แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1149
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๒๕
ข้อความต่อไป แสดงถึงเวลาที่เป็นฤดูฝนก็ต้องเหยียบย่ำจมลงไปในโคลนเลน จนถึงเนื้อปลีแข้ง มือหนึ่งต้องถือบาตร อีกมือหนึ่งก็ต้องยกจีวร แต่ถ้าเป็นฤดูร้อนก็ต้องเที่ยวไปทั้งๆ สรีระอันเกลื่อนกล่นไปด้วยฝุ่นและละอองหญ้าเพราะกำลังลมพัด
ครั้นถึงประตูบ้านนั้นๆ จำต้องเห็นและบางทีก็เหยียบหลุมโสโครกและบ่อน้ำคร่ำอันเจือปนด้วยน้ำซาวข้าว น้ำลาย น้ำมูก มูลสุนัขและสุกร เป็นต้น
ทุกบ้าน เดินก็ต้องระวัง ใช่ไหม ตามสนาม เพราะฉะนั้น ถ้ายิ่งออกไปข้างนอก ก็ยิ่งต้องระวังมาก
เกลื่อนกล่นไปด้วยหมู่หนอนและแมลงวันหัวเขียว เป็นแดนซึ่งแมลงวันบ้านตั้งขึ้น เที่ยวจับเกาะที่ผ้าสังฆาฏิบ้าง ที่บาตรบ้าง ที่ศีรษะบ้าง แม้เมื่อพระโยคีเข้าไปสู่เรือนแล้ว บางพวกก็ถวาย บางพวกก็ไม่ถวาย แม้เมื่อถวาย บางพวกก็ถวายภัตรที่สุกแต่วานนี้บ้าง ของเคี้ยวที่เก่าบ้าง ขนมถั่วและแกงเป็นต้นที่บูดแล้วบ้าง ฝ่ายพวกที่ไม่ให้ก็พูดว่า โปรดสัตว์ข้างหน้าเถิดเจ้าข้า ฝ่ายบางพวกก็นิ่งเสียเป็นดุจไม่เห็น บางพวกก็ทำพูดกับคนอื่นเสีย บางพวกซ้ำด่าด้วยคำหยาบ เป็นต้นว่า อ้ายหัวโล้น จงไปเสีย ถ้าเป็นอย่างนี้ พระโยคีก็จำต้องเที่ยวไปบิณฑบาตในบ้าน แล้วจึงออกมา ดุจคนกำพร้า
ใช้คำว่า พระโยคี แต่ไม่ได้อยู่ป่าที่ไหน เพราะหมายความถึงผู้บำเพ็ญเพียร ผู้อบรมเจริญสติปัฏฐาน ผู้มีปกติอบรมระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจตามปกติ โดยการไปบิณฑบาตเป็นปกติ
ข้อความต่อไปแสดงถึงขณะที่กำลังบริโภค ซึ่งท่านผู้ฟังจะพิจารณาเห็นถึงความเป็นปฏิกูลในขณะที่บริโภคได้
ข้อความในอรรถกถามีว่า
อนึ่ง เหงื่อหลั่งออกตามง่ามนิ้วมือทั้ง ๕ ของพระโยคี ผู้หย่อนมือลงไปขยำอยู่ แม้ภัตรที่แห้งแข็งก็ให้ชุ่ม ทำให้อ่อนได้ ภายหลังเมื่ออาหารนั้นมีความงามอันสลายแล้ว แม้เพราะเหตุสักว่าขยำทำเป็นคำๆ วางไว้ในปาก ฟันล่างก็ทำกิจต่างครก ฟันบนทำกิจต่างสาก ลิ้นทำกิจต่างมือ อาหารนั้นอันสากคือฟันตำแล้ว อันลิ้นคลุกเคล้าแล้วในปากนั้น เป็นดุจก้อนข้าวเลี้ยงสุนัขในรางสุนัข
