แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1122
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๕ ต่อวันอาทิตย์ที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๕
ปัญญาต้องอบรมเจริญจริงๆ จนสามารถที่จะรู้ได้ว่า ขณะใดมีลักษณะของปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ และขณะใดเป็นอรรถ คือ การรู้เรื่อง รู้ความหมายของสิ่งที่ปรากฏ จะมีการเห็นโดยที่ไม่รู้ว่าเป็นเก้าอี้ ไม่รู้ว่าเป็นเตียงนอน ไม่รู้ว่าเป็นห้องน้ำ ไม่รู้ว่าเป็นแก้วน้ำ ได้ไหม ก็ไม่ได้ ไม่มีทางที่จะเป็นคนอยู่ต่อไปได้เลย แต่สติปัฏฐานสามารถจะรู้ตามความเป็นจริงได้ว่า ขณะใดมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ ขณะใดเป็นการรู้อรรถ คือ ความหมายของสิ่งที่ปรากฏของปรมัตถธรรมนั้นๆ
เพราะฉะนั้น ขณะใดที่สติเกิดก็รู้ ขณะใดที่หลงลืมสติก็รู้ จนกว่าจะไม่ใช่ตัวตนเลยสักอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตามปกติ ตามความเป็นจริงในชีวิตประจำวันจริงๆ เพราะแม้แต่เพียงโสตทวาร ทวารเดียว ถ้าขณะใดที่สติสัมปชัญญะเกิดยังรู้ได้ว่า ไม่ใช่เสียงเดียว เสียงหนึ่งเกิดขึ้นและดับไป และมีเสียงอื่นเกิดขึ้นและก็ดับไป ซึ่งถ้าหลงลืมสติจะผ่านไปโดยไม่ระลึกรู้ลักษณะของเสียงแต่ละเสียงว่า เสียงหนึ่งเกิดปรากฏและดับ และเสียงอื่นจึงเกิดปรากฏและดับ
ทวารอื่นก็โดยนัยเดียวกัน ซึ่งจะต้องเกิดดับทีละทวาร เสียงอะไร กี่เสียง นี่คือลักษณะของผู้มีสติสัมปชัญญะ ไม่หลงลืมเวลาที่สภาพธรรมใดปรากฏ สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น จึงปรากฏว่าสภาพธรรมแต่ละอย่างสั้นมาก เกิดปรากฏและหมดไปโดยรวดเร็วจริงๆ แต่ถ้าหลงลืมสติ คือ สติสัมปชัญญะไม่เกิด จะบอกไม่ได้เลยว่ากี่เสียงแล้วที่ปรากฏทางโสตทวาร ทีละเสียงๆ และถ้าไม่รู้ในอรรถบัญญัติ จะบอกกันได้ไหมว่า เมื่อสักครู่นี้เป็นเสียงเด็กเดินผ่านไป เสียงเดิน เสียงวิ่ง จะบอก ได้ไหม แต่เพราะรู้อรรถบัญญัติ จึงรู้ว่าเสียงนั้นเป็นเสียงวิ่ง
จะเห็นได้ว่า แม้การที่จะรู้ว่าเป็นเสียงวิ่ง ก็คนละวิถีกับโสตทวารที่เพียงได้ยินเสียง เพราะฉะนั้น จิตจะเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วสักแค่ไหนกว่าจะรู้ว่าแต่ละเสียงนั้นคือเสียงอะไร ตามปกติตามความเป็นจริงให้ทราบว่า ขณะที่มีสติทางหูคืออย่างไร คือ เสียงใดปรากฏก็รู้ลักษณะของเสียงนั้น
ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ โดยนัยเดียวกัน
ถ้าจะคิดทบทวนว่า ปกตูปนิสสยปัจจัยคืออะไร ปกตูปนิสสยปัจจัย ก็คือ ทุกอย่างที่เป็นที่อาศัยที่มีกำลังเป็นปกติ เป็นปัจจัยให้เกิดนามธรรม คือ จิตและ เจตสิกในชีวิตประจำวัน ทุกภพทุกชาติ แม้ในชาติก่อนๆ และในชาติปัจจุบัน และ ในชาติอนาคตต่อไปด้วย ซึ่งจะเห็นได้ว่า ชีวิตประจำวันของแต่ละคนไม่เหมือนกันเลย
