แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1194

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๒๖ ต่อสนทนาธรรมที่จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ ๒ - ๔ ธ.ค. พ.ศ. ๒๕๒๕


. ที่ผมพูดว่าถูก ไม่ใช่หมายความว่า ปฏิบัติอย่างไรก็ถูกหมด แต่หมายความว่า อุปนิสัยของบางคนอาจต้องสงบก่อน จึงจะมีสติปัญญาพิจารณาเห็นธรรมได้ชัดเจน ไม่ใช่ว่าปฏิบัติอย่างไรก็ถูกหมด

สุ. ข้อปฏิบัติผิดมีไหม

. มี

สุ. จะบอกได้ไหม หรือไม่สมควรที่จะบอกก็ไม่เป็นไร แต่ว่ามีใช่ไหม

. ก็มี เพราะถ้าศึกษายังไม่เข้าใจ มีความสงสัย ก็ยังมีความเห็นผิดอยู่ นี่ขั้นจินตาญาณ ทีนี้ขั้นปฏิบัติต่อไป ถ้าปัญญายังเห็นไม่ชัดอีก ก็ยังเห็นผิดอยู่ ติดอยู่ ติดปัญญา หรือติดใจอยู่

สุ. ขออนุโมทนาที่ไม่ใช่ข้อปฏิบัติทุกอย่างถูก

. ไม่ได้หมายความว่าอย่างนั้น

สุ. อีกข้อหนึ่งที่ท่านผู้ฟังถามเรื่องเพศบรรพชิตและคฤหัสถ์ว่า ผู้ใดเจริญ สติปัฏฐานจะมีโอกาสบรรลุมรรคผลมากกว่ากัน

เป็นคำถามที่แสดงถึงการหวังผล มากกว่าการที่จะพิจารณาอัธยาศัยที่แท้จริงของตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องละความหวังในผลที่ยังไม่เกิด โดยการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ทันที ไม่ว่าจะอยู่ในเพศใด มิฉะนั้นแล้วจะรอโอกาส คอยวันเวลาที่จะเป็นเพศบรรพชิต โดยที่อัธยาศัยจริงๆ ก็ยังคงเป็นคฤหัสถ์อยู่ ยังไม่ได้บวช ยังไม่สามารถที่จะสละรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะได้

และข้อที่น่าพิจารณา คือ เพราะเหตุใดพระอริยบุคคลจึงมีทั้งผู้ที่เป็นคฤหัสถ์และบรรพชิต ไม่ใช่มีแต่บรรพชิตเท่านั้น เช่น ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี วิสาขามหาอุบาสิกา พระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าสิริสุทโธทนะ และอุบาสกอุบาสิกาอื่นๆ อีกมาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ไม่จำเป็น หรือไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นบรรพชิตจึงจะบรรลุมรรคผลได้

เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ ท่านผู้ฟังกำลังเป็นเพศใดก็ตาม ถ้าเป็นผู้มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ย่อมสามารถรู้อัธยาศัยของตนเองจริงๆ ว่า เป็นผู้ที่มีความสันโดษพอที่จะสละรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ สละความยินดีในเงินและทอง ในเกียรติยศ ในลาภ ในสักการะ ชื่อเสียง บริวารได้ จึงจะสามารถรักษาศีลใน เพศบรรพชิตและอบรมเจริญสติปัฏฐานในเพศบรรพชิตได้

ไม่ใช่เพียงคิดถึงผล ต้องการผล หวังผล แต่ต้องรู้อัธยาศัยของตนเองจริงๆ ว่า สามารถที่จะมีความสันโดษอย่างนั้นได้ไหม เพราะแม้ในสิกขาบทของสามเณรซึ่งยัง ไม่ถึงขั้นพระภิกษุ ก็ยังต้องเป็นผู้ตรงต่อตนเอง คือ ต้องพิจารณาว่า เป็นผู้ที่สันโดษพอที่จะไม่ยินดีจริงๆ ในเงินและทอง ไม่ยินดีในเงินและทองจริงๆ หรือเปล่า ต้องพร้อมที่จะพิจารณาตนเองว่า สามารถที่จะสละรูป เสียง กลิ่น รส ในเพศของคฤหัสถ์ได้ไหม

