แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1107

สุ. ที่ทุกท่านสนใจฟังพระธรรม และศึกษาเรื่องของปัจจัยที่เป็นเรื่องละเอียด ซึ่งก็เป็นนามธรรมและรูปธรรมนั่นเอง ทราบไหมว่าเพราะอะไร หรือว่าทำไมจึงศึกษา

เวลาโลภเจตสิกเกิด ที่จะไม่ให้ติดหรือต้องการอารมณ์ เป็นไปไม่ได้ เพราะว่าโลภเจตสิกเป็นเหตุปัจจัย ฉันใด เวลาที่อโลภเจตสิกเกิด อโมหเจตสิกเกิด ที่จะไม่ให้จิตเป็นกุศล เป็นโสภณ เป็นจิตที่ดีงามในขณะนั้นก็ไม่ได้ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนเลย นี่คือประโยชน์ของการที่สติจะระลึกรู้จริงๆ ในสภาพที่ต่างกันของ กุศลธรรมและอกุศลธรรม

เพราะแม้แต่กุศลเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่เมื่อสติไม่ระลึก ก็ไม่สามารถเห็นลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นกุศลได้ ถ้าท่านผู้ฟังช่วยเหลือบุคคลอื่น มีจิตเมตตาต่อบุคคลอื่น ดูเป็นสิ่งซึ่งอาจจะเกิดได้ง่ายและรวดเร็วจนกระทั่งเป็นปกติ เพราะว่าเป็นอุปนิสัย เป็นสิ่งซึ่งสะสมมาจนกระทั่งมีกำลังเกิดขึ้นโดยสะดวก แต่ให้ทราบว่า ในขณะนั้นอโลภเจตสิกเป็นเหตุ อโทสเจตสิกเป็นเหตุ เมื่ออโลภะและ อโทสะซึ่งเป็นโสภณเหตุเกิดขึ้นแล้ว ที่จะไม่ให้จิตคิดเมตตา หรือคิดช่วยเหลือ หรือว่าเป็นโสภณในขณะนั้น ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็คือลักษณะของเหตุปัจจัยนั่นเอง ไม่ว่าในขณะนั้นจะเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต ก็เพราะเจตสิกซึ่งเป็นเหตุปัจจัยเกิดขึ้นทำให้จิตในขณะนั้นเป็นไปอย่างนั้น

ขอทบทวนถึงความละเอียด

ผัสสเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิต เกิดขึ้นเพราะโลภะเป็นเหตุหรือเปล่า

เพราะแม้ผัสสะที่จะกระทบอารมณ์ ก็กระทบด้วยโลภะ คือ กระทบด้วยการติด ซึ่งต่างกับผัสสเจตสิกซึ่งเกิดกับกุศลจิต แม้กระทบอารมณ์ ก็กระทบด้วยความไม่ติด หรือว่าความไม่โกรธ หรือถ้าในขณะนั้นเป็นการอบรมเจริญปัญญา ในขณะที่ผัสสะกระทบกับนามธรรมหรือรูปธรรม ผัสสะก็กระทบด้วยอโลภะ อโทสะ และอโมหะ จนกระทั่งถึงผัสสะที่เกิดกับโลกุตตรจิต ในขณะนั้นก็กระทบกับอารมณ์ด้วยปัญญา ซึ่งเป็นโลกุตตระ เพราะฉะนั้น แม้ผัสสะที่จะกระทบอารมณ์ต่างๆ ก็ต้องแล้วแต่ เหตุปัจจัยซึ่งเป็นสหชาตปัจจัย

นี่คือการทวนปัจจัยทั้งหมดที่ได้ศึกษาทีละปัจจัยๆ กลับไปถึงปัจจัยต้นๆ ที่ได้ศึกษาแล้ว เพื่อความเข้าใจชัดเจนจริงๆ

โลภเหตุเป็นสหชาตปัจจัย เป็นเหตุปัจจัยให้โลภมูลจิตเกิด และเจตสิกอื่นๆ ซึ่งเกิดร่วมด้วย

