แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1132

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๒๕


ผู้ที่เริ่มฟังหรือเริ่มศึกษาอย่าเพิ่งท้อใจ คิดว่ายุ่งยากมากเรื่อง ที่รูปธรรม แต่ละรูปนามธรรมแต่ละประเภทต้องอาศัยกันและกันเกิดขึ้น แท้ที่จริงแล้วไม่มีอะไรมาก เพราะเมื่อกล่าวถึงรูปซึ่งเป็นวัตถุ คือ เป็นที่เกิดของจิต ก็มีเพียง ๖ รูปเท่านั้น คือ มีจักขุปสาทรูป ๑ รูป เฉพาะรูปที่เกิดและยังไม่ดับ ซึ่งเป็นอายตนะ เป็นที่ประชุม เป็นที่ต่อ เป็นที่อาศัยเกิดของจักขุวิญญาณ คือ จิตที่กำลังเห็นในขณะนี้เอง จิตเห็นมี ๒ ดวง เป็นกุศลวิบากจิต ๑ ดวง เป็นอกุศลวิบากจิต ๑ ดวง นอกจากนั้นก็มี โสตปสาทรูป ๑ รูป เป็นที่เกิดของโสตวิญญาณ ๒ ดวง ฆานปสาทรูป ๑ รูป เป็นที่เกิดของฆานวิญญาณ ๒ ดวง ชิวหาปสาทรูป ๑ รูป เป็นที่เกิดของชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง กายปสาทรูป ๑ รูป เป็นที่เกิดของกายวิญญาณ ๒ ดวง

สำหรับทวารทั้ง ๕ คือ ตา ๑ หู ๑ จมูก ๑ ลิ้น ๑ กาย ๑ ปสาทรูปแต่ละรูปนี้เป็นที่เกิดของจิตที่เห็น จิตที่ได้ยิน จิตที่ได้กลิ่น จิตที่ลิ้มรส จิตที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เป็นที่เกิดของจิต ๑๐ ดวงนี้

และมีหทยรูป ซึ่งเป็นที่เกิดของจิตอื่นทั้งหมดในภูมิที่มีขันธ์ ๕ นอกจากทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง ไม่ยุ่งยากอะไรเลย ๖ รูปเท่านั้นเอง แต่จะต้องพิจารณา และต้องเข้าใจโดยละเอียดขึ้น เพื่อที่จะได้ไม่ยึดถือรูปและนามว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน

ขอทบทวนเรื่องของปัจจัยที่ได้ศึกษาแล้วว่า วิถีมุตตจิตซึ่งไม่ใช่วิถีจิต ได้แก่ ภวังคจิต และภวังค์ใดมีอารมณ์ภายนอกกระทบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ภวังค์นั้นชื่อว่าอตีตภวังค์ เพื่อให้รู้ว่า รูปเกิดขณะไหน และกระทบขณะไหน

ขณะที่กำลังนอนหลับ มีเสียงกระทบโสตปสาท เป็นอตีตภวังค์ไหม

อตีตภวังค์ เสียงมีจะสิทธิ์กระทบกับโสตปสาทไหม มี กระทบได้ไหม ได้ เมื่อเสียงกระทบกับโสตปสาทรูปแล้ว กระทบกับภวังคจิตด้วยได้ไหม ได้

เพราะฉะนั้น ก็อาจจะเป็นอตีตภวังค์ๆ หรืออาจจะมีภวังคจลนะเกิด แต่ถ้า วิถีจิตไม่เกิด ขณะนั้นก็มีแต่ภวังคจิต ซึ่งไม่ใช่จิตที่รู้อารมณ์ที่กระทบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย

ไม่ว่าจะเป็นอตีตภวังค์ หรือภวังคจลนะ หรือภวังคุปัจเฉทะ ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ขณะที่กำลังนอนหลับสนิทและภวังคจิตเกิด ในขณะนั้น จิตเหล่านั้นเกิดที่หทยวัตถุ เพราะว่ารูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิตมีเพียง ๖ รูป ได้แก่ จักขุวัตถุ ๑ โสตวัตถุ ๑ ฆานวัตถุ ๑ ชิวหาวัตถุ ๑ กายวัตถุ ๑ และหทยวัตถุ ๑

