แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1174

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๒๕


เมื่อเข้าใจสภาพของโสตินทรีย์แล้ว ควรจะได้รู้ลักษณะของอารมณ์ที่กระทบ โสตินทรีย์และปรากฏขณะที่ได้ยิน

อัฏฐสาลินี พระบาลีสัททายตนนิทเทส มีข้อความว่า

รูปที่เรียกว่า สัททายตนะนั้น เป็นไฉน

เสียงใดอาศัยมหาภูตรูป ๔ เป็นสิ่งที่เห็นไม่ได้แต่กระทบได้ ได้แก่ เสียงกลอง เสียงตะโพน เสียงสังข์ เสียงบัณเฑาะว์ เสียงขับร้อง เสียงประโคม เสียงกรับ เสียงปรบมือ เสียงร้องของสัตว์ เสียงกระทบกันของธาตุ เสียงลม เสียงน้ำ เสียงมนุษย์ เสียงอมนุษย์ หรือเสียงแม้อื่นใดที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ เป็นสิ่งที่เห็นไม่ได้แต่กระทบได้ มีอยู่ และอื่นๆ รูปทั้งนี้เรียกว่า สัททายตนะ

รวมความว่า สภาพธรรมที่ปรากฏทางหู คือ เสียง ตัวอย่างมีมาก แล้วแต่ว่าจะเป็นเสียงอะไรบ้าง ซึ่งข้อความในอรรถกถาได้อธิบายสัททายตนิทเทสต่อไปว่า

คำว่า เสียงกลอง ได้แก่ เสียงกลองใหญ่และกลองที่เขาตี แม้เสียงตะโพนและบัณเฑาะว์ ก็คือเสียงซึ่งมีตะโพน เป็นต้น เป็นปัจจัย

เสียงที่นับว่าเป็นเพลงขับ ชื่อว่าเสียงขับร้อง

เสียงดนตรีเนื่องด้วยสาย มีพิณ เป็นต้น อันเหลือจากที่กล่าวแล้ว ชื่อว่า เสียงประโคม

คำว่า เสียงกรับ ได้แก่ เสียงฉาบสำริด และกรับไม้

คำว่า เสียงปรบมือ ได้แก่ เสียงที่ปรบด้วยฝ่ามือ

คำว่า เสียงร้องของสัตว์ ได้แก่ เสียงร้องที่มีบทและพยัญชนะไม่ชัดเจนของสัตว์จำนวนมากที่ประชุมกัน

คำว่า เสียงกระทบกันของธาตุ ได้แก่ เสียงต้นไม้เสียดสีกันและกัน และเสียงเคาะระฆัง เป็นต้น

เสียงของลมพัดอยู่ ชื่อว่าเสียงลม

เสียงของน้ำไหลอยู่หรือกระทบกัน ชื่อว่าเสียงน้ำ

เสียงสนทนาเป็นต้นของหมู่มนุษย์ ชื่อว่าเสียงมนุษย์ เว้นเสียงดังกล่าวนั้น เสียงที่เหลือทั้งหมด ชื่อว่าเสียงอมนุษย์

ด้วย ๒ บทนี้ ทรงกำหนดถือเอาเสียงทั้งหมด แม้เมื่อเป็นอย่างนี้ เสียงที่ไม่ได้มาในพระบาลี เป็นไปในเวลาผ่าไม้ไผ่และฉีกท่อนผ้าเก่าเป็นต้น พึงทราบว่า ผนวกเข้าฐานะเป็นเสียงที่ชื่อว่า เยวาปนกะ คือ เสียงอื่นใด

ถ้าได้ยินพยัญชนะว่า เยวาปนกะ หมายความถึงธรรมอื่นใดนอกจากที่ได้กล่าวถึงแล้ว เพราะว่าเหลือวิสัยที่จะกล่าวถึงได้ทั้งหมด จึงใช้คำว่า เยวาปนกะ

ด้วยประการฉะนี้ เสียงแม้ต่าง โดยความต่าง มีเสียงกลองเป็นต้น ว่าโดยลักษณะเป็นต้น ไม่ต่างกันเลย

