แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1154

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๒๕


ถ. ผมได้อ่านหนังสือของนายธนิต อยู่โพธิ์ แปลจากอรรถกถาสติปัฏฐานสูตร คัมภีร์ปปัญจสูทนี มีข้อความตอนหนึ่งที่กล่าวว่า ธรรมทั้งหลายมีผัสสะเป็นที่ ๕ผมสงสัยว่าคืออะไร

สุ. หมายความถึงเวทนา ๑ สัญญา ๑ สังขารขันธ์คือเจตนา ๑ วิญญาณขันธ์คือจิต ๑ และผัสสะ ๑

มีแสดงไว้ในหลายแห่งเหมือนกัน ซึ่งเวลาที่กล่าวถึงธรรมที่มีผัสสะเป็นที่ ๕ จะกล่าวถึง เวทนา สัญญา เจตนา วิญญาณ และผัสสะ แล้วแต่ว่าจะเป็นธรรมหมวดไหน เพราะว่าบางหมวดอาจจะตั้งต้นด้วยอวิชชา หรือว่าบางหมวดอาจจะตั้งต้นด้วยรูปขันธ์ แต่สำหรับธรรมที่มีผัสสะเป็นที่ ๕ หมายถึงเวทนา ๑ สัญญา ๑ เจตนา ๑ วิญญาณ ๑ ผัสสะ ๑

ผลของการฟังธรรม ไม่ทราบว่าท่านผู้ฟังเคยพิจารณาหรือเปล่า ไม่ว่าจะฟังเรื่องของสติปัฏฐาน เรื่องของจิต เรื่องของสมถภาวนา เรื่องของอาหาเรปฏิกูลสัญญาที่ได้รับฟังในคราวก่อน หรือแม้แต่ในเรื่องของอาหารปัจจัย

ไม่ว่าจะเป็นธรรมที่เคยฟังมาครั้งไหนก็ตาม เคยสังเกตพิจารณาผลของธรรมที่ได้ฟังบ้างไหมในวันหนึ่งๆ เพราะว่าต้องมีผล อย่างน้อยที่สุดผลก็คือยังมีความสนใจใคร่ที่จะติดตามศึกษาฟังธรรมต่อๆ ไป ถึงแม้ว่ายังไม่สามารถจะพิสูจน์ธรรมที่ได้ยิน ได้ฟัง หรือว่ายังไม่สามารถที่จะน้อมคล้อยไปตามธรรมที่ได้ยินได้ฟังได้บ่อยๆ เนืองๆ เช่นคราวก่อนที่กล่าวถึงอาหารปัจจัย โดยได้กล่าวถึงความเป็นปฏิกูลของอาหาร ผ่านไปแล้วหลายอาทิตย์ ไม่ทราบว่ามีผลอะไรเกิดขึ้นบ้างหรือเปล่า

มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งท่านบอกว่า ท่านยังไม่ได้เห็นความเป็นปฏิกูลของอาหาร แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ถ้าจะพิจารณาความเป็นปฏิกูลของอาหาร อาจจะไม่ตั้งต้นพิจารณาความเป็นปฏิกูลในการแสวงหาก่อนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องตามลำดับว่าจะต้องพิจารณาความเป็นปฏิกูลในการแสวงหาโดยที่ในขณะนั้นไม่ใช่กำลังแสวงหา เมื่อไม่ใช่กำลังแสวงหา ก็ย่อมไม่เห็นความเป็นปฏิกูลในการแสวงหา แต่ว่าอาจจะพิจารณาเห็นผล คือ ความเป็นปฏิกูลของอาหารเก่าก่อน ได้ไหม ซึ่งทุกคนต้องยอมรับแน่นอนว่า ปฏิกูล มีใครไม่เห็นว่าอาหารเก่าปฏิกูลบ้าง ไม่มี ใช่ไหม

เพราะฉะนั้น เมื่อไม่ได้พิจารณาความเป็นปฏิกูลในการแสวงหา แต่สามารถจะพิจารณาความเป็นปฏิกูลของอาหารเก่าขณะไหนก็ได้ที่กำลังปรากฏ ในขณะนั้นย่อมชื่อว่ามีการละคลายการติดหรือความยินดี และถ้าพิจารณาถึงเหตุผลซึ่งสืบเนื่องมาว่า อาหารเก่าที่ปฏิกูลที่กำลังปรากฏในขณะนี้ สืบเนื่องมาจากอะไร ก็ต้องสืบเนื่องมาจากการบริโภคอาหาร

