แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1151
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๒๕
สุ. เรื่องสั่งเป็นเรื่องที่น่าจะหายข้อข้องใจ เพราะไม่ทราบความหมายจริงๆ ว่าสั่งคืออะไรถ้าไม่ใช่คิด ซึ่งก็เป็นขณะหนึ่งที่จิตคิด คือ รู้คำรู้เรื่องเกิดขึ้นนั่นเองเพราะฉะนั้น ต้องศึกษาลักษณะของสภาพธรรมโดยละเอียด โดยตลอด โดยถี่ถ้วน โดยรอบครอบ โดยถ่องแท้ และตรวจสอบกับสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ต้องพิจารณาธรรมที่ได้ยินได้ฟังหรือที่ได้ศึกษา แม้ว่าจะมีผู้กล่าวว่าได้ฟังจากพระโอษฐ์ก็ตาม
เพราะฉะนั้น การศึกษามีประโยชน์มาก เมื่อท่านผู้ฟังพิจารณาแล้วพิจารณาอีก เทียบเคียงแล้วเทียบเคียงอีก ไตร่ตรองแล้วไตร่ตรองอีกให้ตรงกับลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ท่านผู้ฟังทุกท่านมีสิทธิ์ที่จะพิจารณา ไม่ใช่ว่าต้องเชื่อทันทีหรือว่าต้องเข้าใจตามนั้น ซึ่งข้อความใน ปปัญจสูทนี อรรถกถา มัชฌิมนิกาย ที่ได้กล่าวถึงแล้วในคราวก่อนว่า กายเปรียบเหมือนเกวียน โดยหมายความว่าไม่รู้ ลมอันเกิดด้วยจิตเปรียบเหมือนโค จิตเปรียบเหมือนคนขับเกวียน เมื่อจิตเกิดขึ้นว่า เราจะเดิน วาโยธาตุก็ทำความไหวให้เกิดการเดินเป็นต้น ก็เป็นไปด้วยความแผ่ไปแห่งวาโยธาตุอันเกิดด้วยการกระทำของจิต ก็มีคำพูดกันว่า สัตว์เดิน สัตว์หยุด เราเดิน เราหยุด ฉันนั้นแล
เพราะฉะนั้น ต้องมีจิตที่ต้องการจะเดิน แต่ต้องคิดไหมว่า เราจะเดิน จิตที่ต้องการจะเดินมี จิตที่ต้องการจะนั่งก็มี แต่เวลาจะเดินต้องคิดทุกครั้งหรือว่าเราจะเดิน มีใครคิดบ้างไหม ไม่มี แต่แม้กระนั้นข้อความใน ปปัญจสูทนี มีว่า เมื่อจิตเกิดขึ้นว่า เราจะเดิน วาโยธาตุก็ทำความไหวให้เกิด ถ้าอ่านเผินๆ ต้องคิดว่า ทุกครั้งที่จะเดิน ก็ต้องคิด ใช่ไหม เพราะมีข้อความว่า เมื่อจิตเกิดขึ้นว่าเราจะเดิน แต่ถ้าพิจารณาตามความเป็นจริง ไม่มีใครคิดเลย จิตต้องการเดินก็เดิน จิตต้องการนั่งก็นั่ง จิตต้องการ สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็เอื้อมมือไปไม่ต้องคิดก่อนว่าเราจะเอื้อมมือ ไม่ต้องคิดก่อนว่าเราจะหยิบ ไม่ต้องคิดก่อนว่าเราจะวางหรือว่าเราจะปล่อย เป็นอย่างนั้นหรือเปล่าตามความเป็นจริง
เมื่ออ่านก็ต้องเทียบเคียงกับความเป็นจริง ซึ่งข้อความนี้หมายความว่า เมื่อจิตที่ต้องการจะเดินเกิดขึ้น ไม่ได้หมายความว่า เมื่อจิตคิดว่าเราจะเดิน เพราะฉะนั้น การถ่ายทอดคำ ต้องพิจารณาความเข้าใจของผู้ถ่ายทอดด้วย