ที่จะรู้ลักษณะของเสียงว่าไม่ต่างกัน ต้องอาศัยขณะที่สติระลึกจึงจะไม่เป็นไปตามเสียงว่า เป็นเสียงหนึ่งเสียงใด เพราะว่ารู้ลักษณะของเสียงตามความเป็นจริง หรือถึงแม้จะรู้ว่าเป็นเสียงใดก็ตาม เช่น รู้ว่าเป็นเสียงคนชื่อนั้นชื่อนี้ก็ตาม แต่เมื่อได้ประจักษ์ลักษณะของเสียงตามความเป็นจริงก็รู้ว่า เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏทางหู แม้จะไม่ใช้คำว่าเสียง ลักษณะสภาพธรรมนั้นก็เป็นสิ่งที่มีจริง ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติว่าเป็นสัททะหรือสัททารมณ์ คือ เสียงที่ปรากฏ ซึ่งด้วยประการทั้งปวง เสียงแม้ต่างโดยความต่างมีเสียงกลองเป็นต้น ว่าโดยลักษณะเป็นต้นไม่ต่างกันเลย คือ

ลักษณะเป็นต้นของเสียง

จริงอยู่ เสียงนี้ทั้งหมดมีการกระทบโสต เป็นลักษณะ

จะไม่กระทบอย่างอื่นเลย นอกจากโสตปสาทรูปเท่านั้น

มีความเป็นอารมณ์แห่งโสตวิญญาณ เป็นรสะ คือ เป็นกิจ

มีความเป็นโคจรแห่งโสตวิญญาณนั่นแหละ เป็นปัจจุปัฏฐาน

โคจรแห่งโสตวิญญาณ หมายความว่า เป็นอารมณ์ของโสตวิญญาณ เพราะ จร แปลว่า ไป โค หมายความถึงอินทรีย์ ๕ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เพราะฉะนั้น เสียงเป็นโคจร เป็นอารมณ์ของโค คือ เป็นอารมณ์ของโสตวิญญาณ นั่นแหละ เป็นปัจจุปัฏฐาน เป็นอาการที่ปรากฏ

ถ้าไม่มีการได้ยินเสียง จะอธิบายอย่างไรให้รู้ว่า มีเสียงนี้ แต่เวลาที่มีเสียงปรากฏ ก็สามารถรู้ได้ว่า สภาพธรรมที่ปรากฏในขณะที่ได้ยิน คือ เสียง เป็น สภาพธรรมที่มีจริง ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และไม่ใช่สภาพธรรมที่ได้ยินด้วย เป็นสภาพธรรมที่ต้องระลึก อย่าลืม ในขณะนี้ที่ได้ยินเสียง แต่ถ้ายังไม่ระลึก บังคับไม่ได้ ต้องอาศัยการฟังแล้วฟังอีก ฟังบ่อยๆ จนรู้ว่า ไม่มีอย่างอื่นอีกแล้วที่ปัญญาจะเจริญได้ นอกจากสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงในชีวิตประจำวัน แต่ละขณะ แต่ละชนิด ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจเท่านั้น ที่จะทำให้ปัญญาเจริญจนกระทั่งสามารถดับกิเลสได้ ไม่ใช่ไปขวนขวายทำอย่างอื่น หรือว่าแสวงหาอารมณ์อื่นที่ไม่ใช่ปกติในชีวิตประจำวัน

มีประโยชน์ไหม การได้ยิน

การได้ยินอย่างอื่นจะมีประโยชน์ไหม ถ้าไม่ได้ยินพระธรรมก็เพียงแต่ได้ยิน และเกิดความยินดียินร้ายตลอดเรื่อยมาในสังสารวัฏฏ์ เพราะฉะนั้น ยอดของการ ได้ยิน ต้องเป็นการได้ยินที่ดับกิเลสได้ แต่เมื่อดับกิเลสยังไม่ได้ สิ่งที่จะเริ่มเป็นยอด คือ การได้มีโอกาสฟังพระธรรมและพิจารณา เพื่อที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของ สภาพธรรมได้ถูกต้องตามความเป็นจริง

