แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1170
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๒๕
ถ. ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ปัญญาจักษุของพระผู้มีพระภาคนั้น ไม่มีอะไรที่ไม่รู้ แต่ในธัมมจักกัปปวัตนสูตร พระองค์ได้ทรงแสดงว่า สิ่งที่รู้ไม่ได้ มีอยู่ คือ เบื้องต้นและที่สุดของบุคคลรู้ไม่ได้ รู้ไม่ได้กับไม่มีอะไรที่ไม่รู้นั้น เหมือนกันไหม
สุ. ถ้าท่านผู้ฟังจะเพียงคิดว่า สิ่งใดที่ท่านผู้ฟังไม่รู้ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรู้ เท่านี้พอไหม แทนที่จะไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้หลายๆ เรื่องว่า เรื่องนั้นพระองค์ทรงรู้ไหม เรื่องนี้พระองค์ทรงรู้ไหม แต่กลับคิดว่า สิ่งใดซึ่งท่านผู้ฟังหรือใครๆ ก็ตามในโลกนี้ไม่รู้ พระผู้มีพระภาคทรงรู้ จะได้ไหม จะตัดปัญหาอื่นๆ ไปได้
ถ. แต่ทีนี้ พระผู้มีพระภาคก็ไม่รู้ด้วย
สุ. รู้ได้อย่างไรว่า พระองค์ไม่ทรงรู้
ถ. พระองค์ทรงแสดงไว้
สุ. รู้กว่า ว่าพระผู้มีพระภาคไม่รู้
ถ. ไม่ได้รู้กว่า แต่พระองค์ทรงแสดงว่า เบื้องต้นที่สุดของสัตว์บุคคลนี้ รู้ไม่ได้ พระองค์ทรงแสดงอย่างนี้
สุ. พระองค์ทรงแสดงว่า คืออวิชชาหรือเปล่า
ถ. รู้สึกว่าจะเป็นแค่นั้น คือ บอกว่าเบื้องต้นที่สุดอันบุคคลรู้ไม่ได้
สุ. คือ อวิชชา
ถ. จะเป็นอวิชชา หรือสังขาร หรือบุคคล พระองค์ทรงแสดงว่า รู้ไม่ได้ นี่ในเมื่อรู้ไม่ได้ ก็หมายความว่า พระองค์ก็รู้ไม่ได้ด้วย
สุ. รู้อีก ว่าพระพุทธเจ้าไม่รู้
ถ. ตามพยัญชนะควรจะเข้าใจอย่างนี้ ใช่ไหม
สุ. ไม่ใช่ รู้ไม่ได้เพราะว่าผ่านไปแล้ว ใช่ไหม อย่างปฏิสนธิจิต ท่านผู้ฟังจะรู้ได้ไหม
ถ. ไม่รู้
สุ. เพราะอะไร
ถ. ก็ยังไม่เคยเห็น
สุ. ดับไปแล้ว แต่พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงเรื่องจุติและปฏิสนธิ เพราะฉะนั้น กล่าวว่าไม่ทรงรู้ ก็แปลว่า รู้ว่าพระผู้มีพระภาคไม่รู้อะไรบ้างอย่างนั้นหรือขอให้เพียงคิดว่า ท่านผู้ฟังไม่รู้อะไร แต่พระพุทธเจ้าทรงรู้ เท่านั้นพอไหม
ถ. คือว่า เป็นสิ่งที่ไม่มีที่สุดหรือ
สุ. ก็อย่าไปคิด
ถ. พระองค์ไม่ใช่ทรงแสดงแค่นี้ บางทีแสดงว่า ที่สุดของอากาศก็ไม่มีที่สุด ในเมื่อไม่มีที่สุด ที่สุดอยู่ตรงไหนก็ไม่มี
สุ. ก็ไม่ต้องไปคิด เมื่อไม่มี ก็ไม่มี
ถ. อันนี้พระองค์ทรงรู้ว่า สิ่งที่รู้ไม่ได้เป็นอย่างนั้น
สุ. ใครทรงแสดง
ถ. พระพุทธเจ้าแสดง
สุ. ถ้าไม่รู้ จะทรงแสดงไหม
ถ. ก็รู้ว่า รู้ไม่ได้
สุ. เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ท่านผู้ฟังรู้ว่า พระพุทธเจ้าไม่รู้ แต่พระผู้มีพระภาคเป็นผู้ทรงรู้ เป็นเรื่องที่ยากถ้าจะคิดถึงพระพุทธญาณ สิ่งที่เป็นอจินไตย
