แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1196

สนทนาธรรมที่วัดป่าแดง จ. เชียงใหม่

วันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๒๕


สุ. ยังมีท่านที่คิดว่า ปกติเจริญสติปัฏฐานไม่ได้ และบางท่านคิดว่า เจริญได้ แต่ไม่บรรลุ ซึ่งความจริงแล้วถ้าไม่เป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐานต่างหากที่จะไม่บรรลุ เพราะว่าเว้นช่วงห่างมาก และของจริงอย่างนี้ก็ไม่สามารถจะรู้ด้วย ถ้าไปรู้เฉพาะในห้อง

พระ ที่เข้าไปในห้อง ส่วนมากคงจะเป็นสมถะ ไปกำหนดจิต ตั้งใจที่จะกำหนดให้รู้เฉพาะอย่าง เป็นต้นว่า ยุบหนอ พองหนอ

สุ. ในอรรถกถากล่าวว่า ความเห็นผิดหรือข้อปฏิบัติผิดที่ไม่ใช่สัมมามรรค เป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ เพราะในขณะนั้นไม่ใช่ศรัทธาในการเข้าใจคำสอน ที่สติสามารถจะระลึกให้ตรงตามที่ได้ทรงแสดงไว้ เพราะฉะนั้น ศรัทธาก็ไม่มี เพราะศรัทธาเป็นโสภณเจตสิกซึ่งต้องเกิดกับกุศล ในเมื่อมีความเข้าใจว่า ไม่ต้องระลึกรู้ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ต้องไปนั่งบังคับให้ระลึกรู้ อย่างเดียว นั่นไม่ใช่ลักษณะของศรัทธาในคำสอนแล้ว และผลที่ตามมา คือ เป็นการผิดปกติ ไม่ทราบว่าท่านได้ฟังบ้างหรือเปล่า เรื่องของการผิดปกติต่างๆ ที่เกิดจากการปฏิบัติแบบนั้นๆ

พระ ได้ฟัง

สุ. ซึ่งโดยมากจะเห็นผลที่ผิดปกติเมื่อเป็นผลใหญ่ปรากฏ แต่ถ้าเราพิจารณาถึงเหตุว่า ผลใหญ่ที่ปรากฏว่าผิดปกติอย่างมากนั้น จะต้องมาจากการ ค่อยๆ ผิดปกติทีละน้อยๆ โดยไม่รู้สึกตัว เพราะฉะนั้น ลักษณะที่ผิดปกติโดย ไม่รู้สึกตัว ต้องเป็นลักษณะของโมหะไม่ใช่ปัญญา และก็ไม่เลิกกัน ผิดปกติที ก็เลิกไปพักหนึ่ง ก็กลับเข้าไปทำใหม่อย่างเก่าอีก และพยายามทำโดยเข้าใจว่า ตัวเองจะทำได้ดีกว่าคราวก่อน แต่ผลก็คืออย่างเดิม

พระ ที่เป็นเช่นนั้น เพราะไม่รู้ทาง

สุ. แน่นอน การอบรมเจริญปัญญาเป็นเรื่องของความเข้าใจถูกตั้งแต่ในขั้นต้นในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ต้องเห็นความสำคัญของปัญญาที่ต้องรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามปกติ ซึ่งจะค่อยๆ เจริญขึ้นตามความเข้าใจ และต้องมาจากการฟังเป็นขั้นต้น ถ้าขาดการฟัง อย่างที่หลายท่านบอกว่า ปฏิบัติเลย เรียนแล้วไม่ได้ เพราะว่าไม่ได้ปฏิบัติ แต่จะปฏิบัติถูกได้อย่างไร จะรู้ได้อย่างไรว่า ที่กำลังปฏิบัตินั้นถูกหรือผิด ปฏิบัติเลยนี่ ปฏิบัติไม่ถูกแน่ๆ แต่เวลาที่มีความเข้าใจถูกทีละเล็กทีละน้อย การปฏิบัติจะผิดไม่ได้ ถ้าความเข้าใจถูกเพิ่มขึ้นๆ

