แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1147

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๒๕


ท่านผู้ฟังอย่าคิดว่า การที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของปัจจัยโดยละเอียด ซึ่งดูเสมือนว่าเป็นความยุ่งยากซับซ้อน จะปราศจากประโยชน์ แท้ที่จริงแล้วเป็นแนวทางให้ผู้อบรมเจริญปัญญาได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง จนกระทั่งสามารถละการยึดถือว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้

เช่น เรื่องของกัมมปัจจัยกับวิปากปัจจัย ท่านที่เชื่อในเรื่องกรรมและในเรื่องวิบากโดยที่ยังไม่ได้มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน จะเชื่อเพียงในเหตุและในผล เท่านั้นเอง แต่ไม่สามารถรู้ว่าขณะนี้ที่กำลังเห็น ขณะใดเป็นวิบาก และขณะใด เป็นกรรม แต่ถ้าเป็นผู้มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งกว่าจะละการยึดถือสภาพธรรมที่เคยยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้ แม้จะค่อยๆ ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมที่ต่างกับลักษณะของรูปธรรม สติจะละเอียดขึ้นจนกระทั่งสามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นวิบาก ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และรู้ความต่างกันของกุศลและอกุศลที่เกิดทางใจ จึงจะเห็นได้ว่า สภาพธรรมที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยทั้งสิ้น เมื่อเป็นสภาพธรรมแต่ละชนิดซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย จึงไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และจะเห็นตามความเป็นจริงว่า พระธรรมที่ทรงแสดงไว้ทั้งหมด เกื้อกูลต่อการละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน

ซึ่งข้อความที่ทรงแสดงไว้ทั้งหมดสามารถที่จะพิสูจน์ได้ เช่น ในขณะนี้ ท่านผู้ฟังคิดนึกด้วยหรือเปล่า

ผู้ฟัง คิด

สุ. เห็นไหม

ผู้ฟัง เห็น

สุ. ได้ยินไหม

ผู้ฟัง ได้ยิน

สุ. ได้ยินมากมายใช่ไหม ทางตาก็เห็น ทางหูก็ได้ยิน ทางใจก็คิดนึก รู้สึกแข็งหรืออ่อนบ้างไหม

ผู้ฟัง ก็รู้สึกเหมือนกัน

สุ. เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน เวลาที่สติระลึกที่แข็ง จะรู้ว่านั่นคือสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งปรากฏเมื่อกระทบสัมผัสกาย และใจที่คิด ไม่ว่าจะคิดอะไรทั้งสิ้นจะเปรียบเทียบได้ว่า ขณะนั้นต่างกับขณะที่รู้แข็ง หรือในขณะที่กำลังเห็นแม้ในขณะนี้ มีเสียงปรากฏ ถ้าสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติได้ทั่วจริงๆ จะรู้ได้จริงๆ ว่า ขณะที่ได้ยินเสียงเป็นวิบาก เป็นสภาพธรรมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ในขณะที่ใจนึกคิดต่อไป ขณะนั้นไม่ใช่วิบาก เพราะฉะนั้น สภาพธรรมทั้งหมดจะปรากฏสภาพที่ไม่ใช่ตัวตนตลอดทั้ง ๖ ทวาร ตามปกติ ตามความเป็นจริง มิฉะนั้น แล้วไม่มีทางที่จะแยกออกได้ว่า ทางตาต่างกับทางใจ ทางหูต่างกับทางใจ ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ต่างกัน

ถ. ข้อปฏิบัติที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมนั้น เบื้องต้นจะต้องมีปัญญารู้อะไร ที่จะสามารถทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

สุ. รู้ว่าสภาพธรรมไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน โดยขั้นของการฟังและโดยขั้นของการพิจารณารู้ว่า สภาพธรรมที่จะปรากฏว่าเป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนนั้น ที่จะรู้ได้มีอยู่ ๖ ทาง คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตามปกติ ซึ่งสติจะต้องระลึก ศึกษา สังเกต พิจารณาจนกว่าจะรู้ชัดในลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรมจริงๆ

ถ. อย่างนี้ใครๆ ก็รู้อยู่แล้วโดยการศึกษาว่า สภาพธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

สุ. ขอประทานโทษ ไม่ใช่ว่า รู้กันอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าได้ฟังกันบ่อยๆ แต่ไม่ได้หมายความว่า รู้แล้ว หรือประจักษ์แจ้งแล้ว