ทุกครั้งที่รู้ว่าจิตประเภทใดเกิดก็ควรทราบด้วยว่า จิตดวงนั้น ประเภทนั้น เกิดที่ไหน ซึ่งทราบแล้วว่า ภวังคจิตทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นอตีตภวังค์ หรือภวังคจลนะ หรือภวังคุปัจเฉทะ เกิดที่หทยวัตถุ

ภวังคจิตของสัตว์เดรัจฉานเกิดที่ไหน ไม่ว่าจะเป็นช้าง ม้า นก หนู มด ภวังคจิตเกิดที่หทยวัตถุ ไม่มีข้อยกเว้นเลย ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ รูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิตมีเพียง ๖ รูป ถ้าไม่ใช่ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง จิตอื่นทั้งหมดต้องเกิดที่หทยวัตถุ

เพราะฉะนั้น เมื่อเริ่มจะเป็นวิถีจิต คือ เมื่ออตีตภวังค์ดับไป อตีตภวังค์เกิดที่หทยวัตถุ ภวังคจลนะเกิดต่อ ภวังคจลนะเกิดที่หทยวัตถุ ภวังคุปัจเฉทะเกิดต่อ ภวังคุปัจเฉทะเกิดที่หทยวัตถุ วิถีจิตดวงที่ ๑ ในทวารหนึ่งทวารใดของทวารทั้ง ๕ คือ ไม่ว่าจะเป็นทางจักขุทวาร หรือทางโสตทวาร ทางฆานทวาร ทางชิวหาทวาร ทางกายทวารก็ตาม วิถีจิตดวงที่ ๑ ต้องเป็นปัญจทวาราวัชชนจิต เป็นจิตที่รำพึงถึงอารมณ์ที่กระทบกับทวาร จิตดวงนี้เกิดที่ไหน เกิดที่หทยวัตถุ

หทยวัตถุเป็นวัตถุปุเรชาตปัจจัยของปัญจทวาราวัชชนจิต ปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นปัจฉาชาตปัจจัยของหทยวัตถุและรูปอื่นทั้งหมดซึ่งเกิดและยังไม่ดับ เพราะว่านามธรรมที่เป็นปัจฉาชาตปัจจัย ต้องเป็นปัจจัยเฉพาะแก่รูปในฐีติขณะของรูปเท่านั้น

ปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นอาเสวนปัจจัยหรือเปล่า

อาเสวนปัจจัย คือ ชวนจิตที่เกิดก่อนๆ เป็นอาเสวนปัจจัยแก่ชวนจิตที่เกิด หลังๆ เพราะฉะนั้น ปัญจทวาราวัชชนจิตซึ่งเป็นวิถีจิตดวงที่ ๑ เป็นอาเสวนหรือเปล่า ไม่เป็น

เพราะอะไรถึงไม่เป็น

เพราะว่าปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นเพียงขณะเดียวเท่านั้น จะไม่เกิดขึ้น ๒ หรือ ๓ ขณะเลย

สำหรับวิถีจิตดวงที่ ๒ ถ้าเป็นทางจักขุทวาร ได้แก่ จักขุวิญญาณ เกิดที่ไหน ที่จักขุวัตถุ ไม่ใช่หทยวัตถุแล้ว สำหรับจักขุวิญญาณ ในขณะนี้กำลังเกิดดับที่ จักขุปสาทรูป เพราะฉะนั้น จักขุปสาทรูปในขณะที่เห็น มีจักขุวิญญาณและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยเกิดพร้อมกันที่จักขุปสาทรูปนั่นเอง

ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็โดยนัยเดียวกัน

จักขุวิญญาณที่เป็นอกุศลวิบากเกิดที่ไหน

เกิดที่จักขุวัตถุ

โดยปัจจัยอะไร

จักขุวัตถุเป็นวัตถุปุเรชาตปัจจัย และจักขุวิญญาณเป็นปัจฉาชาตปัจจัย

จักขุวิญญาณที่เป็นกุศลวิบาก เป็นผลของกุศล เห็นสิ่งที่ดี เกิดที่ไหน

เกิดที่จักขุวัตถุ

ไม่ว่าจะเป็นอกุศลวิบาก หรือกุศลวิบาก ก็ต้องเกิดที่จักขุวัตถุนั่นเอง

จักขุวิญญาณเป็นปุเรชาตปัจจัยหรือเปล่า

ไม่เป็น เพราะว่าปุเรชาตปัจจัยต้องเป็นรูปธรรมที่เกิดก่อนและยังไม่ดับ จึงจะเป็นปัจจัยแก่นามธรรม เพราะฉะนั้น จักขุวิญญาณไม่เป็นปุเรชาตปัจจัย เพราะว่า เป็นนามธรรม

