แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1136
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๒๕
สุ. ทำไมกุศลจิตหรืออกุศลจิตไม่เป็นอาเสวนปัจจัยแก่วิบากจิต
ในคราวก่อนทราบแล้วว่า วิบากจิตทั้งหมดไม่เป็นอาเสวนปัจจัย เพราะฉะนั้น เวลาที่ชวนจิต ๗ ขณะเกิด ชวนะดวงที่ ๗ ดับไปแล้ว แต่ทำไมชวนจิตดวงสุดท้าย ไม่เป็นอาเสวนปัจจัยแก่วิบากจิตซึ่งเป็นตทาลัมพนะ ทั้งๆ ที่ตทาลัมพนะรู้อารมณ์เดียวกับชวนจิตดวงสุดท้ายเหมือนกัน ก็เพราะว่าชาติต่างกัน วิบากจิตทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตามจิตที่เป็นวิบากเกิดขึ้นให้ทราบว่า กรรมที่ได้กระทำแล้วเป็นปัจจัย ไม่มีใครผันแปรลักษณะสภาพของวิบากให้เป็นอย่างอื่นได้ เพราะว่าย่อมเป็นไปตามกรรม เพราะฉะนั้น แม้ตทาลัมพนะจะเกิดต่อจากกุศลชวนะหรืออกุศลชวนะดวงที่ ๗ ก็ตาม แต่ตทาลัมพนะเป็นวิบากจิตซึ่งเกิดขึ้นเพราะกรรม ซึ่งในอรรถกถาใช้คำว่า ซัดไป หรือใช้คำว่า ซัดมา ก็ได้ คือ กรรมนั่นเองเป็นปัจจัยทำให้วิบากนั้นเกิด เพราะฉะนั้น จึงไม่ได้เกิดขึ้นเพราะอาเสวนปัจจัยของชวนจิตดวงสุดท้าย
ถ. อสังขาร แปลว่า ไม่มีการชักชวน สสังขาร แปลว่า มีการชักชวน ฌานจิตทั้งหมดโดยพิสดาร ๖๗ ดวง ท่านสงเคราะห์เป็นสสังขาร ฌานจิตซึ่งเกิดขึ้นไม่มีใครไปชักชวนหรือว่าให้เกิดขึ้นได้ ที่สงเคราะห์เป็นสสังขาร สงสัยว่า ใครไปชักชวนให้ฌานจิตเกิด
สุ. กามาวจรจิตซึ่งเกิดก่อนชักจูง โดยเกิดขึ้นเพราะการอบรมจนกว่า ฌานจิตนั้นจะเกิด ถ้าไม่มีการอบรมเจริญปัญญาหรือว่าความสงบทีละน้อยๆ จนกระทั่งมั่นคงขึ้นแล้ว อัปปนาชวนะ คือ ฌานจิต ก็เกิดไม่ได้
ท่านผู้หนึ่งอ่านเรื่องปรมัตถธรรมสังเขป ท่านรู้สึกว่าเป็นหนังสือที่เป็นประโยชน์ ท่านอยากจะให้เพื่อนของท่านได้อ่านด้วย ท่านก็บอกเพื่อนว่า หนังสือเล่มนี้ดีขอให้อ่าน เพื่อนบอกว่า ไม่มีเวลา ท่านผู้นั้นก็บอกเพื่อนให้นั่งลง และท่านก็อ่านให้ฟัง ขณะนั้นเป็นอสังขาริก หรือสสังขาริก สำหรับคนฟัง
ถ. เป็นสสังขาริก
สุ. ใช่ ตัวอย่างไหนที่จะเข้าใจได้ในชีวิตประจำวัน ก็ค่อยๆ พยายามพิจารณาเข้าใจอย่างนั้นก่อน
สำหรับมหัคคตจิตทั้งหลาย ไม่สามารถเกิดขึ้นเองโดยลำพังได้ ต้องอาศัยการอบรม เพราะฉะนั้น มหัคคตจิตทั้งหมดและโลกุตตรจิตจึงเป็นสสังขาริกเพราะว่า ต้องอาศัยมหากุศลซึ่งอบรมจนกระทั่งชำนาญแล้วเกิดก่อนทุกครั้ง
เวลาที่ฌานจิตจะเกิด มหากุศลจิตต้องเกิดก่อน เวลาที่โลกุตตรจิตจะเกิด มหากุศลจิตก็ต้องเกิดก่อน คือ อนุโลมญาณดับไป โคตรภูเกิดก่อนโสตาปัตติมรรคจิต เป็นมหากุศล หรือถ้าเป็นพระสกทาคามีบุคคลก็ไม่ใช่โคตรภู ทำกิจเดียวกัน แต่เมื่อพ้นจากความเป็นปุถุชนแล้ว จิตนั้นจึงเป็นโวทาน คือ เป็นสภาพที่ผ่องแผ้วขึ้นอีกที่จะทำให้สกทาคามิมรรคจิต หรือว่าอนาคามิมรรคจิต หรือว่าอรหัตตมรรคจิตเกิดต่อ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า มหัคคตจิตหรือโลกุตตรจิตจะเกิดโดยไม่มีมหากุศลจิตเกิดก่อนไม่ได้ จึงเป็นสสังขาริก
