แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1135
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๒๕
เพราะฉะนั้น สำหรับทวาร ๖ เป็นรูป ๕ ทวาร เป็นนาม ๑ ทวาร และสำหรับ วัตถุ ๖ เป็นรูปทั้ง ๖ รูป
ถ้าท่านผู้ฟังได้ยินเรื่องของทวาร ๖ ต้องทราบจริงๆ ว่า ทวาร ๖ ได้แก่ ปรมัตถธรรมอะไร
จักขุปสาท ได้แก่ รูปปรมัตถ์ โสตปสาท ได้แก่ รูปปรมัตถ์ ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท ซึ่งเป็นทวาร เป็นรูปปรมัตถ์ แต่มโนทวารไม่ใช่รูป เพราะภวังคจิตเกิดสืบต่อดำรงภพชาติอยู่เรื่อยๆ ขณะที่ไม่มีการนึกคิดเกิดขึ้น แต่เวลาที่ นึกคิดจะเกิดขึ้น โดยไม่อาศัยเห็นก็ได้ ไม่ต้องมีการได้ยินเรื่องหนึ่งเรื่องใด จิตก็เกิด นึกคิดขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นเป็นเพราะภวังคจลนะไหว ภวังคุปัจเฉทะเกิดต่อ และก็สิ้นสุดกระแสภวังค์
หลังจากภวังคุปัจเฉทะดับไปแล้ว จิตจะเป็นภวังค์ต่อไปไม่ได้ เมื่อ ภวังคุปัจเฉทะดับไปแล้ว ต่อไปต้องเป็นวิถีจิตทางหนึ่งทางใด อาจจะเป็นวิถีทางตา หรือวิถีทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจก็ได้ แต่ถ้ากล่าวถึงทางใจ เมื่อภวังคุปัจเฉทะดับไปแล้ว จิตดวงต่อไปต้องเป็นวิถีจิต คือ มโนทวาราวัชชนจิต ซึ่งไม่ใช่มโนทวาร บางท่านอาจจะเรียกย่อๆ แทนที่จะเรียกยาวๆ ว่า มโนทวาราวัชชนจิต เรียกมโนทวารได้ไหม ไม่ได้ เพราะว่าความหมายผิดกัน
มโนทวาร คือ ภวังคุปัจเฉทะ เพราะว่าเป็นทวาร เป็นทางที่จะให้จิตเกิด เพราะฉะนั้น มโนทวารเป็นภวังคุปัจเฉทะ เป็นจิต เมื่อภวังคุปัจเฉทะดับไปแล้ว จิตที่ทำอาวัชชนกิจทางมโนทวารชื่อ มโนทวาราวัชชนจิต เป็นวิถีจิต เป็นกิริยาจิต ไม่ใช่เป็นวิบากจิตอย่างภวังค์
ถ. ภวังคจิตเกิดที่หทยวัตถุ ซึ่งหทยวัตถุโดยทั่วๆ ไปเรียกกันว่า มโนทวาร
สุ. ผิด ไม่ถูกต้อง
ถ. หทยวัตถุเรียกว่า มโนทวารไม่ได้
สุ. ไม่ได้ เพราะมโนทวาร ได้แก่ ภวังคุปัจเฉทะ
ถ. ตามปริจเฉท ๓ บอกว่า มโนทวาร องค์ธรรม ได้แก่ จิต ๑๙ ดวง
สุ. ซึ่งทำภวังคกิจ เป็นภวังคุปัจเฉทะก่อนที่มโนทวาราวัชชนจิตจะเกิด ไม่ใช่หทยวัตถุ
ถ. ตรงนี้ไม่เคยฟัง ไปอ่านพบเข้าก็งง เข้าใจว่า หทยวัตถุเป็นมโนทวาร
สุ. ไม่ได้ ต้องแยกทวาร ๖ กับวัตถุ ๖ ว่า ทวาร ๖ เป็นรูป ๕ ทวาร เป็นนาม ๑ ทวาร สำหรับมโนทวารซึ่งเป็นทวารที่ ๖ ได้แก่ ภวังคุปัจเฉทะ
