แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1129

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๒๕


ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ เคยมีโรคปัจจุบันไหม นั่งอยู่ดีๆ อย่างนี้ เป็นปกติดี พริบตาเดียว แข็งหมด เย็นชืดได้ไหม เพราะเหตุใด รูปดับอย่างรวดเร็ว เพียง ๑๗ ขณะเท่านั้น เพราะฉะนั้น ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ซึ่งเคยสม่ำเสมอเพราะกรรม เพราะอุตุ เพราะอาหาร หรือเพราะจิต เวลาที่มีเหตุปัจจัยที่จะให้ธาตุทั้ง ๔ ไม่สม่ำเสมอ เมื่อ ๑๗ ขณะนั้นดับหมดแล้วอย่างรวดเร็ว รูปใหม่ซึ่งเกิดก็ทำให้ ต่างสภาพจากรูปที่เคยปราศจากโรค เป็นรูปที่เปลี่ยนไปได้เวลาที่มีโรคปัจจุบัน

จะเห็นได้ชัดว่า รูปเมื่อสักครู่นี้ทำไมหายไป รูปอ่อน สละสลวย คล่องแคล่วควรแก่การงาน เป็นปกติหายไปหมด เหลือแต่รูปซึ่งแข็งใช้การไม่ได้ ต้องรักษาต้องพยาบาลกันต่อไป

บางท่านอาจจะคิดว่า ถ้าเป็นเช่นนั้น การรักษาพยาบาลทางการแพทย์จะมีประโยชน์ไหม ในเมื่อรูปใดก็ตามซึ่งไม่ปรากฏเป็นอารมณ์ แม้ว่าธาตุทั้ง ๔ จะไม่สม่ำเสมอ ก็ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดทุกข์ได้ เพราะฉะนั้น การเยียวยา การรักษาพยาบาลทางการแพทย์จะมีประโยชน์ไหม มี เพราะว่าโดยลักษณะของรูป คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ซึ่งวิชาการทางแพทย์ก็สามารถศึกษาเรื่องของธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ที่ต่างส่วนสัด โดยแยกเป็นปอด ตับ หัวใจ ม้าม ต่างๆ เหล่านี้ เพราะรูปเหล่านั้นก็เกิดดับสืบต่อลักษณะของส่วนผสมของธาตุทั้ง ๔ นั้นอยู่ ทำให้มีการศึกษาในเรื่องเหล่านั้น และสามารถที่จะหาธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ที่จะแก้ไขความไม่สม่ำเสมอกันของรูปนั้นได้

แต่ถ้าโดยปรมัตถ์ โดยสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ต้องเป็นลักษณะของรูปที่ไม่ใช่ชื่อ จึงจะไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่หัวใจ ไม่ใช่ปอด เมื่อกล่าวถึงโดยนัยของปรมัตถธรรม แต่ถ้ากล่าวโดยบัญญัติธรรมหรือสมมติสัจจะก็กล่าวได้ว่า ส่วนผสมของรูปนั้นๆ ใช้คำบัญญัติในอาการนั้นว่า ปอด หรือว่าหัวใจ หรือว่าม้าม เป็นต้น

ถ. ภวังคจิตต้องมีหทยวัตถุเป็นปัจจัย ใช่ไหม

สุ. สำหรับในภูมิซึ่งมีขันธ์ ๕ นามธรรมจะเกิดโดยไม่อาศัยรูปไม่ได้เลย

ถ. ต้องมีหทยวัตถุ หลังจากอุปาทขณะเท่านั้นจึงจะเป็นปัจจัยได้ ยกเว้นขณะที่เป็นปฏิสนธิเท่านั้น

สุ. แน่นอน

ถ. เพราะฉะนั้น ขณะนี้ภวังคจิตก็ไม่ได้เกิดติดต่อกันตลอดเวลา

สุ. เกิดติดต่อกันตลอดเวลา รูปก็เกิดสืบต่อกันอยู่ ไม่ได้มีหทยวัตถุรูปเดียว หทยวัตถุซึ่งเป็นที่อาศัยของปฏิสนธิจิตมี และเวลาที่ปฏิสนธิจิตดับไป ในฐีติขณะของปฏิสนธิจิตมีหทยวัตถุเกิดไหม มี เป็นที่อาศัยของจิตดวงต่อๆ ไป

