แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1169
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๒๕
ข้อความต่อไปมีว่า
จักขุที่มาดังนี้ว่า พระสัพพัญญุตญาณ เรียกว่า สมันตจักขุ ดังนี้ ชื่อว่า สมันตจักขุ
จักขุที่มาดังนี้ว่า จักขุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ดังนี้ ชื่อว่าญาณจักขุ
จักขุที่มาดังนี้ว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราได้เห็นด้วยทิพยจักขุอันบริสุทธิ์ ดังนี้ ชื่อว่าทิพยจักขุ
ญาณ กล่าวคือ มรรคทั้ง ๓ ข้างต้น ที่มาดังนี้ว่า ธรรมจักขุอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน เกิดขึ้นแล้ว ณ ที่นั่งนั้นเอง ดังนี้ ชื่อว่าธรรมจักขุ
ถ. เรื่องสสัมภารจักขุ ปกติจักขุวิญญาณจะเกิดขึ้นต้องอาศัยธรรม ๔ ประการ คือ ต้องมีรูปารมณ์ มีจักขุปสาท มีแสงสว่าง มีมนสิการ แต่สมันตจักขุของพระผู้มีพระภาค แม้ในที่มืดก็สามารถเห็นได้ตั้ง ๑ โยชน์ ขาดปัจจัยเหล่านี้ จักขุวิญญาณของพระผู้มีพระภาคจะเกิดขึ้นได้อย่างไร
สุ. การที่จะเห็นสีสันวัณณะต่างๆ ต้องอาศัยแสงสว่างเป็นของที่แน่นอน ท่านผู้ฟังลองดูในที่มืด จะไม่เห็นรูปร่างสัณฐานของสิ่งใดนอกจากความสลัว อาจจะเห็นเป็นแต่เพียงเงาตะคุ่มๆ แต่เมื่อมีแสงสว่างเพิ่มขึ้น การเห็นก็ละเอียดชัดเจนขึ้น แม้สิ่งซึ่งมีเครื่องกั้น ถ้ามีแสงสว่างพอก็เห็นได้ ใช่ไหม เช่น สิ่งที่อยู่ในขวดแก้ว หยิบไม่ได้เพราะว่าอยู่ข้างใน แต่ตามองเห็นได้ ถ้ามีปัจจัยพอที่จะเห็น
เพราะฉะนั้น สำหรับตาของปุถุชนธรรมดาก็ย่อมจะมีปสาทะ คือ ความใส หรือว่ามีความสามารถในการที่จะกระทบกับรูปารมณ์ ต่างกับตาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้ว่าทุกท่านจะมีมังสจักขุ แต่กรรมอีกนั่นแหละที่ทำให้มังสจักขุต่างกัน แม้ปสาทรูปก็ต่างกันด้วย ถ้าท่านเป็นผู้ที่มีกุศลกรรมดี ตาเห็นชัด มองเห็นละเอียดกว่าบุคคลอื่น เป็นไปได้ไหม แม้แต่ในผู้ที่เป็นปุถุชนธรรมดาด้วยกัน จักขุปสาทย่อมต่างกันตามกรรม บางท่านจักขุปสาทไม่สามารถรับกระทบได้ละเอียดอย่างของบุคคลอื่น เป็นผู้ที่ตาพิการ มองเห็นไม่ชัด ก็เป็นได้ใช่ไหม นั่นเป็นเรื่องของจักขุปสาทรูปซึ่งสามารถที่จะรับกระทบ แม้รูปปรากฏจริง แต่ไม่สามารถที่จะรับกระทบส่วนละเอียดของรูปได้ บางท่านก็ตาบอดสี คือ ไม่สามารถที่จะเห็นสีเหมือนกับบุคคลอื่นเพราะความพิการของจักขุปสาทรูป ซึ่งเป็นรูปที่เกิดเพราะกรรม
