แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1171

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๒๕


ถ. ทวารตา เมื่อสติระลึกรู้ลักษณะของรูป คือ รูปารมณ์ ในขณะที่สติเกิดระลึกรู้นั้น ความรู้สึกเราอยู่ที่ปสาทตา หรืออยู่ในวัตถุที่มากระทบเรา

สุ. สิ่งที่ติดกับจักขุปสาทมองเห็นไหม

ถ. ไม่เห็น

สุ. เห็นสิ่งซึ่งเพียงกระทบ ที่มาสู่คลองของจักษุเท่านั้น ไม่ได้เข้ามาอยู่ในจักขุปสาท เพียงกระทบปรากฏเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น สำหรับจักขุปสาทและ โสตปสาทรับกระทบรูปไกล

ถ. นามรูปปริจเฉทญาณจะต้องรู้รูปนามทั้ง ๖ ทวาร โดยไม่มีข้อสงสัย หมายความว่า ทางตาจะต้องรู้จักขุวิญญาณด้วย รู้สีคือรูปารมณ์ด้วย และรู้ จักขุปสาทด้วย ใช่ไหม

สุ. ชื่อของญาณนี้ คือ นามรูปปริจเฉทญาณ ซึ่งหมายความถึงปัญญาที่สมบูรณ์ถึงขั้นที่ประจักษ์สภาพที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น

เวลานี้ท่านผู้ฟังทราบลักษณะโดยการศึกษาว่า นามธรรมเป็นสภาพรู้ เป็น ธาตุรู้ เป็นอาการรู้ และรูปธรรมเป็นสภาพซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ แต่ในขณะที่กำลังเห็น ก็ยากที่จะแยกลักษณะที่เป็นนามธรรมออกจากลักษณะที่เป็นรูปธรรม ถ้าตราบใดสติไม่ได้ระลึกถึงอาการรู้บ่อยๆ เนืองๆ ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ

แต่ตามความเป็นจริงทุกท่านจะตอบว่า สติของท่านเวลาเกิด เริ่มระลึกเพียงบางทวาร เช่น ทางกาย หลายท่านบอกว่า ระลึกได้ ทางหู บางท่านก็บอกว่า ระลึกได้ แต่ทางตา มีหลายท่านที่บอกว่า ยังไม่ได้ระลึก

เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นนามรูปปริจเฉทญาณ ไม่ได้หมายความว่า ต้องประจักษ์แจ้งในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทั้ง ๖ ทวาร แต่ว่าหมดความสงสัยในลักษณะของนามธรรมซึ่งต่างกับลักษณะของรูปธรรมในขณะที่วิปัสสนาญาณนั้นเกิดขึ้น ชั่วขณะที่กำลังเกิดขึ้น เพราะว่าการอบรมเจริญปัญญา สติจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติเรื่อยๆ และผู้ที่ระลึกนั่นเองเป็นผู้ที่จะสังเกตรู้ว่า ค่อยๆ รู้ลักษณะของสภาพที่เป็นนามธรรมขึ้นบ้างไหมว่า อาการนี้ ลักษณะนี้เป็นแต่เพียงอาการรู้ หรือสภาพรู้

ลองพิสูจน์แต่ละทวารไป เช่น ในขณะที่รู้แข็ง ขณะนี้เอง สติระลึกจะรู้ลักษณะที่ต่างกันของสภาพที่เป็นธาตุรู้และลักษณะที่แข็งเพิ่มขึ้นหรือยัง หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ถ้าท่านผู้ใดทางตายังไม่ระลึก ก็ไม่เป็นไร ถ้าท่านยังสามารถน้อมรู้ในลักษณะของธาตุรู้ว่า สภาพนี้เป็นสภาพรู้ ต่างจากสภาพที่ไม่ใช่สภาพรู้เลย

และในชาติหนึ่งๆ ก็ไม่มีใครรู้ว่า ในชาติก่อนๆ สติเคยระลึกรู้ทางทวารไหนมากบ้างน้อยบ้างอย่างไร เพราะฉะนั้น ในปัจจุบันชาติซึ่งนามรูปปริจเฉทญาณอาจจะเกิดในขณะหนึ่งขณะใดซึ่งสติกำลังระลึกที่รูปใดรูปหนึ่ง และมโนทวารปรากฏความขาดจากกันของลักษณะที่เป็นธาตุรู้และรูปซึ่งกำลังปรากฏ ในขณะนั้นเป็นนามรูปปริจเฉทญาณ แต่ผู้นั้นจะต้องมาน้อมพิจารณาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจต่อไปอีกมากทีเดียว