ท่านผู้ฟังคงจะไม่ทราบว่า ที่ดิฉันไม่สนับสนุนให้ผู้หนึ่งผู้ใดรีบร้อนบวช แต่ให้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทันทีในขณะนี้ ก็เพื่อให้ละความหวัง ซึ่งเป็นโลภะ แทนที่จะหวังและรอไปในการเจริญสติปัฏฐาน ก็ให้เป็นผู้ที่มีปกติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทันที เพื่อให้รู้อัธยาศัยของตนเองตามความเป็นจริง เพราะการสะสมของคฤหัสถ์ที่ยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในเงินและทอง หรือว่าในเกียรติยศบริวาร ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะละได้ง่ายๆ

เรื่องการละความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ต้องเป็น พระอริยบุคคลขั้นพระอนาคามี ไม่ใช่ขั้นพระโสดาบัน ไม่ใช่ขั้นพระสกทาคามี และไม่ใช่ขั้นปุถุชน ซึ่งการที่บุคคลใดมีกุศลศรัทธาที่จะสละเกียรติยศหรือบริวารในเพศของคฤหัสถ์ลงบ้าง ไม่ใช่สิ่งซึ่งจะกระทำได้โดยง่ายนัก แต่วิถีชีวิตของแต่ละท่านก็ต่างกันไปตามเหตุตามปัจจัย เพราะฉะนั้น เพื่อจะแสดงให้เห็นอัธยาศัยต่างๆ กัน โดยการสนทนาระหว่างผู้ที่อบรมเจริญอินทรีย์ ๕ ในสมัยนี้ จะขอตัดตอนการสนทนาธรรม กับท่านผู้ฟังที่จังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ ๒ – ๔ ธ.ค. พ.ศ. ๒๕๒๕ ให้ท่านผู้ฟังได้ รับฟัง เพื่อที่จะได้พิจารณาสภาพธรรมช่วงหนึ่งของสังสารวัฏฏ์ว่า กว่าที่ปัญญาจะเจริญขึ้นถึงขั้นรู้แจ้งอริยสัจธรรมในวันหนึ่งข้างหน้า ซึ่งไม่ทราบว่าจะเป็นชาติหนึ่ง ชาติใด การสนทนาธรรมระหว่างท่านผู้ที่กำลังเจริญอินทรีย์นี้ จะแสดงให้เห็นถึงอัธยาศัยที่สะสมมาต่างๆ กัน ซึ่งอีกไม่นาน ไม่ถึง ๕๐ ปี หรือไม่ถึง ๑๐๐ ปี ผู้ที่กำลังฟังข้อความนี้ หรือว่ากำลังสนทนาในขณะนี้ ก็คงจะจากโลกนี้ไปแล้ว เพราะฉะนั้น ผู้ที่ได้ฟังข้อความนี้ในกาลข้างหน้า ก็อาจจะเคยเป็นบุคคลหนึ่งบุคคลใดที่กำลังสนทนาธรรมกันในขณะนี้ก็ได้

. มีนามธรรมบางอย่างเรารู้ง่าย เรารู้ชัด แต่บางอย่างทำไมรู้ได้ยาก เช่น ทางจักขุทวาร การเห็นกับความคิดนึกเป็นนามธรรมเช่นเดียวกัน แต่การเห็นผมรู้สึกว่า เข้าใจยาก และรู้สึกว่ายังไม่รู้ลักษณะ แต่การคิดนึกต้องเป็นนามธรรมอย่างแน่นอน จะเป็นเพราะเหตุอะไร จะเป็นไปได้ไหมว่า เห็นนี่ ยาก

สุ. เป็นเพราะเราเคยทราบว่า ทางตา เห็นเป็นทวารหนึ่ง ทางหูอีกทวารหนึ่ง มีลักษณะที่ปรากฏคนละอย่าง ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แต่พอถึงทางใจที่ คิดนึก เราก็รู้ว่าไม่ต้องอาศัยตาเห็น เราก็ยังคิดนึกได้ เราก็เลยรู้ว่า ต้องเป็นนามธรรมแน่ๆ ที่กำลังคิดนึก เพราะต่างจากทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายใช่ไหม ก็เลยคิดว่า นี่แหละนามล้วนๆ

. จะเป็นการรู้ชัดได้ไหม

สุ. ยัง อยู่ในขั้นเข้าใจ

. เพราะฉะนั้น ภาวนาปัญญาไม่มีโอกาสเกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ใช่ไหม