ถ้าใครคิดว่า ไม่ต้องเข้าใจก่อน ปฏิบัติเลย ปัญญาย่อมเจริญไม่ได้ ปัญญา คือ ความเข้าใจถูกในขั้นต้น และค่อยๆ เจริญขึ้น จนกระทั่งเป็นการรู้แจ้งชัดพร้อมสติ

พระ เป็นความจริงอย่างที่โยมอาจารย์พูด คือ ให้เข้าใจถูกต้องก่อน เมื่อปฏิบัติ ก็จะค่อยๆ ถูกต้องไปตามที่เข้าใจ และจะได้สั่งสมความเคยชินที่ถูกต้องขึ้นไปเรื่อยๆ

สุ. ไม่มีทางอื่นเลย ที่ปัญญาจะเจริญโดยไม่อาศัยการฟัง การเรียน การพิจารณาก่อน อยู่ดีๆ ปัญญาจะมาจากไหน ฮวบฮาบมาได้อย่างไร ในเมื่อความเข้าใจขั้นต้นไม่มีเลยว่า สภาพใดเป็นนามธรรม สภาพใดเป็นรูปธรรม แม้ฟังเฉยๆ ก็ยังต้องพิจารณาจนกว่าจะเข้าใจ แม้อย่างนั้นกว่าสติจะค่อยๆ ระลึก แม้แต่สติค่อยๆ ระลึกแล้วกว่าปัญญาจะค่อยๆ รู้อีก เพียงแต่ในคำสองคำว่า นามธรรมและรูปธรรม ซึ่งส่วนมากจะคล่องปากว่า ทางตา เห็นเป็นนาม สีเป็นรูป ทางหู ได้ยินเป็นนาม เสียงเป็นรูป ฟังดูเหมือนกับว่ารู้แล้ว แต่ความจริงเปล่าเลย รู้ชื่อ รู้คำ รู้ตาม แต่ขณะนี้จริงๆ ที่เป็นปัจจุบันธรรม ที่กำลังปรากฏและดับไปอย่างรวดเร็ว ถ้าสติไม่ ค่อยๆ ระลึกบ่อยๆ ศึกษาน้อมไปรู้ตามที่ได้ยินได้ฟังมา จนกระทั่งเป็นความเข้าใจเพิ่มขึ้น ไม่มีทางที่จะรู้เลยว่า นามธรรมล้วนๆ นามธรรมแท้ๆ ที่แยกขาดจริงๆ จากลักษณะของรูปนั้น ต่างกับรูปธรรมอย่างไร เพราะไปเหมาเอาว่า อนัตตาทั้งหมด นามธรรมและรูปธรรมทั้งนั้น ก็จบ

ขณะที่กำลังเข้าห้องเพ่งจ้องอย่างใดอย่างหนึ่ง เข้าใจว่า ไม่ได้ศึกษาลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม มีแต่ความเพียรที่ว่า กำหนดเอาไว้ดีๆ เดี๋ยวจะได้ประจักษ์ความเกิดดับ แต่ตัวปัญญาที่จะรู้ลักษณะของนามธรรม ลักษณะของรูปธรรม ถ้าไม่ได้ฟังจริงๆ ไม่ได้พิจารณาจริงๆ ไม่มีปัจจัยที่จะระลึกในขณะนั้นได้

และถ้าเร็วอย่างคนสมัยนี้คิด ก็ไม่ต้องอบรมเจริญปัญญาจนถึงกัปๆ หรือ แสนกัป และท่านก็บรรลุไปก่อนแล้วด้วย แสนกัป แต่สมัยนี้บอกว่า วันนี้ เดือนนี้ ชาตินี้ ก็ไม่ต้องมีบารมีอะไรเลย

