แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1164

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๐ ตุลาคม ต่อวันอาทิตย์ที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๒๕


ขอย้อนกล่าวถึงในขณะปฏิสนธิ มีมนินทรีย์ซึ่งเป็นจิต ขณะนั้นเป็นที่ตั้งของเจตสิกทั้งหลายซึ่งเกิดร่วมด้วย เป็นจิตปรมัตถ์ เป็นมนินทรีย์เพราะว่าเป็นใหญ่ เป็นประธาน ถ้าจิตไม่เกิดเจตสิกทั้งหลายก็เกิดไม่ได้ ๑ อินทริยะแล้ว ขณะนั้นมี หทยทสกะ คือ กลุ่มของรูปจำนวน ๑๐ ได้แก่ มหาภูตรูป ๔ ซึ่งเป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม และอุปาทายรูป คือ สี กลิ่น รส โอชา รวม ๘ รูป เป็น อวินิพโภครูป คือ รูปที่ไม่แยกจากกัน และมีชีวิตินทริยรูปในกลุ่มนั้นด้วย เพราะว่าเป็นรูปซึ่งเกิดเพราะกรรม และมีหทยรูป คือ รูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิต

ในกลุ่มนั้นมีอินทริยปัจจัยไหม

มี คือ มีชีวิตินทริยรูป ในขณะนั้นมีสภาพซึ่งเป็นอินทรีย์แล้ว แต่ไม่มีใครรู้ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ และในขณะนั้นสติปัฏฐานเกิดไม่ได้ เพราะว่าเป็นเพียงขณะแรกของจิตซึ่งเกิดขึ้นทำกิจสืบต่อจากชาติก่อน

สำหรับกลาปหรือกลุ่มที่ ๒ กายทสกะ คือ กลาปหรือกลุ่มของรูปซึ่งมีจำนวน ๑๐ ได้แก่ อวินิพโภครูป ๘ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม สี กลิ่น รส โอชา กายปสาทรูป และชีวิตินทริยรูป

กลุ่มนั้นมีอินทริยะไหม

มี คือ กายินทรีย์ และชีวิตินทรีย์

แสดงให้เห็นถึงสภาพที่เป็นใหญ่ตั้งแต่ปฏิสนธิ และจะเกิดดับสืบต่อดำรงสภาพที่เป็นใหญ่ จนกว่าจะเป็นสภาพที่สามารถรู้อารมณ์ทางทวารต่างๆ ได้

สำหรับกลาปหรือกลุ่มที่ ๓ คือ ภาวทสกะ ก็มีกลุ่มของรูปจำนวน ๑๐ ได้แก่ อวินิพโภครูป ๘ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม สี กลิ่น รส โอชา และชีวิตินทริยรูป ๑ และ ถ้าเป็นหญิงก็เป็นอิตถินทรีย์ ถ้าเป็นชายก็เป็นปุริสินทรีย์ อีก ๑ รูป

ในกลุ่มนั้นมีอินทริยะไหม

มี ๒ คือ ชีวิตินทริยะ ๑ อิตถินทรีย์หรือปุริสินทรีย์ ๑

อินทรีย์ใดเป็นปัจจัย อินทรีย์ใดไม่เป็นปัจจัย

ชีวิตินทรีย์เป็นอินทริยปัจจัย อิตถินทรีย์หรือปุริสินทรีย์เป็นอินทรีย์แต่ไม่เป็นอินทริยปัจจัย

นี่เป็นความละเอียดซึ่งแสดงให้เห็นว่า เมื่อผ่านการเจริญเติบโตมาจนกระทั่งถึงมีโอกาสได้ฟังพระธรรมเรื่องการเจริญอินทรีย์ ๕ คือ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา แต่ต้องในขณะที่สติหรือสตินทรีย์ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เช่น ทางตาในขณะนี้ที่จะเห็นจริงๆ ว่า จักขุปสาทเป็นอินทรีย์ เป็นจักขุนทรีย์ ต้องในขณะที่สติกำลังระลึกที่สภาพที่กำลังปรากฏทางตา มิฉะนั้นแล้วจักขุนทรีย์เป็นใหญ่เพียง ในตำรา แต่เวลาเห็นนี่ไม่รู้เลย ถ้าไม่ระลึกจริงๆ จะไม่รู้ว่า สิ่งที่มีปรากฏในขณะนี้ที่ว่าเป็นอนัตตา เพราะเหตุว่าถ้าปราศจากจักขุปสาท สิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้ ไม่ปรากฏ