เพราะฉะนั้น ถ้ากรรมที่ทำให้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าประกอบด้วยจักขุปสาทรูปพิเศษ สามารถที่จะเห็นสิ่งซึ่งบุคคลอื่นไม่เห็น เป็นไปได้ไหม ไม่เหมือนคนธรรมดาโดยประการทั้งปวง เพราะเหตุว่ากรรมต่างกัน
ถ. พระผู้มีพระภาคแม้ระยะ ๑ โยชน์ ก็ยังสามารถมองเห็นภูเขา เห็นอะไรต่างๆ หมายความว่า มองผ่านทะลุภูเขา เหมือนมีทิพยจักขุหรือเปล่า หรือว่าเห็นแบบธรรมดาๆ
สุ. ขณะที่เห็นอย่างนั้น ไม่ใช่ทิพยจักขุ เป็นแต่เพียงมังสจักขุเท่านั้น
น่าอัศจรรย์ทุกประการในเรื่องที่เกี่ยวกับพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ค่ำแล้วบางท่านอาจจะมองไม่เห็น แต่คนอื่นที่ตาดีๆ ยังเห็นได้ ใช่ไหม คนหนึ่งอ่านหนังสือไม่ได้ แต่อีกคนหนึ่งก็ยังอ่านได้ มืดๆ อย่างนี้ บางคนไม่เห็น มองหาไม่เจอ แต่อีก คนหนึ่งก็ยังสามารถหาสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ได้ นี่สำหรับคนธรรมดา
เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งทรงพระปัญญาเกินกว่าที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดจะพรรณนาได้ เพราะว่าไม่มีใครสามารถพรรณนาพระคุณของ พระผู้มีพระภาคได้โดยตลอด เว้นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกพระองค์หนึ่งเท่านั้น
สมัยนี้มีตาที่จะมองเห็นไกลอย่างนั้นไหม ลองคิดถึงในด้านวิทยาศาสตร์ โดยอาศัยเครื่องมือกลไกต่างๆ ได้ใช่ไหม แต่นี่อาศัยกรรมเป็นปัจจัย สุจริตกรรมใน ภพก่อน
สำหรับทิพยจักขุของพระผู้มีพระภาค ข้อความใน ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส มีว่า
พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุแม้ด้วยทิพยจักษุอย่างไร
พระผู้มีพระภาคย่อมทรงพิจารณาเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุบัติ ฯลฯ ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมทรงทราบชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมด้วยประการฉะนี้
พระผู้มีพระภาคทรงประสงค์จะดูโลกธาตุหนึ่งก็ดี สองก็ดี สามก็ดี สี่ก็ดี ห้าก็ดี สิบก็ดี ยี่สิบก็ดี สามสิบก็ดี สี่สิบก็ดี ห้าสิบก็ดี ร้อยหนึ่งก็ดี พันหนึ่งเป็นส่วนน้อยก็ดี สองพันเป็นส่วนปานกลางก็ดี สามพันก็ดี สี่พันเป็นส่วนใหญ่ก็ดี หรือว่าทรงประสงค์เพื่อจะทรงดูโลกธาตุเท่าใด ก็ทรงเห็นโลกธาตุเท่านั้น ทิพยจักษุของพระผู้มีพระภาคบริสุทธิ์อย่างนี้ พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุแม้ด้วยทิพยจักษุอย่างนี้
