แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1139
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๒๕
สำหรับกรรมซึ่งเป็นนามธรรม เป็นเจตนาเจตสิกเป็นปัจจัย ทำให้ปัจจยุปบัน คือ วิบากจิตและรูปเกิดขึ้น แต่โดยมากทุกท่านจะเห็นผลของกรรมเฉพาะแต่รูป ไม่ได้ทราบว่าแท้ที่จริงแล้วสภาพธรรมซึ่งเป็นนามธรรมที่รับผลของกรรมซึ่งเป็นวิบากนั้น มี
ส่วนใหญ่ที่พูดกันว่า นี่เป็นผลของกรรม หรือนั่นเป็นผลของกรรม ก็จะนึกถึงในด้านของวัตถุ เช่น ในเรื่องของรูปร่างหน้าตา ผิวพรรณ โภคสมบัติ ถ้าเป็นผลของกุศลกรรม หรือถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม ก็มักจะคิดถึงในเรื่องของรูปธรรมเท่านั้น คือ ในเรื่องของรูปร่างหน้าตา ผิวพรรณ หรือว่าความวิบัติของโภคทรัพย์ต่างๆ แต่ให้ทราบว่า สภาพธรรมที่เป็นปัจจยุปบัน เป็นผลของกรรม เป็นนามธรรมด้วย คือ จิตและเจตสิกซึ่งเป็นวิบาก
เหตุ คือ เจตนาเจตสิกที่เกิดร่วมกับกุศลจิตหรืออกุศลจิต เป็นเหตุให้เกิดกายกรรมและวจีกรรมที่เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง มี แม้ว่าดับไปแล้ว ใครที่คิดว่าไม่ให้ผลก็เพราะไม่รู้ว่า กรรมได้แก่เจตนาเจตสิกซึ่งเกิดกับกุศลจิตและอกุศลจิต แต่ถ้าเข้าใจว่า กรรมคือเจตนาเจตสิกที่เป็นนานักขณิกกัมมปัจจัยต้องเป็นกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม แม้ว่าดับไปแล้วก็เป็นปัจจัยที่จะทำให้วิบากจิตเกิดขึ้นในภายหลัง ผู้นั้นย่อมจะเป็นผู้ที่เชื่อในเรื่องของกรรมและในเรื่องผลของกรรมว่า เป็นสิ่งซึ่งเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา เพราะว่าเมื่อเหตุมี คือ เมื่อปัจจัยมี ปัจจยุปบัน คือ ผลของเหตุนั้น ก็ต้องมีด้วย
อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ มีข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ไม่ว่าในอากาศ ไม่ว่าในกลางทะเล ไม่ว่าจะเข้าไปสู่ในระหว่างภูเขา ย่อมไม่มีภูมิประเทศที่สัตว์สถิตอยู่แล้วจะพึงพ้นไปจากบาปกรรมได้ แม้นี้ชื่อว่ากรรมนิยาม นั่นเอง
เรื่องที่ทำให้พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้ มีข้อความแสดงว่า สำหรับ ไม่ว่าในอากาศ คือ
ในกาลแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไฟไหม้บ้านใกล้ประตูเมืองสาวัตถี ต่อนั้นกระจุกหญ้าติดไฟขึ้นไปสวมคอกาซึ่งบินไปทางอากาศ กานั้นร้อง ตกตายบนแผ่นดิน
