แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1166

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๒๕


ถ. ผมก็เคยอ่านมา ท่านบอกว่า เหตุที่ทุกขสภาวะไม่ปรากฏ เพราะ ไม่มนสิการในความบีบคั้นเนืองๆ คำว่า ความบีบคั้นเนืองๆ หมายถึงอะไร

สุ. ทุกขลักษณะต้องมีความหมายอย่างเดียว คือ สภาพธรรมนั้นเกิดดับ ไม่เที่ยง จึงเป็นทุกข์

ถ. หมายถึงภาวะที่ดับไป

สุ. เกิดขึ้นและดับไป

ถ. อย่างที่ท่านเขียนไว้ว่า เพราะไม่มนสิการในความบีบคั้นเนืองๆ อิริยาบถจึงปิดบังไว้

สุ. ในขณะนี้ก็เกิดขึ้นและดับไปอยู่เรื่อยๆ แต่ไม่พิจารณา อย่างเช่น ได้ยินเมื่อครู่นี้ดับไปนานแล้ว ใช่ไหม เสียงก็ดับไปแล้ว เมื่อไม่พิจารณาก็ไม่ประจักษ์ว่า เป็นทุกข์

ถ. บางท่านขยายความว่า นั่งนานแล้วเกิดปวดเมื่อย นั่นคือความบีบคั้นเนืองๆ และเวลาที่เกิดความปวดเมื่อยก็เปลี่ยนอิริยาบถทันที ไม่มนสิการในความ บีบคั้นที่เจ็บปวดนั้น ท่านว่าอย่างนั้นจะถูกไหม

สุ. และเวลาที่ไม่เจ็บปวด ไม่ต้องพิจารณาหรือ

ถ. ก็จึงเป็นเรื่องที่น่าสงสัย

สุ. เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังแม้จะอ่านหรือได้ยินข้อความซึ่งมีผู้กล่าวว่า เป็นข้อความโดยตรงจากพระไตรปิฎก ก็จะต้องพิจารณา พระผู้มีพระภาคตรัสให้ พุทธบริษัทพิจารณาธรรมที่ได้ยินได้ฟังโดยละเอียด

ถ. ถ้าจะมนสิการในความบีบคั้นเนืองๆ ก็คือ มนสิการทุกขเวทนานั่นเอง

สุ. สภาพธรรมใดๆ ที่เกิดแล้วยังไม่ดับ กำลังปรากฏ สภาพธรรมนั้นดับ จึงเป็นทุกข์

ถ. ถ้าจะเอาความหมายที่เขาแก้ ก็จะเป็นเฉพาะทุกขเวทนาอย่างเดียวเท่านั้น

สุ. ทำไมหมายถึงทุกขเวทนา กำลังเห็นเป็นอุเบกขาเวทนาก็เกิดดับ กำลังได้ยินเป็นอุเบกขาเวทนาก็เกิดดับ ไม่ใช่แต่เฉพาะทุกขเวทนา

ถ. อาจารย์ช่วยให้คำจำกัดความของทุกขลักษณะ

สุ. สภาพธรรมซึ่งเกิดขึ้นและดับไป

ถ. ไม่จำเป็นต้องเป็นเวทนา

สุ. ไม่จำเป็น สภาพธรรมทั้งหลาย คือ สังขารธรรมทั้งหลายนั่นเอง จะได้ยินภาษาบาลีบ่อยๆ ว่า สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขา สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ซึ่งภาษาไทยหมายความว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา

สังขารทั้งหลาย คือ สังขารธรรมทั้งหลาย ได้แก่ สภาพธรรมทุกอย่างที่เกิดขึ้นแล้ว ต้องดับไป ไม่มีสภาพธรรมใดเลยซึ่งเกิดแล้ว ไม่ดับ

เพราะฉะนั้น ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นของสังขารธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

