แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1114

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๒๕


ผู้ที่ได้พังพระธรรมแล้ว เป็นผู้ที่ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ จริงๆ หรือเปล่า ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ผู้ที่ไปเฝ้าฟังพระธรรม บางท่านได้บรรลุธรรมสามารถดับกิเลสถึงความเป็นพระอรหันต์ บางท่านรู้แจ้ง อริยสัจธรรมถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล บางท่านดับกิเลสได้ถึงความเป็น พระสกทาคามีบุคคล บางท่านดับกิเลสได้ถึงความเป็นโสดาบันบุคคล บางท่านถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะ คือ ยังไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมถึงการที่จะดับกิเลสเป็นพระอริยบุคคลได้ แต่ผู้ที่ได้ฟังพระธรรม พิจารณา และเข้าใจว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้นเพื่อการดับกิเลส เพราะฉะนั้น จึงมีกุศลทั้งหลายที่จะต้องอบรมเจริญจนกว่าจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย เป็นสภาพธรรมที่น้อมไปที่จะประพฤติปฏิบัติตาม

แต่ผู้ที่ยังไม่ได้ฟังพระธรรม ย่อมมีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่น่าพอใจ เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย และขณะใดที่มีกำลังทำให้โลภมูลจิตเกิดขึ้นติดหรือพอใจ ในขณะนั้น สภาพธรรมนั้นซึ่งเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย ก็เป็นอารัมมณูปนิสสยปัจจัย

เพราะฉะนั้น แม้แต่การที่จะถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ก็จะต้องพิจารณา ตรงตามความเป็นจริงว่า ท่านเป็นผู้ที่ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะจริงๆ หรือเปล่า เพราะบางท่านอาจจะเข้าใจว่า เมื่อกราบไหว้บูชาพระรัตนตรัยแล้วจะทำให้ได้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ได้บริวาร ถ้าคิดอย่างนี้ หรือหวังอย่างนี้ ในขณะนั้นชื่อว่า ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะจริงๆ หรือเปล่า

แต่ถ้าด้วยสุตะ คือ การฟังพระธรรม และเข้าใจในพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณ เข้าใจในสภาพธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดง และน้อมมาเพื่อประพฤติปฏิบัติจนกว่าจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ดับกิเลสได้ ผู้นั้นก็เป็นผู้ที่ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะอย่างแท้จริง ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ก็จะมีเพียงขั้นทานและศีล แต่สุตะ จาคะ ปัญญายังไม่มี

. การถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ บางครั้งยังปฏิบัติไม่ถูก ในครั้งพุทธกาล ถ้าพระผู้มีพระภาคยังทรงมีพระชนม์อยู่ ถ้ามีปัญหาชีวิตก็เข้าไปเฝ้าทูลถามปัญหา เช่น ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีจะแต่งงานลูกสาวกับผู้ที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่รู้ว่าเมื่อแต่งไปแล้วจะเกิดอะไรขึ้น จึงไปทูลถาม ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสให้แต่งไป อย่างนี้ก็ไม่สงสัย ปฏิบัติได้ สมัยนี้ถ้ามีปัญหาชีวิตเกิดขึ้น เราจะถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ เราจะปฏิบัติอย่างไร เช่น เกิดโรคภัยไข้เจ็บขึ้น เราจะถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ จะต้องทำอย่างไร

สุ. จะถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะเฉพาะเวลาป่วยไข้เท่านั้นหรือ คล้ายๆ กับหมอแล้ว เหมือนจะเป็นอย่างนั้น เหมือนกับพระรัตนตรัยจะรักษาโรคได้

. ส่วนใหญ่เวลาจะยึดอะไรเป็นที่พึ่ง เป็นสรณะ ก็เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น ถ้ามีความสุข ก็มักจะเพลิดเพลินไป

สุ. อย่าให้เป็นอย่างนั้นเลย เพราะพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้ง ซึ่งจะต้องฟังอย่างมากและเป็นเวลานาน ต้องศึกษาจริงๆ พิจารณาจริงๆ แม้ตลอดชีวิตก็ยังไม่จบ

เพราะฉะนั้น จะต้องทราบว่า เมื่อถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ก็จะต้องฟัง พระธรรมจริงๆ และพิจารณาจนกระทั่งเข้าใจในพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยละเอียดยิ่งขึ้น

ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ทุกๆ ขณะ จะต้องอบรมเจริญปัญญาจนกว่าจะประจักษ์แจ้งในสภาพธรรมซึ่งเป็นอนัตตาจริงๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

หวังอะไรเวลาป่วยไข้ที่จะมีพระรัตนตรัยเป็นสรณะ หวังอยากจะหายโรค ถ้าหายแล้วจะเลิกสรณะ หรือจะยังมีพระรัตนตรัยเป็นสรณะต่อไปเพื่ออย่างอื่น เช่น ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข แต่นั่นเป็นสิ่งซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงสละ ไม่ใช่ให้ติด

เพราะฉะนั้น แต่ละชีวิตจะเห็นได้ว่า แล้วแต่อนันตรปัจจัยและอนันตรูปนิสสยปัจจัย และปัจจัยอื่นๆ ไม่ใช่มีแต่เพียงอนันตรปัจจัยเท่านั้น ยังมีปัจจัยอื่นอีกที่ทำให้แต่ละบุคคลเป็นไปตามขณะจิตซึ่งเกิดขึ้นตามปัจจัยนั้นๆ

อย่างเช่น ท่านผู้ฟังซึ่งยังสงสัยในเรื่องนี้ ก็เป็นเพราะมีการสะสมมาที่ยังคงยินดีพอใจ และเห็นความสำคัญของเกียรติยศ บริวาร ความสุขจากกาม กิน เกียรติ ซึ่งทุกคนที่ยังไม่ได้ฟังพระธรรม ยังไม่ได้พิจารณาโดยละเอียด ก็จะเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ สภาพธรรมที่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย เป็นที่แสวงหา เป็นอารัมมณูปนิสสยปัจจัย เป็นสภาพธรรมซึ่งทำให้จิตเกิดขึ้นพอใจอย่างหนักแน่นในอารมณ์นั้น ก็ไม่พ้นจากโลภมูลจิต และสิ่งซึ่งเป็นอารมณ์ของโลภะ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ดี ที่น่าพอใจทั้งหลาย ถ้าไม่อบรมเจริญสติปัฏฐานจริงๆ ไม่มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็ไม่สามารถเห็นความเป็นอนัตตาของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่สามารถที่จะเข้าใจลักษณะของปัจจัยแต่ละอย่าง ซึ่งทำให้สภาพธรรมเกิดขึ้นเป็นไปในขณะนี้

ทุกท่านนั่งอยู่แล้วในที่นี้ อะไรจะเกิดขึ้นในขณะต่อไป ทราบไหม ไม่มีทางที่จะรู้ได้เลยว่า จะเป็นวิถีจิตทางไหน จะเป็นโลกนี้หรือว่าจะเป็นโลกหน้า ทุกขณะจิตนี้เล็กน้อยเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็นความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ในเกียรติยศ ในบริวาร ซึ่งเป็นเพราะจิตคิดถึงเรื่องนั้นๆ ทางใจ บริวารทั้งหมดจบสิ้นเมื่อจิตที่กำลังคิดถึงเรื่องนั้นดับลง เกียรติยศและชื่อเสียง หรือทรัพย์สมบัติทั้งหมด ก็หมดสิ้นพร้อมกับการดับของจิตที่กำลังคิดถึงเรื่องนั้น

เพราะฉะนั้น ทุกอย่าง แท้ที่จริงแล้วเป็นเพราะจิตและเจตสิกเกิดขึ้นมีอารมณ์ต่างๆ มีการคิดนึกต่างๆ ตามปัจจัยต่างๆ ซึ่งสติสามารถจะระลึกรู้และเห็น สภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และยังเห็นสภาพที่เป็นปัจจัยต่างๆ ด้วยเมื่อได้ศึกษาโดยละเอียด

การที่จะเห็นสภาพธรรมไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน โดยที่ไม่ได้ศึกษาธรรม ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะแม้จะได้ยินได้ฟังเรื่องของปัจจัยและเข้าใจแล้ว ก็ยังจะต้องอบรมเจริญสติปัฏฐาน เพื่อให้ประจักษ์แจ้งในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมซึ่งเป็นปัจจัยทั้งหลาย

ขณะนี้เอง ไม่พ้นจากอนันตรปัจจัย แต่ถ้าสติไม่เกิดจะไม่รู้เลยว่า เห็นและ ได้ยินคนละขณะ เพราะฉะนั้น ขณะจิตซึ่งเกิดคั่นนี้แม้ว่าจะมีมาก แต่จะไม่ปรากฏเลยถ้าสติไม่ระลึกรู้

หลังจากที่จักขุทวารวิถีจิต จิตที่รู้อารมณ์ทางตา ซึ่งได้แก่ ปัญจทวาราวัชชนจิต จักขุวิญญาณจิต สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต โวฏฐัพพนจิต และชวนจิตซึ่งแล้วแต่ว่าจะเป็นอกุศลประเภทใด หรือว่ามหากุศลจิตเกิดขึ้น ๗ ขณะและดับไป คือ ในขณะนี้นั่นเอง และมีภวังคจิตคั่น วิถีจิตทางมโนทวารจึงเกิดต่อ แต่ผ่านไปมากมายหลายวิถี ก็ไม่มีการรู้สึกตัว หรือว่าไม่มีการระลึกรู้ตามความเป็นจริงว่า นี่คือพระธรรมที่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพธรรมแต่ละประเภทซึ่งเกิดดับเพราะเหตุปัจจัย

เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐานจึงเป็นการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตรงตามที่ได้ศึกษา ตามที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงแล้ว แต่ถ้าไม่ตรง การศึกษาธรรมก็ไม่มีประโยชน์เลย ถ้าจะไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมที่กำลังเห็นในขณะนี้ หรือไม่ระลึกรู้ลักษณะของรูปธรรมที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ โดยนัยเดียวกัน เป็นสิ่งซึ่งจะต้องอบรมเจริญขึ้นเรื่อยๆ แต่ว่าสามารถจะอบรมเจริญได้

. อารมณ์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรูปารมณ์ คือ อารมณ์ทางตา เป็นสิ่งซึ่งกำหนดได้ยาก เมื่ออารมณ์เกิดขึ้น หรือเราเห็นรูป ความคิดที่เกิดขึ้นอันแรก คือ สวยหรือไม่สวย ชอบหรือไม่ชอบ ไปถึงขนาดนั้น แต่ว่าขณะนั้นเองสติเกิดขึ้น สติที่เกิดขึ้นแทนที่จะกำหนดความคิดในตอนที่เรารู้อารมณ์ กลับไปหาอารมณ์อย่างอื่น คือ ไปคิดหาอารมณ์ที่จะมากำหนด ผมคิดว่าไม่ตรงกับที่อาจารย์บรรยาย

สุ. การอบรมเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่เรื่องง่ายเลย จะเห็นได้ว่า จิตที่คุ้นเคย ชินกับการนึกถึงเรื่องต่างๆ นั้น จะต้องเกิดตามเหตุตามปัจจัย ที่จะให้สติระลึกตรงลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม คือ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ต้องเริ่มพิจารณาแล้วพิจารณาอีก ระลึกแล้วระลึกอีก ปรารภแล้วปรารภอีก และอาจจะกลับไปตรึก หรือพิจารณา หรือฟังเรื่องของสติปัฏฐานแม้ในตอนต้นๆ อีก เพื่อที่จะปรุงแต่งให้สติระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ แทนที่จะเป็นเพียงตรึกนึกถึงเรื่องอารมณ์ ที่จะระลึกรู้

ท่านผู้ฟังท่านหนึ่งถามว่า สติปัฏฐาน การรู้สึกตัว คือ ขณะไหน เมื่อไร

ซึ่งบางท่านได้ฟังเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานแล้ว ได้ยินอีกเพียงเล็กน้อย อาจจะเกื้อกูลให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้เวลาที่สภาพแข็งปรากฏ ขณะนี้ทุกท่านต้องปรากฏแน่เพราะมีกายปสาท เวลาที่แข็งปรากฏ เป็นสติปัฏฐานแล้วหรือยัง

ต้องคิด ปัญญาจะเกิดเพราะพิจารณาไตร่ตรองจริงๆ ถ้าขณะนั้นไม่มีการศึกษา ไม่มีการน้อมพิจารณาลักษณะที่แข็งว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เช่น ในขณะที่หลงลืมสติในวันหนึ่งๆ ทุกท่านกระทบสัมผัสแข็ง แต่ขณะที่หลงลืมสติก็เป็นเก้าอี้ เป็นโต๊ะ เป็นวิทยุ เป็นโทรศัพท์ เป็นรถยนต์ เป็นทุกสิ่งทุกอย่าง ในขณะที่หลงลืมสติไม่ได้น้อมศึกษาลักษณะที่แข็งว่า เป็นแต่เพียงลักษณะแข็งเท่านั้น เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ต้องทำอะไร และไม่ต้องไปแสวงหาอารมณ์อะไร เพราะกำลังปรากฏทุกอารมณ์ที่ปัญญาไม่เคยรู้ชัด ซึ่งการที่ปัญญาจะรู้ชัดได้เพราะมีการระลึกได้ว่า สติปัฏฐาน คือ การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