ปัญญาขั้นการฟังอย่างนี้ เป็นขั้นเริ่มต้น แต่ไม่ควรจะท้อถอย เพราะว่าต้องมีขันติบารมี ความอดทนที่จะฟัง ที่จะพิจารณา ที่จะเข้าใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

. ... (ได้ยินไม่ชัด)

สุ. การฟังมาก จะด้วยการอ่าน หรือด้วยการฟังก็แล้วแต่

. ... (ได้ยินไม่ชัด)

สุ. ทุกอย่างที่เกิดขึ้น แม้ว่าดับไปแล้วก็ไม่สูญหาย สะสมสืบต่อในจิต ขณะต่อไปเรื่อยๆ

. ... (ได้ยินไม่ชัด)

สุ. ไม่หมด

. ขอให้อาจารย์อธิบาย

สุ. ที่พระองค์ทรงสอนเรื่องการทำบุญ ให้ทาน

. เท่าที่ผมเห็นมาผิดหมด ทำบุญเพื่อปรารถนาจะเอาสวรรค์ชั้นฟ้า

สุ. เราต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อตัวเอง โลภะยังมี ก็ยังพอใจที่จะเห็นสิ่งที่น่าดู ใช่ไหม เกิดมาก็มีโลภะประจำตัว ประจำใจ ไม่ใช่เพราะว่าเขาสอน เราชอบด้วย เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ตรง ที่กล่าวว่ายังมีกิเลส ก็ถูก เพื่อที่จะได้อบรมเจริญปัญญาจึงจะละกิเลสได้ แต่ต้องยอมรับก่อนว่า มีกิเลสทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ครบทุกอย่าง มากหรือน้อยแล้วแต่การสะสม เพราะฉะนั้น ทานบารมีจะเกี่ยวข้องกับการดับกิเลสได้อย่างไร ลองคิดดูว่า แม้เพียงสิ่งภายนอกเรายังไม่สามารถสละได้ จะสละสิ่งทั้งหมดที่เคยยึดถือว่า เป็นตัวตน เป็นเรา เป็นของเรา ซึ่งเหนียวแน่นกว่าวัตถุภายนอกได้อย่างไร ถ้าไม่ค่อยๆ อบรมนิสัยให้เป็นอุปนิสัย ที่สามารถจะสละได้

. ถ้าศึกษาอย่างเดียว แล้วไม่ปฏิบัติ ... ปัญญา….

สุ. คำถามถามว่า ถ้าเราจะศึกษาอย่างเดียวแล้วไม่ปฏิบัติด้วย ก็ไม่สามารถจะรู้แจ้งธรรมและดับกิเลสได้ ถ้าพูดอย่างนี้จะถูกหรือผิด

ถูกต้อง แต่ต้องเข้าใจว่า ปฏิบัติคืออะไร หมายความว่าอย่างไร

. อยากให้อาจารย์อธิบาย

สุ. เวลานี้กำลังทำงานอะไรกันอยู่หรือเปล่า ปฏิบัติ แปลว่า ทำ ใช่ไหม เพราะฉะนั้น แปลเป็นภาษาไทยง่ายๆ ให้เข้าใจ คือ ต้องทำอย่างไร ใช่ไหม ถ้าศึกษาเฉยๆ แต่ไม่ทำ คือ ไม่อบรมเจริญปัญญา ก็ไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรม เพราะฉะนั้น ในขณะนี้กำลังทำอะไรอยู่หรือเปล่า

ถ้าใช้คำว่า ปฏิบัติ หมายความถึงทำ ก็อยากจะทราบว่า ขณะนี้กำลังปฏิบัติ หรือกำลังทำอะไรหรือเปล่า

. กำลังปฏิบัติธรรม

สุ. ถ้าไม่ศึกษาจะไม่ทราบเลยว่า จิตที่เกิดขึ้นทุกขณะ เกิดขึ้นทำกิจของ จิตนั้นแล้วดับ จะไม่มีจิตสักขณะเดียวซึ่งไม่ได้ทำกิจหน้าที่อะไร ทันทีที่เกิดในโลกนี้ จิตขณะแรกทำกิจปฏิสนธิ คือ สืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน จึงชื่อว่าปฏิสนธิจิต ตามกิจ คือ ปฏิสนธิ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะมีจิตกี่ดวง กี่ขณะ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า จิตแต่ละขณะทำกิจอะไร