ถ. แต่ผมพบคำว่า บังคับบัญชา ในที่อื่น ที่อาจารย์พูดวันนี้ผมเข้าใจ แต่ที่อรรถกถาอธิบายเรื่องจิตมีใช้คำว่า บังคับบัญชา สำหรับชาวบ้านทั่วๆ ไป เอื้อมมือไปเกิดจากปัจจัยหลายๆ อย่าง ไม่ได้เกิดจากจิตสั่ง แต่ในอรรถกถามีใช้คำว่า บังคับบัญชา ผมจำไม่ได้ว่า พบที่ไหน
สุ. ถ้าพบอีก คราวหน้ากรุณานำมาด้วย นี่เป็นเรื่องความเข้าใจของ ผู้ถ่ายทอดคำจากภาษาหนึ่งมาสู่อีกภาษาหนึ่ง แต่ว่าเป็นสิทธิของท่านผู้ฟังจริงๆ ที่จะพิจารณาเทียบเคียงกับความจริงว่า ขณะที่จะนั่งก็ตาม จะนอนก็ตาม จะยืนก็ตาม จะเดินก็ตาม เคยคิดกันบ้างหรือเปล่าว่า เราจะนอน เราจะนั่ง หรือว่าเมื่อจะนอนก็นอน จะนั่งก็นั่ง โดยที่ไม่ต้องนึกเป็นคำว่า เราจะนอน
ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)
สุ. วิตก ไม่จำเป็นต้องคิดเป็นคำ วิตกเจตสิกเว้นไม่เกิดกับทวิปัญจวิญญาณเท่านั้น ปัญจทวาราวัชชนจิตก็มีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วยแต่ไม่ได้คิดเป็นคำ สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต โวฏฐัพพนจิต ก็ไม่ได้คิดเป็นคำ แต่วิตกเจตสิกมีหน้าที่จรดอารมณ์ที่กำลังปรากฏ
ถ้าใช้คำว่า วิตกเจตสิก ภาษาไทยคุ้นเคยกับคำว่า คนช่างวิตก ซึ่งต้องเป็นเรื่องที่เป็นห่วงเป็นกังวลจึงได้ทำให้เกิดความวิตกขึ้นก็เลยคิดว่า วิตกเจตสิกนั้นต้องคิดและต้องกังวลหรือว่าต้องวิตก แต่ความเป็นจริง วิตกเจตสิกเป็นสภาพที่จรดในอารมณ์ที่ปรากฏ ซึ่งเจตสิกแต่ละประเภทก็มีลักษณะเฉพาะของตนๆ
ที่กล่าวถึงเรื่องอิริยาปถบรรพด้วยเพื่อแสดงให้เห็นว่า ในขณะที่กำลังบริโภคอาหารตามที่ได้กล่าวถึงแล้วก็เป็นการกระทำกิจของแต่ละธาตุ ไม่ว่าจะเป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม หรืออากาศธาตุ หรือวิญญาณธาตุ ก็ต่างกระทำกิจ ของตนๆ ฉันใด ในขณะที่นั่ง นอน ยืน เดินซึ่งเป็นอิริยาปถบรรพ ก็ฉันนั้น แม้ข้อความใน อรรถกถา ปปัญจสูทนี ก็ได้แสดงว่า ถ้ารู้ว่าเราเดิน สุนัขป่า สุนัขบ้านก็รู้ว่าเราเดิน ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น ไม่สามารถถ่ายถอนการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้ จนกว่าจะรู้ลักษณะของธาตุที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล
และในขณะที่นั่งก็ตาม นอนก็ตาม ยืนก็ตาม เดินก็ตาม เป็นลักษณะอาการของธาตุประเภทไหนบ้าง ซึ่งข้อความต่อไปใน ปปัญจสูทนี ได้แสดงธาตุในขณะที่เดินว่า
ร่างกระดูกอันสมมติว่า เป็นร่างกายนี้ ก้าวไปข้างหน้าด้วยอำนาจแห่งการกระพือแห่งวาโยธาตุ อันเกิดด้วยการกระทำของจิตอย่างนี้
