แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1177

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๒๕


ถามว่า เพราะเหตุไร

ตอบว่า เพราะการที่กายวิญญาณจะทำมหาภูตรูป ๓ ให้เป็นอารมณ์ ย่อมมีได้ก็เนื่องด้วยการน้อมนึก หรือเนื่องด้วยว่ากันส่วนข้างมาก

ใน ๒ ข้อนั้น เบื้องต้นที่ว่าเนื่องด้วยการน้อมนึก อธิบายว่า เมื่อเขาเอาบาตรตักข้าวสุกจนเต็มแล้วนำมา เมื่อหยิบเอาเมล็ดข้าวมาเมล็ดหนึ่งแล้วจะทดลองดูว่า แข็งหรืออ่อนในเมล็ดข้าวนั้น ในเมล็ดข้าวนั้น ย่อมมีทั้งเตโช มีทั้งวาโยก็จริงอยู่ แต่ก็ย่อมจะน้อมนึกเฉพาะปฐวีธาตุเท่านั้น

ถูกไหม ตัวอย่างง่ายๆ เวลาหุงข้าว หรือเวลาที่อยากจะรู้ว่าข้าวแข็งหรืออ่อน ในขณะที่หยิบข้าวขึ้นมาเพื่อจะทดลองดูว่าแข็งหรืออ่อน ในขณะนั้นใจย่อมน้อมนึกเฉพาะปฐวีธาตุเท่านั้น เพราะฉะนั้น จะได้รู้จากการกระทบสัมผัสในขณะนั้นว่า อ่อนหรือแข็ง ซึ่งเป็นปฐวี

สำหรับเตโชธาตุ มีตัวอย่างว่า

เมื่อหย่อนมือลงในน้ำร้อนทดลองดู ในน้ำร้อนนั้น ย่อมมีทั้งปฐวี มีทั้งวาโย ก็จริงอยู่ แต่ก็ย่อมจะน้อมนึกเฉพาะเตโชธาตุเท่านั้น

เพราะในขณะนั้นอยากจะรู้ว่าร้อนหรือเปล่า เพราะฉะนั้น ก็มีการกระทบกับเตโชธาตุ และก็รู้ว่าในขณะนั้น ร้อนหรือไม่ร้อน

สำหรับวาโยธาตุ มีข้อความว่า

ในเวลาร้อน คนก็เปิดหน้าต่างให้ลมโชยร่างกาย ยืนอยู่ เมื่อลมอ่อนๆ โชยมา ในลมอ่อนๆ นั้น ย่อมมีทั้งปฐวี มีทั้งเตโชก็จริง แต่ก็ย่อมน้อมนึกเฉพาะวาโยธาตุเท่านั้น

กำลังมีลมพัด นึกถึงวาโยธาตุ หรือว่านึกถึงอะไร เพราะฉะนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับการน้อมนึกว่า น้อมนึกถึงธาตุอะไรในขณะนั้น นี่แสดงว่า กายวิญญาณชื่อว่า ทำมหาภูตรูป ๓ ให้เป็นอารมณ์ เนื่องด้วยการน้อมนึกแต่ละธาตุ

สำหรับอาโปธาตุ คือ ธาตุน้ำ ไม่ใช่โผฏฐัพพะ ถ้าท่านใดยังคิดว่า ท่านกระทบสัมผัสน้ำ ก็เป็นเพราะสัญญาความจำว่า สิ่งที่ปรากฏทางตานั้นมีลักษณะเป็นน้ำ เรียกว่า น้ำ แต่ถ้ากระทบสัมผัสจริงๆ เวลาที่ไม่นึกถึงรูปร่างสัณฐาน จะกระทบสัมผัสกับสิ่งที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว ซึ่งเป็นธาตุดิน หรือธาตุไฟ หรือธาตุลม แต่ไม่ใช่ธาตุน้ำ เพราะว่าธาตุน้ำเป็นธาตุที่เกาะกุมธาตุอื่น ที่รวมอยู่ในที่นั้น

