แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1192
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๒๖
ข้อความตอนท้ายที่ท่านพระสารีบุตรกล่าวถึงปัญญินทรีย์ว่า อริยสาวกนั้นแล พยายามอย่างนี้ ครั้นพยายามแล้วระลึกอย่างนี้ ถ้าท่านผู้ฟังกำลังระลึกอยู่ในขณะนี้ ให้ทราบว่า นี่คือข้อปฏิบัติที่ท่านพระสารีบุตรได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
อริยสาวกนั้นแล พยายามอย่างนี้ ครั้นพยายามแล้วระลึกอย่างนี้ ครั้นระลึกแล้วตั้งมั่นอย่างนี้ ครั้นตั้งมั่นแล้วรู้ชัดอย่างนี้ ครั้นรู้ชัดแล้วย่อมเชื่อมั่นอย่างนี้ว่า ธรรมเหล่านี้ก็คือธรรมที่เราเคยได้ฟังมาแล้วนั่นเอง
กำลังฟังเรื่องตา เรื่องหู เรื่องจมูก เรื่องลิ้น เรื่องกาย เพราะฉะนั้น ก็มีความเพียรที่จะระลึก เมื่อระลึกแล้วก็รู้ชัด เมื่อรู้ชัดแล้วก็รู้ว่า ย่อมเชื่อมั่นอย่างนี้ว่า ธรรมเหล่านี้ก็คือธรรมที่เราเคยได้ฟังมาแล้วนั่นเอง ไม่ได้ต่างกันเลยในการที่จะรู้ว่า กำลังเห็นขณะนี้เป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน หรือในการที่จะรู้ว่า กำลังได้ยินเป็นอนัตตา ข้อสำคัญ คือ จะต้องพิจารณาว่า เป็นอนัตตาอย่างไร แล้วน้อมไปพร้อมสติที่จะรู้ลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมตามที่ได้ยินได้ฟังจนกว่าจะรู้ชัดว่า เป็นธรรมที่เราเคยได้ยินได้ฟังมาแล้วนั่นเอง ซึ่งจะไม่พ้นจากทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจในขณะนี้
และท่านผู้ฟังจะทราบว่า ผู้ที่จะถึงพร้อมด้วยอินทรีย์ ๕ คือ ผู้ที่อบรมเจริญสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจนั่นเอง แต่ว่าขณะใดที่ยังไม่พร้อม คือ ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็ชื่อว่า กำลังเป็นผู้ที่เจริญอินทรีย์อยู่
อุปสมสูตร ข้อ ๘๙๐ - ข้อ ๘๙๑ มีข้อความว่า
ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคม พระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่าผู้ถึงพร้อมด้วยอินทรีย์ ผู้ถึงพร้อมด้วยอินทรีย์ ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าใดหนอ ภิกษุจึงชื่อว่า เป็นผู้พร้อมด้วยอินทรีย์
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ อันให้ความสงบ ให้ถึงความตรัสรู้
ดูกร ภิกษุ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล ภิกษุจึงชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยอินทรีย์
จบ สูตรที่ ๙
ถ. อินทรีย์ ๕ ถ้าข้อใดข้อหนึ่งยิ่งหย่อนไป เช่น ปัญญาอ่อนไปสักนิด สติจะเกิดได้ไหม