คนที่ไม่มีทิพยจักษุก็นึกไม่ถึงว่า จะมีทิพยจักษุอย่างนั้นได้อย่างไร แต่ถ้าคิดว่า แม้ในขณะนี้สภาพธรรมกำลังเกิดดับอยู่ก็ยังไม่รู้ แต่พระผู้มีพระภาคทรงสามารถประจักษ์สภาพธรรมตามความเป็นจริง และทรงแสดงได้โดยละเอียด เช่น ในจิต ดวงหนึ่งๆ นั้น มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยกี่ประเภท และเจตสิกแต่ละประเภทนั้น เป็นปัจจัยแก่จิต เจตสิก และรูปโดยปัจจัยอะไรๆ บ้าง ในชั่วขณะเดียวซึ่งจิตเกิดขึ้นและดับไป
เพราะฉะนั้น ก็ไม่เป็นที่อัศจรรย์สำหรับทิพยจักขุของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ผู้อื่นไม่สามารถจะคาดคะเนได้เลยในทุกอย่างที่เกี่ยวกับพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพียงแต่ว่าศึกษาพระธรรมเท่าที่สามารถจะอบรมเจริญปัญญา รู้ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ซึ่งไม่ใช่ว่าจะรู้ได้โดยรวดเร็ว แม้ว่าจะทรงแสดง โดยละเอียดเพียงไร ผู้ที่ศึกษาก็ยังต้องพิจารณาและอบรมเจริญปัญญาไปเรื่อยๆ จนกว่าจะรู้
ข้อความต่อไปเป็นพระปัญญาจักษุของพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุแม้ด้วยปัญญาจักษุอย่างไร
พระผู้มีพระภาคมีพระปัญญาใหญ่ มีพระปัญญากว้างขวาง มีพระปัญญา ร่าเริง มีพระปัญญาไว มีพระปัญญาคมกล้า มีพระปัญญาทำลายกิเลส ทรงฉลาดในประเภทปัญญา มีพระญาณแตกฉาน ทรงบรรลุปฏิสัมภิทาแล้ว ทรงถึงแล้วซึ่งเวสารัชชญาณ ๔ ทรงพลญาณ ๑๐ ทรงเป็นบุรุษผู้องอาจ ทรงเป็นบุรุษสีหะ ทรงเป็นบุรุษนาค ทรงเป็นบุรุษอาชาไนย ทรงเป็นบุรุษนำธุระไป มีญาณไม่มีที่สุด มีเดชไม่มีที่สุด มียศไม่มีที่สุด เป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก นับว่ามีทรัพย์ เป็นผู้นำ นำไปให้วิเศษ นำเนืองๆ ให้เข้าใจ ให้เพ่งพินิจ เป็นผู้ตรวจดูให้เลื่อมใส
พระผู้มีพระภาคนั้นทรงยังมรรคที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ทรงยังประชาชนให้เข้าใจมรรคที่ยังไม่เข้าใจ ตรัสบอกมรรคที่ยังไม่มีใครบอก ทรงรู้มรรค ทรงรู้แจ้งมรรค ฉลาดในมรรค
ก็แหละในบัดนี้ พระสาวกทั้งหลายเป็นผู้ดำเนินตามมรรค ประกอบในภายหลังอยู่ พระผู้มีพระภาคนั้นทรงรู้อยู่ ชื่อว่าทรงรู้ ทรงเห็นอยู่ ชื่อว่าทรงเห็น เป็นผู้มีจักษุ มีญาณ มีธรรม มีคุณอันประเสริฐ เป็นผู้ตรัสบอกธรรม ตรัสบอกทั่วไป ทรงแนะนำประโยชน์ ประทานอมตธรรม เป็นพระธรรมสามี เสด็จไปอย่างนั้น บทธรรมที่พระองค์มิได้ทรงรู้ มิได้ทรงเห็น มิได้ทรงทราบ มิได้ทรงทำให้แจ่มแจ้ง มิได้ทรงถูกต้อง ไม่มีเลย
นี่คือพระปัญญาจักษุ
ถ. ที่ว่าพระผู้มีพระภาคเป็นผู้มีทรัพย์มาก ทรัพย์ของพระผู้มีพระภาคคืออะไร
สุ. ทุกอย่าง ทั้งที่เป็นอริยทรัพย์และที่เป็นวัตถุ ใครมีทรัพย์เท่าไร นำมาถวายทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินประเทศไหนในชมพูทวีป ของที่นำมาบูชาตั้งแต่ทรงตรัสรู้ ทรงแสดงธรรม แม้ปรินิพพานแล้ว จนกระทั่งถึงบัดนี้ ลองตรวจดูว่า ทรัพย์ในพระศาสนาซึ่งมีผู้ที่นำมาสักการบูชามากสักแค่ไหน แต่ละประเทศ แต่ละวัด แต่ละแห่ง รวมตลอดไปจนกระทั่งถึงภัตตาหารของพระภิกษุทั้งหลาย ก็เป็นเพราะว่าพุทธศาสนิกชนหรือพุทธบริษัทมีศรัทธาที่จะน้อมถวายพระภิกษุซึ่งมีพระผู้มีพระภาคเป็นประมุข ก็เท่ากับว่าพระองค์เป็นเจ้าของทรัพย์ทั้งหมดของผู้ที่มีศรัทธา มากไหม
ถ. ทำไมผู้ที่ถวายพระภิกษุสงฆ์ ยังถือว่าเป็นของพระผู้มีพระภาคอีก
สุ. เพราะว่ามีพระผู้มีพระภาคเป็นประมุข แม้แต่ในการถวายภัตตาหารหรือการเลี้ยงพระจะเห็นได้ว่า ด้วยความนอบน้อม แม้ว่าพระผู้มีพระภาคจะ ดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้ว เวลาที่เลี้ยงพระก่อนที่จะถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุสงฆ์ ก็ยังจัดที่สำหรับเป็นการบูชาพระผู้มีพระภาค โดยถือว่าในการเลี้ยงพระนั้นมี พระผู้มีพระภาคเป็นประมุข ของพระธรรม ของพระสงฆ์
ถ้าท่านผู้ฟังเป็นผู้ที่มีศรัทธา ทรัพย์ในบ้านของท่านทั้งหมด ยินดีที่จะถวายแก่พระผู้มีพระภาคไหม ไม่ว่าจะทรงประสงค์สิ่งใดถ้ายังยังทรงพระชนม์อยู่ หรือแม้ว่าจะทรงดับขันธปรินิพพานไปแล้ว สำหรับผู้ที่เป็นพระอริยบุคคล ทรัพย์ของผู้นั้นเสมอกับทรัพย์ของพระอริยสงฆ์ทั้งหลาย ไม่ว่าพระอริยสงฆ์มีความปรารถนาสิ่งใด หรือ สงฆ์ตามพระวินัยบัญญัติปรารถนาสิ่งใด ทรัพย์ของบุคคลซึ่งเป็นพระอริยเจ้าแล้วเสมือนกับทรัพย์ของพระสงฆ์ คือ ไม่ว่าท่านจะต้องการสิ่งใด ถวายได้หมด เช่น ฆฏิการะช่างหม้อ คงจำได้ สุดแล้วแต่สงฆ์จะปรารถนาสิ่งใด ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลแล้ว ทรัพย์ของบุคคลนั้นก็คือทรัพย์ของสงฆ์
ถ. เฉพาะพระอนาคามี ใช่ไหม หรือว่าพระโสดาบันด้วย
สุ. ผู้ที่เป็นพระอริยะเจ้า ถ้ามีโอกาส หรือว่ามีความจำเป็นแก่สงฆ์ ทรัพย์ของท่านก็เสมือนกับทรัพย์ของสงฆ์ แต่ไม่ใช่ทรัพย์ของภิกษุบุคคล
อย่าลืม ท่านต้องแยก ตามพระวินัย พระสงฆ์หมายความถึงภิกษุซึ่งได้รับอุปโลกน์ในการกระทำกิจของสงฆ์ แต่เมื่อสังฆกรรมหรือกิจของสงฆ์นั้นสำเร็จแล้ว ภิกษุซึ่งแม้กระทำสังฆกรรมนั้น ก็เป็นภิกษุบุคคล