ผัสสเจตสิกซึ่งเกิดกับโลภมูลจิต เป็นปัจจัยให้เกิดโลภเจตสิกหรือเปล่า

โลภเจตสิกเป็นสหชาตปัจจัยให้เกิดโลภมูลจิต และเจตสิกทั้งหมดที่เกิดกับ โลภมูลจิต ผัสสะก็เกิดกับโลภมูลจิต เวทนาก็เกิดกับโลภมูลจิต เพราะฉะนั้น ผัสสเจตสิกเป็นปัจจัยให้เกิดโลภเจตสิกหรือเปล่า

ไม่เป็น ก็ผิด นี่คือเรื่องที่จะต้องเข้าใจความละเอียดจริงๆ โดยเหตุผล เหตุผลต้องเป็นเหตุผล ผัสสเจตสิกต้องเป็นปัจจัยให้เกิดโลภเจตสิกโดยสหชาตปัจจัย แต่ไม่ใช่โดยเหตุปัจจัย และโดยอัญญมัญญปัจจัยด้วย แต่ไม่ใช่โดยเหตุปัจจัย

ชีวิตตามความเป็นจริงแต่ละขณะกว่าจะรู้ชัดเจนว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล สักขณะเดียว สภาพธรรมแต่ละอย่างอาศัยกันเกิดขึ้นจริงๆ แต่ต้องละเอียดจึงจะรู้ตามความเป็นจริงว่า เป็นนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้นเอง เท่านั้นเองจริงๆ แต่ที่เกิดเป็นไปแต่ละครั้งๆ นี่ เพราะปัจจัยอะไรบ้าง

ผัสสเจตสิกเป็นปัจจัยให้เกิดโลภเจตสิกโดยเป็นสหชาตปัจจัยและอัญญมัญญปัจจัย แต่โลภเจตสิกเป็นปัจจัยให้เกิดผัสสเจตสิกโดยเป็นเหตุปัจจัย สหชาตปัจจัย และอัญญมัญญปัจจัย

ชื่ออาจจะยาก แต่ภาษาไทยก็คุ้นเคยเป็นส่วนใหญ่ เช่น คำว่าเหตุ เป็น สภาพธรรมซึ่งเป็นเหตุ เป็นมูลของกุศลและของอกุศลสำหรับผู้ที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ สำหรับพระอรหันต์ ดับโลภเหตุ โทสเหตุ โมหเหตุ แต่ยังมีปัจจัยที่จะให้เกิดอโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ แต่ไม่ใช่กุศล เพราะว่าไม่เป็นเหตุให้เกิดวิบาก เพราะฉะนั้น อโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุของพระอรหันต์จึงเป็นอัพยากตเหตุ คือ เป็นกิริยา และเป็นวิบากได้

นี่เรื่องของเหตุปัจจัย ซึ่งโลภเจตสิกเป็นเหตุปัจจัยทำให้เกิดปัจจยุปบัน คือ โลภมูลจิตและเจตสิกซึ่งเกิดร่วมด้วย และจิตตชรูป

เพราะฉะนั้น ถ้าถามย้อนไปว่า โลภเจตสิกเป็นปัจจัยให้เกิดจิตตชรูปหรือเปล่า

บางทีก็เข้าใจว่า ได้เข้าใจมาบ้างแล้วพอสมควร แต่ยังมีความละเอียดอีกเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งควรจะเข้าใจให้ชัดเจนจริงๆ เมื่อถึงสหชาตปัจจัยแล้ว อย่าลืมว่า จิตและเจตสิกเกิดพร้อมกัน เป็นอัญญมัญญปัจจัยด้วย เพราะฉะนั้น ถ้ายกเจตสิกหนึ่งเป็นเหตุ คือ โลภเจตสิกเป็นเหตุ อย่างอื่นต้องเป็นปัจจยุปบัน จิตที่เกิดร่วมด้วยก็ต้องเป็นปัจจยุปบัน เพราะเมื่อกล่าวถึงโลภเจตสิกเป็นตัวเหตุ สภาพธรรมอื่นจะเป็นตัวเหตุไม่ได้เลย ทั้งๆ ที่เกิดพร้อมกัน โลภเจตสิกเกิดพร้อมกับโลภมูลจิต เกิดพร้อมกับ ผัสสเจตสิก เกิดพร้อมเวทนา สัญญา เจตสิกต่างๆ เมื่อกล่าวถึงสภาพธรรมซึ่งเป็นเหตุ ก็ต้องกล่าวเฉพาะโลภเจตสิกเท่านั้น แม้ว่าสภาพธรรมอื่นจะเป็นสหชาตปัจจัย อัญญมัญญปัจจัย เกิดพร้อมกัน อาศัยกันก็จริง เมื่อกล่าวถึงเฉพาะเหตุปัจจัยแล้ว โลภะเป็นเหตุปัจจัย สภาพธรรมอื่นซึ่งเกิดพร้อมกันในขณะนั้นต้องเป็นปัจจยุปบัน