ที่ชีวิตของแต่ละคนต่างกันไปตามเหตุการณ์แต่ละอย่างในแต่ละวันนั้น ไม่ว่าจะเป็นในครั้งอดีตเนิ่นนานมาแล้วก็ไม่เหมือนกัน ก็ต่างกันอย่างนี้ เช่น อดีตประวัติของ พระเถระ พระเถรี พระอรหันต์ทั้งหลาย หรือแม้แต่อุบาสกอุบาสิกาที่มีชีวิตปรากฏในพระไตรปิฎก หรือนอกพระไตรปิฎก คือ ที่ไม่ได้แสดงไม่ได้กล่าวไว้ในพระไตรปิฎก แม้ในสมัยก่อนนั้นอีก คือ ในสมัยของชาดก เรื่องราวต่างๆ ในอดีต ในพระชาติต่างๆ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง หรือแม้ในชาติปัจจุบันที่พระผู้มีพระภาพทรงตรัสรู้ แม้ว่าเหตุการณ์จะผ่านมาจนกระทั่งถึงในสมัยปัจจุบันนี้ เหตุการณ์ต่างๆ ก็ยังคงต่างกันไปตามปัจจัยของแต่ละคนที่สะสมมา และเกิดขึ้นเป็นไปอย่างนั้นในชีวิตประจำวัน
ขอให้คิดดูในวันหนึ่งๆ ก็ได้ ขณะอยู่ที่บ้าน ที่บ้านก็มีหลายคน ไม่ใช่มีคนเดียว อยู่ในบ้านเดียวกันแท้ๆ จิตใจของแต่ละคนในขณะนั้นเหมือนกันหรือเปล่า ที่อยู่ก็ไม่เหมือนกัน บางคนขณะนั้นอาจจะอยู่ในครัว อีกคนหนึ่งกำลังอ่านหนังสือ อีกคนหนึ่งอาจจะทำสวน เพราะฉะนั้น แม้แต่ในสถานที่เดียวกันใกล้ชิดกัน เหตุการณ์ของแต่ละคนซึ่งเกิดขึ้นในชีวิตก็ต่างกัน และจิตใจซึ่งกำลังคิดนึกเรื่องราวต่างๆ ของแต่ละคนก็ยิ่งต่างกันไปตามความวิจิตรของทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งเป็นปัจจัยที่มีกำลัง ที่ทำให้นามธรรมคือจิตและเจตสิกเกิดขึ้นเป็นไปในขณะนั้น เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย
เรียกว่าเป็นชีวิตปกติ ประจำวันธรรมดาจริงๆ ทุกสิ่งทุกอย่างที่แวดล้อม เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย เป็นปัจจัยที่มีกำลังตามปกติของสภาพธรรมนั้นๆ ที่จะทำให้นามธรรมคือจิตและเจตสิกเกิดขึ้นเป็นไปในแต่ละขณะ ไม่ว่าจะเป็นวิบากจิต จะเกิดขึ้นได้ก็เพราะกรรมนั้นๆ มีกำลัง จึงทำให้วิบากจิตประเภทนั้นๆ เกิดขึ้นทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย และเมื่อวิบากจิตเกิดขึ้นเห็น สิ่งต่างๆ หรือว่าได้ยินเสียงต่างๆ แล้ว แม้กุศลหรืออกุศล ไม่ว่าจะเป็นโลภมูลจิต หรือโทสมูลจิตก็ตามที่เกิดขึ้น ก็เป็นเพราะปกตูปนิสสยปัจจัย โลภเจตสิกประเภทนั้นๆ โทสเจตสิกประเภทนั้นๆ หรือกุศลสัทธาประเภทนั้นๆ กุศลกรรมที่เป็นทานบ้าง เป็นศีลบ้างประเภทนั้นๆ เคยสะสมมาเป็นปกติ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่เมื่อมีกำลังก็ทำให้กุศลธรรมหรืออกุศลธรรมนั้นๆ เกิดขึ้นเป็นไป
ถ้าท่านผู้ฟังจะพิจารณาชีวิตในวันหนึ่งๆ เมื่อได้เข้าใจเรื่องของปกตูปนิสสยปัจจัยแล้ว จะเห็นความสำคัญของนามธรรมซึ่งเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ เพราะแม้ว่า รูปจะสำคัญโดยเป็นปัจจัยต่างๆ ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ถ้าไม่มีรูปเป็นปัจจัยนามธรรมก็เกิดไม่ได้ แต่ที่รูปจะสำคัญได้นั้นก็เพราะมีนามธรรมที่รู้รูปนั้น ถ้าไม่มีนามธรรมเลย รูปจะเป็นอย่างไรก็ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครเดือดร้อน ถ้าในทะเลมีพายุ แต่ไม่มีใครอยู่กลางทะเลนั้น ไม่มีการรู้ความปั่นป่วนของพายุกลางทะเล ก็ไม่ต้องมีทุกข์อะไร
