แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1150

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๒๕


สุ. เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เพียงอ่านและพยายามปฏิบัติตามโดยไม่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะที่จะรู้สภาพของจิตในขณะนั้น ถ้าเป็นสมถภาวนา จิตสงบเพราะปราศจากทั้งโลภะและโทสะ อย่าลืม เวลาเห็นอาหารที่ประณีต ต้องพิจารณาว่าขณะนั้นโลภะหรือเปล่า ถ้าเห็นอาหารที่ไม่ประณีต เป็นโทสะหรือเปล่า ถ้าได้กลิ่นอาหารที่เป็นปฏิกูล ต้องรู้สภาพของจิตในขณะนั้นว่าเป็นกุศลหรือเปล่า คือต้องประกอบด้วยสติสัมปชัญญะที่จะรู้สภาพลักษณะของจิตซึ่งปราศจากทั้งโลภะและโทสะ แม้ว่าจะกำลังพิจารณาความเป็นปฏิกูลของอาหาร

แต่อย่าลืมว่า ข้อความทั้งหมดนี้สำหรับผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานแล้ว ซึ่งต้องรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ในขณะที่กำลังบริโภคอาหารนั้น

เพราะฉะนั้น เรื่องของอาหาร เป็นปัจจัยที่สำคัญตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย

สุมังคลวิลาสินี อรรถกถา ทีฆนิกาย สามัญญผลสูตร มีข้อความว่า

คำว่า อภินีหรติ น้อมนำเข้าไป คือ ทำให้น้อมเข้าไป ให้เอื้อมเข้าไป ให้โอนเข้าไป เพื่อให้วิปัสสนาญาณเกิด

อรรถแห่งบทว่า มีรูป เป็นต้น กล่าวไว้แล้ว คำว่า โอทนกุมฺมาสุปจโย แปลว่า โตขึ้น เจริญขึ้นด้วยข้าวสุกและขนมถั่ว (ขนมสด)

นี่คือชีวิตของทุกคนซึ่งจะขาดอาหารไม่ได้

คำว่า อนิจจุจฺฉาทนปริมทฺทนเภทนวิทฺธํสนธมฺโม แก้ว่า มีความไม่เที่ยงเป็นธรรมดา เพราะมีแล้วก็หามีไม่ มีอันต้องขัดสีเป็นธรรมดา เพราะต้องลูบไล้ตัว (ด้วยของหอมสะอาด) เพื่อพิฆาตซึ่งกลิ่นเหม็นของร่างกาย

การพิจารณาร่างกาย ตลอดทั้งหมด ไม่ใช่แต่เฉพาะในเวลาที่บริโภคอาหารเท่านั้น ให้เห็นความเป็นปฏิกูลของร่างกายว่า ต้องขัดสีเป็นธรรมดา เพื่อพิฆาตซึ่งกลิ่นเหม็นของร่างกาย

มีอันต้องนวดเฟ้นเป็นธรรมดา เพราะต้องนวดเล็กน้อย เพื่อบรรเทาความเมื่อยแห่งอวัยวะน้อยใหญ่ หรือมีอันต้องนวดเฟ้นเป็นธรรมดา เพราะในเวลาเป็นเด็กอ่อน ต้องนอนที่ขาทั้งคู่ แล้วต้องนวดจัดสัณฐานรูปร่างของร่างกายนั้นๆ ซึ่งตั้งอยู่ไม่ค่อยดี โดยอยู่ในครรภ์ก็ตั้งอยู่ไม่ค่อยสะดวกให้ดี ให้บริบูรณ์ ด้วยเหตุนี้จึงต้องหยอดตาบ้าง บีบนวดบ้าง เป็นต้น แม้บริหารอย่างดีดังกล่าวอย่างนี้แล้ว ร่างกายนี้ยังแตก ยังกระจัดกระจาย (คือตายและเน่า) เป็นธรรมดา ย่อมแตกไป ย่อมกระจายไป ร่างกายมีสภาพอย่างนี้ (ทุกตัวตน)

แสดงเรื่องการบริหาร การเลี้ยง การรักษาร่างกายตั้งแต่เกิด นอกจากต้องขัดสีแล้วยังต้องนวดเฟ้น นวดเล็กน้อยบ้างเวลาที่มีความเมื่อยแห่งอวัยวะน้อยใหญ่ จริงไหม นิดๆ หน่อยๆ บีบตรงนั้น นวดตรงนี้ หรือตั้งแต่เวลาที่เป็นเด็กอ่อน ก็ต้องนอนที่ขาทั้งคู่ และต้องนวดจัดสัณฐานรูปร่างของร่างกายเด็กเล็กๆ นั้น ซึ่งตั้งอยู่ไม่ค่อยดีในขณะที่อยู่ในครรภ์ให้ดี ให้บริบูรณ์ และหลังจากนั้นก็ต้องหยอดตาบ้าง บีบนวดบ้าง

