แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1183

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๒๕


สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค อรหันตสูตร พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเหตุเกิดของเวทนา ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกท่านเคยได้ยินได้ฟังมาแล้วบ่อยๆ นั่นเอง

สภาพธรรมทั้งหลายย่อมอาศัยปัจจัยปรุงแต่งจึงเกิดขึ้นได้ และสำหรับเวทนาก็ต้องอาศัยผัสสะที่กระทบ แล้วแต่ว่าจะเป็นทวารหนึ่งทวารใดเป็นปัจจัย ในขณะนี้ อย่าลืม ทางตาผัสสะกระทบเวทนาอะไร ทางหูผัสสะกระทบ จิตได้ยินเสียง เวทนาอะไร ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ โดยนัยเดียวกัน

ข้อความดูเหมือนซ้ำกัน แต่ถ้าไม่เจริญสติปัฏฐานไม่สามารถรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ได้

อรหันตสูตร ข้อ ๙๕๐

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สุขินทรีย์ย่อมอาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนาเกิดขึ้น ภิกษุนั้นสบายกายก็รู้ชัดว่าสบายกาย ย่อมรู้ชัดว่า เพราะผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนานั้นแหละดับไป เวทนาซึ่งเกิดแต่ผัสสะนั้น คือ สุขินทรีย์ ที่อาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนาเกิดขึ้นนั้น ย่อมดับไป สงบไป

ยังไม่ได้รู้อย่างนี้ใช่ไหม เพียงแต่รู้ว่าสบายกาย แต่ยังไม่ได้รู้ชัดว่า เพราะผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนานั้นแหละทำให้เกิดความสบายกายขึ้น และยังไม่ได้รู้ชัดว่า ผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนานั้นแหละดับไป เวทนาซึ่งเกิดแต่สัมผัสสะนั้น คือ สุขินทรีย์ที่อาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนาเกิดขึ้นนั้น ย่อมดับไป สงบไป แต่ว่าการอบรมเจริญปัญญา ต้องให้ถึงความรู้ชัดในการเกิดขึ้นและดับไปของเวทนา คือ ความรู้สึกด้วย

ข้อความต่อไป เป็นเรื่องของทุกขเวทนาโดยนัยเดียวกัน ซึ่งเป็นชีวิตประจำวัน ตลอดไปจนถึงโสมนัส โทมนัส และอุเบกขาเวทนา

ข้อ ๙๕๕

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนไม้ ๒ อันเสียดสีกัน จึงเกิดความร้อน เกิดไฟขึ้น เพราะแยกไม้ ๒ อันนั่นเองให้ออกจากกันเสีย ความร้อนที่เกิดเพราะความเสียดสีย่อมดับสงบไป ฉันใด สุขินทรีย์ย่อมอาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนาเกิดขึ้น ภิกษุนั้นสบายกายก็รู้ชัดว่าเราสบายกาย ย่อมรู้ชัดว่า เพราะผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่ง สุขเวทนานั้นแหละดับไป เวทนาซึ่งเกิดแต่ผัสสะ คือ สุขินทรีย์ที่อาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนาเกิดขึ้นนั้น ย่อมดับไป สงบไป ...

ตลอดไปจนถึงทุกขเวทนา โสมนัสเวทนา โทมนัสเวทนา และอทุกขมสุขเวทนา คือ อุเบกขินทรีย์

ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องอินทริยปัจจัย ก็เพื่อกระจัดกระจายสิ่งที่เคยรวมกันติดกันจนเสมือนเป็นสิ่งเดียวกันออกให้เห็นว่า เป็นลักษณะของสภาพธรรม แต่ละอย่างแต่ละทาง ซึ่งอาศัยเหตุปัจจัยแต่ละอย่างแต่ละทางเกิดขึ้น ถ้ายังแยก ไม่ออกก็ยังมีความเป็นตัวตน และไม่มีหนทางที่จะรู้ว่า สภาพธรรมเกิดดับ เพราะฉะนั้น จึงได้ทรงแสดงอินทริยปัจจัย เริ่มตั้งแต่อินทรีย์ ๖ ซึ่งแสดงให้เห็นความแยกขาดออกจากกันของแต่ละทวาร ตลอดจนกระทั่งถึงเวทนา ความรู้สึก ซึ่งอาศัยแต่ละทวารเกิดขึ้น

เพราะฉะนั้น เวทนาทางตาก็อย่างหนึ่ง ทางหูก็อย่างหนึ่ง ทางจมูกก็อย่างหนึ่ง ทางลิ้นก็อย่างหนึ่ง ทางกายก็อย่างหนึ่ง ทางใจก็อย่างหนึ่ง โดยอาศัยเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้นต่างๆ กัน

