แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1146

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๒๕


สำหรับใน อรรถกถาปัญจปกรณ์ ที่แสดงว่า ปัจจัย ๒๔ สงเคราะห์ลงในปัจจัย ๘ ปัจจัย ก็เพิ่มเติมจากข้อความใน อภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา คือ นอกจากอารัมมณปัจจัย อุปนิสสยปัจจัย กัมมปัจจัย ส่วนที่ต่างกัน คือ สำหรับ ๘ ปัจจัยใน อรรถกถาปัญจปกรณ์ ไม่มีอัตถิปัจจัย แต่เป็นสหชาตปัจจัย ปุเรชาตปัจจัย ปัจฉาชาตปัจจัย อาหารปัจจัย และอินทริยปัจจัย

สำหรับอัตถิปัจจัย ก็รวมความหมายของปัจจัยอื่นๆ ไว้ เช่นเดียวกับ สหชาตปัจจัย เพราะว่าสภาพธรรมที่เกิดอาศัยกันเกิดขึ้น ไม่สามารถเกิดขึ้นแต่เฉพาะอย่างเดียวตามลำพังได้ เช่น จิตจะเกิดได้ต้องอาศัยเจตสิกเป็นสหชาตปัจจัย หรือมหาภูตรูปหนึ่งมหาภูตรูปใดที่จะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องอาศัยมหาภูตรูปอื่นเป็นสหชาตปัจจัย คือ ต้องเกิดพร้อมกัน แสดงให้เห็นความเป็นสังขารธรรมของสภาพธรรมทั้งหลายซึ่ง ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

เพราะฉะนั้น การที่จะเห็นสภาพธรรมว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ก็เพราะเห็นสภาพที่เป็นสหชาตปัจจัย คือ ต้องอาศัยกันเกิดขึ้นนั้นเอง

สำหรับปัจจัยที่เพิ่มขึ้น คือ ปุเรชาตปัจจัยและปัจฉาชาตปัจจัย แสดงให้เห็นความต่างกันโดยกาลของการเป็นปัจจัยของนามธรรมและรูปธรรมเพื่อไม่ให้เข้าใจผิด ซึ่งการที่จะไม่เข้าใจผิดต้องตรงกับการปฏิบัติ คือ การอบรมเจริญปัญญาด้วย จึงสามารถรู้ตามความเป็นจริงไม่เข้าใจผิด เช่น รูปที่จะเป็นปัจจัยแก่นาม รูปนั้นต้อง เกิดก่อนจึงจะเป็นปุเรชาตปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นโดยเป็นที่อาศัย หรือว่าโดยเป็นอารมณ์ ก็ตาม

เพราะฉะนั้น อย่าเข้าใจผิดคิดว่า จิตสั่งให้รูปเกิด เพราะถ้าเป็นจิตสั่ง อะไรเกิดก่อน นามธรรมก็ต้องเกิดก่อน ใช่ไหม แต่นี่ไม่ใช่ เพราะว่ารูปซึ่งจะเป็นปัจจัยแก่จิต ต้องเป็นโดยปุเรชาตปัจจัย และสำหรับปัจฉาชาตปัจจัย คือ นามธรรมเป็นปัจจัยแก่รูปธรรมทั้งหลายโดยเกิดภายหลังรูป เป็นปัจจัยโดยอุปถัมภ์รูปซึ่งเกิดแล้ว

สำหรับปัจจัยที่เพิ่มขึ้นอีก ๒ ปัจจัย ใน อรรถกถาปัญจปกรณ์ คือ อาหารปัจจัยและอินทริยปัจจัย

ปัจจัยที่ต่อจากกัมมปัจจัย คือ ปัจจัยที่ ๑๕ อาหารปัจจัย เป็นชีวิตประจำวัน ชินตั้งแต่เกิดจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ แต่ลืมความสำคัญของอาหารว่า เป็นปัจจัยที่สำคัญปัจจัยหนึ่งซึ่งปราศจากไม่ได้เลย ถ้าปราศจากอาหารที่รับประทานหรือว่าบริโภค ชีวิตย่อมดำรงอยู่ต่อไปไม่ได้ และมีใครในวันหนึ่งๆ ที่คิดถึงเรื่องปัจจัยของชีวิตบ้างไหม แต่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมโดยประการทั้งปวงที่จะให้เห็นว่า ชีวิตตามความ เป็นจริงเป็นธรรม ไม่ได้ต่างกันเลย เพราะฉะนั้น พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงทรงแสดงเรื่องของสภาพธรรมต่างๆ ว่า สภาพธรรมใดเป็นปัจจัยอย่างไร