ถ. พุทธพจน์ที่เราสวดมนต์กัน ที่ว่า สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขา สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ทำไมบทที่ ๑ และบทที่ ๒ บอกว่า สพฺเพ สงฺขารา แต่บทที่ ๓ เปลี่ยนเป็น สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา

สุ. เพราะไม่ใช่แต่เฉพาะสังขารธรรมเท่านั้นที่เป็นอนัตตา แม้วิสังขารธรรม คือ นิพพาน ก็เป็นอนัตตาด้วย

ถ. สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา หมายถึงพระนิพพานด้วย

สุ. รวมธรรมทั้งหมด

ถ. นิพพานเป็นอนัตตา แต่เป็นสุขและเที่ยง หมายความว่า เราจะใช้ สพฺเพ สงฺขารา ทั้ง ๓ บทไม่ได้ ใช่ไหม

สุ. ไม่สมบูรณ์ ไม่ครบถ้วน เพราะแม้พระนิพพานก็เป็นอนัตตาด้วย

สำหรับเรื่องของอินทรีย์ ๒๒ ที่จะต้องกล่าวทบทวนไปทบทวนมาบ่อยๆ ก็เพื่อประโยชน์ของการอบรมเจริญปัญญา เพื่อที่จะให้รู้แจ้งสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติ ตามความเป็นจริง ซึ่งจะต้องเป็นสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาโดยอาศัยจักขุนทรีย์ ทางหูอาศัยโสตินทรีย์ ทางจมูกอาศัยฆานินทรีย์ ทางลิ้นอาศัยชิวหินทรีย์ ทางกายอาศัยกายินทรีย์ และทางใจ คือ มนินทรีย์ เท่านั้นเอง ใครจะมีรูปมากกว่านี้ก็ไม่ได้ปรากฏ หรือว่าไม่ได้เป็นใหญ่ ไม่ได้เป็นอินทรีย์ แม้มหาภูตรูปก็ยังไม่เป็นอินทรีย์ มหาภูตรูปเป็นรูปที่เป็นใหญ่เป็นประธานก็จริง มีทั่วไปทั้งภายในและภายนอก แต่ถ้าไม่มีปสาทที่เป็นอินทรีย์เหล่านี้ โลกไม่ปรากฏ แม้มหาภูตรูปก็ไม่ปรากฏ

เพราะฉะนั้น การที่จะรู้แจ้งสภาพธรรม ต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏโดยอาศัยอินทรีย์ทั้ง ๖ นี้

เพื่อที่จะให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณาลักษณะของจักขุนทรีย์ที่กำลังมีอยู่ในขณะนี้ ขอกล่าวถึงลักษณะเป็นต้นของจักขุปสาท หรือจักขุนทรีย์ ซึ่งข้อความใน อัฏฐสาลินี รูปกัณฑ์ มีว่า

มีความเป็นปสาทแห่งภูตรูปอันควรแก่การกระทบรูป เป็นลักษณะ

มีความชักมาที่รูป เป็นรสะ คือ เป็นกิจ

มีความเป็นที่รองรับ คือ เป็นที่เกิดแห่งจักขุวิญญาณ เป็นปัจจุปัฏฐาน คือ เป็นอาการปรากฏ

มีภูตรูปอันเกิดแต่กรรมซึ่งมีความประสงค์จะดูเป็นเหตุ เป็นปทัฏฐาน คือ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด

แม้จักขุปสาทที่กำลังเกิดดับเป็นปัจจัยให้เกิดการเห็นในขณะนี้ ก็มีลักษณะที่ต่างกันกับปสาทอื่น เพราะสำหรับจักขุปสาทรูปนั้น มีความเป็นปสาทแห่งภูตรูปอันควรแก่การกระทบรูปเป็นลักษณะ ไม่สามารถที่จะกระทบเสียง หรือกลิ่น หรือรส หรือโผฏฐัพพารมณ์ได้ สิ่งซึ่งจักขุปสาทจะกระทบได้ คือ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ในขณะนี้เท่านั้น

