แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1121
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๕
สุ. นอกจากปรมัตถธรรมซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แล้ว ยังต้องมีนามธรรมซึ่งรู้อรรถ คือ ความหมายซึ่งเป็นบัญญัติของปรมัตถธรรมนั้นๆ ชีวิตจึงจะดำเนินต่อไปได้ เพราะฉะนั้น การรู้ความหมาย คือ อรรถ และบัญญัติต่างๆ นั้น จึงเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยที่จะทำให้เกิดกุศลจิตหรืออกุศลจิต
บุคคล เป็นอรรถ เป็นความหมาย เป็นบัญญัติ บุคคลต่างๆ เป็นปัจจัยให้เกิดกุศลก็ได้ อกุศลก็ได้ เป็นปัจจัยให้เกิดโลภะ ชอบบุคคลนี้ เป็นปัจจัยให้เกิดโทสะ ไม่ชอบบุคคลนี้ เป็นปัจจัยให้เกิดริษยาบุคคลนี้ หรือว่าเป็นปัจจัยให้เกิดมัจฉริยะ ความตระหนี่ เมื่อเห็นบุคคลนี้ก็ได้ หรือว่าเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลจิต เกิดเมตตากรุณา หรือเกิดความเคารพนับถือ หรือเกิดการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ในบุคคลนั้นก็ได้
จะเห็นได้ว่า ชีวิตประจำวันมีทั้งสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถ์เกิด และยังต้องมีขณะที่รู้อรรถ รู้ความหมายของปรมัตถธรรมนั้นๆ ชีวิตจึงจะดำเนินต่อไปได้
เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญา ต้องรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ขณะใดอารมณ์ที่กำลังปรากฏเป็นปรมัตถธรรม ขณะใดเป็นจิตซึ่งกำลังมีอรรถ ความหมาย หรือว่าบัญญัติเป็นอารมณ์ เพื่อที่จะได้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ
ถ้าไม่รู้ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า การที่ยึดถือว่าเป็นคนนั้น เป็นอรรถ เป็นบัญญัติ เป็นการรู้ความหมายของสิ่งที่ปรากฏทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ก็ยังคงยึดถือบุคคลว่า เป็นสภาพธรรมที่ยั่งยืนหรือว่าเป็นตัวตน ไม่รู้ว่าแท้ที่จริงแล้วเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา หรือทางหู หรือการกระทบสัมผัสทางกาย
เพราะฉะนั้น อรรถ บัญญัติต่างๆ เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย เป็นที่อาศัยที่มีกำลังที่ทำให้ชีวิตดำรงอยู่ได้ ถ้าใครเกิดมาไม่รู้อรรถ ความหมายของสภาพธรรมที่ปรากฏจะมีชีวิตอยู่ได้ไหม ไม่จำเป็นต้องใช้เสียงเวลาที่เข้าใจอรรถคือความหมายของสิ่งที่ปรากฏ เพราะแม้แต่สัตว์เดรัจฉานก็ยังมีชีวิตดำรงไปด้วยการกินอยู่หลับนอนได้เพราะรู้อรรถ คือ ความหมายของสิ่งที่ปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย
สำหรับร่างกายซึ่งเป็นที่ประชุมรวมกันของรูปต่างๆ มีแต่ทุกข์ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นทุกข์โทษภายใน ได้แก่ ความไม่สม่ำเสมอกันของธาตุทั้ง ๔ ซึ่งทำให้มีโรคภัย ต่างๆ มีภัยจากความหิว ความเมื่อย ความเจ็บปวด หรือความไม่สะอาดต่างๆ และภัยภายนอก ซึ่งร่างกายนี้ก็ต้องระวังไม่ให้กระทบกับภัยภายนอก เช่น ภัยที่เกิดจากไฟ ไฟไหม้ ภัยที่เกิดจากน้ำ เช่น น้ำท่วม หรือเกิดจากโจรผู้ร้าย ศัตรู อุบัติเหตุต่างๆ เป็นต้น
ขอแทรกนิทานธรรมสันสกฤตเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องของผู้ทรงศีล ๕ ท่าน ซึ่งคัดมาจากคัมภีร์สันสกฤต โดยอาจารย์มหาวิทยาลัยชาวศรีลังกาท่านหนึ่ง มีข้อความว่า
ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดในสกุลพราหมณ์ ได้สละเพศฆราวาสตั้งแต่วัยหนุ่ม บำเพ็ญพรตอยู่ในที่สงบ ซึ่งในที่นั้นก็มีสัตว์ที่มีศีลเป็นสหายกัน ๔ ตัว คือ กาตัวหนึ่ง นกพิราบตัวหนึ่ง งูตัวหนึ่ง กวางตัวหนึ่ง
วันหนึ่ง สัตว์ทั้ง ๔ ได้สนทนากันและได้ถามกันว่า อะไรเป็นทุกข์ภัยที่ร้ายแรงที่สุดในโลก
กาได้พูดขึ้นก่อนว่า ความหิว เป็นทุกข์ภัยที่ร้ายแรงที่สุด เพราะเพื่อระงับความหิว นายพรานก็ยังฆ่าสัตว์ที่ปราศจากโทษภัยเพื่อบริโภคเนื้อของสัตว์นั้น และในยามทุกข์ยากที่หิวแสนหิว มนุษย์ก็ยังกินหญ้าแห้ง ใบไม้แห้ง หรืออาหารที่บูดเน่า มีหนอนได้
นกพิราบเห็นด้วยและพูดว่า เป็นความจริงที่ความหิวเป็นทุกข์อย่างยิ่ง แต่ กิเลสต่างหากที่เป็นทุกข์ภัยที่ใหญ่ที่สุด เพราะแม้แต่ผู้ที่มีฤทธิ์สามารถที่จะเหาะเหินเดินอากาศหรือดำดินได้ ก็ยังสิ้นฤทธิ์เมื่อเกิดกิเลสตัณหา ซึ่งไม่มีใครสามารถจะยับยั้งได้ กิเลสตัณหาย่อมกางกั้นกุศลธรรมทั้งหลาย ทำให้ชื่อเสียงคุณงามความดีด่างพร้อยแปดเปื้อนด้วยมลทินโดยไม่ละเว้นไม่ว่าจะเป็นผู้ที่อยู่ในวัยใด ชาติสกุลใด และได้ยกตัวอย่างหญิงทั้งหลายซึ่งเป็นผู้ที่ขลาดอาย มีปกติสะดุ้งตกใจกลัวแม้แต่เสียงดนตรีภายในบ้านในยามดึกสงัด แต่กลับกลายเป็นผู้กล้าเพราะกิเลสราคะ สามารถจะเสี่ยงภัยนานาประการออกไปนอกบ้านเพียงลำพังผู้เดียวในกลางคืน ซึ่งทุกหนทุกแห่งมืดหมดได้