สำหรับ อาหารปัจจัย

ที่ชื่อว่าอาหาร เพราะว่านำมาซึ่งผลของตน และเป็นธรรมที่ค้ำจุนอุปถัมภ์แก่นามธรรมและรูปธรรมโดยการสืบต่อไม่ให้ขาดสาย

คือ ต้องอาศัยธรรมที่เป็นอาหาร เพื่อการดำรงสืบต่อไปอยู่เรื่อยๆ โดยไม่ ขาดสาย

สำหรับธรรมที่เป็นอาหารปัจจัย มี ๒ ประเภท คือ รูปอาหาร ๑ และ นามอาหาร ๑

รูปอาหารปัจจัย ได้แก่ กพฬิงการาหาร คือ อาหารที่เป็นคำซึ่งบริโภคอยู่ทุกวันนี้เป็นปัจจัยแก่ร่างกาย

นามอาหาร มี ๓ อย่าง ได้แก่ ผัสสเจตสิกเป็นผัสสาหาร เจตนาเจตสิกเป็นมโนสัญเจตนาหาร และจิตทั้ง ๘๙ ดวง เป็นวิญญาณาหาร

มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มูลปริยายวรรค สัมมาทิฏฐิสูตร มีข้อความเรื่องอาหารปัจจัยว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้น ท่านพระสารีบุตรเรียกภิกษุทั้งหลายแล้ว ภิกษุพวกนั้นรับคำท่านพระสารีบุตรแล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวคำนี้ว่า

ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ที่เรียกว่าสัมมาทิฏฐิๆ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ อริยสาวกจึงชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นดำเนินไปตรงแล้ว ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้

พวกภิกษุกล่าวว่า

ดูกร ท่านผู้มีอายุ พวกกระผมมาจากที่ไกล ก็เพื่อจะรู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งภาษิตนี้ในสำนักของท่านพระสารีบุตร พวกกระผมขอโอกาส เนื้อความแห่งภาษิตนี้จงแจ่มแจ้งแก่ท่านพระสารีบุตรเถิด ภิกษุทั้งหลายได้ฟังต่อท่านพระสารีบุตรแล้ว จักทรงจำไว้

ท่านพระสารีบุตรตอบว่า

ถ้าอย่างนั้นจงฟังเถิด ท่านผู้มีอายุ จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว

ภิกษุพวกนั้นรับคำท่านพระสารีบุตรแล้ว

ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวคำนี้ว่า

ดูกร ท่านผู้มีอายุ เมื่อใดอริยสาวกรู้ชัดซึ่งอกุศลและรากเหง้าอกุศล รู้ชัดซึ่งกุศลและรากเหง้าของกุศล ย่อมละอวิชชา ยังวิชชาให้เกิดขึ้น … ฯลฯ แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อริยสาวกชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ …

เกี่ยวกับปัจจัยที่ได้ศึกษาแล้วหรือเปล่า กัมมปัจจัย กุศลและอกุศล ถ้าไม่รู้จะละการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลไม่ได้ เพราะว่าเป็นเราตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นกุศลกรรม หรืออกุศลกรรม แต่ถ้าทราบว่าเป็นกัมมปัจจัย เป็นเจตนาเจตสิกซึ่งเป็นอกุศลเจตนาหรือกุศลเจตนา ย่อมไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้น ท่านพระสารีบุตรจึงกล่าวว่า เมื่อใดอริยสาวกรู้ชัดซึ่งอกุศลและรากเหง้าของอกุศล รู้ชัดซึ่งกุศลและรากเหง้าของกุศล ย่อมละอวิชชา ยังวิชชาให้เกิดขึ้น … ฯลฯ แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อริยสาวกชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ

แต่คงจะไม่เพียงพอ ถ้ารู้เพียงเท่านั้นสำหรับผู้ที่ยังไม่สามารถละกิเลสได้ เพราะแต่ละบุคคลมีอุปนิสสยปัจจัยสะสมมาต่างๆ กัน บางท่านเพียงฟังคาถาสั้นๆ ก็สามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ตามความเป็นจริงได้ แต่บางท่านต้องอาศัยการฟังมากมายหลายนัย

ด้วยเหตุนี้ ข้อความต่อไป ข้อ ๑๑๒ มีว่า

ภิกษุชื่นชม อนุโมทนา แล้วก็ได้ถามปัญหาต่อไปว่า

ปริยายแม้อย่างอื่นที่อริยสาวกซึ่งชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นดำเนินไปตรงแล้ว ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้ มีอยู่หรือ

ข้อ ๑๑๓ เป็นข้อความเรื่องอาหารปัจจัย ซึ่งท่านพระสารีบุตรตอบว่า

พึงมีอยู่ ท่านผู้มีอายุ เมื่อใดอริยสาวกรู้ชัดซึ่งอาหาร เหตุเกิดแห่งอาหาร ความดับอาหาร และทางที่จะให้ถึงความดับอาหาร แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อริยสาวกชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นดำเนินไปตรงแล้ว ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้

ซึ่งใน ปปัญจสูทนี อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ สัมมาทิฏฐิสูตรที่ ๙ มีข้อความอธิบายว่า

เพราะเหตุใดพระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงอาหาร ๔ เป็นปัจจัยอีก แม้ว่าปัจจัยอื่นๆ ก็มี

คือ ปัจจัยอื่นๆ ก็มี เช่น กัมมปัจจัยก็มี วิปากปัจจัยก็มี แต่เพราะเหตุใด พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงอาหาร ๔ เป็นปัจจัยอีก

ข้อความต่อไปมีว่า

มีคำแก้ว่า เพราะเป็นปัจจัยพิเศษแห่งความสืบต่อในภายใน

อาหารมี ๔ คือ รูปอาหาร ๑ และนามอาหาร ๓ สำหรับรูปอาหารเป็นอาหารที่จะทำให้มีการสืบต่อของร่างกายต่อๆ ไป อย่าลืมว่า รูปอยู่ที่กาย ถ้าปราศจากอาหาร รูปนั้นก็ไม่สามารถสืบต่อหรือว่าดำรงต่อไปได้

ซึ่งมีคำอุปมาว่า อาหารที่บริโภคเข้าไปทำให้ร่างกายดำรงอยู่ได้

เพราะว่ากายนี้ถึงเกิดด้วยกรรมก็จริง แต่ได้รับอุปถัมภ์จากอาหารที่เป็นคำๆ จึงตั้งอยู่ได้ ๑๐ ปีบ้าง ๑๐๐ ปีบ้าง ตั้งอยู่จนตลอดอายุ

คือ ตลอดอายุต้องบริโภคอาหารอยู่เรื่อยๆ จะขาดการบริโภคอาหารไม่ได้

ข้อนี้เหมือนกับอะไร เหมือนกับทารกที่เกิดจากมารดา เมื่อพี่เลี้ยงเลี้ยงดูด้วย ให้ดื่มน้ำนม เป็นต้น ก็อยู่ได้นาน ฉันใด เรือนที่ค้ำไว้ด้วยไม้ค้ำ อยู่ได้นาน ฉันใด กายนี้ก็ฉันนั้น

เพราะฉะนั้น ที่เกิดมาแล้วจะไม่บริโภคอาหาร มีไหมในโลกนี้ ทั้งๆ ที่กรรมทำให้รูปเกิดก็จริง แต่แม้กระนั้นทุกคนก็ต้องอาศัยอาหาร คือ กพฬิงการาหาร อาหารเป็นคำๆ สำหรับที่จะให้ร่างกายนี้ดำรงอยู่ ถ้าปราศจากอาหารปัจจัยแล้ว อยู่ไม่ได้จริงๆ