มีความชักมาที่รูป เป็นรสะ

เวลาจะดูสิ่งหนึ่งสิ่งใด ปสาทรูปย่อมบ่ายหน้าไปสู่ทิศของรูปนั้น คือ ชักมาที่รูป ทั้งๆ ที่มีเสียง แต่ขณะที่จะดูสิ่งหนึ่งสิ่งใด ปสาทรูปย่อมบ่ายหน้าไปสู่ทิศของรูปนั้น อยากจะดูทางซ้าย จักขุปสาทอยู่ตรงๆ เป็นไปได้ไหม ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น กิจของจักขุปสาท คือ ชักมาที่รูป คือ เมื่อจะดูสิ่งหนึ่งสิ่งใด ปสาทรูปย่อมบ่ายหน้าไปสู่ทิศของรูปนั้น ไม่ว่าจะข้างซ้าย ข้างขวา หรือข้างหลังก็ตาม

มีความเป็นที่รองรับ คือ เป็นที่เกิดแห่งจักขุวิญญาณ เป็นปัจจุปัฏฐาน

จิตในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จะไม่เกิดที่รูปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น เวลาที่ศึกษาจิต แต่ละประเภท ควรที่จะทราบว่า จิตแต่ละประเภทนั้นเกิดที่ไหน ตรงไหน จิตเห็น เห็นที่หทยวัตถุ หรือว่าเกิดที่หทยวัตถุหรือเปล่า

ตามปกติจิตส่วนใหญ่จะเกิดที่หทยวัตถุ และดับที่หทยวัตถุ เพราะว่าเกิดที่ไหนก็ดับที่นั่น แต่สำหรับจิต ๑๐ ดวง เช่น จักขุวิญญาณ จิตเห็น ๒ ดวง ไม่ได้เกิดที่ หทยวัตถุ ในขณะที่เห็น ทำกิจเห็นจริงๆ ไม่ได้เกิดที่หทยวัตถุ แต่กำลังเกิดในขณะนี้ที่จักขุปสาท เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ที่จักขุปสาทมีจักขุวิญญาณและเจตสิก ๗ ดวงเกิดร่วมด้วย และดับไปอย่างรวดเร็ว ทุกขณะที่กำลังเห็นในขณะนี้จึงไม่เที่ยง

ถ้ายังไม่ประจักษ์อย่างนี้ จะเห็นความเป็นอินทรีย์ไม่ได้ เพราะฉะนั้น การที่จะรู้สภาพของความเป็นอินทรีย์แต่ละอย่าง จะเห็นได้จริงๆ ว่า ถ้าเป็นทางหู ได้ยินยังไม่เกิดขณะที่เสียงไม่ปรากฏ แต่เมื่อมีการได้ยินและสติระลึก จึงจะรู้ว่า ที่ได้ยินเสียง ในขณะนั้น ไม่ใช่รูปอื่นใดเลยตลอดศีรษะจรดเท้านอกจากโสตินทรีย์ คือ โสตปสาท ฉันใด ทางตาในขณะที่กำลังเห็น ซึ่งขณะนี้เกิดสลับกัน จิตเกิดดับทางตาบ้าง ทางหูบ้าง และที่หทยวัตถุบ้าง สืบต่อกันอย่างรวดเร็วที่สุด

ในขณะที่กำลังเห็นและได้ยิน จิตเกิดดับคนละแห่ง คนละที่ คือ จักขุวิญญาณเกิดที่จักขุปสาท จิตอื่นเกิดที่หทยวัตถุ ต่อจากนั้น เวลาได้ยิน เฉพาะโสตวิญญาณเกิดที่โสตปสาท ส่วนจิตอื่นเกิดที่หทยวัตถุ สลับกันอย่างรวดเร็ว

