่าวว่า ขณะนั้นไม่เป็นโลภมูลจิต ก็เพราะว่าลักษณะของ โลภเจตสิกไม่ปรากฏ ถูกไหม ไม่เป็นอธิปติปัจจัย แต่ว่าโลภมูลจิตเป็นอธิปติปัจจัย เพราะว่าในขณะนั้นมีความต้องการที่จะให้สิ่งนั้นสำเร็จ หรือว่าเป็นไปต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาโบราณคดี หรือวิทยาศาสตร์ หรือการศึกษาด้านหนึ่งด้านใดก็ตาม หรือการกระทำกิจการงานด้านหนึ่งด้านใดก็ตาม เช่น บางท่านอาจจะไม่สนใจเรื่องการทำอาหารเลย แต่เวลาที่มีใครกำลังทำอยู่ หรือชักชวนให้ทำ ก็อาจต้องการที่จะทดลองดูว่าตนเองสามารถจะทำได้ไหม ในขณะนั้นไม่ได้ปรากฏว่ามีโลภะ มีความพอใจอย่างหนักแน่น เพียงแต่มีความต้องการที่จะพิสูจน์หรือที่จะทดลองว่าตนเองสามารถจะทำได้ไหม ในขณะนั้นโลภมูลจิตเป็นจิตตาธิปติปัจจัย ซึ่งลักษณะของโลภเจตสิกไม่ได้ปรากฏที่จะให้เห็นว่าเป็นโลภะ ที่คนส่วนใหญ่กล่าวว่าไม่มีโลภะ ก็เพราะว่าลักษณะของโลภเจตสิกไม่เป็นอธิปติปัจจัย แต่ลักษณะของโลภมูลจิตเป็นอธิปติปัจจัยแน่นอน

นี่เป็นเรื่องที่ละเอียดซึ่งจะต้องศึกษาโดยละเอียดจริงๆ และถ้าศึกษาโดยละเอียดจริงๆ จะยิ่งละเอียดกว่านี้มาก นี่เป็นแต่เพียงการกล่าวถึงสภาพธรรมซึ่งเป็นปัจจัยเพื่อให้เห็นว่า การที่จะเข้าใจสภาพธรรมถูกต้อง ต้องฟังโดยละเอียด พิจารณาโดยละเอียด และอบรมเจริญปัญญาโดยละเอียด จนกว่าจะประจักษ์จริงๆ ว่า สภาพธรรมที่เกิดปรากฏก็เพราะปัจจัยต่างๆ

ถ้าถามต่อไปอีกว่า โลภเจตสิกเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยได้ไหม เพราะว่า อธิปติปัจจัยมี ๒ คือ สหชาตาธิปติปัจจัยและอารัมมณาธิปติปัจจัย อย่าลืม คำว่าอธิบดี ในภาษาไทยซึ่งใช้กันบ่อยๆ แต่ถ้าจะศึกษาธรรมต้องเข้าใจให้ชัดและตรง ถ้ากล่าวถึงอธิปติปัจจัย ต้องมีสภาพธรรมซึ่งเป็นปรมัตถธรรมว่า สภาพธรรมชนิดใดเป็นอธิปติประเภทใด

ถ้ากล่าวถึงสหชาตาธิปติปัจจัย ได้แก่ นามธรรมเท่านั้น และได้แก่สภาพธรรม ๔ ประเภท คือ ฉันทเจตสิก วิริยเจตสิก ชวนจิตซึ่งประกอบด้วยเหตุ ๒ หรือเหตุ ๓ และปัญญาเจตสิก นั่นคือสหชาตาธิปติปัจจัย

โลภเจตสิก โทสเจตสิกเหล่านี้ ไม่ใช่สหชาตาธิปติปัจจัย แต่เมื่อกล่าวถึงจิต โลภมูลจิตเป็นสหชาตาธิปติปัจจัย และเมื่อกล่าวถึงอารัมมณาธิปติปัจจัย โลภมูลจิตหรือโลภเจตสิกก็ตาม เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยได้ไหม ได้

ทุกคนไม่ละเว้นที่จะชอบโลภะ ทราบจากการศึกษาและการฟังว่า เป็นโทษ เป็นอกุศล โดยขั้นการฟัง แต่ชั่วครู่เดียวโลภมูลจิตเกิดแล้ว โลภเจตสิกเกิดแล้ว โลภมูลจิตเป็นอธิปติปัจจัยแล้ว โลภะเป็นที่ต้องการจริงๆ มีใครบ้างที่ไม่ต้องการโลภะ อยากให้หมดไปเลยเสียวันนี้ ตามความเป็นจริง ขณะใดที่ยังต้องการอาหารรสอร่อย ขณะนั้นโลภะก็ยังหมดไม่ได้ ขณะใดที่มีเยื่อใยผูกพันในสัตว์ ในบุคคล ในวัตถุสิ่งของต่างๆ ซึ่งเป็นเจ้าของอยู่ ในขณะนั้นโลภมูลจิตเกิดแล้ว เป็นที่พอใจจริงๆ