สุ. ขณะนั้นจะไม่ใช่สติปัฏฐาน ต้องอาศัยการฟังการพิจารณาจนกระทั่งเป็นความเข้าใจ เช่น บางท่านอาจจะสงสัยว่า สติมีลักษณะอย่างไร ก็จะต้องฟังและพิจารณาจนกระทั่งเข้าใจในเรื่องลักษณะของสัมมาสติ จึงจะเป็นปัจจัยให้สติที่เป็น สตินทรีย์ พร้อมทั้งวิริยินทรีย์ สัทธินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์เกิด เพราะว่าอินทรีย์ทั้ง ๕ ต้องกระทำกิจพร้อมกันเพื่อการตรัสรู้ เพื่อการรู้แจ้งสภาพธรรม เพราะฉะนั้น ต้องเป็นในขณะที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
ถ. ต้องเสมอกันทั้ง ๕ ใช่ไหม
สุ. ใช่ เพราะว่าต้องกระทำกิจเดียวกัน
แม้พระผู้มีพระภาคเอง ใน สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ฉฬินทริยวรรค ที่ ๓ ปุนัพภวสูตร มีข้อความที่ทรงแสดงว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรายังไม่รู้ทั่วถึงความเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งอินทรีย์ ๕ ประการนี้ ตามความเป็นจริงเพียงใด เราก็ยังไม่ปฏิญาณตนว่า ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ เพียงนั้น
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใด เรารู้ทั่วถึงความเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งอินทรีย์ ๕ ประการนี้ ตามความเป็นจริง เมื่อนั้น เราจึงปฏิญาณตนว่า ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ก็แล ญาณทัสสนะได้บังเกิดขึ้นแก่เราว่า วิมุตติของเราไม่กำเริบ ชาตินี้เป็นชาติมีในที่สุด บัดนี้ ความเกิดอีกไม่มี
แสดงให้เห็นว่า ผู้นั้นจะต้องเป็นผู้ที่รู้ชัดตามความเป็นจริง ในขณะที่สติเกิด ในขณะที่หลงลืมสติ และ รู้ทั่วถึงความเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งอินทรีย์ ๕ ประการนี้
เวลาที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ยังไม่ได้ละการยึดถือ สภาพธรรมว่าเป็นเรา ใช่ไหม เพราะฉะนั้น จึงอยากจะมีสติมากๆ เพราะว่ายังไม่ประจักษ์แจ้งในคุณ โทษ ความเกิดและความดับ และทางที่จะสลัดอินทรีย์ ๕ โดยการที่ไม่ยึดถืออินทรีย์ ๕ ว่าเป็นตัวตน หรือเป็นเราด้วย
ซึ่งการอบรมเจริญปัญญาไปเรื่อยๆ ทีละเล็กทีละน้อย จะเป็นการคลายการยึดถือแม้สติ วิริยะ สมาธิ ศรัทธา และปัญญาที่เกิด ว่าเป็นเรา ถ้ายังไม่สลัด หรือ ไม่คลายการยึดถืออินทรีย์ ๕ ว่าเป็นเรา ก็ยังไม่สามารถดับกิเลสได้ แต่จะต้องมาจาก การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง ซึ่งมีมาก ในชีวิตประจำวันในวันหนึ่งๆ