เพราะฉะนั้น ปัญญาที่รู้สภาพธรรมถูกต้องตรงตามความเป็นจริงที่จะไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ต้องรู้ถูกต้องตรงอย่างนี้ จะมีรูปอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยไม่ได้ ใครจะมีกี่รูปอย่างไรตรงไหน ไม่เป็นไร แต่ว่ารูปที่ปรากฏจริงๆ ต้องเป็นเพียงทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ในขณะที่ปรากฏเท่านั้น

สำหรับปทัฏฐาน เหตุใกล้ให้เกิดจักขุปสาท คือ มีภูตรูปอันเกิดแต่กรรมซึ่งมีความประสงค์จะดูเป็นเหตุ

เพราะฉะนั้น ก็ยังจะต้องมีสังสารวัฏฏ์สืบต่อไปเรื่อยๆ เพราะว่าท่านผู้ฟังยังไม่หมดความพอใจที่จะเห็นหรือที่จะดู จึงมีเหตุปัจจัยที่จะทำให้จักขุปสาทเกิดขึ้นเห็น

ถ. คำว่า ภูตรูปซึ่งเกิดแต่กรรม หมายถึงมหาภูตรูปภายนอกที่เราเห็น หรือมหาภูตรูปภายในร่างกายของเราเอง

สุ. ในกลุ่มหรือกลาปซึ่งจักขุปสาทเกิดร่วมด้วยเท่านั้น เพราะจักขุปสาทเป็นอุปาทายรูป ไม่สามารถเกิดโดยไม่อาศัยมหาภูตรูป ๔ ที่ใดก็ตามที่มีรูปใดก็ตาม ให้ทราบว่า ที่นั่นต้องมีมหาภูตรูป คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม

เวลาเห็น ไม่มีใครรู้สึกถึงธาตุดิน หรือธาตุน้ำ หรือธาตุไฟ หรือธาตุลม ซึ่งรวมอยู่ในกลุ่มเดียวกับจักขุปสาทรูป ใช่ไหม เพราะว่ามหาภูตรูปไม่ใช่อินทรีย์ เป็นเพียงที่อาศัยของจักขุปสาทรูปเท่านั้น

ถ. ที่เรียกว่า จักขุทสกะ ใช่ไหม

สุ. ใช่ ต้องอาศัยมหาภูตรูปซึ่งเกิดร่วมกันในกลุ่มนั้น และมหาภูตรูปนั้นก็เกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย เพราะฉะนั้น จักขุทสกะ คือ กลุ่มของรูปที่มีจำนวน ๑๐ ซึ่งมีจักขุปสาทรวมอยู่ด้วย เป็นรูปที่เกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัยทั้ง ๑๐ รูป คือ ทั้งกลุ่ม หรือทั้งกลาป

ถ. ยังต้องประกอบไปด้วยความประสงค์ที่จะมองด้วย ใช่ไหม

สุ. ขณะนี้ยังไม่หมดความพอใจที่จะเห็น เพราะฉะนั้น ก็ยังมีกรรมที่จะทำให้จักขุปสาทรูปเกิด

ถ. ต้องเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างรูปกับนาม ซึ่งนามคือความประสงค์ที่จะมอง ใช่ไหม

สุ. มีกรรมในอดีตเป็นปัจจัย

ถ. หมายความว่า มีนามรวมอยู่ด้วยในการที่จะ...