เพียงแต่ศึกษาพระธรรมที่ทรงแสดงไว้ จะเห็นว่าละเอียดสุขุม และเป็นสิ่งที่จะต้องพิจารณาโดยรอบคอบ เพื่อที่จะได้เจริญปัญญายิ่งขึ้น แม้ว่าสิ่งใดซึ่งมีแสดงไว้ในพระไตรปิฎกหรือในอรรถกถา แต่ท่านผู้ฟังไม่สามารถที่จะรู้ได้ ก็ขอให้พิจารณา ส่วนที่สามารถจะเกื้อกูลให้ปัญญาเกิดขึ้น ที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็น อริยสัจธรรม ที่สำคัญที่สุด ไม่ใช่ธรรมส่วนอื่น นอกไปจากอริยสัจธรรม คือ ทุกขอริยสัจ สภาพธรรมที่กำลังเกิดดับ ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า เป็นสิ่งที่สามารถจะรู้ได้
เพราะฉะนั้น ขอให้พิจารณาในส่วนที่สามารถจะรู้ได้ เพื่อประโยชน์ มิฉะนั้นแล้วก็จะเกิดความสงสัยไม่สิ้นสุด
ข้อความต่อไป คือ พระพุทธญาณ
ธรรมทั้งหมดรวมทั้งอดีต อนาคต ปัจจุบัน ย่อมมาสู่ครองในมุข คือ พระญาณของพระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว โดยอาการทั้งปวง
ขึ้นชื่อว่าบทธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่ควรแนะนำ ควรรู้ มีอยู่ ประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ทั้ง ๒ ฝ่าย ประโยชน์ในภพนี้ ประโยชน์ในภพหน้า ประโยชน์ตื้น ประโยชน์ลึก ประโยชน์เปิดเผย ประโยชน์ลี้ลับ ประโยชน์ที่ควรแนะนำ ประโยชน์ที่แนะนำแล้ว ประโยชน์ไม่มีโทษ ประโยชน์ไม่มีกิเลส ประโยชน์ขาว หรือประโยชน์อย่างยิ่ง ทั้งหมดนั้น ย่อมเป็นไปในภายในพระพุทธญาณ
กายกรรมทั้งหมด วจีกรรมทั้งหมด มโนกรรมทั้งหมด ย่อมเป็นไปตาม พระญาณของพระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้วมีพระญาณมิได้ขัดข้องในอดีต อนาคต ปัจจุบัน
บทธรรมที่ควรแนะนำเท่าใด พระญาณก็เท่านั้น พระญาณเท่าใด บทธรรมที่ควรแนะนำก็เท่านั้น พระญาณมีบทธรรมที่ควรแนะนำเป็นที่สุด บทธรรมที่ควรแนะนำก็มีพระญาณเป็นที่สุด พระญาณไม่เป็นไปล่วงบทธรรมที่ควรแนะนำ ทางแห่ง บทธรรมที่ควรแนะนำก็ไม่ล่วงพระญาณ ธรรมเหล่านั้นตั้งอยู่ในที่สุดแห่งกันและกัน
ลิ้นผอบ ๒ ลิ้นสนิทกัน ลิ้นผอบข้างล่างไม่เกินลิ้นผอบข้างบน ลิ้นผอบข้างบนก็ไม่เกินลิ้นผอบข้างล่าง ลิ้นผอบทั้ง ๒ นั้นตั้งอยู่ในที่สุดแห่งกันและกัน ฉันใด พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว มีบทธรรมที่ควรแนะนำ และพระญาณตั้งอยู่ในที่สุด แห่งกันและกัน ฉันนั้นเหมือนกัน
ข้อความต่อไปแสดงให้เห็นถึงปัญญาจักขุของพระพุทธเจ้า ซึ่งแสดงไว้มาก แต่ก็จะขอกล่าวถึงโดยย่อบางตอน คือ
ปลาและเต่าทุกชนิด โดยที่สุดรวมถึงปลาติมิติมิงคละ ย่อมเป็นไปในภาย ในมหาสมุทร ฉันใด โลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก หมู่สัตว์พร้อมทั้ง สมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ย่อมเป็นไปในภายในพระพุทธญาณ ฉันนั้นเหมือนกัน
แสดงว่าไม่มีสัตว์สักชนิดเดียว ซึ่งจะล่วงเลยนอกพระพุทธญาณหรือ พระปัญญาจักขุ
นกทุกชนิด โดยที่สุดรวมถึงครุฑสกุลเวนเตยยะ ย่อมบินไปในประเทศอากาศ ฉันใด พระสาวกทั้งหลายเสมอด้วยพระสารีบุตรโดยปัญญา ย่อมเป็นไปในประเทศแห่งพระพุทธญาณ ฉันนั้นเหมือนกัน
