แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1179

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๒๕


๑๑๗๙

สำหรับอินทรีย์ ๕ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ซึ่งไม่ใช่มีเฉพาะการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แต่ยังต้องมีมนินทรีย์ด้วย ทางตา เมื่อจิตเกิดขึ้นอาศัยตาเห็น จิตที่เห็นและจิตอื่นๆ ที่เกิดโดยอาศัย ทวารตาดับไปแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่น มโนทวารวิถีจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่วิถีจิตทางตา เพิ่งรู้และดับไปซ้ำอีก

เพราะฉะนั้น ทางใจรับรู้อารมณ์ต่างๆ ต่อจากจิตที่อาศัยตาเกิดขึ้นเห็น จิตที่อาศัยหูเกิดขึ้นได้ยิน จิตที่อาศัยจมูกเกิดขึ้นได้กลิ่น จิตที่อาศัยลิ้นเกิดขึ้นลิ้มรส และจิตที่อาศัยกายเกิดขึ้นรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส นอกจากนั้น ทางใจยังรู้เรื่องราวของอารมณ์ต่างๆ ที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานสามารถระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละทวารตามความเป็นจริง ถ้าไม่ระลึกทางตาในขณะนี้ อาจจะระลึกทางใจก็ได้ ถ้าไม่ระลึกทางหูที่เสียงกำลังปรากฏหรือจิตที่กำลังรู้เสียง อาจจะระลึกทางใจในขณะที่นึกถึงคำหรือความหมายของเสียงที่ได้ยินก็ได้

หรือแม้แต่ในขณะที่คิดนึกเรื่องราวต่างๆ สติก็สามารถเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพที่กำลังคิดนึกเรื่องราวต่างๆ ว่า แท้ที่จริงแล้วสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทุกขณะอายุสั้นมาก เล็กน้อยมาก ถ้าสติเกิดระลึกได้จริงๆ เช่น ในขณะที่กำลังเห็นขณะนี้ ได้ยินต้องมีด้วยแน่ๆ เพราะฉะนั้น ก็เห็นความรวดเร็วของจิตที่เกิดขึ้น คือ ทางตาเห็นและดับไป ภวังคจิตเกิดคั่น มโนทวารวิถีจิตเกิดต่อ ภวังคจิตเกิดคั่น จิตได้ยินเกิดขึ้นได้ยินเสียง ดับไป ภวังคจิตเกิดคั่น และจิตก็เห็นอีกทางตา ดูเหมือนว่า เห็นไม่ได้ดับไปเลย แสดงให้เห็นถึงการเกิดดับทีละขณะอย่างรวดเร็วของจิต จากทวารหนึ่งไปสู่อีกทวารหนึ่ง โดยมีภวังค์คั่นทุกๆ วาระของทวาริกจิต

เพราะฉะนั้น สติสามารถสามารถเกิดเมื่อไหร่ก็ได้ และระลึกรู้ลักษณะของสภาพที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นทางตาที่กำลังเห็น หรือทางกายที่กำลังกระทบสัมผัส ทางใจที่กำลังคิดนึก ทางหูที่กำลังได้ยินเสียง เป็นปกติในชีวิตประจำวัน เพียงแต่ให้ทราบว่า สภาพธรรมแต่ละอย่างที่ปรากฏเล็กน้อยจริงๆ อายุสั้นมาก ปรากฏเพียงเล็กน้อยและดับไป เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

สำหรับการอบรมเจริญปัญญา ถ้าไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ โดยอาศัยอินทรีย์ ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ย่อมไม่สามารถรู้ความจริงของสภาพธรรมที่ปรากฏในชีวิตประจำวันตามปกติได้

มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มหาเวทัลลสูตร มีข้อความว่า

ณ พระวิหารเชตวัน … ครั้งนั้นเวลาเย็น ท่านพระมหาโกฏฐิกะได้ไปหาท่านพระสารีบุตรและสนทนาธรรมกัน

ท่านพระมหาโกฏฐิกะได้ถามท่านพระสารีบุตรว่า

ดูกร ท่านผู้มีอายุ อินทรีย์ ๕ ประการนี้ คือ จักขุนทรีย์ ๑ โสตินทรีย์ ๑ ฆานินทรีย์ ๑ ชิวหินทรีย์ ๑ กายินทรีย์ ๑ มีวิสัยต่างกัน มีโคจรต่างกัน ไม่รับรู้วิสัยอันเป็นโคจรของกันและกัน เมื่ออินทรีย์ ๕ ประการนี้ มีวิสัยต่างกัน มีโคจรต่างกัน และธรรมอะไรรับรู้วิสัยอันเป็นโคจรแห่งอินทรีย์เหล่านั้น