สุ. ภาวนาปัญญา คือ ปัญญาที่เกิดจากการอบรม ไม่ใช่เกิดปุ๊บปั๊บทันที เหมือนเราจะตัดต้นไม้ ครั้งเดียวนี่ยังไม่ขาด ต้องอาศัยค่อยๆ ตัด ทีละน้อยๆ จนกว่าจะถึงตอนที่ขาด เพราะฉะนั้น ตอนที่ขาดต้องอาศัยมาจากครั้งที่ ๑ ครั้ง ๒ ที่ ๓ ฉันใด ภาวนา คือ การค่อยๆ อบรม จนกว่าปัญญาอีกขั้นหนึ่งจะเกิด จนกว่าปัญญาขั้นต่อไปอีกจะเกิด ซึ่งปัญญานี้เจริญได้ เติบโตได้แน่นอน แต่ว่าโตยาก โตช้า ต้องอาศัยความเข้าใจก่อน

เพราะฉะนั้น ดิฉันไม่ค่อยห่วงเรื่องสติที่จะมีคนปรารภว่า สติไม่ค่อยเกิด สติเกิดน้อย เพราะถ้าความเข้าใจเพิ่มขึ้นอีกๆ ย่อมเป็นปัจจัยปรุงแต่งให้สติระลึกถูกตรงตามความเป็นจริง แต่ถ้าความเข้าใจนิดเดียวและพยายามให้สติเกิดมากๆ สติจะไประลึกที่ไหน ในเมื่อไม่มีความเข้าใจที่เป็นพื้นฐานที่ถูกต้อง ก็เสียเวลาเปล่าๆ และจะยิ่งเห็นความเป็นอนัตตาของสติ ถ้ามีความเข้าใจมากขึ้นๆ เพราะฉะนั้น ถ้าสติระลึก ก็ตรงกับที่เข้าใจ

สติเป็นอนัตตา ถ้าเกิดน้อย แต่มีความเข้าใจมาก ก็เหมือนกับคนที่มีเครื่องปรุงมากๆ พร้อมที่จะปรุงให้มากเท่าไรก็ได้ แต่ถ้ามีเครื่องปรุงนิดเดียว จะทำงานใหญ่ ก็ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้

. ที่อาจารย์กล่าวว่า ขณะที่มีสติ รู้นามธรรมและรูปธรรม อาจารย์มักจะกล่าวว่า ต้องละด้วย การละการคลายจะเกิดขึ้นนี่ ...

สุ. รู้นิดเดียว จนไม่รู้สึก เหมือนจับด้ามมีด จะบอกว่าไม่ละไม่คลาย ก็ไม่ได้ แต่ว่าน้อยจนกระทั่งไม่ปรากฏ ซึ่งก็ดูเหมือนว่า ไม่ได้ละอะไร ไม่ได้คลายอะไร อย่างพอจับด้ามมีดที มาดูแล้ว ยังไม่สึก จับตั้ง ๑๐ วัน ก็ยังไม่สึก แต่ต้องเป็นเหตุ ที่จะให้เกิดการสึกได้

. คือ เจ้าตัวปัญญานั่นเอง

สุ. ใช่ ต้องเพิ่มขึ้นทีละนิดเดียว

ผู้ฟัง ปัญญามีหน้าที่ละอย่างเดียว เกิดขึ้นนิดเดียว และละนิดเดียว คือ ละความไม่รู้ ต้องเป็นตามลำดับขั้น แต่เราไม่รู้ว่า ลักษณะของนามธรรมเป็นอย่างไร ที่ว่านามธรรมเป็นธาตุรู้ ต้องพิจารณาทีละขั้น ถึงแม้จะไม่ชัดแต่ก็เชื่อว่า ต้องละ และละโดยที่เราไม่รู้สึกตัว

. เรื่องการพิจารณานามรูป ถ้าพูดถึงขั้นนี้ เรียนตรงๆ ว่า ผมมีปัญญาเพียงแค่ว่า เกิดทีละทวารผมรู้สึกจะเข้าใจ และก็เห็นตามลักษณะ เกิดทีละทวาร สังเกตเห็นได้ชัด แต่ละทวารไม่ปะปนกัน จะถือว่า เป็นปัญญาไหม