ข้อความในอรรถกถาแสดงอุปมาไว้มาก ซึ่งจะต้องพิจารณาเพื่อให้สติระลึกได้ เช่น ข้อความใน สัมโมหวิโนทนี อรรถกถา พระวิภังคปกรณ์ วรรณนานิทเทสแห่งญาณ มีข้อความว่า

จริงอยู่ ถ้าจักขุวิญญาณประมวลมาซึ่งสีเป็นอารมณ์ อันต่างด้วยสีเขียว เป็นต้น

ในขณะนี้เอง จักขุวิญญาณกำลังเห็นสีต่างๆ หูไม่มีทางที่จะเห็นสี จมูกไม่มีทางที่จะเห็นสี เพราะฉะนั้น ที่ทุกท่านคิดว่า กำลังเห็นสีต่างๆ ในขณะนี้ ก็เพราะ จักขุวิญญาณประมวลมาซึ่งสีเป็นอารมณ์ อันต่างด้วยสีเขียวเป็นต้น เช่น ในขณะนี้

ข้อความต่อไป

แล้วพึงมอบให้แก่โสตินทรีย์ว่า เชิญเถิด ท่านจงกำหนดสีนั้น จงชี้แจงซึ่งอารมณ์นั้นว่าชื่ออะไร ดังนี้

นี่เป็นคำอุปมาว่า ถ้าจักขุวิญญาณเห็นแล้ว ก็บอกหรือว่ามอบให้โสตินทรีย์ว่า

เชิญเถิด ท่านจงกำหนดสีนั้น จงชี้แจงซึ่งอารมณ์นั้นว่าชื่ออะไร ดังนี้

อย่าลืม จักขุวิญญาณเห็น ในขณะที่กำลังเห็น จักขุวิญญาณจะบอกใครได้ไหมว่าเห็นอะไร เป็นไปไม่ได้เลย ไม่ใช่หน้าที่ของจักขุวิญญาณ จักขุวิญญาณเพียงเห็น ไม่ว่าจะเป็นสีอะไรทั้งนั้น จะเป็นสีที่วิจิตรต่างกันสักเท่าไร จักขุวิญญาณเห็นทั้งหมด เห็นได้ เป็นสภาพธรรมอย่างเดียวที่สามารถรู้ความต่างกันของสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจักขุวิญญาณจะ พึงมอบให้แก่โสตินทรีย์ว่า เชิญเถิด ท่านจงกำหนดสีนั้น จงชี้แจงซึ่งอารมณ์นั้นว่าชื่ออะไร ดังนี้ เช่น นี่สีเขียว นั่นสีชา นั่นสีน้ำตาล หรือสีอะไรก็แล้วแต่

ข้อความต่อไป

แม้เว้นจักขุวิญญาณเสียแล้ว พึงกล่าวธรรมดาเฉพาะหน้าอย่างนี้ว่า (คือ พูดตรงๆ ) แน่ะ อันธพาล ท่านค้นหาอยู่สักร้อยปีก็ตาม สักพันปีก็ตาม เว้นจากเรา (จักขุวิญญาณ) ท่าน (โสตวิญญาณ) จักทราบสีนั้นได้ที่ไหน ท่านจงนำสีนั้นมา จงน้อมไปที่จักขุปสาท เราจักรู้ซึ่งอารมณ์นั้น จะเป็นสีเขียวหรือสีเหลืองก็ตามที ก็เพราะนั่นมิใช่วิสัยของธรรมอื่น นั่นเป็นวิสัยของเราเท่านั้น

เป็นอย่างนี้จริงๆ ใช่ไหม ถ้าระลึกรู้ลักษณะของเห็น ต่อให้ใครมาพรรณนา เรื่องสีต่างๆ วิจิตรสักเท่าไรก็ตาม ถ้าจักขุวิญญาณไม่เกิดขึ้นเห็น ก็ไม่มีใครสามารถจะรู้แจ้งในสีนั้นได้ เพราะว่าลักษณะของวิญญาณ คือ สภาพธรรมที่รู้แจ้งอารมณ์ของตนๆ ไม่ใช่รู้แจ้งอารมณ์อื่นซึ่งไม่ใช่อารมณ์ของตน เสียงจะมีมากมายสักเท่าไรก็ตาม โสตวิญญาณเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ของตน คือ รู้แจ้งเฉพาะเสียง

เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ธรรมทั้งหมดที่ได้ฟังเป็นเรื่องธรรมดาในชีวิตประจำวัน แต่ว่าทรงแสดงโดยนัยต่างๆ ทั้งข้อความโดยตรงจากพระไตรปิฎก และอรรถกถา เพื่อให้รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพื่อสติระลึก และจะได้ประจักษ์แจ้งว่า อินทรีย์แต่ละอินทรีย์ปรากฏเพราะมีปัจจัยทำให้เกิดขึ้นแต่ละทางเท่านั้นเอง และก็ดับไป

ในขณะที่กำลังนั่งอยู่ในขณะนี้ ก็ดับไปนับไม่ถ้วน ทางตาเห็น ทางหูได้ยิน ทางใจก็คิดนึก เวทนาแต่ละชนิดก็เกิดขึ้นกับจิตแต่ละประเภท และดับไป เพราะฉะนั้น ขณะนี้เองมีสภาพธรรมซึ่งยังคงเกิดดับเพราะเหตุปัจจัยที่จะให้สติระลึก

. ปกติจักขุวิญญาณสามารถเห็นเพียงรูปารมณ์ ใช่ไหม จักขุวิญญาณ ๒ ดวงนี้ มีปรมัตถ์เป็นอารมณ์ แต่สีเขียว สีเหลือง สีแดง สีขาว เป็นบัญญัติ จักขุวิญญาณบอกว่าสามารถรู้สีแดง สีขาวได้ จะไม่เกินความจริงไปหรือ

สุ. สีแดงปรากฏทางไหน

. รู้ได้ทางตา

สุ. ใครเห็นสีแดง

. ต้องเป็นวิถีจิต

สุ. สีแดงปรากฏทางไหน

. ปรากฏทางตา

สุ. สีแดงกระทบอะไรจึงปรากฏทางตา ยังไม่ได้เรียกชื่อว่าสีแดง เพราะว่าจักขุวิญญาณก็ดี โสตวิญญาณก็ดี ฆานวิญญาณก็ดี เหล่านี้ ไม่สามารถรู้ชื่อใดๆ ทั้งสิ้น ไม่สามารถจะทำกรรมใดๆ ทั้งสิ้น ไม่สามารถเข้าฌาน ไม่สามารถออกจากฌาน ไม่สามารถรู้แจ้งนิพพาน แต่ว่าวิญญาณ ๕ แต่ละวิญญาณนั้น สามารถรู้แจ้งเฉพาะในอารมณ์ของตนๆ เพราะฉะนั้น ที่กำลังเห็นว่าเป็นสีแดง ควรทราบว่า ปรากฏทางตาแน่นอน และต้องกระทบกับจักขุปสาทจึงปรากฏ สภาพที่เห็นสี คือ เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาโดยที่ไม่ได้เรียกชื่อ อย่าลืม ไม่ได้เรียกว่า สีแดง สีเขียว แต่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ที่จะไม่ให้สีแดง สีเขียวปรากฏทางตา จะให้ปรากฏทางไหน

เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจความหมายลักษณะของรูปารมณ์ว่า ที่ชื่อว่ารูปารมณ์ หมายถึงสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา สิ่งใดก็ตามที่ปรากฏทางตา สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาไม่ต้องเรียกชื่อ ไม่ต้องบอกว่าแดง ไม่ต้องบอกว่าเขียว และสิ่งที่ปรากฏทางตาก็ไม่ได้มีสีเดียว ใช่ไหม

. สีต่างๆ มีมาก แต่สีทั้งหมดเป็นอุปาทายรูปซึ่งเกิดกับมหาภูตรูป ไม่ว่าจะเป็นสีเหลือง สีแดง สีเขียว สีต่างๆ อาศัยมหาภูตรูปเกิด แต่ที่ปรากฏทางตาเป็น รูปารมณ์ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่า สี แต่ไม่ได้บอกว่า เป็นสีแดง สีเขียว และที่จิตสามารถจะรู้ว่า สีแดง สีเขียว ก็ต้องเป็นชวนะแล้ว ใช่ไหม

สุ. ไม่ใช่ ทางตาที่กำลังเห็นในขณะนี้ ไม่ได้ผิดปกติ

ถ. แต่ว่าทางตาที่กำลังเห็น จักขุวิญญาณเกิดขึ้นแล้วดับไป วิบากจิต เช่น สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะเกิดขึ้นมีสีนั้นเป็นอารมณ์ ยังไม่ได้รู้ว่า เป็นสีแดง สีเขียว

สุ. สิ่งที่กำลังปรากฏเป็นปกติ เห็นได้โดยจักขุปสาท

. เห็นได้โดยจักขุปสาท แต่ไม่ได้รู้โดยจักขุปสาท ใช่ไหม

สุ. รู้ชื่อ ไม่ใช่รู้โดยจักขุปสาท แต่เห็น ต้องเห็นด้วยจักขุวิญญาณโดยอาศัยจักขุปสาท

