แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1155

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๒๕


ข้ออุปมาที่แสดงโทษภัยของมโนสัญเจตนาหาร ข้อความใน ปปัญจสูทนี อุปมาว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเปรียบด้วยหลุมถ่านเพลิง

ซึ่งมีข้อความอธิบายว่า

ส่วนในข้อเปรียบกับหลุมถ่านเพลิงมีเนื้อความว่า ภพ ๓ เปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิง อันหมายความว่า เป็นที่เร่าร้อนใหญ่ บุรุษ ๒ คนที่จับบุรุษคนหนึ่งข้างละ แขนดึงเข้าไปในหลุมถ่านเพลิงนั้น ฉันใด มโนสัญเจตนาก็ฉันนั้น โดยหมายความว่า ฉุดเข้าไปในภพทั้ง ๓ เพราะฉะนั้น ภิกษุใดเห็นมโนสัญเจตนาหารว่า เป็นเหมือนบุรุษที่ฉุดเข้าไปในหลุมถ่านเพลิงอย่างนั้น ภิกษุนั้นก็ครอบงำความยินดีในมโนสัญเจตนาหารนั้นได้ อันนี้เป็นการประกอบเนื้อความในข้อเปรียบกับหลุมถ่านเพลิง

การมาสู่โลกนี้ของท่านผู้ฟังทุกท่านนี้ มีใครฉุดมาหรือเปล่า ไม่มี

ใครพามา

มโนสัญเจตนาหาร ซึ่งเป็นกรรม เป็นเจตนาเจตสิกซึ่งกระทำกิจให้สำเร็จลงไป เป็นกุศลกรรมทำให้เกิดในสุคติภูมิ แต่ทรงอุปมาว่า บุรุษ ๒ คนที่จับบุรุษคนหนึ่งข้างละแขน ดึงเข้าไปในหลุมถ่านเพลิง ไม่ได้พาไปในที่ที่สบายใช่ไหม หลุมถ่านเพลิง ไม่ว่าจะเป็นภพไหนก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นกามภพ มนุษย์ สวรรค์ หรือว่านรก เปรต อสุรกาย สัตว์ดิรัจฉาน หรือว่ารูปพรหมก็ตาม อรูปพรหมก็ตาม พระผู้มีพระภาคเปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิง เพราะนำมาซึ่งความเร่าร้อน ความเกิดขึ้นและดับไป ซึ่งท่านผู้ฟังอาจจะไม่ได้พิจารณาเลยว่า การเกิดขึ้นมาแล้วจะมีความเร่าร้อน หรือว่าจะมีความทุกข์มากมายอย่างไร แต่ข้อความใน สัมโมหวิโนทนี อรรถกถา วิภังคปกรณ์ ได้แสดงเรื่องความทุกข์ของชาติ ชรา และมรณะว่า

อุปมาเหมือนกับคน ๓ คน ซึ่งเป็นข้าศึก คนหนึ่งก็บอกว่า ขอให้พาคนนี้เข้าป่าไป เรื่องการพานั้นเป็นเรื่องไม่ยากสำหรับเขา อีกคนหนึ่งก็บอกว่า เมื่อพาไปแล้วเขาจะโบยตีให้อ่อนกำลังลง เรื่องของการโบยตีให้อ่อนกำลังลงนั้นเป็นเรื่องไม่ยากสำหรับเขา และคนที่ ๓ บอกว่า ส่วนเขาเองจะตัดศีรษะเสีย ซึ่งเรื่องการตัดศีรษะของบุคคลนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ยากสำหรับเขา

เพราะฉะนั้น ในขณะที่จุติและปฏิสนธิจะเกิดต่อ ปฏิสนธิที่เกิดต่อก็เหมือนกับคนที่พาไปสู่ป่า หรือว่าพาไปเที่ยวยังสถานที่หนึ่งสถานที่ใด โดยในอรรถกถาอธิบายว่า เหมือนกับการพรรณนาว่า จะไปสู่สถานที่หนึ่งสถานที่ใด พร้อมที่จะพาบุคคลนั้นไปหลังจากที่จุติจิตดับแล้ว ปฏิสนธิก็มีกิจทำให้บุคคลนั้นเกิดขึ้นยังภพใหม่ เป็นสถานที่ใหม่ เหมือนกับที่ที่ยังไม่เคยไป