และจะเห็นความเป็นจักขุนทรีย์ยิ่งขึ้นเมื่อสติเจริญขึ้น โดยรู้ว่าในขณะใดที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ขณะนั้นสิ่งอื่นทั้งหมดไม่มี เป็นอย่างนี้หรือเปล่า เป็นแล้วหรือยัง ที่จะรู้ว่าเป็นจักขุนทรีย์จริงๆ เพราะว่าในขณะที่สภาพธรรมกำลังปรากฏในขณะนี้มีการเห็น การได้ยินไม่มี การคิดนึกไม่มี การลิ้มรสไม่มี การได้กลิ่นไม่มี เรื่องราวต่างๆ ไม่มี มีแต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ถ้ายังไม่เป็นเพียงสภาพธรรมที่ปรากฏเพียงอย่างเดียว ยังมีตัวตนอยู่ ลักษณะของจักขุนทรีย์ก็ไม่ปรากฏตามความเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงชั่วขณะที่มีการเห็น สภาพธรรมจึงกำลังปรากฏในขณะนี้

เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐานจะขาดการศึกษาเรื่องของอินทรีย์ไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

ทางหู ถ้าขณะใดที่เสียงปรากฏ สติระลึกที่สภาพที่ได้ยิน หรือว่าระลึกลักษณะของเสียงก็ตาม ในขณะนั้นถ้าปรากฏว่าไม่มีสิ่งอื่นเลยจริงๆ ในขณะนั้นจะเห็นความเป็นอินทรีย์ของโสตินทรีย์ว่า มีแต่เพียงเสียงที่ปรากฏเท่านั้นในขณะนั้น รูปอื่นไม่มี ไม่ปรากฏในขณะนั้น เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นโสตปสาทเท่านั้นจึงเป็นอินทรีย์

ถ้าในขณะที่กระทบสัมผัสด้วย รูปอื่นปรากฏด้วย และเสียงปรากฏด้วย อย่างนั้นจะประจักษ์ในสภาพที่เป็นอินทรีย์ของโสตปสาทหรือกายปสาทได้ไหม ก็ไม่ได้

การที่จะประจักษ์ในสภาพที่เป็นอินทรีย์ของแต่ละทวารจริงๆ ต้องเมื่อสติระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏและจะรู้ได้ว่า ถ้าปราศจากอินทรีย์ซึ่งเป็นปัจจัย สภาพธรรมนั้นก็ปรากฏไม่ได้

เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐาน แต่ไม่เข้าใจเรื่องอินทรีย์ จะเป็นไปได้ไหม และไม่ได้อยู่ในตำรา หรือในหนังสือ แต่เป็นในขณะที่สภาพธรรมปรากฏ จึงสามารถรู้ลักษณะที่เป็นอินทรีย์ของสภาพธรรมซึ่งเป็นรูปธรรมและนามธรรมได้ว่า สภาพธรรมใดเป็นอินทรีย์ สภาพธรรมใดไม่ใช่อินทรีย์ เพราะถ้าไม่รู้ลักษณะที่ละเอียดขึ้นของนามธรรมและรูปธรรมก็ยากที่จะละการยึดถือว่า นามธรรมและรูปธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา

ถ. ในอินทรีย์ ๒๒ จะมีอินทรีย์อย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นใหญ่กว่าอินทรีย์อีกอย่างหนึ่งไหม

สุ. ไม่เหมือนอธิปติปัจจัย เพราะสำหรับอธิปติปัจจัย ถึงแม้ว่าจะมีอธิปติหลายอย่าง เช่น ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา แต่เวลาที่สภาพธรรมหนึ่งเป็นอธิบดี สภาพธรรมอื่นแม้เกิดร่วมด้วยก็ไม่เป็นอธิบดี

แต่สำหรับอินทริยปัจจัยไม่ใช่อย่างนั้น สภาพที่เป็นอินทริยปัจจัยเป็นใหญ่เฉพาะในกิจหน้าที่ของตน ไม่ก้าวก่ายในกิจหน้าที่อื่น เช่น จักขุนทรีย์ จักขุปสาทเป็นใหญ่เฉพาะในขณะที่เป็นปัจจัย ไม่เป็นใหญ่ในขณะที่ได้ยินเสียง หมดหน้าที่ หมดเรื่อง หมดสภาพความเป็นใหญ่ในขณะที่โสตินทรีย์เป็นใหญ่ในขณะที่ได้ยินเสียง

