แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1190

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๒๖


. ขณะที่สีเขียวมากระทบ จักขุวิญญาณรู้ว่าเป็นสีเขียวหรือ

สุ. จักขุวิญญาณทำกิจเห็น จักขุวิญญาณจะไม่กระทำกิจใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากกิจเห็น เช่นเดียวกับโสตวิญญาณจะไม่ทำกิจใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากกิจได้ยิน

. หมายความว่า ถ้ารู้ว่าเป็นสีเขียว ต้องถึงมโนทวารแล้ว ใช่ไหม

สุ. ท่านผู้ฟังถามว่า รู้ว่าเป็นสีเขียว หมายความว่า ท่านผู้ฟังเห็นสีเขียว หรือว่าไม่เห็นสีเขียว

. เห็นสีเขียว และรู้สีเขียวหรือยังที่จักขุวิญญาณ

สุ. ดิฉันไม่เข้าใจ เห็นสีเขียว กับรู้สีเขียว หมายความว่า รู้ชื่อ หรือว่าอย่างไร รู้ว่าชื่อสีเขียวหรือ

. ลักษณะของสีเขียว หรือชื่อสีเขียว ก็อันเดียวกัน

สุ. ทางตาเห็นสิ่งที่ปรากฏ วิถีจิตทางตาดับหมดแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่น มโนทวารวิถีจิตเกิด รับรู้สีที่ทางตาเห็น ซึ่งเป็นปรมัตถอารมณ์ สีเดียวกันไม่ต่างกันเลย เมื่อมโนทวารวิถีจิตวาระนั้นดับไปแล้ว ภวังคจิตคั่น จะนึกถึงคำว่า เขียว ก็ต้องเป็นมโนทวารวิถีวาระต่อไป ไม่ใช่ในวาระที่กำลังมีปรมัตถ์เป็นอารมณ์เช่นเดียวกับทางปัญจทวาร

. รูปร่างสัณฐาน ที่ว่าหกเหลี่ยม แปดเหลี่ยม ในเมื่อเป็นรูปารมณ์ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของการสังวร ไม่ให้ถือโดยนิมิตอนุพยัญชนะ สี่เหลี่ยม หกเหลี่ยม ถือว่าเป็นนิมิตอนุพยัญชนะหรือเปล่า

สุ. เป็นนิมิต เป็นรูปร่างสัณฐาน อนุพยัญชนะเป็นส่วนละเอียดกว่านั้นอีก

. ในเมื่อเป็นปรมัตถอารมณ์ เราจะไม่ถือโดยนิมิตอนุพยัญชนะ เราจะต้องปฏิบัติอย่างไร

สุ. รู้ว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา เมื่อยังไม่เคยระลึกอย่างนี้ การฟัง บ่อยๆ จะได้ทราบว่า เคยเห็นเป็นคน เป็นสัตว์ คือ อัตตสัญญา อย่าลืม สัญญาเจตสิกเป็นสภาพจำ ทันทีที่เห็นก็จำ แต่จำผิดมานานแสนนาน คือ จำว่า เป็นอัตตา เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด กว่าจะเปลี่ยนจากอัตตสัญญาเป็นอนัตตสัญญา คือ สัญญาที่จำว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จะต้องอบรมเจริญสติให้ระลึกได้ ในขณะที่กำลังเห็น และน้อมที่จะรู้ว่าเป็นเพียงสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาเท่านั้นเอง

ส่วนการที่จะนึกถึงคนนั้นคนนี้ นั่งที่นั่นที่นี่ นั่นไม่ใช่เรื่องของทางตาที่เพียงเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่เป็นการนึกถึงรูปร่างสัณฐานและเรื่องราวของสิ่งซึ่งเคยจำได้ว่าเป็นสัตว์ หรือเป็นบุคคล หรือเป็นสิ่งของต่างๆ

ถ้าไม่มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตาให้ถูก ให้ตรง จะไม่คลายอัตตสัญญา ที่เคยเป็นสัตว์ เป็นบุคคล ซึ่งตามความเป็นจริง ก็คือ เป็นเพียงสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเท่านั้น

