แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1168
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๑๗ ต่อวันอาทิตย์ที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๒๕
สองบทว่า เงา แดด กำหนดกันเอง
ถูกไหม เป็นสิ่งที่กำหนดทางตาทั้งนั้น ซึ่งความจริงเวลากระทบสัมผัส แดดรู้ได้ เพราะว่าร้อน ใช่ไหม แต่ทางตา บัญญัติว่า เงา บัญญัติว่า แดด โดยอาศัยกำหนด กันเอง
แสงสว่าง และมืด ก็เช่นเดียวกัน
เพราะเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาทั้งนั้น ถูกไหม สว่างก็ปรากฏทางตา มืด ไม่ใช่เพราะไม่มีจักขุปสาท แต่ทุกท่านที่มีจักขุปสาทก็ยังรู้ว่ามืด ถูกไหม เพราะเทียบเคียงกับสว่าง ถ้ามืดไม่มี สว่างก็ไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้น รูปที่ปรากฏทางตา เพราะว่าอาศัยจักขุนทรีย์ จึงได้ปรากฏสภาพต่างๆ
๔ บทว่า เมฆ หมอก เป็นต้น ทรงแสดงโดยวัตถุ
ใน ๔ บทนั้น คำว่า เมฆ ได้แก่ ฝน คำว่า หมอก ได้แก่ น้ำค้าง ด้วยบททั้ง ๔ นี้ ทรงแสดงสีแห่งเมฆเป็นต้นด้วยคำว่า แสงดวงจันทร์เป็นต้น ทรงแสดง สีแห่งรัศมีของดวงจันทร์เป็นต้น เหล่านั้นๆ
ข้อความเรื่องรูปายตนะ ใน อัฏฐสาลินี มีมาก แต่สรุปแล้วก็คือว่า
ลักษณะเป็นต้นของรูป
รูปนี้แม้ต่างกันโดยความต่าง มีสีเขียว เป็นต้น ทั้งหมดว่าโดยลักษณะเป็นต้น จะไม่ต่างกันเลย จริงอยู่รูปนี้ (คือ รูปารมณ์) ทั้งหมดมีการกระทบจักขุ เป็นลักษณะ มีความเป็นอารมณ์แห่งจักขุวิญญาณ เป็นรสะ มีความเป็นโคจร คือ ที่ไป หรืออารมณ์แห่งจักขุวิญญาณนั่นแหละ เป็นปัจจุปัฏฐาน มีมหาภูตรูป ๔ เป็นปทัฏฐาน
เพราะฉะนั้น นี่คือลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงอุปาทายรูปซึ่งเกิดกับมหาภูตรูป และเป็นรูปที่กระทบกับ จักขุปสาทจึงปรากฏ ถ้าไม่มีจักขุปสาทจะไม่เห็นว่า เป็นเงา เป็นแดด ลุ่มหรือดอน ยาวหรือสั้นได้เลย
อย่าลืมว่า การฟังธรรมทั้งหมด แม้ในเรื่องของปัจจัย ก็เพื่อเกื้อกูลให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ แต่ถ้าสติยังไม่เกิด เกิดไม่ได้ ก็ไม่เป็นไร อาศัยการฟัง การพิจารณา และการเข้าใจสิ่งที่ได้ฟังในขณะนั้น อาจจะเป็นปัจจัยให้สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามที่ได้ฟังในขณะนั้น เช่น ในเรื่องของจักขุนทรีย์ จักขุปสาท ซึ่งเป็นรูป เป็นอินทรีย์ ทำให้สีสันวัณณะในขณะนี้ปรากฏได้ เป็นชีวิตประจำวัน ซึ่งถ้ายังไม่มีการระลึกลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ จะไม่เห็นความเป็นอินทรีย์ของจักขุปสาทแน่นอน เมื่อได้ฟังเรื่องของการเห็นและสิ่งที่ปรากฏทางตา และรู้ว่าปัจจัยที่สำคัญอันหนึ่งคือรูปซึ่งเป็นอินทรีย์ ได้แก่ จักขุปสาท ถ้าได้ฟังอย่างนี้บ่อยๆ เรื่อยๆ คงจะมีขณะหนึ่งที่ระลึกได้ว่า ขณะที่กำลังเห็นในขณะนี้เองต้องอาศัยรูปชนิดหนึ่ง การเห็นในขณะนี้จึงเกิดขึ้นได้
แต่ว่าจักขุปสาทไม่ใช่รูปที่สามารถจะมองเห็นได้ ในบรรดารูปทั้งหมด ๒๘ รูป มีรูปเดียวเท่านั้นที่สามารถปรากฏทางตาได้ คือ สีสันวัณณะที่กำลังปรากฏทางตา สำหรับจักขุปสาท เป็นรูปที่เล็กและมองไม่เห็น เพราะฉะนั้น ที่ปรากฏสีสันวัณณะให้เห็นว่าเป็นสัณฐานของจักขุ จึงเป็นแต่เพียงสีสันของวัตถุซึ่งเป็นส่วนประกอบ ซึ่งเป็นที่ตั้งของจักขุปสาทที่เป็นจักขุนทรีย์ เพราะว่าสภาพของจักขุปสาทนั้น ไม่ใช่สี ไม่ใช่วัณณะ ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏ แต่ที่ตา ที่ทุกคนมองดูและเห็นตาของคนนั้นคนนี้ นั่นเห็นแต่เพียงสีสันวัณณะของวัตถุซึ่งเป็นส่วนประกอบเป็นที่ตั้งของจักขุนทรีย์
ซึ่งส่วนประกอบที่เป็นที่ตั้งของจักขุนทรีย์ เป็นรูปที่เกิดจากสมุฏฐานทั้ง ๔ คือ ประกอบด้วยกลุ่มของรูปซึ่งเกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน ได้แก่ กายปสาท และกลุ่มของรูปซึ่งเกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน กลุ่มของรูปซึ่งเกิดเพราะอุตุเป็นสมุฏฐาน กลุ่มของรูปซึ่งเกิดเพราะอาหารเป็นสมุฏฐาน
ไม่มีใครสามารถแยกกลุ่มของรูปที่ละเอียดที่เกิดรวมกันโดยสมุฏฐานต่างๆ ออกได้ แม้จะรู้ว่ากลุ่มของรูปกลุ่มใดบ้างซึ่งเกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย เช่น จักขุปสาทเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัยตรงกลางตา แต่ไม่มีใครสามารถแยกกลุ่มนั้นกลุ่มเดียวออกมาจากกลุ่มของรูปซึ่งเกิดเพราะจิต หรือกลุ่มของรูปซึ่งเกิดเพราะอุตุ หรือกลุ่มของรูปซึ่งเกิดเพราะอาหาร ซึ่งเกิดรวมกันเป็นส่วนประกอบที่ทำให้เห็นสัณฐานที่ตั้งของ จักขุปสาทได้
เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้ทราบถึงความหมายของจักขุ ซึ่งใน อัฏฐสาลินี อรรถกถาพระธรรมสังคณีปกรณ์ มีข้อความว่า
มังสจักขุ ๒ อย่าง คือ ปสาทจักขุ ตาที่เป็นปสาทรูป ๑ สสัมภารจักขุ ตาที่ประกอบด้วยส่วนต่างๆ ๑
คำว่า จักขุ มี ๒ ความหมาย คือ มังสจักขุ ได้แก่ ตาเนื้อ ๑ ปัญญาจักขุ ได้แก่ ตาปัญญา ๑
