แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1165

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๒๕


บางแห่งถ้าท่านผู้ฟังสังเกต จะเห็นลำดับที่ต่างกันใน วิภังคปกรณ์ และ ใน คัมภีร์ปัฏฐาน แต่โดยเหตุผลให้ทราบว่า คัมภีร์ปัฏฐาน แสดงโดยความเป็นปัจจัยของรูปก่อน ต่อจากนั้นแสดงสภาพของนามธรรมที่เป็นอินทรีย์ สำหรับ วิภังคปกรณ์ แสดงอินทรียะโดยทวาร

ลองคิดดูว่า การรู้ลักษณะของอินทรีย์ที่เป็นรูป จะเป็นไปได้ไหมถ้าสติปัฏฐานไม่เกิดในวันหนึ่งๆ

และขอให้พิจารณาถึงความสำคัญของรูปที่เป็นอินทรีย์ ไม่ว่าท่านจะศึกษาโดยวิชาการใดๆ ก็ตาม ลองพิจารณาดูโดยถ่องแท้ว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้นถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่ที่ว่า ร่างกายทั้งหมดตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า รูปใดบ้างที่เป็นอินทรีย์ จะมีเกินกว่าจักขุปสาท โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท และกายปสาทได้ไหม สำหรับรูปซึ่งเป็นอินทรีย์

ท่านผู้ฟังซึ่งศึกษาวิชาการอื่น คิดว่ามีรูปอื่นซึ่งมีความสำคัญหรือว่าเป็นใหญ่บ้างไหม นอกจากตา หู จมูก ลิ้น กาย และชีวิตินทริยรูป

สมอง หัวใจ เลือด ปอด ตับ ทั้งหมดไม่ใช่อินทริยรูป เพราะว่าเพียงไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูปอื่นที่คิดว่าเป็นปอดบ้าง เป็นหัวใจบ้าง เป็นม้ามบ้าง เป็นตับบ้าง เป็นส่วนต่างๆ ของร่างกายที่สำคัญนั้น จะมีได้ไหม

เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า รูปใดที่เป็นอินทรีย์ รูปนั้นต้องเป็นอินทริยะแน่นอน

ในการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ที่ทุกขลักษณะไม่ปรากฏ อนิจจลักษณะไม่ปรากฏ อนัตตลักษณะไม่ปรากฏ เพราะว่าอิริยาบถปิดบัง ทุกขลักษณะ ฆนสัญญาปิดบังอนัตตา สันตติปิดบังอนิจจัง คือ การเกิดดับซึ่งสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว เพราะว่าทุกขลักษณะก็ดี อนิจจลักษณะก็ดี อนัตตลักษณะก็ดีนั้น เป็นไตรลักษณ์ เป็นการเกิดดับของสภาพธรรมที่ไม่เที่ยงและไม่ใช่ตัวตน จึงเป็นทุกข์

การที่จะเห็นทุกข์ คือ ทุกขลักษณะตามความเป็นจริงได้ ต้องเพิกอิริยาบถ อย่าลืมท่านที่ผ่านพยัญชนะที่ว่า อิริยาบถปิดบังทุกข์ ทำให้ไม่เห็นทุกขลักษณะ เพราะฉะนั้น การที่จะเห็นทุกขลักษณะได้ ก็เพราะเพิกอิริยาบถ

ความหมายของเพิกอิริยาบถคืออย่างไร จะเพิกอิริยาบถอย่างไร

คือ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทีละลักษณะ โดยไม่ยึดรูปร่างใดๆ ไว้ในขณะนั้น

ทางตาที่กำลังเห็น ถ้าสติระลึกรู้ลักษณะสภาพของสิ่งที่กำลังปรากฏเท่านั้น และก็รู้ในลักษณะของสภาพซึ่งเป็นธาตุรู้ อาการรู้เท่านั้น ลักษณะอื่นไม่สามารถจะร่วมปรากฏในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือในสภาพที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏ ทางตาได้เลย เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นไม่มีรูปร่างทั้งหมด มีแต่เฉพาะอินทริยะหนึ่ง คือ จักขุนทรีย์ กำลังเป็นใหญ่ เพราะเป็นปัจจัยให้จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา

ทางหู โดยนัยเดียวกัน ขณะใดที่สติระลึกที่เสียงที่กำลังปรากฏ ต้องไม่ยึดถือรูปร่างซึ่งเคยคิดว่ามี เพราะว่ารูปเกิดดับสืบต่อกันเร็วมาก แต่ละรูปจะดับไปพร้อมกันเมื่อจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้น เมื่อรูปเกิดพร้อมกับขณะจิตใด รูปนั้นจะมีอายุอยู่จนกระทั่งจิตเกิดดับแล้ว ๑๖ ขณะ รวมทั้งในขณะที่รูปนั้นเกิดด้วยอีก ๑ ขณะ จึงเป็น ๑๗ ขณะ รูปนั้นก็ดับไปหมด เพราะฉะนั้น รูปนั้นไม่ได้ปรากฏร่วมด้วยในขณะที่สีกำลังปรากฏทางตา หรือเสียงกำลังปรากฏทางหู หรือกลิ่นกำลังปรากฏทางจมูก หรือรสกำลังปรากฏที่ลิ้น หรือเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหวกำลังปรากฏที่กาย เพราะฉะนั้น ต้องเพิกอิริยาบถ จึงจะเห็นสภาพธรรมที่เป็นอินทรีย์แต่ละอินทรีย์ตามปกติตามความเป็นจริงได้

แต่ถ้าตราบใดยังมีความรู้สึกเหมือนกับเป็นรูปร่างของตัวเราอยู่ จะไม่สามารถประจักษ์ในความเป็นอินทรีย์ของตา หรือหู จมูก ลิ้น กายได้

ถ. ตามที่อาจารย์กล่าว เพิกอิริยาบถ คือ ให้มีสติระลึกรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่ขณะนั้นไม่ได้พูดถึงอิริยาบถ เมื่อไม่ได้พูดถึงอิริยาบถ จะว่าเพิกอิริยาบถได้อย่างไร

สุ. ตามปกติทุกท่านยึดถือรูปใดว่าเป็นตัวตน

ถ. ก็ทั้งหมด ดิน น้ำ ไฟ ลม

สุ. ท่านผู้ฟังกล่าวว่า ทั้งหมด ถูกไหม ยึดถือรูปทั้งหมดตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า เพราะฉะนั้น จึงไม่สามารถจะมีอินทรีย์หนึ่งอินทรีย์ใดปรากฏ เพราะว่ายึดถือรูปซึ่งรวมกันเป็นกลุ่มก้อน ยังไม่ได้เพิกอิริยาบถออก ใช่ไหม แต่เวลาที่สติระลึกลักษณะของรูป เช่น ที่กายนี้ ที่เย็นจะปรากฏได้ต้องมีกายปสาทที่รับกระทบกับโผฏฐัพพะที่เย็นในขณะนั้น โผฏฐัพพะที่เย็นตรงนั้น ส่วนนั้น เฉพาะที่นั้นจึงปรากฏ

เพิกอิริยาบถ คือ ไม่ยึดถือ หรือไม่เข้าใจว่ายังมีตัวตนซึ่งเป็นรูปร่างทั้งหมดของเราอยู่ เมื่อไม่ปรากฏแต่ยังยึดถือว่าเป็นรูปร่างของเราอยู่อย่างนี้ จะเป็นความเห็นถูกหรือความเห็นผิด ในเมื่อรูปร่างในขณะนั้นไม่ปรากฏเลย

ท่านผู้ฟังลองพิจารณาลักษณะของเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็งซึ่งกำลังปรากฏตรงส่วนหนึ่งส่วนใดในขณะนี้ ถ้าสติระลึกตรงนั้น จะมีรูปร่างทั้งหมดปรากฏได้ไหม ยังมีอิริยาบถอยู่ได้ไหมในขณะนั้น

ถ. ขณะนั้นมีไม่ได้

สุ. เมื่อมีไม่ได้ ขณะนั้นที่สติระลึกที่ลักษณะของรูปหนึ่งรูปใดที่ปรากฏ จึงชื่อว่า เป็นการเพิกอิริยาบถ

ถ. อิริยาบถทั้งหมดมี ๔ ขณะที่มีสติระลึกรู้รูปที่เย็น ขณะนั้นเพิกแล้วทั้ง ๔ หรือว่าเพิกอิริยาบถหนึ่งอิริยาบถใด