แต่ข้อความตอนท้ายมีว่า

แม้บริหารอย่างดีดังกล่าวอย่างนี้แล้ว ร่างกายนี้ยังแตก ยังกระจัดกระจายเป็นธรรมดา ร่างกายมีสภาพอย่างนี้ทุกตัวตน

ถ. คำว่า น้อมไป โน้มไป พิจารณาเพื่อให้เป็นวิปัสสนาญาณ น้อมไปในลักษณะไหน

สุ. รู้สภาพธรรมที่ปรากฏว่า เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม

ถ. เกี่ยวกับอาหารด้วยหรือ

สุ. ทุกอย่างที่ปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

ถ. ถ้าเป็นเรื่องอาหาร ก็จะน้อมไปรู้ได้แต่รส

สุ. เวลารับประทานอาหารต้องหยิบ ต้องจับ ต้องเอื้อม ต้องคู้ ต้องเหยียด มีกลิ่นปรากฏทางจมูก มีรสปรากฏทางลิ้น แม้ใจก็คิดนึกเรื่องต่างๆ

ถ. ถ้าเป็นอาหาเรปฏิกูลสัญญา จะน้อมให้เป็นวิปัสสนาได้โดยวิธีใด

สุ. ขณะนั้นเกิดความรู้สึกอย่างไร เป็นวิปัสสนาได้ไหม

ถ. ได้

สุ. การเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่เป็นเรื่องไม่คิดไม่นึกเลย แต่เป็นเรื่องรู้ สภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า สิ่งที่เป็นวิปากปัจจัยต้องเป็นแค่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ส่วนทางใจ อย่างท่านผู้ฟังนึกถึงเรื่องอาหาร นึกเรื่องจะทำอาหาร นึกเรื่องจะแสวงหาอาหาร นึกเรื่องจะบริโภคอาหาร หรือแม้ในขณะที่กำลังคิดถึงความเป็นปฏิกูล สติก็ระลึกได้ในลักษณะที่เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังซึ่งติดอยู่ในเรื่องของสมมติบัญญัติ โดยการอบรมเจริญสติปัฏฐานจะทราบว่า วิบาก จริงๆ เพียงแค่ขณะที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แต่เวลาที่เป็นเรื่องทั้งหมด ไม่ใช่วิบาก

ถ้าท่านผู้ใดอยากจะทราบลักษณะของวิบากจริงๆ ก็ต้องโดยที่สติระลึก สภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ซึ่งแยกออกจากทางใจ และจะรู้ว่า ขณะที่ระลึกถึงความเป็นปฏิกูลของอาหาร ขณะนั้นก็เป็นสติปัฏฐานได้

การบริโภคอาหารเป็นชีวิตประจำวัน และข้อความที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเป็นการแสดงให้รู้สภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริงในชีวิตประจำวัน

สำหรับการบริโภคอาหารโดยนัยของสติปัฏฐาน เป็นสัมปชัญญบรรพ แต่สำหรับในบรรพอื่น เช่น ในอิริยาปถบรรพ หรืออิริยาบถ เช่น ขณะนี้ที่ท่านผู้ฟัง กำลังนั่ง หรือขณะที่นอน ยืน เดินก็ตาม พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงให้เห็น สภาพของธาตุต่างๆ ที่กระทำหน้าที่ต่างๆ ในขณะที่นั่ง ที่นอน ที่ยืน ที่เดิน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แม้ในอิริยาบถบรรพ ใน อรรถกา สติปัฏฐานสูตร ใน ปปัญจสูทนี ก็โดยนัยเดียวกัน ซึ่งขอกล่าวถึงข้อความบางตอนใน อรรถกา สติปัฏฐานสูตร

ข้อความมีว่า

ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงแจกกายานุปัสสนาด้วยอำนาจแห่งลมหายใจเข้า หายใจออกอย่างนี้แล้ว คราวนี้ตรัสคำเป็นต้นว่า ปุน จ ปรํ อันแปลว่า ยังอีกข้อหนึ่ง เพื่อทรงแจกด้วยอำนาจแห่งอิริยาบถ

การอบรมเจริญปัญญา ในขณะนี้เอง อย่าลืมว่า ในขณะที่ฟังพระธรรม ที่สติสามารถจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ก็คือ ระลึกรู้สภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