ที่ผ่านมาแล้วทั้งหมดในวันนี้ที่สติไม่ระลึก นั่นแหละเป็นของจริง ซึ่งผู้อบรมเจริญสติวันหนึ่งจะเกิดระลึก สลับจนกระทั่งชินในสภาพที่มีสติและหลงลืมสติว่า แม้ขณะที่มีสติก็เป็นเพียงสภาพธรรมขณะหนึ่ง แม้ขณะที่หลงลืมสติก็เป็นเพียง สภาพธรรมขณะหนึ่ง ที่สำคัญ คือ ปัญญา ที่ค่อยๆ รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ กำลังปรากฏ ไม่ใช่ว่าเพียงสติระลึก แต่ข้อสำคัญ คือ ปัญญา ปัญญินทรีย์ จะต้อง เจริญขึ้น โดยสามารถพิจารณารู้ลักษณะของรูปที่กำลังปรากฏว่า เป็นเพียงรูปไม่ใช่เรา หรือว่าสามารถพิจารณารู้ลักษณะของนามธรรมที่กำลังปรากฏว่า เป็นแต่เพียง สภาพธรรมอย่างหนึ่งที่ไม่ใช่เรา
บางท่านไม่อยากจะระลึกรู้ลักษณะของอกุศลธรรม แต่เวลาที่ระลึกลักษณะของกุศลธรรม ขณะนั้นควรจะเป็นผู้ละเอียดที่จะรู้ทั่วว่า มีความยินดี มีความเกี่ยวข้อง มีความยึดถือกุศลธรรมนั้นว่าเป็นเราหรือเปล่า เพราะว่าเป็นผู้ที่ยินดีจะระลึกรู้ลักษณะของกุศลธรรม แต่ไม่เป็นผู้ที่ยินดีที่จะระลึกได้แม้ลักษณะของอกุศลธรรม ซึ่งเมื่อยังเป็นผู้ที่มีอกุศลธรรมอยู่ ควรอย่างยิ่งที่จะต้องระลึกรู้ลักษณะของอกุศลธรรมนั้นด้วย ไม่ใช่ระลึกได้แต่เฉพาะลักษณะสภาพที่เป็นกุศลธรรมเท่านั้น
เพราะฉะนั้น ข้อความใน สัทธาสูตร ที่ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็วิริยะของอริยสาวกนั้นเป็นวิริยินทรีย์ ด้วยว่าอริยสาวกผู้มีศรัทธา ปรารภความเพียรแล้ว พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเป็นผู้มีสติประกอบด้วยสติ เป็นเครื่องรักษาตนอย่างยิ่ง จักระลึกถึง ตามระลึกถึง กิจที่ทำและคำที่พูดแม้นานได้
ถ้าเคยกระทำอกุศลกรรมมาแล้ว หรือว่าอกุศลจิตเกิดขึ้นแล้ว ถ้าสติระลึกได้ สามารถที่จะรู้ว่าขณะนั้นเป็นอกุศลธรรม และสามารถที่จะระลึกได้ต่อไปแม้ในขณะนั้นว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งกำลังระลึกถึงอกุศลธรรม จะเบา จะสบาย จะละคลายการยึดถือว่าเป็นตัวตนไหม
อกุศลจิตใดๆ ก็ตามที่เคยเกิดขึ้น และผ่านไป สติเคยระลึกไหม หรือว่าขณะที่ระลึกนั้น เป็นอกุศลวิตก ระลึกด้วยความไม่ผ่องใส ระลึกด้วยความเดือดร้อนใจ ในขณะนั้นก็เป็นการระลึกถึงอดีตที่ได้กระทำแล้วด้วยอกุศลจิต แต่ถ้าสติสามารถระลึกได้ และรู้ในลักษณะที่เป็นอกุศล และยังสามารถระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตซึ่งกำลังระลึกถึงอดีตว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ในขณะนั้นย่อมเป็นประโยชน์ที่จะรู้ว่า แม้ขณะนั้นก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แทนความเดือดร้อนใจ