งูได้กล่าวว่า กิเลสตัณหาซึ่งทำให้ลุ่มหลงมัวเมาเป็นทุกข์ภัยจริงๆ แต่ฉันคิดว่า โทสะเป็นทุกข์โทษที่ร้ายแรงกว่า เพราะโทสะย่อมเผาจิตใจให้เร่าร้อน และได้ยกตัวอย่างฤๅษีที่บำเพ็ญตบะก็ยังทำสิ่งที่โหดร้ายยังกะงูได้ ด้วยการบันดาลไฟให้เผาไหม้ผู้คนด้วยโทสะ โทสะทำให้คนฆ่าแม้มารดาบิดาและมิตรสหายได้ และได้ยกตัวอย่างเรื่องการเผาเมืองตรีปุระ และกษัตริย์ที่ประหารกสานติวาทินดาบสด้วยการตัดเป็นชิ้นๆ งูเน้นว่าโทสะเป็นโทษภัยที่ร้ายแรงกว่าภัยอื่นๆ ทั้งหมด
ความเห็นทั้งหมดนี้ตามปกตูปนิสสยปัจจัยจริงๆ ไม่ว่าใครจะมีความเห็นอย่างไร เพราะได้สะสมการคิดอย่างนั้นไว้แล้วในอดีต
ต่อไปถึงสัตว์ตัวที่ ๔ คือ กวาง
กวางก็บอกว่า ถูกแล้วที่ว่า โทสะเป็นโทษภัยที่ร้ายแรงมาก แต่ฉันคิดว่า โทษภัยที่ร้ายแรงกว่านั้น คือ ความกลัวตาย พวกกวางเราอยู่ในป่า กลัวตายเสียจนแม้ได้ยินเสียงใบหญ้าไหว ใบไม้ร่วง ก็วิ่งหนีกระเจิดกระเจิงไปโดยไม่ห่วงกันและกัน ละทิ้งแม้แต่ลูกซึ่งเป็นที่รักของตัวเอง เราอยู่กันตามราวป่าเขา กลัวความตายจากสายฟ้า เวลาคอแห้งผากก็เดินไปสู่ฝั่งลำธาร แต่ก็ต้องวิ่งกลับโดยไม่ได้กินน้ำเลย เพราะกลัวสิงโตกัด เมื่อเห็นพรานใจร้ายก็ต้องละทิ้งทุ่งหญ้าซึ่งเต็มไปด้วยหญ้าอ่อนเขียว ซัดเซไปตามป่าที่กันดาร และเป็นเหยื่อของเสือร้าย ใจของเราแทบจะละลายแม้เพียงเห็นหุ่นไล่กา ไม่มีสุขเลยทั้งกลางวันและกลางคืน ฉะนั้น ฉันคิดว่า ความกลัวตายเป็นสิ่งที่ร้ายยิ่งกว่าความทุกข์ทั้งมวล
สหายทั้ง ๔ ไม่สามารถจะยุติปัญหานั้นได้ จึงได้ไปหาพระโพธิสัตว์ เมื่อได้แสดงคารวะแล้วได้ถามด้วยความนอบน้อมว่า ในบรรดาความเห็นของพวกตนทั้ง ๔ ที่ว่า ความหิว ๑ ความโลภ ๑ ความโกรธ ๑ ความกลัวตาย ๑ เป็นทุกข์ภัยใหญ่หลวงนั้น ผู้ใดชื่อว่า กล่าวดีแล้ว
ปกตูปนิสสยปัจจัยของท่านผู้ฟัง จะทำให้ท่านผู้ฟังคิดว่าอย่างไร
พระโพธิสัตว์กล่าวว่า
ทุกท่านกล่าวดีแล้ว สภาพธรรมทั้งหลายเหล่านั้นเป็นทุกข์ภัยแก่สรรพสัตว์ทั้งหลายในโลก แต่ทุกท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี ทุกข์อันเกิดจากความหิว ความโลภ ความโกรธ ความกลัวตาย และทุกข์ภัยอื่นๆ ทั้งหลายทั้งปวงที่จะทำให้ขนชูชันนั้นล้วนมีได้เพราะมีชาติ ความเกิด เพราะฉะนั้น ชาติ ความเกิดนั้นเองจึงเป็นทุกข์ อย่างยิ่ง เราขอเตือนท่านทั้งหลาย ให้อบรมเจริญปัญญาเพื่อดับชาติ การเกิด
สัตว์ทั้ง ๔ ก็รับโอวาทของพระโพธิสัตว์ด้วยความเคารพ