เพราะฉะนั้น โลภเจตสิกเป็นปัจจัยให้เกิดจิตตชรูปหรือเปล่า

โลภเจตสิกเป็นปัจจัยให้เกิดโลภมูลจิตและเจตสิกทุกดวงซึ่งเกิดกับโลภมูลจิต เว้นโลภเจตสิก เพราะยกโลภเจตสิกเป็นปัจจัยแล้ว เพราะฉะนั้น โลภมูลจิตและเจตสิกอื่นซึ่งเกิดกับโลภมูลจิตเป็นปัจจยุปบัน และจิตตชรูปก็เป็นปัจจยุปบันด้วย เพราะเกิดขึ้นโดยโลภะเหตุเป็นปัจจัย เป็นเหตุปัจจัย

แต่ถ้าไม่กล่าวถึงโดยเหตุปัจจัย ผัสสเจตสิกเป็นปัจจัยให้เกิดจิตตชรูปหรือเปล่า

ต้องเป็น คือ จิตและเจตสิกเกิดร่วมกัน ดับพร้อมกัน มีอารมณ์เดียวกัน ทั้งจิตและเจตสิกเป็นปัจจัยให้เกิดจิตตชรูป แต่ถ้าจะพูดว่า จิตตชเจตสิกชรูป ก็น่ารำคาญ ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ในพระไตรปิฎกใช้คำว่า จิตตุปปาท เพราะว่าขณะที่จิตเกิดขึ้น ขณะหนึ่งๆ ไม่ใช่มีแต่จิตเท่านั้น มีเจตสิกด้วย จิตตุปปาท จึงหมายถึงจิตและเจตสิกทุกดวงที่เกิดพร้อมกัน เป็นทั้งสหชาตปัจจัย อัญญมัญญปัจจัย และสัมปยุตตปัจจัย

เพราะฉะนั้น เจตสิกก็เป็นปัจจัยให้จิตตชรูปเกิดร่วมด้วย เพราะไม่จำเป็นที่จะต้องใช้คำอีกคำหนึ่งให้ยาวเกินไป เมื่อใช้คำว่า จิตตุปปาท ก็รวมจิตและเจตสิกด้วย

เวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดจิตตชรูปไหม

เป็น อย่าลืม จิตและเจตสิกทุกดวงซึ่งเกิดพร้อมกันเป็นปัจจัยให้จิตตชรูปเกิด

ท่านผู้ฟังได้ยินคำว่า จิตตชรูปบ่อยๆ ซึ่งได้เคยกล่าวถึงเรื่องของรูป ๒๘ รูปมาแล้ว เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะได้ทบทวนอีกครั้งหนึ่งว่า ในรูป ๒๘ รูป รูปอะไรบ้างที่เป็นจิตตชรูป รูปซึ่งเกิดเพราะจิต