ท่านผู้ฟังที่ชอบไปเที่ยว ก็จะมีการเที่ยวหลังจากที่จุติจิตดับแล้ว จะไปสู่ภพไหนภูมิไหน ไกลมากน้อยเท่าไร ไม่สามารถที่จะทราบได้ แต่ว่าปฏิสนธิจิต การเกิดนั่นเองเป็นผู้ที่พาไป

ส่วนชรา คือ ผู้ที่เป็นข้าศึกคนที่ ๒ ซึ่งคอยกระหน่ำโบยตีให้อ่อนล้าหมดแรงลงไปทุกทีๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ยากเลยสำหรับชรา เพราะว่าเป็นกิจของชราอยู่แล้ว และสำหรับผู้ที่เป็นศัตรูหรือข้าศึกคนที่ ๓ ซึ่งจะทำหน้าที่ตัดศีรษะนั้น คือ ขณะที่จุติหรือมรณะ คือ ตาย

เป็นชีวิตที่เลี่ยงไม่ได้เลยในสังสารวัฏฏ์ แต่ถ้าไม่อาศัยการอุปมา ก็จะไม่เห็นภัยของมโนสัญเจตนาหารว่า เป็นสภาพที่ขวนขวาย เป็นสภาพที่ประมวลมาซึ่งภพชาติ การเกิด เพราะว่าตราบใดที่ยังไม่หมดกรรม กรรมนั่นเองย่อมเป็นผู้ที่พาไปสู่ภพต่างๆ ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงอุปมาว่า เหมือนกับหลุมถ่านเพลิงซึ่งเป็นที่เร่าร้อนใหญ่

เจตนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง กระทำกิจของอาหารปัจจัย แต่ว่าโดยนัยของปฏิจจสมุปบาท หมายความถึงเจตนาเจตสิกที่เกิดกับกุศลจิตและอกุศลจิต

สำหรับวิญญาณาหาร โดยนัยของปฏิจจสมุปบาท ได้แก่ ปฏิสนธิจิต แต่ว่าโดยนัยอาหารปัจจัย ได้แก่ จิตทุกดวง

ซึ่งข้อความใน ปปัญจสูทนี อธิบายว่า

พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม เปรียบวิญญาณาหารด้วยการถูกแทงด้วย หอก ๓๐๐ เล่ม โดยนัยเป็นต้นว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ราชบุรุษทั้งหลายจับโจรผู้เที่ยวทำโจรกรรม แม้ฉันใดดังนี้ เพื่อความสิ้นไปแห่งความยินดีในวิญญาณาหาร ในข้อนี้มีอรรถโยชนาโดยสังเขปด้วยคำอธิบายดังต่อไปนี้

ส่วนในข้อเปรียบกับการถูกแทงด้วยหอก ๓๐๐ เล่ม มีเนื้อความว่า บุรุษนั้นย่อมทุกข์ร้อนด้วยหอก ๑๐๐ เล่ม อันใด ในเวลาเช้า สรีระของบุรุษนั้นก็มีรอย ปากแผลถึงร้อยแห่ง รอยปากแผลนั้นไม่หยุดอยู่เพียงในระหว่าง ได้ทะลุออกไปถึงอีกข้างหนึ่ง หอก ๒๐๐ เล่มนอกจากนี้ก็แทงทะลุเหมือนกัน ร่างกายทั้งสิ้นของบุรุษนั้น เป็นช่องน้อยช่องใหญ่ด้วยหอกอันไม่หยุดอยู่เพียงในที่ถูกแทงอย่างนั้น ประมาณแห่งทุกข์อันเกิดแม้ในปากแผลเพียงแห่งเดียวแห่งบุรุษนั้นย่อมไม่มี ไม่ต้องพูดถึงปากแผลแห่งหอกทั้ง ๓๐๐ เล่ม

ปฏิสนธิเป็นเหมือนเวลาถูกแทงด้วยหอก การเกิดแห่งขันธ์เป็นเหมือนการทำให้เกิดปากแผล ความเกิดขึ้นแห่งทุกข์ต่างๆ อันมีวัฏฏะเป็นมูลรากในขันธ์ทั้งหลายที่เกิดแล้ว เหมือนกับการเกิดแห่งทุกขเวทนาในปากแผลทั้งหลาย

