แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1176

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๔ พฤศจิกายน ต่อวันอาทิตย์ที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๒๕


ใน อัฏฐสาลินี อุปมากายเปรียบเหมือนสุนัขจิ้งจอก มีข้อความว่า

กายเปรียบเหมือนสุนัขจิ้งจอก แม้สุนัขจิ้งจอกเมื่อเที่ยวไปข้างนอกก็ย่อมไม่ได้ความยินดี แต่เมื่อเคี้ยวกินเนื้อมนุษย์ในป่าช้าผีดิบแล้วนอน นั่นแหละย่อมมีความสำราญ แม้กายก็เปรียบเหมือนเช่นนั้น พอใจอยู่ในอุปาทินนกรูป มีโผฏฐัพพะซึ่งอิงอาศัยปฐวีเป็นอารมณ์

จะเห็นได้ดังเช่นคนทั้งหลาย เมื่อหาอุปาทินนกรูปอื่นไม่ได้ ก็ยังนอนหนุนศีรษะบนฝ่ามือของตนเอง และปฐวีของกายนั้นซึ่งอยู่ภายในและภายนอก ก็ย่อมเป็นปัจจัยในการรับอารมณ์ จริงอยู่ที่นอนแม้ปูไว้อย่างดี หรือผลไม้แม้วางไว้บนมือ คนยังไม่ทันนั่ง หรือไม่ทันบีบดู ก็ไม่สามารถจะรู้ความอ่อนความแข็งได้ ฉะนั้น ปฐวีซึ่งอยู่ภายในและภายนอก จึงเป็นปัจจัยในการรับรู้โผฏฐัพพะของกายปสาทนี้

จริงไหม ลองคิดถึงเวลานอน ปรารถนาโผฏฐัพพะอะไรไหม หมอนจำเป็นไหม ถ้าไม่มีหมอน เมื่อหาอุปาทินนกรูปอื่นไม่ได้ ก็ยังนอนหนุนศีรษะบนฝ่ามือของตนเอง นี่คือความพอใจที่จะกระทบสัมผัสกับโผฏฐัพพะ

และสำหรับปฐวี คือ ธาตุดิน ซึ่งอยู่ภายในและภายนอก ย่อมเป็นปัจจัยในการรับอารมณ์ ในขณะที่กำลังนอนหนุนฝ่ามือ ก็มีลักษณะของธาตุดินที่อ่อน และเวลานอนอย่างนั้นรู้สึกเมื่อยขบตรงไหนบ้างไหม ถ้าไม่มีปฐวีธาตุก็คงไม่รู้สึกอย่างนั้น แต่ไม่ว่าจะเป็นปฐวีภายในร่างกายทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นส่วนที่บัญญัติเรียกว่า สมอง หัวใจ ตับ ปอด ทุกส่วนย่อมเป็นที่รับกระทบกับโผฏฐัพพารมณ์ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นภายในหรือภายนอก

เพราะฉะนั้น กายปสาทเป็นสภาพที่กระทบกับโผฏฐัพพะ เพราะไม่สามารถจะรู้ความอ่อน ความแข็ง หรือความเย็น ความร้อนได้ โดยไม่กระทบ เช่น ที่นอนแม้ปูไว้อย่างดี หรือผลไม้แม้วางไว้บนมือ คนยังไม่ทันนั่ง หรือไม่ทันบีบดู ก็ไม่สามารถจะรู้ความแข็งหรือความอ่อนได้ ดังนั้น ทุกอย่างที่เป็นโผฏฐัพพะจะรู้ได้เมื่อกระทบสัมผัสกายปสาท

พิสูจน์ธรรมได้ในชีวิตประจำวัน ทางกาย ยังติดหรือยังพอใจในโผฏฐัพพะอยู่มากหรือน้อย แม้ว่าท่านผู้ฟังจะได้กระทบกับโผฏฐัพพะมานานแสนนาน แต่ถ้าไม่อาศัยพระธรรมที่ทรงแสดง ก็ไม่สามารถจะละคลายการที่จะต้องกระทบกับโผฏฐัพพะอยู่เรื่อยๆ

