แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1145
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๒๕
ก่อนที่จะถึงปัจจัยต่อไป คือ อาหารปัจจัย ขอทบทวนกัมมปัจจัยและ วิปากปัจจัย
ในขณะปฏิสนธิ คือ ปฏิสนธิจิต โดยชาติเป็นวิบาก
ชาติ อย่าลืมว่ามี ๔ ชาติ ซึ่งจิตที่เกิดขึ้นจะต้องเป็นชาติหนึ่งชาติใดใน ๔ ชาติ คือ เกิดเป็นกุศล ๑ เกิดเป็นอกุศล ๑ เกิดเป็นวิบาก ๑ และเกิดเป็นกิริยา ๑
สำหรับปฏิสนธิจิตโดยชาติเป็นวิบาก คือ ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล และไม่ใช่กิริยา ปฏิสนธิจิตเป็นอกุศลวิบากได้ไหม ได้ เป็นกุศลวิบากได้ไหม ได้ แล้วแต่กรรมซึ่งจะทำให้ปฏิสนธิในภูมิต่างๆ พร้อมกับกัมมชรูปด้วย
ขอถามว่า ในขณะปฏิสนธิ ปฏิสนธิจิตเป็นวิบากจิต มีกัมมปัจจัยไหม
มี
เป็นกัมมปัจจัยประเภทไหน
สหชาตกัมมปัจจัย
บางท่านอาจจะสงสัยโดยชื่อว่าเป็นวิบาก ทำไมมีกัมมปัจจัยด้วย ก็เพราะว่ากัมมปัจจัยมี ๒ อย่าง คือ สหชาตกัมมปัจจัย ได้แก่ เจตนาเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวง เจตนาเจตสิกซึ่งเป็นกุศลก็อย่างหนึ่ง เจตนาเจตสิกซึ่งเป็นอกุศลก็อย่างหนึ่ง เจตนาเจตสิกที่เป็นวิบากซึ่งเกิดกับวิบากจิตก็อย่างหนึ่ง เจตนาเจตสิกที่เป็นกิริยาซึ่งเกิดกับกิริยาจิตก็อย่างหนึ่ง
และสำหรับกัมมปัจจัยอีกประเภทหนึ่ง คือ นานักขณิกกัมมปัจจัย ได้แก่ เจตนาเจตสิกซึ่งเกิดกับกุศลจิตและอกุศลจิตเท่านั้น ที่จะเป็นกัมมปัจจัยทำให้ วิบากจิตและกัมมชรูปเกิดขึ้นหลังจากที่เจตนาเจตสิกซึ่งเกิดกับกุศลจิตและอกุศลจิตนั้นดับไปแล้ว เมื่อปัจจัยและปัจจยุปบันเกิดต่างขณะกัน จึงเป็นนานักขณิกกัมมะ
เพราะฉะนั้น ปฏิสนธิจิตซึ่งเป็นวิบากจิตจึงมีกัมมปัจจัยที่เป็นสหชาตกัมมปัจจัย เพราะว่าต้องมีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย
ปฏิสนธิจิตซึ่งเป็นวิบากจิต มีนานักขณิกกัมมปัจจัยไหม
ไม่ได้ เพราะว่านานักขณิกกัมมปัจจัย ได้แก่ เจตนาเจตสิกที่เกิดกับกุศลจิตและอกุศลจิตเท่านั้นที่จะให้ผล คือ วิบากจิตและกัมมชรูปที่เกิดขึ้นภายหลัง ต่างขณะกัน จึงเป็นนานักขณิกกัมมปัจจัย
เพราะอะไร จึงไม่มีนานักขณิกกัมมปัจจัย
เพราะเป็นวิบาก ไม่ใช่กุศลจิต ไม่ใช่อกุศลจิต
ปฏิสนธิจิตเป็นวิปากปัจจัยหรือเปล่า
ปฏิสนธิเป็นวิบากจิต เพราะฉะนั้น เป็นวิปากปัจจัยแน่นอน
เป็นวิปากปัจจัยแก่อะไร
เป็นวิปากปัจจัยแก่วิปากเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกัน และรูปซึ่งเกิดพร้อมกันในขณะนั้น