ขณะที่บริโภคเข้าไปแล้ว แต่ว่ายังไม่ถึงอาหารเก่า ซึ่งบางท่านก็บอกว่ารับประทานอยู่ทุกวันไม่เห็นว่าจะมีความปฏิกูลอย่างไร ตามที่ได้กล่าวไว้ในอรรถกถา แต่ทุกท่านก็คงจะผ่านความผิดปกติของร่างกาย เช่น การอาเจียน ยังไม่ทันเป็นอาหารเก่าโดยสมบูรณ์เพียงแต่ล่วงลำคอลงไปและกลับออกมา ที่จะเห็นความเป็นปฏิกูลในขณะนั้น ก็ย่อมพิจารณาเห็นได้อีกเหมือนกัน

ธรรมเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวันจริงๆ การที่จะคิดเรื่องอื่นก็เป็นเพราะ เหตุปัจจัย ไม่ว่าจะคิดเรื่องการเมือง เรื่องสงคราม เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องอะไรต่างๆ ก็ต้องแล้วแต่เหตุปัจจัย แต่ถ้าในวันหนึ่งๆ ได้ฟังธรรม และมีเหตุปัจจัยที่จะให้คิดถึงธรรมที่ได้ฟัง และพิจารณาติดตามไป จะทำให้เข้าใจประโยชน์ของการที่แม้พระอรรถกถาจารย์ก็ดี หรือพระผู้มีพระภาคเองก็ดี ไม่ได้ทรงท้อถอยในการที่จะกล่าวถึงธรรมประการหนึ่งประการใดเพื่อที่จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ฟัง ให้เกิดการสละ การละ การคลายความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะซึ่งเคยติด

เพราะฉะนั้น การที่จะพิจารณาสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ก็แล้วแต่โอกาส ถ้าพิจารณา มากๆ บ่อยๆ เนืองๆ ย่อมจะมีโอกาสที่จะได้เห็นว่า ธรรมที่ได้กล่าวไว้แล้วในพระไตรปิฎกและในอรรถกถานั้นเป็นความจริง ไม่ว่าในเรื่องความเป็นปฏิกูลของอาหารเก่า หรืออาหารที่ล่วงลำคอเข้าไป

ในขณะที่กำลังบริโภคอาหารจริงๆ พอจะเห็นความเป็นปฏิกูลของอะไรบ้างไหม อาหารจัดไว้อย่างดี สวย น่ารับประทาน ไม่ว่าจะเป็นของคาว ของหวาน จะมีความเป็นปฏิกูลอะไรบ้างในขณะที่กำลังบริโภคอาหารที่จัดไว้อย่างประณีต จะมีได้ บ้างไหม มองไม่เห็นเลยหรือ วันนี้ลองดู อาหารสวยๆ เพียงแต่ตักลงไปนิดเดียว ไม่สวยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นปลาทั้งตัว หรือว่าอะไรๆ ก็ตามที่ปรุงแต่งไว้อย่างดี เพียงแต่ช้อนตักออกเพื่อที่จะรับประทาน สภาพที่จัดไว้อย่างสวยงามนั้นก็เสียความสวยแล้ว และจะมองเห็นความเป็นปฏิกูลได้ ซึ่งบางท่านก็บอกว่า ถ้าอย่างนั้นคงจะบริโภค ไม่อร่อย ถ้าให้พิจารณาดูความเป็นปฏิกูลของอาหารแม้ในขณะที่กำลังบริโภค

แต่ทั้งหมดนี้ ขณะที่อร่อยก็ติด ก็พอใจ ไม่ใช่ว่าทุกคนจะหมดความพอใจ แต่เพียงให้เข้าใกล้การที่จะละความยินดีลงบ้าง เป็นสิ่งที่สมควรไหมในสังสารวัฏฏ์ ก่อนที่จะสามารถดับสังสารวัฏฏ์ได้ เพราะว่าความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะมากเหลือเกิน แม้ว่าธรรมที่ได้ยินได้ฟังจะเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้โดยละเอียดประการใดก็ตาม แต่ว่าช่วงเวลาที่ฟังธรรมในวันหนึ่งกับในเวลาอื่น ขอให้คิดดูว่า สภาพธรรมที่เป็นปัจจัยปรุงแต่ง จะปรุงแต่งความคิดนึกให้เป็นเรื่องของกุศลมาก หรือเป็นเรื่องของอกุศลมาก