ให้ทราบว่า จิตทุกขณะ ปฏิบัติหรือทำกิจของจิตนั้นๆ เห็น เป็นกิจเห็นของจิต ได้ยินเป็นอีกกิจหนึ่งของจิต ซึ่งสำหรับกิจเห็นภาษาบาลีใช้คำว่า ทัสสนกิจ ทัสสนะ ทัสสนา ที่เราใช้ คือ กิจเห็น ขณะที่กำลังได้ยินเดี๋ยวนี้ จิตเกิดขึ้นทำสวนกิจ คือ กิจได้ยิน ขณะที่ได้กลิ่น ถ้าจิตไม่เกิดขึ้นทำฆายนกิจ คือ กิจได้กลิ่น กลิ่นจะปรากฏไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น จิตทุกดวงเกิดขึ้นทำกิจ จิตที่เป็นอกุศลก็ทำกิจของอกุศล ถ้าเกิดโลภะขึ้น ทำกิจอะไรบ้าง เวลาทำอาหารอร่อยๆ โลภะทำกิจของโลภะหรือเปล่า โลภะก็ทำกิจของโลภะ

เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังได้ยิน หรือกำลังเห็นในขณะนี้ จิตเกิดดับนับ ไม่ถ้วน และทำกิจเฉพาะของจิตนั้นๆ กุศลจิตก็ทำกิจของกุศลจิต อกุศลจิตก็ทำกิจของอกุศลจิต แต่ถ้าสติปัฏฐาน คือ สติไม่ระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตในขณะนี้ จะไม่สามารถรู้ได้เลยว่า อกุศลจิตต่างกับกุศลจิต เมื่อไม่สามารถรู้ จะสะสมกุศลได้อย่างไร เมื่อยังแยกไม่ออกว่า อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล

แต่เมื่อแยกออกว่า ขณะไหนเป็นอกุศล ขณะไหนเป็นกุศล กุศลจึงค่อยๆ เจริญขึ้นได้ ไม่อย่างนั้นก็จะปนเปและแยกกันไม่ออก

ขณะนี้มีกุศลไหม

ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)

สุ. และขณะนี้มีอกุศลด้วยไหม

. ไม่มี

สุ. แน่ใจหรือ

. แน่ใจ

สุ. ในห้องนี้มีอะไรไม่สวยบ้างไหม

. ไม่มี

สุ. จริงหรือ

. ความจริงเป็นธาตุทั้งนั้น

สุ. สภาพของสิ่งที่ปรากฏจะพ้นไปจากอิฏฐารมณ์ สิ่งที่น่าพอใจ หรืออนิฏฐารมณ์ สิ่งที่ไม่น่าพอใจ ไม่มี จะต้องเป็นผู้ที่ตรงจริงๆ ที่จะรู้ว่า มีแต่กุศลเท่านั้น หรืออกุศลก็มีด้วย ต้องเริ่มตรงเป็นไม้บรรทัด ตั้งแต่เริ่มต้นเลย

. ... (ได้ยินไม่ชัด)

สุ. เพราะฉะนั้น ต้องมีสติที่จะระลึกรู้ว่า กุศลและอกุศลสลับกันแล้ว เร็วมาก ขณะกำลังพูด มองออกไปข้างนอก ดอกไม้สวย

. จิตกับสติเหมือนกันหรือเปล่า

สุ. สติเป็นเจตสิก จิตเป็นจิตปรมัตถ์ ไม่ใช่เจตสิก นามธรรมมี ๒ อย่าง คือ จิตกับเจตสิก เกิดด้วยกัน ดับพร้อมกัน มีอารมณ์เดียวกัน