จักขุวิญญาณเป็นปัจฉาชาตปัจจัยเปล่า

เป็น

จักขุวิญญาณเป็นปัจฉาชาตปัจจัยแก่รูปอะไร

แก่รูปทุกรูปที่เกิดจากทุกสมุฏฐานซึ่งยังไม่ดับ

จักขุวิญญาณเป็นอาเสวนปัจจัยหรือเปล่า

ไม่เป็น

เพราะอะไร

เพราะจักขุวิญญาณเกิดขึ้นขณะเดียว และเพราะเป็นวิบากจิต

อาเสวนปัจจัยทั้งหมด ได้แก่ กุศลจิตหรืออกุศลจิต สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ และได้แก่ กิริยาจิตของพระอรหันต์ โดยที่จิตและเจตสิกที่เกิดก่อนเป็นปัจจัยให้จิตชาติเดียวกันเกิดขึ้นเสพอารมณ์นั้นซ้ำอีกจากอารมณ์ที่ตนเสพแล้ว คือ รู้อารมณ์เดียวกัน เพราะฉะนั้น สำหรับจักขุวิญญาณที่ไม่เป็นอาเสวนปัจจัย เพราะว่านอกจากเกิดขึ้นขณะเดียวแล้ว ยังเป็นวิบากจิตด้วย

วิถีจิตทางปัญจทวารดวงที่ ๓ หลังจากที่จักขุวิญญาณ หรือทวิปัญจวิญญาณดับไปแล้ว ได้แก่ สัมปฏิจฉันนจิต

สัมปฏิจฉันนจิตเป็นชาติอะไร ไม่ได้พูดถึงสิ่งที่ห่างไกลเลย พูดถึงสิ่งที่กำลังเกิดดับสืบต่อกันในขณะเห็น ในขณะได้ยิน ในขณะต่างๆ เหล่านี้เอง เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้ทราบความละเอียดและไม่ลืม เพราะเป็นการทบทวนว่า สัมปฏิจฉันนจิตเป็นชาติอะไร เป็นชาติวิบาก

ถ้าศึกษาธรรมโดยไม่ได้ศึกษาเรื่องของจิตประเภทต่างๆ โดยนัยของชาติต่างๆ ภูมิต่างๆ ไม่มีโอกาสที่จะเข้าใจพระธรรมได้โดยตลอด เพราะฉะนั้น เรื่องของชาติ เป็นสิ่งที่ลืมไม่ได้ หรือว่าเรื่องภูมิของจิตก็เป็นสิ่งที่ลืมไม่ได้ เช่น สัมปฏิจฉันนจิตเป็นชาติวิบาก เกิดที่ไหน

เกิดที่หทยวัตถุ

สัมปฏิจฉันนจิตเป็นปุเรชาตปัจจัยหรือเปล่า

ไม่เป็น

เป็นปัจฉาชาตปัจจัยหรือเปล่า

เป็น

เป็นอาเสวนปัจจัยหรือเปล่า

ไม่เป็น

เพราะอะไร

เพราะเกิดขึ้นขณะเดียว และเพราะเป็นวิบากจิต

เป็นเรื่องที่ซ้ำและทบทวนไปเรื่อยๆ จนกระทั่งไม่ต้องท่อง แต่สามารถเข้าใจได้ตลอดทั้งวิถีจิตทางปัญจทวาร

วิถีจิตทางปัญจทวารดวงที่ ๔ ที่เกิดต่อจากสัมปฏิจฉันนะ คือ สันตีรณจิต เป็นจิตที่พิจารณาอารมณ์ที่ปัญจวิญญาณรู้ และสัมปฏิจฉันนจิตรับต่อ เพราะฉะนั้น สันตีรณจิตก็เกิดขึ้นพิจารณาอารมณ์นั้นต่อ