ถ. ที่สงสัย คือ มนินทรีย์และนามชีวิตินทรีย์ เป็นจิตและเจตสิก เกิดพร้อมกันใช่ไหม

สุ. ต่างเป็นใหญ่ในกิจของตน คือ มนินทรีย์ไม่สามารถทำกิจอุปถัมภ์นามธรรมหรือสัมปยุตตธรรมซึ่งเกิดร่วมด้วย และชีวิตินทริยะก็ไม่ได้เป็นใหญ่ในการเป็นประธานให้เจตสิกและจิตเกิดร่วมกับตน เพราะว่าตนเองเป็นแต่เพียงเจตสิกประเภทหนึ่ง

ถ. แต่ถ้าไม่มีมนินทรีย์ นามชีวิตินทริยะก็เกิดไม่ได้ ใช่ไหม

สุ. แต่เมื่อมีมนินทรีย์ ชีวิตินทริยะทำกิจอุปถัมภ์มนินทรีย์ เพราะฉะนั้น โดยกิจที่อุปถัมภ์หรือรักษามนินทรีย์ให้ดำรงอยู่ตามอายุ ในขณะนั้นสภาพที่เป็นใหญ่ในการอุปถัมภ์ คือ ชีวิตินทริยเจตสิก

ถ. ตามความเข้าใจคิดว่า มนินทรีย์น่าจะเป็นใหญ่กว่าชีวิตินทรีย์ เพราะถ้าไม่มีจิต เจตสิกก็เกิดไม่ได้

สุ. ลองคิดอย่างนี้ ถ้าว่าจิตเป็นใหญ่เสมอตลอดกาล เวลาที่รู้สึกดีใจ ลักษณะอะไรปรากฏ

ถ. ลักษณะของโสมนัสเวทนา

สุ. โสมนัสเวทนาเป็นใหญ่ ใช่ไหม ในขณะที่รู้สึกอย่างนั้น เพราะฉะนั้น จะให้มนินทรีย์เป็นใหญ่ตลอดกาลอย่างเดียวไม่ได้ เพราะว่าสภาพธรรมอื่นโดยลักษณะที่ปรากฏจริงๆ ก็เป็นใหญ่ในลักษณะนั้น คือ ในขณะที่มีความรู้สึกอย่างนั้น เพราะฉะนั้น สภาพธรรมใดที่เป็นใหญ่ ก็เป็นใหญ่ตามกิจของสภาพธรรมนั้นๆ เท่านั้นเอง

ถ. แม้ว่าจะเกิดพร้อมกัน

สุ. แม้ว่าจะเกิดพร้อมกัน แต่ทำกิจต่างกัน อินทรีย์เป็นใหญ่เฉพาะในกิจของอินทรีย์นั้นๆ เช่น สุขินทรีย์เป็นใหญ่เพียงทำให้เกิดความสุข และสัมปยุตตธรรมทั้งหลายก็เป็นไปตามกำลังของสุขเวทนา ลักษณะที่เป็นสุขในขณะนั้น

อินทรีย์แต่ละอินทรีย์เป็นใหญ่เฉพาะกิจของตนๆ อย่างเช่น จักขุปสาทเป็นใหญ่ในขณะเห็น โสตปสาทเป็นใหญ่ในขณะได้ยิน แต่โสตปสาทจะไม่เป็นใหญ่ในขณะเห็น จักขุปสาทจะไม่เป็นใหญ่ในขณะที่ได้ยิน

ปัญหานี้น่าคิด ท่านผู้ฟังถามว่า ทำไมโลภะไม่เป็นใหญ่ ซึ่งที่จริงแล้วเป็นสมุทัยใช่ไหม

ถ. ใช่

สุ. ถ้าไม่มีโลภะ หรือว่าดับโลภะแล้ว สังสารวัฏฏ์ย่อมไม่มี แต่อะไรใหญ่กว่าโลภะ ที่ดับโลภะได้

ถ. ปัญญา

สุ. เพราะฉะนั้น ปัญญาเป็นอินทรีย์ ซึ่งท่านผู้ฟังจะได้เห็นความละเอียดของพระธรรมที่จะต้องพิจารณาโดยรอบคอบจริงๆ เวลาที่ได้ฟังธรรมแต่ละเรื่องและ ยังมีขณะที่จะพิจารณาและเกิดความคิด ความสงสัย พร้อมกันนั้นถ้าพิจารณาเหตุผลก็อาจจะตอบได้ด้วยตัวเอง