ถ. หทยวัตถุมีอายุ ๑๗ ขณะของจิต

สุ. รูปที่เป็นนิปผันนรูป ซึ่งมีสภาวรูปของตนเองจริงๆ ทุกรูปมีอายุเท่ากับการเกิดดับของจิต ๑๗ ขณะใหญ่ หรือ ๕๑ ขณะย่อย

ถ. แสดงว่าหทยวัตถุเกิดซ้อนๆ กันอยู่ตลอดเวลา

สุ. ตามกรรมเป็นปัจจัย ไม่ต้องคิดว่าซ้อน เพราะเกิดและดับไปเร็วมาก เกิดและดับไปๆ

ถ. ไม่ใช่ หมายถึงว่า หทยวัตถุรูปต่อไปที่จะเกิดได้นี่ ...

สุ. ลองคิดดู ท่านผู้ฟังคิดถึงหทยวัตถุเหมือนหัวใจก้อนโตจึงคิดว่า ต้องมีซ้อนกันหลายๆ ก้อน แต่ตามความเป็นจริงเป็นสุขุมรูป มีอายุเพียงชั่ว ๑๗ ขณะ ของจิต ซึ่งรวดเร็วเหลือเกิน เพราะฉะนั้น เกิดในขณะใด ก็ดับไปไม่มีเหลือ

ถ. ต้องมีช่วงที่ภวังค์เกิดไม่ได้ เพราะหทยวัตถุรูปที่แล้วดับไป รูปใหม่เกิดขึ้น อุปาทขณะของรูปก็เป็นปัจจัยให้จิตเกิดไม่ได้

สุ. หทยวัตถุในอุปาทขณะของปฏิสนธิ ดับเมื่อไร

ถ. อีก ๑๗ ขณะต่อไปของจิต

สุ. หทยวัตถุที่เกิดพร้อมปฏิสนธิจิตซึ่งเป็นขณะที่ ๑ ดับพร้อมกับภังคขณะของจิตดวงที่ ๑๗ หทยวัตถุดวงที่เกิดในฐีติขณะของปฏิสนธิจิตดับพร้อมกับ อุปาทขณะของจิตดวงที่ ๑๘ จะมีนามไหนที่ไม่อาศัยหทยวัตถุเกิด

ต่อไปเป็นคำถามทบทวน

หทยรูปเป็นปัจจัยแก่ปฏิสนธิจิตได้ไหม

ได้

หทยรูปเป็นปุเรชาตปัจจัยแก่ปฏิสนธิจิตได้ไหม

นี่คือคำถามที่เป็นคู่ เพื่อที่จะให้เข้าใจโดยไม่ลืม คือ คำถามที่ ๑ ถามโดยกว้างทั่วไปว่า หทยรูปเป็นปัจจัยแก่ปฏิสนธิจิตได้ไหม ซึ่งคำตอบ คือ ได้ ส่วนคำถาม ที่ ๒ หทยรูปเป็นปุเรชาตปัจจัยแก่ปฏิสนธิจิตได้ไหม เจาะจงว่าเป็นปฏิสนธิจิต และเจาะจงด้วยว่าเป็นปุเรชาตปัจจัย ซึ่งคำตอบ คือ ไม่ได้ เพราะว่าหทยรูปในขณะปฏิสนธิเกิดพร้อมปฏิสนธิจิตในอุปาทขณะเท่านั้นที่เป็นข้อยกเว้น มีขณะเดียวที่รูปเป็นปัจจัยในอุปาทขณะได้ ไม่ต้องเป็นปัจจัยในฐีติขณะ คือ ไม่เป็นปุเรชาตปัจจัยก็เฉพาะในขณะปฏิสนธิเท่านั้น

คำถามที่ ๓ หทยวัตถุที่เกิดหลังปฏิสนธิจิตเป็นวัตถุปุเรชาตปัจจัยหรือเปล่า

คำตอบ คือ เป็น

คำถามที่ ๔ ในอรูปภูมิมีวัตถุปุเรชาตปัจจัยไหม

อรูปภูมิ มีความหมายว่าอะไร อรูปภูมิเป็นภูมิที่มีแต่นามขันธ์ ๔ ไม่มีรูปใดๆ เลยสักรูปเดียว แต่ปุเรชาตปัจจัย คือ รูปธรรมที่เกิดก่อนเป็นปัจจัยแก่นามธรรมเพราะฉะนั้น ในอรูปภูมิมีวัตถุปุเรชาตปัจจัยไหม