. ใช่ เวลาเห็นจะต้องเห็นด้วยจักขุวิญญาณ แต่ที่รู้ว่าเป็นสีต่างๆ ต้องที่ ชวนะ ที่รู้ว่า สีแดง สีเขียว ไม่ใช่จักขุวิญญาณรู้ใช่ไหม

สุ. เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ จะเปลี่ยนสีของสิ่งที่กำลังปรากฏไม่ได้ ถ้าคิดว่าการรู้สีแดง สีเขียว จะต้องรู้ทางใจ ต้องหมายความว่า ขณะนี้สีแดงสีเขียวไม่ปรากฏ แต่ไปปรากฏทางใจ แต่นี่ไม่ใช่อย่างนั้น ทางใจรับสิ่งที่ปรากฏทางตาต่อในวาระแรกที่เกิดขึ้นหลังจากที่จักขุทวาริกจิตดับไปหมดแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่น จิตที่รู้อารมณ์ทาง มโนทวารเกิดต่อ รับรู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาอย่างนี้ต่อ ยังไม่ได้เรียกสีอะไรเลย จึงจะเป็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง มิฉะนั้นการเห็นอย่างนี้ คือ เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาจะเป็นอย่างหนึ่ง และทางใจไปรู้สีสันวัณณะอื่นอีกได้อย่างไร ในเมื่อทางตาเห็นอย่างไร ทางใจก็รับรู้สิ่งที่ปรากฏนั้นเองต่อ

. ที่ว่าจักขุวิญญาณเห็นสี หมายความว่าเห็นตามธรรมดาธรรมชาติของสิ่งที่ปรากฏ จะเป็นอะไรก็แล้วแต่ จะต้องเห็นเป็นธรรมชาติอย่างนั้นใช่ไหม

สุ. ปกติ

. ไม่ได้แยกว่า สีแดง สีเหลือง สีเขียว สีดำ อะไรอย่างนั้น

สุ. เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ตอนหนึ่ง ใช่ไหม สิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้ เป็นสีหรือเปล่า หรือว่าไม่เป็น

. เป็น

สุ. เพราะฉะนั้น จักขุวิญญาณเห็นทุกอย่างที่ปรากฏทางตาตามปกติ แต่ไม่ได้นึกคิดถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะจักขุวิญญาณทำกิจเดียว คือ กิจเห็นเท่านั้น จิตอื่นไม่ได้ทำกิจนี้

. ทางตาส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่า ทางตาเห็นคน ไม่ให้รู้ว่าเป็นคน เห็นสัตว์ไม่ให้รู้ว่าเป็นสัตว์ เห็นสิ่งของไม่ให้รู้ว่าเป็นสิ่งของ เห็นดอกไม้ต้นไม้ ก็ไม่ให้รู้ว่าเป็นดอกไม้ต้นไม้ ให้เห็นแต่เพียงสี อย่างนี้จะถูกหรือเปล่า

สุ. ถ้าพยายามอย่างนั้น จะชื่อว่าปัญญา หรือว่าตัวตนกำลังบังคับ นี่เป็นข้อปฏิบัติที่ต่างกัน ถ้าเป็นข้อปฏิบัติที่อบรมเจริญปัญญา สติระลึกเพื่อรู้ว่า ลักษณะของรูปารมณ์ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนนั้นคืออย่างไร คือ ทันทีที่เห็นก็น้อมรู้ว่า สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้มีจริง กำลังปรากฏ แต่เป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งปรากฏทางตา

ข้อสำคัญที่สุด คือ ลืมความเป็นกลุ่มก้อน ความเป็นอัตตา ความเป็นตัวตนว่า มีรูปร่างสัณฐานมากมายที่เป็นคนต่างๆ เป็นสิ่งต่างๆ แต่ว่าลักษณะของ สภาพธรรมแท้จริงที่สามารถจะปรากฏทางตาได้นั้น เป็นเพียงสภาพธรรมที่ปรากฏ ทางตาเท่านั้นเอง นี่คือของจริงอย่างหนึ่งซึ่งปรากฏทางตา

. ผมเคยรู้สึกเหมือนกัน คือ ในขณะมองเห็นอะไรบางอย่าง รู้สึกว่าเห็นแต่ว่าแว็บเดียว ไม่ได้นึกว่าเป็นอะไร เคยมีเหมือนกัน จะในลักษณะนี้หรือเปล่าที่เรียกว่า เห็นสี