เพราะฉะนั้น มีประโยชน์ทุกอย่าง ถ้าเป็นสติที่ระลึก เพราะว่าเป็นโสภณธรรม ไม่ใช่เป็นอกุศลวิตก
ในวันหนึ่งๆ ใครจะคิดอะไร ที่ไหน อย่างไรก็ตามให้ทราบว่า ขณะที่หลงลืมสติทั้งหมดนั้น เมื่อเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน คือ สติสามารถที่จะเกิดแทรกสลับกับทุกๆ ขณะที่ได้ผ่านมาแล้วด้วย จึงจะเป็นการอบรมเจริญอินทรีย์ ๕ สามารถ รู้ในสภาพธรรมที่เป็นอนัตตาได้ มิฉะนั้นแล้ว ความเป็นตัวตนก็เพิ่มพูนขึ้นทุกภพ ทุกชาติในสังสารวัฏฏ์
ท่านผู้ฟังถามว่า ทำอย่างไรจึงจะรู้ชัดเร็วๆ
ตลอดเวลา หลงลืมสติ และยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ซึ่งในวันหนึ่ง ในภพหนึ่ง ในชาติหนึ่ง จะมีมากกว่าขณะที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น จะเร็วไม่ได้ นอกจากค่อยๆ อบรมเจริญปัญญาเพื่อคลายการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ทีละเล็กทีละน้อย
ถ. ขณะที่อกุศลจิตเกิด จิตย่อมขุ่นมัว อย่างคนมีโทสะ หรือโมหะ โดยมากโทสะรู้สึกจะมาก เพราะจะประทุษร้ายอารมณ์ ซึ่งพวกคณาจารย์เขาว่า ขณะที่จิตเป็นโทสะ น้ำหล่อเลี้ยงจิตจะขุ่นมัวไม่ผ่องใส จึงระลึกถึงสภาวปรมัตถ์ทันทีได้ว่า ไม่ใช่ตัวตน
สุ. ขณะนี้สภาพธรรมอะไรกำลังปรากฏ สติย่อมสามารถจะระลึกได้ เพราะฉะนั้น ถ้าขณะนั้นลักษณะความขุ่นมัวปรากฏ สติก็สามารถระลึกได้ ขณะนี้ ไม่สามารถจะระลึกลักษณะที่ขุ่นมัวได้ เพราะสภาพที่ขุ่นมัวไม่ได้ปรากฏ ถูกไหม แต่ขณะนี้สภาพธรรมใดปรากฏ สภาพธรรมนั้นสติสามารถจะระลึกได้ เพราะสภาพธรรมนั้นกำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ขณะที่กำลังขุ่นมัว สติย่อมระลึกได้ เพราะสภาพที่ ขุ่นมัวกำลังปรากฏ
ถ. หมายความว่า ให้เห็นสภาพที่ขุ่นมัวชัดเจนตอนนั้นเลย ใช่ไหม
สุ. ระลึกรู้ว่า เป็นธรรมอย่างหนึ่ง ลักษณะที่ขุ่นมัวเป็นสภาพธรรมที่มีจริง ไม่อยากระลึกลักษณะที่ขุ่นมัวหรือ
ถ. ก็ระลึก แต่ไม่ชัด
สุ. ทำไมจะต้องชัดเร็วๆ ก็บอกแล้วว่า หลงลืมสติวันนี้ตั้งเท่าไร ซึ่งในขณะที่หลงลืมสติก็ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนเพิ่มขึ้นๆ และถึงเวลาที่สติระลึกนิดหนึ่ง ที่ว่ายังไม่ชัด ก็ถูกแล้ว จะชัดได้อย่างไรในเมื่อหลงลืมสติมาก และยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนมาก จะให้ระลึกทันที ชัดทันทีไม่ได้ เมื่อไม่ได้ก็สบายใจ เพราะว่าเป็นของจริง เป็นของปกติ เป็นของที่ถูกต้องว่ายังชัดไม่ได้ จนกว่าจะระลึกบ่อยๆ เนืองๆ เพิ่มขึ้น แต่ก็ยังดีที่รู้ว่าไม่ชัด ไม่ชอบหรือที่รู้ว่าไม่ชัด