เพราะฉะนั้น ทุกท่านเกิดมาแล้ว ควรอบรมเจริญปัญญาที่สามารถรู้แจ้ง สภาพธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริง นับตั้งแต่ลืมตาตื่นขึ้น ควรจะเป็นอย่างนั้น และเป็นไปได้ถ้าอบรมเจริญสติปัฏฐานบ่อยๆ เนืองๆ จนกระทั่งเป็นพละ คือ เป็นกำลัง ไม่ว่าจะเป็นในขณะใด
แม้ว่าในวันหนึ่งๆ จะตื่นขึ้นพร้อมด้วยการหลงลืมสติเป็นส่วนใหญ่ แต่คงจะมีสักวันหนึ่งที่ตื่นขึ้นพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ทันที เพราะว่าได้อบรมเจริญการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นบ่อยๆ ในวันหนึ่ง ในเดือนหนึ่ง ในปีหนึ่ง ในภพหนึ่ง ในชาติหนึ่งจนชิน แต่ต้องเป็นชีวิตตามปกติ ตามเหตุตามปัจจัย เพราะแม้เมื่อตื่นขึ้นสภาพธรรมใดจะปรากฏก็เลือกไม่ได้ เป็นไปตามอนันตรูปนิสสยปัจจัย
ถ้าสติสัมปชัญญะเกิดจะรู้ได้จริงๆ ว่า สภาพธรรมที่ปรากฏสั้นและเล็กน้อยเหลือเกิน แม้แต่เพียงทวารเดียว เช่น ทางหู ลองดูในขณะนี้ กี่เสียงแล้ว หรือไม่ได้ยินสักเสียงเดียว ทางหู ลองดูใหม่ เวลาที่สติสัมปชัญญะเกิด มากกว่าหนึ่งเสียง
เสียงหนึ่งเกิดและหมดไป ลักษณะของอีกเสียงหนึ่งเกิดและก็หมดไปๆ ใครจะยับยั้งอนันตรูปนิสสยปัจจัย สภาพธรรมซึ่งเกิดดับสืบต่อตามปกติ ตามเหตุตามปัจจัย
ลองอีกก็ได้ หลายเสียงไหม ทีละเสียงๆ ยังไม่ถึงอรรถบัญญัติเพราะเหตุว่าเพียงเสียงปรากฏ รู้ไหมว่าเสียงอะไรบ้าง หลายๆ เสียงซึ่งปรากฏแล้ว ไม่จำเป็นต้องนึกถึงอรรถบัญญัติ แต่สามารถที่จะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งที่ปรากฏและหมดสิ้นไป ดับสิ้นไปอย่างรวดเร็ว แต่ต้องอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะทั้งของนามธรรมและรูปธรรม ไม่ใช่เพียงรู้ลักษณะของรูปธรรมอย่างเดียวหรือทางเดียว แต่จะเห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า แม้แต่เพียงโสตทวารๆ เดียว สิ่งที่ปรากฏก็เป็นสภาพธรรมที่เล็กน้อยและสั้นมาก สิ่งที่ดับไปแล้วก็ดับไป แต่มีปัจจัยให้เสียงอื่นเกิดขึ้นปรากฏอีก ตามปกติตามความเป็นจริง
เพราะฉะนั้น ไม่ใช่พยายามบังคับไม่ให้ได้ยินเสียง หรือไม่ใช่พยายามบังคับไม่ให้รู้อรรถหรือความหมายของเสียงนั้น เพราะชีวิตจะดำรงอยู่ได้ในวันหนึ่งๆ ต้องมีสภาพธรรมที่รู้อรรถหรือความหมายของสภาพปรมัตถธรรมนั้นด้วย มิฉะนั้นจะไม่รู้ว่า สิ่งที่ปรากฏนั้นเป็นอะไร ทำให้ไม่สามารถจะดำรงชีวิตอยู่ได้เลยถ้าเป็นในลักษณะนั้น
ถ. คำว่า รูป เสียง กลิ่น รส ต่างกันกับคำว่า โต๊ะ เก้าอี้อย่างไร