สำหรับนามรูปปริจเฉทญาณนั้น หมดความสงสัยในลักษณะของนามธาตุ ธาตุรู้ ซึ่งเกิดปรากฏทางมโนทวาร ซึ่งทางทวารอื่นไม่สามารถจะรู้ลักษณะอาการของนามธรรมได้เลย พร้อมกันนั้น ในขณะนั้น ก็มีลักษณะของรูปตามปกติปรากฏทาง มโนทวารด้วย แต่จะเป็นอาการปรากฏทางมโนทวารโดยตลอดสำหรับวิปัสสนาญาณ และเวลาที่วิปัสสนาญาณเกิด ก็แล้วแต่ว่าบุคคลนั้นกำลังมีนามธรรมหรือรูปธรรมอะไรปรากฏ

การเกิดขึ้นของวิปัสสนาญาณเป็นอนัตตาโดยแน่นอน เพราะฉะนั้น แต่ละบุคคลจะเหมือนกันไม่ได้ แล้วแต่ว่าบุคคลใดนามรูปปริจเฉทญาณจะเกิดเร็วก่อนที่จะพิจารณานามธรรมอื่นและรูปธรรมอื่น แต่สามารถที่จะประจักษ์แจ้งโดยทางมโนทวาร โดยความเป็นอนัตตาว่า สภาพที่เป็นนามธรรมปรากฏต่างกับลักษณะของรูปธรรม เพราะว่าญาณนี้หมดความสงสัยในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมชั่วขณะที่วิปัสสนาญาณเกิด แต่อย่าลืมว่า วิจิกิจฉาเจตสิกจะดับไม่เกิดอีกเลยเป็นสมุจเฉท ต่อเมื่อโสตาปัตติมรรคจิตเกิด เพราะฉะนั้น จากขณะที่นามรูปปริจเฉทญาณเกิดและดับไป จะต้องมีการน้อมระลึกถึงสภาพที่ปรากฏทางทวารอื่นๆ ประกอบอีกต่อไป เรื่อยๆ จนกว่าสภาพธรรมที่เป็นวิปัสสนาญาณจะเกิดคั่นต่อไปอีก

แต่ถ้าขาดการพิจารณา จะอยู่แค่เพียงนามรูปปริจเฉทญาณ ซึ่งเคยเกิดและ ไม่เจริญยิ่งขึ้นในทางอื่น เพราะว่าไม่มีการน้อมพิจารณาสภาพธรรมที่เกิดปรากฏแล้วตามทวารอื่นๆ อีก

ถ. … (ได้ยินไม่ชัด)

สุ. ญาณนั้นเป็นญาณที่ไม่สงสัย เพราะประจักษ์ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทางมโนทวาร ชั่วขณะที่วิปัสสนาญาณเกิด เพราะเพียงนามรูปปริจเฉทญาณเท่านั้นดับกิเลสไม่ได้ แต่ผลของการอบรมเจริญสติปัฏฐานไม่เป็นโมฆะ เพราะว่าผลคือการประจักษ์ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทางมโนทวารโดยสภาพที่เป็นอนัตตา

ถ. ต้องประจักษ์ทางมโนทวาร

สุ. แน่นอน

ถ. … (ได้ยินไม่ชัด)

สุ. เวลานี้ท่านผู้ฟังทราบว่ามี ๖ ทาง ทางตา คือ กำลังเห็น ทางหู คือ กำลังได้ยิน แต่อย่าลืมว่า ระหว่างทางตากับทางหู มโนทวารเกิดขึ้นคั่นหลายวาระ เห็นขณะหนึ่งทางตาดับไปแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่น และมโนทวารวิถีเกิดหลายวาระ ยังไม่ทันได้ยิน เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่ปรากฏเสมือนเห็นด้วยได้ยินด้วย และคิดนึก และรู้ความหมายของสิ่งที่ปรากฏด้วย ลักษณะของมโนทวารยังไม่ปรากฏ เพราะ ขณะใดที่มโนทวารปรากฏ ขณะนั้นลักษณะของทวารอื่นจะไม่ต่อกันอย่างนี้ เหมือนกับปิดบังมโนทวารไว้ แต่เวลาที่มโนทวารปรากฏ ลักษณะของมโนทวารจะเหมือนกับปิดบังทวารอื่นไว้ เพราะว่าเฉพาะลักษณะของมโนทวารเท่านั้นที่ปรากฏ