ถ้าฟังตามสำนวนอรรถกถาก็เหมือนกับจิตนี้ต้องทำ ใช่ไหม แต่ความจริงก็ ทราบกันอยู่แล้วว่า รูปมี ๔ สมุฏฐาน คือ รูปบางกลุ่มบางกลาปมีกรรมเป็นสมุฏฐาน เกิดขึ้นเพราะกรรม บางกลุ่มเกิดขึ้นเพราะจิต บางกลุ่มเกิดขึ้นเพราะอุตุ บางกลุ่มเกิดขึ้นเพราะอาหาร
จักขุปสาทเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน แต่เวลาที่มีการเคลื่อนไหวเป็นอิริยาบถต่างๆ เช่น นั่งบ้าง ยืนบ้าง เดินบ้าง นอนบ้าง ในขณะนั้นต้องเพราะจิตเป็นสมุฏฐานให้กลุ่มของรูปซึ่งประกอบด้วยวาโยธาตุกระทำกิจนั้นๆ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าจิตสั่ง ไม่ใช่ว่าจิตบังคับ หรือไม่ใช่ว่าจิตต้องกระทำ แต่เมื่อจิตที่ต้องการจะมีอาการ นั้นๆ เกิดขึ้น ก็เป็นปัจจัยให้กลุ่มของรูปซึ่งประกอบด้วยวาโยธาตุเกิดขึ้นแสดงอาการ นั้นๆ คือ
เมื่อก้าวไปข้างหน้า (ซึ่งทุกท่านก็เดินอยู่เป็นประจำ) ธาตุทั้ง ๒ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ ก็ลดน้อยลงไปทุกเวลา
ธาตุดินกับธาตุน้ำเป็นธาตุที่หนัก ธาตุที่เบา คือ ธาตุไฟกับธาตุลม เพราะฉะนั้น ในขณะที่เดิน เมื่อก้าวไปข้างหน้า ธาตุทั้ง ๒ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุก็ลดน้อยลงไป
ยกเท้าข้างหนึ่งขึ้น อีก ๒ ธาตุก็หนัก ก็มีกำลังแรง
คือ เตโชธาตุและวาโยธาตุในขณะที่ยกเท้ามีกำลัง
ในเวลาที่จะวางเท้าลง เตโชธาตุและวาโยธาตุก็ลดกำลังน้อยลง อีก ๒ ธาตุ คือ ปฐวีธาตุและอาโปธาตุก็เพิ่มกำลังขึ้น
ในขณะที่ก้าวไปแต่ละครั้ง กำลังของธาตุทั้ง ๔ ก็ต่างกันไป เวลายกเท้าขึ้น ธาตุไฟกับธาตุลมมีกำลัง เวลาที่วางเท้าลงธาตุดินกับธาตุน้ำมีกำลัง
เมื่อว่าโดยปรมัตถ์แล้ว การไป การยืน การนั่ง การนอน เป็นของธาตุทั้งหลายเท่านั้น
นี่จึงจะเป็นการรู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริงที่จะกล่าวได้ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
ยังมีข้อสงสัยในเรื่องของอิริยาบถไหม ซึ่งเป็นข้อความที่สืบเนื่องมาจากในขณะที่บริโภคอาหารว่า ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคลที่บริโภคอาหาร เป็นแต่ธาตุต่างๆ กระทำกิจต่างๆ
ถ. ข้อความในอรรถกถากับข้อความในพระไตรปิฎกจะขัดกันหรือเปล่า เพราะพระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า เมื่อเดินก็ให้รู้ว่าเราเดิน เมื่อนั่งก็ให้รู้ว่าเรานั่ง แต่ในอรรถกถาท่านขยายความว่า ในขณะที่เดิน สัตว์ทั้งหลาย มีหมาป่าหรือหมาบ้าน หมาจิ้งจอกที่เดินอยู่ในป่าก็รู้ว่าเราเดิน ซึ่งการรู้อย่างนั้นไม่สามารถที่จะละตัวตนได้ เมื่อไม่สามารถจะละตัวตนได้ แต่พระผู้มีพระภาคให้เรารู้ เมื่อรู้แล้วไม่สามารถละความเป็นตัวตนได้ ให้เรารู้ทำไม