ถ. ถ้าพูดถึงโลกุตตรมรรคจิต ๔ ฌานลาภีบุคคลตั้งแต่ทุติยฌานขึ้นไปเจริญวิปัสสนาได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ตามปกติพระโสดาบันที่มรรคจิตจะเกิดได้ ต้องเจริญมรรคทั้ง ๘ มรรค ที่มาประชุมกันเรียกว่า มรรคสมังคี แต่พระโสดาบัน ฌานลาภีบุคคลที่ได้ตั้งแต่ทุติยฌานขึ้นไป วิตกเจตสิกไม่มี เพราะฉะนั้น มรรคมีองค์ ๘ ก็ไม่ครบ เมื่อไม่ครบ โสตาปัตติมรรคจิตจะเกิดขึ้นได้หรือ
สุ. ได้แน่นอน สำหรับทุติยฌานต้องเว้นวิตกเจตสิก คือ ขาด สัมมาสังกัปปะ แต่ไม่ใช่ว่าก่อนนั้นไม่เคยมีสัมมาสังกัปปะ แต่ขณะที่เป็นทุติยฌานโสตาปัตติมรรคจิต สัมมาสังกัปปะเกิดไม่ได้ด้วยกำลังของทุติยฌานซึ่งเว้นวิตกเจตสิก
ถ. องค์มรรคก็เกิดเพียง ๗ องค์ เท่านั้น
สุ. ใช่ มิฉะนั้นจะมีความต่างอะไรระหว่างมรรคจิตธรรมดา กับมรรคจิตของผู้ที่เป็นฌานลาภีบุคคล
ถ. ถ้าเป็นโสตาปัตติมรรค ไม่น่าจะมีอะไรต่างกัน
สุ. ถ้าอย่างนั้น ไม่ต้องมีโสตาปัตติมรรคปฐมฌาน โสตาปัตติมรรคทุติยฌาน โสตาปัตติมรรคตติยฌาน โสตาปัตติมรรคจตุตถฌาน โสตาปัตติมรรคปัญจมฌาน
ถ. ในเมื่อมรรคมีเพียง ๗ องค์ ยังจะเรียกว่า มรรคสมังคี ด้วยหรือ
สุ. แน่นอน จะต้องเกิดพร้อมกัน จะเป็น ๘ หรือจะเป็น ๗ ก็แล้วแต่ประเภทของฌานนั้นๆ
ถ. ได้ยินเณรถามว่า คนที่ตาย ขณะตายนั้น จิตดับก่อนหรือรูปดับก่อน
สุ. ต้องแยกโดยละเอียด เพราะว่ารูปซึ่งเกิดจากกรรมก็มี รูปซึ่งเกิดจากจิตก็มี รูปซึ่งเกิดจากอุตุก็มี รูปซึ่งเกิดเพราะอาหารเป็นสมุฏฐานก็มี
ก่อนจุติจิตจะเกิด ๑๗ ขณะ รูปซึ่งเกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐานไม่เกิด เพราะฉะนั้น รูปสุดท้ายซึ่งจะดับพร้อมกับการดับของจุติจิต เป็นรูปซึ่งเกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน หลังจากที่จุติจิตดับแล้ว ไม่มีกัมมชรูป คือ ไม่มีรูปที่เกิดจากกรรม แต่ยังมีรูปอีก ๑๗ ขณะซึ่งเกิดเพราะจุติจิตเป็นสมุฏฐาน ถ้าบุคคลนั้นไม่ใช่พระอรหันต์ และรูปซึ่งเกิดเพราะอาหาร ก็ดับไปใน ๑๗ ขณะ
ท่านผู้ฟังคิดถึง ๑๗ ขณะว่า จะเร็วสักแค่ไหน ยิ่งกว่ากระพริบตา เพราะว่าในขณะที่กำลังเห็นนี้ ได้ยินด้วย แยกไม่ออกเลย แต่ว่าเกินกว่า ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้น ที่รูปๆ หนึ่งดับ เช่น รูปซึ่งเกิดเพราะจิต เมื่อจุติจิตดับไปแล้ว อีก ๑๗ ขณะต่อมา รูปซึ่งเกิดเพราะจิตก็ดับ ก็ต้องเร็วที่สุด รูปซึ่งเกิดเพราะอาหารก็ดับ เหลือเพียงรูปซึ่งเกิดเพราะอุตุเป็นสมุฏฐาน ก็เน่าเปื่อยผุพังไปตามความเย็นและความร้อน ตามสภาพของอุตุ
ถ. อาจารย์ช่วยสรุป วัตถุกับปสาทรูป ให้ชัดอีกที