เพราะฉะนั้น สำหรับเรื่องของอาหาเรปฏิกูลสัญญา แม้ว่าจะเป็นเรื่องของ สมถภาวนา คือ การอบรมให้จิตละคลายความยินดีในรส ในรูป ในสภาพธรรมที่ปรากฏ ก็ต้องทราบว่าเป็นประโยชน์เกื้อกูล เพราะฉะนั้น สำหรับสมถภาวนาในชีวิตประจำวัน และวิปัสสนาในชีวิตประจำวัน คือ การอบรมเจริญสติเพื่อรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นเรื่องที่ไปด้วยกัน ประกอบกัน คู่กัน ไม่ใช่แยกว่า นั่นเป็นเรื่องสมถะ นี่เป็นเรื่องสติปัฏฐาน ถ้าเข้าใจเรื่องของการอบรมเจริญสติปัฏฐานว่า คือ การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจตามปกติตามความเป็นจริง แม้ขณะที่จิตน้อมไปพิจารณาสภาพธรรมใดโดยนัยที่จะเกิดความสงบขึ้น ขณะนั้นก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพธรรมขณะหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเพราะปัจจัยโดยอาศัยการฟังและการพิจารณา

เพราะฉะนั้น สำหรับในเรื่องของอาหาเรปฏิกูลสัญญาก็มีหลายขณะพร้อมที่จะให้พิสูจน์ แม้ในเรื่องของอาหารเก่า และก่อนที่จะถึงอาหารเก่าเมื่อล่วงลำคอเข้าไป หรือว่าขณะที่กำลังบริโภค หรือว่าในขณะที่ปรุงอาหาร ท่านที่ปรุงอาหารจะเห็นความเป็นปฏิกูลของทุกสิ่งที่เอามาปรุงเป็นอาหาร เพราะต้องล้าง ต้องทำให้สะอาด แม้แต่ผักซึ่งดูสวยงามน่ารับประทาน น่าบริโภค ก็จะต้องมีดินติด ต้องมีการล้างให้สะอาด เพื่อที่จะหมดกลิ่นต่างๆ แสดงให้เห็นว่า ถ้าไม่ปฏิกูลคงไม่ต้องทำอย่างนั้น และก่อนนั้นอีก คือ ก่อนที่จะถึงขณะที่ปรุงอาหาร ในขณะที่แสวงหาอาหาร ท่านที่ไปตลาดคงจะผ่านความเป็นปฏิกูลมากมาย โดยกลิ่น โดยสี กว่าจะได้อาหารมาประกอบเป็นอาหาร และสำหรับผู้ที่ทำการเพาะปลูกเพื่อที่จะให้เกิดอาหารเหล่านนั้น เช่น ผัก หรือการเลี้ยงสัตว์ต่างๆ ก็ย่อมจะมีสภาพธรรมที่เป็นปฏิกูลที่ปรากฏให้เห็นได้

ผู้ฟัง เรื่องปฏิกูลของอาหาร ไม่ต้องผ่านเข้าไปในลำคอ หรือว่าไม่ต้องเป็นอาหารเก่า ก็ยังเห็นความเป็นปฏิกูลได้ คือ ขนมจีนน้ำยาในจานของเรา กำลังรับประทานอร่อย แต่ว่าอีกคนหนึ่งรับประทานไม่หมด มองดูแล้วน่าสะอิดสะเอียน นี่ยังไม่ต้องผ่านลำคอ