สุ. พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องรูปธรรมและนามธรรมหรือเปล่า ทรงแสดงเรื่องของธาตุทั้ง ๔ หรือเปล่า หรือว่าอรรถกถาแสดงโดยที่พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงแสดง แต่ถ้าข้อความใดในพระไตรปิฎกอาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ ท่านพระอรรถกถาจารย์ก็ได้ขยายความที่แสดงไว้ในพระไตรปิฎกให้ชัดเจนขึ้น ไม่ใช่ว่าท่านอรรถกถาจารย์ท่านปรุงแต่งข้อความต่างๆ เหล่านั้นขึ้นเอง แต่ว่าข้อความใดก็ตามในพระไตรปิฎกที่อาจจะทำให้บางท่านเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนคิดว่า ในขณะนั้นไม่ใช่เป็นลักษณะอาการของธาตุต่างๆ ควรจะเป็นเรา ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงแล้วว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา และได้ทรงแสดงลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมโดยละเอียด ก็เป็นหน้าที่ของผู้ฟังเองที่จะไม่ทอดทิ้งคำที่ทรงแสดงและนำมาประกอบกันให้เข้าใจถูกต้องด้วย ไม่ใช่ว่าแยกกันไว้คนละตอน ไม่ใช่ว่า พระผู้มีพระภาคเมื่อทรงแสดงเรื่องธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา และจะทรงแสดงว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล หรือเป็นเราอีก เพราะฉะนั้น ถ้ามีข้อความใดซึ่งอาจจะทำให้บางคนเข้าใจผิดได้ พระอรรถกถาจารย์ก็อธิบายข้อความนั้นเพื่อความชัดเจนขึ้น
สำหรับอาหารปัจจัยเป็นปัจจัยที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่เป็นรูป ได้แก่ กพฬิงการาหาร คือ อาหารที่บริโภคเป็นคำๆ หรือนามธรรมที่เป็นอาหาร ซึ่งได้แก่ ผัสสาหาร คือ ผัสสเจตสิก มโนสัญเจตนาหาร คือ เจตนาเจตสิก และ วิญญาณาหาร คือ จิตทุกดวงที่เกิดขึ้นแต่ละครั้ง ก็กระทำกิจของอาหารปัจจัย เพราะว่านำมาซึ่งผล ถ้าไม่มีอาหารผลก็เกิดไม่ได้ และเมื่อมีอาหารแล้ว ผลของอาหารย่อมต้องมี เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้ทราบว่า อาหารแต่ละประเภท คือ ทั้งรูปอาหารและนามอาหารนั้น นำมาซึ่งผลชนิดใด
ข้อความใน ปปัญจสูทนี มีว่า
ถามว่า ก็ในข้อนี้ อาหารชนิดใดนำอะไรมา
แก้ว่า อาหารที่เป็นคำๆ นำรูปอันมีโอชารูปเป็นที่ ๘ มา
