แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1162

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๒๕


ข้อความต่อไปมีว่า

เมื่อทรงแสดงความไม่เป็นโมฆะแห่งข้อปฏิบัติว่า ด้วยการปฏิบัตินี้ ธรรมนี้ย่อมจะปรากฏมีในตนก่อน พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงอนัญญาตัญญัสสามีตินทริยะไว้ต่อจากสัทธินทริยะเป็นต้นนั้น

อินทรีย์ ๕ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ซึ่งเป็นไปในขณะที่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่เป็นโมฆะ ถ้าขณะใดที่สติระลึก รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตาตามปกติ ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจในขณะนี้ แต่ว่าสภาพธรรม คือ ปัญญาเจตสิกซึ่งได้เจริญอบรมแล้ว อินทรีย์ ๕ ซึ่งได้เจริญอบรมแล้ว ย่อมจะเกิดผลตามลำดับ เพราะฉะนั้น จึงมีข้อความว่า เมื่อทรงแสดงความไม่เป็นโมฆะแห่งข้อปฏิบัติว่า ด้วยการปฏิบัตินี้ ธรรมนี้ย่อมจะปรากฏมีในตนก่อน

ในปัญญาทั้ง ๓ ขั้นนี้ อนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์ต้องเกิดก่อน คือ ปัญญาซึ่งเกิดพร้อมกับโสตาปัตติมรรคจิต รู้แจ้งอริยสัจธรรม เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงอนัญญาตัญญัสสามีตินทริยะไว้ต่อจากสัทธินทริยะเป็นต้น

ข้อความต่อไปมีว่า

อัญญินทรีย์ทรงแสดงไว้ต่อจากอนัญญาตัญญัสสามีตินทริยะนั้น เพราะ อัญญินทรีย์นี้เป็นผลของอนัญญาตัญญัสสามีตินทริยะนั้น และเป็นอินทรีย์ที่จะพึงเจริญให้เกิดมีในลำดับต่อจากอนัญญาตัญญัสสามีตินทริยะ

ชื่อยาวๆ อย่างนี้ ท่านผู้ฟังจำไว้ว่าเป็นปัญญาซึ่งเกิดกับโสตาปัตติมรรคจิต ยาวที่สุด คือ อนัญญาตัญญัสสามีตินทริยะ เป็นครั้งแรก เป็นอินทรีย์ เป็นใหญ่ ซึ่งทำให้ผู้นั้นเป็นพระอริยบุคคล ต้องเป็นใหญ่จริงๆ และอินทรีย์ต่อไป คือ อัญญินทรีย์ ได้แก่ ปัญญาเจตสิกซึ่งเกิดกับโสตาปัตติผลจิตเป็นต้นไปจนกระทั่งถึงอรหัตตมรรคจิต เว้นเฉพาะอรหัตตผลจิตซึ่งเป็นปัญญาอีกขั้นหนึ่ง

นี่ก็แสดงให้เห็นความต่างกันแล้ว เพราะสำหรับอัญญินทรีย์ ได้แก่ ปัญญาซึ่งเกิดกับโสตาปัตติผลจิตตลอดไปจนกระทั่งถึงอรหัตตมรรคจิตนั้น ทรงแสดงไว้ต่อจากอนัญญาตัญญัสสามีตินทริยะ เพราะอัญญินทรีย์เป็นผลของอนัญญาตัญญัสสามีตินทริยะ คือ ถ้าโสตาปัตติมรรคจิตไม่เกิด โสตาปัตติผลจิตเกิดไม่ได้ สกทามรรคจิตเกิดไม่ได้ สกทาคามิผลจิตเกิดไม่ได้ อนาคามิมรรคจิตเกิดไม่ได้ อนาคามิผลจิตเกิดไม่ได้ และอรหัตตมรรคจิตก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น ที่อัญญินทรีย์จะเกิดได้ก็ต้องเกิดต่อจากอนัญญาตัญญัสสามีตินทริยะ ซึ่งเป็นปัญญาเจตสิกที่เกิดกับโสตาปัตติมรรคจิตนั่นเอง

เหลืออินทรีย์สุดท้าย ซึ่งเป็นอินทรีย์ที่ไม่ต้องมีการกระทำกิจอื่นให้ยิ่งไปกว่านี้อีก คือ ปัญญาเจตสิกซึ่งเกิดกับอรหัตตผลจิต