สุ. เป็นปัญญาขั้นเข้าใจถูก

ถ. ก็ยังเป็นขั้นเข้าใจ ใช่ไหม

สุ. เข้าใจถูก

. แต่ก็มีการพิจารณาลักษณะ

สุ. ใช่ เหมือนอย่างพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือพระสาวก ตั้งแต่ครั้งที่บำเพ็ญพระบารมีที่กำลังรับฟังพระธรรมจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งพระองค์ใดก็ตาม ก็เหมือนกับที่เรากำลังนั่งฟัง และต่างคนต่างก็สติระลึก แต่ท่านเหล่านั้นไม่ได้เดือดร้อน ไม่ได้เร่งรัดว่า ท่านมาถึงขั้นไหน แต่ท่านก็รู้ว่า ไกล จนกระทั่งท่านบำเพ็ญเพียรกันไปเรื่อยๆ เกิดชาติไหนท่านไม่ห่วงเลยว่า สติของท่านจะต้องให้ถึงญาณนี้ ชาตินี้ หรือชาตินั้น แต่คนยุคนี้ ไม่เท่าไรก็อยากได้ผลกันจริงๆ เหมือนกับว่านานแล้วๆ ต้องถึงขั้นนี้ ต้องถึงขั้นนั้น ซึ่งของท่านเป็นชาติๆ ที่ท่านทำกันไปโดยไม่เดือดร้อน เพราะความที่ท่านทราบจริงๆ ว่า ชีวิตจริงเป็นอย่างไร สติจะต้องระลึกตรงตามความเป็นจริงอย่างนั้น แต่ละชาติได้แค่ไหนก็แค่นั้น และคอยต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะสมบูรณ์

. ขอให้เริ่มถูก

สุ. ใช่ นี่สำคัญที่สุด และถ้าต้องการนิดหนึ่งจะถอยหลัง จะถอยไปนิดหนึ่ง ถอยกลับไปอีกแล้ว

. ต้องการปัญญา

สุ. ต้องการปัญญา หมายความว่า ตัวเราขณะนั้น สติไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิต ตกไปอีกแล้ว ถอยหลังกลับไปอีกแล้ว

. คงจะหลายครั้งที่สติเกิด และมีโลภะเข้ามาเกี่ยวข้องใช่ไหม

สุ. โลภะนี้มาแบบเป็นประจำ สมมติว่า เรากำลังสนทนาธรรม ถ้าสติระลึกจะรู้ว่า ใจที่ผ่องใสปราศจากอกุศลมี นิดเดียวเป็นโลภะแล้ว เดี๋ยวคุยเรื่อง ต้นกล้วยสลับกับเรื่องธรรมไป อะไรอย่างนี้ เพราะฉะนั้น มาเร็วมาก ตามชีวิตจริงๆ ซึ่งสติจะต้องระลึกว่า แม้ขณะที่กำลังพูดธรรม ถ้าเกิดอารมณ์สนุกหรือหัวเราะขึ้นมา กุศลหรืออกุศล คือ ต้องละเอียดจนกระทั่งกวาดอกุศลออกไปจริงๆ ได้ทุกขณะว่า เป็นนามธรรมและรูปธรรมแต่ละอย่างจริงๆ

คนส่วนใหญ่มักจะปล่อยช่วงว่าง คือ ช่วงนี้จะเจริญสติ จะทำสติให้เต็มที่ สักครึ่งวัน และอีกตั้งกี่วันในอาทิตย์หนึ่ง ที่ช่วงว่างนั้นไม่มีทางที่สติจะได้แทรกไปรู้ลักษณะความละเอียดของจิตว่า ลักษณะนั้นเป็นกุศลธรรมหรือเป็นอกุศลธรรม เป็นนามธรรมชนิดไหน แต่ถ้าอบรมเจริญปัญญาอย่างละเอียด และค่อยๆ แทรกอย่างละเอียดตามปกติ นั่นจึงจะเป็นผลที่แท้จริง คือ สามารถที่จะมีสติแทรกอย่างละเอียดในการพูด ในการคุย ในชีวิตประจำวันแท้ๆ จึงจะดับกิเลสได้ แต่ถ้าจะไปกั้นเป็นช่วงๆ อย่างนั้น ไม่มีทาง เพราะว่าขาดความละเอียด

ถ. ดูเหมือนจะมีโลภะ โทสะ เกิดเป็นประจำวัน เราจะมีหลักอะไร หรือมีแนวทางระงับให้น้อยลงไป

สุ. ฟังธรรม ต้องเริ่มจากการฟัง ฟังจริงๆ และวันหนึ่งจะได้ผลเพิ่มขึ้น แต่ไม่ใช่ว่าฟังวันนี้ พรุ่งนี้คอยว่าโทสะจะน้อย จะต้องอดทนจริงที่จะฟังไปๆ จนกระทั่งรู้ตัวเองว่า เพราะการฟังนี้เองทำให้กุศลทุกด้านเจริญขึ้น และอกุศลค่อยๆ ลดลง เพราะว่าธรรมไม่ใช่ยาแก้ปวดศีรษะ ซึ่งยาแก้ปวดศีรษะเม็ดเดียวก็อาจจะหายได้ แต่นี่ต้องนานจนกระทั่งเป็นความเข้าใจธรรมจริงๆ