แม้ว่าพระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงอย่างนี้ ก็ยากที่จะเห็นจริง ถ้าสติปัฏฐาน ไม่เกิด ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพที่กำลังปรากฏว่า จะเหมือนกับบุรุษที่ทุกข์ร้อนด้วยหอกที่แทง ๓๐๐ เล่ม ๑๐๐ เล่มในเวลาเช้า เวลากลางวัน และเวลาเย็น

และพระผู้มีพระภาคทรงอุปมาว่า ปฏิสนธิเหมือนเวลาถูกแทงด้วยหอก ทำให้ปากแผลทั้งหลายเกิดขึ้น นำมาซึ่งทุกข์มากมาย

คนที่เป็นแผลคงจะเข้าใจดีถึงความทุกข์ที่เกิดจากแผล แต่เวลาที่ไม่มีแผลก็ไม่สามารถเห็นได้ว่า ทุกข์ที่เกิดจากปากแผลนั้นเป็นอย่างไร แต่ปากแผลนั้นไม่น้อยเลย ลองคิดดูว่า ถูกแทงด้วยหอกถึง ๓๐๐ เล่ม และทะลุไปอีกข้างหนึ่งด้วย

เพราะฉะนั้น ในขณะนี้เป็นเหมือนอย่างนั้นหรือเปล่า มีแผลที่ไหนบ้างที่กำลังถูกแทง มองไม่เห็น ตา ๑ เป็นแผลที่ถูกแทง ผัสสะกระทบกับสิ่งที่กำลังปรากฏและดับไป เหมือนถูกแทงไหม ไม่เหมือน ยังไม่เหมือน เพราะยังไม่ประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไป

ข้อความในอรรถกถาบางแห่ง ได้แสดงถึงความเป็นอายตนะของจักขุปสาทและรูปารมณ์ซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดการเห็นว่า ในขณะนี้กระทบอยู่เป็นประจำ มีการขวนขวาย คือ มีการลืมตาตื่นขึ้น มีการเห็น โดยที่ไม่รู้เลยว่า ขณะนั้นอุปมาเหมือนกับถูกแทงด้วยหอก แต่ก็ขวนขวายหนักหนาในการเห็น ขณะนี้ท่านผู้ฟังโดยปริยัติทราบว่า วิถีจิตทางตาดับหมด วิถีจิตทางหูเกิดหลังจากที่ภวังค์เกิดคั่น หลายขณะ และทางตาก็ไม่ได้ขี้เกียจที่จะเห็นอีก ใช่ไหม ในขณะนี้ ช่างขยันที่จะสืบต่อภพชาติ หรือความเป็นอายตนะ หรือสภาพของสังสารวัฏฏ์ ในการที่เห็นแล้ว เห็นอีก เห็นแล้วเห็นอีก อย่างนี้จะเหมือนกับการถูกแทงด้วยหอกทีละเล่มๆ ในขณะที่มีการเห็นเกิดขึ้นครั้งหนึ่งๆ ไหม ถ้ารู้ตามความเป็นจริงว่า การเห็นในขณะนี้เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย คือ จักขุปสาทเกิดขึ้นและยังไม่ดับกระทบกับรูปารมณ์ซึ่งเกิดขึ้นและยังไม่ดับ และปัญจทวาราวัชชนจิตรำพึงถึงอารมณ์ที่กระทบที่จักขุปสาทดับไป เป็นปัจจัยให้จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็น

ไม่ได้ขี้เกียจเลย ใช่ไหม ขวนขวายที่จะถูกแทงอยู่ตลอดเวลา ทุกขณะที่เห็น ทุกขณะที่ได้ยิน ทุกขณะที่ได้กลิ่น ทุกขณะที่ลิ้มรส ทุกขณะที่กระทบสัมผัส ทุกขณะที่คิดนึก ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิดจะไม่รู้ลักษณะสภาพธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้ในขณะที่กำลังเห็น เพื่อละคลายการยึดถือว่าเราเห็น ว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นธาตุรู้ที่เกิดขึ้นเมื่อมีเหตุปัจจัย