ไม่ว่าท่านผู้ฟังจะศึกษาข้อความตอนใดในพระไตรปิฎก จะไม่พ้นจากสภาพนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่ว่าในสมัยไหนทั้งสิ้น ในอดีตกาลล่วงเลยมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกี่โกฏิกัปป์ หรือว่า ในขณะนี้ หรือต่อไปในอนาคตกาล ก็จะมีเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งเป็นทางให้อารมณ์ต่างๆ ปรากฏ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ต้องการรู้สัจธรรม คือ ความจริง ของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะต้องสอบถามและสนทนาธรรมกันในเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั่นเอง แม้ท่านพระมหาโกฏฐิกะก็ได้ถามท่านพระสารีบุตรว่า ดูกร ท่านผู้มีอายุ อินทรีย์ ๕ ประการนี้ คือ จักขุนทรีย์ ๑ โสตินทรีย์ ๑ ฆานินทรีย์ ๑ ชิวหินทรีย์ ๑ กายินทรีย์ ๑ มีวิสัยต่างกัน มีโคจรต่างกัน คือ มีอารมณ์ต่างกัน บางครั้งใช้คำว่า วิสยะ หรือวิสัย บางครั้งก็ใช้คำว่า โคจระ หรือโคจร หมายความถึงอารมณ์ของจักขุนทรีย์ อารมณ์ของโสตินทรีย์ เป็นต้น มีโคจรต่างกัน คือ มีอารมณ์ต่างกัน ไม่รับรู้วิสัยอันเป็นโคจรของกันและกัน คือ ตาไม่มีทางได้ยิน หูไม่มีทางเห็น จมูกไม่มีทางรับกระทบโผฏฐัพพะ เพราะสิ่งเดียวที่จะกระทบกับจักขุปสาท เป็นวิสัยของจักขุปสาท เป็นโคจรของจักขุปสาทได้ คือ สีสันวัณณะต่างๆ ที่กำลังปรากฏ ทางตา ต่อไปจึงเป็นคำถามว่า เมื่ออินทรีย์ ๕ ประการนี้ มีวิสัยต่างกัน มีโคจรต่างกัน ธรรมอะไรรับรู้วิสัยอันเป็นโคจรแห่งอินทรีย์เหล่านั้น

ผู้ที่ศึกษาแล้วตอบได้ว่า ทางใจนั่นเอง รับรู้อารมณ์ต่อจากทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายเป็นปกติ

ข้อความต่อไป

ท่านพระสารีบุตรตอบว่า

ดูกร ท่านผู้มีอายุ อินทรีย์ ๕ ประการ คือ จักขุนทรีย์ โสตินทรีย์ ฆานินทรีย์ ชิวหินทรีย์ กายินทรีย์ มีวิสัยต่างกัน มีโคจรต่างกัน ไม่รับรู้วิสัยอันเป็นโคจรของกันและกัน เมื่ออินทรีย์ ๕ เหล่านี้ มีวิสัยต่างกัน มีโคจรต่างกัน ไม่รับรู้วิสัยอันเป็นโคจรของกันและกัน มีใจเป็นที่อาศัย ใจย่อมรับรู้วิสัยอันเป็นโคจรแห่งอินทรีย์เหล่านั้น

เป็นปกติธรรมดาในชีวิตประจำวันที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ที่สงสัยกันว่า เวลาเจริญสติปัฏฐานทางใจรู้อารมณ์อะไร ก็ต้องไม่พ้นจากอารมณ์ที่รู้ต่อจากทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายนั่นเอง

ธรรมเป็นเรื่องที่พิสูจน์ได้ พิจารณาและตรวจสอบได้ ในวันหนึ่งๆ ลองคิดพิจารณาว่า ใจรู้อะไรบ้าง คิดอะไรบ้าง ก็ย่อมไม่พ้นไปจากเรื่องของอารมณ์ที่เห็น ทางตา ได้ยินทางหู

ได้ยินเสียง แต่คิดได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของประเทศหนึ่งประเทศใด ส่วนหนึ่งส่วนใดของโลก บุคคลหนึ่งบุคคลใด หรือกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด ก็ยังคิดได้ แสดงให้เห็นว่า แม้ว่าทางหูจะได้ยินแต่เสียง แต่ทางใจก็สามารถคิดเรื่องต่างๆ ที่ได้ยินทางหูมากมายหลายเรื่อง

เพราะฉะนั้น สำหรับอินทรีย์ ๖ ก็เป็นสิ่งที่จะต้องรู้แจ้ง มิฉะนั้นไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้

ข้อความในพระไตรปิฎกแสดงพระมหากรุณาที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดง พระธรรมไว้โดยละเอียด เพื่อเกื้อกูลให้สติระลึกได้ว่า จะต้องศึกษา พิจารณา รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตามปกติ ซึ่งใน สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ฉัปปาณสูตร พระผู้มีพระภาคทรงเตือนให้พระภิกษุสังวร คือ ระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ถ้าไม่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน อกุศลย่อมเจริญ และพุทธบริษัททั้งหมดก็ควรจะได้พิจารณาข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุด้วย

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุรุษผู้มีตัวเป็นแผล มีตัวเป็นพุพอง พึงเข้าไปสู่ป่า หญ้าคา ถ้าแม้หน่อหญ้าคาพึงตำเท้าของบุรุษนั้น ใบหญ้าคาพึงบาดตัวที่พุพอง บุรุษนั้นพึงเสวยทุกข์โทมนัส ซึ่งมีการตำและการบาดนั้นเป็นเหตุ โดยยิ่งกว่าประมาณ แม้ฉันใด ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้อยู่ในบ้านก็ดี อยู่ในป่าก็ดี ย่อมได้บุคคลผู้กล่าวท้วงว่า ท่านผู้นี้แลกระทำอย่างนี้ มีสมาจารอย่างนี้ เป็นหนามแห่งชาวบ้านผู้ไม่สะอาด เพราะฉะนั้น ภิกษุจึงชื่อว่า เป็นหนามแห่งชาวบ้านผู้ ไม่สะอาดนั้น ฉันนั้นเหมือนกันแล

ท่านผู้ฟังมีกิเลสมากหรือน้อยกว่าภิกษุที่พระผู้มีพระภาคตรัสถึง โดยเพศต่างกัน แต่ตามความเป็นจริงถ้ายังไม่เป็นพระอริยบุคคล ขณะใดที่สติไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ศึกษา ไม่พิจารณาให้ความเข้าใจ สภาพธรรมเพิ่มขึ้น ขณะนั้นอกุศลย่อมเจริญ

พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

ภิกษุรู้แจ้งอย่างนี้แล้ว พึงทราบอสังวรและสังวร ฯ

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อสังวรย่อมมีอย่างไร

ภิกษุในธรรมวินัยนี้เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ย่อมน้อมใจไปในรูปอันน่ารัก ย่อมขัดเคืองในรูปอันไม่น่ารัก ย่อมไม่เป็นผู้เข้าไปตั้งกายสติไว้ มีใจมีประมาณน้อยอยู่ และย่อมไม่รู้ชัดซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับไปไม่เหลือแห่งอกุศลธรรม อันลามกเหล่านั้น อันบังเกิดขึ้นแล้วแก่เธอตามความเป็นจริง

ข้อความต่อไป เป็นทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ โดยนัยเดียวกัน

เป็นชีวิตประจำวันของทุกท่านหรือเปล่า ไม่ต้องดูผู้อื่น แต่ว่ารู้ตัวเอง ประโยชน์ของการฟังพระธรรมจะเห็นได้ว่า ปกติธรรมดาของทุกท่าน เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ย่อมน้อมใจไปในรูปอันน่ารัก ย่อมขัดเคืองในรูปอันไม่น่ารัก ขณะใดที่สติปัฏฐานไม่เกิด ย่อมไม่เป็นผู้เข้าไปตั้งกายสติไว้ และย่อมไม่รู้ชัดซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับไม่เหลือแห่งอกุศลธรรมอันลามกเหล่านั้น และไม่ใช่แต่เฉพาะทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แต่ รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ย่อมน้อมใจไปใน ธรรมารมณ์อันน่ารัก ย่อมขัดเคืองในธรรมารมณ์อันไม่น่ารัก

จริงไหม เรื่องต่างๆ มากมายในชีวิตของแต่ละคน ไม่ใช่มีแต่เฉพาะทางตา เห็นแล้ว หมดแล้ว จบแล้ว ทางหูได้ยินเสียงแล้ว หมดแล้ว จบแล้ว แต่ไม่จบ ใช่ไหม มีการนึกคิดเรื่องของสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ติดต่อกันไปอยู่เรื่อยๆ จากวันเป็นเดือน เรื่องนั้นจบแล้ว เรื่องอื่นต่อไหม ทุกวันๆ เรื่องเก่าจบ เรื่องใหม่ก็เกิด

เพราะฉะนั้น สำหรับธัมมารมณ์ รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ย่อมน้อมใจไปในธรรมารมณ์อันน่ารัก ย่อมขัดเคืองในธรรมารมณ์อันไม่น่ารัก