อย่าลืม วิปากปัจจัยต้องเป็นนามธรรม คือ จิตและเจตสิก ที่เป็นวิปากปัจจัย เพราะว่าเกิดขึ้นเพราะนานักขณิกกัมมเป็นปัจจัย นานักขณิกกัมมปัจจัยทำให้วิบากจิตและเจตสิกเกิดร่วมกัน ทั้งจิตและเจตสิกเป็นวิบาก จะใช้คำว่า วิบากจิต วิบากเจตสิก ก็ได้ เพราะเมื่อจิตเป็นวิบาก เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยจะเป็นกุศลและอกุศลไม่ได้
วิบากเจตสิกที่เกิดพร้อมวิบากจิต ก็เกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย คือ นานักขณิกกัมมเป็นปัจจัย เพราะฉะนั้น ทั้งจิตและเจตสิกเป็นวิปากปัจจัย อาศัยกันและกันเกิดขึ้นโดยต่างเป็นวิบากด้วยกัน วิบากจิตก็เป็นวิปากปัจจัยแก่วิปากเจตสิกที่เกิดร่วมกัน และวิบากเจตสิกก็เป็นวิปากปัจจัยแก่วิบากจิตที่เกิดร่วมกัน
ก็เป็นชีวิตของทุกคนในแต่ละวัน ในแต่ละขณะ กำลังได้ยินเสียง เป็นวิบากจิตเป็นวิปากปัจจัยแก่วิบากเจตสิกที่เกิดร่วมกันและดับไป และวิบากเจตสิกซึ่งเกิดพร้อมกับวิบากจิตก็เป็นวิปากปัจจัยแก่วิบากจิตที่ได้ยินเสียงและก็ดับไปแล้ว ซึ่งทั้ง ๒ คือ ทั้งจิตและเจตสิกต้องเป็นวิบาก
ปฏิสนธิจิตเป็นวิปากปัจจัยแก่รูปอะไร
กัมมชรูป
ปฏิสนธิจิตเป็นวิบากจิต มีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เป็นสหชาตกัมมปัจจัย แก่รูปหรือเปล่า
เป็น
ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ปฏิสนธิจิตเกิดพร้อมกับกัมมชรูป กัมมชรูปที่เกิดในขณะปฏิสนธิเป็นปัจจัยหรือเปล่า
เมื่อสักครู่นี้พูดถึงเรื่องของจิต ตอนนี้พูดถึงเรื่องของรูปว่า ปฏิสนธิจิตเกิดพร้อมกับกัมมชรูป กัมมชรูปที่เกิดในขณะปฏิสนธิพร้อมกับปฏิสนธิจิตนั้น เป็นปัจจัยหรือเปล่า
ต้องเป็น ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ อย่าลืม นามธรรมจะเกิดโดยไม่อาศัยรูปไม่ได้ แม้แต่ขณะแรก คือ ในขณะปฏิสนธิ ก็จะต้องมีรูปเป็นปัจจัย เพราะฉะนั้น ในขณะปฏิสนธิ กรรมทำให้ปฏิสนธิจิตและเจตสิกซึ่งเป็นวิบากเกิดพร้อมกับกัมมชรูป ต้องพร้อมกัน ถ้าไม่พร้อมกันปฏิสนธิจะมีรูปเป็นปัจจัยได้อย่างไร ซึ่งในภูมิที่มีขันธ์ ๕ อย่าลืม ไม่ว่าจะเป็นขณะไหนทั้งสิ้น จิตจะเกิดโดยไม่อาศัยรูปไม่ได้ แม้ในขณะปฏิสนธิก็มีกัมมชรูปซึ่งเกิดพร้อมกันนั่นเอง คือ หทยวัตถุ เป็นนิสสยปัจจัยของ ปฏิสนธิจิต มิฉะนั้นแล้วปฏิสนธิจิตจะอาศัยรูปอะไรเกิดถ้ากัมมชรูปในขณะนั้นไม่เกิด และเมื่อกัมมชรูปเกิดในขณะนั้น คือ หทยวัตถุที่เกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิต ก็เป็นปัจจัยให้แก่ปฏิสนธิจิตโดยอัญมัญญปัจจัยและนิสสยปัจจัย
อัญญมัญญะ คือ ต่างอาศัยกัน เพราะว่าปฏิสนธิจิตจะเกิดโดยไม่อาศัย หทยรูปไม่ได้ และหทยรูปจะเกิดโดยไม่อาศัยปฏิสนธิจิตไม่ได้ เพราะฉะนั้น ในขณะเกิด คือ ในขณะปฏิสนธิ กัมมชรูปและปฏิสนธิจิตต่างก็เป็นอัญญมัญญปัจจัย
หทยรูปในขณะปฏิสนธิเป็นปุเรชาตปัจจัยหรือเปล่า