ข้อความใน อภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา กล่าวถึงอาโปธาตุว่า

คำว่า ชื่อว่าความเป็นของเหลวอันบุคคลถูกต้องจับได้นี้ เป็นเพียงความเข้าใจของท่าน ดุจความเข้าใจในสัณฐาน สมจริงตามที่ท่านโบราณาจารย์ทั้งหลายกล่าวไว้ว่า สัตว์โลกนี้ถูกต้องภูตรูปทั้ง ๓ ที่เป็นไปกับด้วยความเป็นของเหลว (คือ อาโปธาตุ) ย่อมเข้าใจว่า เราถูกต้องของเหลว

ส่วนมากจะคิดอย่างนี้ว่า เวลาที่กระทบสัมผัสกับมหาภูตรูป ๓ ซึ่งเป็นไปด้วยความเป็นของเหลว คือ มีอาโปธาตุเกาะกุม หรือว่าไหลเอิบอาบอยู่ในที่นั้น ย่อมเข้าใจว่า ถูกต้องของเหลว

บัณฑิตพึงทราบความเป็นของเหลว เหมือนคนถูกต้องภูตรูปทั้งหลายย่อมจับต้องสัณฐานได้ด้วยความเข้าใจว่า เราถูกต้องสัณฐานโดยประจักษ์ ฉะนี้

เป็นความจริง ใช่ไหม ก่อนที่จะศึกษาเรื่องของอินทริยะ และอารมณ์ของอินทรีย์ทั้ง ๕ บางท่านคิดว่า กำลังกระทบถูกต้องสัมผัสนาฬิกา เพราะมีรูปร่างสัณฐานอย่างนี้จึงมีความเชื่อหรือแน่ใจว่ากำลังกระทบสัมผัสนาฬิกา หรือคิดว่ากำลังกระทบสัมผัสสิ่งที่มีรูปร่างสัณฐานอย่างนี้ๆ แต่ตามความเป็นจริงแล้ว กระทบแข็ง สัณฐานอะไรก็ไม่สำคัญ

คิดว่าเก้าอี้สีนั้นสีนี้ รูปร่างอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งนั่นคือสัณฐานของธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ซึ่งประชุมรวมกัน แต่ขณะที่กระทบสัมผัส เข้าใจว่ากระทบสัมผัสสิ่งซึ่งมีสัณฐานอย่างนั้น แต่ตามความเป็นจริง ไม่ได้กระทบสัมผัสวัตถุ หรือโต๊ะ เก้าอี้ ที่เข้าใจว่ามีสัณฐานอย่างหนึ่งอย่างใดเลย เพียงกระทบสัมผัสกับปฐวีธาตุ หรือเตโชธาตุ หรือวาโยธาตุเท่านั้น ฉันใด การที่คิดว่ากำลังกระทบสัมผัสกับของเหลว ก็ฉันนั้น

เหมือนกับที่หยิบรองเท้า ใส่รองเท้า กระทบสัมผัสรองเท้า คิดว่ากำลังกระทบรองเท้าซึ่งมีรูปร่างสัณฐานอย่างนี้ แต่เวลาที่กระทบจริงๆ กระทบสัณฐานหรือว่ากระทบแข็ง ก็ต้องกระทบแข็ง เพราะการที่จะรู้ว่าแข็งหรืออ่อน ต้องเป็นการรู้ทางกาย ส่วนทางตา สามารถเห็นเพียงอุปาทายรูป คือ สีสันวัณณะซึ่งอาศัยเกิดกับมหาภูตรูปทำให้เห็นเป็นสัณฐานต่างๆ ไม่ใช่ว่าไปกระทบสัมผัสจับรองเท้า สัณฐานอย่างนี้คู่นี้ สัณฐานอย่างนั้นคู่นั้น แต่เวลาที่กระทบสัมผัสจริงๆ เป็นการกระทบกับปฐวีธาตุ ซึ่งเป็นลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง

ข้อความต่อไปใน อัฏฐสาลินี มีว่า

ส่วนผู้ใดพลาดลงก็ดี เอาศีรษะชนต้นไม้ก็ดี กำลังบริโภคอยู่ ขบก้อนกรวดก็ดี ในสิ่งที่ถูกเข้านั้น ย่อมมีทั้งเตโช มีทั้งวาโยก็จริงอยู่ แต่ผู้นั้นย่อมกระทำเฉพาะ ปฐวีธาตุเท่านั้นให้เป็นอารมณ์

ถูกไหม บางท่านอาจจะมีกรรมต่างจากบุคคลอื่น ไม่ว่าจะรับประทานครั้งไหน บ่อยครั้งที่จะต้องมีก้อนกรวดอยู่ในคำข้าวที่กำลังเคี้ยวอยู่ ถ้าผู้นั้นระลึกรู้ลักษณะสภาพของแข็งที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยในขณะนั้น จะเห็นได้ว่า ไม่ได้ต้องการจะกระทบกับก้อนกรวดเล็กๆ ที่ปะปนอยู่ในคำข้าวเลย และไม่รู้ตัวด้วยว่า ต่อไปจะต้องกระทบกับก้อนกรวดซึ่งอยู่ในคำข้าว แต่ว่าวิบากทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นตามเหตุ ตามปัจจัย ซึ่งไม่มีใครทราบได้เลยว่า ขณะต่อไปจะเป็นวิบากทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และในขณะที่กระทบในขณะนั้น ผู้นั้น ย่อมกระทำเฉพาะปฐวีธาตุเท่านั้นให้เป็นอารมณ์ เนื่องด้วยว่ากันส่วนข้างมาก แม้ว่าในที่นั้นก็มีทั้งวาโยและเตโชอยู่ด้วย

ท่านผู้ฟังเคยเหยียบไฟไหม ถูกของร้อนๆ สะเก็ดถ่านอะไรบ้างไหม ซึ่ง ข้อความต่อไปมีว่า

แม้เมื่อเหยียบไฟ ในไฟนั้น ย่อมจะมีทั้งปฐวี มีทั้งวาโยก็จริงอยู่ แต่ย่อมกระทำเฉพาะเตโชธาตุเท่านั้นให้เป็นอารมณ์ เนื่องด้วยว่ากันส่วนข้างมาก

กล่าวว่า เหยียบไฟ เพราะว่าในขณะนั้นลักษณะที่ร้อนปรากฏ แม้ว่าจะมีปฐวีและวาโยรวมอยู่ด้วย

สำหรับวาโยธาตุ ข้อความต่อไปมีว่า

เมื่อลมแรงพัดถูกสะเก็ดหู ทำให้ถึงหนวก ในลมนั้น ย่อมมีทั้งปฐวี มีทั้งเตโช ก็จริงอยู่ แต่ก็กระทำเฉพาะวาโยธาตุเท่านั้นให้เป็นอารมณ์ เนื่องด้วยว่ากันส่วนข้างมาก

ข้อความต่อไป กล่าวถึงกายวิญญาณที่เกิดขึ้นว่า ไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมกัน แต่เกิดขึ้นทีละขณะ

ข้อความมีว่า

เมื่อบุคคลกระทำธาตุอย่างใดอย่างหนึ่งให้เป็นอารมณ์ แม้กายวิญญาณก็ย่อมไม่เกิดขึ้นโดยพร้อมกันทันที