เพราะฉะนั้น อย่าปะปนความหมายของภิกษุบุคคลกับสงฆ์ ภิกษุบุคคล คือพระภิกษุแต่ละรูปๆ ในขณะที่ยังไม่ได้กระทำสังฆกรรม คือ ยังไม่ได้กระทำกิจของสงฆ์ ไม่ว่าท่านจะมีความประพฤติเหมาะควรหรือไม่เหมาะควรประการใด พุทธบริษัทย่อมมีโอกาสที่จะแสดงความนอบน้อม หรือไม่นอบน้อมได้ แต่ในขณะใดก็ตามที่ภิกษุเหล่านั้นกระทำกิจของสงฆ์ คือ กำลังกระทำกิจของสงฆ์อยู่ ความนอบน้อมต้องมี ต่อสงฆ์ เพราะในขณะนั้นไม่ใช่ภิกษุบุคคล ต่อเมื่อสังฆกรรมเสร็จแล้ว แต่ละท่านก็เป็นภิกษุบุคคล ซึ่งก็แล้วแต่การกระทำที่ควรหรือไม่ควรของท่าน
แม้ว่าท่านจะเป็นผู้ที่มีความประพฤติไม่เหมาะควร แต่เมื่อได้รับอุปโลกน์ให้กระทำกิจของสงฆ์ ผู้ซึ่งนอบน้อมในสงฆ์ ก็นอบน้อมในสงฆ์ โดยไม่ถือการเป็น ภิกษุบุคคลในขณะนั้นขึ้นมาคำนึงถึง เพราะฉะนั้น สงฆ์ในที่นี้ ไม่ได้หมายความถึงภิกษุบุคคล
ถ. ภิกษุสงฆ์ในประเทศไทยเวลานี้ ก็ทำอะไรหลายอย่างที่ถือว่าเป็นกิจของสงฆ์ แต่ไม่ได้อยู่ในพระบัญญัติ
สุ. เช่นอะไร ถือว่าเป็นกิจของสงฆ์
ถ. เช่น เวลานี้เถรสมาคม พระเจ้าแผ่นดินได้ตั้งพระภิกษุรูปนี้เป็นเจ้าคุณ เป็นเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัด
สุ. เป็นภิกษุบุคคล ตราบใดที่ไม่ได้กระทำสังฆกรรม ขณะนั้นต้องเป็น ภิกษุบุคคล ชั่วขณะที่กำลังกระทำสังฆกรรมเท่านั้นที่เป็นสงฆ์ เพราะว่าได้รับอุปโลกน์จากคณะสงฆ์ให้กระทำกิจของสงฆ์ เสร็จกิจแล้วก็ต้องเป็นภิกษุบุคคลแต่ละรูปๆ
ถ. แต่เดี๋ยวนี้ถือเป็นผู้บังคับบัญชา เป็นเจ้าคณะจังหวัด
สุ. ก็ยังเป็นภิกษุบุคคล
ถ. ไม่ถือเป็นกิจของสงฆ์หรือ
สุ. ไม่ใช่ ถ้ากิจของสงฆ์ เช่น ในขณะที่ทำพิธีอุปสมบท หรือว่าทอดกฐิน แล้วแต่กิจของสงฆ์จะมีอะไรบ้าง ซึ่งแสดงไว้ในพระวินัยบัญญัติ ถ้าไม่ใช่กิจเหล่านั้น ก็ไม่ใช่สังฆกรรม
ถ. กิจใดที่จะทำให้พุทธศาสนาดำรงอยู่ถาวร ถือว่าเป็นกิจของสงฆ์ได้ไหม
สุ. กิจของสงฆ์ต้องมีแสดงไว้ในพระวินัยบัญญัติว่า จะต้องประกอบด้วยภิกษุกี่รูปจึงจะจัดว่าเป็นสงฆ์ ซึ่งกระทำสังฆกรรมเฉพาะแต่ละกิจๆ เช่น กิจนี้ต้องประกอบด้วยภิกษุจำนวนเท่าไร กิจนั้นต้องประกอบด้วยภิกษุจำนวนเท่าไร
ถ. ก็มีแสดงไว้ กระทำอุโบสถกรรมจะต้องไม่ต่ำว่า ๔ รูป
สุ. ขณะนั้น ทั้ง ๔ รูปเป็นสงฆ์
ถ. อุปสมบทในมัชฌิมชนบทต้องไม่ต่ำกว่า ๑๐ รูป ในปัจจันตชนบทต้องไม่ต่ำกว่า ๕ รูป ในเรื่องของชนบท ประเทศไทยถือว่าเป็นปัจจันตชนบท หรือว่ามัชฌิมชนบท
สุ. ถ้าเป็นเรื่องอย่างนี้ ขอให้เรียนถามพระคุณเจ้าจะถูกต้องกว่า เพราะเป็นผู้ที่รอบรู้ในพระวินัยบัญญัติ