ฟังดูเหมือนกับจะไม่เข้าใจ แต่ความจริงทุกท่านก็ทราบว่า ในรูปร่างกายของแต่ละบุคคลสามารถแตกย่อยรูปออกได้จนละเอียดที่สุดเล็กที่สุดเพียงใดก็ตาม กลุ่มของรูปที่ละเอียดที่สุดนั้นจะต้องมีรูปรวมกันทั้งหมด ๘ รูป ซึ่งมีโอชารูปเป็นที่ ๘เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจอย่างนี้ ก็เข้าใจคำที่อรรถกถาแก้ว่า อาหารที่เป็นคำๆ นำรูปอันมีโอชารูปเป็นที่ ๘ มา หมายความว่า เมื่อบริโภคอาหารแล้วก็ทำให้เกิดกลุ่มของรูปซึ่งเกิดเพราะอาหารนั้นเองเป็นปัจจัย และในกลุ่มของรูปซึ่งเกิดเพราะอาหารเป็นปัจจัย กลุ่มหนึ่งๆ ก็จะมีรูปรวมอยู่ด้วยอย่างน้อยที่สุด ๘ รูป
สำหรับรูปที่เกิดจากอาหาร ไม่ใช่รูปที่เกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน ไม่ใช่รูปที่เกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน ไม่ใช่รูปที่เกิดเพราะอุตุเป็นสมุฏฐาน เพราะฉะนั้น รูปที่เกิดเพราะอาหารก็มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม สี กลิ่น รส โอชา รวม ๘ รูป อย่างน้อยที่สุดในรูปที่เกิดเพราะอาหารเป็นปัจจัย
ท่านที่บริโภคอาหารไปแล้วอาจจะไม่ทราบว่า รูปวันนี้ที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นเพราะอาหารที่บริโภคไปแล้วนั่นเอง และมีรูปเกิดรวมกันอย่างน้อยที่สุดในกลุ่มที่เล็กที่สุด ๘ รูป
สำหรับนามอาหาร ๓ คือ ผัสสะเป็นผัสสาหาร เจตนาเป็นมโนสัญเจตนาหาร และจิตหรือวิญญาณเป็นวิญญาณาหารนั้น ผัสสาหารนำเวทนา ๓ มา มโนสัญเจตนาหารนำภพ ๓ มา และวิญญาณาหารนำปฏิสนธินามรูปมา
ผัสสะ ได้แก่ เจตสิกซึ่งเป็นนามธรรม กระทำกิจกระทบอารมณ์ รูปกับรูป ถึงแม้ว่าจะกระทบกันแต่ไม่นำมาซึ่งสภาพรู้ แต่ขณะใดก็ตามที่นามธรรม คือ ผัสสเจตสิกกระทบอารมณ์ ขณะนั้นย่อมนำผล คือ จิตและเจตสิกอื่นๆ ให้เกิดร่วมกัน และรู้อารมณ์ที่ผัสสะกระทบในขณะนั้น
สำหรับการนำมาของนามอาหาร มี ๒ นัย คือ โดยนัยของปฏิจจสมุปบาท นัยหนึ่ง และโดยนัยของปัจจัยอีกนัยหนึ่ง
สำหรับโดยนัยของปฏิจจสมุปบาท ผัสสเจตสิกนำมาหรือว่าเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา ๓ แต่ถ้าโดยนัยของอาหารปัจจัย ผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนาและ สัมปยุตตธรรมที่เกิดร่วมด้วย คือ จิตและเจตสิกอื่นๆ ที่เกิดพร้อมกับผัสสะในขณะนั้น
ซึ่งข้อความใน ปปัญจสูทนี มีว่า
ผัสสาหารที่มีผัสสะให้เกิดสุข เมื่อเกิดขึ้นก็นำมาซึ่งสุขเวทนา
