แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1117
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๕
เห็นปกตูปนิสสยปัจจัยซึ่งทำให้วิบากจิตเกิดขึ้นทำกิจปฏิสนธิไหม เพราะว่ากรรมมีมากมาย ในชาติก่อนๆ หลายชาติ แสนโกฏิกัปป์ชาติมาแล้ว กรรมใดสามารถเป็นปัจจัยทำให้วิบากจิตทำกิจปฏิสนธิในภูมินี้ กรรมนั้นเป็นอุปนิสสยปัจจัยที่ทำให้วิบากจิตเกิดขึ้นทำปฏิสนธิกิจ หมายความว่าเป็นกรรมซึ่งมีกำลังแรงกล้าที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น
และหลังจากปฏิสนธิจิต แต่ละขณะในชีวิตที่จะมีการเห็น จะมีการได้ยิน จะมีการได้กลิ่น จะมีการลิ้มรส จะมีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ซึ่งในวันหนึ่งๆ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา การเห็นเป็นผลของกรรมในอดีตที่ได้กระทำแล้วซึ่งกรรมนั้นเป็น อุปนิสสยปัจจัย คือ เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย มีกำลังแล้ว จึงสามารถทำให้ จักขุวิญญาณและวิถีจิตเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนั้น
ในขณะที่ได้ยินเสียง ในขณะที่ได้กลิ่น ในขณะที่ลิ้มรส ทั้งหมดเป็นเพราะ ปกตูปนิสสยปัจจัย คือ กรรมหนึ่งกรรมใดมีกำลังเป็นปกตูปนิสสยะทำให้วิบากจิต นั้นๆ เกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย
เพราะฉะนั้น ปกตูปนิสสยปัจจัยจำแนกออกเป็น
๑. กุศล เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดกุศลจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมกันได้
๒. กุศล เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอกุศลจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมกันได้
๓. กุศล เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอัพยากตธรรม คือ วิบากจิตและกิริยาจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมกันได้
๔. อกุศล เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอกุศลจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมกันได้
๕. อกุศล เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดกุศลจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมกันได้
๖. อกุศล เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอัพยากตธรรมได้
๗. อัพยากตะ เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอัพยากตธรรมได้
๘. อัพยากตะ เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดกุศลจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมกันได้
๙. อัพยากตะ เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอกุศลจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมกันได้
นี่แสดงถึงสภาพธรรมซึ่งมีกำลังเป็นปกติทำให้สภาพธรรม คือ จิตและเจตสิกในปัจจุบันเกิดขึ้น หรือจิตเจตสิกในอนาคตเกิดขึ้นได้ ซึ่งจะกล่าวถึงตามลำดับ พอสมควรที่จะให้เข้าใจในลักษณะของปกตูปนิสสยปัจจัย