ข้อสำคัญ คือ เวลาฟังธรรม ไม่ใช่จุดประสงค์อื่นว่า อยากหายปวดศีรษะ หรืออยากให้ร่างกายแข็งแรง หรืออยากให้ไม่มีโทสะ แต่ฟังธรรมเพื่อเข้าใจพระธรรม และปัญญาที่เข้าใจจะทำหน้าที่ของเขา และเมื่อถึงเวลา ความเป็นอนัตตาจะทำให้ปรากฏเองว่า ญาณแต่ละขั้นนั้นเป็นอนัตตาแท้ๆ เพราะฉะนั้น สาวกแต่ละองค์ ไม่ว่าจะเป็นพระภิกษุหรือภิกษุณี การบรรลุของแต่ละท่านจึงต่างกัน เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ แต่ว่าอุบาสกอุบาสิกาไม่มีการกล่าวไว้ เพราะว่าเป็นชีวิตของฆราวาสซึ่งยังมีกิเลสอย่างชาวบ้าน เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีการแสดงว่าจะบรรลุเมื่อไร แต่ให้เห็นความเป็นอนัตตาว่า เมื่อไรก็ได้จริงๆ

บางคนก็กลัวว่า ตอนนี้กิเลสแรง ไม่อยากให้สติเกิด หรือสติไม่ควรจะเกิด เป็นห่วงว่าของไม่ดีๆ อย่างนี้ สติไม่ควรจะเกิด แต่ไม่รู้เลยว่า ของไม่ดีนี้เป็นของจริง ซึ่งสติจะต้องรู้ว่าไม่ใช่ตัวตน จะต้องเห็นคุณของสติว่า แม้ขณะนั้นยังสามารถรู้ได้ว่าเป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา แต่เป็นสภาพธรรมซึ่งเป็นไปตามกำลังของการสะสมของ แต่ละเพศ เพราะฉะนั้น ก็ละเอียดไปจนถึงชีวิตครอบครัว ชีวิตของฆราวาส

ผู้ฟัง จดหมายที่เขียน เข้าใจว่า เขาคงเข้าใจไม่น้อยเหมือนกัน

สุ. ขอให้คุณศุกล พูดถึงเรื่องของคนทอดปลาท่องโก๋

ศุกล ที่กรุงเทพ ใกล้ๆ บ้านผม เขามีอาชีพทอดปลาท่องโก๋ขาย เป็นคนจีน ผมไม่เคยพบเขาในการสนทนาธรรม หรือที่วัดใดวัดหนึ่ง วันนั้นประมาณสักตีห้า ผมเดินไปตลาด เขากำลังเปิดรายการเผยแพร่พระพุทธศาสนาของยานเกราะ ตอนกลับมาเป็นจังหวะที่เขาเปลี่ยนมาฟังรายการแนวทางการเจริญสติปัฏฐานของ อาจารย์สุจินต์ ผมก็หยุดฟัง เท่าที่ผมสังเกตดู รู้สึกว่าเขาฟังกันทั้งครอบครัว ทั้งพ่อ ทั้งแม่ ทั้งลูก ๒ คน เขาฟังกันหมด ก็นึกแปลกใจว่า มีคนที่เราไม่นึกไม่ฝันว่าจะสนใจเรื่องแนวทางเจริญสติปัฏฐาน นึกว่าคนที่ฟังนี่ส่วนน้อยเหลือเกิน แต่ยังดีที่มีคนรู้จักประโยชน์ที่ควรจะหาใส่ตัวเอง เป็นคนจีนแท้ๆ เลย