. สภาพธรรมที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า เราพิจารณาไม่ทัน

สุ. จะให้ทันขณะไหน

. คือ ยังขาดสติ ยังขาดปัญญาที่จะพิจารณา

สุ. ก็เรียกว่าไม่ได้พิจารณา

. จะเป็นอกุศลหรือเปล่า

สุ. เป็น แต่กุศลก็ต้องมี ไม่ใช่มีแต่อกุศล เราต้องยอมรับความจริงว่า ถ้ามีแต่อกุศลอย่างเดียว โลกนี้ก็จะต้องร้อนเป็นไฟ เพราะฉะนั้น ก็มีทั้งกุศลและอกุศล แต่ปัญญาต้องรู้ชัด อย่าลืม ไม่ใช่เพียงแต่รู้รวมๆ ว่า มีทั้งกุศล มีทั้งอกุศล และจะทำอย่างไรถ้ารู้หยาบๆ แต่พอรู้ชัดขึ้นจึงสามารถแยกได้ว่า วันหนึ่งมีกุศลมากหรือมีอกุศลมาก เริ่มพิจารณาตนเองที่จะรู้ตามความเป็นจริง ไม่ใช่รู้อื่นเลย การศึกษาธรรมฟังดูเหมือนกับว่าต้องเปิดตำราอ่าน แต่ขณะที่กำลังอ่าน อย่าลืมว่า เป็นเรื่องของ สภาพธรรมที่ตัว เป็นชีวิตทุกขณะที่ทรงแสดงไว้โดยละเอียด เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมที่ถูกต้อง คือ เมื่อฟังแล้วรู้ว่าไม่ใช่อยู่ในหนังสือ ไม่ใช่อยู่ในพระไตรปิฎก แต่กำลังเป็นเห็นเดี๋ยวนี้ และต้องสามารถพิจารณาได้ว่า เป็นกุศลหรืออกุศลในขณะนี้ด้วย

ถ้าศึกษาธรรมโดยตรงจากพระไตรปิฎก จะเป็นเรื่องสั้น ไม่ใช่เรื่องยาว ไม่ใช่เรื่องวกเวียน เพราะสามารถเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมได้ และพิสูจน์ได้ อย่าง คำว่า วิญญาณ หรือคำว่า จิต ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยศัพท์หลายๆ ศัพท์ ก็เพราะถ้าใช้ศัพท์เดียว เช่น คำว่า จิต คนก็จะเข้าใจว่า สภาพคิดคือจิตใจ แต่ถ้าใช้คำว่า วิญญาณ คือ สภาพรู้ ด้วย ก็จะได้หมดความสงสัยว่า จิตกับวิญญาณนั้นไม่ใช่สภาพธรรมอย่างเดียวกัน เพราะแท้ที่จริงแล้ว จะใช้คำว่าจิตหรือจะใช้คำว่าวิญญาณ หรือจะใช้คำว่ามโน หรือจะใช้คำว่ามนัส ก็หมายความถึงสภาพรู้ ธาตุรู้ อาการรู้ แต่ทำไมจึงใช้คำว่า จักขุวิญญาณ เพราะว่าสภาพรู้นี้อาศัยตาจึงเห็น วิญญาณ คือ สภาพรู้ จักขุ คือ ตา

เพราะฉะนั้น กำลังเห็นในขณะนี้ ที่เราใช้คำว่า เห็น ถ้าเป็นพวกที่ใช้ภาษาบาลีเขาจะไม่เข้าใจเลย ใช่ไหม แต่ถ้าบอกว่า จักขุวิญญาณ เขารู้เลยว่า หมายความถึงกำลังเห็นในขณะนี้ตามธรรมดา หรือการได้ยินในขณะนี้ ถ้าเราพูดว่า ได้ยิน เราทุกคนก็เข้าใจ แต่คนที่ใช้ภาษาบาลีต้องใช้คำว่า โสตวิญญาณ คือ สภาพรู้ทางหู