สุ. วัตถุ คือ รูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิต วัตถุ คือ รูป ไม่ต้องคิดถึงนามธรรมหรืออะไรทั้งสิ้น และรูปใดไม่เป็นที่เกิดของจิต รูปนั้นไม่ใช่วัตถุ
จักขุปสาท ในขณะที่นอนหลับ เป็นจักขุวัตถุหรือเปล่า ไม่เป็น เพราะว่า ไม่เห็น เพราะฉะนั้น แม้เป็นจักขุปสาทก็ไม่ใช่จักขุวัตถุ ถ้าจักขุวิญญาณไม่เกิดขึ้นเห็น ขณะที่กำลังนอนหลับจักขุปสาทไม่ใช่จักขุวัตถุ เป็นจักขุทวารไหม ก็ไม่เป็น เพราะว่าไม่มีการเห็น เพราะฉะนั้น จักขุปสาทนั้นเกิดขึ้นและดับไป ไม่เป็นจักขุทวารด้วย
แต่ขณะที่เห็นต้องอาศัยตา ตั้งแต่ปัญจทวาราวัชชนจิตซึ่งเป็นวิถีจิต ถ้าไม่มีตา จะไม่กระทบกับรูปารมณ์ วิถีจิตก็เกิดไม่ได้ แต่เพราะว่ามีจักขุปสาทซึ่งเป็นรูปที่มีลักษณะพิเศษสามารถกระทบกับรูปารมณ์ได้ เมื่อรูปารมณ์กระทบกับจักขุปสาท เป็นปัจจัยให้วิถีจิตเกิด เพราะฉะนั้น ปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นวิถีจิต ไม่ใช่ภวังคจิตแล้ว
เว้นจากปฏิสนธิจิต ภวังคจิต จุติจิต จิตอื่นทั้งหมดต้องเป็นวิถีจิต ซึ่งต้องอาศัยทวาร ถ้าจิตใดเป็นวิถีจิต ต้องตรวจสอบทันทีว่า จิตนี้อาศัยทวารอะไร และถ้าเป็นภูมิที่มีขันธ์ ๕ ต้องตรวจสอบว่า จิตนี้อาศัยรูปอะไรเป็นที่เกิดหรือเป็นวัตถุที่เกิด รูปอะไรเป็นปุเรชาตปัจจัยของจิตนั้น และจิตนั้นเป็นปัจฉาชาตปัจจัยของรูปอะไรในขณะไหน
แต่ปัจฉาชาตปัจจัย ไม่ยาก คือ จิตทุกดวงซึ่งเกิดภายหลังเป็นปัจฉาชาตปัจจัยแก่รูปทุกรูป ไม่ว่าจะเกิดจากสมุฏฐานใดๆ ก็ตามที่ยังไม่ดับ
หลังจากจุติจิตดับไปแล้ว รูปยังเหลืออยู่ ยังไม่ทันดับ มีปัจฉาชาตปัจจัยไหม ไม่มี เพราะปัจฉาชาตปัจจัย ได้แก่ จิตซึ่งเกิดภายหลังเป็นปัจฉาชาตปัจจัยแก่รูป ซึ่งยังไม่ดับ
ข้อที่ควรพิจารณา คือ อาเสวนปัจจัยต่างกับอนันตรปัจจัยอย่างไร
อนันตรปัจจัย เป็นนามธรรม คือ จิตและเจตสิกซึ่งเมื่อดับไปแล้วเป็นปัจจัย โดยเป็นอนันตรปัจจัยให้จิตและเจตสิกดวงต่อไปเกิดต่อ จนกว่าจะเป็นจุติจิตของ พระอรหันต์เท่านั้นจึงจะไม่เป็นอนันตรปัจจัย
อาเสวนปัจจัย ก็เป็นนามธรรม คือ เป็นจิตและเจตสิก
เพราะฉะนั้น อาเสวนปัจจัยและอนันตรปัจจัยต่างกันอย่างไร
ต่างกันที่ เมื่อจิตดวงที่เป็นกุศลจิตดับไปแล้ว อนันตรปัจจัยทำให้วิบากจิตเกิดต่อได้ เป็นภวังคจิตก็ได้ เป็นตทาลัมพนจิตก็ได้ แต่สำหรับอาเสวนปัจจัย เมื่อดับไป จิตอื่นจะเกิดต่อไม่ได้นอกจากจิตประเภทเดียวกัน ชาติเดียวกัน เพราะว่าต้องเป็น อาเสวนะที่ทำให้จิตดวงต่อไปชนิดเดียวกันเกิดขึ้นอย่างคล่องแคล่วว่องไวตามกำลังของตน
ถ. มีผู้อ่านจากพระไตรปิฎกว่า พระภิกษุยื่นแขนออกไปครั้งแรกหลงลืมสติ เมื่อระลึกได้ พระภิกษุนั้นอธิษฐานว่า ในครั้งต่อไปถ้ายื่นแขนออกไป ขอให้ระลึกได้ พอยื่นแขนครั้งต่อๆ ไป ระลึกได้ จะเป็นการเจาะจงไหม