ถ. ผมเคยทำมา ถ้าเจริญสติติดต่อกันเป็นชั่วโมงๆ จิตจะผ่องใสและปัญญาจะปรากฏชัด แต่ถ้าผมระลึกเป็นขณะ ยิ่งเวลามีโทสะ ไม่ได้เรื่องเลย
สุ. นั่นเป็นเครื่องเปรียบเทียบกับที่ว่า เวลาที่ระลึกเป็นชั่วโมงๆ แล้วรู้ชัด แต่เวลาโทสะเกิดไม่ได้เรื่องเลย เป็นการพิสูจน์ธรรมแล้วว่า รู้ชัดจริงหรือเปล่า ถ้าเป็นการรู้ชัดจริงๆ ย่อมคลายการยึดถือสภาพธรรมทุกอย่างที่สติระลึกในขณะนั้นว่าไม่ใช่ตัวตน นี่คือผลของการอบรมเจริญอินทรีย์ ๕ ซึ่งเมื่อได้อบรมเจริญแล้ว มีการค่อยๆ รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเพิ่มขึ้น มากขึ้น ละเอียดขึ้น ขณะใดที่ เป็นความขุ่นเคืองและสติระลึก ขณะนั้นย่อมละคลายการยึดถือความขุ่นเคืองนั้นว่า เป็นตัวตน นั่นคือผลที่ถูกต้อง
แต่ถ้าจะกล่าวว่า เวลาที่ปฏิบัติ สติเกิดหลายชั่วโมง มีความรู้สึกว่าชัดเจน และเวลาที่โทสะเกิดไม่ได้เรื่องเลย นั่นแสดงให้เห็นแล้วว่า ไม่ใช่ผลที่ถูกต้อง ถ้าเป็นการรู้ชัดจริงๆ เพิ่มความรู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมมากขึ้น แม้ขณะที่สติระลึกลักษณะของโทสะ ก็จะต้องคลายการยึดถือลักษณะที่ขุ่นเคืองนั้นว่าเป็นตัวตนได้
เพราะฉะนั้น การรู้ชัดเรื่องสติเป็นชั่วโมงๆ นั้นจะมีประโยชน์อะไร ในเมื่อเวลาที่เป็นปกติธรรมดา เวลาที่ขุ่นเคืองปรากฏ ก็ไม่ได้เรื่อง
ถ. จิตเขาเปรียบว่าเหมือนน้ำ น้ำที่กำลังขุ่นอยู่จะให้ใสทันทีไม่ได้ จะต้องให้หยุดนิ่งก่อน จิตจึงจะผ่องใส สามารถเห็นสิ่งสกปรก เขาเปรียบเทียบว่าอย่างนั้น ผมจึงมีความสงสัย
สุ. เป็นข้อความที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง หรือว่าทรงแสดงการศึกษาโดยลำดับ เริ่มตั้งแต่มีศรัทธาที่จะฟัง
ถ. ก็มีศรัทธาที่จะฟัง การปฏิบัติ ท่านก็บอกว่า อกุศลให้ละเสีย เจริญกุศลให้มากๆ ท่านก็บอกอย่างนี้
สุ. ท่านผู้ฟังละอกุศลอะไร และเจริญกุศลอะไรมากๆ
ถ. เจริญให้เห็นสภาวธรรมชาติ
สุ. เจริญอะไร และละอะไร
ถ. ละสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
สุ. ละอย่างไร
ถ. ถ้าปัญญาพอ ปรากฏชัดก็ละได้
สุ. แต่ละอย่างไร
ถ. ถ้าจิตผ่องใส อะไรเกิดขึ้นก็เห็น
สุ. จิตผ่องใสเป็นอย่างไร ทำอย่างไรจิตจึงผ่องใส
ถ. ก็เจริญกุศลมากๆ
สุ. เจริญกุศลมากๆ เจริญอย่างไร
ถ. เจริญสติ ให้มีสติมากๆ
สุ. ขณะนี้ทางตาระลึกหรือเปล่า
ถ. ขณะนี้ไม่ทันแล้ว
สุ. ก็ไม่ได้มากๆ แล้ว อย่าคิดว่ามากแล้ว รู้แล้ว ชัดแล้ว วิธีพิสูจน์ คือ ขณะนี้ทางตาระลึกหรือเปล่า และสามารถน้อมรู้ลักษณะของสภาพรู้ อาการรู้ ซึ่งกำลังเพียงเห็นทางตาเท่านั้นเองหรือเปล่า
ถ. ถ้าจิตเราระลึกเดี๋ยวนี้ พอเห็นทีไรก็เป็นคน สัตว์ บุคคลทุกที ความหลงก็เกิด
สุ. และถ้าสติไม่ระลึกเดี๋ยวนี้ จะระลึกเมื่อไร ในเมื่อขณะก่อนก็ผ่านไปแล้ว ขณะต่อไปก็ยังไม่เกิด มีแต่ขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ที่เป็นของจริง ถ้าไม่ระลึกในขณะนี้จะระลึกเมื่อไร
ถ. ระลึกแล้ว เห็นเป็นสัตว์ เป็นบุคคล ก็หลงทุกที
สุ. เพราะฉะนั้น จึงต้องระลึกอีกบ่อยๆ เนืองๆ เอาคำว่า บ่อยๆ เนืองๆ หรือความเพียรไปไว้ที่ไหน
ถ. ถ้าเราเห็นเป็นสัตว์ เป็นบุคคล จะระลึกอย่างไร
สุ. เพราะฉะนั้น ที่ไปมีสติ ๒ – ๓ ชั่วโมงชัดเจน ก็ทิ้งไปได้ เพราะขณะนี้ ไม่ทราบว่าจะระลึกทางตาอย่างไร ถูกไหม
ถ. ของเก่าดับไปนานแล้ว หมายความว่า มาพูดให้ฟัง
สุ. เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจ ต้องฟังและพิจารณาด้วยดี ต้องเปรียบเทียบลักษณะของสัมมาสติ ต้องอาศัยการฟังและความเข้าใจว่า ขณะที่หลงลืมสติต่างกับขณะที่มีสติอย่างไร นี่เป็นขั้นต้น ไม่ใช่เข้าใจว่า มีสติ ๒ – ๓ ชั่วโมง รู้สภาพธรรมชัดเจน แต่ว่าทางตาในขณะนี้ไม่ระลึกเลย ไม่สามารถจะระลึกได้
ถ. ในขณะที่มีสติ ไม่ใช่หมายความว่า เริ่มต้นจะชัดไปเลย แต่ต้องเจริญไปทีละนิดทีละหน่อย และมากขึ้นๆ ในชั่วโมงหรือสองชั่วโมงนั้น ปัญญาจะมีเกิดบ้างสองสามขณะ ที่ว่าปรากฏชัด ไม่ได้หมายความว่า ปรากฏชัดเป็นชั่วโมง
สุ. หนึ่งชั่วโมง สองชั่วโมง ขณะนั้นปรากฏชัดบ้าง ก็ผ่านไปแล้ว ขณะนี้ เป็นเครื่องวัด เครื่องสอบ เครื่องพิสูจน์ คือ ทางตาระลึกบ้างหรือเปล่า
ถ. ผมฟังอาจารย์ ผมก็ระลึกตามอาจารย์ทุกครั้ง ระลึก แต่ก็หลงอยู่นั่นเอง ขณะที่หลงจะให้เจริญอย่างไร หรือว่าให้ผ่านไปเลย
สุ. ขณะที่มีสติต่างกับขณะที่หลงลืมสติอย่างไร
ถ. ต่างกันมาก
สุ. ต่างกันอย่างไร
ถ. ถ้าไม่มีสติ ก็หลง
สุ. ไม่มีสติก็หลง ถูกแล้ว แต่ขณะที่มีสตินั้นคืออย่างไร
ถ. ขณะที่มีสติ ก็พยายามจะระลึกว่า เสียงปรากฏ เชื่อตามที่ท่านสอนว่า เป็นเสียง เป็นรูป แต่ระลึกอย่างไรก็ไม่ปรากฏชัด
สุ. ขออนุโมทนาที่รู้ว่า ยังไม่ปรากฏชัด เพราะการที่จะรู้ว่า เสียงไม่ใช่ตัวตน สภาพที่ได้ยินเป็นสภาพรู้ ต้องอาศัยการระลึกบ่อยๆ เนืองๆ ไม่ทราบว่า ในปัจจุบันชาตินี้จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายลงแค่ไหน แต่ว่าผู้ที่มีสติ เป็นผู้ที่รู้ตามความเป็นจริง
การเป็นผู้ที่มีปกติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม จะทำให้เป็นผู้รู้ตรงตามความเป็นจริงว่า ขณะนั้นสติเกิดหรือไม่เกิด ระลึกรู้ลักษณะของรูปธรรมหรือนามธรรม ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ ทีละลักษณะ