สุ. ไม่อยากให้ท่านผู้ฟังมีความรู้สึกว่า ได้เห็นธรรมชั่วแว็บ หรือว่า นิดเดียว นานๆ ครั้งหนึ่ง คงจะเป็นสภาพธรรมอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ควรจะเป็นการอบรมเจริญปัญญา อย่าลืมอรรถของปัญญา ปัญญา คือ ความรู้

เพราะฉะนั้น ถ้าในขณะที่กำลังเห็นอย่างนี้ ยังไม่ได้น้อมที่จะรู้ว่าเป็นเพียงสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ยังไม่ได้น้อมที่จะระลึกรู้ เพื่อรู้จริงๆ ว่า เป็นเพียง สภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งปรากฏทางตา ถ้าสติยังไม่เคยจะน้อมรู้อย่างนี้ อย่าไปเห็นขณะหนึ่งขณะใดขึ้นมาว่าคงจะเป็นขณะนั้นแน่ๆ ที่เป็นรูปารมณ์ เพราะว่าขณะนี้ รูปารมณ์จริงๆ กำลังปรากฏ แต่อวิชชาไม่รู้ว่าเป็นรูปารมณ์เท่านั้น ยังคงมีการยึดถือรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏโดยไม่สามารถแยกรู้แต่ละอินทรีย์ว่า สำหรับทางตา คือ เฉพาะเห็นเท่านั้นเอง ส่วนทางใจกำลังนึกถึงรูปร่างสัณฐาน นึกถึงเรื่องราวของ สิ่งที่เห็น เพราะฉะนั้น ไม่ควรที่จะประจักษ์ลักษณะของรูปารมณ์ ก่อนที่จะน้อมศึกษาด้วยความรู้ที่เพิ่มขึ้นจนแน่ใจว่า ขณะนี้สติกำลังระลึกทางตา คือ รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ แม้ว่ายังไม่ได้รู้ชัด แต่ว่าสิ่งที่ปรากฏกำลังมีอยู่ คือ กำลังเห็นอยู่ อาจจะมีการนึกคิดเกิดคั่น ซึ่งไม่มีใครสามารถยับยั้งความคิดได้ แต่ให้ทราบว่า ขณะที่คิด ไม่ใช่ขณะเดียวกับที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น เพียงชั่วขณะที่กำลังปรากฏ ซึ่ง สภาพธรรมที่กำลังปรากฏนี้ไม่ปรากฏกับผู้ที่ไม่มีจักขุปสาท

ท่านผู้ฟังที่เห็นขณะนี้ กำลังมีจักขุปสาทที่ยังไม่ดับ จึงเห็นสิ่งที่ปรากฏ แต่ว่าในขณะที่ได้ยินเสียง จักขุปสาทดับแล้ว โสตปสาทยังไม่ดับ จึงมีการได้ยินเสียง และ มีการเห็นอีกหลังจากที่การได้ยินดับไปแล้ว ในขณะนี้จักขุปสาทยังไม่ดับจึงมีการเห็น ดูเป็นปกติจนไม่รู้ว่ารูปารมณ์นั้นคืออย่างไร แต่วันหนึ่งข้างหน้าถ้าจักขุปสาทไม่เกิด รูปารมณ์จะไม่ปรากฏเลย

ขอให้คิดถึงเวลาที่จักขุปสาทไม่เกิด ในวันหนึ่งข้างหน้า ถ้าจักขุปสาทไม่เกิด จะไม่มีปัจจัยใดๆ ที่จะทำให้รูปารมณ์ที่กำลังปรากฏอย่างนี้ในขณะนี้ปรากฏได้ และเมื่อนั้นจึงจะรู้ว่า รูปารมณ์เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น เพราะว่าแม้หลับตาก็ยังสามารถที่จะกระทบสัมผัสกับสิ่งที่อ่อนหรือแข็งได้

คนที่จักขุพิการ คือ ผู้ที่จักขุปสาทไม่เกิด ไม่มีการเห็นใดๆ เลย รูปารมณ์ ไม่ปรากฏ แต่ยังมีความทรงจำในรูปร่างสัณฐานของสิ่งต่างๆ ยังสามารถใช้กายปสาทลูบคลำเพื่อให้รู้ว่า กำลังกระทบสัมผัสสิ่งใด ใช้ประโยชน์เพื่ออะไร เช่น กระทบ ถ้วย จาน ช้อน ชาม เหล่านี้เป็นต้น แต่ไม่เห็นรูปารมณ์ เพราะฉะนั้น ในขณะที่ จักขุปสาทยังเกิดอยู่ก็น่าจะน้อมพิจารณาได้ว่า ในขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา เป็นเพียงรูปารมณ์เท่านั้นเอง เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง

เปิด  249
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565