เป็นสุข หรือเป็นทุกข์กันแน่ ถ้ายังไม่เกิดเจ็บไข้ได้ป่วย ท่านผู้ฟังก็ไม่รู้สึกว่าเดือดร้อนกับโผฏฐัพพะ และเมื่อเจ็บตรงไหน รู้ไหมว่า เป็นเพราะโผฏฐัพพะตรงนั้น จึงเจ็บ แต่ก็ยังจะยินดีพอใจในการกระทบกับโผฏฐัพพะต่อไปอีก เพียงแข็งหรือ เพียงอ่อน เพียงร้อนหรือเพียงเย็น เพียงตึงหรือเพียงไหว ก็เป็นสภาพธรรมที่ทำให้เกิดสุขหรือทุกข์ทางกาย ซึ่งไม่สามารถที่จะเป็นเพียงลักษณะที่เฉยๆ หรืออทุกขมสุขที่เป็นอุเบกขา ขณะใดที่ไม่ปวดเจ็บก็ไม่เดือดร้อนกับโผฏฐัพพะ แต่ขณะใดที่ปวดเจ็บ เดือดร้อนทางกาย ขณะนั้นให้ทราบว่า เพราะโผฏฐัพพะนั่นเอง

เพราะฉะนั้น โผฏฐัพพะมีคุณ หรือมีโทษ ยังจะต้องการกระทบสัมผัสกับโผฏฐัพพะอยู่ต่อไปอีกหรือเปล่า

อัฏฐสาลินี อรรถกถา อธิบาย โผฏฐัพพายตนนิทเทส มีข้อความว่า

ที่ชื่อว่าโผฏฐัพพะ ด้วยอรรถว่า อันกายพึงถูกต้อง อธิบายว่า ถูกต้องแล้วจึงรู้

ที่ชื่อว่าโผฏฐัพพายตนะ ด้วยอรรถว่า โผฏฐัพพะนั้นเป็นอายตนะ

ข้อความตอนนี้อธิบายอายตนนิทเทส ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ซึ่งกระทบแล้วทำให้เกิดสภาพรู้นั่นเอง

ข้อความที่ว่า ที่ชื่อว่าโผฏฐัพพะ ด้วยอรรถว่า อันกายพึงถูกต้อง อธิบายว่า ถูกต้องแล้วจึงรู้ คงไม่มีข้อสงสัย หรือว่าบางท่านจะกล่าวว่า เห็นตึกแข็ง เห็นได้ไหมตึกแข็ง เห็นไม่ได้แน่ เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น แต่ที่จะรู้ว่าแข็ง ต้องกระทบสัมผัส ที่จะรู้ว่าร้อน ต้องกระทบสัมผัส ถ้าไม่กระทบสัมผัสบอกว่า แข็ง ถูกหรือผิด ตามความเป็นจริง

เพราะฉะนั้น จะต้องรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ถ้าใครยังกล่าวว่า ทางตาเห็นแข็ง ย่อมหมายความว่า ไม่ได้ระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏทางตาว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ แต่ไม่แข็ง ไม่ใช่ขณะที่กำลังกระทบสัมผัส

ข้อความต่อไปในโผฏฐัพพายตนนิทเทสมีว่า

รูปที่เรียกว่า โผฏฐัพพายตะนั้น เป็นไฉน

ปฐวีธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ ที่แข็ง อ่อน ละเอียด หยาบ มีสัมผัสสบาย สัมผัสไม่สบาย หนัก เบา สัตว์นี้ถูกต้องแล้ว หรือถูกต้องอยู่ หรือจักถูกต้อง หรือพึงถูกต้องซึ่งโผฏฐัพพะใด อันเป็นสิ่งที่เห็นไม่ได้แต่กระทบได้ ด้วยกายอันเป็นสิ่งที่เห็นไม่ได้แต่กระทบได้ นี้เรียกว่า โผฏฐัพพะบ้าง โผฏฐัพพายตะบ้าง โผฏฐัพพธาตุบ้าง

ข้อความนี้ได้แสดงถึงอดีต ปัจจุบัน และอนาคตว่า การกระทบสัมผัสทางกาย ไม่ได้มีเฉพาะในขณะนี้เท่านั้น แม้ในอดีตซึ่ง ถูกต้องแล้ว และในอนาคตซึ่ง จักถูกต้อง หรือหรือพึงถูกต้องซึ่งโผฏฐัพพะใด คือ ไม่ว่าทางทางกายจะกระทบสัมผัสถูกต้องสิ่งใด ก็ไม่พ้นจากโผฏฐัพพะเท่านั้น เพราะโผฏฐัพพะเท่านั้นที่กายกระทบสัมผัสได้

มหาภูตรูปมี ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม แต่สำหรับสภาพธรรมที่เป็นโผฏฐัพพะมีเพียง ๓ ธาตุเท่านั้น คือ ปฐวีธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ

ใน อัฏฐสาลินี ได้แสดงลักษณะเป็นต้นของมหาภูตรูป เพื่อให้เห็นลักษณะที่ต่างกันของมหาภูตรูปแต่ละรูป

ข้อความมีว่า

ลักษณะเป็นต้นของธาตุทั้ง ๔ ในพระบาลีนั้น พึงทราบวินิจฉัยดังนี้

ปฐวีธาตุมีความแข้นแข็ง เป็นลักษณะ

มีสภาพเป็นที่ประดิษฐาน คือ เป็นที่ตั้งหรือเป็นที่รองรับ เป็นรสะ

มีการรองรับ เป็นปัจจุปัฏฐาน

ไม่มีธาตุดิน อะไรจะตั้งอยู่ได้ไหม จะให้ตั้งอยู่ที่ไหน เมื่อตั้งแล้วหมายความว่า ต้องมีปฐวี คือ ธาตุดิน เป็นที่ตั้ง สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ร้อน ถ้าไม่มีปฐวีเป็นที่ตั้งหรือเป็น ที่รองรับ ร้อนได้ไหม อะไรจะร้อน ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่า ลักษณะซึ่งเป็นปฐวีนั้น เป็นสภาพที่รองรับ หรือเป็นสภาพที่ตั้งของธาตุอื่น

เตโชธาตุมีความร้อน เป็นลักษณะ

มีการทำให้ย่อย เป็นรสะ

มีการเพิ่มพูนความอ่อน เป็นปัจจุปัฏฐาน

ปฐวี แข็ง แต่ว่า เตโชธาตุมีความร้อนเป็นลักษณะ มีการทำให้ย่อยเป็นรสะ มีการเพิ่มพูนความอ่อนเป็นปัจจุปัฏฐาน ที่กายนี้ไม่ใช่มีแต่เฉพาะแข็ง บางส่วนก็อ่อน ซึ่งต้องเป็นเพราะเตโชธาตุ ที่มีการเพิ่มพูนความอ่อนเป็นปัจจุปัฏฐาน คือ เป็นอาการที่ปรากฏ

วาโยธาตุมีการทำให้เคลื่อนไหว เป็นลักษณะ

มีการพัดไปมา เป็นรสะ

มีการน้อมนำไป เป็นปัจจุปัฏฐาน

อาโปธาตุ มีความหลั่งไหล เป็นลักษณะ

มีการเพิ่มพูน เป็นรสะ

มีการควบคุมไว้ เป็นปัจจุปัฏฐาน

ก็ในบรรดาธาตุทั้ง ๔ นี้ ธาตุแต่ละอย่างๆ พึงทราบว่า มีธาตุทั้ง ๓ ที่เหลือ เป็นปทัฏฐาน

แสดงให้เห็นว่า ธาตุหรือธรรมทั้งหลายจะเกิดขึ้นโดยลำพังไม่ได้ ต้องอาศัยธรรมอื่นเป็นปัจจัย เช่น ปฐวีธาตุต้องอาศัยเตโชธาตุ วาโยธาตุ อาโปธาตุ เป็นปัจจัย และเตโชธาตุต้องอาศัยปฐวีธาตุ วาโยธาตุ อาโปธาตุเป็นปัจจัย โดยอัญญมัญญปัจจัย

อัญญมัญญปัจจัย คือ อาศัยซึ่งกันและกัน เพราะถ้าไม่มีปฐวีธาตุ เตโชธาตุ ก็มีไม่ได้ ถ้ายกเตโชธาตุเป็นปัจจัย โดยเป็นอัญญมัญญปัจจัย ปฐวีธาตุ วาโยธาตุ อาโปธาตุ ก็เป็นปัจจยุปบัน

นอกจากโดยอัญญมัญญปัจจัยแล้ว ก็โดยสหชาตปัจจัยด้วย เพราะต้องเกิดพร้อมกัน ปฐวี เตโช วาโย อาโป ต้องเกิดพร้อมกันโดยสหชาตปัจจัย ไม่ใช่ว่า ปฐวีเป็นปัจจัยของเตโชซึ่งเกิดทีหลังหรือว่าเกิดก่อน แต่ต้องเกิดพร้อมกันกับที่ปฐวีเกิด จึงเป็นสหชาตปัจจัยให้เตโชธาตุ วาโยธาตุ และอาโปธาตุเกิดด้วย

ข้อความต่อไป อธิบายธาตุที่จัดว่าเป็นโผฏฐัพพะ ซึ่งจะได้พิสูจน์คำอธิบายที่ได้ฟังตามไปด้วย ที่กาย