อินทรีย์ที่ ๓ คือ ฆานินทรีย์

ข้อความใน อัฏฐสาลินี อธิบายคำว่า ฆานะ ว่า

ชื่อว่าฆานะ ด้วยอรรถว่า ได้กลิ่น ฆานะที่เป็นปสาทรูปนั้น ซึมซาบอยู่ในประเทศมีสัณฐานดังกีบแพะ ภายในช่องสสัมภารฆานะ (คือ จมูกที่ประกอบด้วยส่วนต่างๆ ซึ่งเป็นที่ตั้งของฆานปสาทรูป) ได้รับความอุปการะ อุปถัมภ์ อนุบาล และความแวดล้อมมีประการดังแล้ว (คือ จากรูปที่เกิดเพราะสมุฏฐานอื่นๆ ร่วมด้วย) ย่อมให้สำเร็จความเป็นวัตถุและทวารแห่งวิถีจิต มีฆานวิญญาณเป็นต้น ตั้งอยู่ตามควร

อัฏฐสาลินี อุปมาจมูกเปรียบเหมือนนก ข้อความมีว่า

แม้นกก็ย่อมไม่ยินดีอยู่บนต้นไม้หรือบนพื้นดิน แต่เมื่อมันโผบินขึ้นสู่อากาศโล่ง เลยไปสักชั่วหนึ่งหรือสองระยะขว้างก้อนดิน ก็ย่อมจะถึงความเป็นผู้มีจิตแน่วแน่ แม้ ฆานะก็เปรียบเหมือนเช่นนั้น พอใจอากาศมีกลิ่น ซึ่งต้องอาศัยลมเป็นอารมณ์ ดังจะเห็นได้เช่นเดียวกันกับโค เมื่อฝนตกใหม่ๆ ก็ดมแล้วดมเล่าที่แผ่นดิน แล้วก็เบิ่งหน้าหาอากาศ หันหาลม แล้วเวลาที่คนเราแม้เอานิ้วมือจับชิ้นแห่งสิ่งที่มีกลิ่นแล้วสูดดม ไม่หันมาทางลม ก็หารู้กลิ่นของสิ่งนั้นไม่

ท่านผู้ฟังกำลังเป็นเหมือนนกหรือเปล่า ถ้ายังไม่อยากจะได้กลิ่น ก็ยังอยู่บนต้นไม้หรือบนพื้นดิน แต่ขณะใดที่ โผบินขึ้นสู่อากาศโล่ง เลยไปสักชั่วหนึ่งหรือสองระยะขว้างก้อนดิน ก็ย่อมถึงความเป็นผู้มีจิตแน่วแน่ ในขณะที่กำลังต้องการที่จะดม สิ่งหนึ่งสิ่งใด ในวันหนึ่งๆ มีไหม แม้ฆานก็เปรียบเหมือนเช่นนั้น พอใจอากาศมีกลิ่นซึ่งต้องอาศัยลมเป็นอารมณ์ ดังจะเห็นได้เช่นเดียวกันกับโค เมื่อฝนตกใหม่ๆ ก็ดมแล้วดมเล่าที่แผ่นดิน โคคงจะไม่ได้ดมสิ่งที่มนุษย์ดม เช่น ดอกกุหลาบ หรือกลิ่น หอมๆ แต่ว่าพอฝนตกใหม่ๆ ก็ดมแล้วดมเล่าที่แผ่นดิน แม้ว่าจะเกิดเป็นโค เมื่อมีฆานปสาทก็ยังมีความยินดีที่จะดมกลิ่น แต่ว่าต่างจากกลิ่นที่เป็นกลิ่นที่น่าพอใจของมนุษย์ แล้วเวลาที่คนเราแม้เอานิ้วมือจับชิ้นที่มีกลิ่นแล้วสูดดม ไม่หันมาทางลม ก็หารู้กลิ่นของสิ่งนั้นไม่