ส่วนวัตถุ ๖ เป็นรูปทั้ง ๖ ไม่มีนามเลย เพราะว่าวัตถุ ได้แก่ รูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิตในภูมิที่มีขันธ์ ๕
ถ. ภวังค์นี้พ้นจากทวาร ไม่มีทวาร เกิดได้อย่างไร
สุ. จิตตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย ถ้าแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท ก็เป็นจิตที่ พ้นวิถีกับวิถีจิต จิตที่พ้นวิถี คือ วิถีมุตตจิต ไม่ใช่วิถีจิตจึงไม่ต้องอาศัยทวาร ถ้าไม่เห็น จะต้องอาศัยตาไหม
ถ. ไม่เห็น ก็ไม่ต้อง
สุ. เวลาไม่เห็น ไม่ต้องอาศัยตา เวลาไม่เห็น ยังมีจิตหรือเปล่า
ถ. มี
สุ. จิตซึ่งไม่เห็น ไม่ได้อาศัยตา แต่เกิดขึ้นทำกิจของจิตซึ่งไม่ใช่วิถีจิต เพราะฉะนั้น ปฏิสนธิจิตเกิด ไม่ต้องอาศัยทวารเลย เกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย ทำ กิจปฏิสนธิ ปฏิสนธิกิจไม่เห็นอะไร ขณะเกิด ปฏิสนธิจิตไม่เห็นอะไร ไม่ได้ยินอะไร ไม่ได้คิดอะไรเลย ทำกิจปฏิสนธิ คือ เกิดสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน เพราะฉะนั้น ในขณะนั้น เมื่อไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ได้ลิ้มรส ไม่ได้รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ไม่คิดนึก จึงไม่ใช่วิถีจิต เมื่อไม่ใช่วิถีจิต ก็ไม่ต้องอาศัยทวาร ไม่ต้องอาศัยทวารหนึ่งทวารใดเลย
เพราะฉะนั้น ก็มีจิต ๒ ประเภท คือ จิตซึ่งเป็นวิถีจิตและจิตซึ่งพ้นวิถีจิต คือ ไม่ใช่วิถีจิต จึงไม่ต้องอาศัยทวาร
ถ. เรื่องจิตที่เป็นวิถีจิตและจิตที่พ้นวิถี เคยได้ยินได้ฟังมาบ่อย แต่จิตที่ พ้นทวาร รู้สึกว่าไม่ค่อยมีใครจะสังเกตพูดถึง
สุ. ถ้าพ้นวิถี ก็ต้องพ้นทวาร เพราะจิตที่เป็นวิถีเท่านั้นที่อาศัยทวาร
ถ. การพ้นวิถีและพ้นทวารนี้ เหมือนกันหรือ
สุ. เหมือนกัน เพราะฉะนั้น จิตทั้งหมดที่เป็นวิถีมุตตจิต คือ พ้นวิถี ได้แก่ ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต จุติจิต นอกจากนั้นต้องเป็นวิถีจิต โดยอาศัยทวารหนึ่งทวารใด ที่ว่าเป็นวิถีจิต เพราะว่ารู้อารมณ์ของโลกนี้ เพราะฉะนั้น จึงต้องอาศัยทวารหนึ่ง ทวารใดเกิดขึ้น
ถ. มโนทวารกับมโนทวาราวัชชนจิตต่างกันอย่างไร