แต่ถ้ากล่าวถึงตาเนื้อ คือ มังสจักขุ มี ๒ อย่าง คือ ปสาทจักขุ ตาที่เป็น ปสาทรูป ๑ และสสัมภารจักขุ คือ ตาที่ประกอบด้วยส่วนต่างๆ ที่เราเรียกว่าตา ๑
สำหรับท่านที่ต้องการความละเอียดของสสัมภารจักขุ คือ ที่เราหมายรู้กันว่า ตา จะศึกษาได้จาก อัฏฐสาลินี อรรถกถาพระธรรมสังคณีปกรณ์ รูปกัณฑ์ ซึ่งแสดงสสัมภารจักขุโดยสัณฐานและโดยจำนวนของรูป
ขอกล่าวถึงเพียงโดยย่อ ข้อความมีว่า
ในบรรดามังสจักขุ ๒ อย่างนั้น ก้อนเนื้อนี้ใดตั้งอยู่ในเบ้าตา ข้างล่างกำหนดด้วยกระดูกเบ้าตา ข้างบนกำหนดด้วยกระดูกคิ้ว ทั้ง ๒ ข้างกำหนดด้วยหางตา ข้างในกำหนดด้วยมันสมอง ข้างนอกกำหนดด้วยขนตา
นี่คือส่วนที่เราพูดกันเสมอว่า ตา หมายถึงสสัมภารจักขุ วัตถุส่วนประกอบซึ่งเป็นที่ตั้งของจักขุปสาทอยู่ในเบ้าตา และมีการกำหนดเขตว่า ข้างล่างกำหนดด้วยกระดูกเบ้าตา ข้างบนกำหนดด้วยกระดูกคิ้ว ทั้ง ๒ ข้างกำหนดด้วยหางตา ข้างในกำหนดด้วยมันสมอง ข้างนอกกำหนดด้วยขนตา
นอกจากนั้นได้แสดงจำนวนของรูปว่า ประกอบด้วยรูปต่างๆ ซึ่งสำหรับ จักขุปสาทนั้น มีกรรมเป็นสมุฏฐานโดยส่วนเดียวเท่านั้น ส่วนประกอบอื่นๆ เกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน เกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน เกิดเพราะอุตุเป็นสมุฏฐาน แต่เฉพาะจักขุปสาทเท่านั้นที่เกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน
ซึ่งชาวโลกเมื่อจำได้ หรือหมายรู้ว่า ตาสีขาว ตาใหญ่ ตาส่าย ตากว้าง ดังนี้ หาจำได้หมายรู้จักขุไม่ ย่อมจำได้หมายรู้วัตถุโดยความเป็นจักขุ
คือ เมื่อไม่เห็นจักขุปสาท ก็เห็นแต่ส่วนที่เป็นสสัมภารจักขุเท่านั้นที่เรียกว่าตา เพราะฉะนั้น จึงมีการจำได้หรือหมายรู้ว่า ตาสีขาว ตาใหญ่ ตาส่าย ตากว้าง เป็นต้น
ท่านผู้ฟังจะเห็นความวิจิตรต่างๆ แม้ของสสัมภารจักขุตามกรรมซึ่งเป็นปัจจัยด้วย เพราะว่าตาของทุกคนมี ๒ ข้างก็จริง แต่ไม่ว่าจะมีมนุษย์จำนวนมากมาย สักเท่าไร ก็ยังสามารถที่จะเห็นความต่างกันของสสัมภารจักขุได้ ใช่ไหม ตาใหญ่ ตากว้าง หรือตาส่าย หรือตาเล็ก หรือตาส่อน ก็แล้วแต่จะแสดงว่าสัณฐาน คือ สสัมภารจักขุนั้น มีอาการอย่างไร
ขอกล่าวถึงพระเนตร หรือมังสจักษุของพระผู้มีพระภาค ซึ่งย่อมต่างจากบุคคลอื่นทั่วๆ ไป ใน ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส โมฆราชมาณวกปัญหานิทเทส มีข้อความที่แสดงถึงพระจักษุของพระผู้มีพระภาคว่า
คำว่า มีพระจักษุ พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุด้วยจักษุ ๕ ประการ คือ ด้วยมังสจักษุ ทิพยจักษุ ปัญญาจักษุ พุทธจักษุ สมันตจักษุ
พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุแม้ด้วยมังสจักษุอย่างไร
สี ๕ อย่าง คือ สีเขียว สีเหลือง สีแดง สีดำ และสีขาว ย่อมปรากฏแก่ พระผู้มีพระภาคในมังสจักษุ ขนพระเนตรตั้งอยู่เฉพาะในที่ใด ที่นั้นมีสีเขียว เขียวดี น่าดู น่าชม เหมือนสีดอกผักตบ ที่ถัดนั้นเข้าไปมีสีเหลือง เหลืองดี เหมือนสีทองคำ น่าดู น่าชม เหมือนดอกกรรณิการ์เหลือง เบ้าพระเนตรทั้ง ๒ ข้างของ พระผู้มีพระภาคมีสีแดง แดงดี น่าดู น่าชม เหมือนสีปีกแมลงทับทิมทอง ที่ท่ามกลางมีสีดำ ดำดี ไม่มัวหมอง ดำสนิท น่าดู น่าชม เหมือนสีอิฐแก่ไฟ ที่ถัดนั้นเข้าไปมีสีขาว ขาวดี ขาวล้วน ขาวผ่อง น่าดู น่าชม เหมือนสีดาวประกายพฤกษ์
พระผู้มีพระภาคมีพระมังสจักษุเป็นปกตินั้น เนื่องในพระอัตภาพอันเกิดขึ้นเพราะสุจริตกรรมในภพก่อน ย่อมทอดพระเนตรเห็นตลอดที่โยชน์หนึ่งโดยรอบ ทั้งกลางวันและกลางคืน แม้ในเวลาใดมีความมืดประกอบด้วยองค์ ๔ คือ ดวงอาทิตย์อัสดงคตแล้ว ๑ คืนวันอุโบสถข้างแรม ๑ แนวป่าทึบ ๑ อกาลเมฆใหญ่ตั้งขึ้น ๑ ในความมืดประกอบด้วยองค์ ๔ เห็นปานนี้ ในกาลนั้นพระผู้มีพระภาคก็ ทรงทอดพระเนตรเห็นตลอดที่โยชน์หนึ่งโดยรอบ หลุม บานประตู กำแพง ภูเขา กอไม้ หรือเถาวัลย์ ไม่เป็นเครื่องกั้นในการทอดพระเนตรเห็นรูปทั้งหลายเลย
ข้อความต่อไปแสดงอุปมาว่า
หากว่าบุคคลพึงเอาเมล็ดงาเมล็ดหนึ่งเป็นเครื่องหมาย ใส่ลงในเกวียนสำหรับบรรทุกงา บุคคลนั้นพึงเอาเมล็ดงานั้นขึ้น มังสจักษุเป็นปกติของพระผู้มีพระภาคบริสุทธิ์อย่างนี้ พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุแม้ด้วยมังสจักษุอย่างนี้
มีโอกาสจะได้เห็นไหม ไม่มีแล้ว แต่ให้ทราบว่า แม้สสัมภารจักษุ หรือ มังสจักษุ ก็เกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย
ท่านผู้ฟังคงจะเห็นตาบางขณะ หรืออาจจะเป็นตาของบางท่านที่สุกใสเหมือนดาว เคยเห็นบ้างไหม เป็นไปได้ไหม ดิฉันเคยพบท่านหนึ่ง ตาใส สว่างเหมือนกับดาว เป็นคนตาสวยจริงๆ แม้ว่าท่านจะมีอายุมากแล้ว เป็นผู้ที่สูงอายุ แต่แม้กระนั้น ขอให้พิจารณาดู จะมีใครที่มีตา คือ สสัมภารจักษุ อย่างของพระผู้มีพระภาค เป็นไปไม่ได้เลย สีเขียวที่นี่คงจะหมายถึงสีเขียวเข้ม หรือว่าสีนิล ซึ่งเป็นสีที่เหมือนกับสีดำสนิท เพราะว่าตาที่มีสีเข้มมองดูแล้วก็จะคล้ายๆ กับสีนิล หรือสีที่ดำสนิทนั่นเอง ซึ่งตาหรือพระเนตร พระมังสจักษุของพระผู้มีพระภาคมีสี ๕ อย่าง คือ สีเขียว สีเหลือง สีแดง สีดำ และสีขาว