ถ. จิตของผู้ที่บรรลุธรรม เช่น โสตาปัตติมรรคจิต เขาอธิบายว่า เกิดขึ้นครั้งเดียว ดวงเดียว เพื่อปหานกิเลส และไม่เกิดขึ้นอีกเลย อย่างนี้ใช่หรือเปล่า

สุ. ถูกต้อง จึงจะเป็นการดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ถ้าเกิดอีก ๒ – ๓ ครั้ง ครั้งที่ ๑ ก็ไม่เป็นสมุจเฉท ต้องอาศัยครั้งที่ ๒ ที่ ๓ แต่เพราะโลกุตตรมรรคดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ไม่เกิดอีกเลย จึงไม่ต้องมีโสตาปัตติมรรคเกิดขึ้นอีก เกิดเพียงครั้งเดียวในสังสารวัฏฏ์เท่านั้นเอง

ถ. ครั้งเดียวกับดวงเดียว ความหมายเหมือนกันหรือเปล่า

สุ. เหมือนกัน ขณะจิตเดียว

ถ. ขณะจิตเดียว ดวงเดียว จิตนี้สั้นมาก ผมสงสัยมากว่า จิตดวงเดียว สั้นมาก อายุของจิตคิดเป็นวินาทีก็ไม่ได้ จะปหานกิเลสได้อย่างไร

สุ. เพราะว่าจิตดวงนั้นประกอบด้วยโลกุตตรปัญญา ไม่ใช่โลกียปัญญาสภาพธรรมน่าสงสัยจริงๆ ถ้ายังไม่ประจักษ์แจ้ง เช่น การเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมในขณะนี้

ผู้ฟัง ความสงสัยที่คุณเมื่อครู่นี้พูดถึงว่า มรรคจิตเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวทำไมจึงทำให้ตัดกิเลส รู้แจ้งสภาวธรรมตามความเป็นจริงได้ ในมิลินทปัญหา ท่านอุปมาว่าเปรียบเหมือนกระดาษใบหนึ่งที่มีข้อความเขียนอยู่ในนั้น ในที่มืด คนที่ ๑ ไม่สามารถจะเห็นข้อความในกระดาษนั้นได้ แต่มีบุคคลผู้หนึ่งจุดไฟประกายวาบขึ้นมา บุคคลนั้นก็สามารถเห็นข้อความนั้นและรู้ความหมายตลอดจนแจ่มแจ้ง และไฟนั้นก็ดับ มรรคจิตนั้นอุปมาเหมือนไฟที่สว่างวาบขึ้น บุคคลที่ดูอุปมาเหมือนผู้ที่ปฏิบัติที่รู้ว่า ความหมายในหนังสือนั้น ความเป็นไปในหนังสือนั้น ตลอดจนกระทั่งรูปพรรณสัณฐานพยัญชนะในหนังสือนั้นเป็นเช่นไร และก็รู้แจ้ง แม้ว่าไฟดับแล้ว ก็ยังทรงจำหนังสือนั้นไว้ได้ นี่คืออารมณ์ของผู้ได้มรรคจิต

สุ. ที่ท่านผู้ฟังสงสัยเรื่องของโลกุตตรจิตว่า เป็นเพียงชั่วขณะจิตเดียวแต่ก็สามารถดับกิเลสได้ ก็ขณะนี้เอง เห็นไม่ใช่ขณะที่ได้ยิน ถูกไหม ลองพิจารณาดู เห็นอย่างหนึ่ง ทวารหนึ่ง ลักษณะหนึ่ง คือ มีสิ่งที่ปรากฏทางตา และไม่ใช่ว่าท่านผู้ฟังในขณะที่กำลังเห็นนี้จะไม่ได้ยิน มีได้ยินด้วย นี่คือความเล็กน้อยและความสั้นมาก แต่ว่าห่างกันหลายขณะจิต มีจิตเกิดดับมากมายหลายขณะคั่นระหว่างการเห็นกับการได้ยิน ก็ยังแยกไม่ได้เลย ยังไม่สามารถจะคาดคะเนได้ว่า สั้นกว่านี้คืออย่างไร ใช่ไหม เพราะว่าขณะนี้ยาวแล้ว ที่เห็นกับได้ยิน

โดยการศึกษาทราบว่า จิตเกิดดับมากมายหลายขณะ ยาว เพราะฉะนั้น ถ้าสั้นจริงๆ จะยิ่งกว่านี้แค่ไหน เพราะกำลังเห็นก็ยังได้ยินเหมือนพร้อมกัน แต่ว่าความจริงนั้นห่างกันยาว เพราะฉะนั้น ถ้าสั้นจริงๆ จะสั้นกว่านี้อีกได้ไหม