แสดงให้เห็นว่า แม้ว่ากลิ่นจะเป็นสภาพธรรมที่มีจริง แต่จะปรากฏก็ต้องอาศัยลม ถ้าไม่มีลมพัดรำเพยกลิ่นให้กระทบกับฆานปสาท การได้กลิ่นก็มีไม่ได้ หันหน้าหนีลม และพยายามดม ลองดูว่าจะได้ไหม

สำหรับลักษณะเป็นต้นของกลิ่น ข้อความใน อัฏฐสาลินี มีว่า

พระบาลีคันธายตนนิทเทส

รูปที่เรียกว่า คันธายตนะนั้น เป็นไฉน

กลิ่นใดเป็นสิ่งที่เห็นไม่ได้แต่กระทบได้ ได้แก่ กลิ่นรากไม้ กลิ่นแก่นไม้ กลิ่นเปลือกไม้ กลิ่นใบไม้ กลิ่นดอกไม้ กลิ่นผลไม้ กลิ่นบูด กลิ่นเน่า กลิ่นหอม กลิ่นเหม็น หรือกลิ่นแม้อื่นใดซึ่งอาศัยมหาภูตรูป ๔ อันเป็นสิ่งซึ่งเห็นไม่ได้แต่กระทบได้ มีอยู่ และอื่นๆ รูปทั้งนี้เรียกว่า คันธายตนะ

อย่าพยายามมองหากลิ่น ไม่มีทางที่จะเห็นกลิ่น เห็นได้แต่สีซึ่งมีกลิ่นนั้น รูปกลิ่นมีทุกกลุ่ม เพราะในกลุ่มที่เล็กที่สุดจะต้องมีรูปกลิ่นรวมอยู่ด้วย ๑ ใน ๘ รูปนั้น

อธิบายคันธายตนนิทเทส

จะวินิจฉัยในคันธายตนนิทเทสต่อไป

คำว่า กลิ่นรากไม้ ได้แก่ กลิ่นที่บังเกิดเพราะอาศัยรากไม้อย่างใดอย่างหนึ่ง แม้ในกลิ่นแก่นไม้เป็นต้น ก็มีนัยนี้เหมือนกัน

กลิ่นแห่งผักดองเป็นต้นอันยังไม่ได้ที่ หรือได้ที่ไม่ดี ชื่อว่ากลิ่นบูด

กลิ่นแห่งสะเก็ดปลา เนื้อเน่า เนยใสสกปรก เป็นต้น ชื่อว่ากลิ่นเน่า

คำว่า กลิ่นหอม ได้แก่ กลิ่นที่น่าปรารถนา

คำว่า กลิ่นเหม็น ได้แก่ กลิ่นที่ไม่น่าปรารถนา

ด้วย ๒ บทนี้ ทรงกำหนดถือเอากลิ่นแม้ทั้งหมด แม้เมื่อเป็นเช่นนี้ กลิ่นทั้งหมดที่มิไม่ได้มาในพระบาลี มีกลิ่นช่อฟ้าและกลิ่นผ้าท่อนเก่าเป็นต้น ก็พึงทราบว่า ผนวกเข้าฐานะเป็นกลิ่นที่ชื่อว่า เยวาปนกะ คือ กลิ่นแม้อื่นใด

ทำไมทรงแสดงไว้มาก กลิ่นทุกชนิด ก็เพื่อไม่ให้หลงลืมสติ ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นชนิดใด กำลังมีกลิ่นรากไม้ ที่ไหนก็ได้ สติระลึกรู้ลักษณะของกลิ่นหรือฆานวิญญาณ ที่กำลังรู้กลิ่น ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นบูด กลิ่นเน่า กลิ่นหอม กลิ่นเหม็น แม้กลิ่นช่อฟ้า ถ้าบังเอิญใครจะได้กลิ่น หรือกลิ่นผ้าท่อนเก่า ไม่เหมือนกันแล้ว ผ้าเก่าๆ กับผ้าใหม่ คนละกลิ่น แม้ขณะนั้นสติก็ควรที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงซึ่งลักษณะเป็นต้นของกลิ่น