ถ้าท่านผู้ฟังลองพิจารณาดูตาอย่างละเอียด ก็คงจะไม่ใช่สีเดียว แล้วแต่ว่าส่วนประกอบของตาจะมีสีอะไรที่ชัดเจนบ้าง แต่สำหรับทุกสีของพระเนตรของ พระผู้มีพระภาคเป็นสีที่เป็นอติอิฏฐารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นสีเขียว สีเหลือง สีแดง สีดำ และสีขาว ก็น่าดู น่าชม เป็นอติอิฏฐารมณ์
แต่ขณะนี้ มังสจักษุซึ่งเป็นอติอิฏฐารมณ์ของพระผู้มีพระภาคอยู่ที่ไหน
สภาพธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะมีเหตุปัจจัยที่จะทำให้พระเนตรหรือพระมังสจักษุเป็นอติอิฏฐารมณ์ถึงอย่างนี้ ก็ไม่เที่ยง ที่จะให้บุคคลอื่นได้เห็นต่อไป
เพราะฉะนั้น สภาพธรรมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นอิฏฐารมณ์ หรืออติอิฏฐารมณ์สักเพียงใด ล้วนไม่เที่ยงทั้งสิ้น ก็ควรที่จะได้มีจักขุอีกอย่างหนึ่ง คือ ปัญญาจักขุ ซึ่งข้อความใน อัฏฐสาลินี มีว่า
อธิบายคำว่า จักขุ จักขุ ๒ อย่าง
ในพระบาลีนั้น จักขุมี ๒ อย่าง คือ มังสจักขุ คือ ตาเนื้อ ๑ ปัญญาจักขุ คือ ตาปัญญา ๑
ในบรรดาจักขุทั้ง ๒ นั้น ปัญญาจักขุมี ๕ อย่าง คือ พุทธจักขุ ตาของพระพุทธเจ้า ๑ สมันตจักขุ ญาณจักขุ ทิพยจักขุ ธรรมจักขุ คือ ตาเห็นธรรม
ข้อความต่อไปอธิบายว่า
ในบรรดาปัญญาจักขุ ๕ อย่างนั้น จักขุที่มาดังนี้ว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราเมื่อตรวจดูโลกด้วยพุทธจักขุแล้ว ได้เห็นหมู่สัตว์ผู้มีกิเลสเพียงดังธุลีในดวงตาเล็กน้อยบ้าง ..... ( ข้อความต่อๆ ไปแสดงถึงอัธยาศัยต่างๆ ของสัตว์โลก) ผู้จะพึงให้รู้ได้โดยยาก (บางท่านก็รู้ได้โดยง่าย บางท่านก็รู้ได้โดยยาก) จักขุนี้ ชื่อว่าพุทธจักขุ
ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ถึงอัธยาศัยของแต่ละท่าน ซึ่งกำลังนั่งกันอยู่ ณ ที่นี้ บางท่านอาจจะกล่าวว่า ท่านผู้นี้ดีจริงๆ เป็นผู้ที่ดีเกือบจะพร้อมทุกประการ แต่ จะรู้ถึงอัธยาศัยที่สะสมมาในใจโดยละเอียดได้ไหมว่า ย่อมไม่สามารถจะดีพร้อมได้ ทุกประการถ้ายังไม่ใช่พระอรหันต์ ถ้าถึงบทที่จะร้ายหรือว่าอกุศลจิตจะเกิดขึ้นเป็นไป ก็ย่อมเกิด หรือบุคคลใดก็ตามซึ่งดูอากัปกิริยาภายนอกอาจจะคิดว่า ช่างสะสมมาเป็นผู้ที่มีอกุศลธรรมมากมาย แต่มีใครจะรู้ถึงปัญญาที่ได้สะสมมาในอดีต ซึ่งถ้าอบรมเจริญแล้วสามารถที่จะบรรลุถึงแม้ความเป็นพระอรหันต์ก็ได้
เพราะฉะนั้น ไม่มีใครที่สามารถจะรู้ถึงอัธยาศัยหรืออินทรีย์ของแต่ละท่านที่ได้สะสมมา นอกจากพระผู้มีพระภาคซึ่งมีพุทธจักขุ