คำตอบ คือ ไม่มี

เมื่อเข้าใจเรื่องของขันธ์ ๕ ต้องเข้าใจตลอดไปจนถึงภูมิที่มีขันธ์ ๔ คือ อรูปภูมิด้วย เพราะในภูมินั้นนามธรรมเกิดขึ้นโดยไม่อาศัยรูปใดๆ ทั้งสิ้น แม้แต่ปฏิสนธิจิตในขณะที่เกิดในอรูปภูมิ อรูปฌานกุศลเป็นปัจจัยให้อรูปวิบากจิตและเจตสิกปฏิสนธิในอรูปภูมิโดยไม่ต้องอาศัยรูป มิฉะนั้นก็ต้องเป็นขันธ์ ๕ อีก แต่ว่าในภูมินั้นมีแต่ขันธ์ ๔ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะกล่าวถึงรูปเป็นปัจจัยใดๆ ก็ตาม แม้ปุเรชาตปัจจัย หรือวัตถุปุเรชาตปัจจัย ในอรูปภูมิก็ไม่มี เพราะว่าไม่ต้องอาศัยรูปเป็นปัจจัย

สำหรับปุเรชาตปัจจัย รูปต้องเกิดก่อนจึงจะเป็นปัจจัยแก่นามธรรม ไม่ใช่นามธรรมสั่งรูปให้เกิดขึ้น แต่ที่รูปเป็นปัจจัยเป็นปัจจัยโดยเกิดก่อน นอกจากในขณะปฏิสนธิเท่านั้น และรูปแต่ละรูปก็เกิดเพราะสมุฏฐานของตนๆ ตามสมุฏฐานนั้นๆ ถ้ารูปใดไม่ปรากฏลักษณะของรูปนั้น แม้มีก็เหมือนไม่มี เพราะว่าดับไปอย่างเร็วที่สุด จึงไม่ควรที่จะยึดถือรูปว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล หรือคิดว่า ยังมีรูปส่วนนั้นส่วนนี้อยู่ตรงนั้นตรงนี้

มีจริง เมื่อไหร่ ชั่วขณะที่เกิด ลองคิดดูว่า การมีจริง ชั่วขณะที่เกิดนี้สั้น และเล็กน้อยแค่ไหน เพียงแค่ ๑๗ ขณะของจิต ถ้าจะคิดถึงกายปสาทรูปส่วนที่ไม่กระทบสัมผัส ไม่ปรากฏ กายปสาทรูปนั้นก็เกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย แน่นอนว่าต้องเกิดแล้ว และดับไปอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น เมื่อสติไม่ได้ระลึกรู้รูปนั้น เกิดนิดหนึ่ง เป็นของจริงชั่วขณะที่สั้นมากและก็ดับ เมื่อดับแล้วก็ไม่มีที่จะให้รู้ ความจริงว่า เป็นรูปอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น ทุกรูปที่ไม่ปรากฏ มีก็เสมือนไม่มี

การรู้อย่างนี้จะทำให้ค่อยๆ คลายการยึดถือรูปที่เคยยึดถือว่าเป็นร่างกายของเราได้ เพราะตามความเป็นจริงแล้วเกิดดับเร็วที่สุด ไม่ปรากฏ คือ หมดแล้ว ไม่ปรากฏ คือ มีจริงชั่วขณะที่เกิดเล็กน้อย และก็ไม่ปรากฏ และดับไป

มีจริงชั่วขณะเล็กน้อยที่เกิด และไม่ปรากฏ และดับไป ใครจะไปรู้ได้ จะมีค่าอะไร จะมีความหมายอะไร หรือว่าจะมีความสำคัญอะไรในเมื่อดับไปแล้ว

สำหรับปัจจัยที่คู่กับปุเรชาตปัจจัย คือ ปัจฉาชาตปัจจัย

ปัจฉา หมายความถึง หลัง หรือภายหลัง

ชาตะ แปลว่า เกิด

เพราะฉะนั้น ปัจฉาชาตปัจจัย คือ สภาพธรรมซึ่งเป็นปัจจัยโดยเกิดภายหลัง สภาพธรรมที่เป็นปัจจยุปบัน คือ จิตและเจตสิกที่เกิดหลังๆ แม้ว่าจะเกิดภายหลังรูป แต่ก็เป็นปัจฉาชาตปัจจัย เป็นปัจจัยแก่รูปนั้นโดยการอุปถัมภ์รูปนั้นซึ่งเกิดก่อนตน