สุ. ขณะนั้นยึดถือรูปใด อิริยาบถใดว่าเป็นเรา

ถ. ก็ถ้ามีสติระลึกรู้ที่อารมณ์ ก็ไม่มีอิริยาบถหนึ่งอิริยาบถใดว่าเป็นเรา

สุ. ก่อนที่สติจะระลึก ยึดถืออิริยาบถใดว่าเป็นเรา

ถ. ขณะที่นั่ง ก็ยึดว่ากำลังนั่ง

สุ. เพราะฉะนั้น ขณะที่นั่ง ยึดถือรูปที่นั่งว่าเป็นเรา เวลาเพิกอิริยาบถ คือ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดที่ปรากฏทางทวารหนึ่งทวารใด จึงจะเพิกอิริยาบถได้

เช่น ในขณะที่กำลังเห็นทางตา สีสันวัณณะเท่านั้นที่ปรากฏ ถ้ามีความเห็นถูก คือ รู้ในสภาพที่เป็นจักขุนทรีย์ ซึ่งเป็นปัจจัยให้มีสภาพเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ซึ่งไม่ใช่อิริยาบถ ทางหู ก็โดยนัยเดียวกัน ทางจมูก ทางลิ้น แม้ทางกายขณะนี้ ลักษณะที่แข็งปรากฏตรงไหน สติระลึกรู้ลักษณะสภาพของแข็งซึ่งยังไม่ดับจึงได้ปรากฏในขณะนั้น ในขณะที่แข็งกำลังปรากฏ สติระลึก ความเยื่อใยในรูปร่าง ในอิริยาบถต้องไม่มี จึงจะชื่อว่า เพิกอิริยาบถ

ถ. หมายความว่า ในขณะที่เรากำลังนั่ง ปกติถ้าไม่มีสติปัฏฐานเกิดขึ้น ก็ยึดว่าเรากำลังนั่ง

สุ. ถูกไหม เคยเป็นอย่างนั้นไหม

ถ. เป็นอย่างนั้นทุกที เมื่อมีสติระลึกรู้ที่อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งที่กำลังปรากฏ ในขณะนั้นก็ไม่ได้ยึดว่าเรากำลังนั่ง ก็ชื่อว่า เพิกอิริยาบถนั่ง

สุ. ถูกต้อง การที่จะรู้จักอินทรีย์ตามความเป็นจริง คือ ในขณะใดที่รูปใดปรากฏทางทวารใด สติระลึกรู้ลักษณะของรูปนั้นที่กำลังปรากฏในขณะนั้น และ ไม่อาลัยเยื่อใยในรูปร่าง ในอิริยาบถที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา ต้องไม่มีรวมอยู่ในที่นั้น จึงชื่อว่า เพิกอิริยาบถ

แต่ถ้ายังคงมีรูปร่างนั้นอยู่ ยังคงมีอิริยาบถนั้นอยู่ คำว่าเพิกอิริยาบถก็ไม่มีความหมาย เพราะฉะนั้น ที่จะรู้ลักษณะของแต่ละอินทรีย์ได้ตามความเป็นจริง ก็เพราะเพิกอิริยาบถ จึงจะรู้ลักษณะสภาพธรรมที่เป็นอนัตตา และไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เพราะเกิดดับ

ถ. ตรงนี้เข้าใจ แต่ว่าอิริยาบถมี ๔ เพิกทีเดียวได้อิริยาบถทั้ง ๔ หรือว่าเพิกทีละอิริยาบถ

สุ. ขณะนี้กำลังอยู่ในอิริยาบถไหน

ถ. เวลานี้ยืนอยู่

สุ. ยึดอิริยาบถไหนว่า เป็นตัวตน

ถ. ยึดยืนว่า เป็นตัวตน

สุ. เพราะฉะนั้น ถ้าสติเกิดขณะนี้ ไม่อาลัยเยื่อใยในอิริยาบถยืน เพราะว่าอิริยาบถยืนไม่ได้ปรากฏทางหนึ่งทางใด เพราะฉะนั้น แล้วแต่ว่าขณะนั้นสติจะระลึกในอิริยาบถไหน ก็ต้องเพิกความยึดถืออิริยาบถนั้นในขณะนั้น ไม่ใช่ในอิริยาบถอื่น แต่ในอิริยาบถซึ่งสติกำลังระลึก จึงจะรู้ว่าในขณะนั้นไม่มีอิริยาบถ เพราะว่าต้องเพิกอิริยาบถ ลักษณะของอินทรีย์จึงจะปรากฏได้