ซึ่งเมื่อภิกษุได้กราบทูลเรื่องนี้แด่พระผู้มีพระภาคในพระวิหารเชตวัน พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ข้อนี้มิใช่ผู้อื่นกระทำ เป็นกรรมที่เขาเหล่านั้นแหละกระทำไว้
และได้ทรงนำเอาอดีตนิทาน คือ เรื่องในครั้งก่อนมาตรัสแสดงว่า
กาเป็นคนในชาติก่อน เมื่อไม่สามารถจะฝึกโคโกงตัวหนึ่งได้ ก็ผูกเขน็ดใบไม้แห้งสวมคอแล้วจุดไฟ โคตายด้วยไฟนั้นแหละ บัดนี้ กรรมนั้นไม่อาจจะปล่อยกานั้น แม้ไปอยู่ทางอากาศ
สำหรับในเรื่องของ ไม่ว่าในกลางทะเล เป็นเรื่องของหญิงผู้หนึ่งซึ่งโดยสารมาในเรือลำหนึ่ง เรือลำนั้นไม่สามารถจะแล่นต่อไปได้ หยุดนิ่งอยู่ในมหาสมุทร ทุกคนไม่ทราบว่าทำอย่างไรจึงจะรอดชีวิตได้ ก็ได้เสี่ยงจับสลากหาผู้ที่เป็นกาลกรรณี สลากนั้นตกไปในมือภรรยาของนายเรือ ซึ่งทำให้ผู้หญิงคนนั้นถูกจับโยนลงน้ำ ซึ่งนายเรือกล่าวว่า
ข้าพเจ้าไม่สามารถจะเห็นนางนี้ลอยอยู่ในน้ำได้
จึงให้เอาหม้อบรรจุทรายผูกคอแล้วให้โยนลงไป ทันใดนั้นเอง เรือก็แล่นออกไปได้เหมือนดังลูกศรที่ซัดไปฉะนั้น
เมื่อพระภิกษุกราบทูลเรื่องนี้แด่พระผู้มีพระภาค พระองค์ได้ทรงพยากรณ์อดีตกรรมของผู้หญิงนั้นว่า ในชาติก่อนหญิงนั้นก็เป็นหญิงคนหนึ่ง มีสุนัขเลี้ยงตัวหนึ่ง ซึ่งไม่ว่าผู้หญิงคนนี้จะไปที่ไหน สุนัขนั้นก็ติดตามไป จนกระทั่งพวกชาวบ้านพากันเยาะเย้ยว่า พรานสุนัขของพวกเราออกแล้ว ทำให้ผู้หญิงคนนั้นรู้สึกอึดอัด เพราะว่า ไม่สามารถห้ามสุนัขนั้นไม่ให้ติดตามได้ ก็เอาหม้อบรรจุทรายผูกคอสุนัข และโยนลงน้ำไป เพราะฉะนั้น กรรมนั้นจึงไม่ให้เพื่อจะปล่อยเธอลงในกลางทะเล ก็ต้องถูกหม้อบรรจุทรายผูกคอ แล้วโยนลงน้ำ
สำหรับข้อความที่ว่า ไม่ว่าจะเข้าไปสู่ระหว่างภูเขา
พระผู้มีพระภาคตรัสแสดงอดีตกรรมของภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งภิกษุรูปนี้อยู่ในถ้ำ และมียอดภูเขาใหญ่ตกลงมาปิดปากถ้ำไว้ ในวันที่ ๗ ยอดภูเขาใหญ่ที่ตกลงมาปิดประตูนั้นจึงได้กลิ้งออกไปได้ ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ตรัสแสดงอดีตกรรมของภิกษุรูปนี้ว่า เคยเป็นเด็กเลี้ยงโคในชาติก่อน และได้ปิดปากประตูขังเหี้ยซึ่งเข้าไปในรู ในวันที่ ๗ ก็มาเปิดให้ เหี้ยก็ตกใจกลัวตัวสั่นออกไป แต่เขาไม่ได้ฆ่า เพราะฉะนั้น กรรมนั้นก็ไม่ให้เพื่อจะปล่อยภิกษุนั้นผู้เข้าไปสู่ซอกภูเขานั่งอยู่ ยังติดตามให้ผลได้ แม้นี้ชื่อว่า กรรมนิยาม นั่นเอง