และขอให้คิดถึงอวิชชาของแต่ละท่าน ก่อนที่จะคลายอัตตสัญญาจนกระทั่งสามารถที่จะประจักษ์แจ้งจริงๆ ว่า สภาพธรรมที่ปรากฏไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จะเห็นได้ว่า ทำไมเพียงหลับตาแล้วไม่เห็นก็ยังไม่ยอมที่จะรู้จริงๆ ว่า แท้ที่จริงสิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ทำไมยังจำว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่างๆ โดยยึดถือว่า กำลังเห็นสิ่งหรือวัตถุบุคคลต่างๆ ในเมื่อเพียงหลับตาก็น่าจะชัดเจนแล้วว่าสิ่งนั้นไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้น รูปารมณ์หรือรูปายตนะ หรือ สีสันวัณณะ ก็เป็นเพียงสิ่งซึ่งเมื่อมีจักขุปสาท ลืมตาแล้วก็เห็นเท่านั้นเอง

ให้เห็นถึงความเหนียวแน่นของอวิชชา แม้ว่าสภาพธรรมจริงๆ จะเป็นอย่างนั้น แต่ทันทีที่ลืมตา ถ้าสติไม่ระลึกจริงๆ ไม่พิจารณาจริงๆ ไม่น้อมที่จะรู้ลักษณะที่แท้จริงของรูปารมณ์ ก็ยังละคลายอัตตสัญญาไม่ได้ และอัตตสัญญาก็ไม่ใช่ว่าจะหมดไปทันทีทันใด แต่ผู้นั้นจะรู้ว่า ทางตา สติเริ่มระลึกศึกษาบ้างหรือยัง และเมื่อเริ่มระลึกศึกษาแล้วบ่อยๆ เนืองๆ ไม่ต้องคิดถึงวันเดือนปีว่ากี่ครั้ง แต่ความรู้ที่ได้รับฟังและน้อมมาพิจารณา ปรุงแต่งให้เกิดปัญญาที่เข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ แค่ตาเห็นเท่านั้นจริงๆ

ดูเป็นของธรรมดา แต่อวิชชาปิดบังไม่ยอมให้เห็นว่า สภาพธรรมแต่ละอย่างเป็นอนัตตาอย่างไร จึงต้องอาศัยการระลึกได้ และอาศัยการฟังแล้วฟังอีก ฟังบ่อยๆ ฟังไปเรื่อยๆ เป็นปัจจัยปรุงแต่งให้ปัญญาเจตสิกเจริญขึ้น ในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

บางท่านห่วง เวลาที่สติเกิดแล้ว ทำไมยังมีโลภะ ทำไมไม่ละโลภะ โลภะยัง ละไม่ได้แน่นอน ตราบใดที่ปัญญายังไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงนามธรรมที่กำลังรู้ คือ เห็น หรือว่าเป็นแต่เพียงนามธรรมที่กำลังรู้ คือ ได้ยิน หรือว่าเป็นแต่เพียงนามธรรมที่กำลังคิดนึกเรื่องราวต่างๆ ถ้ายังไม่รู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ไม่ต้องห่วงว่าทำไมโลภะจึงยังมี เพราะตามข้อความในพระสูตรที่ได้แสดงแล้วว่า การที่จะละภพชาติสังสารวัฏฏ์ได้ ก็ต้องละโลภะ โทสะ โมหะ และการที่จะละโลภะ โทสะ โมหะได้ ต้องละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉาก่อน มิฉะนั้นแล้ว ไม่สามารถจะละได้

สำหรับการอบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ตามแต่วิถีชีวิตของแต่ละท่านจะเกิดขึ้นเป็นไปอย่างไร ก็จะต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและกำลังปรากฏในขณะนั้น

ขออ่านจดหมายท่านผู้ฟังท่านหนึ่งซึ่งอยู่ต่างประเทศ แต่ท่านได้อัดเทปเรื่องแนวทางเจริญวิปัสสนาตั้งแต่ต้นจนจบ และรับฟังโดยตลอดเรื่อยๆ