ไม่ใช่เพียงแต่เห็นรูปภาพ แต่เกิดความพอใจ ไม่พอใจรูปนั้นด้วยว่า นั่นเป็น รูปใคร คนนั้นกำลังทำอะไร แต่งตัวอย่างไร ทุกอย่างที่คิดนึกก็เป็นเรื่องของ ความน่ารักบ้าง ไม่น่ารักบ้าง ซึ่งทำให้เกิดจิตซึ่งเป็นโลภะบ้าง เป็นโทสะบ้าง ถ้าสติ ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง อกุศลจิตย่อมเจริญ

ชีวิตธรรมดา แต่พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงไว้ใน ฉัปปาณสูตร ให้เห็นว่า ชีวิตจริงๆ เป็นอย่างนี้

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษจับสัตว์ ๖ ชนิด ซึ่งมีวิสัยต่างกัน มีโคจรต่างกัน แล้วผูกด้วยเชือกอันเหนียวแน่น คือ จับงู จระเข้ นก สุนัขบ้าน สุนัขจิ้งจอก ลิง แล้วผูกด้วยเชือกอันเหนียวแน่น ครั้นแล้วพึงขมวดปมไว้ตรงกลางปล่อยไป

ทีนั้นแล สัตว์ ๖ ชนิด ซึ่งมีวิสัยต่างกัน มีโคจรต่างกันเหล่านั้น พึงดึงมาหาโคจรและวิสัยของตนๆ งูพึงดึงมาด้วยคิดว่า เราจักเข้าไปสู่จอมปลวก จระเข้พึงดึงมาด้วยคิดว่า เราจักลงน้ำ นกพึงดึงมาด้วยคิดว่า เราจักบินขึ้นสู่อากาศ สุนัขบ้านพึงดึงมาด้วยคิดว่า เราจักเข้าบ้าน สุนัขจิ้งจอกพึงดึงมาด้วยคิดว่า เราจักไปสู่ป่าช้า ลิงพึงดึงมาด้วยคิดว่า เราจักเข้าไปสู่ป่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดแล สัตว์ ๖ ชนิดเหล่านั้น ต่างก็จะไปตามวิสัยของ ตนๆ พึงลำบาก เมื่อนั้น บรรดาสัตว์เหล่านั้น สัตว์ใดมีกำลังมากกว่าสัตว์ทั้งหลาย สัตว์เหล่านั้นพึงอนุวัตรคล้อยตามไปสู่อำนาจแห่งสัตว์นั้น แม้ฉันใด ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งไม่ได้อบรม ไม่ได้กระทำให้มากซึ่งกายคตาสติ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน จักษุย่อมฉุดภิกษุนั้นไปในรูปอันเป็นที่พอใจ รูปอันไม่เป็นที่พอใจย่อมเป็นของปฏิกูล ฯลฯ ใจย่อมฉุดไปในธรรมารมณ์อันเป็นที่พอใจ ธรรมารมณ์อันไม่เป็นที่พอใจย่อมเป็นของปฏิกูล ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อสังวรย่อมมีได้ด้วยอาการอย่างนี้แล ฯ

ดูเป็นเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจตามธรรมดา ซึ่งไม่น่าจะต้องทรงแสดง ทั้งอุปมาให้เห็นว่า อารมณ์ของตา หู จมูก ลิ้น กาย ต่างกัน และแต่ละขณะที่จิตจะเห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง ลิ้มรสบ้าง รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสบ้างนั้น ก็ต้องแล้วแต่อารมณ์มีประมาณยิ่ง คือ อารมณ์ใดกระทบทำให้เกิดขึ้นปรากฏในขณะนั้น แม้โดยไม่จงใจ หรือไม่ใช่เพราะอัธยาศัยก็ตาม

อย่างที่ได้กล่าวถึงแล้วในคราวก่อนว่า การที่จิตจะก้าวสู่อารมณ์แต่ละทวาร ต้องแล้วแต่อารมณ์ที่ปรากฏในขณะนั้น เช่น คนที่ตั้งใจจะไปวัดฟังธรรม ไหว้ พระเจดีย์ แต่ในขณะนั้นเวลาที่มีคนบรรเลงดนตรีประโคมขึ้น ก็ต้องได้ยินเสียงเป็นของธรรมดา หรือว่าเวลาที่มีใครเอาดอกไม้มาบูชาพระเจดีย์ ก็ย่อมได้กลิ่นของดอกไม้นั้นเป็นธรรมดา แม้ว่าไม่ใช่อัธยาศัย หรือความต้องการที่จะได้กลิ่น หรือว่าได้ยินเสียง ในขณะนั้นก็ตาม

เปิด  223
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565