ถ. เรื่องรูปอาหาร มีพระบาลีอยู่บทหนึ่งว่า โภชเน มตฺตญฺญุตา การรู้ประมาณในโภชนะ องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิก รู้แค่นี้ก็เป็นปัญญาแล้ว ผมคิดว่าปัญญานี้เกิดง่ายเหลือเกิน

สุ. ใน สุมังคลวิลาสินี อรรถกถา ทีฆนิกาย มีข้อความเรื่องของ สัมปชัญญะ ๔ ในการบริโภค มีข้อความว่า

คำว่า อสิเต หมายความว่า ในการฉัน คือ ต้องมีสัมปชัญญะทั้ง ๔ ในเวลาฉันอาหารบิณฑบาต

สัมปชัญญะ เป็นอีกคำหนึ่งของปัญญาที่จะรู้ความควรและความไม่ควร เพื่อแสดงว่า ผู้ที่มีปัญญาบริโภคอย่างไร ต่างกับผู้ที่ไม่มีปัญญา หรือว่าเหมือนกัน

ส่วนคำว่า ปีเต หมายความว่า ในการดื่ม เช่น การดื่มข้าวต้ม เป็นต้น

สำหรับคำว่า ขายิเต หมายความว่า ในการขบเคี้ยวของที่ควรขบเคี้ยว เช่น แป้งเป็นก้อน เป็นต้น

ท่านผู้ฟังอาจจะคิดว่า ทำไมต้องกล่าวละเอียด ก็เป็นเรื่องของการต้องมีสัมปชัญญะในการบริโภค ไม่ว่าจะเป็นในการดื่ม หรือในการขบเคี้ยว ไม่ใช่เว้นข้ามๆ ไปว่า ในเวลาดื่มไม่ต้องมีสัมปชัญญะ ๔ เฉพาะในเวลาขบเคี้ยวเท่านั้นต้องมีสัมปชัญญะ ๔ แต่ข้อความนี้แสดงให้เห็นว่า ในการบริโภคโดยตลอด คือ ในการดื่ม เช่น การดื่มข้าวต้ม ในการขบเคี้ยวของที่ควรขบเคี้ยว เช่น แป้งเป็นก้อน เป็นต้น

พระบาลีว่า สายิเต หมายความว่า ในการลิ้มซึ่งของอันมีโอชะ เช่น น้ำผึ้ง และน้ำอ้อย เป็นต้น

ในกรณีฉันอาหารเป็นต้นนั้น ภิกษุต้องคำนึงถึงประโยชน์ ๘ อย่าง (นี่คือ ผู้มีปัญญา) โดยนัยมีคำว่า เนว ทวาย ซึ่งแปลว่า มิใช่ฉันเพื่อเล่น เป็นต้น ชื่อว่า ประโยชน์ สมจริงตามพระบาลีปัจจเวกขณปาฐะ ว่า

เวลาภิกษุฉันอาหารบิณฑบาตนั้น ต้องพิจารณาว่า มิใช่ฉันเพื่อเล่น มิใช่ฉันเพื่อมัวเมา มิใช่ฉันเพื่อเป็นเครื่องประดับ มิใช่ฉันเพื่อตกแต่ง ฉันเพียงเพื่อให้กายดำรงอยู่ได้และให้เป็นไป เพื่อระงับเสียซึ่งความเบียดเบียนของโรค (คือ ความหิว) เพื่อที่จะมีโอกาสประพฤติพรหมจรรย์ จะกำจัดเวทนาเก่าให้หายไป ไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น ความเป็นไป ความไม่มีโทษ และการอยู่สบาย จักมีแก่เราด้วยอาการอย่างนี้

เฉพาะการที่คำนึงถึงประโยชน์ดังกล่าวนี้แล้วฉันอาหาร ชื่อว่าสาตถกสัมปชัญญะ

เพียงสัมปชัญญะที่ ๑ เท่านั้น คือ โดยเห็นประโยชน์ของอาหาร ไม่ใช่เพราะ มัวเมา หรือเพื่อตกแต่งร่างกาย หรือว่าเพื่อเล่น คือ เพื่อความอร่อย