ข้อความตอนหนึ่งมีว่า

การฟังธรรมทำให้ดิฉันมีความมั่นใจ เข้าใจเพิ่มขึ้น หวั่นไหวน้อยลง ความหม่นหมองของอารมณ์ที่เกิดเป็นครั้งคราวก็ยังมี แต่สั้นเข้า แต่ก็เกินพอที่จะเจริญสติ ความไม่เที่ยงนี้เป็นทุกข์จริงๆ การติดใจ อยากสุขให้นานอีกหน่อยก็ทุกข์จริงๆ ถ้ามีทางที่คนเราไม่ต้องมาอดทนต่อการสะสมอบรมปัญญาบารมี และบรรลุนิพพานได้ ด้วยความเบื่ออย่างเดียวง่ายๆ ก็ดีซิคะ ไม่ต้องมาเพียรละทุกสิ่งทุกอย่างอย่างนี้ แต่เมื่อได้ทราบแน่แล้วว่า มีอยู่ทางเดียว ก็ก้มหน้าก้มตาฝนทั่งให้เป็นเข็ม กว่าจิตใจจะยอมรับความจริง ความไม่มีตัวตน ความเป็นผู้มีกิเลส ยอมพิจารณาดูกิเลสของตัวเอง ไม่ว่าอย่างละเอียด อย่างหยาบ อย่างไหนพอละได้ อย่างไหนยังละไม่ได้ ยิ่งฟังมาก พิจารณามาก ยิ่งเห็นว่าตัวเองไกลจากความเป็นพระอริยะเพียงไร เวลานี้ขออธิษฐานเพียงเกิดชาติใดหนใด ขอให้ได้พบพระพุทธศาสนาเถิด ขอให้ได้มีโอกาสเจริญวิปัสสนาเถิด ...

นี่คือผลของการฟัง เพื่อให้รู้ความจริงว่า การอบรมเจริญปัญญาเป็นเรื่องละเอียดที่ต้องอาศัยความเพียร ซึ่งต้องอดทนอย่างยิ่ง ไม่ใช่อดทนเพียงชาตินี้ชาติเดียว ต้องอดทนไปเรื่อยๆ จนกว่าสติจะมีกำลังคมกล้า สามารที่จะประจักษ์แจ้งสภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริงได้

ขอกล่าวถึงข้อความโดยตรงจากพระไตรปิฎก เรื่องอินทรีย์ ๕ ซึ่งมีมากในพระไตรปิฎก เพื่อให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณาข้อความที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงใน แต่ละพระสูตร

สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ปุพพโกฏฐกสูตร มีข้อความที่แสดงให้เห็นว่า แม้ว่าจะได้ฟังพระธรรมจากพระผู้มีพระภาคโดยละเอียดเพียงไรก็ตาม ก็จะต้องอบรมเจริญปัญญาเพื่อประจักษ์แจ้งสภาพธรรมนั้นด้วยตนเอง ไม่ใช่เพียงพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดงแล้ว เป็นความจริงอย่างนั้น แต่ผู้ฟังจะต้องน้อมประพฤติปฏิบัติจนกว่าธรรมที่ได้ฟังนั้น จะแจ่มแจ้งด้วยตัวของท่านเอง

ข้อความใน ปุพพโกฏฐิกสูตร มีว่า

ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปุพพโกฏฐกะ ใกล้พระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านพระสารีบุตรมา แล้วตรัสว่า

ดูกร สารีบุตร เธอเชื่อหรือว่า สัทธินทรีย์ที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมหยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นเบื้องหน้า มีอมตะเป็นที่สุด วิริยินทรีย์ ฯลฯ ปัญญินทรีย์ที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมหยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นเบื้องหน้า มีอมตะเป็นที่สุด.

อมตะ คือ พระนิพพาน เพราะฉะนั้น การที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏแต่ละขณะในขณะนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสถามท่านพระสารีบุตรว่า เธอเชื่อหรือว่า สัทธินทรีย์ที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมหยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นเบื้องหน้า มีอมตะเป็นที่สุด

ไม่ทราบท่านผู้ฟังเคยสงสัยบ้างหรือเปล่าว่า ที่สติเกิดนิดหนึ่ง ครั้งหนึ่ง กำลังระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ อย่างนี้หรือจะทำให้สามารถรู้แจ้งนิพพานได้ในวันหนึ่ง ซึ่งแม้พระผู้มีพระภาคก็ตรัสถามท่านพระสารีบุตรอย่างนั้น

ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในเรื่องนี้ข้าพระองค์ไม่ถึงความเชื่อต่อพระผู้มีพระภาคว่า สัทธินทรีย์ ฯลฯ ปัญญินทรีย์ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมหยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นเบื้องหน้า มีอมตะเป็นที่สุด ด้วยว่าอมตะนั้น ชนเหล่าใดยังไม่รู้ ไม่เห็น ไม่ทราบ ไม่กระทำให้แจ้ง ไม่พิจารณาเห็นด้วยปัญญา ชนเหล่านั้น พึงถึงความเชื่อต่อชนเหล่าอื่นในอมตะนั้นว่า สัทธินทรีย์ ฯลฯ ปัญญินทรีย์ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมหยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นเบื้องหน้า มีอมตะเป็นที่สุด