ไม่ผิดจากความจริงเลย ถ้าท่านผู้ฟังจะพิจารณาจริงๆ
น้ำลายจางใสที่ปลายลิ้นย่อมเปื้อนแต่กลางลิ้นเข้าไป น้ำลายข้นย่อมเปื้อนมูลฟันในที่ซึ่งไม้ชำระไม่ถึงย่อมเปื้อน
จริงไหม ชีวิตประจำวัน ฟันทุกซี่ บางซี่ไม้ชำระฟันเข้าไม่ถึง แต่แม้กระนั้นอาหารซึ่งบริโภคเข้าไปก็ต้องไปเปื้อนซ้ำกับขี้ฟันซึ่งไม้ชำระฟันเข้าไม่ถึง
อาหารนั้นทั้งถูกบด ถูกเปื้อนอย่างนี้ หมดสี กลิ่น และเครื่องปรุงอันวิเศษในทันทีนั้น
ไม่ว่าใครจะตระเตรียม จัดอย่างสวยงามสักเท่าไร แต่เวลาที่ถูกบดถูกเปื้อน ก็ย่อมจะหมดสี กลิ่น และเครื่องปรุงอันวิเศษในทันทีนั้น
เข้าถึงความเป็นของน่าเกลียดอย่างยิ่ง ดุจรากสุนัขอันอยู่ในรางสุนัข แม้เป็นเช่นนั้นยังกลืนกินได้ เพราะล่วงคลองจักษุไปแล้ว
ทุกวันๆ เป็นอย่างนี้เอง
พระโยคีพึงพิจารณาความเป็นปฏิกูลในการบริโภค อย่างที่ว่ามานี้แหละ
นี่คือการที่จะไม่ติดในรส ไม่ใช่ให้เว้นอาหารจำพวกเนื้อ เพราะพระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องการอบรมเจริญสติปัฏฐานเพื่อละการติดในรส ในนามธรรมและรูปธรรมทั้งปวง ไม่ใช่เพียงบางส่วน เพราะบางท่านละการบริโภคเนื้อสัตว์ แต่ก็ยอมรับว่า ท่านยังติดในรสหรือในอาหารซึ่งไม่ใช่อาหารเนื้อสัตว์ เพราะฉะนั้น ท่านจึงบริโภคอาหารอย่างอื่นไม่ได้เพราะติดในอาหารที่ไม่ใช่อาหารประเภทเนื้อสัตว์นั่นเอง แต่การเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่เลือกอาหารบางประเภท หรือว่าละบางประเภท หรือยังติดประเภทอย่างอื่นอยู่ แต่ต้องละความพอใจในนามธรรมและรูปธรรมทั้งปวง
ข้อความต่อไป แสดงที่อยู่ของอาหารเมื่อบริโภคแล้ว
ก็แลอาหารนี้เข้าถึงการบริโภคอย่างนี้แล้ว เมื่อเข้าไปข้างใน เพราะเหตุที่จะเป็นพระพุทธเจ้า หรือพระปัจเจกพุทธเจ้า หรือพระเจ้าจักรพรรดิก็ตามที ย่อมมีที่อาศัยอย่างใดอย่างหนึ่งในบรรดาที่อาศัยทั้ง ๔ คือ
ปิตตาสัย ที่อาศัยคือดี ๑ เสมหาสัย ที่อาศัยคือเสลด ๑ ปุพพาสัย ที่อาศัย คือหนอง ๑ โลหิตาสัย ที่อาศัยคือเลือด ๑ ถึงคนที่มีปัญญาน้อยก็มีที่อาศัยครบทั้ง ๔ เพราะเหตุนั้น ผู้ใดที่อาศัยคือดีมาก อาหารของผู้นั้นน่าเกลียดยิ่งนัก ดุจเปื้อนด้วยน้ำมันมะซางข้น ผู้ใดที่อาศัยคือเสลดมาก อาหารของผู้นั้นดุจระคนด้วยน้ำฝักกากะทิง ผู้ใดที่อาศัยคือหนองมาก อาหารของผู้นั้นดุจระคนด้วยน้ำเปรียงเน่า ผู้ใดที่อาศัยคือโลหิตมาก อาหารของผู้นั้นน่าสะอิดสะเอียนยิ่งนักดุจระคนด้วยน้ำย้อม พระโยคีพึงพิจารณาความเป็นของปฏิกูลโดยที่อาศัย อย่างพรรณนามานี้