แต่ตามความเป็นจริงจะมีมโนทวารเพียงทวารเดียวปรากฏไม่ได้ เพราะถ้าปราศจากโสตทวาร เสียงจะปรากฏทางมโนทวารไม่ได้ กลิ่นจะปรากฏทางมโนทวารไม่ได้ ทุกวิปัสสนาญาณต้องปรากฏทางมโนทวารจึงจะแสดงความขาดตอนของแต่ละทวารได้ เพราะว่ามโนทวารคั่นอยู่ทุกๆ ปัญจทวาร

ถ. หมายความว่า เมื่อสติเกิดแล้ว นามธรรมและรูปธรรมจะเกิดทางทวารไหนก็แล้วแต่ เมื่อนามรูปปริจเฉทญาณเกิด ก็ไม่มีความสงสัย

สุ. ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม

ถ. ตามทวารนั้นๆ

สุ. ในขณะที่วิปัสสนาญาณเกิด เวลานี้ท่านผู้ฟังได้ยินคำว่า นามธรรม ได้ยินคำว่า รูปธรรม และรู้ว่าเห็นไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา ได้ยินเป็นนามธรรมซึ่งรู้เสียง ไม่ใช่เสียง นี่เป็นแต่เพียงความรู้ซึ่งยังไม่ชัด ยังไม่รู้ลักษณะของนามซึ่งไม่ใช่รูป แม้แต่รูปซึ่งละเอียดที่สุดก็ไม่ใช่นามธรรม เพราะฉะนั้น นามธรรมไม่มีรูปปะปนเลย เป็นแต่เพียงอาการรู้ล้วนๆ จะมีลักษณะอย่างไร แต่อาการรู้หรือสภาพรู้ล้วนๆ จะปรากฏต่อเมื่อมโนทวารปรากฏ

ถ. ปสาทรูปที่จะรู้ได้ จะรู้ในขณะที่นามรูปปริจเฉทญาณเกิดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายหรือไม่

สุ. แล้วแต่จะน้อมพิจารณา เพราะในขณะนั้นที่เป็นนามรูปปริจเฉทญาณ ปัญญารู้ลักษณะของนามธรรม รู้ลักษณะของรูปธรรม ซึ่งไม่ต่างกับรูปที่ปรากฏทางทวารทั้ง ๕ ตามปกติ แต่ไม่ใช่ปสาทรูป

ถ. ปรากฏอย่างไร

สุ. ปรากฏเหมือนกับที่กำลังเห็นอย่างนี้ แต่ไม่ใช่เห็นอย่างนี้ แต่เป็นทาง มโนทวารปรากฏ จะหมดความสงสัยในสภาพของมโนทวารว่า ที่มีมโนทวารคั่นนั้น คืออย่างไร นี่คือการที่จะหมดความสงสัย

ถ. แสดงว่าในขณะที่เรารู้เพียงเห็น เรารู้ยังไม่ชัดเพียงพอ เราจึงยังไม่รู้ความเป็นไปของมโนทวาร ส่วนปสาทรูปมีวิเสสลักษณะที่เราสามารถระลึกได้ สติโคจรไปได้ไหม

สุ. ปสาทรูปเป็นสภาพที่รองรับของจักขุวิญญาณเป็นอาการปรากฏ มีลักษณะเป็นสภาพที่ใสกระทบรูปารมณ์ มีกิจ คือ ชักมาที่รูป

ถ. ลักษณะ คือ อาการใส อาการที่เหมาะควรแก่การกระทบ แต่ยังหาลักษณะที่จะให้ระลึกได้เหมือนอย่างทางกาย หรือทางตายังไม่พบ

สุ. แน่นอน เพราะเป็นแต่เพียงรูปที่กระทบได้ ไม่สามารถเห็นได้

ถ. ในการเจริญสติปัฏฐาน ไม่อาจประจักษ์ได้ด้วยสติที่โคจรไปใช่ไหม

สุ. สติปัฏฐาน คือ ขณะที่ระลึกศึกษาลักษณะสภาพธรรมที่ปรากฏ อะไรปรากฏต้องรู้ในสิ่งที่ปรากฏ ถ้าปสาทรูปไม่ปรากฏ ควรจะศึกษาอะไร

