แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1126

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๒๕


ถ. ขณะที่นอนหลับ จักขุปสาทไม่ได้กระทบรูป ขณะนั้นจักขุปสาทดับ หรือจักขุปสาทนั้นยังไม่ดับ

สุ. รูปมีอายุ ๑๗ ขณะของจิต ใครจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม เช่น ขณะนี้รูปทุกรูปที่เกิด นับไป จิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ รูปนั้นดับ เพราะฉะนั้น การเกิดดับของรูปก็ทยอยกันเกิดขึ้นและทยอยกันดับไป อุปมาเหมือนกับแถวของมดแดง ขาหน้าของตัวหลังๆ อยู่ตรงท้องของตัวข้างหน้า ทยอยกันไปอย่างนั้น มองเห็นเหมือนกับว่า เป็นสายของแถวมดที่ไม่ขาดหรือไม่มีอะไรคั่นเลย แต่ความจริงแล้วถ้าดูโดยละเอียดจะเห็นมด แต่ละตัวซึ่งกำลังทยอยกันเดินไป ดับไป ล่วงไป ทีละขณะ

เป็นที่ทราบกันว่า จักขุวิญญาณจะเกิดได้ต้องมีจักขุปสาท แต่อาจจะไม่ทราบว่า จักขุปสาทที่เกิดมีอายุที่สั้นและเล็กน้อยมาก คือ เพียงการเกิดดับของจิต ๑๗ ขณะเท่านั้น ซึ่งไม่มีใครสามารถรู้ความรวดเร็วของ ๑๗ ขณะของจิตซึ่งรูปๆ หนึ่งดับไป จึงปรากฏเสมือนว่าไม่มีการดับไปเลยทั้งนามธรรมและรูปธรรม แต่โดยพระปัญญาคุณที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงจากการทรงตรัสรู้จึงทราบว่า รูปทุกรูปมีอายุไม่นานเลย เพียงจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ รูปๆ หนึ่งก็ดับไป ซึ่งสั้นมาก

ถ. รูปารมณ์ที่มากระทบกับจักขุปสาท รูปปารมณ์นี้ก็เกิดดับ ๑๗ ขณะอยู่ที่จักขุปสาท

สุ. จักขุปสาทซึ่งจะเป็นวัตถุ เป็นที่เกิดของจักขุวิญญาณต้องยังไม่ดับ และรูปารมณ์ซึ่งกระทบกับจักขุปสาท ที่จักขุวิญญาณหรือว่าวิถีจิตต่อๆ ไปจะเกิด รูปารมณ์นั้นก็ต้องยังไม่ดับเหมือนกัน

ถ. ๑๗ ขณะนั้นเกิดทางมโนทวาร แต่จักขุวิญญาณเกิดขึ้นมาขณะเดียว

สุ. ไม่ต้องกล่าวถึงมโนทวาร หรือทวารใดๆ เลย ขณะนี้แม้แต่รูปภายนอก จะเป็นต้นไม้ใบหญ้า หรือโต๊ะ เก้าอี้ หรืออะไรก็ตามแต่ รูปกลาปใดซึ่งเกิดขึ้นจะตั้งอยู่เพียงการเกิดดับของจิต ๑๗ ขณะ ถ้าไม่อาศัยการเกิดดับของจิตเป็นเครื่องกำหนดจะใช้อะไรวัดความเร็วของการดับไปของรูป ซึ่งสิ่งที่เร็วกว่ารูปที่เกิดดับ คือ จิตเพราะฉะนั้น โดยพระปัญญาคุณที่ทรงประจักษ์แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า รูปซึ่งเกิดดับอย่างรวดเร็วนั้น เท่ากับการเกิดดับของจิต ๑๗ ขณะ หรือ ๑๗ ครั้ง หรือ ๑๗ ดวง ซึ่งจิตเกิดดับเร็วกว่ารูปๆ หนึ่ง

ขณะนี้เมื่อยังไม่ปรากฏว่ารูปดับ ก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ ขณะนี้ท่านผู้ฟังทราบว่า ที่ร่างกายของแต่ละบุคคลมีรูปหลายรูป หลายกลุ่มประชุมรวมกัน มีอากาศธาตุคั่นอยู่ทุกกลาปหรือทุกกลุ่มของรูป และแต่ละกลาปบางกลาปเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน บางกลาปเกิดขึ้นเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน บางกลาปเกิดขึ้นเพราะอุตุเป็นสมุฏฐาน บางกลาปเกิดขึ้นเพราะอาหารเป็นสมุฏฐาน แต่เวลานี้ไม่ปรากฏว่ารูป เกิดดับ ทั้งๆ ที่โดยการศึกษาทราบว่า กลุ่มของรูปแต่ละกลุ่มแต่ละกลาปซึ่งเกิด กำลังทยอยกันดับไป อุปมาเหมือนงาในกระทะร้อนๆ ที่แตกดับอยู่ตลอดเวลา