อำนาจของปัจจัยมี ๒ อย่าง คือ ปัจจัยที่ทำให้สภาพธรรมอื่นเกิดขึ้นอย่างหนึ่ง สภาพธรรมที่เกิดเพราะปัจจัยนั้นชื่อว่าปัจจยุปบัน เพราะฉะนั้น ปัจจัยทำให้ปัจจยุปบันเกิดขึ้นอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่ง คือ ปัจจัยไม่ได้ทำให้ปัจจยุปบันเกิด แต่ว่าอุปถัมภ์ ปัจจยุปบัน

เพราะฉะนั้น รูปที่ร่างกายซึ่งเกิดก่อน และจิตที่เกิดภายหลังทุกดวง เป็นปัจจัยโดยอุปถัมภ์รูปนั้น โดยเป็นปัจฉาชาตปัจจัย

นี่คือชีวิตประจำวัน ในวันหนึ่งๆ รูปกับนามที่ร่างกายนี้ไม่ได้แยกกัน รูปใดมีสมุฏฐานใดเป็นปัจจัยทำให้เกิดขึ้นก็เกิด แต่เพราะมีจิตเกิดที่ร่างกายนั้นด้วย จึงสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน เพราะฉะนั้น จิตที่เกิดภายหลัง แม้ว่าจะเกิดภายหลังรูป ก็อุปถัมภ์รูปนั้นให้เป็นรูปที่ทรงอยู่ ตั้งอยู่ มีชีวิตอยู่ โดยเกิดภายหลังรูปนั้น โดยเป็นปัจฉาชาตปัจจัย

แต่ไม่ใช่จิตทุกดวงจะเป็นปัจฉาชาตปัจจัย ยังมีจิตที่ไม่เป็นปัจฉาชาตปัจจัย ซึ่งได้แก่ ปฏิสนธิจิตทุกดวง และอรูปวิบากซึ่งทำกิจปฏิสนธิในอรูปภูมิ ๔ ดวง

ปฏิสนธิจิตเกิดพร้อมกับรูปในขณะที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ปฏิสนธิจิตในขณะนั้นไม่ได้เกิดภายหลังรูป จึงไม่เป็นปัจฉาชาตปัจจัย แต่รูปซึ่งเกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิตและยังไม่ดับ จิตต่อๆ มาซึ่งเกิดทุกดวงอุปถัมภ์รูปทุกรูปซึ่งเกิดก่อนและยังไม่ดับ

นี่เป็นการไม่แยกกันของนามธรรมและรูปธรรมในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ถึงแม้ว่านามธรรมเป็นอย่างหนึ่ง รูปธรรมเป็นอย่างหนึ่ง แต่เพราะเกิดในที่ๆ เดียวกัน คือ ในรูปร่างกายเดียวกัน ก็เป็นปัจจัยโดยอุปถัมภ์ โดยนามธรรมที่เกิดภายหลังอุปถัมภ์รูปธรรมที่เกิดก่อน

สำหรับปัจฉาชาตปัจจัย ยิ่งแสดงให้เห็นชัดว่า จิตสั่งไม่ได้ เพราะว่ารูปต้องเกิดก่อน และจิตที่เกิดภายหลังอุปถัมภ์รูปนั้นเท่านั้น

ถ. ปุเรชาตปัจจัย พอจะจับหลักได้ว่า มีวัตถุรูป และอารมณ์ซึ่งเป็นรูป ที่เกิดก่อนเป็นปัจจัยให้จิตเกิด แต่ปัจฉาชาตปัจจัยหมายความว่า จิตที่เกิดทีหลังรูป

สุ. ไม่ได้เป็นปัจจัยให้รูปเกิด เพียงแต่อุปถัมภ์รูปที่เกิดก่อน เป็นปัจจัยโดยอุปถัมภกปัจจัย ไม่ใช่ชนกปัจจัย

ถ. ปัจฉาชาตปัจจัยก็หมายถึงนามธรรมล้วนๆ

สุ. นามธรรมซึ่งอุปถัมภ์รูปธรรมที่เกิดก่อน

แสดงให้เห็นชัดเจนในเรื่องที่ไม่ควรเข้าใจว่าจิตสั่ง เพราะว่ารูปต้องเกิดก่อน และจิตเกิดภายหลังอุปถัมภ์รูปนั้น เนื่องจากเกิดร่วมกันในร่างกายเดียวกัน