สันตีรณจิตเป็นชาติอะไร

เป็นชาติวิบาก

เกิดที่ไหน

เกิดที่หทยวัตถุ

เป็นปุเรชาตปัจจัยหรือเปล่า

ไม่เป็น

เป็นปัจฉาชาตปัจจัยหรือเปล่า

เป็น

เป็นอาเสวนปัจจัยหรือเปล่า

ไม่เป็น

เพราะอะไร

เพราะเกิดขึ้นขณะเดียว และเพราะเป็นวิบากจิต

วิถีจิตทางปัญจทวารดวงที่ ๕ เมื่อสันตีรณจิตดับไปแล้ว คือ โวฏฐัพพนจิต เกิดขึ้นกระทำกิจมนสิการเพื่อกุศลจิตหรืออกุศลจิตจะเกิดต่อ

โวฏฐัพพนจิตเป็นชาติอะไร

ชาติกิริยา

อย่าลืมว่า ชาติของจิต คือ การเกิดขึ้นของจิตดวงหนึ่งๆ จะต้องเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด คือ จะต้องเป็นชาติหนึ่งชาติใดใน ๔ ชาติ ได้แก่ เป็นอกุศลชาติ ๑ เป็น กุศลชาติ ๑ เป็นวิบากชาติซึ่งเป็นผลของอกุศลและกุศลชาติ ๑ และเป็นกิริยาชาติ ๑

จิตทั้งหมดทุกประเภทต้องเกิดขึ้นเป็นชาติหนึ่งชาติใด โดยจะต้องรู้ว่า จิตนี้เป็นชาติอกุศล หรือว่าจิตนี้เป็นชาติกุศล หรือว่าจิตนี้เป็นชาติวิบากที่เป็นผลไม่ใช่ตัวเหตุ คือ ไม่ใช่กุศลหรืออกุศล แต่เป็นผลของกุศลหรืออกุศล จึงเป็นจิตที่เป็นชาติวิบาก และสำหรับจิตซึ่งไม่ใช่กุศลหรืออกุศล และไม่ใช่วิบาก จิตนั้นเป็นกิริยา

สำหรับวิถีจิตทางปัญจทวาร นอกจากปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นชาติกิริยาแล้ว โวฏฐัพพนจิตก็เป็นชาติกิริยา

โวฏฐัพพนจิตเกิดที่ไหน

ที่หทยวัตถุ

เป็นปุเรชาตปัจจัยหรือเปล่า

ไม่เป็น

เป็นปัจฉาชาตปัจจัยหรือเปล่า

เป็น

เป็นอาเสวนปัจจัยหรือเปล่า

ไม่เป็น

เพราะอะไร

เพราะไม่ใช่ชวนจิต ไม่ได้ทำชวนกิจ แต่ทำโวฏฐัพพนกิจ และไม่ได้เกิดซ้ำกันถึง ๔ - ๕ ขณะ หรือ ๔ - ๕ ดวง อย่างมากที่โวฏฐัพพนจิตจะเกิดก็ ๒ หรือ ๓ ขณะ แต่ไม่ถึง ๔ หรือ ๕ ขณะ เนื่องจากอารมณ์ที่ปรากฏบางครั้งเกิดก่อนวิถีจิตมาก เพราะฉะนั้น เป็นอารมณ์ที่ใกล้จะดับ จึงไม่เป็นปัจจัยให้ชวนจิตเกิดได้ แต่เป็นปัจจัยให้โวฏฐัพพนจิตเกิดได้ ๑ ครั้ง หรือ ๒ ครั้ง หรือ ๓ ครั้ง ซึ่งไม่เป็นกุศล ไม่เป็นอกุศล เพราะฉะนั้น ไม่ได้กระทำชวนกิจ เพียงแต่ทำโวฏฐัพพนกิจและดับไป จึงไม่ใช่ อาเสวนปัจจัย

อย่าลืมว่า อาเสวนปัจจัย ต้องได้แก่ กุศลจิตหรืออกุศลจิตสำหรับปุถุชน และกิริยาจิตสำหรับพระอรหันต์ ซึ่งทำให้ปัจจยุปบัน คือ จิตที่เกิดต่อซึ่งเป็นจิตชาติเดียวกัน เสพอารมณ์ที่ตนเสพแล้วนั้นซ้ำอีก