อาหารที่บริโภคเข้าไปต้องมีที่อยู่ที่อาศัย แล้วแต่ว่าจะไปอยู่ที่ไหน จะอาศัยที่ไหนก็มีความปฏิกูลตามลักษณะของที่อาศัยนั้นๆ แต่ว่าอาหารที่เข้าไปในร่างกายนี้อยู่นานไหม หลายชั่วโมง ความปฏิกูลไม่น้อยเลยที่อยู่ข้างใน
ข้อความต่อไป แสดงความปฏิกูลโดยความหมักหมมว่า
จะพิจารณาความเป็นของปฏิกูลโดยหมักหมมอย่างไร
อาหารนั้นระคนด้วยที่อาศัยในบรรดาที่อาศัยทั้ง ๔ เหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว เข้าไปสู่ภายในท้อง ไม่ใช่ไปหมักหมมอยู่ในภาชนะทอง หรือในภาชนะแก้วมณีและภาชนะเงิน เป็นต้น
ท้องทุกคนเหมือนกันหมด คือ ไม่ได้ทำด้วยเงิน ไม่ได้ทำด้วยทอง
ก็หากคนมีอายุ ๑๐ ปี กลืนกิน ก็ย่อมตั้งอยู่ในโอกาสอันเช่นเดียวกับหลุมคูถที่ไม่ใช่ชำระตลอด ๑๐ ปี
ที่อื่นยังมีการล้าง การขัด ไม่ว่าจะเป็นพื้นบ้าน พื้นห้อง แต่ท้องจะไม่มีการล้าง การขัดอย่างพื้นบ้านเลย เพราะฉะนั้น ถ้าคนนั้นมีอายุ ๑๐ ปี อาหารก็ย่อมตั้งอยู่ในโอกาสอันเช่นเดียวกับหลุมคูถที่ไม่ได้ชำระตลอด ๑๐ ปี
หากคนมีอายุ ๒๐ ปี ๓๐ ปี ๔๐ ปี ๕๐ ปี ๖๐ ปี ๗๐ ปี ๘๐ ปี ๙๐ ปี กลืนกิน ก็ย่อมตั้งอยู่ในโอกาสอันเป็นดุจหลุมคูถที่มิได้ชำระตั้ง ๒๐ ปี ๓๐ ปี ๔๐ ปี ๕๐ ปี ๖๐ ปี ๗๐ ปี ๘๐ ปี ๙๐ ปี กลืนกิน ถ้าหากคนมีอายุตั้ง ๑๐๐ ปี กลืนกิน ก็ย่อมตั้งอยู่ในโอกาสเช่นเดียวกับหลุมคูถซึ่งมิได้ชำระ ๑๐๐ ปี พระโยคีพึงพิจารณาความเป็นของปฏิกูลโดยความหมักหมม อย่างพรรณนามาฉะนี้
บางท่านไม่ชอบที่จะให้กล่าวถึงเรื่องปฏิกูลทั้งหลาย ดูเป็นของน่ารังเกียจ ดูเป็นของน่าเกลียด ดูเป็นของน่าละอาย ดูเป็นสิ่งซึ่งไม่ควรจะกล่าวถึง แต่ถ้าไม่กล่าวถึงก็จะขาดการพิจารณาว่า สิ่งที่บริโภคเข้าไป แท้ที่จริงแล้วทันทีที่ล่วงลำคอเข้าไปก็ปฏิกูล
ต่อไปเป็นการพิจารณาความปฏิกูลในขณะที่อาหารยังไม่ย่อย คือ ยังอยู่ ในท้อง จะมีลักษณะอย่างนี้ คือ