พระพุทธญาณย่อมแผ่ปกคลุมปัญญาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย กษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดี สมณะที่เป็นบัณฑิตมีปัญญาละเอียด มีวาทะโต้ตอบกับผู้อื่น เป็นดังนายขมังธนูยิงขนทรายแม่น บัณฑิตเหล่านั้น เป็นประหนึ่งว่าเที่ยวทำลายทิฏฐิเขาด้วยปัญญาของตน บัณฑิตเหล่านั้นปรุงแต่งปัญหาเข้ามาเฝ้าพระตถาคต แล้วทูลถามปัญหาเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคตรัสบอกและตรัสแก้แล้ว ทรงแสดงเหตุและอ้างผลแล้ว บัณฑิตเหล่านั้นย่อมเลื่อมใสต่อพระผู้มีพระภาค
ในลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคย่อมไพโรจน์ยิ่งขึ้นไปด้วยพระปัญญา ในสถานที่นั้น เพราะเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคจึงชื่อว่ามีพระจักษุ แม้ด้วยปัญญาจักษุอย่างนี้
ถ้าท่านผู้ฟังสนใจที่จะทราบข้อความต่อไป ศึกษาได้ใน ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส โมฆราชมาณวกปัญหานิทเทส และ ญาณกถา ซึ่งเป็นเรื่องพระญาณต่างๆ ของพระผู้มีพระภาค
สำหรับจักขุทั้ง ๒ คือ มังสจักขุและปัญญาจักขุ ย่อมเกี่ยวเนื่องกัน เพราะถ้ามีแต่จักขุปสาท มีการเห็นเพียงรูปารมณ์ แต่ไม่รู้ในลักษณะของนามธรรมที่เห็นและลักษณะของรูปารมณ์ที่ปรากฏตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ย่อมไม่มีประโยชน์ เพราะไม่ใช่ปัญญาจักขุ
การเห็นเป็นเรื่องที่เมื่อเป็นสัตว์โลกซึ่งเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัยในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็ย่อมเป็นธรรมดาที่จะต้องมีจักขุปสาท มีโสตปสาท มีฆานปสาท มีชิวหาปสาท และมีกายปสาท แต่ถ้าไม่ศึกษาเรื่องของจักขุปสาท โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาทตามความเป็นจริง ก็ย่อมไม่มีปัญญาจักขุที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้
เพราะฉะนั้น ทั้งมังสจักขุและปัญญาจักขุจึงต้องเกี่ยวเนื่องกัน เพราะว่าปัญญาจักขุก็ไม่ใช่รู้ที่อื่นนอกจากรู้สภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
ถ้ามีแต่มังสจักษุ ก็เพียงเห็น แต่ไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมที่ปรากฏ จนกว่าจะอบรมเจริญปัญญาจนกระทั่งเป็นปัญญาจักษุ สามารถรู้ความจริงของ สภาพธรรมได้ ที่ว่าจักขุปสาทเป็นจักขุนทรีย์ ถ้าไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงอย่างนี้ ก็ไม่ใช่ปัญญาจักษุ และไม่สามารถดับกิเลสได้ด้วยการเพียงแต่เห็นรูปารมณ์เท่านั้น ไม่ใช่ปัญญา ดับกิเลสไม่ได้ และการที่จะข้ามไป ไม่ระลึก ไม่ศึกษา ไม่รู้ความจริงที่ปรากฏทางตา ก็ไม่สามารถจะดับกิเลสได้
ถ้าใครคิดว่า จะรู้เพียงอย่างอื่นโดยที่ไม่ต้องรู้ทางตาและจะดับกิเลสได้ ย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา
ถ. ที่อาจารย์ถามว่า เคยเห็นดวงตาของผู้ที่งามเหมือนดาวไหม ผมนึกได้ว่า หลวงปู่แหวน ผมสังเกตตาของท่านสวยจริงๆ ถ้าใครไปนมัสการหลวงปู่แหวน ลองสังเกตดู ตาของท่านสดใสจริงๆ