เช่น ข้อที่ว่า กุศลธรรมเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดกุศลธรรม ท่านผู้ฟังที่มีศรัทธาเกิดขึ้น สะสมมาเป็นผู้ที่มีอุปนิสัยในการที่จะให้ทาน ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลเลย ขณะใดที่จิตเกิดขึ้นมีศรัทธาเป็นไปในทานประเภทใด สติสามารถที่จะระลึกรู้ว่า ในขณะนั้นเป็นสภาพธรรมซึ่งเกิดขึ้นเพราะกุศลในอดีตที่เคยให้ทานมาแล้วเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้ทานกุศลในขณะนี้เกิดขึ้น และจะเพิ่มพูนยิ่งขึ้นด้วย
ถ้าท่านมีศรัทธาในการฟังพระธรรม ในการศึกษาธรรม ในการพิจารณาธรรม ในการอบรมเจริญปัญญา ในการเจริญสติปัฏฐาน กุศลเหล่านี้จะเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดวิปัสสนาญาณแต่ละขั้นตามลำดับ หรือสำหรับท่านผู้ใดก็ตามซึ่งขณะนี้ วิปัสสนาญาณเกิดขึ้นให้ทราบว่า เพราะกุศลก่อนๆ ที่ได้กระทำสะสมมาแล้ว เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย คือ เป็นปัจจัยโดยสภาพที่มีกำลังตามปกติที่จะให้ วิปัสสนาญาณในขณะนี้เกิดขึ้น ถ้าไม่มีสภาพธรรมในอดีตที่สะสมมาที่มีกำลังพร้อมที่จะให้สภาพธรรมในขณะนี้เกิดขึ้นเป็นไปอย่างนี้ สภาพธรรมในขณะนี้จะเกิดขึ้นเป็นไปอย่างนี้ไม่ได้
เพราะฉะนั้น ไม่ว่าท่านผู้ฟังจะมีศรัทธาในการกุศลในขั้นใด เช่น ในทานต่างๆ ประเภทต่างๆ หรือในศีลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นศีล ๕ หรือว่าศีล ๘ หรือว่าศีล ๒๒๗ ก็เป็นเพราะอดีตเคยสะสมกุศลนั้นๆ มาด้วยดีจนเป็นปกติที่จะทำให้สภาพกุศลประเภทนั้นๆ เกิดขึ้นอีก
ด้วยเหตุนี้ข้อความในพระไตรปิฎก เวลาที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดมีกิริยาหรือมีการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใด เป็นเหตุให้พระภิกษุกราบทูลพระผู้มีพระภาคถึงเรื่องของบุคคลนั้น พระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงว่า แม้การกระทำนั้นๆ ของบุคคลนั้นในปัจจุบันชาตินี้ ก็ได้เคยกระทำมาแล้วในอดีตเช่นเดียวกัน
เพราะฉะนั้น ในชาดกต่างๆ หรือว่าประวัติของพระสาวกต่างๆ จะเห็นได้ว่า กุศลธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับท่านในชาตินี้ ไม่ใช่เพียงเกิดขึ้นกับท่านเฉพาะในชาตินี้ แต่ว่าเคยเกิดขึ้นเป็นไป ได้เคยกระทำมาแล้วในอดีตชาติจนเป็นปกติ เป็นอุปนิสัย เป็นสภาพธรรมที่มีกำลังทำให้กุศลนั้นๆ เกิดขึ้นอีกในปัจจุบันชาตินี้
ถ. หมายความว่า การกระทำของทุกคน ในอดีตชาติต้องเคยกระทำมาแล้วทั้งนั้น หรือพวกเราที่มานั่งประชุมกันในที่นี้ ก็แสดงว่าในชาติก่อนๆ ก็คงได้เคยฟังคำบรรยายของอาจารย์มาแล้วทั้งนั้น
สุ. ชาติก่อนๆ คงไม่ใช่ดิฉันเป็นผู้บรรยาย เพราะว่าดิฉันบรรยายในชาตินี้ ชาติก่อนคงจะเป็นบุคคลอื่น ข้อสำคัญ คือ ไม่ว่าท่านผู้ฟังจะเคยเป็นใครในอดีตชาติ ก็เป็นผู้ที่สนใจศึกษาในพระธรรม