สุ. จิตในขณะนั้นเป็นอย่างไร สำคัญที่จิต กุศลหรืออกุศล นี่คือการเห็นประโยชน์ของการที่จะรู้ถึงความเป็นปฏิกูล คือ ให้ละคลายการติดหรือความยินดีพอใจ และในขณะเดียวกันต้องระวังที่จะไม่เป็นโทสมูลจิต คือ ความไม่พอใจ ความไม่ แช่มชื่นในขณะนั้น แต่ถ้าสติระลึกรู้ ไม่ว่าขณะนั้นจะเป็นเวทนาประเภทใด จะเป็นโสมนัสเวทนา หรือโทมนัสเวทนาก็ตามแต่ สติสามารถรู้สภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ไม่ขัดกับการที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของสมถภาวนา เพื่อให้เกิดการละคลายความติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะในวันหนึ่งๆ ไม่มีใครสามารถให้สติปัฏฐานเกิดขึ้นได้บ่อยๆ เนืองๆ ตามที่ต้องการ แต่เพราะว่าเป็นผู้ที่ฟังพระธรรม พิจารณา พระธรรม เพราะฉะนั้น ย่อมได้รับประโยชน์จากพระธรรม แต่ต้องพิจารณาอีกว่า ได้รับประโยชน์จากพระธรรมเพียงพอหรือยัง มากหรือยัง หรือว่ายังน้อยมาก

ข้อที่จะพิสูจน์ได้ คือ ชีวิตประจำวัน ชีวิตกลางวันกับกลางคืนก็เป็นชีวิตที่ต่างกัน ชีวิตกลางวันส่วนใหญ่เป็นไปในเรื่องของการประกอบกิจการงาน ซึ่งทุกคนมีหน้าที่ของตน ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม แต่พอถึงกลางคืนก็เป็นชีวิตของการเริ่มพักผ่อน ไม่เครียด ไม่คร่ำเคร่งเหมือนอย่างตอนกลางวันที่จะต้องทำทุกอย่าง ซึ่งบางครั้งอาจจะต้องกระทำไปด้วยความรีบด่วน กุศลจิตเกิดบ้างไหม

เริ่มตั้งแต่กลางวัน ไปจนกระทั่งถึงตอนเย็น ถึงตอนกลางคืน หมดเรื่องของการประกอบการงานแล้ว ตอนดึกบางท่านอาจจะตื่นขึ้นมาบ้าง ซึ่งการที่จะรู้ว่าได้รับ พระธรรมเพียงพอหรือยัง ก็คือ เมื่อตื่นแล้วคิดอะไร ไม่ต้องนึกถึงว่าใกล้ตายจะทำอย่างไร เพียงแต่ตอนดึกที่ตื่นขึ้นมาก็ยังบังคับบัญชาไม่ได้ สภาพธรรมต้องเกิดขึ้น ตามเหตุตามปัจจัย เพราะฉะนั้น บางท่านซึ่งได้รับประโยชน์จากธรรม เป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญาแล้ว ตื่นขึ้นมาระลึกถึงธรรมที่ได้ฟัง พิจารณาได้เลยเรื่องของปัจจัย ต่างๆ หรือเรื่องของจิต หรือของเจตสิก เรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ สติปัฏฐานอาจจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของแข็ง หรือเสียง หรือคิดที่กำลังปรากฏในขณะนั้น นี่เป็นการพิสูจน์ผลของการฟังพระธรรมซึ่งเป็นอนัตตา ไม่ได้อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาเลย

เพราะฉะนั้น เมื่อหมดเรื่องของธุรกิจการงานแล้ว ในยามว่าง ในยามพักผ่อน กุศลจิตหรืออกุศลจิตเกิด และในยามที่ตื่นขึ้นมาทันทีตอนดึก ท่านคิดถึงอะไร หรือว่าอาจจะเป็นในตอนเช้าซึ่งเป็นปกติ ทุกท่านก็ตื่น ทันทีที่ตื่นระลึกถึงอะไร ซึ่งนั่นจะเป็นการแสดงให้เห็นว่า ผลที่ได้รับจากการฟังพระธรรม พิจารณาพระธรรมมากน้อยเพียงพอประการใด หรือว่ายังจะต้องอาศัยการฟังอีกมาก การอบรมเจริญปัญญาอีกมาก และต่อๆ ไป ท่านผู้ฟังอาจจะสังเกตได้ว่า สติปัฏฐานที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นปกติจริงๆ จะเกิดปรากฏในขณะไหนเป็นส่วนใหญ่ บางขณะอาจจะเกิดน้อย เช่น ในขณะที่ประกอบธุรกิจการงาน