ถ. ในการศึกษาต้องเป็นไปอย่างนั้น แต่เกิดความสงสัยว่า เมื่อไม่ปรากฏจะเป็นไปได้ไหมว่า จะไม่ปรากฏตลอดไปจนขั้นบรรลุพระอรหันต์ ปสาทรูปนี้ไม่อาจให้สติระลึกรู้ได้ นอกจากพระญาณของพระผู้มีพระภาคเท่านั้น

สุ. ทุกคนได้ยินเสียง เป็นของธรรมดาไม่น่าสงสัย สีสันวัณณะที่ปรากฏ ก็เป็นของธรรมดาไม่น่าสงสัย กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นของธรรมดาไม่น่าสงสัย แต่แม้กระนั้นความเกิดขึ้นและดับไปของแต่ละรูปซึ่งกระทบปรากฏนั้น น่าสงสัยไหม อย่างเช่น แข็งที่จะปรากฏความเกิดดับของแข็งได้ น่าสงสัยไหม

ถ. รูปแข็งและรูปต่างๆ ทางทวารทั้งหลายนั้น มีลักษณะปรากฏให้เราระลึกได้ จึงไม่มีความสงสัย แต่อย่างปสาทรูปเป็นรูปซึ่งละเอียด ไม่ปรากฏที่จะให้เราระลึกได้ จึงเกิดความสงสัย

สุ. เพราะฉะนั้น จึงได้เทียบเคียงว่า เสียงที่ได้ยินก็ดี หรือว่าอ่อนแข็งซึ่งกำลังปรากฏก็ดี โดยความจริงแล้วกำลังเกิดดับ ก็ยังน่าสงสัย แม้ว่าเป็นรูปซึ่งสามารถจะเห็นได้ พิสูจน์ได้ ได้ยินได้ ได้กลิ่นได้ อย่างกลิ่น ดูเหมือนไม่น่าสงสัย อ่อน แข็ง ดูเหมือนไม่น่าสงสัย แต่พอพูดถึงความละเอียดว่ารูปนี้เกิดดับ น่าสงสัย ทั้งๆ ที่เป็นรูปที่กระทบปรากฏเป็นธรรมดา แต่ปสาทรูปทั้งหลายไม่ได้ปรากฏตามธรรมดา ปสาทรูปนั้นเล็กกว่าและใส เพราะว่าเป็นรูปซึ่งไม่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เพราะฉะนั้น การที่จะไปรู้ลักษณะของปสาทรูปย่อมยากกว่า

เทียบเคียงเพื่อให้เห็นว่า ของธรรมดาๆ ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็ยังน่าสงสัยในความเกิดดับ เพราะฉะนั้น ปสาทรูปซึ่งไม่ปรากฏ ในเมื่ออย่างอื่นปรากฏยังเป็นที่น่าสงสัยในความเกิดดับ ปสาทรูปซึ่งไม่ปรากฏก็ต้องเป็นที่สงสัยในลักษณะของปสาทรูปซึ่งเกิดดับด้วย

ถ. ลักษณะที่ไม่ปรากฏอย่างนี้ จะไม่ปรากฏตลอดไปจนกระทั่งถึง มรรคญาณเลย ใช่ไหม

สุ. ก็ไม่ควรจะปรากฏสำหรับผู้ที่ไม่น้อมไปที่จะรู้ เพราะปัญญาของแต่ละบุคคลมีหลายขั้น ท่านผู้ฟังอย่าลืม นอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังมี ท่านพระสารีบุตร รวมทั้งพระเถระทั้งหลาย ตลอดจนกระทั่งถึงผู้ที่สามารถเพียงรู้แจ้งอริยสัจธรรมที่ไม่ใช่เป็นพระอัครสาวกหรือมหาสาวกเหล่านั้น

ถ. เพราะฉะนั้น รูปนี้เป็นรูปที่สติไม่สามารถจะโคจร

สุ. สำหรับใคร

ถ. สำหรับปุถุชน

สุ. เรื่องของแต่ละบุคคล เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก เหมือนตา มีตากันคนละ ๒ ข้าง แต่ก็ยังต่างกันไป วิจิตรมากมาย เพราะฉะนั้น ตาปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมก็ย่อมต่างกันไปมากมายด้วย แล้วแต่ว่าสภาพธรรมที่มีจริงจะเป็นอารมณ์ของบุคคลประเภทใด ใครสามารถจะระลึกรู้ได้ และไม่ต้องไปสงสัยสำหรับผู้ที่จะระลึกรู้ได้ สำหรับท่านผู้ฟังเองจะรู้อะไรได้ ก็ควรที่จะศึกษารู้สิ่งซึ่งจะรู้ได้ มิฉะนั้นก็จะต้องก้าวก่ายถึงปัญญาของท่านพระสารีบุตร หรือของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