สำหรับวิถีจิตทางปัญจทวารขณะต่อไป ได้แก่ ชวนจิต ซึ่งเป็นวิถีจิตขณะที่ ๖ - ๑๒ เพราะว่าตามปกติชวนจิตจะเกิดดับสืบต่อซ้ำกันถึง ๗ ขณะ หรือ ๗ ครั้ง สำหรับชวนจิตซึ่งสามารถเกิดดับสืบต่อเสพอารมณ์ซ้ำกันถึง ๗ ครั้ง ได้แก่ อกุศลจิต ๑๒ ดวง คือ โลภมูลจิต ๘ ดวง โทสมูลจิต ๒ ดวง โมหมูลจิต ๒ ดวง นอกจากนั้น ได้แก่ มหากุศลจิต ๘ ดวง มหากิริยาจิต ๘ ดวง

ในขณะที่เป็นกุศลชวนะ กุศลจิตจะเกิดดับสืบต่อเสพอารมณ์เดียวกันซ้ำกัน ๗ ขณะ ถ้าเป็นพระอรหันต์ก็เป็นมหากิริยาจิต เพราะว่าพระอรหันต์ไม่มีอกุศลจิตหรือกุศลจิตแล้ว และมีหสิตุปปาทจิตอีก ๑ ดวง ซึ่งเป็นจิตที่ทำให้เกิดการแย้มยิ้มพอเห็นไรฟันของพระอรหันต์ รวมเป็นกามชวนะ ๒๙ ดวง ที่จะเกิดขึ้นทางปัญจทวารได้

ขอทบทวน

สำหรับจิตซึ่งเป็นชวนจิตทำชวนกิจทางปัญจทวาร มีทั้งหมด ๒๙ ดวง คืออกุศลจิต ๑๒ ดวง มหากุศลจิต ๘ ดวง สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ และมหากิริยาจิต ๘ ดวง หสิตุปปาทจิต ๑ ดวง สำหรับผู้ที่เป็นพระอรหันต์ รวมเป็นกามชวนจิต ๒๙ ดวง คือ จิตที่เป็นไปในการรู้อารมณ์ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย

ในขณะที่มีการเห็น ยังไม่ถึงมโนทวาร เพียงแต่ทางปัญจทวารวิถี จิตซึ่งเป็นชวนจิต กระทำชวนกิจ มี ๒๙ ดวง

เวลานี้สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ จะมีชวนจิตเกิดได้กี่ดวง

ท่านยังไม่ใช่พระอรหันต์ เพราะฉะนั้น จิตของท่านขณะที่เห็นครั้งหนึ่ง ได้ยินครั้งหนึ่ง จะมีจิตที่ทำชวนจิตได้มีกี่ดวง

๒๐ ดวง คือ อกุศลจิต ๑๒ ดวง หรือกุศลจิต ๘ ดวง ทีละอย่าง ทีละประเภท ไม่ใช่พร้อมๆ กัน

ถ้าโลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา เกิดพร้อมกับความเห็นผิด เกิดโดย ไม่มีการชักชวน ไม่มีการชักจูง เป็นโลภมูลจิตดวงที่ ๑ ประเภทที่ ๑ เกิดขึ้น เป็น ชวนจิตดวงที่ ๑ ดับไป เป็นอาเสวนปัจจัยทำให้โลภมูลจิตประเภทเดียวกัน คือ เกิดพร้อมกับโสมนัสเวทนา เกิดร่วมกับความเห็นผิด และเป็นอสังขาริกคือเกิดโดยไม่อาศัยการชักจูง ขณะที่ ๒ เกิดขึ้น โดยจิตดวงที่ ๑ เป็นอาเสวนปัจจัย เมื่อเสพอารมณ์หรือว่ารู้อารมณ์นั้นโดยทำชวนกิจและดับไปแล้ว ก็เป็นปัจจัยทำให้โลภมูลจิตประเภทเดียวกันเกิดสืบต่อ กระทำชวนกิจอีก

สำหรับชวนจิต ไม่ว่าจะเป็นอกุศลจิต หรือกุศลจิต หรือมหากิริยาจิตของ พระอรหันต์ หรือหสิตุปปาทจิตของพระอรหันต์ เกิดที่ไหน

อกุศลจิตเกิดที่ไหน เกิดที่หทยวัตถุ

มหากุศลจิตเกิดที่ไหน เกิดที่หทยวัตถุ

มหากิริยาจิตเกิดที่ไหน เกิดที่หทยวัตถุ

หสิตุปปาทจิตเกิดที่ไหน เกิดที่หทยวัตถุ

เปิด  219
ปรับปรุง  19 ต.ค. 2566