ซึ่งใน อัฏฐสาลินี แสดงข้อความต่อไปให้เห็นชัดเจนว่า

เมื่อบุคคลถูกเขาเอาเข็มตับหนึ่งทิ่มแทงกระทบกายโดยพร้อมกันทันที ก็ในที่ ใดๆ มีกายปสาทอยู่ส่วนมาก ย่อมเกิดกายวิญญาณในที่นั้นๆ แม้ในที่ใดๆ มีการกระทบเสียดสีแรง ย่อมเกิดกายวิญญาณในที่นั้นๆ ก่อน เช่น เมื่อเอาขนไก่ชะแผล เส้นขนไก่แต่ละเส้นกระทบกายปสาท ก็ในที่ใดๆ มีปสาทอยู่ส่วนมาก ย่อมเกิด กายวิญญาณในที่นั้นๆ แหละ อย่างนี้ย่อมกระทำธาตุให้เป็นอารมณ์เนื่องด้วย ว่ากันส่วนข้างมาก และชื่อว่าเกิดกายวิญญาณเนื่องด้วยว่ากันส่วนข้างมากเหมือนกัน

พูดถึงอารมณ์ซึ่งเป็นปัจจัย ถ้าถูกอะไรกระทบแรงๆ หลีกเลี่ยงที่จะไม่ให้ กายวิญญาณเกิดไม่ได้เลย เดินไปถูกลูกฟุตบอลที่ขว้างมา จะไม่ให้เกิดกายวิญญาณ ไม่ให้เกิดความรู้สึกที่เป็นทุกขเวทนาที่เกิดจากการกระทบกับสิ่งที่แข็งไม่ได้ นี่เป็นการกล่าวถึงอารมณ์ซึ่งเป็นส่วนข้างมาก

นี่เป็นเรื่องของอารมณ์ที่มากระทบ แต่ว่าเรื่องของจิตจะเป็นอย่างไร เพราะว่าท่านผู้ฟังในขณะที่กำลังกระทบสิ่งที่แข็ง หรือว่ากำลังรู้สึกเจ็บปวดก็ตาม มีเห็นด้วยหรือเปล่า หรือว่ามีแต่ปวดเจ็บเท่านั้น ไม่ได้เห็นอะไร ไม่ได้ยินอะไร ไม่ได้กลิ่นอะไร แต่ตามความเป็นจริง ส่วนข้างมากในขณะนั้นอาจจะเป็นทุกขเวทนา เพราะว่ากระทบสิ่งซึ่งแข็งและใหญ่ เจ็บปวดมากก็จริง แต่จิต ก็ต้องมีการเห็น มีการได้ยิน มีการ คิดนึกด้วย ตามเหตุตามปัจจัย ไม่ใช่ว่าจะอาศัยโผฏฐัพพะเท่านั้นเป็นปัจจัย หรือไม่ใช่แต่เฉพาะอาศัยอารมณ์ที่กระทบกับกายปสาทเท่านั้นเป็นปัจจัย

ข้อความต่อไป จึงมีคำถามว่า

ถามว่า ก็จิตล่ะ ก้าวไปจากอารมณ์ด้วยอาการอย่างไร

เมื่อมีจิต ก็ต้องมีอารมณ์ แต่แม้อย่างนั้นก็ยังไม่รู้ว่า เมื่อจิตขณะนี้เดี๋ยวนี้ดับไป จิตต่อไปที่จะเกิดขึ้นจะมีอารมณ์อะไร หรือว่าจะรู้อารมณ์อะไร ทุกคนไม่เคยพิจารณาเลย เพราะฉะนั้น ก็ไม่ประจักษ์สภาพก่อนที่จะมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้นว่า ขณะนั้นต้องไม่มีสิ่งใดเลย และจึงมีสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น

เช่น เสียง ยังไม่มีเสียง หรือจะกล่าวว่า ยังไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย ก็ไม่ผิด เพราะว่าต้องมีภวังคจิตเกิดก่อนวิถีจิต แสดงให้เห็นว่า ก่อนที่จะมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏต้องไม่มีอารมณ์ใดๆ ปรากฏก่อน เพราะว่าเป็นภวังคจิต จากนั้นจึงมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย และดับไป