ซึ่งนิยามมี ๕ อย่าง ได้แก่
พืชนิยาม หรือพีชนิยาม กำหนดแน่นอนของพืช ๑
อุตุนิยาม กำหนดแน่นอนของฤดูกาล ๑
กรรมนิยาม กำหนดแน่นอนของกรรม ๑
ธรรมนิยาม กำหนดแน่นอนของธรรมดา ๑
จิตนิยาม กำหนดแน่นอนของจิต ๑
ซึ่งใน อัฏฐสาลินี อรรถกถาพระธรรมสังคณีปกรณ์ จิตตุปปาทกัณฑ์ ว่าด้วยนิยาม มีข้อความว่า
ในบรรดานิยามทั้ง ๕ นั้น การที่พืชนั้นๆ ให้ผลเหมือนกันกับพืชนั้นๆ เช่น ดอกทานตะวันหันหน้าไปหาพระอาทิตย์ ชื่อว่าพีชนิยาม
คือ เป็นธรรมดา หรือธรรมเนียมของพืชชนิดนั้นๆ ไม่เปลี่ยนแปลง
สำหรับอุตุนิยาม มีคำอธิบายว่า
การที่ต้นไม้นั้นๆ ติดดอกผลและใบอ่อนพร้อมกันในสมัยนั้นๆ ชื่อว่า อุตุนิยาม
หน้าทุเรียน หน้ามะม่วง ไม่สลับกัน นั่นคืออุตุนิยาม
สำหรับกรรมนิยาม คือ
การที่กรรมนั้นๆ ให้วิบากเหมือนกันกับกรรมนั้นๆ นั่นเทียว อย่างนี้
คือ ถ้ากุศลกรรมประกอบด้วยปัญญา ก็ให้ผลเป็นวิบากที่ประกอบด้วยปัญญา หรือว่ากุศลกรรมที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา ก็ให้ผลเป็นวิบากที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา นี้ชื่อว่ากรรมนิยาม
นอกจากนั้นได้แสดงเรื่องกรรมนิยามอีกอย่างหนึ่ง คือ วิบากย่อมเป็นไปตามกรรม ดังที่ได้กล่าวถึงแล้วที่ว่า ไฟไหม้ใกล้ทวารกรุงสาวัตถี และมีกระจุกหญ้าติดไฟขึ้นไปสวมคอกาที่บินไปทางอากาศ นั่นก็เป็นกรรมนิยาม
สำหรับธรรมนิยาม คือ
ในกาลที่พระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายทรงถือปฏิสนธิ ในกาลที่ทรงออกจากครรภ์พระมารดา ในกาลที่ทรงตรัสรู้พระอภิสัมโพธิญาณ ในกาลที่พระตถาคตเจ้าทรงประกาศพระธรรมจักร ในกาลที่ทรงปลงพระชนมายุสังขาร และในกาลที่ทรงปรินิพพาน หมื่นโลกธาตุหวั่นไหว ชื่อว่าธรรมนิยาม
สำหรับจิตนิยาม มีข้อความว่า
เมื่ออารมณ์กระทบกับปสาทรูป ใครๆ ที่จะเป็นผู้กระทำ หรือผู้สั่งให้กระทำว่า เจ้านะ จงชื่อว่าอาวัชชนะ ตลอดไปจนถึง เจ้านะ จงชื่อว่าชวนะ ดังนี้ ย่อมไม่มี
คือ สภาพธรรมไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้นเป็นไปโดยธรรมดาของตนๆ นั่นเอง ตั้งแต่กาลที่อารมณ์กระทบกับปสาท จิตก็เกิดดับสืบต่อกัน ชื่อว่าจิตตนิยาม