ไม่เป็น
ทำไมหทยวัตถุที่เกิดพร้อมปฏิสนธิจิตไม่เป็นปุเรชาตปัจจัย
เพราะเกิดพร้อมกัน จึงไม่ใช่ปุเรชาตปัจจัย
ถ้าเป็นปุเรชาตปัจจัย หมายความว่ารูปต้องเกิดก่อน แต่ในขณะปฏิสนธิ ยกเว้น ขณะเดียวเท่านั้นที่รูปเป็นปัจจัยโดยเกิดพร้อมกัน หลังจากนั้น รูปทุกรูปที่จะเป็นปัจจัยได้ต้องเกิดก่อนนามธรรม
กัมมชรูปที่เกิดพร้อมปฏิสนธิจิตเป็นปัจจยุปบันของปัจจัยอะไร ชื่อกัมมชรูป จะเกิดเพราะอะไรเป็นปัจจัย ต้องเพราะกรรมเป็นปัจจัย ใช่ไหม จึงจะเป็นกัมมชรูป เพราะฉะนั้น กัมมชรูปที่เกิดพร้อมปฏิสนธิจิตเป็นปัจจยุปบันของปัจจัยอะไร
ของกัมมปัจจัย
ของนานักขณิกกัมมปัจจัยได้ไหม
กัมมปัจจัยมี ๒ คือ สหชาตกัมมปัจจัยและนานักขณิกกัมมปัจจัย เพราะฉะนั้น กัมมชรูปที่เกิดพร้อมปฏิสนธิจิต ชื่อบอกแล้วว่าเป็นกัมมชรูป เพราะฉะนั้น ต้องเกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน คือ ต้องเกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย แต่กัมมปัจจัยมี ๒ อย่าง คือ สหชาตกัมมปัจจัย ๑ และนานักขณิกกัมมปัจจัย ๑ เพราะฉะนั้น กัมมชรูปที่เกิดพร้อมปฏิสนธิจิตเป็นปัจจยุปบันของปัจจัยอะไร ของกัมมปัจจัยนั้นแน่นอน แต่ว่า กัมมปัจจัยประเภทไหน
ผู้ฟัง สหชาตกัมมปัจจัย และนานักขณิกกัมมปัจจัยด้วย
สุ. ถูกต้อง
คือ กัมมชรูปที่เกิดพร้อมปฏิสนธิจิต อย่าลืม เป็นผลของกรรมที่ได้กระทำสำเร็จแล้ว ท่านผู้ฟังทุกท่านมีกัมมชรูปเกิดพร้อมปฏิสนธิจิต ทำให้เจริญเติบโตขึ้น และมีความต่างออกไปในรูปร่าง ในผิวพรรณ ในทรวดทรง ทุกขณะที่จิตเกิด กัมมชรูปจะเกิดทั้งในอุปาทขณะของจิต ในฐีติขณะของจิต และในภังคขณะของจิต โดยกรรมเป็นสมุฏฐาน ไม่มีใครจะยับยั้งได้เลย จะไปเปลี่ยนแปลง จะไปทำอย่างไร ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะต้องเป็นไปตามกรรม เพราะฉะนั้น กัมมชรูปที่เกิดพร้อม ปฏิสนธิจิตเป็นผลของกรรมหนึ่งซึ่งอาจจะเป็นกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมก็ได้ ทำให้ปฏิสนธิจิตเป็นวิบากจิตเกิดพร้อมกับวิบากเจตสิก และกัมมชรูปซึ่งเกิดเพราะกุศลกรรมนั้นหรืออกุศลกรรมนั้นเป็นปัจจัยทำให้รูปนั้นเกิดขึ้น แต่เพราะว่ากัมมชรูปในขณะแรกที่จะเกิดย่อมเกิดไม่ได้ถ้าปราศจากปฏิสนธิจิต อยู่ดีๆ จะให้กัมมชรูปเกิดขึ้นมา เป็นไปไม่ได้ถ้าปฏิสนธิจิตไม่เกิด เช่น ในขณะนี้ จะให้กัมมชรูปไปเกิดข้างนอกเหมือนอย่างต้นไม้ใบหญ้า นั่นไม่ใช่กัมมชรูป แต่ที่เป็นกัมมชรูปที่จะเกิดขึ้นได้ในขณะแรก ต้องเกิดโดยอาศัยปฏิสนธิจิตเป็นปัจจัย
เพราะฉะนั้น สหชาตกัมมปัจจัย คือ เจตนาเจตสิกที่เกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิตเป็นสหชาตกัมมปัจจัยทำให้กัมมชรูปเกิด โดยเกิดพร้อมกับเจตนาเจตสิกซึ่งเกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิต จึงเป็นสหชาตกัมมปัจจัย