สำหรับเรื่องปัญญาจักษุ เรียนถามอาจารย์ว่า ขณะที่สิ่งที่ปรากฏเกิดขึ้นนั้น แต่ละขณะที่เห็นเพียงขณะจิตเดียว เราจะมีเวลาสังเกตได้อย่างไร จะมีเวลาศึกษาได้อย่างไร เพราะขณะที่สังเกตก็ย่อมต้องใช้เวลาอยู่แล้ว
สุ. ในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ใช่ไหม ไม่ต้องคำนึงถึงว่าจิตเกิดดับไปแล้ว กี่ขณะ เพราะว่าตามความเป็นจริงยังไม่ได้รู้ลักษณะของจิต เพียงแต่ได้ยินได้ฟัง เรื่องจิตว่าเป็นสภาพรู้ แต่ว่าลักษณะของสภาพรู้ที่กำลังเห็นทางตา นี่ก็เป็นสิ่งที่เพียงได้ยินได้ฟังเหมือนกันถ้าสติไม่เริ่มระลึกว่า ในขณะนี้ที่กำลังเห็นเป็นอาการรู้ เป็นลักษณะรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นสภาพรู้ ซึ่งกำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น
เพราะฉะนั้น การที่สติจะเริ่มระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละทาง ไม่ต้องคำนึงถึงว่า จิตเกิดดับไปแล้วกี่ขณะ เพราะการอบรมเจริญปัญญา ถ้าจะรู้ตามความเป็นจริงต้องย้อนไปรู้ตั้งแต่ต้น เช่น ก่อนที่ท่านผู้ฟังจะได้ฟังเรื่องของจิต เจตสิก รูป หรือเรื่องของปัจจัยต่างๆ ท่านผู้ฟังจะได้ทราบว่า ในโลกนี้ไม่มีอะไรนอกจากนามธรรมและรูปธรรม เพียง ๒ อย่างเท่านั้น ถูกไหม
ถ้าท่านผู้ฟังเริ่มศึกษาปรมัตถธรรม ท่านผู้ฟังก็คงได้ทราบอรรถ คือ ความหมาย ของคำว่า ปรมัตถธรรม หรือสภาพที่เป็นปรมัตถธรรมว่า เป็นธรรมซึ่งเป็นอนัตตา
ปรมะ กับ อัตถะ หมายความถึงลักษณะที่เป็นอนัตตา เป็นใหญ่ตามสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังซึ่งกำลังยืนอยู่ หรือว่านั่งอยู่ และเห็น ถ้าศึกษาเรื่องของปรมัตถธรรม ต้องพิจารณาทันทีว่า แม้ที่กำลังนั่งอยู่ ยืนอยู่ และเห็น ก็เป็น ปรมัตถธรรมทั้งหมด คือ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน นี่คือศัพท์เดียว คือ ปรมัตถธรรม แต่เมื่อแยกเป็น ๒ ปรมัตถธรรม คือ สภาพธรรมที่เป็นนามธรรม ๑ และที่เป็นรูปธรรม ๑
นี่คือเบื้องต้นจากการฟัง และเวลาที่จะอบรมเจริญปัญญา เวลาที่จะรู้ ก็ต้องเริ่มรู้ตั้งแต่ต้นอย่างนี้ คือ ขณะใดที่หลงลืมสติก็จะไม่มีความเข้าใจเรื่องปรมัตถธรรม หรืออนัตตาทั้งสิ้น แต่เวลาที่สติเกิดระลึกได้ รู้ว่ามีสภาพธรรม ๒ อย่างเท่านั้นในโลกนี้ คือ นามธรรม ๑ และรูปธรรม ๑ แต่ถ้าปัญญายังไม่เจริญขึ้น ลักษณะของ นามธรรมไม่ปรากฏ ลักษณะของรูปธรรมก็ไม่ปรากฏ แม้ว่าลักษณะที่แข็งมีจริง แต่ที่จะรู้จริงๆ ว่าไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงรูปธรรมลักษณะหนึ่งเท่านั้นที่ปรากฏทางกาย ก็ชั่วขณะที่กำลังปรากฏ
เห็นไหมว่าความเข้าใจธรรมต้องสอดคล้องและต้องมั่นคง ที่ว่าลักษณะที่แข็งเป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งปรากฏ เพียงชั่วขณะที่ปรากฏ ลืมไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าก่อนนั้นแข็งไม่ปรากฏ ถูกไหม
เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐานที่จะรู้เรื่องของอินทรีย์ได้ ก็โดยที่พิจารณาว่า ก่อนที่สติจะเกิด มีอะไรปรากฏไหม
ถ. ก่อนที่สติจะเกิด คงไม่มีอะไร ก็คงเหมือนกับในชีวิตประจำวันของเรา
สุ. สภาพธรรมเกิดดับอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น เวลาที่สภาพธรรมหนึ่งเกิดขึ้น ดับไปเร็วมาก แม้แต่รูปตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าถ้าเข้าใจว่ายังมีอยู่ ขณะนี้ ทุกท่านต้องพิจารณา แม้แต่รูปตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าถ้าเข้าใจว่ายังมีอยู่ นั่นเพราะสัญญา ความจำ ซึ่งมีลักษณะเหมือนกำมือเปล่า คือ เป็นสภาพที่ทำให้เกิดความหวัง ก่อให้เกิดความหวัง โดยที่แท้จริงแล้วไม่มีอะไรเลย
เพราะฉะนั้น ผู้ที่ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงจะรู้ได้ว่า เพราะสัญญาจำ ถูกไหม ที่จำได้ว่ามี เป็นสัญญาความจำ แต่เมื่ออาการของรูป ไม่ปรากฏ ในขณะที่ไม่ปรากฏนั้น รูปนั้นเกิดและดับไป เกิดและดับไปๆ เร็วมาก เพราะฉะนั้น ถ้าสติไม่ระลึก สัญญาจำว่ามี แต่ว่าอาการของรูปไม่ได้ปรากฏ ถูกไหม อาการของรูปจะปรากฏต่อเมื่อสติระลึก จึงรู้ลักษณะของรูปหนึ่งรูปใดที่กำลังปรากฏทางหนึ่งทางใด ไม่ว่าจะเป็นสีสันวัณณะที่อยู่ข้างหลังก็เกิดดับไปโดยที่ไม่มีการเห็น ฉันใด อ่อนหรือแข็งตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าก็เกิดดับโดยที่ไม่มีสติระลึกรู้ลักษณะของ รูปหนึ่งรูปใด เพราะฉะนั้น อ่อนหรือแข็งที่ร่างกายที่กำลังยืนอยู่หรือนั่งอยู่จึงไม่ปรากฏลักษณะของรูป เพราะว่าสติไม่เกิด จึงไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของรูป รูปนั้นก็ไม่ปรากฏ เพียงแต่สัญญาจำไว้ว่ามี
อย่าลืม นี่คือความจริงที่สุดว่า นามธรรมและรูปธรรมเกิดดับอย่างเร็วมาก เพราะฉะนั้น การจำว่ามี กับการรู้ลักษณะของรูป ต่างกันไหม ต่างกัน เพราะว่าเพียงจำว่ามี เป็นตัวตน เป็นร่างกายของเรายังมี แม้ว่าลักษณะของรูปไม่ปรากฏ แต่เวลาที่สติระลึก อ่อนหรือแข็งปรากฏ ชั่วขณะที่กำลังปรากฏเท่านั้น เพราะฉะนั้น จึงเข้าใจถึงกายินทรีย์ว่า ถ้าไม่มีกายปสาท อ่อนหรือแข็งในขณะนี้ปรากฏไม่ได้ เพราะว่า แต่ละรูปที่จะปรากฏได้ต้องอาศัยรูปซึ่งเป็นอินทรีย์แต่ละอย่างเป็นปัจจัย มิฉะนั้นแล้วจะไม่มีสภาพธรรมใดปรากฏเลย แม้ว่ามีสภาพธรรมที่เกิดดับ ก็เกิดดับไปหมดแล้วอย่างรวดเร็ว จะให้รูปเมื่อครู่นี้กลับมาให้พิสูจน์อีกไม่ได้ รูปเมื่อครู่นี้ดับแล้วดับเลย แต่ว่ารูปใดซึ่งกำลังปรากฏ ชั่วขณะที่ปรากฏ อย่าลืม และขณะที่ปรากฏนั้นเองก็เกิดดับสืบต่อกัน เพียงแต่ปัญญายังไม่ประจักษ์เท่านั้นเองว่า รูปนี้เกิดและก็ดับ
ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็โดยนัยเดียวกัน เป็นสภาพธรรมซึ่งเกิดดับตามเหตุตามปัจจัย แต่ว่าขณะใดสติไม่ระลึก ลักษณะที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรมก็ไม่ปรากฏว่า เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม