แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1186

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๒๕


เพราะฉะนั้น ในชีวิตประจำวันจริงๆ เป็นการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่ว่าจะมีบุคคลหนึ่งบุคคลใดที่สติจะเกิดขึ้นปัจจุบันทันที และรู้ชัดในลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมที่กำลังปรากฏทางหนึ่งทางใดโดยขาดการอบรมทีละเล็กทีละน้อย เพราะถ้าเป็นในลักษณะนั้น ไม่ใช่ความรู้ ไม่ใช่ความเข้าใจในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม เพียงแต่เป็นความคิดว่า การประจักษ์ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม คงจะเป็นในขณะหนึ่งขณะใดซึ่งนามธรรมหรือรูปธรรมจะปรากฏโดยแจ้งชัดในลักษณะ นั้นๆ แต่อย่าลืมว่า ถ้าเป็นโดยลักษณะนั้น จะไม่ใช่การรู้ ซึ่งเป็นการละความไม่รู้ ในขณะที่กำลังเห็นในขณะนี้ตามปกติ หรือว่าในขณะที่กำลังได้ยินในขณะนี้เองตามปกติ

เรื่องของการอบรมเจริญปัญญา เป็นเรื่องที่จะต้องอาศัยการฟังและสภาพธรรมหลายอย่างเป็นปัจจัยเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้สติระลึกได้ ที่จะพิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติ ซึ่งแต่ละคนจะรู้จักตัวเองยิ่งขึ้น โดยการที่สติระลึกได้ในลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดกับแต่ละบุคคลต่างๆ กัน

เพราะฉะนั้น บางครั้งเวลาเกิดความขุ่นใจ จะเป็นเรื่องในอดีตหรือปัจจุบัน ก็แล้วแต่ สติสามารถที่จะระลึกรู้ ต้องไม่ลืมว่า รู้ ในอาการของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และก็รู้ว่า เพราะเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งเท่านั้นเองจึงไม่ใช่เรา และจะต้องเป็นการคลายความยึดมั่นในนามธรรมและรูปธรรมด้วยความรู้พร้อมสติตามปกติ ซึ่งจะไม่ปรากฏว่าชัด จนกว่าวิปัสสนาญาณแต่ละขั้นจะเกิด

ถ้าท่านผู้ฟังจะพิจารณาถึงอดีตอนันตชาติที่ผ่านมาแล้ว ก็ไม่สามารถรู้ว่า ชาติก่อนเคยเป็นใคร เคยมีโอกาสได้ฟังพระธรรม ได้อบรมเจริญสติปัฏฐานมากน้อยแค่ไหน ก็ไม่ทราบ บางท่านอาจจะอ่านเรื่องของบุคคลหนึ่งบุคคลใด ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดี เป็นชีวิตที่ผ่านมาไม่นาน อาจจะเป็นตัวท่านเองได้ไหม แต่เวลาที่เป็นบุคคลนี้ ในชาตินี้ ไม่รู้เรื่องในอดีตเลย เพราะฉะนั้น ในชาติก่อนจะเคยฟังพระธรรม มีความสนใจ มีศรัทธามากน้อยเท่าไร ไม่สามารถจะรู้ได้สำหรับอดีตชาติ แต่สามารถจะรู้ได้สำหรับปัจจุบันชาติว่า มีศรัทธา มีความสนใจ มีการใคร่ที่จะฟังพระธรรม และสติน้อมระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏมากน้อยแค่ไหน ซึ่งเป็นปกติในชีวิตประจำวันที่ท่านผู้ฟังทุกท่านจะต้องยอมรับตามความเป็นจริงว่า ในวันหนึ่งๆ ฟังพระธรรมมาก หรือว่าฟังเรื่องอื่นมาก คิดถึงพิจารณาพระธรรมมาก หรือว่าคิดถึงเรื่องอื่นมาก สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏมาก หรือว่าหลงลืมสติมาก

ซึ่งถ้าชาตินี้เป็นอย่างนี้ ย่อมส่องไปถึงอดีตอนันตชาติได้ว่า อินทรีย์ ๕ คือ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ได้อบรมมาแล้วมากหรือน้อยแค่ไหน เพราะฉะนั้น มีหนทางเดียวที่จะเป็นผู้ที่รู้ด้วยตัวเองว่า ขณะใดเป็นปริยัติ คือ นึกถึงเรื่องที่ได้ฟังแม้แต่ในขณะที่กำลังเห็นก็คิดว่า เป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้ เป็นธาตุรู้ หรือว่า ขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้เอง สติก็ระลึกและเริ่มที่จะรู้ว่า มีสิ่งที่กำลังปรากฏให้สภาพรู้ ธาตุรู้ อาการรู้นั้นเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ ทางตา ฉันใด ทางหู ก็ฉันนั้น ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ โดยนัยเดียวกัน

เพราะฉะนั้น การเจริญอบรมอินทรีย์ ๕ แสดงให้เห็นว่า ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงตรัสรู้ ไม่ทรงแสดงธรรม จะมีท่านผู้ใดในปัจจุบันชาตินี้ที่สติปัฏฐานจะเกิดไหม แต่เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว ก็เป็นปัจจัยที่จะให้สติเกิด ซึ่งจะค่อยๆ เจริญ อบรมจนกระทั่งเป็นอินทรีย์ ๕ คือ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ และ ปัญญินทรีย์

สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค อุปาทสูตรที่ ๑ ข้อ ๑๐๖๑ มีข้อความว่า

สาวัตถีนิทาน

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ ๕ เหล่านี้ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ที่ยังไม่เกิด จะเกิดขึ้นนอกจากความอุบัติแห่งพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หาได้ไม่ อินทรีย์ ๕ เป็นไฉน คือ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ ๕ เหล่านี้แล อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ที่ยังไม่เกิด จะเกิดขึ้นนอกจากความอุบัติแห่งพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หาได้ไม่

และใน อุปาทสูตรที่ ๒ ข้อ ๑๐๖๒ ได้แสดงว่า อินทรีย์ ๕ นี้ ที่ยังไม่เกิด จะเกิดขึ้นนอกวินัยของพระสุคต หาได้ไม่

คือ ถ้าไม่มีการฟังเรื่องสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ก็ไม่มีปัจจัยใดๆ ทั้งสิ้นที่จะทำให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

. ที่อาจารย์พูดว่า อ่านหนังสือสามารถเจริญสติปัฏฐานได้ เพราะฉะนั้น บุคคลที่อ่านหนังสือและเจริญสติ กับบุคคลที่อ่านหนังสือแต่ไม่ได้เจริญสติ ต่างกันอย่างไรขณะที่อ่าน

สุ. ขณะที่อ่านและหลงลืมสติ ก็เป็นเราที่กำลังอ่าน ไม่ได้ระลึกรู้การเห็น และการคิดถึงคำแต่ละคำที่อ่าน ไม่ว่าท่านผู้ฟังจะอ่านอะไรทั้งสิ้นให้ทราบว่า ต้องมีการเห็น ถ้าไม่เห็นจะอ่านได้อย่างไร แต่บางครั้งเห็นแล้วไม่ได้อ่าน เห็นเฉยๆ เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังอ่าน จึงมีสภาพธรรม คือ เห็น และมีสภาพธรรมที่กำลังคิดถึงแต่ละคำ ซึ่งในขณะที่สติระลึกจะรู้ว่า สภาพที่เห็นเป็นอย่างหนึ่ง และสภาพที่กำลังคิดถึงความหมายของสิ่งที่เห็นเป็นอีกอย่างหนึ่ง

. ในขณะที่อ่าน และคิดถึงคำ จะต้องหยุดอ่านไหม

สุ. ไม่จำเป็น ไม่ใช่มีความจงใจ ตั้งใจจะหยุด เพราะว่าขณะนี้นามธรรมและรูปธรรมดับไปนับไม่ถ้วน ผ่านไปแล้ว ไม่มีใครสามารถที่จะให้หยุดเป็นจังหวะ และให้สติระลึกเป็นขณะๆ แต่ว่าในขณะที่กำลังเห็น สติจะเกิดระลึกก็ได้ และสติเองก็ดับ และสติจะเกิดอีกก็ได้ หรือจะไม่เกิดอีกก็ได้ เป็นปกติ

ข้อสำคัญ คือ ความรู้ แต่ไม่ใช่ความจงใจที่พยายามจะรู้เป็นคำๆ แต่ถ้าความจงใจอย่างนั้นเกิดขึ้น ก็เป็นสภาพธรรมที่บังคับบัญชาไม่ได้ เพราะฉะนั้น สติจะต้องรู้ในลักษณะอาการที่จงใจว่า แม้ลักษณะที่จงใจนั้นก็เป็นสภาพนามธรรมชนิดหนึ่ง

ข้อสำคัญคือต้องรู้ว่า ทุกอย่างที่เกิดปรากฏ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เพียงเพราะพระผู้มีพระภาคทรงแสดงอย่างนี้ แต่ต้องเป็นเพราะสติ สัทธา วิริยะ สมาธิ ปัญญาของบุคคลนั้นเองเกิดขึ้น ระลึกอย่างนั้น จนกระทั่งเป็นอินทรีย์ที่แก่กล้า สามารถรู้ชัดในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตนของนามธรรมและรูปธรรมในขณะนี้ได้

. ในขณะที่อ่าน ถ้าขณะนั้นไม่หยุดอ่านจะรู้ได้อย่างไร เพราะจิตเกิดขึ้นได้ทีละขณะ ในขณะที่อ่านแล้วรู้ความหมาย จิตก็ตรึกไป และรู้ว่า จิตตรึกไป ก็เป็นจิตอีกดวงหนึ่ง ถ้าไม่หยุดอ่าน ก็จะรู้ทั้งความหมายในข้อความและนามธรรมที่กำลังตรึก จะรู้ได้อย่างไร

สุ. ท่านผู้ฟังสวดมนต์อยู่เสมอ คงจะสังเกตได้ว่า ในขณะที่กำลังสวดมนต์ เคยคิดเรื่องอะไรบ้างหรือเปล่า ซึ่งทำไมรวดเร็วนัก นั่นคือความรวดเร็วของอวิชชา ทำไมอวิชชาจึงรวดเร็วได้อย่างนั้น และถ้าเป็นวิชชาซึ่งได้อบรมแล้ว จะรวดเร็วอย่างนั้นบ้างไม่ได้หรือ ขอให้เปรียบเทียบความรวดเร็วของอวิชชา ในขณะนี้ ไม่ใช่มีแต่เห็น ได้ยินด้วย ทำไมรวดเร็วอย่างนี้ได้

เพราะฉะนั้น ถ้าสติจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ต่างกัน เพราะในขณะที่เห็นและได้ยิน ก็มีการคิดนึกด้วย บางท่านอาจจะคิดนึกไกล บางท่านก็กำลังสวดมนต์ ซึ่งทุกท่านตั้งใจที่จะสวดอย่างดีให้จบ แต่แม้กระนั้นก็ยังนึกถึงเรื่องอื่นได้ โดยสภาพความเป็นอนัตตา ด้วยความรวดเร็วของอวิชชา ฉันใด สติที่ได้อบรมแล้ว ปัญญาที่ได้อบรมแล้ว ก็สามารถจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะที่กำลังสวดมนต์ แทนที่จะคิดเรื่องอื่น แทนที่จะคิดนึกเป็นเรื่องราว เป็นเรื่องอื่นต่างๆ ก็เป็นสติที่กำลังระลึกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นได้

สำหรับการอ่านหนังสือ ก็ไม่ผิดจากการที่เห็นและคิดนึกในขณะนี้ เพียงแต่ว่าสิ่งที่ปรากฏในขณะนี้ไม่มีลักษณะสัณฐานเป็นตัวหนังสือ แต่เป็นคนนั้นคนนี้ และมีเรื่องของคนนั้นคนนี้แต่ละคน ฉันใด การอ่านหนังสือ ก็ฉันนั้น

เพราะฉะนั้น ทางตา เมื่อระลึก ก็จะต้องศึกษา คือ พิจารณาจนกว่าจะเป็นความรู้จริงๆ ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ต่างกัน ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จะไม่มีวิธีอื่นเลย ซึ่งนี่คือการอบรมเจริญ อินทรีย์ ๕

. ขณะที่เรามีความประสงค์จะฟังเพลง สติระลึกรู้อยู่เสมอว่า นี่เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ทั้งๆ ที่ระลึกรู้ เราก็เปิดวิทยุฟัง ขณะที่ฟังเราก็ระลึกรู้ว่า นี่ก็เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง และฟังไปจนจบ อย่างนี้จะเรียกว่า เป็นการเจริญสติปัฏฐานหรือเปล่า

สุ. เพราะฉะนั้น สติจะระลึกบ้างในชีวิตประจำวันตามปกติ แต่ว่ายังไม่ใช่การรู้ชัดในลักษณะที่แยกขาดจากกันของนามธรรมแต่ละชนิดและรูปธรรมแต่ละชนิด

. ถ้าตามระลึกรู้ไปเรื่อยๆ จะยังละไม่ได้ เสียงเพลงนี้ …

สุ. ยังละไม่ได้ในตอนต้น เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เป็นความจริงด้วย เพราะฉะนั้น พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ประโยชน์สูงสุด คือ ให้รู้จักตัวเองถูกต้องตรงตามความเป็นจริง เพราะการละไม่ใช่ละโดยชื่อ โดยรู้ว่านี่เป็นนามธรรมและจะละ หรือว่านี่ชื่อว่ารูปธรรมและจะละ แต่ต้องเป็นการละโดยการรู้ในสิ่งซึ่งไม่เคยรู้ทางตาว่า สภาพรู้ทางตา ลักษณะรู้ต่างกับสิ่งที่ปรากฏ จนกว่าสภาพธรรมที่กำลังเห็นในขณะนี้จะเป็นอนัตตา คือ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นเพียงสภาพธรรมแท้ๆ

. แต่ในใจเราก็รู้ว่า เราชอบฟัง นี่เป็นเพลงที่เราชอบฟัง และรู้ว่านั่นเป็นสภาพของนามธรรมชนิดหนึ่ง

สุ. ใช่ แต่แสดงให้เห็นว่า ยังไม่รู้อีกหลายอย่าง ใช่ไหม ยังไม่ละเอียดพอ เพราะว่าชีวิตในวันหนึ่งๆ ไม่ใช่มีแต่เฉพาะช่วงในขณะนั้นที่สติจะระลึกตาม แม้ในขณะอื่นอีกในชีวิตประจำวัน ก็จะต้องอบรมเจริญจนกระทั่งสติสามารถระลึกได้ เนืองๆ บ่อยๆ และเมื่อนั้นผู้นั้นจะรู้ว่า ได้เจริญอบรมอินทรีย์แล้วมากน้อยแค่ไหน ฉะนั้น ชีวิตปัจจุบันเป็นเครื่องวัดการเจริญอินทรีย์ของแต่ละบุคคล

ไม่มีใครสามารถจะเร่งรัดสติและปัญญาได้ เมื่อเทียบกับขณะที่หลงลืมสติ ในชีวิตประจำวัน แต่ให้ทราบว่า เมื่อเข้าใจพระธรรมถูก ขณะที่สติระลึกเป็นสัมมาสติ เป็นหนทางที่จะทำให้ประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ ในวันหนึ่ง

อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ปุณณิยสูตร ข้อ ๘๓ มีข้อความที่พระสาวก ทูลถามพระผู้มีพระภาค แม้ในเรื่องที่สภาพธรรมไม่ปรากฏชัด ว่าเป็นเพราะเหตุใด

ข้อความมีว่า

ครั้งนั้นแล ท่านพระปุณณิยะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุ เป็นปัจจัย เครื่องให้พระธรรมเทศนาแจ่มแจ้งกะพระตถาคตในกาลบางคราว ไม่แจ่มแจ้งในกาลบางคราว

แม้ในสมัยโน้นหรือในสมัยนี้ก็เหมือนกัน

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ปุณณิยะ ภิกษุมีศรัทธาแต่ไม่เข้าไปหา พระธรรมเทศนาจึงไม่แจ่มแจ้งกะพระตถาคตก่อน แต่ในกาลใด ภิกษุมีศรัทธาและเข้าไปหา ในกาลนั้นพระธรรมเทศนาจึงจะแจ่มแจ้งกะพระตถาคต

เป็นความจริงไหม สำหรับพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป มักจะเป็นผู้ที่ดูมีศรัทธาพอสมควร เพราะนับถือในพระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้ที่เคารพ นับถือในพระปัญญาคุณ แต่ยังไม่สนใจที่จะเข้าใกล้ที่จะฟังพระธรรม หรือศึกษา พระธรรม เพราะฉะนั้น ทุกท่านก็ตรวจสอบกับตนเองได้ว่า เป็นผู้ที่มีศรัทธาแล้ว และเข้าไปหาด้วย คือ เข้าไปฟังพระธรรมด้วยหรือเปล่า

ข้อความต่อไปมีว่า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ปุณณิยะ ภิกษุมีศรัทธาและเข้าไปหา แต่ไม่เข้านั่งใกล้ ... เข้านั่งใกล้ แต่ไม่สอบถาม ... สอบถาม แต่ไม่เงี่ยโสตฟังธรรม ... เงี่ยโสตลงฟังธรรม แต่ฟังแล้วไม่ทรงจำธรรมไว้ ... ฟังแล้วทรงจำธรรมไว้ แต่ไม่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้

นี่คือชีวิตจริงๆ ของแต่ละคน กว่าจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ต้องผ่านชีวิตประจำวันแต่ละภพแต่ละชาติเพื่อเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ได้ทำตามเหตุที่สมควรแก่การที่พระธรรมจะแจ่มแจ้งหรือไม่

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

... พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ แต่ไม่เป็นผู้รู้อรรถรู้ธรรม แล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ...

นี่คือความจริง คือ สติปัฏฐานในชีวิตประจำวัน บางท่านสนใจศึกษาจริงๆ อ่านตำรา อรรถกถา ฎีกา และพระไตรปิฎก แต่ไม่เป็นผู้รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม คือ สติปัฏฐาน ยังไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพนามธรรมและรูปธรรมบ่อยๆ เนืองๆ ซึ่งความจริงเป็นอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น สำหรับการเป็นผู้ที่เริ่มต้น จนกว่าจะถึงการเป็นผู้ที่รู้แจ้ง

ข้อความต่อไป ท่านผู้ฟังจะเห็นชีวิตประจำวันสำหรับ ผู้ที่รู้อรรถ รู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม คือ ผู้ที่ได้ฟังธรรมแล้ว สติก็ยังเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมด้วย แต่ไม่เป็นผู้มีวาจางาม

เรื่องที่จะละกิเลสมากมาย แต่ไม่ใช่ว่าท่านผู้ฟังอยากที่จะประจักษ์ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมโดยที่ชีวิตตามความเป็นจริงยังมีการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลอยู่ เพราะฉะนั้น ชีวิตประจำวันจริงๆ จึงเต็มไปด้วยกิเลสต่างๆ แต่สำหรับผู้ที่อบรมเจริญอินทรีย์แล้ว เป็นผู้ที่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

ข้อความต่อไป

เจรจาถ้อยคำไพเราะประกอบด้วยวาจาของชาวเมือง สละสลวย ไม่หยาบคาย ให้รู้เนื้อความได้แจ่มแจ้ง ... เป็นผู้มีวาจางาม เจรจาถ้อยคำไพเราะ สละสลวย ไม่หยาบคาย ให้รู้เนื้อความได้แจ่มแจ้ง แต่ไม่เป็นผู้ชี้แจงเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ร่าเริง พระธรรมเทศนาจึงไม่แจ่มแจ้งกะ พระตถาคตก่อน

ดูกร ปุณณิยะ แต่ในกาลใด ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา เข้าไปหา เข้านั่งใกล้ สอบถาม เงี่ยโสตลงฟังธรรม ฟังแล้วทรงจำธรรมไว้ พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ รู้อรรถ รู้ธรรม แล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม มีวาจางาม เจรจาถ้อยคำไพเราะ สละสลวย ไม่หยาบคาย ให้รู้เนื้อความได้แจ่มแจ้ง เป็นผู้ชี้แจงเพื่อนพรหมจรรย์ให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ร่าเริง ในกาลนั้น พระธรรมเทศนาจึงแจ่มแจ้งกะพระตถาคต

ดูกร ปุณณิยะ พระธรรมเทศนาประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้แล จึง แจ่มแจ้งกะพระตถาคตโดยส่วนเดียว ฯ

จบ สูตรที่ ๓

เปิด  232
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565