ถ้าพิจารณาโดยละเอียดๆ บ่อยๆ จะไม่ลืม และจะเข้าใจเรื่องของสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ ไม่ว่าจะเป็นในปฏิสนธิขณะหรือในปวัตติกาล คือ หลังจากที่ปฏิสนธิแล้ว ก็สามารถที่จะแยกได้โดยทราบว่า กัมมชรูปเป็นรูปที่เกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย เกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิต แม้ว่าเป็นกัมมชรูปซึ่งเกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัยก็จริง แต่ขณะแรกที่จะเกิดในภพหนึ่งชาติหนึ่ง ต้องอาศัยปฏิสนธิจิต
เพราะฉะนั้น สหชาตกัมมปัจจัย คือ เจตนาเจตสิกที่เกิดพร้อมปฏิสนธิจิตเป็นปัจจัยแก่กัมมชรูป แต่โดยเป็นสหชาตกัมมปัจจัยเท่านั้น ไม่ใช่นานักขณิกกัมมปัจจัย
ถ้าท่านผู้ฟังกลับไปทบทวน คิดพิจารณาไปเรื่อยๆ ทีละปัจจัย คงจะเกื้อกูลต่อการศึกษาเรื่องของจิตปรมัตถ์ เจตสิกปรมัตถ์ และรูปปรมัตถ์ต่อๆ ไป เพราะโดยนัยของการปฏิบัติ หลังจากนามรูปปริจเฉทญาณแล้ว ก็จะถึงปัจจยปริคคหญาณ
การที่สามารถจะละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ไม่ใช่เพียงรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมหรือลักษณะที่เป็นรูปธรรม แต่กิเลสนี้ลึกและเหนียวแน่นมาก เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยความรู้อื่นที่จะปรุงแต่งให้ละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน โดยสามารถรู้ถึงสภาพที่เป็นปัจจัยของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏนั้นด้วยจึงจะเห็นได้ว่า ถ้าปราศจากปัจจัย สภาพธรรมแต่ละอย่าง ย่อมเกิดไม่ได้
สำหรับปัจจัย ๒๔ อรรถกถาปัญจปกรณ์ วรรณนาเนื้อความแห่ง ปัจจยุทธาระ วินิจฉัยในปัจจนียนัย มีข้อความที่แสดงว่า ปัจจัย ๒๔ สงเคราะห์ ลงในปัจจัย ๘ ปัจจัย คือ อารัมมณปัจจัย ๑ สหชาตปัจจัย ๑ อุปนิสสยปัจจัย ๑ ปุเรชาตปัจจัย ๑ ปัจฉาชาตปัจจัย ๑ กัมมปัจจัย ๑ อาหารปัจจัย ๑ อินทริยปัจจัย ๑
แต่ใน อภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา ปริจเฉทที่ ๘ อธิบายปัจจัย ๒๔ แสดงว่า ปัจจัยทั้งหมดรวมอยู่ใน ๔ ปัจจัย คือ อารัมมณปัจจัย ๑ อุปนิสสยปัจจัย ๑ กัมมปัจจัย ๑ และอัตถิปัจจัย ๑
คือ ย่อลงไป สำหรับปัจจัย ๒๔ ถ้าจะรวมในปัจจัย ๘ ปัจจัยก็ได้ หรือ สำหรับ อภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา ย่อลงไปจาก ๘ ปัจจัยอีก คือ เพียง ๔ ปัจจัยเท่านั้น
ชอบอย่างไหน อย่างย่อๆ หรือว่าอย่างละเอียดๆ แต่ถ้าละเอียดก็ทำให้เห็นสภาพความเป็นปัจจัยละเอียดขึ้น