เช่น ถ้าถามต่อไปว่า เมื่อโลภะไม่เป็นอินทริยะแล้ว โลภมูลจิตเป็นอินทริยะหรือเปล่า ต่างกันนิดเดียว คือ ถ้าถามว่าโลภะเป็นอินทริยะไหม คำตอบคือ ไม่เป็น แต่ถ้าถามต่อไปว่า โลภมูลจิตเป็นอินทริยะหรือเปล่า คำตอบคือ เป็น เป็นอะไร เป็นมนินทรีย์ เพราะฉะนั้น เพียงแต่โลภะเพียงคำเดียวเป็นเจตสิกไม่ใช่อินทรีย์ แต่เมื่อเป็นโลภมูลจิต เป็นจิต เป็นมนินทรีย์ เพราะฉะนั้น จึงเป็นอินทริยะ

สำหรับในเรื่องของการออกเสียงภาษาบาลีและภาษาไทย โดยเฉพาะในเรื่องของอินทริยะ ท่านผู้ฟังคงจะแปลกใจว่า เดี๋ยวก็เป็นอินทรีย์ เดี๋ยวก็เป็นอินทริยะ ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะว่าภาษาไทยกับภาษาบาลีปะปนกันมานานแล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าจะใช้ภาษาบาลีล้วน ท่านผู้ฟังบางท่านก็อาจจะรู้สึกแปร่งหู หรือถ้าจะใช้แต่เฉพาะภาษาไทยเท่านั้น ก็จะไม่ทราบว่าการออกเสียงที่ถูกต้องในภาษาบาลีควรจะเป็นอย่างไร

เพราะฉะนั้น สำหรับในรุ่นต่อไป หวังว่าการบรรยายธรรมคงจะเป็นภาษาบาลีล้วนโดยถูกต้องให้ตรงกับพุทธศาสนาสากล ซึ่งใช้ภาษาบาลีโดยถูกต้องมากกว่า ใช้ภาษาบาลีแบบไทย แต่ทั้งนี้ก็ต้องแล้วแต่ความนิยม หรือว่าแล้วแต่การวินิจฉัยของแต่ละท่านว่าสมควรจะเป็นอย่างไร เพราะว่าภาษาเป็นเรื่องที่ไม่ตายตัว ต้องแล้วแต่ความนิยมของแต่ละสมัย เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังจะได้ฟังว่าอินทริยะบ้าง อินทรีย์บ้าง ก็เป็นเรื่องของภาษาไทยกับภาษาบาลีที่ปนกัน แต่ให้ทราบว่า ถ้าพูดถึงอินทริยะก็เป็นภาษาบาลี ซึ่งภาษาไทยใช้คำว่า อินทรีย์

ถ้าท่านผู้ฟังศึกษาเองจากพระไตรปิฎกหรืออรรถกถาจะเห็นได้ว่า การจำแนกอินทริยะ หรือว่าการนับจำนวนของอินทริยะ ๒๒ อาจจะนับได้หลายนัย เช่น รูปที่เป็นอินทรีย์หรืออินทริยะมี ๘ นามที่เป็นอินทรีย์ก็มี ๘ เช่นเดียวกัน โดยนับองค์ธรรม ได้แก่ ชีวิตินทริยะ ๑ มนินทริยะ ๑ เวทนินทริยะ ๑ สัทธินทริยะ ๑ วิริยินทริยะ ๑ สตินทริยะ ๑ สมาธินทริยะ ๑ และปัญญินทริยะ ๑ ซึ่งเป็นการนับโดยย่อ ไม่จำแนกปัญญาออกเป็น ๔ และไม่จำแนกเวทนาออกเป็น ๕

การศึกษาสภาพธรรมนี้ ศึกษาเพื่อให้เข้าใจให้ถูก ส่วนการที่จะแสดงจำนวนโดยวิธีต่างๆ ก็แล้วแต่ว่าจะแสดงโดยจำนวน ๒๒ หรือว่าจะแสดงโดยจำนวนที่เป็น รูปที่เป็นอินทรีย์ ๘ นามอินทรีย์ ๘ ก็ได้ หรือว่าจะแสดงรูปอินทรีย์ ๗ นามอินทรีย์ ๑๔ นามและรูปอินทรีย์ ๑ ก็ได้ ถ้าเข้าใจโดยถูกต้องแล้ว ไม่ว่าพระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงอย่างไร ก็สามารถพิจารณาและเข้าใจได้