สุ. คำว่า ทวาร หมายความถึงทางที่จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ จิตเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ จะไม่มีจิตสักดวงเดียวที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้อารมณ์ เพียงแต่ว่าอารมณ์นั้นจะปรากฏหรือไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้น เวลาที่จิตเกิดดับและรู้อารมณ์แต่อารมณ์ไม่ปรากฏ คือ ในขณะที่เป็นภวังคจิต เป็นวิถีมุตตจิต พ้นวิถี ไม่ใช่วิถีจิต จึงไม่ต้องอาศัยทวารหนึ่งทวารใด
สำหรับทวาร ๕ ซึ่งเป็นรูป ก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะว่าการเห็นจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยจักขุปสาทรูปแน่ ถ้าบุคคลใดจักขุปสาทไม่เกิด ขณะนั้นจะไม่มีการเห็นเลย
เพราะฉะนั้น สำหรับมโนทวาร คือ ทางรู้อารมณ์ ซึ่งไม่อาศัยจักขุปสาทรูป ไม่อาศัยโสตปสาทรูป ไม่อาศัยฆานปสาทรูป ไม่อาศัยชิวหาปสาทรูป และไม่อาศัยกายปสาทรูป มี ใช่ไหม คือ ในขณะที่คิดนึกสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้น ขณะนั้นเป็นวิถีจิตที่คิด แต่ก่อนที่วิถีจิตจะเกิด จิตต้องเป็นภวังค์ ภวังคจิตต้องเกิดคั่นอยู่เรื่อยๆ
ถ้าท่านผู้ฟังจะสังเกตเสียง ไม่มีเสียงและก็มีเสียง ระหว่างที่ไม่มีเป็นภวังคจิต แต่ระหว่างที่เสียงปรากฏ ต้องเป็นโสตทวารวิถีจิต ต้องอาศัยโสตปสาทรูปเป็นทางที่จะรู้เสียงที่กำลังปรากฏ ฉันใด แม้แต่ทางใจที่จะคิดนึกขึ้น ในขณะนั้นก็ไม่ใช่ภวังคจิต เพราะว่าขณะใดที่เป็นภวังค์ขณะนั้นอารมณ์ไม่ปรากฏ แต่ขณะที่คิดนึก มีเรื่องราวมากมาย และบางคนก็ยังแยกไม่ออกโดยถามว่า เรื่องราวเป็นสมมติเป็นบัญญัติ หรือเป็นปรมัตถ์ เพราะเมื่อคิดก็น่าจะมีจริง แต่ว่าตามความเป็นจริง เป็นแต่เพียงสิ่งที่สัญญาทรงจำและจิตขณะนั้นนึกถึง จึงเป็นเรื่องต่างๆ ขึ้น
ขอให้ทราบว่า มโนทวารวิถีจิต ไม่ใช่ภวังคจิตก่อน เพราะฉะนั้น มโนทวารวิถีจิตต้องอาศัยทวารหนึ่งเกิดขึ้นรู้อารมณ์ ซึ่งมโนทวารวิถีจิตไม่ได้อาศัยจักขุ ไม่ได้อาศัยโสตะ ไม่ได้อาศัยฆานะ ไม่ได้อาศัยชิวหา ไม่ได้อาศัยกายะเป็นทวาร แต่ก่อนที่วิถีจิตซึ่งเป็นมโนทวารวิถีจิตจะเกิด ภวังคจิตต้องเกิดก่อน เพราะฉะนั้น ภวังคจิตดวงสุดท้าย คือ ภวังค์คุปัจเฉทะนั่นเอง เป็นมโนทวารของมโนทวารวิถีจิต ทุกดวง
มโนทวาร ไม่ใช่มโนทวาราวัชชนจิต เพราะว่ามโนทวาร ได้แก่ ภวังคุปัจเฉทะ ซึ่งเป็นวิบากจิต ทำกิจภวังค์ แต่เป็นภวังค์ดวงสุดท้ายของกระแสภวังค์ ซึ่งเมื่อดับไปแล้ววิถีจิตต้องเกิด