การอบรมเจริญอินทรีย์ที่จะละการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ก็เพราะสามารถประจักษ์ชัดในลักษณะของแต่ละอินทรีย์ซึ่งแยกขาดจากกัน อินทรีย์แต่ละอินทรีย์ไม่ใช่ว่าต่อเนื่องสืบต่อเป็นอันเดียว เช่น เราเห็น เราได้ยิน เราได้กลิ่น เราลิ้มรส เรารู้สิ่งที่กำลังกระทบสัมผัส หรือเราคิดนึก แต่จะต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏแต่ละลักษณะ และค่อยๆ แยกลักษณะของอินทรีย์แต่ละอินทรีย์ขาดออกจากกันเป็นแต่ละอินทรีย์

ถ. ที่ว่าอิริยาบถปิดบังทุกข์ เวลานี้ผมยืนอยู่ มีอะไรเป็นทุกข์ ผมกำลังยืนอยู่ไม่มีทุกข์เลย ผมสบายมาก

สุ. ทุกข์มีมาก แต่ไม่รู้ เพราะทุกข์ในที่นี้หมายถึงสภาพธรรมซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยและดับทันที ไม่มีอายุยืนยาวพอที่จะยึดถือว่าเป็นเรา หรือว่าเป็นสุข

ทุกท่านกำลังนั่ง จะรู้สึกว่าเป็นสุขก็ต่อเมื่อสภาพธรรมนั้นยังคงอยู่พอที่จะให้เป็นที่ตั้งของความสุขได้ แต่ถ้ารู้ว่าสิ่งนั้นไม่ยั่งยืน แม้แต่ความสุขปรากฏเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยก็นิดเดียว เล็กน้อยที่สุด และไม่ใช่ของใคร เพราะว่าไม่มีใครสามารถให้ความสุขนั้นเที่ยงอยู่ได้นานๆ แม้ความสุขนั้นก็เกิดขึ้นและดับไปทันที นี่จึงจะประจักษ์ลักษณะที่เป็นทุกข์แม้ของความรู้สึกที่เป็นสุขได้

ที่กล่าวว่ายังไม่เป็นทุกข์เลย ก็เพราะว่ายังไม่ได้ประจักษ์ในทุกขลักษณะ เพราะฉะนั้น ปัญญาจะต้องอบรมจึงจะประจักษ์ในลักษณะที่เป็นทุกขลักษณะและรู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลได้

สภาพธรรมไม่ว่าจะเป็นนามธรรมหรือรูปธรรมชนิดหนึ่งชนิดใด ปรากฏทางหนึ่งทางใด ก็เพียงเกิดขึ้นและดับไปทันทีอย่างรวดเร็ว นั่นคือทุกขลักษณะ

เพราะฉะนั้น ทุกขเวทนาก็เป็นทุกขลักษณะ สุขเวทนาก็เป็นทุกขลักษณะ สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นทุกขลักษณะ เห็นที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นทุกขลักษณะ ได้ยินในขณะนี้ก็เป็นทุกขลักษณะ เสียงที่ปรากฏก็เป็นทุกขลักษณะ เป็นสภาพธรรมซึ่งเกิดขึ้นและดับไป ซึ่งการอบรมเจริญปัญญาเพื่อประจักษ์แจ้งความจริงนี้ ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่นเลย จะประจักษ์ช้าหรือเร็วนั่นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ต้องเห็นถูกตามความเป็นจริง มิฉะนั้นแล้วจะไม่สามารถดับการยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้

ทนไม่ได้ เพราะเกิดขึ้นและดับไปจะทนอยู่ได้อย่างไร ทนไม่ได้ คือ ไม่ยั่งยืน

ถ. อย่างได้ยินเสียง เป็นทุกขลักษณะหรือไม่

สุ. เสียงดับไหม

ถ. ดับ แต่ยังไม่เกิดทุกข์ เพราะไม่มีปัญญาที่จะรู้

สุ. เพราะเป็นเรา ได้ยินดับไหมเวลาเสียงดับ

ถ. ได้ยินไม่ดับ

สุ. ได้ยินไม่ดับ แต่เสียงดับ จะได้ยินอะไรในเมื่อเสียงดับไปแล้ว เสียงดับ ได้ยินดับไหม ได้ยินที่ได้ยินเสียงนั้นดับด้วยหรือเปล่า

ถ. ดับ

สุ. ไม่เป็นทุกข์ ใช่ไหม

ถ. ไม่เป็นทุกข์

สุ. ทั้งๆ ที่สภาพธรรมเกิดและก็ดับ ยังไม่เป็นทุกข์ เพราะว่ายังเป็นเรา ซึ่งได้ยินอีกต่อไปเรื่อยๆ เห็นอีกต่อไปเรื่อยๆ ได้กลิ่นอีกต่อไปเรื่อยๆ แท้ที่จริงแล้วเป็นสภาพธรรมที่จำเป็นต้องเกิดเพราะมีเหตุปัจจัย ไม่อยากให้ได้ยินก็ต้องได้ยิน เป็นทุกข์ไหม แต่ยังไม่ใช่ทุกขสัจ จนกว่าจะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไป นั่นเป็นเพียงทุกข์ที่ต้องประสบกับสิ่งซึ่งไม่ปรารถนา หรือว่าต้องพลัดพรากจากสิ่งที่ปรารถนา

เวลาที่ไม่อยากได้ยินก็ต้องได้ยิน ยังไม่ใช่ทุกขลักษณะ ทุกขลักษณะจริงๆ ต้องแยกขาดอินทรีย์แต่ละอินทรีย์ออก ไม่ประชุมรวมกัน เพราะตามความเป็นจริง รูปแต่ละรูปทยอยกันเกิดและทยอยกันดับอย่างรวดเร็ว เพียงใน ๑๗ ขณะของจิต รูปก็ดับหมดแล้ว และรูปก็เกิดสืบต่อ ทยอยกันเกิดดับเรื่อยๆ

ถ. คำว่า อิริยาบถปิดบังทุกข์ มีผู้อธิบายว่า เวลาเปลี่ยนอิริยาบถก็หายทุกข์ อธิบายอย่างนี้ถูกไหม

สุ. ทุกขลักษณะหรือเปล่า หรือว่าทุกขเวทนา

ถ. ทุกขเวทนา

สุ. ทุกขเวทนาเกิดขึ้นและดับไป สุขเวทนาเกิดขึ้นและก็ดับไป แต่ ทุกขลักษณะหมายความถึงสังขารธรรมทั้งหลาย สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา เกิดขึ้นและก็ดับไป ไม่เที่ยง จึงเป็นทุกข์

ถ. เปลี่ยนอิริยาบถแล้วก็ไม่ทุกข์

สุ. ไม่ทุกข์ไหน

ถ. เพราะฉะนั้น คำอธิบายนั้นก็ไม่ถูก

สุ. ต้องฟังและพิจารณาโดยละเอียดให้สอดคล้องกับสภาพธรรมที่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยตลอด อย่างเช่น ทุกขลักษณะ ทุกท่านไม่ปฏิเสธเลยว่า ต้องได้แก่ ไตรลักษณ์ หมายความถึงสภาพที่ไม่เที่ยง อนิจจัง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

ถ. เขาว่านั่งเมื่อยๆ ยืนก็หายเมื่อย นี่คือปิดบังทุกข์

สุ. ก่อนเมื่อย เที่ยงไหม

ถ. ไม่เที่ยง

สุ. รู้ได้อย่างไรว่าไม่เที่ยง ก็ยังไม่เมื่อย ยังนั่งเฉยๆ อยู่ ยังไม่เมื่อยจะรู้ได้อย่างไรว่าไม่เที่ยง

ถ. โดยสภาวะ ไม่เที่ยง

สุ. โดยสภาวะ ซึ่งจะต้องประจักษ์แจ้งในสภาวะที่ไม่เที่ยง จึงจะเป็นการรู้อริยสัจ หรือทุกขลักษณะ