ถ้าสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นรูป คือ รูปารมณ์ เป็นสภาพที่ปรากฏ กระทบ จักขุวิญญาณก็เกิดขึ้นเห็น ไม่มีใครยับยั้งได้ นี่คือถูกแทงด้วยหอก ๑ เล่ม

เพราะฉะนั้น ๓๐๐ เล่มนี้ก็ยังน้อยไป ใช่ไหม สำหรับตอนเช้า ตอนกลางวัน และตอนเย็น ถ้าเจริญสติปัฏฐานและรู้สภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ จะเห็นว่า สภาพธรรมทั้งหลายไม่ยั่งยืน กรรมเป็นปัจจัยทำให้จักขุปสาทเกิดขึ้น ตั้งอยู่เพียงชั่ว ๑๗ ขณะของจิตและดับไป ปสาทรูปซึ่งมีอายุ ๑๗ ขณะจิตและดับ จะยั่งยืนเกินกว่านั้นไม่ได้ และกรรมนั่นเองเป็นปัจจัยทำให้จักขุปสาทรูปกลุ่มใหม่เกิดขึ้น มีอายุ ๑๗ ขณะของจิตและดับ แม้รูปารมณ์ซึ่งปรากฏก็มีอายุเพียง ๑๗ ขณะของจิตและดับ เพราะฉะนั้น ทั้งจักขุปสาทซึ่งกรรมเป็นปัจจัยทำให้เกิด และรูปารมณ์ซึ่งมีอายุ ๑๗ ขณะ เมื่อพ้น ๑๗ ขณะแล้วก็ดับ หายไปเลย ไม่กลับมาอีก เป็นปัจจัยเพียงให้จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็นชั่วขณะหนึ่งและดับไป และจิตก็เกิดสืบต่อตามเหตุตามปัจจัย ตราบใดที่อาหารปัจจัยยังไม่ดับ ก็เป็นสภาพธรรมที่นำมาซึ่งผล คือ นามธรรมและรูปธรรมในชีวิตประจำวัน

เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงให้เห็น สำหรับผู้ที่อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ชัดว่า พระธรรมที่ทรงแสดงไว้เป็นความจริง แต่ถ้าไม่เจริญสติปัฏฐาน ก็ยังไม่ทราบแม้แต่ว่าแผลนั้นอยู่ตรงไหน แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นแผล เพราะว่านำมาซึ่งทุกข์ ทุกข์ทั้งหลายถ้าไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยิน ไม่มีการได้กลิ่น ไม่มีการลิ้นรส ไม่มีการรู้กระทบสัมผัส ไม่มีการคิดนึก จะมีได้อย่างไร

เวลาที่เป็นแผลนำความทุกข์ต่างๆ มาให้ ฉันใด การเห็นขณะหนึ่งก็นำเรื่องราวต่างๆ ซึ่งจะทำให้เกิดความทุกข์มากมายได้ การได้ยินแต่ละครั้ง การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ก็โดยนัยเดียวกัน

ข้อความต่อไปใน ปปัญจสูทนี มีว่า

เมื่อภิกษุนั้นครอบงำความยินดีในอาหารเหล่านี้อย่างนี้แล้ว ก็รอบรู้อาหารหมดทั้ง ๔ อย่าง

คือ ต้องทั้งในผัสสาหาร มโนสัญเจตนาหาร วิญญาณาหาร และ กพฬิงการาหาร การที่เห็นภัยของอาหารและก็ละคลายความยินดีของอาหาร จะทำให้รอบรู้อาหารหมดทั้ง ๔ อย่าง

การฟังธรรมเพื่ออบรมเจริญปัญญาและพิสูจน์ความจริงว่า การรอบรู้อาหารต้องเป็นสิ่งซึ่งสามารถจะมีได้ ไม่ใช่เป็นธรรมที่เลื่อนลอย หรือว่าเป็นโมฆะ เพียงแต่แสดงไว้ โดยไม่มีบุคคลอื่นที่สามารถจะรู้ตามได้

เมื่อรอบรู้อาหาร ๔ อย่างนั้นหมดแล้ว วัตถุอันรอบรู้ทั้งสิ้นก็เป็นอันรอบรู้

จริงไหม ถ้าระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จะสงสัยในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมไหม ถ้าขณะใดที่ยังไม่แจ่มแจ้งในลักษณะของนามธรรมหรือในลักษณะของรูปธรรม ก็หมายความว่า ยังไม่ได้พิจารณาลักษณะของสภาพรู้ หรือธาตุรู้โดยตลอด โดยทั่วถึง