และถ้าจะพิจารณาถึงบุคคลในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ครั้งที่พระองค์ทรงแสดงพระธรรมที่พระวิหารเชตวันบ้าง ที่พระวิหารเวฬุวันบ้าง หรือที่ พระวิหารนิโครธารามบ้าง ในสถานที่ต่างๆ มีผู้ที่สนใจไปเฝ้าและฟังพระธรรมเป็น จำนวนมาก บางท่านได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ ปรินิพพานในชาตินั้น บางท่านเป็นพระอนาคามีบุคคล บางท่านเป็นพระสกทาคามีบุคคล บางท่านก็เป็นพระโสดาบันบุคคล บางท่านเพียงถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะ แต่ยังไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ท่านเหล่านั้น หลังจากที่พระผู้มีพระภาคปรินิพพานแล้ว ๒๕๐๐ กว่าปีนี้ จะอยู่ที่ไหน คงจะอยู่ในโลกนี้ และก็มีปัจจัยที่จะทำให้สนใจศึกษา ฟังและพิจารณาธรรม พร้อมทั้งอบรมเจริญปัญญาต่อไป ซึ่งคงจะมีจำนวนไม่มากเท่ากับผู้ที่มีความเห็นผิด เพราะว่าแม้ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ผู้ที่มีความเห็นผิดก็ยังมีเป็นจำนวนมากกว่าผู้ที่มีความเห็นถูก
แต่แม้ว่าพระผู้มีพระภาคจะดับขันธปรินิพพานไปแล้วก็ตาม พระธรรมยังอยู่ และผู้ที่เคยสนใจศึกษาธรรม ฟังธรรมในครั้งโน้น ภพชาติยังไม่หมดสิ้น ก็ยังมีอยู่ เพราะฉะนั้น ก็เป็นปัจจัยทำให้ได้มีโอกาสฟังพระธรรม และได้พิจารณาศึกษา พระธรรมต่อไป
ถ. บางท่านมีศรัทธาสนใจในทางศาสนา แต่จะให้มาสนใจในกิจกรรมทางปัญญา อย่างให้ฟังธรรมตรงๆ ตามที่อาจารย์สอน โดยมากไม่ค่อยยอมรับ ชอบไปในทางกิจกรรม เช่น สร้างโบสถ์ สร้างพระ หรือไปนั่งสมาธิ เป็นต้น ไม่สนใจศึกษาพระธรรมเพื่อให้เกิดปัญญาอย่างที่อาจารย์แสดง เป็นเพราะปกตูปนิสสยปัจจัยใช่ไหม
สุ. แน่นอน เพราะว่าการศึกษาปรมัตถธรรม คือ จิต เจตสิก รูป จะเห็นได้ว่า ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน เป็นแต่สภาพธรรม คือ จิตและเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกัน และก็ดับไปตามเหตุตามปัจจัย กรรมหนึ่งซึ่งเป็นกุศลกรรมเป็นปัจจัยทำให้มหาวิบากจิตทำกิจปฏิสนธิเป็นมนุษย์ แต่ว่ากรรมอื่นๆ เจตสิกอื่นๆ ทั้งฝ่ายกุศลและอกุศลซึ่งสะสมมาก็ยังเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยที่จะทำให้แต่ละบุคคลในโลกมนุษย์ มีอัธยาศัยต่างๆ กันไป
บางท่านเป็นผู้สนใจเพียงการให้ทาน บางท่านสนใจในการรักษาศีล บางท่านสนใจในการอบรมเจริญความสงบ บางท่านสนใจในการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ตามกำลัง ซึ่งเป็นปกติของการที่ได้กระทำมาแล้วด้วยดีของแต่ละบุคคล
เพราะฉะนั้น จึงไม่มีการที่จะกล่าวโทษบุคคลอื่น เพราะรู้ว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ว่าใครจะมีกาย วาจา ใจ ที่ผิด ที่เป็นอกุศล หรือว่าที่เป็นไปเพราะความเห็นผิดต่างๆ ก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นเพราะมิจฉาทิฏฐิ เป็นอกุศลเจตสิก เมื่อบุคคลนั้นสะสมสืบต่อมาเป็นอันมากในอดีต บุคคลนั้นก็มีปัจจัยที่จะเกิดความโน้มเอียงที่จะเห็นผิด พิจารณาผิด เข้าใจผิด ประพฤติปฏิบัติผิด ซึ่งสภาพธรรมเหล่านั้นเองเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยทำให้จิต ในปัจจุบันเกิดขึ้นเป็นไปอย่างนั้นๆ
เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังควรจะคิดถึงจิตและเจตสิกซึ่งจะเกิดต่อไปในอนาคต เมื่อได้ทราบว่า ขณะใดเป็นกุศลจิต ขณะใดเป็นอกุศลจิต และทุกท่านเห็นโทษของอกุศล ใคร่ที่จะดับอกุศล ก็มีทางเดียวที่จะดับอกุศลได้ คือ โดยการเริ่มอบรมเจริญปัญญา เพื่อจะได้เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยทำให้กุศลจิตเกิด และสามารถดับกิเลสได้ ในอนาคต เพราะเหตุว่าทุกอย่างแล้วแต่ปัจจัย
ซึ่งอัธยาศัยของแต่ละคน ถึงแม้ว่าจะปฏิสนธิเป็นเศรษฐี เป็นผลของกุศลกรรมในอดีต แต่อาจจะเป็นผู้ที่ตระหนี่มาก เพราะยังมีอกุศลธรรมที่เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย ที่ทำให้ความตระหนี่เกิดขึ้นก็ได้ หรือความริษยาก็มีได้ เพราะถึงแม้ว่ากุศลกรรมเป็นปัจจัยที่มีกำลัง คือ เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยทำให้วิบากจิตปฏิสนธิในภูมิมนุษย์ แต่ริษยาก็ยังไม่ได้ดับไปเป็นสมุจเฉท ถ้าริษยาบ่อยๆ จนกระทั่งเป็นปกติ เป็นสภาพธรรมที่มีกำลัง ก็ย่อมจะเป็นปัจจัยทำให้อกุศลจิตเกิดพร้อมกับความริษยาในปัจจุบันนี้ และต่อไปในอนาคตด้วย
เป็นเรื่องของปัจจัยจริงๆ โดยเฉพาะปกตูปนิสสยปัจจัย ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่กว้างขวาง เพราะว่ากุศลในปัจจุบันเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดกุศลต่อๆ ไปได้ หรือกุศลในอดีตที่ได้สะสมมาแล้วด้วยดีจนเป็นปกติ ก็ทำให้ผู้นั้นเป็นผู้ที่มีอุปนิสัยในกุศล
ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ถ้าบุคคลใดไม่ได้สะสมกุศลในอดีตจนกระทั่งมีกำลังเป็นปกติ เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย ย่อมไม่สามารถที่จะชักชวนบุคคลเหล่านั้นให้เกิดกุศลได้ หรือถ้าบุคคลนั้นไม่ได้สะสมกุศลขั้นที่จะสนใจศึกษาพระธรรมมาก่อนบ้าง บุคคลนั้นก็ไม่มีความสนใจที่จะศึกษาและอบรมเจริญปัญญา ตามปกตูปนิสสยปัจจัยซึ่งเคยเกิดมาแล้วจนเป็นปกติด้วยดี
สำหรับกุศลเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดกุศลให้ทราบว่า ถ้าต้องการให้กุศลเจริญเพิ่มพูนขึ้น จะต้องอบรมเจริญกุศลจนเป็นปกติ เป็นสภาพธรรมที่มีกำลัง จึงสามารถที่จะทำให้กุศลต่อๆ ไปเกิดและเจริญขึ้นได้ เพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ
สำหรับกุศลเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอกุศล ก็เป็นไปได้ เช่น โลภเจตสิก สามารถพอใจในทุกสิ่งทุกอย่างได้ หรือสภาพธรรมที่เป็นอกุศล คือ มานะเจตสิก ความสำคัญตน ก็สามารถที่จะเกิดขึ้นเพราะชาติ สกุล ทรัพย์สมบัติ รูปสมบัติ หรือวิชาความรู้ก็ได้ เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐานจะทำให้รู้ลักษณะของจิต จริงๆ ว่า ขณะใดอกุศลเกิดคั่นกุศลบ้าง
สำหรับกุศลเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอกุศลนั้น เป็นเพราะอกุศลยังไม่ได้ดับไป เพราะฉะนั้น บางท่านเป็นผู้ที่มีศรัทธาในพระศาสนา มีการศึกษาธรรม และมีความรู้ในธรรมที่ได้ศึกษา แต่ว่าเกิดมานะ เพราะกุศลเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอกุศลได้ บางท่านคิดว่า ท่านเข้าใจธรรมแจ่มแจ้งดีกว่าบุคคลอื่น ถึงแม้ว่าจะเป็น ความจริง ก็ไม่ควรที่จะให้เกิดความสำคัญตนขึ้น