สุ. บัญญัติในสิ่งที่มีจริง กับบัญญัติในสิ่งที่ไม่มีจริง เสียงมีจริง ถ้าไม่ใช้ คำว่า เสียง จะรู้ไหมว่าหมายถึงอะไร ไม่ใช้คำว่า กลิ่น แม้ว่ากลิ่นมีจริง แต่ไม่ใช้คำที่จะเรียกสิ่งนั้น ก็ย่อมไม่รู้ว่าหมายถึงสิ่งนั้น
เพราะฉะนั้น เพื่อให้รู้ว่าหมายถึงสิ่งใด จึงต้องใช้เสียงบัญญัติขึ้นเพื่อให้รู้ว่า หมายความถึงสิ่งนั้น เป็นสัททบัญญัติ
ถ. พระอรหันต์เป็นของจริง หรือเป็นบัญญัติ
สุ. คำ เป็นสัททบัญญัติ แต่สภาพที่เป็นอรหันต์มีจริง เป็นปรมัตถ์
ถ. เวลาที่ได้ยินเสียง อย่างเช่น ได้ยินเสียงอาจารย์ จะเกิดพร้อมกันเลย คือ รู้ว่าเสียงอาจารย์ด้วย สภาพเสียงก็รู้ด้วย แยกไม่ออก
สุ. ไม่พร้อมแน่ จะพร้อมกันไม่ได้เลย ขณะที่ได้ยินเสียงเป็นขณะเดียว เป็นโสตวิญญาณ เป็นโสตทวารวิถีที่กำลังมีเสียงเป็นอารมณ์ จะพร้อมกันไม่ได้ ส่วนการที่จะเข้าใจในอรรถหรือความหมายของเสียงหรือของคำ ต้องเป็นทวารอื่น วิถีอื่น ไม่ใช่โสตทวารวิถี
ถ. ไม่ใช่สัญญาเกิดพร้อมกันเลยหรือ
สุ. สัญญาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง
ถ. ก็รู้พร้อมกัน
สุ. สัญญาเจตสิกที่เกิดกับโสตทวารวิถีก็มีเสียงเป็นอารมณ์ ยังไม่ใช่มีการนึกถึงอรรถหรือความหมายใดๆ ทั้งสิ้น
ถ. ขณะที่ได้ยิน จะรู้พร้อมกันเลย
สุ. ไม่พร้อมแน่ ถ้าสติปัฏฐานเกิดจะรู้ได้ว่า ไม่พร้อม
ถ. คนละขณะหรือ
สุ. คนละวิถี คนละทวาร
ถ. คำว่า ปกตูปนิสสยปัจจัย มีความสัมพันธ์กับวัฏฏะ ๓ อย่างไร ได้ฟังมาว่า กิเลสวัฏฏ์เป็นปัจจัยให้เกิดกัมมวัฏฏ์ กัมมวัฏฏ์เป็นปัจจัยให้เกิดวิปากวัฏฏ์ เกี่ยวข้องกันอย่างไร
สุ. กิเลสวัฏฏ์เป็นปัจจัยให้เกิดกัมมวัฏฏ์ ได้แก่ กุศลธรรมเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดกุศลธรรม ซึ่งเป็นกัมมวัฏฏ์ฝ่ายดี อกุศลธรรมเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอกุศลกรรม ซึ่งเป็นกัมมวัฏฏ์ฝ่ายไม่ดี กุศลกรรมเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิด อัพยากตธรรม คือ วิปากวัฏฏ์ วิปากวัฏฏ์ก็เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดกุศลก็ได้ อกุศลก็ได้ สุขเวทนาทางกายเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลหรืออกุศลก็ได้
บางท่านที่เพียบพร้อมด้วยความสุขก็พร้อมที่จะศึกษาธรรม เป็นปัจจัยให้ กุศลกรรมเกิดขึ้น บางท่านที่เพียบพร้อมด้วยความสุข เป็นปัจจัยให้อกุศลธรรมเกิดขึ้น ก็เพลิดเพลินไปในความสุข เพราะฉะนั้น อัพยากตธรรมเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลธรรมหรืออกุศลธรรมได้
บางท่านมีทุกขกายวิญญาณ ความเจ็บปวด ป่วยไข้ ไม่สบาย แต่เป็น ปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดกุศลก็ได้ คือ เห็นว่าชีวิตจะหมดสิ้นลงเมื่อไรไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ ได้ยินในขณะนี้ดับไป โสตทวารวิถีจิตดับไปหมดแล้ว จุติจิตเกิดก็ได้ เพราะชีวิตไม่มีนิมิตคือเครื่องหมายที่จะรู้ได้ว่าจะดับสิ้นจากโลกนี้เมื่อไร เพราะฉะนั้น แม้ทุกขกายวิญญาณที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ก็เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดกุศลได้
ในพระไตรปิฎกจะยกเรื่องของทุกขกายวิญญาณและสุขกายวิญญาณ สำหรับอัพยากตธรรมเป็นปัจจัยให้เกิดอัพยากตธรรม หรือเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลธรรมและอกุศลธรรม เพราะว่ากายเป็นสิ่งสำคัญซึ่งทุกท่านยึดถือและปรารถนาที่จะให้มีสุข มิฉะนั้นแล้วการทุจริตต่างๆ ก็ไม่มี ถ้าไม่มีความรักกายที่จะให้กายนี้มีสุข ซึ่งเมื่อไม่ได้ในทางสุจริตก็มีปัจจัยให้ทำทุจริตกรรมได้ เพราะสุขกายวิญญาณเป็นปกตูปนิสสยปัจจัย คือ เป็นที่อาศัยที่มีกำลังที่จะทำให้เกิดทุจริตกรรมได้
ถ. ลักษณะปรมัตถธรรมที่อาจารย์บรรยาย ผมก็เชื่อว่าเป็นอย่างนั้น แต่เวลาที่ผมกำลังเจริญสติ ยังแยกไม่ได้ถึงขั้นนั้น จะใช่สติปัฏฐาน ๔ หรือเปล่า
สุ. ลักษณะของสติที่ปัญญาไม่รู้ชัด เพราะปัญญายังไม่ได้อบรมถึงขั้นที่จะรู้ในลักษณะของสติ ซึ่งสติที่เริ่มเกิดอาจจะเกิดในระยะที่เล็กน้อยมาก หลังจากนั้น อกุศลธรรม คือ อวิชชา วิจิกิจฉา ก็เกิดคั่น ทำให้ไม่รู้ว่าขณะนั้นเป็นลักษณะของ สติปัฏฐานหรือเปล่า จนกว่าปัญญาจะเพิ่มขึ้นจึงรู้โดยที่ไม่สงสัยเลยว่า ในขณะที่กำลังพูด ในขณะที่กำลังประกอบกิจการงาน ในขณะที่กำลังนั่ง นอน ยืน เดิน ชีวิตประจำวันทุกขณะ ขณะใดที่สติเกิด คือ ขณะที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตรงลักษณะนั้น ตามปกติ ไม่ผิดปกติเลย
แต่นามธรรมก็มีมาก จิตประเภทต่างๆ เจตสิกประเภทต่างๆ รูปที่ปรากฏ ทางตาและการรู้อรรถบัญญัติของสิ่งที่ปรากฏทางตา ซึ่งเป็นปกตูปนิสสยปัจจัย ทำให้เวลาที่มีการเห็นแล้ว จะต้องมีมโนทวารวิถีเกิดต่อ รู้อรรถบัญญัตินั้น ทำให้ไม่ ประจักษ์ในสภาพธรรมที่เป็นแต่เพียงปรมัตถธรรมแต่ละอย่างซึ่งปรากฏแต่ละทาง