ข้อความต่อไปมีว่า

ต่อแต่นี้ไปเพื่อที่จะให้ทราบว่า การบรรลุอัญญินทรีย์นี้จะมีได้ก็ด้วยภาวนา และเมื่อบรรลุอัญญินทรีย์นี้แล้ว ก็ไม่มีกิจอะไรที่จะพึงกระทำยิ่งๆ ขึ้นไปอีก พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงอัญญาตาวินทรีย์ อันเป็นความเบาใจอย่างยอดเยี่ยมไว้เป็นข้อสุดท้าย

ลำดับในเรื่องอินทริยะนี้ เป็นดังกล่าวมานี้

นี่คือเหตุผลที่ทรงแสดงอินทริยะ ๒๒ ไว้โดยลำดับ

สำหรับข้อความต่อไป เป็นข้อความที่วินิจฉัยโดยความต่างกันและไม่ต่างกันของอินทริยะ ๒๒

ข้อความมีว่า

โดยความต่างกันและไม่ต่างกันนั้น หมายความว่าบรรดาอินทริยะเหล่านี้ มีความต่างกันเฉพาะชีวิตินทริยะเท่านั้น เพราะชีวิตินทริยะนั้นมี ๒ อย่าง คือ รูปชีวิตินทริยะ ๑ อรูปชีวิตินทริยะ ๑ อินทริยะที่เหลือไม่มีความต่างกัน

คือ เป็นรูปก็เป็นรูป เป็นนามก็เป็นนาม ไม่เหมือนชีวิตินทริยะซึ่งเป็น รูปชีวิตินทริยะ ๑ และเป็นอรูป คือ นามชีวิตินทริยะ ๑

ในเรื่องอินทรีย์นี้ พึงทราบวินิจฉัยโดยความต่างกันและไม่ต่างกันดังกล่าวมานี้แล

เรื่องของอินทรีย์ไม่ใช่อยู่ที่อื่น ทุกท่านกำลังมี ตา หู จมูก ลิ้น กาย มีแม้ อิตถินทรีย์ ปุริสินทรีย์ ชีวิตินทริยะ มนินทรีย์ มีแม้สุขินทรีย์ ทุกขินทรีย์ โสมนัสสินทรีย์ โทมนัสสินทรีย์ หรืออุเปกขินทรีย์ แต่ว่าจะมีสัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์มากน้อยขนาดไหน

ข้อสำคัญที่สุด คือ ทุกท่านรู้ด้วยตนเองว่า การอบรมเจริญภาวนาไม่เป็นโมฆะจนกว่าอนัญญาตัญญัสสามีตินทริยะจะเกิด ซึ่งเมื่อเกิดแล้วก็เป็นเรื่องที่จะต้องเจริญต่อไปจนกระทั่งถึงอัญญินทรีย์ และอัญญาตาวินทรีย์

ถ. นามชีวิตินทริยะคืออะไร

สุ. ได้แก่ ชีวิตินทริยเจตสิก ซึ่งเป็นเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวง

ถ. คล้ายๆ กับมนินทรีย์

สุ. มนินทรีย์ ได้แก่ จิตปรมัตถ์ ไม่ใช่เจตสิกปรมัตถ์

ถ. จิตทุกดวงเป็นอินทรีย์ได้ทั้งนั้น

สุ. ได้ เพราะว่าจิตทุกดวงเป็นที่ตั้ง หรือว่าเป็นที่เกิดของเจตสิก เป็นใหญ่เป็นประธานโดยเป็นที่ตั้งของเจตสิก เป็นที่เกิดของเจตสิก เจตสิกจะไม่เกิดที่อื่น นอกจากเกิดกับจิต

ถ. อกุศลจิต เช่น โลภะ จะเป็นอินทรีย์ได้ไหม

สุ. เป็นได้ โดยความหมายที่ว่า เป็นอินทริยะ เป็นประธาน เพราะว่าเป็นที่ตั้งของเจตสิก คือ เป็นที่เกิดของเจตสิกนั่นเอง

สภาพที่เป็นอินทริยปัจจัยต้องเป็นปัจจัยแก่สภาพธรรมอื่นในขณะนั้น ซึ่งเวลาที่จิตเกิดขึ้นในขณะนั้นมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย จิตเป็นปัจจัยแก่เจตสิกโดยเป็น อินทริยปัจจัย เพราะถ้าไม่มีจิต เจตสิกก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น จิตจึงเป็นมนินทรีย์