ถ. กัมมปัจจัย มีเจตนาเจตสิกเป็นกัมมปัจจัย ส่วนรูปและจิตไม่ใช่ กัมมปัจจัย และเจตนาเจตสิกซึ่งเป็นกัมมปัจจัย แบ่งเป็น ๒ อย่าง คือ เป็น สหชาตกัมมปัจจัย ซึ่งหมายถึงเจตนาเจตสิกที่เกิดร่วมกับเจตสิกดวงอื่นๆ ใช่ไหม
สุ. หมายถึงเจตนาเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวง เป็นสหชาตกัมมปัจจัย เพราะว่าเกิดพร้อมกับปัจจยุปบัน คือ เกิดพร้อมกับจิตและเจตสิกอื่นๆ ซึ่งเจตนานั้นเป็นปัจจัย
เหมือนอย่างผัสสะ เกิดกับจิตทุกดวง เจตนาก็เกิดกับจิตทุกดวง แต่ เจตนาเจตสิกเป็นกัมมปัจจัย สำหรับผัสสะเป็นอาหารปัจจัย สภาพธรรมต่างกัน เป็นปัจจัยคนละอย่าง
ถ. สหชาตกัมมปัจจัย หมายเอา …
สุ. กัมมะ คือ เจตนาเจตสิก สหชาตะ คือ เกิดร่วมกันกับปัจจยุปบัน คือ ร่วมกับจิตและเจตสิกอื่นๆ ซึ่งจิตทุกดวงจะมีเจตสิกเกิดร่วมกันหลายดวง แต่เมื่อยกเจตนาเจตสิกเป็นปัจจัย จิตและเจตสิกอื่นที่เกิดร่วมด้วยก็เป็นปัจจยุปบัน
เพราะฉะนั้น เมื่อแสดงโดยกัมมปัจจัย เจตนาเจตสิกเป็นกัมมปัจจัย จิตและเจตสิกอื่นๆ ที่เกิดพร้อมกันกับเจตนานั้น เป็นปัจจยุปบัน
ถ. สำหรับสหชาตกัมมปัจจัย หมายถึงจิตและเจตสิกอื่นๆ ที่เกิดร่วมกับเจตนาเจตสิก …
สุ. ปัจจยุปบัน ได้แก่ จิตและเจตสิกอื่นนอกจากเจตนาเจตสิก เพราะว่าเจตนาเจตสิกเป็นกัมมปัจจัย
ถ. ตัวเจตนาเจตสิกเป็นกัมมปัจจัย
สุ. ส่วนจิตและเจตสิกอื่นๆ ที่เกิดร่วมกับเจตนาเจตสิก เป็นปัจจยุปบันของเจตนาเจตสิก ซึ่งเป็นกัมมปัจจัย
ถ. ส่วนนานักขณิกกัมมปัจจัย ...
สุ. คือ เจตนาเจตสิกซึ่งเป็นกรรม เกิดต่างขณะกับปัจจยุปบัน หมายความว่าเจตนาเจตสิกที่เกิดกับกุศลจิตดับไปแล้ว เป็นปัจจัยให้ปัจจยุปบัน คือ วิบากจิตและกัมมชรูปเกิดในภายหลัง ไม่ใช่ในขณะเดียวกับกุศลจิตที่เกิดร่วมกับเจตนานั้น มิฉะนั้นแล้วคนที่ทำกุศลซึ่งจะทำให้เกิดเป็นเทวดา ก็ต้องเป็นเทวดาทันทีในขณะที่ทำกุศล ถ้าเป็นในขณะเดียวกัน แต่นานักขณิกกัมมปัจจัยหมายความถึงเจตนาเจตสิก ซึ่งเป็นกรรม เกิดต่างขณะกับปัจจยุปบัน ซึ่งเป็นผลของกรรมนั้น คือ กรรมกับผลของกรรมเกิดต่างขณะกัน จึงเป็นนานักขณิกกัมมปัจจัย
ถ. หมายถึงชาติต่อๆ ไป
สุ. ชาติไหนก็ได้ จะเป็นในชาตินั้น หรือในชาติต่อๆ ไปก็ได้ แต่ไม่เกิดพร้อมกับเจตนาเจตสิกซึ่งเป็นกรรม ผล คือ ปัจจยุปบัน เกิดภายหลัง ไม่ใช่เกิดพร้อมกัน
ถ. ผมเข้าใจว่า เจตนาดวงเดียวเป็นได้ทั้งสหชาตกัมมปัจจัย และ นานักขณิกกัมมปัจจัย