เพราะฉะนั้น จะเห็นความจริงว่า ถึงแม้ว่ารูปที่กายจะมีมากมายหลายรูป ไม่ใช่เพียงกลุ่มเดียว หรือกลาปเดียว โดยมีอากาศธาตุคั่นอยู่ ถ้าแตกย่อยลงไปย่อมมีมากมายหลายพันหลายหมื่นกลาป เพราะร่างกายสามารถแตกย่อยเป็นส่วนเล็กที่สุดได้ แต่จะมีความสำคัญอะไรไหม ถ้ารูปนั้นๆ ไม่ปรากฏเป็นอารมณ์ของจิต

รูปทุกรูปกำลังแตกดับไป ไม่มีใครเดือดร้อนเลย ขณะที่ทุกท่านกำลังนั่งอยู่ที่นี่ รูปที่ร่างกายของแต่ละบุคคลกำลังทยอยกันเกิดดับไปอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่มีใครเดือดเนื้อร้อนใจเลยทั้งๆ ที่รูปกำลังเกิดดับ และนามธรรมก็กำลังเกิดดับ

เพราะฉะนั้น รูปใดก็ตามซึ่งไม่ปรากฏ ไม่มีความสำคัญอะไรเลยทั้งสิ้น ถึงแม้จะรู้ว่ามีรูปนั้นๆ และกำลังเกิดดับอยู่ก็จริง แต่ถ้ารูปใดไม่ปรากฏเป็นอารมณ์ รูปนั้นๆ ก็ไม่มีความสำคัญอะไร แต่รูปใดซึ่งกำลังปรากฏ รูปนั้นจึงจะสามารถให้ความจริงได้

เมื่อรู้อย่างนี้ การที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของรูปตามความเป็นจริง จึงต้องเป็นรูปที่ปรากฏแต่ละรูป แต่ละอย่าง ไม่ใช่ปรากฏรวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน แต่ต้องเป็นรูปๆ เดียวที่ปรากฏทางหนึ่งทางใด จะเป็นทางตา หรือเป็นทางหู หรือเป็นทางจมูก หรือเป็นทางลิ้น หรือเป็นทางกาย

เวลาที่ท่านผู้ฟังกระทบสัมผัสส่วนหนึ่งส่วนใดของกาย ท่านรู้รูปอื่นทั่วตัว หรือ รู้เฉพาะรูปแข็ง หรือรูปอ่อน หรือรูปเย็น หรือรูปร้อนที่ปรากฏตรงส่วนนั้นของกาย

รู้รูปไหน

เวลานี้ทั้งตัวเป็นรูปทั้งนั้น กำลังเกิดดับ แต่ขณะใดก็ตามรูปใดที่กระทบส่วนใดของกาย สภาพรู้ ธาตุรู้ จะรู้เฉพาะรูปที่ปรากฏตรงส่วนที่กระทบกายเท่านั้น ซึ่งอาจจะเป็นรูปแข็ง หรือรูปอ่อน หรือรูปร้อน หรือรูปเย็น หรือรูปไหว หรือรูปตึงก็ได้

เพราะฉะนั้น จะรู้เฉพาะตรงนั้นรูปเดียว หรือจะรู้รูปอื่นที่ตัวทั่วทั้งกายไปหมด ตามความเป็นจริง ที่ถูกต้อง รู้รูปไหน ก็ต้องรู้เฉพาะตรงส่วนที่ปรากฏเท่านั้น

ขณะที่จะประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนได้ ก็ในขณะที่รูปนั้นเท่านั้นที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐาน ต้องเพิกอิริยาบถ ไม่ใช่รู้รวมทั้งหมด แต่รู้เฉพาะลักษณะของรูปที่ปรากฏตรงส่วนที่กระทบที่ถือว่าเป็นกายของเรา แต่ว่าลักษณะตามความเป็นจริง คือ เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหวเท่านั้น

