แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1172

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๒๕


สุ. แต่อย่าลืมว่า ถ้ามโนทวารปรากฏต้องเป็นวิปัสสนาญาณ ซึ่งตามปกติ อย่างในขณะนี้ ทางตาปิดบังมโนทวาร ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทั้งหมด ทั้ง ๕ ทาง ปิดบังมโนทวาร เพราะทั้งๆ ที่เห็น ก็ดูเหมือนได้ยินพร้อมกันโดยที่ทางตาไม่ปรากฏว่าดับสักขณะเดียว เพราะฉะนั้น มโนทวารซึ่งคั่นอยู่ระหว่างการเห็นกับการได้ยินนั้นอยู่ที่ไหน

แสดงให้เห็นว่า ทางตาและทางหูปิดบังมโนทวาร และกายก็กระทบสัมผัส มีจริง ปรากฏให้เห็นว่า เห็นด้วย ได้ยินด้วย กระทบสัมผัสสิ่งที่อ่อนหรือแข็งด้วย หรือขณะที่รับประทานอาหารมีรสปรากฏด้วย มีกลิ่นปรากฏด้วย แสดงให้เห็นว่า ปัญจทวารปิดบังมโนทวาร ทำให้ลักษณะของมโนทวารไม่ปรากฏ ดูเสมือนว่าแต่ละทวารของปัญจทวารสืบต่อกันอยู่ตลอดเวลา โดยไม่ปรากฏว่าทวารหนึ่งทวารใดขาดไป

เพราะฉะนั้น ขณะใดที่ไม่ใช่วิปัสสนาญาณ มโนทวารจะไม่ปรากฏ

มโนทวารจะปรากฏ เพื่อแสดงความขาดตอนของแต่ละทวารไม่ปะปนกันทั้งนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งนามธรรมจะปรากฏลักษณะที่เป็นเพียงสภาพรู้หรือธาตุรู้ ได้ทางมโนทวารเท่านั้น พร้อมกันนั้นรูปซึ่งผ่านปัญจทวารก็ปรากฏทางมโนทวาร เพราะว่ามโนทวารวิถีเกิดต่อจากปัญจทวารวิถี

เมื่อจักขุทวารวิถี คือ ในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ดับ มีภวังคจิตคั่นก็ไม่รู้ตัวเลย และมีมโนทวารวิถีเกิดหลายวาระคั่นก็ไม่รู้ว่าขณะนี้เป็นมโนทวารวิถี ไม่ใช่จักขุทวารวิถี หรือว่าเวลาที่ได้ยินเสียงก็ไม่รู้ว่า ขณะนี้ก็มีมโนทวารวิถีไม่ใช่มีแต่เฉพาะโสตทวารวิถีเท่านั้น จึงมีการเข้าใจความหมายของเสียงสูงๆ ต่ำๆ เป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ ได้

เพราะฉะนั้น เวลาที่มโนทวารวิถีปรากฏ รูปย่อมปรากฏลักษณะของรูป ขาดตอนเป็นแต่ละรูป พร้อมกันนั้นนามธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้ก็ปรากฏทางมโนทวารว่า ลักษณะของธาตุรู้นั้นไม่ใช่รูปใดๆ ทั้งสิ้น

ในขณะที่มโนทวารวิถีปรากฏ ย่อมเสมือนปิดบังปัญจทวาร เพราะไม่มีใครรู้การกระทบกันของสัททารมณ์ คือ เสียง กับโสตปสาทรูปซึ่งเป็นรูปที่มองไม่เห็นเพียงแต่กระทบได้ คือ กระทบกับสัททารมณ์ได้เท่านั้น เพราะฉะนั้น เวลาที่รูปปรากฏแล้วในขณะนั้น ย่อมแสดงว่าเสียงต้องกระทบกับโสตปสาททางโสตทวาร แต่ไม่มีอะไรปรากฏ เพราะโสตปสาทไม่ได้ปรากฏเหมือนอย่างสี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และ ในขณะนั้นทางมโนทวารก็กำลังระลึก มีปัญญาที่รู้ชัดเพียงลักษณะของรูปแต่ละรูป และนามแต่ละประเภทที่ปรากฏเท่านั้น

ถ. หมายความว่า ในขณะนั้นปัญญาที่เกิดทางมโนทวารพิจารณาเฉพาะลักษณะของ ...