อัฏฐสาลินี รูปกัณฑ์ มีข้อความที่แสดงถึงเรื่องของนามธรรมที่เป็นปัจจัยและไม่เป็นปัจจัยให้เกิดรูป และอุปถัมภ์รูป

ข้อความมีว่า

จิต ๑๖ ดวง ได้แก่ ปฏิสนธิจิตทุกดวงทุกภูมิ ๑ ดวง จุติจิตของพระอรหันต์ ๑ ดวง ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง และอรูปวิบากจิต ๔ ดวง จิต ๑๖ ดวงนี้ หรือ ๑๖ ประเภทนี้ ไม่เป็นปัจจัยให้รูปเกิด

เพราะฉะนั้น ก็ไม่ทำให้เกิดอิริยาบถ และไม่ทำให้เกิดวิญญัติรูป ซึ่งวิญญัติรูป มี ๒ อย่าง ได้แก่ กายวิญญัติรูป ๑ และวจีวิญญัติรูป ๑

กายวิญญัติรูป เป็นรูปซึ่งเกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน ทำให้รูปนั้นมีความหมายตามที่จิตต้องการ หรือมีสภาพที่แสดงลักษณะที่เป็นความหมายอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่จิตต้องการ

ท่านผู้ฟังเคยสังเกตบางท่านที่เดินดังๆ บ้างไหม เป็นไปได้ เป็นปกติธรรมดา ซึ่งมีได้ และถ้าเป็นปกติ เป็นวิญญัติรูปหรือเปล่า ไม่เป็น

แต่คนที่เดินเบาๆ บางวันก็เดินดังๆ ขึ้นมา เป็นวิญญัติรูปไหม เป็น เพราะจิตต้องการให้รูปนั้นมีความหมาย หรือแสดงความหมายตามที่จิตนั้นต้องการให้รู้ เช่น ทำให้เกิดเสียงดังขึ้นเพื่อให้รู้อะไร ให้เข้าใจอะไร นี่คือ กายวิญญัติ

นอกจากเรื่องของการเดิน หรือว่าการใช้มือ การกวักมือ หรือการถลึงตา การทำอาการต่างๆ เพื่อที่จะให้รู้ความหมาย ก็เป็นกายวิญญัติรูป เป็นรูปซึ่งเกิดเพราะจิต

สำหรับวจีวิญญัติรูปเป็นรูปซึ่งทำให้เกิดเสียง ซึ่งมีความหมายตามจิตที่ต้องการให้เกิดเสียงนั้น

เพราะฉะนั้น สำหรับจิต ๑๖ ดวง หรือจิต ๑๖ ประเภท คือ ปฏิสนธิจิตทุกดวง ทุกภูมิ ๑ จุติจิตของพระอรหันต์ ๑ ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ และอรูปวิบากจิต ๔ ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดรูปเลย เมื่อไม่เป็นปัจจัยให้เกิดรูป ก็ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดอิริยาบถ และไม่เป็นปัจจัยให้เกิดกายวิญญัติและวจีวิญญัติ

สำหรับอรูปวิบาก ๔ ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดรูปใดๆ ทั้งสิ้น

สำหรับทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ซึ่งได้แก่ จักขุวิญญาณ จิตเห็น ๒ ดวง จิต ได้ยิน ๒ ดวง จิตได้กลิ่น ๒ ดวง จิตลิ้มรส ๒ ดวง จิตที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ๒ ดวง เป็นจิตซึ่งอ่อนมาก ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดจิตตชรูป เพราะฉะนั้น ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดอิริยาบถ และไม่เป็นปัจจัยให้เกิดกายวิญญัติและวจีวิญญัติ

เพราะฉะนั้น ควรที่จะพิจารณา หรือพิสูจน์ ขณะนี้กำลังเห็น ขณะที่เห็นหมายความถึงชั่วขณะที่กำลังรู้ หรือเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ในขณะนั้นไม่ใช่โลภะหรือโทสะที่จะทำให้เกิดรูป หรือว่าเกิดอิริยาบถ หรือว่าเกิดกายวิญญัติ วจีวิญญัติได้เลย

เปิด  243
ปรับปรุง  19 ต.ค. 2566