สุ. เพราะเป็นรูปที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน กรรม ได้แก่ เจตนาเจตสิก จึงทำให้เกิดจักขุปสาท ส่วนจะเห็นหรือไม่นั้นก็แล้วแต่ เพราะจักขุปสาทเกิดและดับไปโดยไม่เห็นก็ได้

ถ. จะเห็นต้องอาศัยปัจจัย ๔ อย่าง ใช่ไหม

สุ. เวลาที่การเห็นจะมีในขณะใด หมายความว่าต้องมีจักขุปสาทรูปเกิดและยังไม่ดับ ในระหว่างที่อายุยังไม่ถึง ๑๗ ขณะ

ถ. และที่ว่า มีความเป็นที่รองรับของวิญญาณ

สุ. เป็นที่เกิดของจักขุวิญญาณ ให้ทราบว่า ขณะนี้จักขุวิญญาณเกิดที่ไหน

ใน อัฏฐสาลินี อุปมาตาเปรียบเหมือนงู มีข้อความว่า

อนึ่ง อุปาทายรูปเหล่านี้ก็เหมือนกับสัตว์ต่างๆ มีงู เป็นต้น เหมือนอย่างว่า งูย่อมไม่ชอบอยู่ในที่ที่ชื้นแฉะและราบเรียบในภายนอก แต่เวลาที่เลื้อยเข้าไปยังที่ที่ เป็นกองหยากเยื่อ ที่รกไปด้วยหญ้า ใบไม้ และจอมปลวกเท่านั้น แล้วนอน ย่อมชอบใจ ย่อมถึงความสงบ ฉันใด แม้จักขุนี้ก็เหมือนฉันนั้นทีเดียว พอใจในที่ที่ซึ่งไม่ราบเรียบ ย่อมไม่ชอบใจในที่ที่เกลี้ยงเกลา มีฝาทองคำ เป็นต้น ไม่ปรารถนาแม้เพื่อจะแลดูทีเดียว แต่ในที่ที่พราวไปด้วยรูป และพราวไปด้วยดอกไม้และเครือเถา เป็นต้นทีเดียว ย่อมชอบ เพราะสถานที่เช่นนั้น คนเราเมื่อดวงตายังไม่พอ ยังแถมแม้อ้าปากอยากจะมองดู

นี่เป็นลักษณะของความพอใจในสิ่งที่ปรากฏทางตาว่า ตาเปรียบเหมือนงู ย่อมไม่ชอบอยู่ในที่ชื้นแฉะและราบเรียบในภายนอก แต่ว่าชอบเข้าไปในที่ที่เป็น กองหยากเยื่อ ที่รกไปด้วยหญ้า ใบไม้ และจอมปลวก จักขุนี้ก็เหมือนกัน การเห็นนี้ไม่พอใจที่จะเห็นในสิ่งที่เรียบๆ แต่ย่อมพอใจที่จะแลดูในที่ที่พราวไปด้วยรูป และพราวไปด้วยดอกไม้ และเครือเถา เป็นต้น

จริงหรือไม่จริง ลองพิจารณาดูรอบๆ ต้องมีลวดลายจิตรกรรม ต้องมีศิลปะ ต้องมีสิ่งต่างๆ เพื่อให้ตาเห็นในสิ่งต่างๆ เหล่านั้น

สำหรับรูปารมณ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ข้อความใน อัฏฐสาลินี มีว่า

รูปที่เรียกว่า รูปายตนะนั้น เป็นไฉน

สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเป็นประจำทุกวันๆ นี้ การที่จะให้สติระลึกและรู้ความจริง ต้องอาศัยพระธรรมที่ทรงแสดงไว้ละเอียดขึ้น ๆ

รูปใดเป็นสี อาศัยมหาภูตรูป ๔ เป็นสิ่งที่เห็นได้และกระทบได้ ได้แก่ สีเขียวคราม สีเหลือง สีแดง สีขาว สีดำ สีหงสบาท สีคล้ำ สีเขียวใบไม้ สีม่วง ยาว สั้น ละเอียด หยาบ กลม รี สี่เหลี่ยม หกเหลี่ยม แปดเหลี่ยม สิบหกเหลี่ยม ลุ่ม ดอน เงา แดด แสงสว่าง มืด เมฆ หมอก ควัน ละออง แสงดวงจันทร์ แสงดวงอาทิตย์ แสงดวงดาว แสงกระจก แสงแก้วมณี แสงสังข์ แสงมุกดา แสงแก้วไพฑูรย์ แสงทอง แสงเงิน หรือรูปแม้อื่นใดเป็นสี อาศัยมหาภูตรูป ๔ เป็นสิ่งที่เห็นได้และกระทบได้ มีอยู่