สุ. รู้ชัด เพราะว่ากำลังประจักษ์แจ้ง ไม่ต้องคิด ไม่ต้องไตร่ตรอง ไม่ต้องพิจารณาอะไร เหมือนกับสิ่งที่กำลังปรากฏ ก็เห็นชัด

ถ. สมมติว่าเป็นไปทางจักขุทวาร ถ้าขณะนั้นมโนทวารปรากฏ โสตทวารและทวารอื่นๆ จะไม่ปรากฏเลยใช่ไหม จะมีแต่ทางจักขุทวารเท่านั้นที่ปรากฏ

สุ. แน่นอน สภาพธรรมปรากฏทีละอย่างโดยความขาดตอน เป็น สภาพธรรมที่เป็นแต่ละทวารจริงๆ

ถ. ที่ปรากฏจะเป็นนามธรรมหรือรูปธรรมก็ได้ ใช่ไหม

สุ. นามธรรมต้องปรากฏทางมโนทวาร และรูปทั้งหลายต้องปรากฏทางมโนทวาร ในขณะที่เป็นวิปัสสนาญาณ ต้องเป็นการปรากฏโดยตลอดทางมโนทวาร จึงกล่าวว่า เสมือนมโนทวารปิดบังปัญจทวาร ซึ่งต่างกับขณะนี้ที่เสมือนปัญจทวารปิดบังมโนทวาร

ถ. ในขณะนั้น มโนทวารเกิดมากกว่าปกติไหม

สุ. แน่นอน

สำหรับอินทรีย์ที่ ๑ คือ จักขุนทรีย์ เป็นปัจจัยทำให้จิตเห็นเกิดขึ้นในขณะนี้ และทุกครั้งที่เห็น ไม่ว่าจะเป็นเห็นแล้วในอดีต หรือที่จะเห็นต่อไปในอนาคต หรือ ที่กำลังเห็นในขณะนี้ ควรเป็นสิ่งที่เตือนให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ข้อสำคัญที่สุด คือ ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่มีทางที่จะเป็น พระอริยบุคคลได้ นี่เป็นสิ่งที่แน่นอนที่สุด

เพราะฉะนั้น สติจะเริ่มระลึกหรือยัง จะระลึกช้าหรือเร็วไม่เป็นปัญหาเท่ากับความเข้าใจถูก พร้อมทั้งสัญญาคือความจำที่มั่นคงว่า ในขณะที่กำลังเห็นจะเป็นที่ไหนก็ตาม ถ้าสติไม่เกิดขึ้น ไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ จะไม่เป็นทางให้เป็นพระอริยบุคคล

การที่จะเป็นพระอริยบุคคลได้ ก็ด้วยปัญญาที่ไม่หลงลืมในขณะที่กำลังเห็น ในขณะนี้ คือ เริ่มที่จะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ควรจะเป็นสิ่งที่เตือนให้สติระลึกทุกขณะในชีวิตประจำวัน

อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ภัททชิสูตร มีข้อความว่า

สมัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์อยู่ ณ โฆสิตาราม ใกล้กรุงโกสัมพี ครั้งนั้นแล ท่านพระภัททชิได้เข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่านพระอานนท์ ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ท่านพระอานนท์ได้ถามท่านพระภัททชิว่า

ดูกร อาวุโสภัททชิ บรรดาการเห็นทั้งหลาย การเห็นชนิดไหนเป็นยอด บรรดาการได้ยินทั้งหลาย การได้ยินชนิดไหนเป็นยอด บรรดาสุขทั้งหลาย สุขชนิดไหนเป็นยอด บรรดาสัญญาทั้งหลาย สัญญาชนิดไหนเป็นยอด บรรดาภพทั้งหลาย ภพชนิดไหนเป็นยอด ฯ

จะมีประโยชน์สำหรับท่านผู้ฟังในยุคนี้ไหม เมื่อได้ฟังข้อความนี้ สอบความมั่นคงในพระธรรมของท่านผู้ฟังว่า ยังเห็นว่าสิ่งไหนเป็นยอดอยู่บ้าง ซึ่งเป็นชีวิตประจำวันจริงๆ สิ่งที่เป็นยอดของความหวังหรือความปรารถนา เมื่อได้ฟัง พระธรรมแล้ว คิดว่าอะไรเป็นยอดของการเห็น หรือว่าเป็นยอดของการฟัง ถ้ายังคิดว่าอยากจะเห็นสิ่งอื่นอยู่ หรือว่าอยากจะได้ยินสิ่งอื่นอยู่ โดยที่สติไม่ระลึกรู้ลักษณะของการเห็นของการได้ยินเลย ขณะนั้นก็เป็นการเห็นการได้ยินที่ไม่ใช่เป็นยอด

เพราะฉะนั้น ปัญหาแม้แต่เรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หรือเรื่องของความสุข หรือเรื่องของความจำ หรือเรื่องของภพ การเกิด ก็ไม่ได้มีแต่ในสมัยนี้ แม้ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพานก็มีคำถามมีเรื่องที่น่าคิดว่า สิ่งใดเป็นยอดของการเห็น สิ่งใดเป็นยอดของการได้ยิน และอะไรเป็นยอดของความสุข อะไรเป็นยอดของสัญญา ความจำ อะไรเป็นยอดของภพชาติที่เกิด

ซึ่งท่านพระภัททชิตอบว่า

ดูกร อาวุโส พรหมผู้เป็นใหญ่ยิ่ง ไม่มีใครครอบงำได้ เห็นสิ่งทั้งปวง ยังผู้อื่นให้เป็นไปในอำนาจมีอยู่ ผู้ใดเห็นพรหมนั้น การเห็นของผู้นั้นเป็นยอดของการเห็นทั้งหลาย

แสดงให้เห็นว่า การเห็นพรหมไม่ใช่ว่าจะเห็นได้ง่ายๆ ถ้าไม่เกิดในพรหมโลก ในชาตินี้ภพนี้มีใครจะได้เห็นพรหมบ้าง ก็คงจะไม่มีการเห็นพรหมเลย และที่ถือว่า การเห็นพรหมเป็นยอดของการเห็น เพราะเป็นภพภูมิที่สูงกว่าเทวโลกอื่นๆ

ข้อความต่อไป

ท่านพระภัททชิกล่าวว่า

เทพเหล่าอาภัสสระผู้เพียบพร้อมด้วยความสุขมีอยู่ เทพเหล่านั้นย่อมเปล่งอุทานในกาลบางครั้งบางคราวว่า สุขหนอๆ ผู้ใดได้ยินเสียงนั้น การได้ยินเสียงของ ผู้นั้น เป็นยอดของการได้ยินทั้งหลาย

โดยนัยเดียวกันกับการเห็นพรหม การได้ยินเสียงพรหมถ้าไม่เกิดในพรหมโลก ไม่ทราบในภพนี้ชาตินี้จะมีท่านผู้ใดได้ยินเสียงของพรหมบ้าง เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดในพรหมโลกและได้ยินเสียงซึ่งในกาลบางครั้งบางคราวก็เปล่งอุทานว่า สุขหนอๆ ท่าน พระภัททชิกล่าวว่า การได้ยินเสียงเช่นนั้นเป็นยอดของการได้ยินทั้งหลาย

ข้อความต่อไป

ท่านพระภัททชิกล่าวว่า

เทพเหล่าสุภกิณหะมีอยู่ เทพเหล่านั้นยินดีเฉพาะสิ่งที่มีอยู่ ย่อมเสวยสุข การเสวยสุขนี้เป็นยอดของความสุขทั้งหลาย

พวกเทพผู้เข้าถึงอากิญจัญญายตนภพมีอยู่ การเข้าถึงอากิญจัญญายตนภพนี้เป็นยอดของสัญญาทั้งหลาย

เพราะว่าอากิญจัญญายตนภพเป็นภพของอรูปฌานที่ ๓ ซึ่งผู้ที่เกิดใน อากิญจัญญายตนภพมีสัญญา ความจำว่า ไม่มีอะไรเลยเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้น ก็หมดเรื่องกังวลทุกประการ เพราะในภูมินั้นมีสัญญาว่า ไม่มีอะไรเลยเป็นอารมณ์

พวกเทพผู้เข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนภพ มีอยู่ การเข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนภพนี้เป็นยอดของภพทั้งหลาย ฯ

เป็นภพที่สูงที่สุด คือ เป็นอรูปพรหมที่ ๔ ไม่มีภพภูมิที่สูงกว่าอรูปพรหมที่ ๔ ซึ่งท่านผู้ฟังคงพอจะทราบว่า ท่านพระอานนท์จะตอบท่านพระภัททชิว่าอย่างไร

ข้อความต่อไป

ท่านพระอานนท์กล่าวว่า

คำพูดของท่านภัททชินี้ ย่อมสมกับชนเป็นอันมาก ฯ

แสดงว่า ยังมีข้ออื่นที่ควรจะพิจารณาอีก เพราะคำพูดของท่านพระภัททชินั้นเพียงสมกับชนเป็นอันมาก คือ ชนเป็นอันมากเพียงปรารถนาที่จะเห็น ได้ยิน หรือมีความสุข หรือมีสัญญา ความจำ หรือมีภพตามที่ท่านภัททชิกล่าว

ท่านพระภัททชิกล่าวว่า

ท่านพระอานนท์เป็นพหูสูต ขอความข้อนั้นจงแจ่มแจ้งเฉพาะท่านพระอานนท์เทียว ฯ

แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่เป็นบัณฑิตย่อมใคร่ที่จะฟังความเห็นของคนอื่น เพื่อที่จะพิจารณาให้ปัญญาของตนเจริญขึ้น เพราะท่านภัททชิทราบดีว่าท่านพระอานนท์เป็นพหูสูต เป็นผู้ที่มีข้อที่ควรจะให้พิจารณายิ่งกว่าที่ท่านภัททชิกล่าว

ข้อความต่อไป

ท่านพระอานนท์กล่าวว่า

ดูกร อาวุโสภัททชิ ถ้าเช่นนั้นท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว

ท่านพระภัททชิรับคำท่านพระอานนท์ว่า

อย่างนั้น อาวุโส

ท่านพระอานนท์ได้กล่าวว่า

ดูกร อาวุโส ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ย่อมมีในลำดับแห่งบุคคลผู้เห็นตามเป็นจริง นี้เป็นยอดของการเห็นทั้งหลาย

ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ย่อมมีในลำดับแห่งบุคคลผู้ได้ยินตามเป็นจริง นี้เป็นยอดของการได้ยินทั้งหลาย

ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ย่อมมีในลำดับแห่งบุคคลผู้ได้รับสุขตามเป็นจริง นี้เป็นยอดของสุขทั้งหลาย

ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ย่อมมีในลำดับแห่งบุคคลผู้มีสัญญาตามเป็นจริง นี้เป็นยอดของสัญญาทั้งหลาย

ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ย่อมมีในลำดับแห่งบุคคลผู้เป็นอยู่แล้วตามเป็นจริง นี้เป็นยอดของภพทั้งหลาย ฯ

จบ สูตรที่ ๑๐

ถ้าท่านผู้ฟังจะหมดกิเลสในภพนี้ จะยังคิดว่า เนวสัญญานาสัญญายตนภพเป็นยอดของภพทั้งหลายหรือเปล่า ถ้าท่านจะสิ้นกิเลสทั้งหลายในภพนี้ ภพนี้ย่อมเป็นยอดยิ่งกว่าการเกิดในเนวสัญญานาสัญญายตนภพและไม่ได้ดับกิเลส ยังมีกิเลสอยู่

แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าจะเกิดที่ไหน เห็นอะไร ได้ยินอะไร การที่กิเลสจะหมดได้ ต้องเริ่มจากการอบรมเจริญปัญญาตามลำดับขั้น และการระลึกรู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงในขณะนี้ ทางตาที่กำลังเห็นอย่างนี้ ทางหูที่กำลังได้ยินอย่างนี้ เป็นไปได้ไหม

ถ. เมื่อประมาณอาทิตย์ที่แล้ว ดิฉันเกิดความรู้สึกว่า สติก็เกิดอยู่ แต่รู้สึกหดหู่ท้อถอยซึมเซาโดยหาเหตุผลไม่ได้ ความทุกข์อะไรก็ไม่มี ต้องการอะไรก็ไม่มี แต่ใจคอเงียบเหงา คิดว่าถ้าตายก็ไม่เสียดาย เหตุการณ์ล่วงมาประมาณ ๑ อาทิตย์ เมื่อวานดิฉันก็รวบรวมสติ ไม่ทำให้จิตฟุ้งซ่าน เวลานอนสติเกิดทางตามีความรู้สึก แว็บขึ้นมาเป็นวง สติเกิดขึ้นมาติดต่อกันประมาณ ๕ หรือ ๖ ครั้ง และที่อึดอัดอยู่ในใจ ก็หายไปเลย ไม่ทราบจะวิจัยว่าอย่างไร