ก็อาหารนี้นั้นเข้าถึงความหมักหมมในโอกาสเช่นนี้ยังไม่ย่อยตราบใด หรือ กลืนกินในวันนั้นก็ดี ในวันวานก็ดี ในวันก่อนแต่นั้นก็ดี ทั้งหมดถูกแผ่นเสมหะห่อหุ้มเป็นอันเดียวกันปุดเป็นฟองฟอด ซึ่งเกิดแต่ความย่อยยับอันความร้อนแห่งไฟในกายให้ย่อยแล้ว เข้าถึงความเป็นของน่าเกลียดอย่างยิ่ง แล้วตั้งอยู่ในประเทศที่มืดมิดอย่างยิ่ง ที่ถูกอบด้วยกลิ่นแห่งซากศพต่างๆ ดุจเที่ยวไปในป่าทึบที่น่าเกลียด มีกลิ่นเหม็นยิ่งนัก ซึ่งมีประการดังกล่าวแล้วนั่นแลอยู่ตราบใด เปรียบประดุจหญ้า ใบไม้ ท่อนเสื่อลำแพน ซากงู สุนัข และมนุษย์ เป็นต้น ซึ่งตกลงในหลุมใกล้ประตูบ้านของ คนจัณฑาล อันฝนมิใช่ฤดูกาลตกรดแล้วในฤดูแล้ง ถูกความร้อนของดวงอาทิตย์ แผดเผา เดือดเป็นฟองฟอดแล้วตั้งอยู่ ฉะนั้น พระโยคีพึงพิจารณาความเป็นของปฏิกูลโดยยังไม่ย่อยอย่างนี้
ท่านผู้ฟังเคยได้ยินเสียงฟองฟอดในท้องไหม เวลาที่อาหารอยู่ข้างใน ขณะนี้ ทุกคนไม่ได้ยินเสียงที่อยู่ในท้อง แต่ถ้าเอาหูแนบลงที่ท้องของใครก็ได้ จะได้ยินเสียงของท้องอยู่ตลอดเวลา
ข้อความต่อไป แสดงถึงความเป็นปฏิกูลขณะที่ย่อยแล้วว่า
อาหารนั้นเป็นสภาพอันไฟในกายให้ย่อยแล้วในโอกาสนั้น และมิใช่จะให้เข้าถึงความเป็นทอง เป็นเงิน เป็นต้น
ไม่ได้นำสิ่งที่ดีมาเลยจากอาหาร คือ ไม่สามารถที่จะผลิตผลเป็นเงิน หรือเป็นทองได้ ไม่เหมือนธาตุทอง ธาตุเงิน เป็นต้น
แต่ก็เมื่อปุดเป็นฟองฟอดอยู่ เข้าถึงความเป็นอุจจาระยังกระเพาะอาหารเก่าให้เต็ม เปรียบดุจดินเหลืองซึ่งบุคคลที่ควรทำให้ละเอียดแล้วใส่เข้าไปในกระบอกไม้ไผ่ เข้าถึงความเป็นมูตรยังกระเพาะเบาให้เต็มอยู่ พระโยคีพึงพิจารณาความเป็นของปฏิกูลโดยย่อยแล้ว อย่างที่พรรณนามานี้
อาหารที่บริโภคแล้ว ผล ๒ อย่าง คือ อุจจาระกับปัสสาวะ สำหรับอุจจาระ คือ ยังกระเพาะอาหารเก่าให้เต็ม สำหรับปัสสาวะ คือ เข้าถึงความเป็นมูตร ยังกระเพาะเบาให้เต็มอยู่
อาหารที่บริโภคเข้าไป ท่านผู้ฟังก็ทราบโดยอาหารปัจจัยว่า ย่อมนำมาซึ่งผล ทำให้ร่างกายนี้ดำรงอยู่ เพราะฉะนั้น ผลของอาหารย่อมมี คือ โดยผล
ซึ่งข้อความในอรรถกถาต่อไปมีว่า
จะพิจารณาความเป็นของปฏิกูลโดยผลอย่างไร