แสดงให้เห็นว่า มีบุคคล ๒ จำพวก คือ บุคคลพวกหนึ่งอบรมเจริญอินทรีย์ แต่ว่า ยังไม่รู้ ไม่เห็น ไม่ทราบ ไม่กระทำให้แจ้ง เพราะฉะนั้น บุคคลนั้น พึงถึงความเชื่อต่อชนเหล่าอื่น แต่สำหรับอีกพวกหนึ่ง คือ

ก็แลอมตะนั้น ชนเหล่าใดรู้แล้ว เห็นแล้ว ทราบแล้ว กระทำให้แจ้งแล้ว พิจารณาเห็นแล้วด้วยปัญญา ชนเหล่านั้นหมดความเคลือบแคลงสงสัยในอมตะนั้นว่า สัทธินทรีย์ ฯลฯ ปัญญินทรีย์ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมหยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นเบื้องหน้า มีอมตะเป็นที่สุด

สำหรับท่านพระสารีบุตรเอง ท่านกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็อมตะนั้น ข้าพระองค์รู้แล้ว เห็นแล้ว ทราบแล้ว กระทำให้แจ้งแล้ว พิจารณาเห็นแล้วด้วยปัญญา ข้าพระองค์จึงหมดความเคลือบแคลงสงสัยในอมตะนั้นว่า สัทธินทรีย์ ฯลฯ ปัญญินทรีย์ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมหยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นเบื้องหน้า มีอมตะเป็นที่สุด.

ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสซ้ำ โดยตรัสว่า

ดีละๆ สารีบุตร ... สัทธินทรีย์ ฯลฯ ปัญญินทรีย์ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมหยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นเบื้องหน้า มีอมตะเป็นที่สุด.

จบ สูตรที่ ๔

ท่านผู้ฟังมีศรัทธา ศรัทธาของท่านผู้ฟังเป็นสัทธินทรีย์หรือยัง และเป็นเมื่อไร เป็นในขณะไหน เพราะฉะนั้น ศรัทธากับสัทธินทรีย์ต่างกันอย่างไร

ถ้ามีท่านที่มีความสนใจ มีศรัทธาไปวัด ควรอนุโมทนาหรือยัง หรือต้องพิจารณาก่อน เพราะบางทีลักษณะภายนอกอาจจะดูเหมือนมีศรัทธา แต่จะเป็นศรัทธาหรือเปล่า

ศรัทธาเป็นโสภณธรรม เป็นธรรมฝ่ายดี เป็นสภาพที่ผ่องใส ปราศจาก อกุศลธรรม แต่ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติ ก็ยากที่จะแยกรู้ได้ว่า ขณะที่อาการภายนอกดูเหมือนศรัทธา แท้ที่จริงแล้วขณะนั้นเป็นศรัทธา หรือว่าเป็น โลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ประกอบด้วยความเห็นผิด

เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาที่จะทำให้รู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง เป็นผู้ที่ตรงต่อลักษณะของสภาพธรรม ถ้าไม่รู้ลักษณะของศรัทธา ก็ย่อมเจริญศรัทธาไม่ได้ และย่อมเจริญสัทธินทรีย์ไม่ได้ด้วย

. เรื่องของศรัทธานี่ก็น่าคิด ศรัทธามี ๒ ลักษณะ ลักษณะที่เชื่อก็เป็นศรัทธา ลักษณะที่เลื่อมใสก็เป็นศรัทธา เชื่อนี่ต้องพิจารณาแล้วเชื่อ จึงเป็นศรัทธา ถ้ายังไม่พิจารณาแล้วเชื่อ ไม่ชื่อว่าเป็นศรัทธา ในอัฏฐสาลินีท่านก็มีคำถามคำตอบว่า ผู้ที่มีความเห็นผิด เช่น ลูกศิษย์ของครูทั้ง ๖ ในครั้งพุทธกาล แสดงธรรมอะไรให้ ลูกศิษย์ของท่านเชื่อแล้ว เป็นศรัทธาหรือไม่ ท่านก็ตอบว่า ไม่ใช่ศรัทธา ที่เชื่อศาสดาทั้งที่เห็นผิด เป็นลักษณะที่รับคำเท่านั้น ซึ่งขณะนั้นเป็นทิฏฐิ ไม่ใช่ศรัทธา