เพราะฉะนั้น อารัมมณาธิปติปัจจัย ได้แก่ สภาพธรรมซึ่งเป็นที่พอใจอย่าง หนักแน่น เป็นที่ต้องการ หรือว่าเป็นที่ประทับใจ ทำให้จิตและเจตสิกไม่ละทิ้ง ทำให้ปรารถนาสภาพธรรมนั้น ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นโลภเจตสิกหรือโลภมูลจิตก็เป็น อารัมมณาธิปติปัจจัย นี่โดยนัยของโลภมูลจิตและโลภเจตสิก ซึ่งจะเป็นแนวทางให้ท่านผู้ฟังพิจารณาถึงเจตสิกอื่นต่อไป

เช่น ถามว่า โทสเจตสิกเป็นสหชาตาธิปติปัจจัยได้ไหม ไม่พูดถึงโลภเจตสิก เปลี่ยนเป็นโทสเจตสิกเป็นสหชาตาธิปติปัจจัยได้ไหม

คำตอบ คือ ไม่ได้ โลภเจตสิกเป็นสหชาตาธิปติปัจจัยไม่ได้ โทสเจตสิกก็เป็นสหชาตาธิปติปัจจัยไม่ได้ เพราะไม่ใช่ฉันทเจตสิก ไม่ใช่วิริยเจตสิก ไม่ใช่ปัญญาเจตสิก และไม่ใช่จิต

ถ้าถามต่อไปอีกว่า โทสมูลจิตเป็นสหชาตาธิปติปัจจัยได้ไหม

ได้ เพราะว่าเป็นชวนจิตซึ่งประกอบด้วยเหตุ ๒ ทำให้เจตสิกอื่นและรูปเกิดขึ้นเป็นไปตามกำลังของโทสมูลจิต

ถามต่อไปว่า โทสเจตสิกเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยได้ไหม หรือโทสมูลจิตเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยได้ไหม

ผู้ฟัง ได้

สุ. ได้ก็ผิด เพราะว่าอารัมมณาธิปติปัจจัยเป็นอารมณ์ที่พอใจอย่าง หนักแน่น เพราะฉะนั้น จึงเป็นอารมณ์ของโลภมูลจิตเป็นส่วนใหญ่ หรือกุศลจิตก็ได้ นี่เป็นความละเอียดของอารัมมณาธิปติปัจจัย

โทสมูลจิตไม่มีใครชอบ โทสเจตสิกก็เช่นเดียวกัน รวมทั้งบริวารของโทสมูลจิตด้วย ก็ไม่เป็นที่พอใจ เพราะฉะนั้น อารมณ์ซึ่งเป็นที่พอใจอย่างหนักแน่นส่วนใหญ่ จึงเป็นของโลภมูลจิต หรือของมหากุศลจิต เช่น เวลาที่ท่านผู้ฟังพอใจในกุศล ตั้งใจ ปรารถนาที่จะทำกุศลอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นพิเศษ ขณะนั้น มหากุศลนั้นเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของกุศล บางท่านปรารถนาที่จะถวายผ้าที่ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ขณะนั้นเป็นกุศลซึ่งหนักแน่น ซึ่งพอใจที่จะให้กระทำกุศลอย่างนั้น หรือว่าบางท่านอาจต้องการที่จะถวายประทีปบูชาสังเวชนียสถาน ขณะนั้นกุศลก็เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยทำให้เกิดกุศลก็ได้ หรือว่ากุศลนั้นเองทำให้โลภมูลจิตเกิดขึ้น ซึ่งจะต้องพิจารณาโดยละเอียด

เพราะฉะนั้น เรื่องของอารัมมณาธิปติปัจจัยจึงควรทราบโดยชัดเจน ซึ่งได้กล่าวถึงแล้วในคราวก่อน ในคราวนี้เป็นเพียงการทบทวนให้พิจารณาซ้ำอีก เพื่อจะได้ไม่ลืมว่า สำหรับอารมณ์ซึ่งไม่น่าปรารถนา ไม่น่ายินดี ไม่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย เป็นอารัมมณปัจจัยได้ แต่ไม่ใช่อารัมมณาธิปติปัจจัย

สภาพธรรมที่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย ต้องเป็นสภาพธรรมซึ่งเป็นที่ยินดีพอใจอย่างยิ่ง ได้แก่ จิตอื่นๆ ที่นอกจากโทสมูลจิต ๒ ดวง โมหมูลจิต ๒ ดวง และ ทุกขกายวิญญาณ ๑ ดวง เว้นจิต ๕ ดวงนี้แล้ว จิตอื่นๆ เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยได้