สัตว์นี้เห็นแล้ว หรือเห็นอยู่ หรือจักเห็น หรือพึงเห็นซึ่งรูปใด อันเป็นสิ่งที่เห็นได้และกระทบได้ด้วยจักขุอันเป็นสิ่งที่เห็นไม่ได้แต่กระทบได้ นี้เรียกว่า รูปบ้าง รูปายตนะบ้าง รูปธาตุบ้าง รูปทั้งนี้เรียกว่า รูปายตนะ

ท่านผู้ฟังอาจจะลืมว่า ท่านผู้ฟังเห็นอะไรบ้างที่เป็นรูปายตนะ แต่ข้อความในอรรถกถาแสดงว่า นอกจากสีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสีเขียวคราม สีเหลือง สีคล้ำ ลักษณะที่ยาว สั้น ละเอียด หยาบ กลม รี สี่เหลี่ยม หกเหลี่ยม แปดเหลี่ยม สิบหกเหลี่ยม แม้ที่เห็นว่าลุ่ม หรือดอน หรือเงา หรือแดด หรือแสงสว่าง มืด เมฆ หมอก ควัน ละออง แสงดวงจันทร์ แสงดวงอาทิตย์ แสงดวงดาว แสงกระจก แสงแก้วมณี หรือรูปแม้อื่นใด

พรรณนาไม่หมด แต่ให้ทราบว่า ที่เห็นเป็นสิ่งต่างๆ ทั้งหมด คือ เพียงเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา คือ รูปายตนะ ด้วยจักขุอันเป็นสิ่งที่เห็นไม่ได้แต่กระทบได้

ความต่างกันของจักขุนทรีย์ กับ รูปายตนะ คือ รูปายตนะเป็นรูปที่กระทบจักขุปสาทและเห็นได้ จึงเป็นรูปที่เห็นได้และกระทบได้ แต่สำหรับจักขุปสาทนั้น เป็นสิ่งที่เห็นไม่ได้ แต่กระทบได้

เพราะฉะนั้น ไม่มีใครสามารถเห็นจักขุปสาทได้ สิ่งใดๆ ก็ตามที่เห็นเป็นสีใดๆ ก็ตาม ทั้งหมดเป็นรูปายตนะ ไม่ใช่จักขุปสาท จักขุปสาทเป็นรูปที่กระทบได้ แต่เห็นไม่ได้ ในรูป ๒๘ รูป มีรูปายตนะรูปเดียวที่เห็นได้ อีก ๒๗ รูปที่เหลือเห็นไม่ได้ สำหรับรูปซึ่งกระทบได้ มี ๕ รูป คือ

จักขุปสาท กระทบรูปารมณ์ได้

โสตปสาท กระทบสัททารมณ์ได้

ฆานปสาท กระทบคันธารมณ์ได้

ชิวหาปสาท กระทบรสารมณ์ได้

กายปสาท กระทบโผฏฐัพพารมณ์ได้

รูปอื่นๆ ที่เหลือ ไม่ใช่รูปที่เห็นได้ และไม่ใช่รูปที่กระทบได้

เป็นจริงหรือเปล่า

สำหรับเรื่องของรูปายตนะหรือรูปารมณ์ เป็นสิ่งที่น่าคิด น่าพิจารณา เพื่อที่จะให้เห็นว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่ตราบใดที่สติไม่ได้ระลึก ยังเห็นว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ ให้ทราบว่า ในขณะนั้นยังไม่ได้ศึกษาและพิจารณาในลักษณะของรูปายตนะ คือ สิ่งที่ปรากฏทางตา

เปิด  261
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565