ถ. ขณะที่เจริญสติ อาจจะระลึกถึงสภาพที่เป็นอินทรีย์ก็ได้

สุ. แน่นอนที่สุด และตราบใดที่ยังไม่ระลึกสภาพที่เป็นอินทรีย์ จะไม่เข้าถึงลักษณะที่เป็นอนัตตา

ขอต่อเรื่องของชีวิตินทริยะ ซึ่งข้อความใน อัฏฐสาลินี อธิบายชีวิตินทริยะว่า

สภาวะที่ชื่อว่าอายุ เพราะทำให้สหชาตธรรมเป็นไปได้ จริงอยู่เมื่ออายุมีอยู่ ธรรมทั้งหลายก็ดำเนินไป คือ เป็นไปได้ อนึ่ง เพราะเมื่ออายุมีอยู่เท่านั้น ธรรมเหล่านี้จึงตั้งอยู่ได้ เป็นไปได้ ให้เป็นไปได้ ดำเนินไปได้ หล่อเลี้ยงอยู่ได้

ท่านผู้ฟังมีชีวิตอยู่ หมายความว่ายังมีอายุอยู่หรือเปล่า ยังไม่สิ้นอายุใช่ไหม คือ ยังมีความเป็นไปได้ สำหรับนามชีวิตินทรีย์ก็ทำให้สหชาตธรรมคือเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกันและจิตเป็นไปได้ ชีวิตินทริยะที่เป็นเจตสิกเกิดพร้อมกับจิตและเจตสิกทุกดวง เพราะฉะนั้น เป็นสหชาตธรรมซึ่งอุปถัมภ์ให้สภาพธรรมที่เกิดร่วมด้วยเป็นไปได้ ฉะนั้น จึงมีข้อความว่า อนึ่ง เพราะเมื่ออายุมีอยู่เท่านั้น ธรรมเหล่านี้จึงตั้งอยู่ได้ เป็นไปได้ ให้เป็นไปได้ ดำเนินไปได้ หล่อเลี้ยงอยู่ได้

ไม่ว่านามธรรมหรือรูปธรรมมีอายุทั้งนั้นขณะที่ยังไม่ดับไป จิตเกิดดับเร็ว เพราะว่าจิตมีอายุ คือ อนุขณะสั้นๆ เพียง ๓ ขณะ ได้แก่ อุปาทขณะ ขณะที่เกิดขึ้น ฐีติขณะ ขณะที่ยังไม่ดับ และภังคขณะ ขณะที่ดับ

เร็วมาก แต่ตราบที่จิตตั้งอยู่ ก็เพราะชีวิตินทริยเจตสิกเกิดร่วมด้วยในขณะนั้น อุปถัมภ์ให้นามธรรมซึ่งชีวิตินทริยเจตสิกเกิดร่วมด้วยดำรงอยู่ตามอายุของสภาพธรรมนั้นๆ คือ ถ้าเป็นนามธรรมก็มี ๓ ขณะย่อย ได้แก่ อุปาทขณะ ฐีติขณะ และ ภังคขณะ

ข้อความใน อัฏฐสาลินี อธิบายชีวิตินทริยะซึ่งเป็นนามธรรมว่า

ที่ชื่อว่าชีวิต เพราะเป็นเหตุให้ธรรมที่สัมปยุตต์ด้วยชีวิตนั้นเป็นอยู่ได้ ชื่อว่าอินทริยะ

ถ้าพบคำว่า สัมปยุตต์ ต้องหมายความถึงนามธรรมเป็นปัจจัยแก่นามธรรมเท่านั้น ถ้านามธรรมเป็นปัจจัยแก่รูปธรรม ไม่ใช่สัมปยุตธรรม เพราะว่าสัมปยุตตธรรมหมายความถึงธรรมซึ่งมีสภาพที่เกิดร่วมกัน เข้ากันได้สนิทอย่างดี ดับพร้อมกัน มีอารมณ์เดียวกัน และเกิดที่เดียวกัน เพราะฉะนั้น สัมปยุตตธรรม ได้แก่ จิตปรมัตถ์และเจตสิกปรมัตถ์เท่านั้น เพราะว่าเป็นนามธรรมด้วยกันจึงเข้ากันได้อย่างสนิท