ไม่มีใครต้องการโทสมูลจิต โมหมูลจิต หรือทุกขกายวิญญาณ เพราะฉะนั้น สำหรับอารัมมณาธิปติปัจจัย ส่วนใหญ่เป็นปัจจัยให้โลภมูลจิตเกิด เป็นปัจจัยให้ มหากุศลจิตเกิดก็ได้บ้าง ซึ่งท่านผู้ฟังจะพิจารณาได้ในชีวิตประจำวันของท่านว่า ขณะใดที่มีความปรารถนากุศลประเภทใดอย่างยิ่ง ขณะนั้น กุศลประเภทนั้นเป็นที่ต้องการเป็นพิเศษ จึงเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย

ในคราวก่อนที่กล่าวถึงอารัมมณาธิปติปัจจัย ก็ได้กล่าวถึงโลกุตตรกุศลว่า เป็นปัจจัยแก่มหากุศลญาณสัมปยุตต์ และมหากิริยาญาณสัมปยุตต์ สำหรับนิพพาน ก็เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยแก่โลกุตตรจิต ๘ ดวง มหากุศลญาณสัมปยุตต์ และ มหากิริยาญาณสัมปยุตต์

เพราะฉะนั้น ผู้ที่ยังไม่บรรลุนิพพาน ยังไม่มีนิพพานเป็นอารมณ์ ย่อมมีจิตบ้าง หรือเจตสิกบ้าง หรือรูปบ้างเป็นอารมณ์ ซึ่งควรจะได้ทราบว่า ขณะใดเป็น อารัมมณาธิปติปัจจัยของกุศล หรือของอกุศล เพื่อที่จะได้ละอารัมมณาธิปติปัจจัยของอกุศล คือ ของโลภะ ให้น้อยลง

ขอถามอีกครั้งหนึ่ง โทสเจตสิกเป็นสหชาตาธิปติปัจจัยได้ไหม

ไม่ได้

โทสมูลจิตเป็นสหชาตาธิปปัจจัยได้ไหม

ได้ เพราะว่าเป็นชวนจิตที่ประกอบด้วยเหตุ ๒ เพียงจิตและเจตสิก ก็จะต้องเห็นความต่างกัน

โทสมูลจิตเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยได้ไหม

ไม่ได้

โทสเจตสิกเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยได้ไหม

ไม่ได้

โลภเจตสิกเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยได้ไหม

ได้

โลภมูลจิตเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยได้ไหม

ได้

การศึกษาอภิธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด อภิ หมายความว่าละเอียดยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นอภิวินัย หรือว่าอภิธรรม ก็เป็นธรรมส่วนที่ละเอียดจริงๆ ต้องฟังบ่อยๆ ทวนไปทวนมา ใจเย็นๆ ให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งมีเป็นปกติในชีวิตประจำวัน มิฉะนั้นก็เป็นเรื่องซึ่งยากแก่การที่จะรู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรมและไม่ยึดถือว่าเป็นตัวตน เพราะว่าสติอาจจะระลึกที่แข็ง ได้ยินได้ฟังบ่อยๆ ที่จะรู้ว่าลักษณะที่แข็งเป็น สภาพธรรมซึ่งไม่รู้อะไร เป็นรูป และลักษณะของสภาพที่กำลังรู้แข็ง ก็กำลังรู้ในแข็งที่ปรากฏ เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นนามธรรม แต่ก็ยังไม่ได้ละการยึดถือทั้งแข็งและรู้แข็งว่า ไม่ใช่ตัวตน จนกว่าจะสะสมการปรุงแต่งด้วยการเป็นพหูสูตร คือ การเป็นผู้ฟัง จนกระทั่งค่อยๆ สะสมปรุงแต่งให้ปัญญาคมกล้าที่จะดับกิเลส ไม่ยึดถือ สภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้จริงๆ

ถ้ากล่าวถึงโมหเจตสิกอีกอย่างหนึ่ง ลองดูว่าจะเป็นอย่างไร

โมหเจตสิกเป็นสหชาตาธิปติปัจจัยได้ไหม

ข้อนี้ไม่ยาก ไม่ใช่ฉันทเจตสิก ไม่ใช่วิริยเจตสิก ไม่ใช่ปัญญาเจตสิก และไม่ได้กล่าวถึงจิตด้วย เพราะฉะนั้น โมหเจตสิกไม่ใช่สหชาตาธิปติปัจจัย

โมหมูลจิตเป็นสหชาตาธิปติปัจจัยได้ไหม

ก็ไม่ได้อีก เพราะจิตที่จะเป็นสหชาตาธิปติปัจจัยได้ ต้องเป็นชวนจิตซึ่งประกอบด้วยเหตุ ๒ แต่โมหมูลจิตประกอบด้วยโมหเหตุเพียงเหตุเดียว เพราะฉะนั้น โมหมูลจิตไม่ใช่จิตตาธิปติปัจจัย

โมหมูลจิตเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยได้ไหม

ไม่ได้

เปิด  253
ปรับปรุง  19 ต.ค. 2566