คำว่า แข็ง คือ กระด้าง

คำว่า อ่อน คือ ไม่กระด้าง

คำว่า ละเอียด คือ เกลี้ยง

คำว่า หยาบ คือ คาย

คำว่า มีสัมผัสสบาย คือ เป็นโผฏฐัพพะที่น่าปรารถนา มีสุขเวทนาเป็นปัจจัย

คำว่า มีสัมผัสไม่สบาย คือ เป็นโผฏฐัพพะที่ไม่น่าปรารถนา มีทุกขเวทนาเป็นปัจจัย

คำว่า หนัก คือ เต็มไปด้วยภาระ

คำว่า เบา คือ ไม่เต็มไปด้วยภาระ อธิบายว่า เบาพร้อม

บางครั้งปฐวีธาตุก็หนัก บางครั้งก็เบา โผฏฐัพพะทั้งนั้น สิ่งไหนกระทบสัมผัสแล้วเบา หรือสิ่งไหนที่กระทบสัมผัสแล้วหนัก ให้ทราบว่า นั่นคือลักษณะของโผฏฐัพพะ ถ้าเป็นสภาพที่หนัก คือ เต็มไปด้วยภาระ ถ้าเบา คือ ไม่เต็มไปด้วยภาระ

ก็ในบรรดาธาตุเหล่านี้ ด้วยบททั้งหลายว่า แข็ง อ่อน ละเอียด หยาบ หนัก เบา ทรงจำแนกเฉพาะปฐวีเท่านั้น แม้ในพระสูตรว่า เมื่อกายนี้ยังประกอบด้วยอายุ ประกอบด้วยไออุ่น และประกอบด้วยวิญญาณ ย่อมเบากว่า อ่อนกว่า และควรแก่การงานกว่า ดังนี้ ก็ตรัสหมายปฐวีธาตุที่เบาและอ่อนเท่านั้น

แสดงให้เห็นว่า ไม่ได้แยกกับวิการรูป วิการรูปจะปราศจากมหาภูตรูปไม่ได้ ลักษณะของปฐวีธาตุในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่จะเห็นได้ว่า ต่างกับลักษณะของปฐวีธาตุที่ปราศจากไออุ่น ไม่ประกอบด้วยอายุ และไม่ประกอบด้วยวิญญาณ

ส่วนด้วย ๒ บทว่า มีสัมผัสสบาย มีสัมผัสไม่สบาย ทรงจำแนกมหาภูตรูป ทั้ง ๓ เพราะปฐวีธาตุมีสัมผัสสบายก็มี มีสัมผัสไม่สบายก็มี

ซึ่งในอรรถกถายกตัวอย่างว่า

เช่น เมื่อเด็กหนุ่มผู้มีฝ่ามืออ่อนนุ่มนวดเท้าทั้ง ๒ อยู่ ก็จะรู้สึกสบายดี ย่อมจะกระทำอาการที่จะให้กล่าวว่า นวดเข้าเถิดพ่อคุณ นวดเข้าเถิดพ่อคุณ ดังนี้

เคยบ้างไหม ความรู้สึกสบายจากโผฏฐัพพะเวลาที่คนที่มีมืออ่อนนุ่มนวดให้

สำหรับเตโชธาตุที่มีสัมผัสสบาย ในอรรถกถายกตัวอย่างว่า

เช่น เวลาหนาว เมื่อเขาเอากระเบื้องถ่านเพลิงมาอบอุ่นร่างกาย ก็จะรู้สึกสบายดี ย่อมจะกระทำอาการที่จะให้กล่าวว่า อบเข้าเถอะพ่อคุณ อบเข้าเถอะ พ่อคุณ

เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ แต่ไม่ได้สังเกตเลยว่า ในขณะไหนเป็นลักษณะของปฐวีธาตุที่สบาย ในขณะไหนเป็นลักษณะของเตโชธาตุที่สบาย

สำหรับวาโยธาตุที่มีสัมผัสสบาย ข้อความใน อัฏฐสาลินี มีว่า

เช่น เวลาร้อน เมื่อเด็กหนุ่มผู้ถึงพร้อมด้วยวัตรเอาพัดมาวีให้ ก็จะรู้สึกสบายดี ย่อมจะกระทำอาการที่จะให้กล่าวว่า พัดเข้าเถอะพ่อคุณ พัดเข้าเถอะพ่อคุณ

ใครที่กำลังร้อนๆ จะรู้สึกอย่างนี้ไหมเวลามีใครพัดให้ จะมีความรู้สึกสบายดี เพราะขณะนั้นเป็นวาโยธาตุที่มีสัมผัสสบาย