ในขณะที่หลงลืมสติ ไม่มีการน้อมพิจารณาแข็งว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง แต่รู้ว่าเป็นโทรศัพท์ เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ เพราะฉะนั้น ในขณะที่กระทบสัมผัสแข็ง และน้อมพิจารณารู้ลักษณะที่แข็ง ขณะนั้นจึงเป็นสติปัฏฐาน ไม่ได้ต่างกับชีวิตประจำวันเลย แข็งปรากฏในชีวิตประจำวันอย่างไร เวลาที่สติปัฏฐานเกิดขึ้น แข็งก็ยังคงปรากฏเป็นแข็งอย่างนั้น ไม่เปลี่ยน แต่ในขณะนั้นมีการน้อมศึกษา พิจารณา เพื่อที่จะรู้ว่า แข็งเป็นเพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง และยังไม่พอ เพราะแข็งในขณะนั้นไม่ใช่เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้แล้ว เป็นเพียงลักษณะของสภาพธรรมชนิดหนึ่งก็จริง แต่ว่าสภาพธรรมที่รู้แข็ง ยังไม่เคยระลึกเลย ธาตุรู้ อาการรู้มีจริงๆ ในขณะที่กำลังเห็น เห็นไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตาแน่นอน แต่เห็นเป็นสภาพที่กำลังรู้ คือ เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา

ความเข้าใจไม่ยาก แต่ยากที่สติจะระลึกในขณะที่กำลังเห็น น้อมศึกษาพิจารณาว่า เป็นสภาพรู้ที่กำลังรู้สิ่งซึ่งผู้ที่ไม่มีจักขุปสาทไม่มีโอกาสจะเห็น ในขณะนี้สิ่งที่ปรากฏทางตา ตามปกติ ไม่ผิดปกติเลย แต่ขณะใดที่ระลึกได้ และเกิดการน้อมที่จะรู้ว่า ธาตุรู้ สภาพรู้ไม่ใช่สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา เป็นแต่เพียงลักษณะรู้ เหมือนกับทางหู เสียงกำลังปรากฏ เป็นปกติทุกอย่าง แต่ขณะใดที่น้อมระลึกว่า มีสภาพที่กำลังรู้เสียง กว่าจะชัดเจนว่า ธาตุรู้ อาการรู้ สภาพรู้ ซึ่งศึกษามาตั้งแต่เริ่มต้นว่า เป็นจิตปรมัตถ์ โดยชื่อ แต่ว่าโดยอาการ โดยกิจ โดยลักษณะที่เป็นธาตุรู้จริงๆ ถ้าไม่พิจารณาในขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งกระทบสัมผัส หรือกำลังคิดนึกแล้ว ก็ไม่มีโอกาสจะรู้ได้ว่า ธาตุรู้ หรือสภาพรู้เป็นนามธรรม ซึ่งหมายความว่า ไม่มีรูปร่างสัณฐานใดๆ เลยทั้งสิ้น ไม่ใช่กลิ่น ไม่ใช่รส ไม่ใช่โผฏฐัพพะ เป็นแต่เพียงนามธาตุซึ่งเกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่ปรากฏและดับไป

. เป็นการผิดพลาดในการปฏิบัติที่กระผมทำมาแต่ก่อน เพราะแต่ก่อนนี้เคยเข้าปฏิบัติ อาจารย์สอนให้กำหนดอารมณ์อย่างนั้นอย่างนี้เพื่อจะหารูปนาม หรือให้เห็นรูปนาม นี่เป็นความเข้าใจผิดอย่างมหันต์เลย เพราะเข้าใจผิดว่า รูปนามจะต้องสร้างขึ้นมา ความจริงไม่ใช่อย่างนั้น รูปนามมีอยู่แล้วเป็นปกติธรรมดา แต่เราไม่รู้เอง หรือเราไม่มีสติกำหนดเอง เป็นการติดในข้อปฏิบัติเก่าๆ แก้ยากจริงๆ ทั้งๆ ที่รู้ว่าแนวนี้ผิด พยายามแก้ แต่ก็อดไม่ได้ ส่วนใหญ่จะนึกได้ตอนที่คิด เมื่ออารมณ์ดับไปแล้ว ก็คิดถึงเรื่องนั้น กำหนดได้ตอนหลังว่า ที่คิดนี้ก็สักแต่ว่าความคิด สักแต่ว่าจิตที่เกิดขึ้น และก็หายไป มาได้ตอนนี้หน่อยหนึ่ง แต่ในขณะที่เห็นทางตาก็ดี ได้ยินทางหู ก็ดี หรือทางอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน มันจับไม่ได้ ที่ประจักษ์จริงๆ จับไม่ได้ ได้ตอนที่หายไปแล้วและมาคิดทีหลัง มากำหนดว่า ก็เป็นเพียงธาตุชนิดหนึ่งซึ่งคิดถึงเรื่องที่ล่วงไปแล้ว มาได้ตรงนี้หน่อยหนึ่ง

สุ. ท่านอื่นก็คงคล้ายๆ กัน เหมือนๆ กัน ใช่ไหม ทุกท่านเป็นอย่างนี้

เปิด  231
ปรับปรุง  19 ต.ค. 2566