ข้อความต่อไปมีว่า

ในคำเหล่านั้นมีเนื้อความว่า ถึงสุนัขบ้าน สุนัขป่า เป็นต้น เมื่อเดินก็รู้ว่า เราเดินก็ตาม แต่การรู้อย่างนั้นไม่ใช่การรู้ที่ทรงหมายในที่นี้ เพราะการรู้อย่างนั้นไม่ละความถือว่าเป็นสัตว์ ไม่ถอนเสียซึ่งความเข้าใจว่าเป็นตัวตน ไม่เป็นกัมมัฏฐาน ไม่เป็นการเจริญสติปัฏฐาน

เพราะฉะนั้น การฟังธรรมต้องฟังโดยพิจารณาละเอียดว่า เมื่อพยัญชนะว่า รู้ว่าเราเดิน แต่ข้อความในอรรถกถามีว่า แม้สุนัขบ้าน สุนัขป่า เป็นต้น เมื่อเดินก็รู้ว่า เราเดินก็ตาม การรู้อย่างนั้นไม่ละความถือว่าเป็นสัตว์ ไม่ถอนเสียซึ่งความเข้าใจว่า เป็นตัวตน ไม่เป็นกัมมัฏฐาน ไม่เป็นการเจริญสติปัฏฐาน

จนกว่าจะรู้ตามความเป็นจริงว่า

ในคำเหล่านั้นมีเนื้อความว่า คำว่า ใครเดิน คือ ไม่มีสัตว์หรือบุคคลใดๆ เดิน

เมื่อไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลที่เดินอย่างที่เคยคิด เคยเข้าใจ การที่เดินแต่ละครั้ง ย่อมมีสภาพธรรม ซึ่งข้อความในอรรถกถาแสดงว่า เดินเพราะอะไร คือ

เดินเพราะความแผ่ไปแห่งธาตุลม อันเกิดขึ้นด้วยการกระทำของจิต

หมายความว่า การเดินจะมีได้ก็ต่อเมื่อมีจิตเป็นสมุฏฐาน ถ้ารูปใดไม่มีจิตเป็นสมุฏฐาน รูปนั้นจะเดินไม่ได้ โต๊ะเก้าอี้เดินไม่ได้ แต่ที่คนเดินได้ สัตว์เดินได้ เพราะความแผ่ไปของธาตุลม อันเกิดขึ้นเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน

ถ้าไม่รู้ว่าเป็นลักษณะของธาตุดิน หรือธาตุไฟ หรือธาตุลม ย่อมไม่สามารถละการยึดถือว่าเราเดิน เพราะตามความเป็นจริง ร่างกายทั้งหมดที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา ไม่ว่าจะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน ก็เป็นแต่เพียงธาตุต่างๆ ซึ่งประชุมรวมกัน และในขณะที่เดินเพราะธาตุลมแผ่ไป ซึ่งธาตุลมนั้นเกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน

ถึงในคำเหล่านั้นก็มีเนื้อความว่า จิตเกิดขึ้นว่า เราจะยืน จิตนั่นก็ทำให้ลมเกิดขึ้น ลมก็ทำให้เกิดความไหว

เวลาที่ท่านผู้ฟังจะยืนขึ้น ปกติเคยยึดถือว่าเป็นตัวเราอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น เกือบจะไม่คิดหรือไม่พิจารณาเลยในขณะที่ยืน ก็ยืนแล้ว ใช่ไหม เพราะว่าขณะนั้นมีจิตที่ปรารถนาหรือต้องการจะยืน ทำให้ธาตุลมไหว เกิดขึ้นด้วย จิตเป็นสมุฏฐาน

ขณะที่จะนั่ง มีคำอธิบายว่า

ความฟูขึ้นแห่งกายทั้งสิ้นตั้งแต่สะเอวขึ้นไป ด้วยความแผ่ออกแห่งธาตุลม อันมีด้วยกิริยาของจิต (คือ มีจิตเป็นสมุฏฐาน) เรียกว่าการนั่ง

ในขณะนี้กำลังนั่ง ถ้าสติจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ที่ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล จะระลึกที่ไหนจึงจะเป็นการระลึกรู้ลักษณะสภาพของธาตุที่นั่ง คือ ความฟูขึ้นแห่งกายทั้งสิ้นตั้งแต่สะเอวขึ้นไป ด้วยความแผ่ออกแห่งธาตุลม