สภาพธรรมที่เป็นจิตตชรูป ที่ทราบแล้ว คือ รูปที่เป็นใหญ่เป็นประธาน ๔ รูป ได้แก่ มหาภูตรูป ๔ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ขณะนี้ก็กำลังเกิด ทุกคนที่มีกาย ที่ร่างกายของทุกคนมีจิตตชรูปเกิด เพราะจิตเกิดขณะใดก็เป็นปัจจัยให้จิตตชรูปเกิดพร้อมกันในอุปาทขณะ เว้นจิต ๑๔ ดวง คือ ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ อรูปาวจรวิบาก ๔ ซึ่งไม่ต้องกล่าวถึงเพราะไม่มีใครในภูมินี้ในขณะนี้จะถึงได้ ปฏิสนธิจิตก็ดับไปแล้ว จุติจิตของพระอรหันต์ก็ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงสำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ เพราะฉะนั้น สำหรับทุกท่านในขณะนี้ ทันทีที่อุปาทขณจิตเกิดขึ้น จิตตชรูปเกิดแล้ว คือ มหาภูตรูป ๔ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม และในกลุ่มที่เล็กที่สุดก็ต้องมีรูปอีก ๔ รูป ซึ่งเป็นอุปาทายรูป อาศัยเกิดกับมหาภูตรูป คือ สี กลิ่น รส โอชา รวมเป็น ๘ รูป ซึ่งไม่แยกจากกันเลย ไม่ว่ารูปนั้นจะเล็กละเอียดสักเท่าไรก็ตาม เพราะฉะนั้น รูป ๘ รูป ซึ่งไม่แยกจากกันเลยนี้ ชื่อว่าอวินิพโภครูป คือ รูปซึ่งไม่สามารถที่จะแยกกันได้ ๘ รูป ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มของรูปที่เกิดเพราะอะไรก็ตาม จะปราศจากรูป ๘ รูปนี้ไม่ได้

แม้รูปที่เกิดเพราะกรรม กลุ่มของรูปที่เกิดเพราะกรรมก็ต้องมี ๘ รูปนี้

กลุ่มของรูปซึ่งเกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน ก็ต้องมี ๘ รูปนี้

กลุ่มของรูปซึ่งเกิดเพราะอุตุเป็นสมุฏฐาน ก็ต้องมี ๘ รูปนี้

กลุ่มของรูปซึ่งเกิดเพราะอาหารเป็นสมุฏฐาน ก็ต้องมี ๘ รูปนี้

นอกจากนั้น วิการรูป ๓ คือ ลักษณะที่เบา ที่อ่อน ที่ควรแก่การงาน เป็นรูปอีก ๓ รูป ซึ่งเป็นลักษณะที่วิการของธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ถ้าไม่มีวิการรูป ๓ ทุกท่านไม่สามารถเคลื่อนไหวได้เลย ทุกท่านมีรูป ๘ รูป คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม สี กลิ่น รส โอชา รูปซึ่งเกิดเพราะอุตุ เช่น ต้นไม้ ใบหญ้า โต๊ะ เก้าอี้ทั้งหลาย ก็มีรูป ๘ รูปนี้ แต่ว่ารูปอื่นซึ่งปราศจากจิต ไม่สามารถที่จะเคลื่อนไหวได้ นอกจากจะถูกลมพัดไป คือ มีรูปอื่นทำให้รูปนั้นเคลื่อนไหว แต่ว่าสำหรับสัตว์บุคคลซึ่งมีจิต จะมีวิการรูป ซึ่งเป็นรูปที่เบา ๑ รูป รูปที่อ่อน ๑ รูป รูปที่ควรแก่การงาน ๑ รูป ในกลุ่มของรูปซึ่งเกิดเพราะจิตที่เป็นสมุฏฐาน ทำให้เกิดการเคลื่อนไหว

เพราะฉะนั้น รูป ๓ รูปเกิดขึ้นเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน ทำให้มีลักษณะที่เบา ที่อ่อน ที่ควรแก่การงาน ทำได้สารพัด จะทำกิริยาอาการอย่างไรก็ได้ จะรำ จะเต้น จะร้อง ได้ทุกอย่าง เพราะว่ามีรูปซึ่งเบา ซึ่งอ่อน ซึ่งควรแก่การงาน ซึ่งมีจิตเป็นสมุฏฐาน