ถ. ปุถุชนยังประจักษ์ไม่ได้

สุ. อบรมได้ ขณะที่กำลังฟัง เป็นการค่อยๆ อบรมทีละน้อย เป็นปัจจัยให้สติเกิดทีละน้อย

ถ. ผมยังไม่เข้าใจอิริยาบถปิดบังทุกข์

สุ. ที่จะมีอิริยาบถได้ เพราะมีการประชุมควบคุมรวมกันเป็นกลุ่มก้อน ถ้าไม่มีรูปซึ่งประชุมรวมกันเป็นกลุ่มก้อน อิริยาบถมีได้ไหม แต่ที่จะมีอิริยาบถหนึ่งอิริยาบถใดได้ก็เป็นเพราะว่ารูปประชุมรวมกันเป็นกลุ่มก้อน ทรงอยู่ตั้งอยู่ในลักษณะใดก็ยึดถือในลักษณะที่ทรงอยู่ตั้งอยู่ว่า ถ้าทรงอยู่ตั้งอยู่ในลักษณะนี้ ชื่อว่านั่ง ถ้าทรงอยู่ตั้งอยู่ในลักษณะนั้น ชื่อว่านอน ถ้าทรงอยู่ตั้งอยู่ในลักษณะอื่น ก็เป็นยืน หรือเดิน

แต่ถ้าแยกย่อยรูปออกเป็นรูปเล็กๆ ที่สุด จะมีอิริยาบถหนึ่งอิริยาบถใดไหม ถ้าไม่เป็นกลุ่มก้อน เป็นอณูก็ดี ปรมาณูก็ดี จะว่านั่ง หรือนอน หรือยืน หรือเดิน ก็กล่าวไม่ได้เลย แม้แต่ในขณะปฏิสนธิซึ่งเป็นรูปที่ละเอียดมาก ที่เป็นกลละ ในขณะนั้นก็กล่าวไม่ได้ว่า นั่งหรือนอน ยืนหรือเดิน แต่ไม่ว่าจะเป็นรูปใดก็ตามเมื่อประชุมรวมกันเป็นกลุ่มก้อนแล้ว ทรงอยู่ตั้งอยู่ในลักษณะใด ก็สมมติบัญญัติเข้าใจกันว่าขณะนี้นั่ง ขณะนั้นนอน หรือขณะนั้นยืน ขณะนั้นเดิน ปิดบังไม่เห็นการเกิดดับของรูปแต่ละรูปซึ่งกำลังเกิดดับอยู่ในขณะนี้ ที่กำลังประชุมรวมกันเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ๆ แท้ที่จริงรูปแต่ละรูปกำลังทยอยกันเกิดขึ้นและทยอยกันดับไป

เช่น ในขณะปฏิสนธิ ในอุปาทขณะของปฏิสนธิจิต มีกัมมชรูปเกิด กัมมชรูปในขณะนั้นจะเกิดกี่กลุ่มหรือกี่กลาปก็ตาม จิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ กัมมชรูปซึ่งเกิดพร้อมกับอุปาทขณะของปฏิสนธิจิตก็ดับพร้อมกับภังคขณะของจิตดวงที่ ๑๗ ส่วน กัมมชรูปซึ่งเกิดในฐีติขณะของปฏิสนธิจิตก็จะดับในขณะอุปาทขณะของจิตดวงที่ ๑๘ และกัมมชรูปซึ่งเกิดในภังคขณะของปฏิสนธิจิตก็จะดับในฐีติขณะของจิตดวงที่ ๑๘ ทยอยกันเกิดดับเรื่อยๆ ซึ่งในขณะนี้ก็กำลังเกิดดับ

เพราะฉะนั้น อิริยาบถปิดบังไม่ให้เห็นการเกิดดับของแต่ละรูป เพราะยังเห็นว่าเป็นรูปที่ประชุมรวมกันอยู่ ทรงอยู่ตั้งอยู่ในอาการหนึ่งอาการใด จึงปิดบังทุกขลักษณะ ซึ่งทุกขลักษณะต้องหมายความถึงการเกิดขึ้นและดับไปของแต่ละรูป ทุกขณะ

เปิด  223
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565