นี่คือผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน จึงสามารถประจักษ์ความเกิดขึ้นทางทวารหนึ่งทวารใด โดยอินทรีย์หนึ่งอินทรีย์ใดเป็นปัจจัย เฉพาะทางหนึ่งทางใด และดับ ไม่มี สิ่งหนึ่งสิ่งใด และจึงมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้นต่อไป ทางทวารหนึ่งทวารใด โดยอินทรีย์หนึ่งอินทรีย์ใด และก็ดับ จึงจะประจักษ์สภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ตามความเป็นจริงได้

เพราะฉะนั้น การที่ทุกคนมีจิต และจิตเกิดดับสืบต่อกันโดยไม่หยุดยั้งอย่างรวดเร็ว ทำให้ไม่สามารถประจักษ์ได้ว่า ขณะนี้อะไรไม่มี และต่อไปอะไรจึงมี และ ก็ไม่มี และต่อไปอะไรจึงมี

แต่ถ้าอบรมเจริญสติปัฏฐาน ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเป็นนามธรรมหรือรูปธรรมจึงรู้ชัดว่า สิ่งที่จะเกิดต่อไปที่ปรากฏเป็นอารมณ์นั้น เป็นลักษณะของนามธรรม หรือว่าเป็นลักษณะของรูปธรรม

สภาพธรรมที่จะเกิดขณะต่อไป ไม่มีใครสามารถรู้ได้ นอกจากเหตุปัจจัยแต่ละอย่างจะทำให้สภาพธรรมแต่ละอย่างเกิดขึ้น จึงควรที่จะได้พิจารณาว่า สำหรับจิตที่จะก้าวไปจากอารมณ์ หรือจะก้าวไปสู่อารมณ์แต่ละอารมณ์นั้น ด้วยอาการอย่างไร

ตอบว่า ก้าวไปด้วยอาการ ๒ อย่าง คือ โดยอัธยาศัย (คือ ความตั้งใจ) บ้าง โดยอารมณ์มีประมาณยิ่งบ้าง

นี่คือชีวิตตามปกติตามความเป็นจริง ซึ่งทุกท่านตั้งใจกันอยู่ทุกวันว่า วันนี้จะทำอะไรบ้าง ต่อจากนี้ไปจะทำอะไรบ้าง พรุ่งนี้จะทำอะไรบ้าง นี่คือ โดยอัธยาศัย ก้าวไปสู่อารมณ์ตามอัธยาศัย ตามเหตุการณ์ของแต่ละบุคคลอย่างหนึ่ง และอีกอย่างหนึ่ง คือ โดยอารมณ์มีประมาณยิ่งบ้าง ซึ่งใน อัฏฐสาลินี ยกตัวอย่างว่า

จริงอยู่ เวลามีงานฉลองวัด เป็นต้น คนผู้ไปโดยอัธยาศัยว่า เราจักไหว้ พระเจดีย์และพระปฏิมานั้นๆ และเราจักชมงานหนังสือ งานวาดภาพจิตรกรรม ดังนี้ ย่อมไปเพื่อจะไหว้บ้าง เพื่อจะชมบ้างทีเดียว อย่างนี้ชื่อว่า จิตก้าวไปจากอารมณ์ หรือก้าวไปสู่อารมณ์โดยอัธยาศัย คือ โดยตั้งใจ

ข้อความต่อไป แสดงถึงการก้าวไปสู่อารมณ์ โดยอารมณ์มีประมาณยิ่ง

แต่ขณะที่กำลังยืนดูมหาเจดีย์ อันมีส่วนเปรียบด้วยยอดเขาไกรลาส ครั้นภายหลังเมื่อเขาพากันบรรเลงดนตรีทั้งปวง ก็ละรูปารมณ์เสียก้าวขึ้นสู่สัททารมณ์ เมื่อเขานำเอาดอกไม้หรือของหอมอันมีกลิ่นเป็นที่น่าฟูใจมา ก็ละสัททารมณ์เสีย ก้าวขึ้นสู่คันธารมณ์ อย่างนี้ชื่อว่า ก้าวไปจากอารมณ์ โดยอารมณ์มีประมาณยิ่ง