ถ. มีแสดงไว้บ้างหรือไม่ว่า ปสาทรูปนี้ใครสามารถจะระลึกรู้ได้

สุ. ผู้ที่รู้ได้แน่นอน คือ ผู้ที่ทรงแสดงเรื่องของจักขุปสาทรูป คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า นอกจากนั้นผู้ที่มีปัญญารองลงมาจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ ท่านพระสารีบุตร และถ้าพระอรหันต์รูปอื่นๆ องค์อื่นๆ ท่านรู้ ท่านก็ไม่มาประกาศว่า ท่านรู้รูปละเอียดแค่ไหน รูปอะไรบ้าง แต่ว่าท่านเหล่านั้นสามารถดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท แล้วแต่ว่าภูมิปัญญาของท่านอยู่ในระดับใดที่จะรู้รูปประเภทใด ท่านก็รู้รูปประเภทนั้น

ถ. ขณะที่พิจารณาไม่สามารถจะตั้งเอาไว้ก่อนว่า เดี๋ยวจะพิจารณานาม หรือจะพิจารณารูป ขณะที่สติเกิด ไม่มีเวลาที่จะคิดอย่างนั้นอยู่แล้ว

สุ. เวลาที่สติเกิด คือ รู้ว่ามีสภาพธรรมหนึ่งกำลังปรากฏ และวิริยเจตสิก สัมมาวายามะ รวมทั้งสัมมาสังกัปปะก็น้อมพิจารณาลักษณะสิ่งที่ปรากฏจนเป็นความรู้ โดยรู้ว่าอาการรู้เป็นเพียงสภาพรู้ ซึ่งไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน เพราะว่าขณะนั้นเป็นแต่เพียงสภาพรู้แข็ง ต่างกับสภาพรู้เสียง ต่างกับสภาพรู้สี รู้คำ รู้เรื่อง คิดนึก

ถ. คงจะต้องมีสติสังเกตไปเรื่อยๆ

สุ. แน่นอน อดทน อย่าท้อถอย

ถ. ขณะที่อ่านหนังสือนั้นพิจารณาเองว่า การอ่านช้าๆ จะพิจารณาเห็น กับการรู้เรื่องได้ รู้สึกว่า นามธรรมเหล่านั้นแตกต่างกันพอสมควร จะเป็นปัญญาไหม

สุ. เป็นขั้นต้นของการที่จะระลึกรู้ในขณะที่กำลังอ่าน ซึ่งแต่ก่อนคงจะไม่เคยระลึกได้เลยว่า ขณะอ่านมีสภาพนามธรรมต่างกัน เป็นสภาพเห็น เป็นสภาพคิดแต่ละคำด้วย ต้องเริ่มไปอย่างนี้เรื่อยๆ จะไม่มีหนทางอื่นหรือวิธีอื่น

เหมือนกับการลับมีด ฝนทั่งจนกว่าจะเป็นเข็ม ถ้าเป็นมิจฉาทิฏฐิก็ต้องให้ หมดเลย ไม่ใช่เหลือแต่เพียงเล็กน้อยด้วย เพราะฉะนั้น ให้คิดถึงการจับด้ามมีด ต้องมีความอดทนที่จะต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งสติจะเกิดหรือไม่เกิดใน วันหนึ่งๆ ก็แล้วแต่เหตุปัจจัย ซึ่งต้องอาศัยการฟังที่จะปรุงแต่งให้เป็นสังขารขันธ์ให้ สติระลึกตรงตามที่ได้ศึกษาด้วย

ถ. ถ้ามโนทวารปรากฏ เห็นกับได้ยินจะปรากฏไม่พร้อมกันใช่ไหม

สุ. แน่นอน

ถ. จะรู้สึกอย่างไร

สุ. ทำไมถามถึงเรื่องความรู้สึก

ถ. ชีวิตจริงๆ ต้องรู้สึกไม่ใช่หรือ

สุ. ก็เป็นปกติ

เปิด  248
ปรับปรุง  19 ต.ค. 2566