มีใครรู้สึกอย่างนี้บ้างหรือเปล่า

ไม่รู้สึกเลย เพราะอะไร

เพราะว่าธาตุลมยังไม่ได้ปรากฏ อย่าลืมว่า การอบรมเจริญสติปัฏฐานนั้น ไม่เลือก ที่จริงในขณะที่กำลังนั่งจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามีธาตุลม และที่เรียกว่านั่ง ก็ต้องตั้งแต่ส่วนที่นับจากสะเอวขึ้นไป

ความงอเข้าแห่งกายเบื้องต่ำ และความสูงขึ้นแห่งกายเบื้องบน อันมีขึ้นด้วยความแผ่ไปแห่งธาตุลมอันเกิดด้วยจิต เรียกว่าการนั่ง

ถ้ากายไม่งอเข้า ขาไม่งอ จะเป็นนั่งได้ไหม ไม่ว่าจะเป็นนั่งด้วยอาการใดๆ ทั้งสิ้น ย่อมเป็นไปไม่ได้ ย่อมเป็นเพียงอาการที่ยืน แต่เวลาที่นั่ง ความฟูขึ้นแห่งกายทั้งสิ้นตั้งแต่สะเอวขึ้นไป และ ความงอเข้าแห่งกายเบื้องต่ำ และความสูงขึ้นแห่งกายเบื้องบน อันมีขึ้นด้วยความแผ่ไปแห่งธาตุลมอันเกิดจากจิต เรียกว่าการนั่ง

ถ้าปัญญาของท่านผู้ใดเกิดขึ้น รู้ลักษณะของธาตุที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ในขณะที่กำลังนั่งจริงๆ จะประจักษ์ชัดในสภาพธรรมที่กล่าวไว้ใน อรรถกถาว่า ตรงตามความเป็นจริง จะไปรู้อย่างอื่น รู้ไม่ได้ ถ้าจะรู้ลักษณะของรูปที่นั่งในขณะนั้น จะต้องมีธาตุลมในส่วนนั้นที่ปรากฏ แต่เมื่อยังไม่ปรากฏ มีสภาพธรรมอื่นปรากฏ ยังไม่ได้คลายการยึดถือลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมซึ่งรวมกัน ยังไม่ได้แยกขาดออกจากกัน เพราะฉะนั้น ก็ย่อมไม่สามารถรู้ชัดได้ในลักษณะอาการของธาตุแต่ละธาตุ หรือว่าลักษณะของธรรมแต่ละชนิด แต่เมื่อใดที่ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงโดยการระลึกเนืองๆ แม้ว่าลักษณะของธาตุลมยังไม่ปรากฏ แต่เมื่อปรากฏ ก็จะปรากฏตรงตามที่อรรถกถาได้แสดงไว้

สำหรับในขณะที่นอน ข้อความในอรรถกถามีว่า

ความแผ่ลงทางขวางแห่งสรีระทั้งสิ้น อันมีด้วยความแผ่ไปแห่งธาตุลม อันเกิดด้วยการกระทำของจิต (คือ มีจิตเป็นสมุฏฐาน) เรียกว่านอน

เวลานอนเป็นเวลาที่ธาตุลมแผ่ไปตามขวาง ไม่ได้แผ่ไปตามความสูงเหมือนอย่างในขณะที่ยืน หรือในขณะที่นั่ง ซึ่งข้อความในอรรถกถาได้อุปมาว่า

เหมือนกับคำว่า เกวียนเดิน เกวียนหยุด ความจริงไม่มีอะไรชื่อว่าเกวียน จะเดินหรือหยุด มีแต่คนทั้งหลายเทียมโคเข้า ๔ ตัว เมื่อคนผู้ขับผู้ฉลาดขับไป เกวียนก็เดิน แล้วก็มีคำพูดว่าเกวียนเดิน ฉันใด กายเปรียบเหมือนเกวียนโดยหมายความว่าไม่รู้ ลมอันเกิดจากจิตเปรียบเหมือนโค จิตเปรียบเหมือนคนขับเกวียน

หรืออีกประการหนึ่ง พระโบราณาจารย์กล่าวไว้ว่า เรือสำเภาย่อมไปได้ด้วยกำลังลม ลูกศรย่อมไปได้ด้วยกำลังสายธนู ฉันใด กายนี้ก็ไปได้ด้วยกำลังลม ฉันนั้น จิตนี้แม้ประกอบกับเครื่องยนต์ คือ กาย ก็ไปได้ ยืนได้ นั่งได้ ด้วยอำนาจแห่งเชือก คือ ยนต์ ด้วยอำนาจแห่งเชือก คือ จิต