สุ. ทุกครั้งเลยหรือ
ถ. ไม่ใช่
สุ. เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่เหตุปัจจัย จะเป็นก็แล้วแต่เหตุปัจจัย จะไม่เป็นก็แล้วแต่เหตุปัจจัย จะระลึกได้ก็แล้วแต่เหตุปัจจัย จะหลงลืมสติก็แล้วแต่เหตุปัจจัย ข้อสำคัญที่สุด ในขณะที่นึกคิดอย่างนั้นสติสัมปชัญญะจะต้องรู้ว่า เป็น สภาพนามธรรม ไม่ใช่เราที่คิด มิฉะนั้นแล้ว พระภิกษุรูปนั้นไม่สามารถจะละการยึดถือขณะที่คิดว่าเป็นเราคิดไม่ได้
ผู้ฟัง ผมมีความเห็นว่า ถ้าหลงลืมสติทีไร และผมอธิษฐานอย่างนั้น หลงลืมสติทางตาก็อธิษฐานว่า สิ่งที่จะเห็นต่อไปขอให้ระลึกได้ ผมว่าน่าจะเป็นการเจาะจง
สุ. เพราะฉะนั้น แต่ละบุคคล ต้องไม่ลืมโดยเด็ดขาดว่า ไม่เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าทุกท่านจะคิดอย่างพระภิกษุรูปนั้น แต่ถ้าพระภิกษุรูปนั้นจะคิดอย่างนั้น ก็คิดแล้วเพราะเหตุปัจจัย ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้ ข้อสำคัญที่สุด ท่านที่อ่านเรื่องนี้ ท่านพิจารณาอย่างไร ถ้าเป็นโยนิโสมนสิการ จะพิจารณาอย่างถูกต้อง แต่ถ้าเป็น อโยนิโสมนสิการ อยากจะทำตาม เพราะคิดว่า ถ้าอธิษฐานแล้วสติสัมปชัญญะจะเกิด แต่ถ้าพิจารณาโดยละเอียดต้องรู้ว่า แม้ภิกษุรูปนั้นจะเกิดความคิดอย่างนั้นขึ้น สติสัมปชัญญะของภิกษุรูปนั้นก็จะต้องระลึกรู้ว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมที่กำลังคิด ไม่ว่าจะคิดอย่างนั้น หรือว่าคิดอย่างอื่น นี่จึงจะเป็นโยนิโสมนสิการ
เพราะฉะนั้น ไม่ต้องไปตามใครทั้งหมด ชีวิตบุคคลในพระไตรปิฎกก็ดี หรือ ในอรรถกถาก็ดี เป็นเพียงตัวอย่างของการสะสมของปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้แต่ละบุคคลกระทำสิ่งซึ่งเมื่อบุคคลอื่นได้ฟัง ได้อ่าน ได้รู้ ก็จะต้องพิจารณาว่า สติปัฏฐานจริงๆ คือ ในขณะที่ระลึกรู้ลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ว่าบุคคลนั้นจะอธิษฐานอย่างไร จะทำอย่างไร จะเหยียดแขนไปสัก ๑๐๐ ครั้ง ก็เป็นบุคคลนั้นทำอย่างนั้นตามเหตุตามปัจจัย ไม่ใช่จะต้องไปทำตามเพราะคิดว่า บางทีเราเหยียดเอง ครั้งที่ ๑๐๐ อาจจะมีสติสัมปชัญญะ ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า แม้บุคคลนั้นทำอย่างนั้น การที่ปัญญาจะละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้ ก็เพราะสติสัมปชัญญะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และถ้าเป็นลักษณะของรูปธรรมก็รู้ว่า ลักษณะนั้นไม่ใช่นามธรรม และไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนด้วย