การแยกขาดกันระหว่างทางตาที่เห็นกับทางหูที่ได้ยิน ดูเหมือนว่าสุดวิสัยที่จะแยกได้ แต่สำหรับผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ย่อมเป็นไปได้ด้วยความชำนาญ ด้วยการที่สติมีกำลังขึ้น เพราะเมื่อมีการระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม จะเป็นได้ยินซึ่งเป็นสภาพรู้ในขณะที่เสียงปรากฏ และในขณะที่ทางตากำลังเห็น เพราะไม่ใช่มีแต่ ได้ยิน สติก็ระลึกตามสามารถที่จะรู้ว่า สภาพรู้ทางตาก็คือเห็นสิ่งที่ปรากฏ และก็มีสภาพที่รู้เสียงทางหูในขณะที่ได้ยินเสียง สติยังเกิดแทรกคั่นได้ระหว่างที่ดูเหมือนกับว่าทุกท่านในขณะนี้ทั้งเห็นและได้ยินติดกันจนเหมือนกับว่าจะแยกจากกันไม่ได้ แต่สติก็ยังสามารถระลึกรู้ลักษณะที่ต่างกันจนกระทั่งปัญญาอบรมเจริญขึ้น สามารถรู้ชัดในนามธรรมและรูปธรรมทั้งหมดทั้ง ๖ ทวารได้ จนกระทั่งสามารถประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปได้

ก็ลองเทียบดูว่า จะเป็นขณะเดียวเวลาที่โลกุตตรจิตเกิดและดับกิเลสได้ไหม เพราะว่าขณะนี้ยังดูเหมือนกับว่าเป็นขณะเดียวกันทั้งเห็นทั้งได้ยิน ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่ขณะเดียวกัน แต่ว่าการอบรมเจริญปัญญาต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติเสียก่อน

ถ. การที่โสตาปัตติมรรคจิตเกิดขึ้นแล้ว โลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ จะเกิดขึ้นอีกไม่ได้ เป็นเพราะว่าไม่มีปัจจัยของโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ หรือว่ามีปัจจัยที่ทำให้โลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์เกิดไม่ได้

สุ. ปัญญาเกิดขึ้นครั้งหนึ่งละอะไรบ้าง ตั้งแต่เริ่มต้น ใครจะกล่าวว่า สติเป็นอย่างไร จะสงสัยอยู่อีกไหมในเมื่อสติของบุคคลนั้นเกิด ก็จะต้องหมดความสงสัยในลักษณะของสติ และหมดความสงสัยในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมไป เรื่อยๆ ทีละเล็กทีละน้อย ใช่ไหม จนกว่าขณะใดที่รู้แจ้งลักษณะของนิพพานซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ดับกิเลส เมื่อนั้นจะไม่มีความเห็นผิดใดๆ เกิดขึ้นได้อีกเลย เพราะว่า ก่อนนั้นที่สติเริ่มระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมก็ค่อยๆ ละ ค่อยๆ คลายความเห็นผิด ความสงสัย และความไม่รู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมไป เรื่อยๆ แต่ยังไม่ถึงกับเป็นสมุจเฉท จนกว่าโลกุตตรจิตจะเกิดรู้แจ้งลักษณะของนิพพาน

ถ. อรรถบัญญัติและสัททบัญญัติคืออะไร

สุ. อรรถบัญญัติ คือ การรู้ความหมายของสิ่งที่ปรากฏ เช่น ทางตากำลังเห็น ไม่มีเสียง ใช่ไหม แต่ก็รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏนั้นเป็นอะไร แต่ในขณะที่ได้ยินเสียงและ รู้ความหมายของเสียง ขณะนั้นเป็นสัททบัญญัติ

ถ. โคจรรูปมี ๔ ตั้งแต่รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ ทำไมอารมณ์ต่างๆ นั้นไม่นำมาตั้งเป็นข้อบัญญัติ ทำไมไม่ตั้งรูปารมณ์เป็นรูปบัญญัติ ตั้งเฉพาะสัททบัญญัติ คือ เสียงเท่านั้น ทำไมเป็นอย่างนั้น

ผู้ฟัง จะเป็นไปได้ไหมที่ต้องมีสัททบัญญัติ เพราะว่าเสียงต้องผ่านทางภาษาอีกที เราจึงจะรู้ความหมายหรืออรรถของเสียงนั้น เพราะฉะนั้น จึงต้องมีสัททบัญญัติมากำหนดภาษา ซึ่งทั่วโลกจะใช้ภาษาที่ต่างกัน บัญญัติก็ต้องต่างกันไป ซึ่งผิดกับ ทางตา ทางกายซึ่งพอสัมผัสเราก็สามารถรู้อรรถโดยตรง แต่เสียงคงต้องไปแปลภาษาอีก ไม่ทราบว่าจะถูกหรือผิด

สุ. ถูกต้อง

ขอต่อเรื่องของอาหารปัจจัย ซึ่งในคราวก่อนได้กล่าวถึงกพฬิงการาหารว่าหมายความถึงอาหารเป็นคำๆ ที่บริโภคกันทุกวันนี้ เพื่อความตั้งอยู่ คือ เพื่อความ ไม่ขาดสายด้วยอำนาจแห่งการสืบต่อกันของนามธรรมและรูปธรรม

ท่านผู้ฟังคงจะไม่ได้คิดเลยใช่ไหมว่า ที่ท่านมานั่งฟังอยู่ได้ในขณะนี้ โดยสะดวก ก็เพราะอาหารปัจจัยที่ท่านบริโภคอยู่เป็นประจำ

โดยการไม่พิจารณาถึงสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงนี้ จะทำให้ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นปัจจัยต่างๆ แม้แต่อาหารที่บริโภคก็เป็นปัจจัยหนึ่งซึ่งจะทำให้นามธรรมและรูปธรรมตั้งอยู่ได้โดยไม่ขาดสาย คือ ด้วยอำนาจแห่งการสืบต่อกัน และเพื่ออนุเคราะห์ คือ เพื่อความเกิดขึ้นแห่งสิ่งที่ยังไม่เกิด ที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป ที่จะเกิดขึ้น ก็ต้องอาศัยอาหารนั่นเองอนุเคราะห์ให้รูปร่างกายดำรงอยู่

พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องอาหาร เพื่อให้พิจารณาสภาพธรรมตามความเป็นจริงโดยประการต่างๆ โดยละเอียด ซึ่งข้อความใน ปปัญจสูทนี อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มีข้อความที่แสดงเรื่องของอาหารว่า

คำว่า อาหารที่เป็นคำๆ ได้แก่ อาหารที่กระทำให้เป็นคำๆ แล้วจึงกลืนกิน

ท่านที่คิดว่า ทำไมต้องกล่าวหรือว่าต้องแสดงโดยละเอียด ก็ขอให้คิดว่า เป็นความจริงไหมในการบริโภคแต่ละครั้ง ต้องกระทำอาหารให้เป็นคำๆ แล้วจึงกลืนกิน มีใครที่จะไม่ทำให้เป็นคำๆ และบริโภคได้ไหม ไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น อาหารที่กระทำเป็นคำๆ แล้วกลืนกินนั้น เป็นกพฬิงการาหาร

คำนี้หมายเอาโอชาอันมีข้าวสุกและขนมสด เป็นต้น เป็นวัตถุ คือ เป็นอาหารที่บริโภค

แต่ว่าอาหารที่บริโภคมีทั้งอาหารที่หยาบและอาหารที่ละเอียด ซึ่งความหมายของหยาบหรือละเอียด ข้อความในอรรถกถามีว่า

เมื่อว่าตามสภาพอาหารที่เป็นคำๆ ชื่อว่าละเอียด เพราะนับเข้าในสุขุมรูป ความหยาบและความละเอียดโดยวัตถุแห่งอาหารนั้น ควรทราบด้วยการเทียบกันเป็นชั้นๆ คือ เมื่อเทียบกับอาหารของจระเข้แล้ว อาหารของนกยูงก็ชื่อว่าละเอียด

ท่านที่เลี้ยงสัตว์คงจะทราบได้ว่า สัตว์แต่ละประเภทต้องบริโภคอาหารแต่ละชนิด จะให้สัตว์ที่มีอาหารหยาบไปบริโภคอาหารที่ละเอียดก็ไม่ได้

เพราะพวกจระเข้ย่อมกลืนกินกระทั่งก้อนหิน ก้อนหินเหล่านั้นพอตกถึงท้องจระเข้ก็แหลกละเอียดไป

แต่ถ้าสัตว์ใดไม่บริโภคอาหารที่หยาบอย่างจระเข้ จะให้อาหารที่หยาบอย่างก้อนหินแก่สัตว์นั้นก็ไม่ได้