ท่านที่โทรศัพท์วันหนึ่งๆ สติปัฏฐานเกิดบ้างหรือเปล่า ยัง ใช่ไหม ยังก็เป็นเรื่องยัง แต่ในเวลากลางคืน หรือตอนดึกๆ สติปัฏฐานอาจจะเกิดมากกว่าเวลาอื่น แต่ชีวิตจริงๆ หรือสังสารวัฏฏ์นั้น ไม่ใช่มีแต่เฉพาะตอนนั้นเท่านั้น แม้ตอนอื่นขณะอื่นก็เป็นสังสารวัฏฏ์ เป็นชีวิตจริงๆ เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม ซึ่งสติจะต้องเพิ่มกำลังขึ้นจนกว่าจะสามารถระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจโดยไม่ยาก และเมื่อสติเกิดระลึกทางไหน ปัญญาก็สามารถรู้ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นตามปกติ ตามความเป็นจริงได้

เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องซึ่งท่านผู้ฟังจะได้รู้จักตัวเองตามความเป็นจริงว่า จะต้องฟังพระธรรม พิจารณาพระธรรม และอบรมเจริญสติปัฏฐานต่อไปอีกมากเพียงไร

ท่านเคยสังเกตไหมว่า การคิดนึกเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยจริงๆ ถ้าสติเกิดจะรู้ทันทีว่าเพราะเหตุปัจจัย อย่างวันหนึ่งๆ อาจจะมีบางครั้งซึ่งต้องนับ จะเป็นนับเงินนับทอง หรือจะนับจำนวนอะไรก็ตามแต่ ขณะนั้น วันนั้นอาจจะนับมากหรือว่าเพิ่งจะนับเสร็จ และถึงเวลาที่จะกราบพระ แทนที่จะกล่าวว่า นโม ตัสสะ ก็กลายเป็น ๑ - ๒ - ๓ เป็นไปได้ไหม นี่คือชีวิตตามความเป็นจริงที่แสดงให้เห็น ถ้าสติระลึกก็รู้ได้ แทนที่จะเป็นเรื่องที่ควรคิด เหตุปัจจัยก็ปรุงแต่งให้กลับไปคิดถึงสิ่งที่เพิ่งผ่านมา ปรุงแต่งให้เกิดความคิดนึกอย่างนั้นขึ้น

เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง คือ ต้อง รู้สภาพธรรมที่เกิดขึ้นและปรากฏตามปกติในชีวิตประจำวัน

สำหรับมโนสัญเจตนาหาร ได้แก่ เจตนาเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวง โดยนัยของอาหารปัจจัย แต่ถ้าโดยนัยของปฏิจจสมุปบาท หมายความถึงกุศลเจตนาและอกุศลเจตนาที่เกิดกับกุศลจิตและอกุศลจิต เป็นสภาพที่นำมาซึ่งผล คือ การกระทำที่เป็นกุศลและเป็นอกุศลให้สำเร็จลงไป

จะเห็นได้ว่า การกระทำทุกอย่าง ทุกขณะจิต เกิดขึ้นเพราะการขวนขวายของเจตนาไม่ใช่เพราะสภาพธรรมอื่นเลย เพราะสภาพของเจตนาเจตสิกเป็นสภาพที่ขวนขวายกระทำกิจการงานนั้นๆ และให้สภาพธรรมที่เกิดร่วมด้วย คือ สัมปยุตตธรรมเกิดขึ้นกระทำกิจของตนๆ เพราะฉะนั้น ในจิตดวงหนึ่งมีอาหารปัจจัยซึ่งเป็นนามธรรม ๓ อย่าง ได้แก่ ผัสสเจตสิกเป็นผัสสาหาร เจตนาเจตสิกเป็นมโนสัญเจตนาหาร และจิตเป็นวิญญาณาหาร

ในจิตดวงเดียวซึ่งเป็นนามธรรมและเกิดดับอย่างรวดเร็วนี้ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอาหารปัจจัยไว้ ๓ อย่าง เช่นเดียวกับในรูปกลุ่มหนึ่ง แม้ว่าจะเป็นรูปกลุ่มที่เล็กที่สุดก็ตาม ในรูปกลุ่มนั้นต้องมีอาหารรูป คือ โอชา รวมอยู่ด้วย ๑ รูป เพราะฉะนั้น ในจิตดวงหนึ่งซึ่งมีเจตสิกหลายดวง แต่ว่าที่เป็นอาหารปัจจัยนั้นมี ๓

เปิด  225
ปรับปรุง  19 ต.ค. 2566