ถ้าจัดอินทริยะตามทวาร ๕ ท่านผู้ฟังจะเห็นความต่างกันของ คัมภีร์ปัฏฐาน และ คัมภีร์วิภังค์ ซึ่งต่างก็เป็นอภิธรรมปิฎก ว่ามีความต่างกันดังนี้

คัมภีร์วิภังค์ จัดอินทรีย์ตามทวารเป็น ๑.จักขุนทรีย์ ๒.โสตินทรีย์ ๓.ฆานินทรีย์ ๔.ชิวหินทรีย์ ๕.กายินทรีย์ ๖.มนินทรีย์ ๗.อิตถินทรีย์ ๘.ปุริสินทรีย์ ๙.ชีวิตินทรีย์ ๑๐.สุขินทรีย์ ๑๑.ทุกขินทรีย์ ๑๒.โสมนัสสินทรีย์ ๑๓.โทมนัสสินทรีย์ ๑๔.อุเปกขินทรีย์ ๑๕.สัทธินทรีย์ ๑๖.วิริยินทรีย์ ๑๗.สตินทรีย์ ๑๘.สมาธินทรีย์ ๑๙.ปัญญินทรีย์ ๒๐.อนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์ ๒๑.อัญญินทรีย์ ๒๒.อัญญาตาวินทรีย์

โดยนัยของ วิภังคปกรณ์ จำแนกโดยทวาร ๖ ซึ่งจักขุนทรีย์เป็นที่ ๑ โสตินทรีย์เป็นที่ ๒ ฆานินทรีย์เป็นที่ ๓ ชิวหินทรีย์เป็นที่ ๔ กายินทรีย์เป็นที่ ๕ มนินทรีย์เป็นที่ ๖ โดยเหตุผลที่ว่า การรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็เพราะอินทรีย์ ๖ ถ้าไม่มีจักขุปสาท โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท และจิต จะไม่มีสภาพธรรมใดๆ ปรากฏเลย

แม้ว่าจิตจะเกิดดับที่หทยวัตถุตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิ คือ ปฏิสนธิจิตเกิดพร้อมกับปฏิสนธิกัมมชรูป ซึ่งกลุ่มหนึ่งเป็นหทยทสกะ เป็นรูปที่เกิดของจิต ในขณะนั้นจิตเกิดขึ้นแล้ว เป็นสภาพที่รู้อารมณ์ แต่ว่าเป็นการรู้อารมณ์ที่สืบต่อมาจากอารมณ์ของจิตใกล้จะจุติของชาติก่อน จึงไม่ใช่อารมณ์ที่ต้องอาศัยตา หรือหู หรือจมูก หรือลิ้น หรือกาย หรือใจ เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นแม้มีจิตและมีรูปพร้อมทั้ง ๕ ขันธ์ แต่ยังไม่มีการรู้อารมณ์ใดๆ ที่ปรากฏ

ใน คัมภีร์วิภังคปกรณ์ จำแนกอินทรียะ ๒๒ ตามทวาร แต่ใน คัมภีร์ปัฏฐาน จำแนกการเป็นปัจจัยของรูปส่วนหนึ่ง และของนามส่วนหนึ่ง เพราะฉะนั้น สำหรับ คัมภีร์ปัฏฐาน แสดงรูปเป็นปัจจัยโดย ๑. จักขุนทรีย์ ๒. โสตินทรีย์ ๓. ฆานินทรีย์ ๔. ชิวหินทรีย์ ๕. กายินทรีย์ ๖. อิตถินทรีย์ ๗. ปุริสินทรีย์ ๘. ชีวิตินทรีย์ ๙. มนินทรีย์

นี่คือความต่างกัน เพราะว่ายกรูปทั้งหมดซึ่งเป็นอินทรีย์ก่อน แม้ว่าอิตถินทรีย์และปุริสินทรีย์จะไม่เป็นอินทริยปัจจัย แต่เพราะเป็นรูปจึงได้ยกสภาพของรูปซึ่งเป็นอินทรีย์ทั้งหมดก่อนรวม ๘ รูปที่เป็นอินทรีย์ คือ จักขุปสาทเป็นจักขุนทรีย์ โสตปสาทเป็นโสตินทรีย์ ฆานปสาทเป็นฆานินทรีย์ ชิวหาปสาทเป็นชิวหินทรีย์ กายปสาทเป็นกายินทรีย์ อิตถีภาวรูปเป็นอิตถินทรีย์ ปุริสภาวรูปเป็นปุริสินทรีย์ และชีวิตินทริยะ ซึ่งเป็นทั้งนามและรูป

เปิด  236
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565