และที่อาจารย์ถามว่า เมื่อไรเป็นศรัทธา เมื่อไรเป็นสัทธินทรีย์ ก็คือในขณะที่เจริญสติปัฏฐาน ถ้าสติระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ขณะนั้นเป็นสัทธินทรีย์ ใช่ไหม

สุ. ใช่ แต่ถ้ามีศรัทธา แต่ยังไม่มีสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้นก็ยังไม่เป็นอินทรีย์ ๕

ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ญาณกถา ข้อ ๗๔ มีข้อความว่า

ชื่อว่าภาวนา ด้วยอรรถว่าอินทรีย์ทั้งหลายมีกิจเป็นอย่างเดียวกันอย่างไร

เวลาที่ได้ยินคำว่า อินทรีย์ ๕ คุ้นหู หมายเฉพาะอินทรีย์ ๕ ซึ่งเป็นไปใน การเจริญสติปัฏฐานที่จะทำให้โลกุตตรอินทรีย์ ๓ คือ อนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์ ๑ อัญญินทรีย์ ๑ และอัญญาตาวินทรีย์ ๑ เกิดขึ้น

เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่า สัทธาก็ดี วิริยะก็ดี สติก็ดี สมาธิก็ดี ปัญญา ก็ดี ถ้าไม่มีกิจเป็นอันเดียวกัน คือ เพื่อการรู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็ยังไม่ใช่อินทรีย์ ๕

ชื่อว่าภาวนา ด้วยอรรถว่าอินทรีย์ทั้งหลายมีกิจเป็นอย่างเดียวกันอย่างไร

เมื่อพระโยคาวจรละกามฉันทะ อินทรีย์ ๕ มีกิจเป็นอย่างเดียวกันด้วยสามารถเนกขัมมะ เพราะฉะนั้น ชื่อว่าภาวนา ด้วยอรรถว่าอินทรีย์ทั้งหลายมีกิจเป็นอย่างเดียวกัน เมื่อละพยาบาท อินทรีย์ ๕ มีกิจเป็นอย่างเดียวกันด้วยสามารถความ ไม่พยาบาท ฯลฯ เมื่อละกิเลสทั้งหมด อินทรีย์ ๕ มีกิจเป็นอย่างเดียวกันด้วยสามารถอรหัตตมรรค เพราะฉะนั้น ชื่อว่าภาวนา ด้วยอรรถว่าอินทรีย์ทั้งหลาย มีกิจเป็นอย่างเดียวกัน ชื่อว่าภาวนา ด้วยอรรถว่าอินทรีย์ทั้งหลายมีกิจเป็นอย่างเดียวกัน อย่างนี้ ฯ

แสดงว่า อินทรีย์ ๕ เจริญพร้อมกัน เมื่อเป็นการอบรมเจริญสติปัฏฐาน เพื่อรู้แจ้งอริยสัจธรรม

สำหรับเรื่องของอินทรีย์ ๕ จะเห็นได้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงใช้พยัญชนะว่า ชื่อว่าภาวนา คือ การอบรมจนกว่าจะเกิดขึ้น ด้วยอรรถว่าอินทรีย์ทั้งหลายมีกิจเป็นอย่างเดียวกัน ในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

เมื่อพระโยคาวจรละกามฉันทะ พระโยคาวจรไม่ใช่ใครอื่นไกล ไม่ใช่ฤๅษีโยคี ในป่า แต่หมายถึงผู้ที่มีความเพียรระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และไม่ใช่ละแต่กามฉันทะ คือ ความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเท่านั้น ข้อความต่อไปมีว่า เมื่อละพยาบาท และเมื่อละกิเลสอื่นๆ ทั้งหมด ชื่อว่าภาวนา ด้วยอรรถว่าอินทรีย์ทั้งหลายมีกิจเป็นอย่างเดียวกัน

และในขณะที่กำลังฟังด้วยความสนใจ ศึกษาเรื่องของอินทรีย์ แต่ว่าสติยังไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น ก็เป็นการอบรมเจริญปัญญา ซึ่งเป็นการศึกษาโดยลำดับ เพราะปัญญาขั้นสูงสุด คือ ขั้นอรหัตตมรรค ย่อมจะมีไม่ได้ ถ้าไม่มีการศึกษาโดยลำดับขั้น

เปิด  201
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565