หรือแม้แต่ร่างกายของทุกท่านที่ต้องบริโภคอาหารเพื่อดำรงชีวิตอยู่ แต่ความสำคัญอยู่ในขณะไหน ก็ในขณะที่สุขหรือทุกข์ปรากฏทางกาย ลองพิจารณาดู ถ้าไม่หิวและชีวิตสามารถจะดำรงอยู่ได้โดยไม่ต้องรับประทานอาหาร อาหารซึ่งเป็นรูปจะมีความจำเป็นอะไรไหมถ้าไม่หิวและร่างกายสามารถดำรงอยู่ได้โดยไม่ต้องรับประทานอาหาร อาหารก็ไม่มีความสำคัญอะไรเลย แต่ที่อาหารสำคัญเพราะว่าอาหารประกอบด้วยธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม คือ มหาภูตรูป ๔ และประกอบด้วย สี กลิ่น รส โอชา
โอชาเป็นอาหารรูป คือ เป็นรูปซึ่งจะทำให้รูปอื่นเกิดขึ้น
เพราะฉะนั้น ความสำคัญของอาหารที่รับประทานหรือที่บริโภคประจำวันนี้ เฉพาะโอชารูปเท่านั้นเป็นอาหารรูป แต่ว่าอย่างอื่น คือ สี กลิ่น รส ก็เป็นรูปที่ปรากฏทางตา ทางจมูก ทางลิ้น และแม้ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ก็เป็นส่วนสำคัญเพราะเป็นส่วนที่บำบัดความหิว เมื่อกำลังบริโภคอยู่ก็เป็นอาหารใหม่ เมื่อย่อยหมดแล้วก็เป็นอาหารเก่า แสดงให้เห็นว่า ไม่สามารถบริโภคเพียงรูปซึ่งเป็นอาหาร คือ โอชา แต่ต้องบริโภคทั้งหมด คือ ทั้งธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม สี กลิ่น รส และโอชาซึ่งรวมอยู่ด้วยในที่นั้น
ขณะที่บริโภคอาหาร รสกระทบลิ้น มีการลิ้มรส ขณะนั้นเป็นจิตที่ลิ้มรสทางทวารหนึ่ง คือ ทางชิวหาทวาร และเมื่อบริโภคอิ่มแล้วความหิวหายไปก็ต้องหยุดบริโภค บริโภคต่อไปไม่ได้ และในขณะต่อไปใครจะสนใจหรือไม่สนใจว่ารูปจะถูกย่อยไปเป็นประโยชน์แก่ร่างกายอย่างไรบ้าง แต่ก็หมดเรื่องที่จะต้องเดือดร้อน เพราะความเดือดร้อนมีอยู่ในขณะที่กายเป็นทุกข์เพราะความหิวเท่านั้น
เมื่อบริโภคอาหารแล้ว ความหิวหมดไป มีใครติดตามไปคิดถึงความสำคัญของรูปบ้างไหมในวันหนึ่งๆ หรือว่าเมื่ออิ่มแล้วก็ไม่ต้องคิดถึง ไม่ว่าจะเป็นธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ หรือว่ากำลังเป็นอาหารใหม่ซึ่งกำลังย่อย หรือว่าเป็นอาหารเก่า
เพราะฉะนั้น ความสำคัญของรูปที่มีได้ เพราะว่ารูปเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดสุขหรือทุกข์ทางกาย ถ้าไม่มีนามธรรมซึ่งรู้อารมณ์หรือรู้รูปจะไม่เดือดร้อน ใครจะผ่าตัดหัวใจออกไป แต่ไม่รู้สึก เดือดร้อนไหม หัวใจซึ่งคิดว่าสำคัญมาก ถ้าเพียงนามธรรมไม่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ หรือไม่รู้ลักษณะของรูป ไม่เดือดร้อนเพราะกาย ก็ไม่เดือดร้อนอะไร ใครจะผ่าตัดหัวใจออกไปอย่างไรก็ไม่เป็นอะไรทั้งนั้น ถ้าขณะนั้นนามธรรมไม่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่เป็นสุขหรือทุกข์ทางกาย
การศึกษาทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ หรือวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ วิชาการต่างๆ ซึ่งทุกท่านคิดว่ามีความสำคัญมากก็ควรที่จะได้รู้ความจริงว่า เป็นเพียงการ รู้เรื่อง รู้อรรถบัญญัติของรูปต่างๆ แต่ไม่ใช่การรู้ลักษณะของรูปที่ปรากฏจริงๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้น ไม่สามารถที่จะทำให้รู้ลักษณะของรูปธรรมและนามธรรมตามความเป็นจริงได้ ในขณะที่เพียงรู้อรรถบัญญัติคือ รู้เรื่องของรูป วิชาการทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์การแพทย์ หรือว่าวิทยาศาสตร์สาขาใดๆ เป็นเพียงการรู้อรรถบัญญัติของรูป แต่ไม่ใช่การรู้ลักษณะของรูปตามความเป็นจริง
ในพระไตรปิฎกก็มีเรื่องปอด หัวใจ ตับ ม้าม เลือด แต่ว่าลักษณะที่แท้จริง คือ รูปที่ปรากฏแต่ละทาง รูปที่ปรากฏทางตาก็เป็นสิ่งที่สามารถจะปรากฏเป็น สีสันวัณณะต่างๆ ได้ ปรากฏทางหูก็เป็นเสียงต่างๆ ปรากฏทางจมูกก็เป็นกลิ่น ปรากฏทางลิ้นก็เป็นรส ปรากฏทางกายก็เป็นเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว
ใครรู้การเต้นของหัวใจ ถ้าขณะนั้นนึกถึงเรื่องการสูบฉีดโลหิตของหัวใจ หรือว่าการเต้นของชีพจร ในขณะนั้นก็เป็นผู้ที่รู้เรื่องอรรถบัญญัติของรูป แต่ว่าขณะใดที่ผู้ใด รู้ลักษณะที่เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหวของรูปที่ปรากฏที่กาย ในขณะนั้นผู้นั้นเป็น ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานที่จะรู้ว่า สภาพลักษณะแท้จริงของรูปปรากฏที่กายก็มีเพียงลักษณะที่เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว ซึ่งอรรถบัญญัติก็อาจจะเป็นส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ เป็นสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นอาหาร หรือว่าวัตถุสิ่งต่างๆ ได้ แต่ลักษณะของรูปทุกรูปที่จะปรากฏที่กาย คือ เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว
เพราะฉะนั้น รูปทั้งหมด เวลาที่เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของร่างกายว่า เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้รูปนั้นเป็นปัจจัยให้นามธรรมเกิดเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ทางกาย ซึ่งทุกท่านจะเห็นได้ว่า เป็นส่วนที่สำคัญจริงๆ แต่ถ้าเป็นอรรถบัญญัติแล้ว ก็คิดถึงอาหารต่างๆ บุคคลต่างๆ หรือเสนาสนะต่างๆ เป็น ปกตูปนิสสยปัจจัย
ข้อสำคัญที่ควรเข้าใจเกี่ยวกับปกตูปนิสสยปัจจัย คือ
ประการที่ ๑ ทุกอย่าง คือ จิต เจตสิก รูป แม้บัญญัติ คือ อรรถบัญญัติ เป็นต้น เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยแก่นามธรรม คือ จิตและเจตสิกเท่านั้น ไม่เป็นปัจจัยแก่รูป