หรือว่าไม่ควรที่จะให้เกิดการยกตนด้วยโลภะ ข่มบุคคลอื่นด้วยโทสะ นั่นคือลักษณะของมานะ ไม่ว่าจะเป็นกุศลประเภทหนึ่งประเภทใดก็ตาม เช่น การให้ทาน เมื่อให้ไปแล้ว บางท่านอาจจะยกตนด้วยโลภะ เมื่อพูดถึงทานกุศลที่ตนได้กระทำไปแล้วว่า เป็นกุศลอย่างประณีต เป็นกุศลที่คนอื่นยากที่จะทำได้ ในขณะใดก็ตามที่มีการยกตน ให้ทราบว่า ในขณะนั้นเป็นเพราะโลภะ โดยการที่มีศรัทธา คือ มีกุศลนั่นเองเป็นปกตูปนิสสยปัจจัย
หรือในขณะที่ข่มบุคคลอื่น ขอให้สังเกตลักษณะสภาพของจิตเวลาที่ข่มบุคคลอื่น ถ้าเป็นผู้ที่มีเมตตาต่อคนอื่นจะข่มบุคคลอื่นไม่ได้เลย ไม่ว่าด้วยการทำกุศลใดๆ หรือไม่ว่าด้วยศรัทธาของตน หรือด้วยสติปัญญาของตนก็ตาม ซึ่งขณะใดที่มีการข่มบุคคลอื่น แสดงว่าตนเองรู้มากกว่า บุคคลอื่นรู้น้อยกว่า ขณะนั้นนั่นเองกุศลเป็น ปกตูปนิสสยปัจจัยที่ทำให้เกิดอกุศล เช่น ความสำคัญตน เกิดมานะขึ้นได้
นอกจากนั้น บางท่านแม้ว่าจะได้ศึกษาธรรม เช่น ศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะหรืออภิธรรมปิฎก ก็เกิดความเห็นผิดได้ เพราะว่าขาดการพิจารณาไตร่ตรองโดยละเอียดในธรรมที่ได้ศึกษา เพราะฉะนั้น ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของ ปกตูปนิสสยปัจจัย ก็เพื่อความไม่ประมาทจริงๆ ถ้าขณะใดที่ได้ศึกษาพระอภิธรรม หรือพระสูตร หรือพระวินัยก็ตาม แต่เกิดความเห็นผิด ความเข้าใจผิดในข้อประพฤติปฏิบัติ ซึ่งไม่ใช่ทางที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉทได้ ให้ทราบว่า ในขณะนั้นกุศลเป็น ปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอกุศล ไม่ใช่ว่าบุคคลนั้นไม่มีกุศล บุคคลนั้นมีกุศล มีศรัทธาที่จะศึกษาธรรม มีความเข้าใจเรื่องของจิตเจตสิกตามที่อ่าน แต่เพราะขาดการพิจารณาโดยละเอียด โดยถี่ถ้วน ก็เป็นปัจจัยให้เกิดความเห็นผิดได้ และเมื่อเป็นปัจจัยให้เกิดความเห็นผิด ยึดมั่นในความเห็นผิด ก็เป็นเพราะปกตูปนิสสยปัจจัยนั่นเอง
ผู้ที่เป็นพุทธศาสนิกชนมีศรัทธาในพระศาสนาหลายขั้น และถึงแม้ว่าจะเป็น ผู้ที่มีศรัทธาในพระศาสนา แต่อาศัยศรัทธานั่นเองทำให้เกิดยึดมั่นในความเห็นผิด ต่างๆ ซึ่งไม่ตรงกับพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ที่เป็นอย่างนี้ก็เป็นเพราะ ปกตูปนิสสยปัจจัย
ถ. คนที่ศึกษาจากพระไตรปิฎกพร้อมทั้งอรรถกถา มีความเห็นผิดในข้อปฏิบัติได้อีกหรือ
สุ. ได้ มิฉะนั้นการปฏิบัติจะไม่ต่างกันไปตามสำนักต่างๆ
ถ. พระธรรมชุดเดียวกัน เพราะเหตุใดจึงทำให้มีความเข้าใจผิดได้
สุ. เพราะว่าเคยสะสมความโน้มเอียงที่จะเข้าใจผิด ยังไม่สามารถที่จะเข้าใจสภาพธรรมนั้นโดยถูกต้องได้
ถ. ศึกษาวิธีไหนจึงจะเข้าใจถูก
สุ. เทียบเคียงกับพระธรรมวินัยโดยละเอียดทุกประการ
ถ. ผู้นั้นก็ศึกษาพระธรรมวินัยอยู่แล้ว
สุ. ต้องเป็นผู้ที่เห็นประโยชน์ คือ จะต้องเทียบเคียงกับพระธรรมวินัยโดยละเอียดทุกประการ ถ้าเว้น บางประการเทียบเคียง บางประการไม่เทียบเคียง อย่างนั้นไม่เป็นเหตุที่จะทำให้เกิดความเห็นถูกได้ เพราะว่ายังยึดมั่นในความเห็นผิด ในส่วนที่ยังไม่ได้เทียบเคียงให้ถูกต้อง