นามธรรมเป็นปัจจัยแก่รูปธรรมได้ไหม

ได้ แต่ไม่สามารถที่จะกลมกลืนเข้ากันสนิทเหมือนนามธรรมต่อนามธรรม เพราะฉะนั้น นามธรรมเป็นปัจจัยแก่รูปธรรมโดยวิปปยุตตปัจจัย

รูปธรรมเป็นปัจจัยให้เกิดนามธรรมได้ไหม

ได้ แต่ไม่ใช่สภาพธรรมอย่างเดียวกัน คือ ไม่สามารถที่จะเข้ากันสนิทกลมกลืนเหมือนกับสภาพธรรมซึ่งเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน มีอารมณ์เดียวกัน และเกิดที่เดียวกันได้ เพราะฉะนั้น รูปธรรมใดซึ่งเป็นปัจจัยให้นามธรรมเกิดขึ้นได้ ก็โดยเป็น วิปปยุตตปัจจัย แต่ถ้าเป็นปัจจัยโดยสัมปยุตตปัจจัยหมายเฉพาะนามธรรม คือ จิตและเจตสิกเป็นปัจจัยซึ่งกันและกันเท่านั้น

เพราะฉะนั้น ข้อความที่ว่า ที่ชื่อว่าชีวิต เพราะเป็นเหตุให้ธรรมที่สัมปยุตต์ด้วยชีวิตนั้นเป็นอยู่ได้ ชื่อว่าอินทริยะ จึงหมายความถึงชีวิตินทริยเจตสิก

เพราะมีสภาพครอบครองความเป็นใหญ่ในลักษณะแห่งการตามรักษาชีวิต นั่นแลเป็นอินทรีย์ จึงชื่อว่าชีวิตินทริยะ

เป็นใหญ่ไหม ถ้าไม่มีก็ตั้งอยู่ไม่ได้ สภาพธรรมทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม เพราะฉะนั้น ที่จิตดำรงอยู่แม้ชั่วขณะเล็กน้อยก็ให้เห็นว่า เป็นเพราะ ชีวิตินทริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย จึงอุปถัมภ์จิตและเจตสิกอื่นๆ ที่เกิดพร้อมกันให้ดำรงอยู่ได้ จึงมีข้อความว่า เพราะมีสภาพครอบครองความเป็นใหญ่ในลักษณะแห่งการตามรักษาชีวิตนั่นแลเป็นอินทรีย์ จึงชื่อว่าชีวิตินทริยะ

เมื่อว่าโดยลักษณะเป็นต้น ชีวิตินทริยะนั้น มีการอุปถัมภ์รักษาธรรมทั้งหลายที่ไม่แยกจากตน เป็นลักษณะ

มีการทำให้ธรรมเหล่านั้นเป็นไป เป็นรสะ

มีความดำรงไว้ซึ่งธรรมเหล่านั้นแหละ เป็นปัจจุปัฏฐาน คือ เป็นอาการที่ปรากฏ

มีธรรมที่พึงให้เป็นไปได้ เป็นปทัฏฐาน

สำหรับชีวิตินทริยรูปก็โดยนัยเดียวกัน แต่ไม่ใช่นามธรรม เป็นรูปธรรมที่ทำให้รูปซึ่งเกิดเพราะกรรมซึ่งตนเกิดร่วมด้วยเป็นรูปที่ดำรงชีวิต ต่างกับรูปอื่นๆ ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเพราะกรรม

สำหรับลักษณะเป็นต้นของชีวิตินทริยรูป มีข้อความว่า

มีการอุปถัมภ์ตามรักษาธรรมทั้งหลายที่เกิดร่วมกัน เป็นลักษณะ

มีความประพฤติเป็นไปของรูปธรรมนั้นๆ เป็นรสะ คือ เป็นกิจ

มีความดำรงอยู่ของรูปธรรม เป็นปัจจุปัฏฐาน คือ อาการที่ปรากฏ

มีภูตรูปอันจะพึงยังรูปธรรมนั้นๆ ให้เป็นไป เป็นปทัฏฐาน คือ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด

ชีวิตินทริยะนั้นย่อมอุปถัมภ์รักษาธรรมเหล่านั้นในขณะที่มีอยู่เท่านั้น เหมือนน้ำที่หล่อเลี้ยงดอกอุบลเป็นต้น และชีวิตินทริยะนั้นย่อมรักษาธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นด้วยปัจจัยของตน ดุจพี่เลี้ยงเลี้ยงดูกุมาร ฉะนั้น และเป็นไปโดยสัมพันธ์กันกับธรรมที่ตนให้เป็นไปแล้ว ดุจต้นหนยังเรือให้แล่นไป ฉะนั้น ชีวิตินทริยะนั้นให้เป็นไปเหนือ ภังคขณะไม่ได้ เพราะความที่ตนและธรรมที่จะพึงให้เป็นไปไม่มี ธำรงไว้ในขณะแห่งภังคะไม่ได้ เพราะตัวเองก็สลาย ดุจเมื่อไส้และน้ำมันหมดเปลวประทีปก็หมด ฉะนั้น

ท่านผู้ฟังได้ฟังเรื่องของชีวิตินทริยรูปและชิวิตินทริยนาม และได้รู้ลักษณะของ ชีวิตินทริยเจตสิกและชีวิตินทริยรูป ให้ทราบว่า ในขณะนี้รูปที่กายซึ่งมีความประพฤติเป็นไป หรือมีความดำรงอยู่ ก็เพราะชีวิตินทริยรูปนั่นเอง

ขณะนี้มีจักขุปสาทอยู่ไหม ขณะที่เห็นนี้จักขุปสาทยังดับไม่ได้ เพราะถ้าดับไปการเห็นจะมีไม่ได้ ในขณะที่เห็นแสดงว่า จักขุปสาทเกิดและยังไม่ดับการเห็นจึงเกิดได้ เพราะฉะนั้น ก็หยั่งลงไปถึงชีวิตินทริยรูปว่า จักขุปสาทขณะนี้ยังไม่ดับไป ที่มีการเห็นในขณะนี้ เพราะชีวิตินทริยรูปอุปถัมภ์ให้ตั้งอยู่ในขณะที่ยังไม่ดับ

เพราะฉะนั้น ชีวิตของทุกท่านมีความเป็นไปในวันหนึ่งๆ ถ้าดูอย่างหยาบก็แสดงว่ายังดำรงชีวิตอยู่ ยังเป็นรูปที่ดำรงชีวิต ยังทรงชีวิต เพราะชีวิตินทริยรูปเกิดร่วมกับกลุ่มของรูปซึ่งเกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัยให้ดำรงอยู่ ยังไม่หมดกรรม ยังไม่สิ้นกรรม ยังคงเป็นบุคคลนี้อยู่ เพราะฉะนั้น กัมมชรูปก็เกิดขึ้นเพราะกรรมทำให้รูปนั้นๆ เกิดขึ้นเป็นไป และมีชีวิตินทริยรูปตามอุปถัมภ์รักษารูปนั้นตราบเท่าที่รูปนั้นยังตั้งอยู่ แต่รูปก็เกิดและก็ดับไปๆ เพราะฉะนั้น ชีวิตินทริยรูปก็ตามรักษาเฉพาะในขณะที่ดำรงอยู่ ไม่ใช่ในภังคขณะ เพราะว่าแม้ตนเองก็สลายในภังคขณะด้วย จึงไม่สามารถทำกิจอุปถัมภ์หรือว่าดำรงรักษารูปธรรมซึ่งเกิดร่วมด้วยในขณะนั้น

ถ. ชีวิตินทริยเจตสิกนี้รักษารูปได้หรือเปล่า

สุ. ไม่ได้

ถ. ต้องรักษานามอย่างเดียว รูปรักษารูป นามรักษานาม แต่ละฝ่าย รักษาซึ่งกันและกันไม่ได้

สุ. สำหรับรูปที่เกิดเพราะจิตเป็นปัจจัย มีจิตเป็นสมุฏฐานจึงเกิดขึ้น ในขณะนั้นไม่มีชีวิตรูปเกิดร่วมด้วย ถูกไหม เพราะฉะนั้น อะไรทำให้ชีวิตรูปดำรงอยู่ เป็นรูปซึ่งเกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย ฉะนั้น กรรมนั่นเองทำให้ชีวิตินทริยรูปเกิดขึ้น ทำกิจของชีวิตินทริยรูป ด้วยเหตุนี้จึงมีชีวิตินทริยะ ๒ ประเภท คือ ชีวิตินทริยรูป ๑ และชีวิตินทริยอรูป คือ ชีวิตินทริยเจตสิก ๑

เปิด  241
ปรับปรุง  19 ต.ค. 2566