ก็อาหารนั้นอันไฟธาตุย่อยอยู่โดยชอบเทียว ย่อมสำเร็จเป็นซากต่างๆ มีผม ขน เล็บ ฟัน เป็นต้น ที่ไม่ย่อยอยู่โดยชอบ ย่อมให้สำเร็จเป็นโรคตั้ง ๑๐๐ ชนิด มีหิดเปื่อย หิดด้าน คุดทะราด โรคเรื้อน ขี้กลาก วัณโรค ไอ ลงแดง เป็นต้น นี้เป็นผลของอาหารนั้น พระโยคีพึงพิจารณาความเป็นของปฏิกูลโดยผลอย่างนี้
ท่านผู้ฟังซึ่งเกิดเจ็บไข้ได้ป่วย ทราบใช่ไหมว่า เพราะอาหารเป็นปัจจัยของโรคนั้นด้วย ถ้าบริโภคอาหารที่เป็นพิษก็จะทำให้เกิดโรคต่างๆ
ความเป็นปฏิกูลของอาหารประการที่ ๙ คือ โดยหลั่งไหลออก
จะพิจารณาความเป็นของปฏิกูลโดยหลั่งไหลออกอย่างไร
คือ พิจารณาว่า ก็อาหารนี้อันบุคคลกลืนกินอยู่ เข้าไปโดยทวารช่องเดียว เมื่อจะหลั่งออกย่อมออกโดยทวารเป็นอเนก โดยประการเป็นต้นว่า ขี้ตาไหลจากตา ขี้หูไหลจากหู
อนึ่ง อาหารนี้ในสมัยที่กลืนกิน บุคคลย่อมกลืนกินแม้ทั้งด้วยบริวารเป็นจำนวนมาก แต่คราวที่ถ่ายออกเข้าถึงความเป็นอุจจาระและปัสสาวะ เป็นต้น เฉพาะคนๆ เดียวย่อมถ่ายออก
เวลาบริโภค บริโภคหลายคน สนุกสนานร่าเริง แต่เวลาที่จะถ่ายออก เฉพาะคนๆ เดียวย่อมถ่ายออก
ก็เมื่อบริโภคอาหารนั้นในวันแรก ทั้งยินดี ทั้งร่าเริง ปลื้มใจ ปลื้มจิต โปร่งใจ เกิดปีติโสมนัส พอวันที่ ๒ เมื่อจะถ่ายออก ย่อมปิดจมูก สยิ้วหน้า สะอิดสะเอียน เก้อเขิน
อนึ่ง ในวันแรกเขากำหนัดแล้วชอบใจจดจ่อ แม้สยบหมกมุ่นกลืนกินอาหารนั้น ครั้นวันที่ ๒ ค้างอยู่เพียงคืนเดียวก็เบื่อหน่าย อึดอัด ระอา รังเกียจอยู่ จึงต้องถ่ายออก เพราะเหตุนั้นท่านโบราณาจารย์จึงกล่าวว่า
อาหารเครื่องดื่มของเคี้ยวและโภชนะซึ่งมีค่ามาก เข้าโดยทวารช่องเดียว แต่หลั่งออกโดยทวารทั้ง ๙ ช่อง อาหารเครื่องดื่มของเคี้ยวและโภชนะซึ่งมีค่ามาก บุคคลมีบริวารแวดล้อมแล้วบริโภค แต่เวลาเขาจะให้ถ่ายออก ย่อมแอบแฝง อาหาร เครื่องดื่มของเคี้ยวและโภชนะซึ่งมีค่ามาก บุคคลชื่นชมบริโภคอยู่ แต่เมื่อจะให้ถ่ายออกกลับเกลียด อาหารเครื่องดื่มของเคี้ยวซึ่งมีค่ามาก โดยขังอยู่เพียงคืนเดียวเท่านั้น กลายเป็นของเน่าไปหมด ฉะนี้
พระโยคีพึงพิจารณาความเป็นของปฏิกูลโดยหลั่งไหลออก อย่างนี้
จบเรื่องของอาหารหรือยัง ความเป็นปฏิกูลของอาหาร ลองคิดดู ตั้งแต่บริโภคจนกระทั่งหลั่งออก จบหรือยัง ยัง ยังมีอีกข้อหนึ่ง คือ ข้อที่ ๑๐ ข้อสุดท้าย โดยเปื้อน รังเกียจจริงๆ อาหารที่ออกมา เมื่อหลั่งออก
จะพิจารณาความเป็นของปฏิกูลโดยการเปื้อนอย่างไร
ก็อาหารนี้แม้ในเวลาบริโภค ย่อมยังมือ ปาก ลิ้น และเพดานให้เปื้อน เพราะถูกอาหารนั้นเปื้อนอวัยวะเหล่านั้นจึงเป็นของปฏิกูล ซึ่งแม้จะล้างแล้ว ก็จำต้องล้างบ่อยๆ เพื่อขจัดกลิ่น
ติดมือนิดหน่อยก็ไม่ได้ ใช่ไหม อาหารที่บริโภค เสร็จแล้วก็ต้องล้างแล้วล้างอีก
อาหารเมื่อบริโภคเข้าไปแล้ว เช่นเดียวกับเมื่อหุงข้าวสุก แกลบ รำ ปลายข้าว เป็นต้น เดือดปุดขึ้นแล้วย่อมเปื้อนขอบปากหม้อและฝาหม้อ ฉันใด อาหารอันไฟประจำกายซึ่งไปตามสรีระทั้งร่าง เผาให้เดือดปุดเป็นฟองฟูดขึ้นมาอยู่ ย่อมยังฟันให้เปื้อนโดยความเป็นมลทิน ย่อมยังอวัยวะ มีลิ้นและเพดาน เป็นต้น ให้เปื้อนโดยความเป็นน้ำลายและเสมหะ เป็นต้น ยังตา หู จมูก ทวารหนัก เป็นต้น ให้เปื้อน โดยความเป็นขี้ตา ขี้หู น้ำมูก ปัสสาวะ อุจจาระ เป็นต้น อันเป็นเหตุให้บรรดาทวารที่ถูกเปื้อนแล้ว แม้บุคคลล้างอยู่ทุกวันๆ ก็ไม่เป็นของสะอาด ไม่เป็นของน่าฟูใจ ซึ่งเป็นที่ที่บุคคลล้างทวารบางทวารแล้ว จำต้องล้างมือด้วยน้ำอีก บุคคลล้างทวารบางทวารแล้ว ล้างมือด้วยโคมัย (คือมูลโค) ก็ดี ดินเหนียวก็ดี จุณหอมก็ดี ตั้ง ๒ ครั้ง ความเป็นของปฏิกูลก็ยังไม่หายไป พระโยคีพึงพิจารณาความเป็นของปฏิกูลโดยการเปื้อนอย่างนี้
ถ. ตามที่อาจารย์กล่าวมาอยู่ในวิสุทธิมรรค ในอาหาเรปฏิกูลสัญญา ท่านให้พิจารณาอย่างนี้ แต่พิจารณาอย่างนี้จิตสงบได้อย่างไร
สุ. ขณะที่พิจารณาเป็นอย่างไร โยนิโสมนสิการ หรือว่าพิจารณาแล้ว โทสมูลจิตเกิด
การศึกษาเรื่องกัมมัฏฐาน ไม่ว่าจะเป็นสมถกัมมัฏฐานหรือวิปัสสนากัมมัฏฐานก็ตาม จะต้องประกอบด้วยสติสัมปชัญญะที่จะระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตว่า ขณะที่พิจารณากัมมัฏฐานหนึ่งกัมมัฏฐานใด หรืออารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดก็ตามที่ปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จิตที่กำลังพิจารณานั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล
เป็นเรื่องของสติสัมปชัญญะที่จะรู้สภาพของจิตจริงๆ