ด้วยประการฉะนี้ กลิ่นแม้ต่างกัน โดยความต่าง มีกลิ่นรากไม้เป็นต้น ว่าโดยลักษณะเป็นต้น ไม่ต่างกันเลย

อย่าลืม ต้องถึงความไม่ต่าง เพื่อที่จะรู้ว่า เป็นเพียงสภาพธรรมที่ปรากฏทางจมูกเท่านั้น

จริงอยู่ กลิ่นนี้ทั้งหมด มีการกระทบฆานะ เป็นลักษณะ

มีความเป็นอารมณ์แห่งฆานวิญญาณ เป็นรสะ

มีความเป็นโคจรแห่งฆานวิญญาณนั่นเอง เป็นปัจจุปัฏฐาน

คำที่เหลือพึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้ว

เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องชีวิตปกติตามความเป็นจริง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

ต่อไปเป็นอินทรีย์ที่ ๔ ชิวหินทรีย์

ข้อความใน อัฏฐสาลินี มีว่า

อธิบายคำว่า ชิวหา หรือชิวหาปสาทรูป

ชื่อว่าชิวหา ด้วยอรรถกว่า ลิ้มรส ชิวหาที่เป็นปสาทรูปนั้นซึมซาบอยู่ในประเทศมีสัณฐานดังปลายใยบัว อยู่ท่ามกลางสสัมภารชิวหา (คือ ลิ้นอันประกอบด้วยส่วนต่างๆ ซึ่งเป็นที่อาศัย)

ลิ้นทั้งหมดเป็นสสัมภารชิวหา แต่ชิวหาปสาทรูปนั้นมีสัณฐานดังปลายใยบัว อยู่บนท่ามกลางสสัมภารชิวหา

ได้รับอุปการะ อุปถัมภ์ อนุบาล และความแวดล้อมมีประการดังกล่าวแล้ว (โดยนัยเดียวกันกับจักขุ โสตะ และฆานะ) ย่อมให้สำเร็จความเป็นวัตถุและทวารแห่งวิถีจิต มีชิวหาวิญญาณเป็นต้น ตั้งอยู่ตามควร

อย่าลืม พยัญชนะที่ว่า ชิวหา ด้วยอรรถกว่า ลิ้มรส นี่คือความหมายจริงๆ ของชิวหาวิญญาณ

ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ว่า อาหารนั้นมีรสอย่างไร อาจจะเดาได้ว่า ถ้าเป็นแกงชนิดนี้ก็มีรสอย่างนี้ หรือว่าอาหารชนิดนั้นมีรสอย่างนั้น แต่ขณะใดที่ชิวหาวิญญาณยังไม่เกิดขึ้นลิ้มรสจริงๆ ก็ย่อมไม่สามารถจะทราบได้ แม้แกงชนิดเดียวกันก็ตาม รสก็ยังต่างกันออกไปได้ ซึ่งสภาพธรรมที่จะลิ้มรสที่ต่างกันจริงๆ นั้น คือ ชิวหาวิญญาณ

ข้อความใน อัฏฐสาลินี เปรียบลิ้นเหมือนกับสุนัขบ้าน

แม้สุนัขบ้านเมื่อเที่ยวข้างนอก ย่อมไม่เห็นที่ที่ปลอดภัย ย่อมถูกประทุษร้าย โดยถูกขว้างด้วยก้อนดิน เป็นต้น แต่เมื่อเข้าในบ้าน คุ้ยขี้เถ้าที่เตาไฟแล้วนอน ย่อมมีความสำราญ แม้ชิวหาก็เปรียบเหมือนเช่นนั้น พอใจในบ้าน มีรสซึ่งอิงอาศัยอาโป (คือ ธาตุน้ำ) เป็นอารมณ์ จะเห็นได้ดังที่พระภิกษุแม้กระทำสมณธรรมตลอด ๓ ยามแห่งราตรี ก็ยังจะต้องถือบาตรครองจีวรเข้าบ้านแต่เช้าตรู่ และของเคี้ยวอันแห้งที่ไม่เปียกน้ำลาย ใครๆ ก็ไม่สามารถจะรู้รสได้