อีกรายหนึ่ง คนที่ฟังธรรมที่วัดบวร เขานำเทปไปอัดรายการทุกวันอาทิตย์ เมื่อมีโอกาสสนทนากับผม เขาบอกว่า ผมต้องทำหน้าที่อัดเทปไปให้เขาฟังทุกครั้ง ตอนแรกผมไม่สนใจคิดว่าเป็นบุคคลที่ใกล้ชิด แต่เมื่อสนิทกันก็ถาม เขาเล่าว่า เอาไปให้ผู้มีพระคุณ คือ เริ่มจากมีผู้หญิงคนหนึ่งเป็นคนจีน อยู่สามแยก เป็นลูกคนโต ทำการค้าขาย โดยที่ตัวเขาเองไม่มีเวลามาฟังที่วัดบวรเลย แต่เขาเปิดฟังทางวิทยุรายการแนวทางการเจริญสติปัฏฐาน และวันหนึ่งคนที่อัดเทปนี้เขาไปกินอาหารที่ร้านนี้ มีโอกาสได้สนทนา เขาก็ถามผู้หญิงจีนนี้ว่า ฟังธรรมหรือเปล่า มีความรู้ในทาง พุทธศาสนาหรือเปล่า คุยไปคุยมา คนที่อัดเทปก็รู้สึกว่า เขาไม่ค่อยรู้อะไรเสียแล้ว ผู้หญิงจีนนั้นจึงบอกว่า คุณลุง ถ้ามีโอกาสฟังรายการธรรมของสทร. ๒ บางนานะ ออกอากาศ ๒ เวลา ความที่เขาอยากจะรู้ว่าดีอย่างไร จึงฟัง หลังจากฟังแล้ว ผู้หญิงคนนี้ก็ถามว่า คุณลุงฟังแล้วรู้สึกอย่างไรบ้าง ก็บอกว่า ดีเหมือนกัน ผู้หญิงคนนี้ก็พูดว่า คุณลุง เราฟังรายการธรรมนี้ไม่ผิดหวัง ใช้คำนี้เลย ขอให้ฟังตลอดไปเถอะ หลังจากนั้น ก็ให้คนอัดเทปนี้ไปซื้อพระไตรปิฎก ซื้ออรรถกถามาให้ และวิทยุของเขาต้องใช้วิทยุอย่างดีเพื่อที่จะอัดเสียงสำหรับตอนเช้า ๖ โมง และตอนกลางคืน ๓ ทุ่ม สำหรับฟังเองโดยไม่ต้องรบกวนคนอื่น แต่สำหรับรายการวันอาทิตย์ เขามีโอกาสได้ฟังธรรมเท่าๆ กับคนที่ได้ไปฟังด้วยตนเองตลอดมาเลย เพราะมีผู้ที่อัดเทปไปให้ เป็นที่ น่าอนุโมทนาอย่างยิ่ง คือ เกิดจากบุคคลหนึ่งที่ฟังและเห็นประโยชน์ ก็แนะนำให้อีกคนหนึ่ง ปรากฏว่า คนนี้จำเป็นต้องทำหน้าที่อัดเทปไปให้เป็นการตอบแทนบุญคุณว่า เขาเป็นผู้มีพระคุณ ทำให้ผมได้ฟังรายการธรรม

ผมดีใจว่า ธรรมของพระพุทธเจ้าไม่จำกัดว่า จะต้องเป็นคนไทย ไม่แน่นอนเลย ขึ้นอยู่ที่ว่า บุคคลนั้นเขาพร้อมที่จะรับสิ่งที่ดีมีประโยชน์หรือเปล่า เพราะจากตัวอย่างของทั้งสองคนที่ผมได้เรียนให้ทราบ จะเห็นได้ชัดเจนว่า เป็นคนจีนแท้ๆ พ่อจีน แม่จีน มาจากครอบครัวจีนแท้ๆ เพราะฉะนั้น เป็นของธรรมดา ไม่แปลก แต่เมื่อก่อนแปลกมาก เดี๋ยวนี้ไม่แปลก

และผมก็พูดกับหลายๆ คนว่า การฟังธรรมไม่ใช่ว่า คนนี้ฟังเมื่อ ๑๐ ปีมาแล้ว จะรู้มาก ส่วนคนที่ฟังเมื่อเดือนที่แล้ว หรือปีที่แล้ว จะรู้น้อย ผมคิดว่าไม่เป็นอย่างนั้น เพราะทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นเรื่องของบุญก็ดี บารมีก็ดี การสั่งสมมาก็ดี ถ้าบุคคลผู้นั้นมีเหตุมีปัจจัยพร้อม เมื่อโอกาสอำนวยให้ เขาย่อมได้รับประโยชน์เต็มที่ โดยที่ไม่ต้องรอเวลาว่า ต้องไปฟังเมื่อ ๑๐ ปีก่อนจึงจะได้ความรู้เท่านี้

เปิด  249
ปรับปรุง  19 ต.ค. 2566