เพียงสั้นๆ เท่านี้ ท่านผู้ฟังอาจจะคิด พิจารณา และสติปัฏฐานสามารถระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงว่า เป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะวันหนึ่งๆ ที่รู้สึกเป็นสุข เคยมีไหม ความรู้สึกเป็นสุขเกิดขึ้น พิจารณา ระลึกรู้หรือเปล่าว่าทำไมสุขจึงเกิดได้ ถ้าปราศจากผัสสเจตสิกซึ่งกระทบสิ่งที่จะทำให้เกิดสุข สุขย่อมเกิดไม่ได้ ถูกไหม เพราะฉะนั้น สุขเวทนาในขณะนั้นไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เกิดขึ้นเพราะปัจจัย คือ ผัสสะกระทบกับอารมณ์ทำให้สุขเวทนาเกิด สุขเวทนาจึงเกิด เพียงแค่นี้ก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนแล้ว แต่เวลาที่เกิดความรู้สึกเป็นสุขมักจะลืมพิจารณาว่า เพราะผัสสะกระทบกับอารมณ์สุขเวทนาจึงเกิดได้
แต่ถ้าพิจารณาไปเรื่อยๆ ในวันหนึ่งๆ จะยินดีกับผัสสะหรือว่าสุขเวทนาที่ เกิดไหม เพราะผัสสะนั้นเป็นปัจจัย เพียงผัสสะไม่กระทบอารมณ์ที่ทำให้สุขเวทนาเกิด สุขเวทนาก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น สุขเวทนาซึ่งคิดว่าสำคัญและแสวงหามากมายนั้น แท้ที่จริงแล้วขึ้นอยู่กับผัสสะที่กระทบกับอารมณ์ที่ทำให้สุขเวทนาเกิด สุขเวทนาจึงเกิดได้
สำหรับเวทนาอื่นก็โดยนัยเดียวกัน ขณะใดที่รู้สึกเป็นทุกข์ เกิดทุกขเวทนาขึ้น ถ้าไม่พิจารณาก็ลืมว่า แท้จริงที่ทุกขเวทนาจะเกิดได้ก็เพราะผัสสะกระทบกับอารมณ์ ซึ่งทำให้ทุกขเวทนาเกิดนั่นเอง ถ้าขณะนั้นผัสสะไม่กระทบกับอารมณ์ที่ทำให้ทุกขเวทนาเกิด ความรู้สึกเป็นทุกข์จะมีไม่ได้
ถ้าท่านผู้ฟังมีโรคประจำตัว เจริญสติปัฏฐานจะทราบว่า ทุกขเวทนานั้นก็เล็กน้อย ไม่ยั่งยืน เพราะว่ากำลังเป็นทุกข์อยู่ จะเจ็บจะปวดก็ตาม ได้ยินแล้ว ขณะที่ได้ยิน สติระลึก ขณะนั้นไม่เจ็บไม่ปวด ในขณะที่กำลังมีเสียงเป็นอารมณ์ เพราะขณะนั้นผัสสะไม่ได้กระทบกับอารมณ์ซึ่งจะทำให้ทุกขเวทนาเกิด ทุกขเวทนาก็เกิดไม่ได้
เพราะฉะนั้น แม้แต่ทุกขเวทนาก็ขึ้นอยู่กับผัสสะที่กระทบอารมณ์ที่จะทำให้ทุกขเวทนาเกิด ฉันใด วันหนึ่งๆ ความรู้สึกเฉยๆ อทุกขมสุข คือ ไม่สุข ไม่ทุกข์ ก็มีอยู่เป็นประจำ พร้อมที่จะให้พิจารณารู้ความจริงว่า ที่เฉยๆ ก็ไม่ใช่ว่าตั้งใจจะ เฉยเอง แต่เป็นเพราะผัสสเจตสิกกระทบกับอารมณ์ซึ่งเป็นปัจจัยให้อทุกขมสุขเวทนาเกิด ไม่ใช่กระทบกับอารมณ์ที่ทำให้สุขเวทนาเกิดหรือทุกขเวทนาเกิดนั่นเอง อทุกขมสุขเวทนาจึงเกิดได้ในขณะนั้น
สภาพธรรมทั้งหลายพร้อมที่จะให้พิสูจน์ตามความเป็นจริง แม้แต่ในเรื่องของอาหารปัจจัย ซึ่งผัสสาหารนำมาซึ่งเวทนา ๓ ทุกขณะ ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย ให้ทราบว่า ไม่ว่าจะเป็นเวทนาประเภทใดๆ ทั้งสิ้น ย่อมเกิดเพราะผัสสะเป็น อาหารปัจจัย