บางท่านอาจจะเริ่มระลึกรู้ลักษณะของอ่อนหรือแข็ง และอาจจะพิจารณาว่า ที่อ่อนหรือแข็งปรากฏเพราะขณะนั้นมีธาตุรู้ที่รู้อ่อนหรือแข็ง แต่ว่าทางตาก็มีนามธรรมที่เป็นสภาพรู้ กำลังรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ เป็นอนัตตา ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ถ้าพิจารณานามธรรมและรูปธรรมโดยทั่วทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ย่อมทำให้หมดหรือละคลายความสงสัยในลักษณะของนามธรรมทีละเล็กทีละน้อย จนกระทั่งแม้ความคิดนึกใดๆ จะเกิดขึ้น ถ้าสติระลึกก็รู้ได้ทันทีว่า เป็นสภาพนามธรรมชนิดหนึ่งซึ่งไม่ใช่เห็น ไม่ใช่ได้ยิน แต่เป็นสภาพที่กำลังคิด หรือรู้เรื่องรู้คำในขณะนั้น

เพราะฉะนั้น ลักษณะของนามธรรม ไม่ว่าจะเป็นทางตา ก็รู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางหูก็รู้ คือ รู้เสียงที่กำลังปรากฏ ทางจมูกก็รู้ คือ รู้กลิ่นที่กำลังปรากฏ ทางลิ้นก็รู้คือ รู้รสที่กำลังปรากฏ ทางกายก็รู้ คือ รู้อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหวที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ระลึกได้ทันทีแล้ว ใช่ไหม ในขณะนี้

นามธรรม เป็นสภาพรู้ ในขณะที่อ่อนหรือแข็งปรากฏเพราะสภาพรู้ ธาตุรู้ กำลังรู้ลักษณะที่อ่อนหรือแข็งในขณะนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าพิจารณาทั่วจริงๆ ผู้นั้นย่อมกล่าวได้ว่า รอบรู้อาหารปัจจัยทั้ง ๔ คือ รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจนั่นเอง

ข้อความต่อไปมีว่า

ข้อนี้พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุรอบรู้อาหารที่เป็นคำๆ แล้ว ก็เป็นอันรอบรู้ราคะ อันประกอบด้วยกามคุณ ๕ เมื่อรอบรู้ราคะอันประกอบกับกามคุณ ๕ แล้ว สังโยชน์ ที่ทำให้เกาะเกี่ยวอยู่นั้นก็ไม่มี เมื่ออริยะสาวกรอบรู้อาหารแล้ว ก็เป็นอันรอบรู้เวทนา ๓ เมื่อรอบรู้เวทนา ๓ แล้ว เรากล่าวว่า สิ่งที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมไม่มีแก่อริยสาวก

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อรอบรู้อาหาร คือ มโนสัญเจตนาหารแล้ว ก็เป็นอันรอบรู้ตัณหา ๓ เมื่อรอบรู้ตัณหา ๓ แล้ว เราก็กล่าวว่า ไม่มีอะไรที่จะทำให้ยิ่งขึ้นไปแก่อริยสาวก

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อรอบรู้อาหาร คือ วิญญาณแล้ว ก็เป็นอันรอบรู้นามธรรมและรูปธรรม เมื่อรอบรู้นามธรรมและรูปธรรมแล้ว เราก็กล่าวว่า สิ่งที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปอย่างใดอย่างหนึ่งไม่มีแก่อริยสาวก

เป็นไปได้ไหม ถ้าระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จะรอบรู้ราคะ หรือตัณหา หรือความยินดี ซึ่งปกติไม่รู้ แม้ว่ามีอยู่เป็นประจำ และในวันหนึ่งๆ โลภมูลจิตเกิดมากมาย ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ไม่รู้ ที่จะรู้ก็ต่อเมื่อสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม จึงรู้ว่า ขณะใดเป็นสภาพของโลภะ ความยินดี ความต้องการ

เปิด  293
ปรับปรุง  19 ต.ค. 2566