การเป็นปัจจัยนี้ ไม่ว่าจะเป็นกุศลธรรม หรืออกุศลธรรมก็ตามที่เกิดขึ้นเป็น โลภมูลจิต โทสมูลจิตประเภทต่างๆ นั้น ก็เพราะปกตูปนิสสยปัจจัย ได้แก่ จิตและ เจตสิกที่เคยเกิดแล้วในอดีตเป็นปัจจัยให้จิตและเจตสิกประเภทนั้นๆ เกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่อย่าลืมว่า จิตและเจตสิกซึ่งเกิดขึ้นเป็นไปในปัจจุบัน คือ ในชาตินี้ ก็ไม่ได้สูญหายไปไหน ยังคงสะสมสืบต่อเป็นปกตูปนิสสยปัจจัย คือ เป็นปัจจัยที่มีกำลัง เป็นปกติ ที่จะทำให้จิตและเจตสิกประเภทนั้นๆ เกิดขึ้นอีกในอนาคตนั่นเอง
เพราะฉะนั้น ชาตินี้ส่วนใหญ่อุปนิสัยที่มีกำลังเป็นอย่างไร ก็จะสืบต่อติดตามสะสมไปเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยทำให้เกิดสภาพธรรมที่มีกำลังเป็นปกติที่จะเกิดต่อไปในอนาคตอย่างนั้นๆ
แม้ในปัจจุบันชาตินี้เอง ท่านผู้ฟังสะสมอุปนิสัยใหม่ๆ บ้างไหม ชีวิตส่วนตัวประจำวันของแต่ละคนซึ่งแต่ละคนย่อมทราบ ซึ่งก่อนนี้เคยเป็นอย่างไร แต่ภายหลังหรือว่าในวัยหลังก็เริ่มสั่งสมอุปนิสัยปัจจัยใหม่ได้
การศึกษาทั้งหมดตั้งแต่เด็กจนโต ก็เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยที่จะทำให้จิตและเจตสิกหลังๆ เกิดขึ้น ท่านศึกษาวิชาการเรื่องอะไร ความคิดของท่านในขณะนั้นก็จะเกิดขึ้นน้อมไปสู่เรื่องนั้นๆ ที่เคยศึกษา ไม่ว่าท่านจะศึกษาวิชาการทหาร หรือว่าการแพทย์ การค้าธุรกิจต่างๆ แต่ละคนก็มีอุปนิสสยปัจจัย คือ ปกตูปนิสสยปัจจัย ที่ได้เคยเกิดแล้ว ที่ได้เคยศึกษาแล้วนั่นเอง เป็นปัจจัยทำให้ในขณะนี้เกิดคิดในเรื่อง นั้นๆ ขึ้น
หรือในทางธรรมะ ท่านที่ไม่เคยสวดมนต์เลย ก็เริ่มท่อง เริ่มสวด จนในที่สุดก็คล่องหรือชำนาญ นั่นก็เป็นเพราะปกตูปนิสสยปัจจัย อาศัยการสะสมในปัจจุบันชาตินี้ทีละเล็กทีละน้อย จนในที่สุดก็เป็นความชำนาญ เป็นปัจจัยที่มีกำลังเป็นปกติที่จะทำให้จิตและเจตสิกเกิดขึ้นได้
ปกตูปนิสสยปัจจัย เป็นเรื่องที่ไม่ยาก เพราะว่าเป็นชีวิตประจำวัน
ข้อสำคัญอีกประการหนึ่งของปกตูปนิสสยปัจจัย คือ
ประการที่ ๒ ความต่างกันของเหตุปัจจัยและปกตูปนิสสยปัจจัย
สำหรับเหตุปัจจัยต้องเป็นสหชาตปัจจัยด้วย คือ ปัจจัยและปัจจยุปบันต้องเกิดร่วมกัน พร้อมกัน เพราะฉะนั้น ในขณะที่จิตเกิดขึ้นขณะนี้ ประกอบด้วยเหตุอะไร ประกอบด้วยอโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ คือ เป็นมหากุศลที่ประกอบด้วยปัญญาหรือว่าเป็นอกุศลประเภทโลภมูลจิต ก็ไม่มีทางจะรู้ได้เลย รู้แต่ชื่อเท่านั้น ถ้า สติสัมปชัญญะไม่เกิดจะไม่รู้จักตัวจริง คือ สภาพธรรมซึ่งมีลักษณะนั้นๆ ว่า สภาพธรรมที่เป็นโลภะมีลักษณะอย่างหนึ่ง สภาพธรรมที่เป็นอโลภะตรงกันข้าม มีลักษณะอีกอย่างหนึ่ง หรือสภาพที่เป็นโทสะมีลักษณะอย่างหนึ่ง สภาพธรรมที่เป็น อโทสะ มีลักษณะที่ตรงกันข้าม เป็นอีกลักษณะหนึ่ง