สำหรับสัมปชัญญบรรพนั้นยังมีอีก คือ สำหรับผู้ที่มีปัญญาจะต้องรู้ต่อไปว่า

แต่ว่าในการที่จะฉันอาหารนั้น แม้คำนึงถึงประโยชน์ดังกล่าวมา ถ้าหากว่าอาหารที่จะฉันนั้นมีลักษณะเลว ดี หรือขม หวาน เป็นต้น เมื่อภิกษุฉันเข้าไปแล้ว ทำให้เกิดความไม่สบาย อาหารเช่นนั้นย่อมไม่ควรแก่ภิกษุนั้น

ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญาที่จะรู้ว่าบริโภคแล้วจะเป็นอย่างไร

อนึ่ง อาหารใดที่ภิกษุได้มาด้วยการผิดพระวินัย มีนิมิตตกรรม เป็นต้น และเมื่อภิกษุนี้ฉันอาหารใดแล้วเป็นเหตุให้อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อมลง อาหารนั้นย่อมไม่ควรแก่ภิกษุนั้นโดยแท้ อาหารที่ตรงกันข้ามดังว่ามานี้ เป็นอาหารที่สมควรพึงเข้าใจว่า การกำหนดพิจารณาถึงอาหารที่ควรและไม่ควรนั้น เรียกว่าสัปปายสัมปชัญญะ

นี่เป็นเรื่องของผู้มีปัญญา ซึ่งไม่ใช่เพียง ๒ สัมปชัญญะ ยังต้องต่อไปถึง โคจรสัมปชัญญะ และอสัมโมหสัมปชัญญะด้วย

ถ. พระเจ้าพิมพิสารเป็นถึงพระโสดาบัน ไปเที่ยวปราสาทของโชติกเศรษฐี พระเจ้าพิมพิสารเข้าไปงงหมด คือ ข้าวปายาสเปียก เขาไม่ได้เอามาให้กิน เขาเอามาให้รอง รองเสร็จแล้วเอาข้าวปายาสที่แห้งมาตั้งไว้ เพื่อให้ข้าวปายาสที่แห้งมีความร้อนอยู่เท่านั้น และพระเจ้าพิมพิสารเสวยตลอด จนกระทั่งโชติกเศรษฐีต้องห้าม ถ้าไม่ห้ามไม่ยอมหยุด จะบอกว่า พระโสดาบันไม่มีปัญญาได้อย่างไร

สุ. ตามตัวอย่างที่กล่าวแสดงถึงการหลงลืมสติของผู้ที่ยังมีอวิชชาอยู่ ไม่ต้องเทียบถึงบุคคลอื่น ท่านผู้ฟังเองในขณะใดที่หลงลืมสติ การบริโภคอาหารจะต่างกับขณะที่มีสติไหม เวลาหลงลืมสติ เห็นอาหารที่อร่อยๆ การบริโภคเป็นอย่างไร ลืม การบริโภคอาหารนั้นว่า เป็นเพียงอาหารปัจจัยที่จะทำให้ร่างกายดำรงอยู่ได้เพราะฉะนั้น สำหรับผู้ที่ยังมีปัจจัยที่จะให้หลงลืมสติ ความหลงลืมสติย่อมเกิด

ถ. เสนาสนะ ๕ มีความจำเป็นสำหรับฆราวาสหรือไม่

สุ. ควรจะดูในพระไตรปิฎก

ถ. ในพระไตรปิฎกบอกว่า มีความจำเป็นสำหรับพระภิกษุ

สุ. ถ้าท่านผู้ฟังเป็นผู้ตรงต่อพระไตรปิฎก ท่านผู้ฟังก็ทราบตามความเป็นจริงว่า ชีวิตของบรรพชิตและฆราวาสต่างกันตามเหตุ ตามปัจจัย ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น การที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ทุกคนต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่แต่ละบุคคลสะสมมาตามความเป็นจริง เมื่อสะสมมาที่จะเป็นฆราวาส ชีวิตฆราวาสเป็นอย่างไร เป็นรูปธรรมนามธรรมแต่ละขณะซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยทั้งสิ้น การเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานนอกจากจะทำให้รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแล้ว ยังทำให้รู้ปัจจัยของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น จึงสามารถละการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้

เปิด  242
ปรับปรุง  19 ต.ค. 2566