ถ้าไม่มีธาตุลม จะไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ ได้เลย เพราะว่าธาตุดินไหวไม่ได้ ธาตุน้ำไหวไม่ได้ ธาตุไฟไหวไม่ได้ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นในสัมปชัญญบรรพ คือ ในขณะที่กำลังบริโภคอาหาร หรือแม้ในอิริยาบถบรรพ ที่จะรู้ว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ก็เพราะสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพของธาตุต่างๆ ที่ปรากฏในขณะนั้น

ถ. ในอรรถกถาท่านอุปมาว่า จิตนี้เปรียบเหมือนคนขับเกวียน ร่างกายนี้เปรียบเหมือนเกวียน ถ้าเช่นนั้นจะเป็นจิตสั่งหรือเปล่า ที่เดินไปก็ดี นั่งก็ดี ยืนก็ดี

สุ. ถ้าศึกษาเรื่องสภาพลักษณะของจิตจะทราบว่า จิตเป็นสภาพที่มีการรู้อารมณ์เป็นลักษณะ เช่น ในขณะที่กำลังเห็น พิจารณาได้ เห็นในขณะนี้จิตสั่ง หรือเปล่า ถ้าจะว่าจิตสั่ง

ไม่ว่าจะเป็นในขณะใดทั้งสิ้น ต้องพิจารณาโดยตลอด เช่น ในขณะที่เห็น เป็นจิตหรือเปล่าที่เห็น จิตไม่ได้สั่ง แต่จิตเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา เพียง ๒ อย่างเท่านั้น คือ สิ่งที่ปรากฏทางตากับสภาพรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ที่จะรู้ชัดจริงๆ ต้องอาศัยระลึกได้ในขณะที่กำลังเห็นและน้อมไปที่จะรู้ว่า ในขณะนี้ที่มีสภาพที่ปรากฏทางตาเพราะมีธาตุรู้ หรือมีสภาพรู้

ถ้าการพิจารณาเป็นไปโดยลักษณะนี้ก็จะรู้ได้ว่า อาการรู้นั้นเป็นลักษณะของจิต ซึ่งไม่ใช่อาการสั่ง ฉันใด เวลาที่กำลังนั่งอยู่ในขณะนี้ ใครรู้ว่านั่ง ต้องมีสภาพรู้ คือ จิต นอกจากนั้นอะไรกำลังปรากฏในขณะที่นั่ง จิตเป็นสภาพรู้สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนั้น เพราะฉะนั้น ตั้งแต่เกิดจนตาย ลักษณะของจิตทุกชนิด วิชานนลกฺขณํ คือ มีลักษณะรู้อารมณ์ หรือมีการรู้อารมณ์เป็นลักษณะ จะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้เลย

โดยวิถีจิต หรือโดยขณะใดก็ตามที่กล่าวไว้โดยปัจจัยต่างๆ จิตเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ทั้งสิ้น แต่เพราะว่าจิตช่างรู้สารพัด รู้ทุกอย่าง รู้ดี รู้ทุกเรื่อง เพราะฉะนั้น จิตก็ปรุงแต่งทำทุกสิ่งทุกอย่างให้เกิดขึ้น สิ่งอัศจรรย์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ก็เกิดขึ้นเพราะจิตซึ่งเป็นสภาพรู้ หรือเป็นธาตุรู้นั่นเอง

เมื่อจิตรู้สิ่งใดก็เป็นปัจจัยให้เกิดการกระทำต่างๆ ขึ้น ตามลักษณะประเภทของจิต เช่น ถ้าโลภมูลจิตเกิดขึ้นเป็นไปในวิชาการอย่างหนึ่งอย่างใด ก็เป็นปัจจัยทำให้มีการกระทำกิจที่จะทำให้วิชาการนั้นๆ เจริญขึ้นหรือสำเร็จลุล่วงไปได้ และเมื่อเป็นจิต ก็ต้องมีลักษณะที่เป็นสภาพรู้ หรืออาการรู้ ซึ่งจะพิจารณาได้ ตรวจสอบได้กับ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้

ทางตาเห็น คือ กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏ ทางหูได้ยิน คือ กำลังรู้เสียงที่ปรากฏ ถ้ามีการรู้กลิ่น จิตกำลังรู้กลิ่น ถ้ารสกำลังปรากฏในขณะที่รับประทานอาหาร ขณะนั้นจิตก็เป็นสภาพที่ลิ้มรส ถ้าอ่อนแข็ง เย็นร้อน ตึงไหวกำลังปรากฏ จิตก็เป็นสภาพที่รู้สิ่งที่เย็นร้อน อ่อนแข็ง ตึงไหวในขณะนั้น

เปิด  226
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565