ถ้าเป็นปัญจทวาร คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ปัญจทวาราวัชชนจิตต้องเกิด แต่ถ้าเป็นทางมโนทวาร ไม่ใช่ปัญจทวาราวัชชนจิต ปัญจทวาราวัชชนจิตไม่เกิดทางมโนทวาร ถ้าเป็นทางมโนทวาร เมื่อภวังคุปัจเฉทะดับไปแล้ว มโนทวาราวัชชนจิตต้องเกิด เพราะฉะนั้น มโนทวาราวัชชนจิตไม่ใช่มโนทวาร เพราะว่ามโนทวาราวัชชนจิตเป็นวิถีจิต เป็นชาติกิริยา แต่ว่ามโนทวารเป็นจิตที่พ้นวิถี และเป็นชาติวิบาก
เพราะฉะนั้น ต้องไม่พูดสั้นๆ ถึงมโนทวาราวัชชนจิต โดยพูดว่า มโนทวาร เฉยๆ เพราะจะทำให้เข้าใจผิด
ถ. เรื่องของภวังคจิตนี้ ทำไมทางปัญจทวารจึงมีอตีตภวังค์ ทางมโนทวารไม่ต้องมีอตีตภวังค์
สุ. ที่ใช้คำว่า อตีตภวังค์ เพื่อแสดงให้รู้ว่า รูปนั้นเกิดขณะเดียวกับ อตีตภวังค์ เพื่อที่จะนับอายุของรูปว่า รูปนั้นจะดับเมื่อไร เพราะว่ารูปในขณะนี้เกิดดับตามสมุฏฐาน ซึ่งไม่มีใครจะยับยั้งได้เลย แต่เวลาที่จะแสดงให้รู้ว่า รูปนี้อายุ ๑๗ ขณะ ตั้งต้นที่ไหน เกิดที่ไหน และดับที่ไหน
เช่น จะเป็นรูปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายก็ตาม ที่จะรู้ว่ามี ๑๗ ขณะ ก็ต้องนับตั้งแต่อตีตภวังค์เป็นภวังค์ดวงที่ ๑ เท่ากับรูปเกิดในขณะนั้น ๑ ขณะ ภวังคจลนะเกิดต่อเป็นขณะที่ ๒ ของรูป แสดงว่ารูปยังไม่ดับ ภวังคุปัจเฉทะ เกิดต่อเป็นขณะที่ ๓ รูปนั้นยังไม่ดับ ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดต่อเป็นขณะที่ ๔ รูปนั้นยังไม่ดับ จักขุวิญญาณเกิดขึ้น รูปนั้นยังไม่ดับ สัมปฏิจฉันนจิตเกิดขึ้น รูปนั้นยังไม่ดับ สันตีรณจิตเกิดขึ้น รูปยังไม่ดับ โวฏฐัพพนจิตเกิดขึ้น รูปยังไม่ดับ ชวนจิต ๗ ขณะเกิดขึ้นดับไปแล้ว รูปยังไม่ดับ เหลืออีก ๒ ขณะ คือ ตทาลัมพนจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้นต่อไปอีก ๒ ขณะ รูปนั้นจึงดับ พร้อมกับภังคขณะของตทาลัมพนจิต
เพราะฉะนั้น จึงแสดงให้เห็นว่า รูปมีอายุ ๑๗ ขณะ โดยใช้คำที่แสดงให้เห็นว่า รูปนั้นเกิดพร้อมกับภวังค์ดวงไหนเท่านั้นเอง