สัททรูป เสียง เป็นรูปซึ่งเกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐานอีก ๑ รูป แต่เสียงอยู่ดีๆ จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย แต่เพราะว่าจิตคิดคำต่างๆ ได้ เป็นสภาพของเจตสิก ๒ ดวง คือ วิตกเจตสิกและวิจารเจตสิก ซึ่งเจตสิกคู่นี้ไม่แยกจากกัน ถ้าวิตกเจตสิกเกิดก็เป็นสหชาตปัจจัยให้วิจารเจตสิกเกิดด้วย นอกจากขณะที่เป็นทุติยฌาน แต่ว่าขณะอื่นแล้ววิตกเจตสิกและวิจารเจตสิกเป็นเจตสิกที่เกิดพร้อมกัน ทำให้ตรึก จรด คิดถึงสิ่งต่างๆ แล้วแต่สภาพของจิตในขณะนั้นว่าเป็นวิถีจิตอะไร

(มีเสียงดัง)

เสียงอย่างนี้ วิตก วิจาร คิดหรือเปล่า ถ้าไม่มีจะรู้หรือว่าเสียงอะไร

หลังจากที่โสตวิญญาณดับ สัมปฏิจฉันนจิตเกิด ขณะนั้นประกอบด้วย วิตกเจตสิก วิจารเจตสิก จิตที่ไม่ประกอบด้วยวิตกเจตสิก วิจารเจตสิก ได้แก่ ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวงเท่านั้น ซึ่งประกอบด้วยเจตสิกเพียง ๗ ดวง ขณะที่เห็นขณะเดียวมีเจตสิกน้อยที่สุด คือ เพียง ๗ ดวงเท่านั้น ได้แก่ ผัสสเจตสิก เวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก เจตนาเจตสิก เอกัคคตาเจตสิก ชีวิตตินทรียเจตสิก และมนสิการเจตสิก เป็นสภาพที่เป็นนามธรรมแต่ละลักษณะ มีกิจการงานแต่ละอย่าง ซึ่งเกิดพร้อมจิต เป็นสหชาตปัจจัย อัญญมัญญปัจจัย

หลังจากที่จักขุวิญญาณดับไปแล้ว หรือโสตวิญญาณดับไปแล้ว หรือ ฆานวิญญาณดับไปแล้ว หรือชิวหาวิญญาณดับไปแล้ว หรือกายวิญญาณดับไปแล้ว จิตต่อจากนั้น คือ สัมปฏิจฉันนจิตเกิดพร้อมกับวิตกเจตสิก เพราะฉะนั้น ที่จะไม่ให้ตรึก หรือจรดในอารมณ์ซึ่งทางตาเห็น ทางหูได้ยิน ทางจมูกได้กลิ่น ทางลิ้นลิ้มรส ทางกายกระทบสัมผัส เป็นไปไม่ได้ เพียงแต่จะไม่ทราบขั้นต่างๆ ของวิตกเจตสิกว่า บางขณะเป็นลักษณะที่จรดในอารมณ์ บางขณะเป็นลักษณะที่ตรึกในอารมณ์ เช่น ในขณะที่กำลังคิดเรื่องต่างๆ วิตกเจตสิกก็เป็นสภาพธรรมที่คิดเรื่องนั้น เพราะฉะนั้น จะกล่าวว่าไม่มีวิตกเจตสิกไม่ได้ เพราะว่าวิตกเจตสิกเกิดกับจิตอื่นทั้งหมด เว้นทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง

เพราะฉะนั้น ในขณะที่คิด ยังไม่ได้พูด ยังไม่ได้มีเสียงออกมาใช่ไหม แต่ขณะที่คิดนั้นเหมือนกับเสียงไหม นึกถึงเสียง สัญญาเจตสิกจำเสียง ท่านที่ศึกษาหลายๆ ภาษา ก็แล้วแต่สัญญาในขณะนั้นจำเสียงภาษาอะไร ก็นึกถึงเสียงนั้นๆ ในใจ ยังไม่มีเสียงเกิดขึ้นจริงๆ แต่ว่าวิตกและวิจารนั้นเป็นวจีสังขาร เป็นสภาพธรรมที่ ปรุงแต่งคำ หรือเสียง

เปิด  261
ปรับปรุง  19 ต.ค. 2566