สุ. สำหรับที่เกิดกับกุศลจิตและอกุศลจิต เจตนาในขณะที่เกิดขึ้นเป็นสหชาตกัมมปัจจัย และดับ และจะเป็นนานักขณิกกัมมปัจจัยเมื่อวิบากจิตเกิดขึ้นภายหลัง
ถ. โลกุตตรผลจิตที่เกิดต่อจากโลกุตตรมรรคจิต เป็นปัจจยุปบันของ นานักขณิกกัมมปัจจัยของเจตนาเจตสิกในโลกุตตรมรรคจิต ใช่ไหม
สุ. เจตนาเจตสิกในโลกุตตรกุศลจิต คือ โลกุตตรมรรคจิตเป็น นานักขณิกกัมมปัจจัยของโลกุตตรวิบากจิต เพราะไม่ได้เกิดพร้อมกัน
ถ. แต่เจตนาเจตสิกในโลกุตตรวิบากจิต ไม่เป็นนานักขณิกกัมมปัจจัย
สุ. ถ้าเป็นวิบาก ไม่ใช่นานักขณิกกัมมปัจจัย แต่เป็นสหชาตกัมมปัจจัย
เพียงเจตนาเจตสิกประเภทเดียว ก็เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาให้เข้าใจความต่างกันของกาลของปัจจัยโดยแท้จริงว่า ถ้าเกิดร่วมกับปัจจยุปบัน เป็นสหชาตกัมมปัจจัย ถ้าเกิดต่างขณะ คือ เจตนาเจตสิกที่ไม่ได้เกิดพร้อมกันกับปัจจยุปบัน เป็นนานักขณิกกัมมปัจจัย
จิตทั้งหลาย เมื่อจำแนกออกโดยชาติ คือ กุศล ๑ อกุศล ๑ วิบาก ๑ กิริยา ๑ ที่ต้องรู้เรื่องชาติของจิตโดยไม่สับสน ก็เพราะว่าจิตและเจตสิกซึ่งเป็นวิบากเป็นผลของกัมมปัจจัย และปัจจัยที่เป็นคู่กันได้แก่ กัมมปัจจัยและวิปากปัจจัย ถ้ามี กัมมปัจจัย ก็ต้องมีวิปากปัจจัยซึ่งเป็นผลของกัมมปัจจัย เพราะฉะนั้น เมื่อมีเจตนาซึ่งเป็นเหตุ คือ เจตนาเจตสิกซึ่งเป็นกัมมปัจจัย ก็ต้องมีวิบาก คือ จิตและเจตสิกซึ่งเป็นผลของเจตนานั้น
ถ. เจตนามีเท่าไรที่เป็นสหชาตกัมมปัจจัย และที่เป็นนานักขณิกกัมมปัจจัย
สุ. สหชาตกัมมปัจจัย ได้แก่ เจตนาเจตสิกที่เกิดกับจิตทั้ง ๘๙ ดวง นานักขณิกกัมมปัจจัย ได้แก่ เจตนาเจตสิกที่เกิดกับกุศลจิตและอกุศลจิตเท่านั้น
กุศลเกิดขึ้นแล้ว สำเร็จไปแล้ว ต้องมีผล เพราะว่าเป็นนานักขณิกกัมมปัจจัย เพียงแต่ต้องอาศัยกาลเวลา หรือปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้วิบากจิตซึ่งเป็นผลของกุศลนั้นเกิดขึ้น
สำหรับกุศลที่เป็นโลกุตตรกุศล ข้อความในอรรถกถาแสดงว่า เป็น อนันตรกัมมปัจจัย ซึ่งได้แก่ เจตนาเจตสิกซึ่งเกิดกับโลกุตตรกุศลจิต ๔ ดวง คือ โสตาปัตติมรรคจิต ๑ สกทาคามิมรรคจิต ๑ อนาคามิมรรคจิต ๑ อรหัตตมรรคจิต ๑ เป็นปัจจัยใหัผลจิต คือ โลกุตตรวิบากจิตเกิดสืบต่อทันทีโดยไม่มีระหว่างคั่น เพราะฉะนั้น จึงเป็นอนันตรกัมมปัจจัย