ถ้ารูปเกิดพร้อมจักขุวิญญาณ ก็นับไปว่าจะไปดับเมื่อไร คือ ๑๗ ขณะนั่น จะดับเมื่อไร ถึงตทาลัมพนจิตรูปก็ยังไม่ดับ เพราะว่ายังไม่ถึง ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้น ก็ดับในขณะที่เป็นภวังค์ จะดับเมื่อไรได้ทั้งนั้น ขอให้ทราบว่า รูปทุกรูปที่เป็น นิปผันนรูป รูปซึ่งมีลักษณะสภาวะของตนเอง จะมีอายุเท่ากับการเกิดดับของจิต ๑๗ ขณะ ซึ่งเร็วเหลือเกิน เพราะว่าขณะนี้ที่เห็นและรู้ว่าเห็นอะไร และได้ยินด้วย รู้ความหมายของเสียงนั้นด้วย ก็เกินกว่า ๑๗ ขณะมากมาย และรูปก็ดับไปอย่างรวดเร็ว เพราะว่ารูปทุกรูปมีอายุเพียง ๑๗ ขณะของการเกิดดับของจิตเท่านั้น
อายุของจิต ๑๗ ขณะ เป็นการนับอายุของรูปๆ หนึ่ง
สำหรับเรื่องทวาร วัตถุ อารมณ์ ต้องเกี่ยวข้องกัน ถ้าเป็นวิถีมุตตจิต คือ ไม่ใช่วิถีจิต ย่อมพ้นทวาร คือ ไม่อาศัยทวาร และอารมณ์ของจิตที่พ้นวิถีไม่ปรากฏ ขณะใดที่อารมณ์ไม่ปรากฏ ขณะนั้นไม่ใช่ว่าไม่มีจิต มีภวังคจิตเกิดดับ แต่เพราะไม่ได้อาศัยตา ไม่ได้อาศัยหู ไม่ได้อาศัยจมูก ไม่ได้อาศัยลิ้น ไม่ได้อาศัยกาย และไม่ได้อาศัยมโนทวาร เพราะฉะนั้น อารมณ์นั้นจึงไม่ปรากฏ แต่ไม่ได้หมายความว่า จิตไม่ได้เกิดดับ
จิตที่เกิดในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ไม่ได้อาศัยทวาร ไม่ใช่วิถีจิต ต้องอาศัยวัตถุไหม
ต้องอาศัยวัตถุ เพราะว่าในภูมิที่มีขันธ์ ๕ นามธรรมต้องอาศัยเกิดที่รูปธรรม
หทยวัตถุ มองเห็นไหม มีใครเห็นหทยวัตถุได้ไหม ดับแล้ว รวดเร็วเหลือเกิน มีใครเห็นจักขุปสาทไหม ก็ไม่มีเหมือนกัน เพราะว่ารูปๆ เดียวซึ่งปรากฏทางตาได้ ไม่ใช่จักขุปสาทรูป ไม่ใช่หทยวัตถุ แต่เป็นวัณโณ หรือรูปารมณ์ คือ สภาพที่สามารถจะกระทบกับจักขุปสาทจึงปรากฏได้
เพราะฉะนั้น ไม่ควรจะยึดถือสิ่งที่ปรากฏว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เพราะว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเพียงปรากฏเมื่อกระทบกับจักขุปสาทเท่านั้น และรูปนี้จะไม่กระทบกับปสาทอื่นเลย
ถ. เรื่องที่อาจารย์กล่าวว่า ชวนจิตมี ๗ ขณะ
สุ. สำหรับกามชวนะ
ถ. ฌานลาภีบุคคล บางครั้งท่านเข้าสมาบัติ ฌานจิตเกิดนับไม่ถ้วน ไม่มีระหว่างคั่น
สุ. ขณะนั้นเป็นอัปปนาชวนะ ไม่ใช่กามชวนะ
ถ. ก็เป็นชวนะเหมือนกัน
สุ. ถูกต้อง เพราะฉะนั้น ต้องแยกไปอีก และสำหรับกามชวนะเอง ในขณะที่ใกล้จะจุติ คือ ใกล้จะสิ้นชีวิต ก็ไม่ถึง ๗ ขณะ
เพราะฉะนั้น ธรรมที่ได้ฟังในเบื้องต้น ก็เป็นธรรมขั้นต้นที่กล่าวถึงโดยทั่วๆ ไป แต่ถ้าศึกษาโดยละเอียด ต้องละเอียดขึ้นไปอีกเรื่อยๆ