สุ. ขณะไหนเป็นปกติ ขณะนี้ซึ่งไม่มีอะไรแว็บมาเป็นวง ขณะไหนเป็นปกติกว่ากัน

ถ. ที่เป็นปกติ คือ ขณะนี้

สุ. ขณะนี้เป็นปกติ ขณะนั้นไม่ใช่ปกติ เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญ สติปัฏฐานเพื่อละ ซึ่งยากจริงๆ ถ้าปัญญาไม่เกิดจะให้ละเป็นไปไม่ได้เลย ต้องปัญญาเจริญขึ้นจึงจะรู้ว่า สัจธรรมธรรมที่เป็นจริงคือขณะไหน ขณะที่หดหู่ ขณะนั้นเป็นสภาพที่มีจริง และสติเกิด ก็ระลึกรู้ลักษณะของสภาพจิตที่กำลังหดหู่ในขณะนั้นว่าต่างกับจิตอื่น ต่างกับจิตเห็น เพราะจะหดหู่อย่างเดียวโดยที่ตาไม่เห็นไม่ได้ จะหดหู่อย่างเดียวโดยหูไม่ได้ยินไม่ได้ ในขณะที่เข้าใจว่าจิตหดหู่ ต้องมีนามธรรมและรูปธรรมอื่นเกิดดับสืบต่อกันด้วย

เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานจะไม่ติด เพราะรู้ว่าขณะหดหู่ก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง และเมื่อสติเจริญขึ้นสามารถจะระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และนามธรรมซึ่งเห็น ซึ่งได้ยิน ซึ่งคิดนึกอื่นๆ ก็จะรู้ว่าสภาพธรรมแต่ละอย่างเกิดและดับไป ไม่ใช่ตัวตน จะไม่มีอาการผิดปกติที่จะเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดแว็บขึ้นมาเป็นวง และไม่รู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร เพราะฉะนั้น สภาพธรรมทุกอย่างที่ไม่ใช่ปัญญากำลังรู้ของจริงตามความเป็นจริงทั้งหมด จะต้องละ ไม่ติดใจ ไม่เยื่อใย

ถ. ไม่ยึดถือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

สุ. เป็นสิ่งผิดปกติ ให้ทราบว่าไม่ใช่สัจธรรม สัจธรรม คือ ในขณะนี้เอง ใครกำลังหดหู่ หรือเป็นสุข หรือเป็นทุกข์ ก็เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างซึ่งอาศัยอินทรีย์แต่ละอินทรีย์เป็นปัจจัยเกิดขึ้นปรากฏ

เพราะฉะนั้น เรื่องยอดของการเห็นก็ดี ยอดของการได้ยิน หรือว่ายอดของความสุข ยอดของภพ ยอดของสัญญา ความจำ ทั้งหมดต้องอาศัยปัญญาซึ่งเจริญขึ้นตามลำดับ มิฉะนั้นแล้วจะเป็นการเห็นธรรมดา คือ เพียงเห็นสิ่งที่ปรากฏ ทุกภพทุกชาติเท่านั้นเอง

ชาติก่อนก็เห็นธรรมดาๆ คือ เห็นสิ่งที่ปรากฏ ชาตินี้ ก่อนจะได้ฟังพระธรรมก็เห็นธรรมดาๆ คือ เห็นสิ่งที่ปรากฏ แต่ไม่รู้ลักษณะสภาพธรรมที่เห็นตามความเป็นจริงว่า เป็นสภาพรู้ทางตา ถ้าไม่อบรมเจริญปัญญาอย่างนี้จะไม่มีการดับกิเลส การเห็นก็ยังไม่เป็นยอดของการเห็น เพราะเป็นเพียงการเห็นสิ่งที่ปรากฏ

เพราะฉะนั้น สิ่งที่จะเป็นยอดได้ต้องอาศัยเกิดจากปัญญาที่ค่อยๆ อบรมด้วยการฟังพระธรรมจนกระทั่งเกิดความเข้าใจจริงๆ ทีละเล็กทีละน้อย และสติเริ่มระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมถูกต้อง เป็นสัมมาสติจริงๆ ไม่คลาดเคลื่อนจากสภาพธรรมที่เกิดตามปกติตามเหตุตามปัจจัย

อินทรีย์ที่ ๒ คือ โสตินทรีย์ ก็มีความสำคัญมาก เพราะถ้าไม่มีโสตินทรีย์ ไม่มีการได้ยินเสียง ก็ไม่มีโอกาสได้ฟังพระธรรม เพราะฉะนั้น ยอดของการได้ยิน ต้องเป็นการได้ฟังพระธรรม ไม่ใช่เพียงแต่ได้ยินเสียงซึ่งทำให้สืบต่อไปในสังสารวัฏฏ์อยู่เรื่อยๆ โดยที่ไม่รู้สภาพธรรมของได้ยินและเสียงตามความเป็นจริง

เปิด  249
ปรับปรุง  19 ต.ค. 2566