แต่ถ้าเป็นสัมผัสที่ไม่สบายทางกาย ยกตัวอย่างเช่น

เมื่อเด็กหนุ่มผู้มีมืออันกระด้างนวดเท้าทั้ง ๒ อยู่ ย่อมจะรู้สึกเหมือนอย่างเวลากระดูกจะแตก แม้เขาผู้นั้นก็จะถึงอาการที่จะต้องพูดว่า หลีกไปเสีย

ไม่เหมือนเมื่อสักครู่ที่บอกว่า นวดเข้าเถิดพ่อคุณ นวดเข้าเถิดพ่อคุณ แต่ตอนนี้ให้หลีกไปเสีย ถ้าถูกนวดแรงๆ เหมือนกับกระดูกจะแตก ก็คงจะต้องพูดอย่างนี้

สำหรับเตโชธาตุที่ไม่สบาย คือ เวลาที่ร้อน และใครเอากระเบื้องถ่านเพลิงมา ก็จะต้องบอกว่า ให้เอาออกไปเสีย ไม่ต้องการเลยในขณะนั้น หรือในขณะที่หนาว ใครเอาพัดมาพัดให้ ก็จะต้องบอกว่า หลีกไปเสีย อย่าพัดเลย

นี่เป็นชีวิตประจำวันที่แสดงให้เห็นว่า ทั้งปฐวีธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุซึ่งเป็นโผฏฐัพพะนั้น ย่อมมีทั้งสัมผัสที่สบาย และสัมผัสที่ไม่สบาย

ถ. เวลาที่เรารับประทานน้ำเย็น ความเย็นที่เกิดทางลิ้น เป็นโผฏฐัพพะ หรือรสที่ปรากฏทางลิ้น

สุ. ถ้าลักษณะเย็น ต้องเป็นโผฏฐัพพะ

ถ. แต่ว่าเกิดทางลิ้นได้

สุ. กระทบลิ้น เพราะว่ากายปสาทซึมซาบอยู่แทบจะกล่าวได้ว่า ทั่วทั้งกายไม่เว้นเลย

ถ. ถือว่าเป็นโผฏฐัพพะทางกาย

สุ. เพราะว่าในขณะใดที่มีความรู้สึกเย็น ขณะนั้นก็เป็นโผฏฐัพพะที่กระทบกับกายปสาท

ข้อความในอรรถกถา เกื้อกูลต่อการเจริญสติปัฏฐานที่จะให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่เข้าใจผิดในการปฏิบัติ ซึ่งมีข้อความว่า

ถามว่า ก็มหาภูตรูปทั้ง ๓ นี้ ย่อมมาสู่คลองโดยพร้อมกันทันทีหรือไม่

มาสู่คลองของกายปสาท คือ กระทบกับกายปสาท เพราะว่ามหาภูตรูปที่เป็นโผฏฐัพพะมี ๓ จึงมีคำถามว่า จะกระทบกับกายปสาทพร้อมกันทันทีหรือไม่

มหาภูตรูปที่เป็นโผฏฐัพพะมี ๓ เป็นสหชาตปัจจัย ไม่แยกกัน เพราะฉะนั้น จะมาสู่คลองของกายปสาท คือ กระทบกับกายปสาท พร้อมกันทันทีหรือไม่

ตอบว่า มาพร้อมกันทันที

ถ้าตอบว่าไม่พร้อม จะแยกธาตุดินให้มาก่อน และให้ธาตุไฟมาทีหลัง ก็ไม่ได้ เพราะมหาภูตรูป ๔ ไม่แยกจากกัน ซึ่งที่เป็นโผฏฐัพพะมีเพียง ๓ เพราะฉะนั้น เวลาที่จะกระทบกับกายปสาท มหาภูตรูปก็ไม่แยกจากกัน คือ พร้อมกันทันที

คำถามต่อไปมีว่า

ถามว่า มหาภูตรูป ๓ ที่มาแล้วอย่างนี้ จะกระทบกายปสาทหรือไม่กระทบ

มาพร้อมกัน ไม่แยกกัน เมื่อมาพร้อมกันอย่างนี้จะกระทบกายปสาทหรือ ไม่กระทบ

ตอบว่า กระทบ

ถามว่า กายวิญญาณจะเกิดขึ้นกระทำมหาภูตรูป ๓ เหล่านั้นให้เป็นอารมณ์โดยพร้อมกันทันทีหรือไม่

ตอบว่า ไม่

เปิด  316
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565