ถ. รส กับโอชา เหมือนกันไหม

สุ. ไม่เหมือนกัน รสปรากฏเมื่อกระทบกับชิวหาปสาท ซึ่งอยู่ตรงกลางลิ้น

ขอกล่าวถึงลักษณะของรส เพื่อจะได้ทราบว่า ไม่ใช่โอชารูป

ข้อความใน อัฏฐสาลินี พระบาลีรสายตนนิทเทส มีว่า

รูปที่เรียกว่า รสายตนะนั้น เป็นไฉน

รสใดอาศัยมหาภูตรูป ๔ เป็นสิ่งที่เห็นไม่ได้แต่กระทบได้ ได้แก่ รสรากไม้ รสลำต้น รสเปลือกไม้ รสใบไม้ รสดอกไม้ รสผลไม้ เปรี้ยว หวาน ขม เผ็ด เค็ม ขื่น เฝื่อน ฝาด อร่อย ไม่อร่อย หรือรสแม้อื่นใดซึ่งอาศัยมหาภูตรูป ๔ อันเป็นสิ่งที่เห็นไม่ได้แต่กระทบได้ มีอยู่ และอื่นๆ รูปทั้งนี้เรียกว่า รสายตนะ

เพราะฉะนั้น รสายตนะ ไม่ใช่โอชารูป เพราะว่ารสหวาน รสเค็ม รสเปรี้ยว ไม่เป็นปัจจัยให้รูปเกิดขึ้น ไม่เป็นปัจจัยให้ร่างกายเจริญเติบโตเหมือนอย่างอาหารรูป หรือโอชา รสเป็นเพียงสิ่งที่หวาน หรือเค็ม หรือเปรี้ยว หรือเฝื่อน หรือฝาด ซึ่งจะรู้ได้โดยชิวหาวิญญาณที่เกิดขึ้นเพราะชิวหินทรีย์

จะวินิจฉัยในรสายตนนิทเทสต่อไป

คำว่า รสรากไม้ ได้แก่ รสอันบังเกิดเพราะอาศัยรากไม้อย่างใดอย่างหนึ่ง

เครื่องยาทั้งหลาย ผู้ที่สนใจในสมุนไพรคงจะทราบว่า รสรากไม้ต่างกับรสอื่นๆ

แม้ในรสลำต้นเป็นต้น ก็มีนัยนี้เหมือนกัน

คำว่า เปรี้ยว ได้แก่ รสเปรี้ยวของเปรียง เป็นต้น

คำว่า หวาน ได้แก่ รสเนยใสแห่งโคเป็นต้น โดยส่วนเดียว ส่วนน้ำผึ้งผสม รสฝาด เก็บไว้นานๆ ก็กลายเป็นรสฝาดไป น้ำอ้อยผสมรสขื่น เก็บไว้นานๆ ก็กลายเป็นรสขื่นไป ส่วนเนยเก็บไว้นานๆ แม้จะละสีและกลิ่น ก็ไม่ละรส เพราะฉะนั้น เนยนั่นแหละจึงหวานโดยส่วนเดียว

คำว่า ขม ได้แก่ รสใบสะเดา เป็นต้น

คำว่า เผ็ด ได้แก่ รสขิงและพริกไทย เป็นต้น

คำว่า เค็ม ได้แก่ รสเกลือซึ่งมาจากทะเล เป็นต้น

คำว่า ขื่น ได้แก่ รสยอดมะเขือ เป็นต้น

คำว่า เฝื่อน ได้แก่ รสยางพุดซา มะขามป้อม และมะขวิด เป็นต้น

คำว่า ฝาด ได้แก่ รสมะขามป้อม เป็นต้น

รสทั้งหมดนี้ตรัสด้วยอำนาจวัตถุที่ตั้ง และในที่นี้เฉพาะรสตามวัตถุที่ตั้งนั้นๆ พึงทราบว่า ตรัสไว้โดยชื่อ มีเปรี้ยว เป็นต้น

เปิด  257
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565