ผู้ฟัง เรื่องนี้อยู่ในวิสุทธิมรรค ศีลนิทเทส ท่านพูดถึงเรื่องของอินทรียสังวร เป็นตัวอย่างหนึ่งของผู้ที่รักษาอินทรียสังวร ซึ่งท่านมีตัวอย่างหลายตัวอย่างเกี่ยวกับการก้าวไปและเหยียดออก การเหยียดแขนไปก็ดี ถ้าไม่มีสติสัมปชัญญะแล้วมีโทษ คือ มีภิกษุรูปหนึ่งเหยียดออกไปแล้ว ไม่มีสติสัมปชัญญะ ถูกงูกัดก็มี มีภิกษุรูปหนึ่งไม่มีสติสัมปชัญญะเหยียดออกไปแล้วถูกผู้หญิงเข้า สึกไปก็มี
เพราะฉะนั้น พระเถระองค์นี้ท่านก็อธิษฐานว่า ท่านจะเหยียดก็ดี จะคู้ก็ดี ให้มีสติสัมปชัญญะ บางครั้งท่านก็ยื่นมือออกไปหยิบของ บางครั้งท่านหลงลืมสติ เมื่อหลงลืมสติท่านก็วางของนั้นและหยิบใหม่เป็นครั้งที่ ๒ ก็มีภิกษุถามท่านว่า เมื่อครู่นี้หยิบแล้วทำไมวาง ท่านก็บอกว่า เมื่อครู่นี้หลงลืมสติ จึงวางลงและหยิบใหม่ ทำสติสัมปชัญญะให้เกิด นี่ก็เป็นตัวอย่างอินทรียสังวรในวิสุทธิมรรค
สุ. ภิกษุในสำนักของพระผู้มีพระภาคทำอย่างนี้ทุกรูปหรือเปล่า ท่าน พระอานนท์ ท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระมหากัสสปะ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ท่านวิสาขามหาอุบาสิกา หรือใครๆ ก็ตาม ท่านทำอย่างนี้หรือเปล่า แต่ท่านเหล่านั้นก็เป็นพระอริยบุคคล
เพราะฉะนั้น แต่ละคนไม่เหมือนกัน อย่าลืมข้อนี้ จะมีข้อความแสดงการกระทำของแต่ละบุคคล บุคคลใด ในสมัยไหน ในครั้งไหนอย่างไรก็ตาม อย่าเพียงถืออาการภายนอกว่า เมื่อบุคคลนั้นทำอย่างนั้นก็ควรทำอย่างนั้นด้วย แต่ควรจะถือการอบรมเจริญสติปัฏฐานจริงๆ ว่า แม้ว่าบุคคลนั้นจะหยุด จะเอื้อมมือไปใหม่ ขณะนั้นสติปัฏฐานจริงๆ คือ ระลึกรู้ในสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จะทำหรือจะไม่ทำ ไม่สำคัญเท่ากับสติสัมปชัญญะเกิดขึ้นและพิจารณาศึกษารู้ลักษณะของนามธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ และรู้ลักษณะของรูปธรรมซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ ไม่ใช่ธาตุรู้
อย่าผิวเผินเพียงแต่จะทำตามโดยไม่รู้ว่า แท้ที่จริงแล้ว การอบรมเจริญ สติปัฏฐานต้องเป็นในขณะที่กำลังศึกษาพร้อมสติที่ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ จะทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ แต่เจริญสติปัฏฐานโดยระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ถ้าเข้าใจไม่ถูกและจะทำตาม สติปัฏฐานก็ไม่เกิด คือ ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม
เพราะฉะนั้น ในเรื่องของการระวังกาย ก็ควรระวัง นั่นก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง เป็นตัวอย่างเรื่องการระวังกาย แต่จะต้องตามตัวอย่างของท่านผู้นั้น คือ อบรมเจริญ สติปัฏฐานด้วย ที่จะรู้ว่าแม้ขณะนั้นๆ ก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่อย่างนั้นคงเหมือนกันหมดทั้งสำนัก ทำอะไรซ้ำๆ หลายๆ ครั้ง ๑๐๐ ครั้ง ๑,๐๐๐ ครั้ง แต่ไม่ปรากฏว่าจะต้องเป็นอย่างนั้น แล้วแต่เหตุปัจจัยของแต่ละท่าน