นกยูงทั้งหลายย่อมกินสัตว์ทั้งหลาย มีงู และแมลงป่อง เป็นต้น

ข้อความต่อไปก็เทียบอาหารที่หยาบและละเอียดเป็นชั้นๆ ของสัตว์โลก คือ

เมื่อเทียบกับอาหารนกยูง อาหารของหมาในก็ชื่อว่าละเอียด คือ พวกหมาในย่อมเคี้ยวกินเขาและกระดูกแม้อันทิ้งอยู่ตั้งอยู่ ๓ ปีได้ ด้วยว่าสิ่งเหล่านั้นพอชุ่มด้วยน้ำลายของหมาใน ก็อ่อนเหมือนกับหัวมัน

เมื่อเทียบกับอาหารหมาใน อาหารของช้างก็ชื่อว่าละเอียด คือ ช้างเคี้ยวกินกิ่งไม้ต่างๆ

เมื่อเทียบกับอาหารช้าง อาหารของโคป่าและกวาง เป็นต้น ก็ชื่อว่าละเอียด คือ โคป่าและกวาง เป็นต้นนั้น ย่อมกินซึ่งของที่ไม่มีแก่น มีต้นไม้และใบไม้ต่างๆ เป็นต้น

เมื่อเทียบกับอาหารของสัตว์เหล่านั้น อาหารของโคบ้านก็ชื่อว่าละเอียด เพราะโคบ้านกินหญ้าสดและหญ้าแห้ง

เมื่อเทียบกับอาหารของโคบ้าน อาหารของกระต่ายก็ชื่อว่าละเอียด

เมื่อเทียบกับอาหารของกระต่าย อาหารของนกก็ชื่อว่าละเอียด

เมื่อเทียบกับอาหารของนก อาหารของคนบ้านนอกที่อยู่ปลายเขตแดนก็ชื่อว่าละเอียด

เมื่อเทียบกับอาหารของผู้ที่อยู่ปลายเขตแดน อาหารของผู้กินบ้านกินเมือง (ซึ่งคงจะหมายถึงผู้ที่เป็นเจ้าเมือง) ก็ชื่อว่าละเอียด

เมื่อเทียบกับอาหารของผู้กินบ้านกินเมือง อาหารของพระราชาและ มหาอำมาตย์ก็ชื่อว่าละเอียด

เมื่อเทียบกับอาหารของพระราชาและมหาอำมาตย์ อาหารของจักรพรรดิก็ชื่อว่าละเอียด

เมื่อเทียบอาหารของจักรพรรดิ อาหารของภุมเทวดาก็ชื่อว่าละเอียด

การที่อ่านจากอรรถกถาให้ฟังเพื่อท่านผู้ฟังที่ไม่ได้อ่านเอง จะได้ทราบข้อความที่เกี่ยวกับอาหาร เพราะว่าจะอยู่ในอรรถกถาตอนนั้นบ้างตอนนี้บ้าง

ข้อความต่อไปแสดงเรื่องโอชา คือ รูปที่จะทำให้เกิดรูปร่างกายว่า ในวัตถุใดมีโอชาหยาบ ในวัตถุใดมีโอชาละเอียด

ข้อความมีว่า

ก็ในข้อนี้มีเนื้อความว่า โอชาในวัตถุหยาบมีอยู่น้อย ไม่มีกำลัง ส่วนโอชาในวัตถุละเอียดมีกำลัง จริงอย่างนั้น ผู้ดื่มข้าวต้มแม้เต็มกระบวยสักประเดี๋ยวก็หิว ผู้ใคร่จะกินสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ได้ดื่มเนยใสแม้เพียงซองมือหนึ่ง ก็ไม่อยากกินอะไรตลอดวัน คือ อิ่มอยู่ตลอดวัน

วัตถุในอาหารนั้น ย่อมบรรเทาความกระวนกระวายได้ แต่ไม่อาจรักษาชีวิตไว้ได้ โอชารักษาชีวิตไว้ได้ แต่ไม่อาจบรรเทาความกระวนกระวายได้ เมื่อรวมสิ่งทั้งสองเข้าด้วยกัน จึงบรรเทาความกระวนกระวายได้ด้วย รักษาชีวิตได้ด้วย

นี่เป็นเหตุที่ต้องบริโภคอาหารที่เป็นคำๆ แม้ว่าโอชาจะมีอยู่เพียงเล็กน้อยในอาหารที่บริโภคกันครั้งหนึ่งๆ

เปิด  236
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565