อัฏฐสาลินี รูปกัณฑ์ มีข้อความซึ่งอุปมารูปที่รวมกันอยู่ แต่ตามความเป็นจริงแล้วแยกออกเป็นแต่ละรูป แต่ละกลาป แต่ละกลุ่ม

ข้อความมีว่า

ข้ออุปมาอุปาทายรูป (คือ รูปซึ่งไม่ใช่มหาภูตรูป) ไม่ระคนกัน อีกนัยหนึ่ง อีกประการหนึ่ง พึงทราบแม้ข้ออุปมาในภาวะที่อุปาทายรูปเหล่านี้ไม่ระคนกัน ดังต่อไปนี้

เหมือนอย่างว่า ธง ๕ สีที่เขายกขึ้นไว้ เงาย่อมเป็นเหมือนเนื่องเป็นอันเดียวกันก็จริง แต่เงาของธงผืนนั้นก็ไม่ระคนกันเลย ฉันใด และเมื่อเขาเอาฝ้าย ๕ สี ควั่นเป็นไส้ ตามประทีปไว้ เปลวย่อมเป็นเหมือนเนื่องเป็นอันเดียวกันก็จริง แต่เปลวแห่งแสงของฝ้ายนั้นๆ ต่างก็เป็นเฉพาะละอย่างๆ ไม่ระคนกันเลย ฉันใด อายตนะทั้ง ๕ นี้ ก็เปรียบได้เหมือนฉันนั้น แม้จะรวมอยู่ในอัตภาพเดียวกันก็จริง แต่ก็ไม่ระคนกันและกันเลย

อายตนะ ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือจักขุปสาทรูป โสตปสาทรูป ฆานปสาทรูป ชิวหาปสาทรูป กายปสาทรูปนั่นเอง

อายตนะทั้ง ๕ นี้ เปรียบได้เหมือนกันฉันนั้น แม้จะรวมอยู่ในอัตภาพเดียวกัน ก็จริง แต่ก็ไม่ระคนกันและกันเลย คือ ไม่สามารถที่จะรวมเป็นอันเดียวกัน แม้ว่าจะรวมอยู่ในอัตภาพอันเดียวกันก็ตาม จักขุปสาทไม่ใช่โสตปสาท ไม่ใช่ชิวหาปสาท ไม่ใช่ฆานปสาท ไม่ใช่กายปสาท แต่ละอายตนะก็เป็นแต่ละรูป แต่ละอย่าง

แม้รูปที่เหลือ (คือ นอกจากอายตนะทั้ง ๕) ก็ไม่ระคนกันเหมือนกัน

ข้อความต่อไป แสดงสภาพของสรีระ คือ ร่างกาย

จริงอยู่ ในสรีระนี้มีอยู่ ๓ ส่วน คือ กายท่อนล่าง กายท่อนกลาง กาย ท่อนบน ในกาย ๓ ส่วนนั้น เบื้องต่ำแต่สะดือลงไป ชื่อว่ากายท่อนล่าง ในกาย ท่อนล่างนั้น มีอยู่ ๔๔ รูป

ท่านผู้ฟังไม่จำเป็นต้องนับจำนวนโดยละเอียด แต่ให้ทราบว่า มีกายปสาท กลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มที่มีรูป ๑๐ รูป จึงชื่อว่ากายทสกะ ได้แก่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ๔ รูป สี กลิ่น รส โอชา อีก ๔ รูป รวมเป็น ๘ รูป มีชีวิตินทริยรูปเพราะเป็นรูปที่เกิดจากกรรมอีก ๑ รูป และกายปสาท ๑ รูป รวมเป็นกลุ่มของกาย ๑๐ รูป มีกายทสกะ ๑๐ รูปในกายท่อนล่าง ไม่ว่าจะกระทบส่วนไหนของกายท่อนล่าง ก็จะมีกายปสาทที่จะรับกระทบกับเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว

มีภาวทสกะ ที่แสดงความเป็นลักษณะของเพศหญิงหรือชายซึมซาบอยู่ทั่วกายท่อนล่าง หรือว่าทั่วทั้งตัว อีกกลุ่มละ ๑๐ รูป

นอกจากนั้น มีรูปซึ่งมีอาหารเป็นสมุฏฐาน มีรูปซึ่งมีอุตุเป็นสมุฏฐาน มีรูปซึ่งมีจิตเป็นสมุฏฐานด้วย ในกายท่อนล่าง