ที่แสดงว่า ปัจจัย ๒๔ ทั้งหมดโดยสังเขปมีอยู่ ๔ อย่างเท่านั้น คือ รวมอยู่ในอารัมมณปัจจัย อุปนิสสยปัจจัย กัมมปัจจัย และอัตถิปัจจัย ก็เพราะว่า สภาพธรรมถึงแม้ว่าจะเป็นจิตซึ่งมีจริง ทุกคนมีจิตในขณะนี้ เจตสิกก็มีจริง รูปก็ไม่ใช่ มีแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือเสียง หรือกลิ่น หรือรส หรือโผฏฐัพพะเท่านั้น แต่รูปมีถึง ๒๘ ประเภทก็ตาม หรือแม้นิพพานเป็นสิ่งที่มีจริงก็ตาม แต่ถ้าไม่ปรากฏเป็นอารมณ์ ย่อมไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ ไม่มีใครสามารถที่จะศึกษารู้ลักษณะของ สภาพธรรมเหล่านั้นได้ว่า สภาพธรรมนี้เป็นรูป สภาพธรรมนั้นเป็นจิต สภาพธรรมนี้เป็นเจตสิก หรือสภาพธรรมนั้นเป็นนิพพาน เพราะฉะนั้น ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของปรมัตถธรรมไว้ทั้งหมด ก็เพื่อให้เป็นอารมณ์ คือ เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏและพิสูจน์ได้ เพราะฉะนั้น สภาพธรรมทั้งหมดจึงเป็นอารัมมณปัจจัย
สำหรับอุปนิสสยปัจจัย ก็โดยที่ว่า แต่ละบุคคลไม่สามารถที่จะฝืนการสะสมของแต่ละบุคคลได้ คนที่สะสมโลภะไว้มากจะเห็นได้ว่า เป็นผู้ที่พอใจไปเสียทุกอย่าง สนุกสนานร่าเริง ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เพราะว่าสะสมอุปนิสัยที่จะเป็นอย่างนั้น เป็นผู้ที่มากด้วยโลภะ หรือเป็นผู้ที่มากด้วยโทสะ หรือเป็นผู้ที่มากด้วยโมหะ หรือเป็นผู้ที่มากด้วยศรัทธา หรือเป็นผู้ที่มากด้วยปัญญา หรือเป็นผู้ที่มากด้วยมานะ หรือเป็นผู้ที่มากด้วยทิฏฐิ ซึ่งก็แล้วแต่การสะสมซึ่งเป็น อุปนิสัย ไม่สามารถฝืนที่จะให้ธรรมประเภทอื่นซึ่งไม่ได้สะสมมาเกิดขึ้น
บางท่านเห็นทิฏฐิ ความเห็นผิดของบุคคลอื่น ก็อยากเกื้อกูลช่วยเหลือให้เขาเบาบางจากความเห็นผิด หรือว่าพ้นจากความเห็นผิดนั้นๆ แต่อย่าลืมอุปนิสสยปัจจัย แม้แต่พระผู้มีพระภาคเองก็ยังไม่ทรงสามารถแก้ไขได้ นอกจากทรงแสดงพระธรรมเพื่อให้เป็นอุปนิสสยปัจจัยที่จะสะสมต่อไป ที่จะทำให้ละคลายความเห็นผิดนั้นลง แต่ต้องอาศัยอุปนิสสยปัจจัยที่แต่ละบุคคลจะเป็นบุคคลต่างๆ กัน
สำหรับกัมมปัจจัย จะเห็นได้ว่า ความเป็นไปของโลก ถ้าจะกล่าวโดยกว้าง หรือจะกล่าวโดยแต่ละบุคคลก็ตาม ย่อมมีกรรมเป็นเหตุ แม้แต่การเกิดขึ้นก็ยังเลือก ที่เกิดไม่ได้ว่าจะเกิดที่ไหน และชีวิตแต่ละขณะต่อๆ ไปก็ไม่สามารถเลือกได้ว่า ไม่อยากจะได้ยินเสียงอย่างนี้ ขออย่าให้ได้ยิน ก็ไม่ได้ ต้องแล้วแต่กรรมซึ่งเป็นเหตุ เพราะฉะนั้น โลกย่อมหมุนไป เป็นไปแต่ละขณะ โดยมีกรรมเป็นเหตุ
สำหรับอัตถิปัจจัย ยังไม่ได้กล่าวถึง แต่ก็หมายความว่า สภาพธรรมที่มีเป็นปัจจัยให้สภาพธรรมอย่างอื่นมีขึ้น หรือว่าเกิดขึ้นในขณะนั้น