นี่คือชีวิตประจำวัน ทุกท่านตั้งใจมาวัด มาฟังพระธรรม ได้ยินเสียงอื่นบ้างไหม ได้ยิน เพราะว่า อารมณ์มีประมาณยิ่ง ไม่ใช่โดยความตั้งใจว่า อยากจะได้ยินเสียงอื่น แต่ต้องได้ยิน แสดงให้เห็นสภาพที่เป็นปัจจัยของแต่ละขณะจิตว่า ไม่มีใครสามารถยับยั้งหรือให้จิตของตนเป็นไปตามความปรารถนาได้ เพราะว่าจิตเป็นสังขารธรรม เกิดขึ้นเพราะปัจจัยปรุงแต่งแต่ละขณะ

ถ. คำว่า กระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ในขณะที่เรามีสติระลึกรู้ สมมติว่าสภาพที่ได้ยิน เราก็นึกว่า ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ เป็นสภาพรู้ทางหู อย่างนี้จะเป็นการกระทำไว้ในใจโดยแยบคายหรือเปล่า

สุ. นั่นเป็นการนึก

ถ. ถ้าอย่างนั้น กระทำไว้ในใจโดยแยบคายเป็นอย่างไร

สุ. สภาพธรรมมีหลายอย่าง ล้วนแต่ไม่ใช่ตัวตนสักอย่างเดียว เพราะฉะนั้น เวลาที่ศึกษาสภาพธรรม แม้ว่าข้อความในพระสูตรจะกล่าวอย่างนั้น ก็ต้องทราบว่า ไม่มีตัวตนที่กระทำ ถ้ามีท่านผู้หนึ่งผู้ใดใคร่ที่จะให้คนอื่นบอกให้ทำ แต่ไม่ได้ให้เข้าใจอะไรเลย ก็ไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญา และย่อมทำไม่ถูก จะทำอย่างไรก็ต้องชื่อว่ายังไม่ถูก เพราะว่าไม่ใช่สัมมาทิฏฐิ คือ การรู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่า สภาพที่เป็นนามธรรมมีลักษณะอย่างไร และสภาพที่เป็นรูปธรรมมีลักษณะอย่างไรจริงๆ

อาจจะบอกได้อย่างรวดเร็วว่า เห็นเป็นนามธรรม สีสันวัณณะที่กำลังปรากฏทางตาเป็นรูปธรรม ได้ยินเป็นนามธรรม เสียงเป็นรูปธรรม ตอบได้อย่างรวดเร็ว ทุกทวาร แต่เป็นการรู้ลักษณะของนามธรรมจริงๆ หรือเปล่า ในขณะที่กล่าวว่า ได้ยินเป็นนามธรรม หรือเห็นเป็นนามธรรม

เพราะฉะนั้น การกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย คือ ไม่ลืมว่า สภาพธรรมทั้งหลายที่กำลังปรากฏในขณะนี้เป็นอนัตตา เพราะนามธรรมเป็นสภาพรู้ รูปธรรมไม่ใช่สภาพรู้ ไม่ว่าจะเป็นทางตาที่กำลังเห็น ขณะที่กำลังเห็นเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ ขณะที่น้อมพิจารณาลักษณะของสภาพซึ่งกำลังเห็น คือ กำลังรู้ ไม่ใช่เพียงการคิดขึ้นมาว่าเห็นเป็นนามธรรม ในขณะนั้นจึงเป็นการกระทำโดยแยบคาย เพราะสติระลึกโดยแยบคาย ปัญญามนสิการพิจารณาโดยแยบคาย แต่ไม่ใช่ตัวเราพยายามที่จะทำให้แยบคาย

เปิด  247
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565