ไม่มีตา หู จมูก ลิ้นเลย ในกายท่อนล่าง แต่มีรูปซึ่งเกิดเพราะกรรม จิต อุตุ อาหาร และสำหรับรูปที่เกิดเพราะกรรมก็มีกายทสกะและภาวทสกะแทรกซึมกระจัดกระจายอยู่ตามส่วนต่างๆ ของกายท่อนล่าง

เบื้องบนแต่สะดือขึ้นไปถึงหลุมคอ ชื่อว่ากายท่อนกลาง และในกายท่อนกลางนั้น มี ๕๔ รูป

ซึ่งไม่จำเป็นต้องจำจำนวนโดยละเอียด แต่ให้ทราบว่า มีกลุ่มของกาย คือ กายทสกะที่กายท่อนกลาง และมีภาวทสกะซึมซาบอยู่ทั่วกายท่อนกลางเช่นเดียวกัน แต่ที่กายท่อนกลางมีวัตถุทสกะ คือ หทยวัตถุ ซึ่งเป็นที่เกิดของจิตที่นอกจาก ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง นอกจากนั้นก็มีรูปกลุ่มอื่นๆ ที่เกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน เพราะอุตุเป็นสมุฏฐาน และเพราะอาหารเป็นสมุฏฐาน แต่ละกลุ่มๆ ไป ที่จะแสดงให้เห็นถึงการเกิดดับอยู่เรื่อยๆ

เบื้องบนแต่หลุมคอไป ชื่อว่ากายท่อนบน

ในกายท่อนบนจะมีรูปเพิ่มขึ้น คือ มีถึง ๘๔ รูป ได้แก่ จักขุทสกะ กลุ่มของจักขุปสาทซึ่งมี ๑๐ รูป กลุ่มของหู คือ โสตปสาท ๑๐ รูป กลุ่มของจมูก คือ ฆานปสาท ๑๐ รูป กลุ่มของลิ้น คือ ชิวหาปสาท ๑๐ รูป และกลุ่มของกาย คือ กายปสาท ซึ่งซึมซาบอยู่ทั่วไปอีก ๑๐ รูป และกลุ่มของภาวรูป คือ เพศหญิงหรือ เพศชายอีก ๑๐ รูป นอกจากนั้นก็มีรูปที่มีอาหารเป็นสมุฏฐาน มีรูปที่มีอุตุเป็นสมุฏฐาน มีรูปที่มีจิตเป็นสมุฏฐานด้วย

เพราะฉะนั้น ตั้งแต่หลุมคอขึ้นไป ชื่อว่ากายท่อนบน มีรูปมากที่สุด และกายท่อนกลางก็มีรูปมากกว่ากายท่อนล่าง เพราะว่ามีหทยวัตถุซึ่งเป็นที่เกิดของจิต

ข้อความต่อไปมีว่า

ในกายทั้ง ๓ ส่วนนั้น รูปในกายท่อนล่าง ไม่ระคนกับรูปในกายท่อนกลาง และท่อนบน รูปแม้ในกาย ๒ ท่อนที่เหลือ ก็ไม่ระคนกับรูปนอกนี้เหมือนกัน

แสดงให้เห็นว่า ขาดตอนกันเป็นส่วนๆ จริงๆ เพราะแม้แต่กลุ่มของรูปซึ่งจะเกิดที่กายท่อนล่าง หรือกายท่อนกลาง หรือกายท่อนบน ก็มีจำนวนไม่เท่ากัน

ในกายแม้เหล่านี้ ย่อมจะเป็นธรรมชาติดุจเนื่องเป็นอันเดียวก็จริง แต่ก็ไม่ระคนกันและกันเลย เหมือนอย่างเงาภูเขาและเงาต้นไม้ในเวลาเย็น เป็นดุจเนื่องเป็นอันเดียวกันก็จริง แต่ก็ไม่ระคนกันและกันทีเดียว ฉะนี้แล

ท่านผู้ฟังเห็นเงาของต้นไม้ เงาของภูเขา เนื่องเป็นอันเดียวกัน แต่ตามความเป็นจริง เงาของต้นไม้ก็เกิดจากต้นไม้ เงาของภูเขาก็เกิดจากภูเขา และภูเขาก็ไม่ใช่ต้นไม้ เป็นรูปแต่ละรูปซึ่งต่างกัน ฉันใด รูปแต่ละรูปที่กาย จักขุปสาทก็ไม่ใช่ โสตปสาท ไม่ใช่ชิวหาปสาท ไม่ใช่ฆานปสาท ไม่ใช่กายปสาท ซึ่งแสดงให้เห็นว่า แต่ละท่อนของกายไม่ระคน คือ ไม่ปนกัน