ถ. อัปปนาชวนะ เป็นอาเสวนปัจจัยด้วยหรือเปล่า
สุ. กุศลจิตทุกดวงเป็นอาเสวนปัจจัย เว้นดวงสุดท้าย อกุศลจิตทุกดวงเป็นอาเสวนปัจจัยเว้นดวงสุดท้าย
ถ้ากุศลจิตเกิด ๗ ขณะ กุศลจิตดวงที่ ๑ เป็นอาเสวนปัจจัยให้กุศลจิตดวงที่ ๒
กุศลจิตดวงที่ ๒ เป็นอาเสวนปัจจัยให้กุศลจิตดวงที่ ๓
กุศลจิตดวงที่ ๓ เป็นอาเสวนปัจจัยให้กุศลจิตดวงที่ ๔
กุศลจิตดวงที่ ๔ เป็นอาเสวนปัจจัยให้กุศลจิตดวงที่ ๕
กุศลจิตดวงที่ ๕ เป็นอาเสวนปัจจัยให้กุศลจิตดวงที่ ๖
กุศลจิตดวงที่ ๖ ก็ยังเป็นอาเสวนปัจจัยให้กุศลจิตดวงที่ ๗
แต่กุศลจิตดวงที่ ๗ ไม่เป็นอาเสวนปัจจัยสำหรับกามชวนวิถี ซึ่งมีเพียง ๗ ขณะเท่านั้น
กุศลจิตเป็นอาเสวนปัจจัยให้แก่อกุศลจิตได้ไหม
ผู้ฟัง ไม่ได้
สุ. โดยอาเสวนปัจจัยไม่ได้ แต่จะเป็นปัจจัยให้แก่อกุศลจิตได้โดยปัจจัยอะไร
ผู้ฟัง โดยปกตูปนิสสยปัจจัยก็ได้
สุ. อุปนิสสยปัจจัยได้ โดยเป็นปกตูปนิสสยปัจจัย นี่เป็นเรื่องละเอียดที่จะเห็นสภาพของจิตของแต่ละท่านของแต่ละบุคคล
เวลาที่พิจารณาเป็นสภาพธรรม ลืมชื่อของบุคคลนั้นได้เลย เขาชื่ออะไรก็ไม่ทราบ ไม่ได้สนใจ แต่ขณะนี้กำลังเป็นโลภมูลจิต หรือว่าโทสมูลจิต หรือว่ากำลังเป็นเจตสิกประเภทนั้นๆ ที่ทำให้เกิดรูป หรือการกระทำทางกาย ทางวาจาอย่างนั้น คนนั้นชื่ออะไรอาจจะไม่รู้จัก แต่เห็นอาการของมานะ เห็นอาการของโลภะ เห็นอาการของโทสะซึ่งเป็นปรมัตถธรรม เป็นธรรมที่มีจริง
เพราะฉะนั้น เรื่องปัจจัยเป็นเรื่องที่จะต้องเข้าโดยละเอียดว่า กุศลเป็นอาเสวนปัจจัยแก่อกุศลไม่ได้ และอกุศลก็เป็นอาเสวนปัจจัยแก่กุศลไม่ได้
กุศลเป็นอาเสวนปัจจัยแก่กุศล เพราะว่ากุศลขณะแรกที่เกิดมีกำลัง สามารถทำให้จิตที่เป็นกุศลดวงต่อไปเกิดขึ้นได้โดยคล่องแคล่วว่องไวเพราะอาเสวนปัจจัย แต่ว่าอกุศลจะเกิดต่อจากกุศลโดยคล่องแคล่วว่องไวถึงอย่างนั้น ในวิถีเดียวกัน ในชวนะเดียวกัน เป็นไปไม่ได้
เช่นเดียวกัน ถ้าเป็นฝ่ายอกุศลจิต อกุศลจิตดวงที่ ๑ เป็นสภาพที่มีกำลังทำให้อกุศลจิตดวงต่อไปเกิดขึ้นได้โดยคล่องแคล่วว่องไว ไม่ต้องรีรอ แต่ว่าไม่สามารถเป็นปัจจัยให้กุศลจิตเกิดต่อจากอกุศลจิตโดยรวดเร็วคล่องแคล่วว่องไวอย่างนั้นได้ในวิถีจิตเดียวกัน
นี่คือสภาพธรรมที่เป็นอาเสวนปัจจัย สามารถที่จะทำให้จิตชาติเดียวกัน ประเภทเดียวกัน ประกอบด้วยเวทนาอย่างเดียวกัน เกิดขึ้นโดยคล่องแคล่วว่องไวได้