อนันตระ คือ ไม่มีระหว่างคั่น เพราะฉะนั้น เป็นกรรมที่ทำให้ผล คือ วิบากเกิดขึ้นโดยไม่มีระหว่างคั่น
เมื่อโสตาปัตติมรรคจิตเกิดขึ้นและดับไป จิตอื่นจะเกิดต่อไม่ได้เลย นอกจากโสตาปัตติผลจิต
เมื่อสกทาคามิมรรคจิตเกิดขึ้นและดับไป จิตอื่นจะเกิดต่อไม่ได้เลย นอกจากสกทาคามิผลจิต
เมื่ออนาคามิมรรคจิตเกิดขึ้นและดับไป จิตอื่นจะเกิดต่อไม่ได้เลย นอกจากอนาคามิผลจิต
เมื่ออรหัตตมรรคจิตเกิดขึ้นและดับไป จิตอื่นจะเกิดต่อไม่ได้เลย นอกจากอรหัตตผลจิต
เพราะฉะนั้น จึงเป็นอนันตรกัมมปัจจัย เป็นกรรมซึ่งให้ผลทันทีที่กรรมนั้นดับไป โดยไม่มีจิตอื่นๆ เกิดแทรกหรือคั่นได้เลย นี่เป็นการได้รับผลในปัจจุบันชาติของ โลกุตตรกุศล เมื่อโลกุตตรกุศลเกิดขึ้นในชาติไหน โลกุตตรวิบากซึ่งเป็นผลเกิดสืบต่อทันทีในชาตินั้นโดยไม่มีระหว่างคั่น
ไม่เหมือนกุศลอื่น กุศลอื่นอาจจะให้ผลในชาตินั้น แต่ไม่ใช่ต่อกันทันที ไม่ว่าจะเป็นทานกุศล หรือศีลกุศล หรือสมถภาวนา ฌานจิต จะเป็นรูปาวจรฌาน ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ปัญจมฌาน หรืออรูปฌานกุศลก็ตาม ก็ไม่สามารถให้ผลเกิดขึ้นสืบต่อกันทันทีโดยไม่มีระหว่างคั่นเหมือนอย่างโลกุตตรกุศล เพราะว่า ผู้ที่ทำกุศลที่จะทำให้เกิดเป็นเทวดาในสวรรค์ชั้นหนึ่งชั้นใด กรรมนั้นจะให้ผลต่อเมื่อ จุติจิตในชาติที่ได้กระทำกรรมนั้นดับไปก่อน ถ้าเป็นมนุษย์ทำกุศลกรรมที่จะทำให้เกิดในสวรรค์ชั้นหนึ่งชั้นใด จุติจิตต้องดับก่อน กรรมนั้นจึงจะเป็นปัจจัยทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นในสวรรค์ชั้นหนึ่งชั้นใดได้
หรือว่าสำหรับรูปาวจรจิต ซึ่งเป็นฌานจิต ฌานหนึ่งฌานใดไม่เสื่อม เกิดขึ้นก่อนจุติจิต เมื่อจุติจิตดับไป จึงเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นในพรหมโลก ภูมิหนึ่งภูมิใดได้ เพราะฉะนั้น ยังมีจิตอื่นซึ่งคั่นระหว่างกุศลจิตซึ่งเป็นเหตุ เป็น กัมมปัจจัย และวิบากจิตซึ่งเป็นผล ถ้าเป็นโลกียกุศล
แต่ถ้าเป็นโลกุตตรกุศล ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดปฏิสนธิ เพราะฉะนั้น โลกุตตรวิบากจิตจึงเกิดสืบต่อจากโลกุตตรกุศลจิตทันทีโดยไม่มีระหว่างคั่น มีนิพพานเป็นอารมณ์เช่นเดียวกับโลกุตตรกุศลจิต แต่เป็นสภาพธรรมที่ต่างกัน คือ โลกุตตรกุศลจิตเป็นจิตที่ดับกิเลส แต่โลกุตตรวิบากจิต คือ ผลจิต เป็นจิตที่มีนิพพานเป็นอารมณ์โดยดับกิเลสแล้ว