เพราะฉะนั้น การที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของรูปตามความเป็นจริง ต้องรู้ตรงตามลักษณะของรูป ต้องเป็นผู้ตรงจริงๆ ถ้าจะรู้ลักษณะของรูปต้องรู้เฉพาะรูปซึ่งปรากฏทางทวารหนึ่งทวารใดทีละทวาร แล้วแต่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู หรือ ทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย

แต่ให้ทราบว่า ทั้งๆ ที่รูปกำลังเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว และนามธรรมก็กำลังเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว ก็ไม่มีใครเดือดร้อนเลย เพราะว่าการเกิดดับนั้น ยังไม่ปรากฏ และรูปอื่นซึ่งไม่ปรากฏแม้จะเกิดดับก็ไม่ต่างกับรูปภายนอกอื่นๆ เพราะขณะนี้รูปภายนอก เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ต้นไม้ ก้อนอิฐ ทุกรูป ทั้งหมดก็กำลังเกิดดับอยู่

เพราะฉะนั้น รูปที่ร่างกายแม้ว่าจะเกิดขึ้นเพราะกรรม หรือว่าแม้จะเกิดขึ้นเพราะจิต หรืออุตุ หรืออาหารก็ตาม ถ้าตราบใดไม่ปรากฏเป็นอารมณ์ ตราบนั้นก็ไม่มีความสำคัญอะไรเลย ใครจะไปเดือดร้อน หรือใครจะไปสำคัญกับสิ่งซึ่งไม่ปรากฏ ก็ย่อมจะเป็นสิ่งซึ่งเป็นไปไม่ได้ แต่ต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า การเกิดดับของรูปที่ปรากฏได้ต้องไม่ระคนกัน ต้องเป็นรูปแต่ละลักษณะ แต่ละส่วน ที่ปรากฏ

สำหรับวัตถุปุเรชาตปัจจัย หมายเฉพาะกัมมชรูป ๖ รูป ซึ่งเป็นที่อาศัยเกิดของจิต แต่อารัมมณปุเรชาตปัจจัย หมายความถึงรูปซึ่งเป็นอารมณ์ และที่จะปรากฏได้นั้น ต้องเกิดก่อนนามธรรมที่รู้รูปนั้น

ถ. อารมณ์ มีอติมหันตารมณ์กับมหันตารมณ์ สำหรับอติมหันตารมณ์ วิถีจิตจะเกิดมากที่สุดทางปัญจทวารถึง ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้น ถ้าอารมณ์เกิดก่อน วิถีจิตที่จะมีถึง ๑๗ ขณะ ก็ไม่มี

สุ. วิถีจิตจะไม่ถึง ๑๗ ขณะแน่

ถ. หมายความว่า ไม่มีวิถีจิตใดที่จะถึง ๑๗ ขณะ

สุ. ต้องพิจารณาคำที่ว่า วิถีจิตจะไม่ถึง ๑๗ ขณะ เพราะว่าอายุของรูปเท่ากับการเกิดดับของจิต ๑๗ ขณะ แต่ที่วิถีจิตไม่ถึง ๑๗ ขณะ เพราะว่ารูปที่จะเป็นปัจจัยคือเป็นอารมณ์ต้องเกิดก่อน

ถ. ในเมื่อรูปเกิดก่อน จิตเกิดทีหลัง และรูปมีอายุเท่ากับ ๑๗ ขณะของจิต เพราะฉะนั้น เมื่อรูปดับไปก่อน จิตก็ยังไม่ถึง ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้น วิถีจิตที่จะมีถึง ๑๗ ขณะ ไม่มีเลย

สุ. วิถีจิตไม่มีถึง ๑๗ ขณะ แน่นอน

วิถีจิตคืออะไร จิตใดก็ตามที่ไม่ใช่ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต จุติจิต จึงจะเป็นวิถีจิต เพราะฉะนั้น การรู้อารมณ์ครั้งหนึ่งๆ จะไม่มีวิถีจิตถึง ๑๗ ขณะ แต่รูปๆ หนึ่งเกิดขึ้น จะมีอายุเท่ากับการเกิดดับของจิต ๑๗ ขณะ รูปนั้นจึงดับ

เปิด  232
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565