จิตมีหลายประเภท และจะรู้ได้อย่างไรว่าหมายถึงจิตไหน จิตมีถึง ๘๙ ชนิด จึงจำเป็นที่จะต้องบ่งชัดว่าจิตนี้รู้ทางตา จึงใช้คำว่า จักขุวิญญาณ เพื่อให้รู้ว่าต่างกับจิตอื่นซึ่งไม่ได้รู้ทางตา คือ ไม่ใช่กำลังเห็นในขณะนี้

เพราะฉะนั้น ก็มีเหตุผลไปทุกคำ ทุกอย่าง ทุกเรื่อง ทุกตอนของธรรมที่พิจารณาและทำให้เข้าใจได้ว่า เพราะเหตุไรจึงใช้ศัพท์นี้ ต้องมีความหมาย

. ได้อ่านพระสูตร คิริมานนทสูตร ซึ่งมีข้อความว่า แท้ที่จริงแล้ว มนุษย์เรามีกิเลสตั้ง ๑๕๐๐ อย่าง แต่สรุปแล้วมีเพียง ๕ อย่างเท่านั้น คือ โลภะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ ถ้าผู้ใดละจากกิเลส ๕ ตัวนี้ ผู้นั้นก็มุ่งไปถึงนิพพานได้ ข้อนี้เป็นจริงแค่ไหน

สุ. แน่นอน

. ถ้าอย่างนั้น พวกเราทุกคนที่นั่งอยู่กัน ณ ที่นี้ ถ้าละจากกิเลส จะเป็นอย่างหยาบ หรืออย่างละเอียด ถ้าละโลภะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐินี้ได้ จะมีโอกาสถึงที่เรียกว่า โลกุตตรธรรม ได้หรือเปล่า

สุ. ถ้าพูดว่า ถ้าใครสามารถจะละ คือ ดับสนิท โลภะ โทสะ โมหะ ทิฏฐิ มานะแล้ว เป็นพระอรหันต์ คำพูดนี้ไม่ผิด แต่ว่าจะละอย่างไร นี่คือปัญหา

. จะละอย่างไร ขอเชิญอาจารย์อธิบาย

สุ. คงต้องฟังไปถึง ๑๗๐๐ กว่าครั้ง

. ถ้าเช่นนั้นจะตายเสียก่อน อายุก็ตั้ง ๗๐ – ๘๐ กันแล้ว ไม่ทันถึง ๑๐๐๐ ครั้ง ลองเอาสั้นๆ

สุ. ถ้าสั้น ผู้ที่รับฟังต้องเป็นอุคฆฏิตัญญู คือ เมื่อจบคำสั้นๆ แล้ว บรรลุทันที แต่ก็น่าจะพิจารณาว่า เพราะเหตุใดพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม ๔๕ พรรษา และเมื่อรวบรวมสังคายนาแล้ว ยังต้องจัดออกเป็นหมวดหมู่ว่า เป็นพระวินัยปิฎก ส่วนหนึ่ง เป็นพระสุตตันตปิฎกส่วนหนึ่ง เป็นพระอภิธรรมปิฎกส่วนหนึ่ง โดยที่ทุก พุทธวจนะมีคุณค่าสุดที่จะเปรียบ เพราะถ้าสามารถเข้าใจทุกพยัญชนะได้จริง จะเกื้อกูลให้ทุกท่านเจริญปัญญาได้โดยถูกต้อง ไม่ผิดพลาด

แต่ถ้าใครคิดว่า ไม่ต้องอาศัยพระธรรมเทศนา ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ หรือว่าทั้ง ๓ ปิฎก และจะสามารถะอบรมเจริญปัญญาของตนเองได้ ก็เป็นเรื่องที่ผู้นั้นน่าจะพิจารณาว่า จะสำเร็จไหม โดยที่ไม่ต้องอาศัยการศึกษาพระธรรม

ผู้ฟัง เป็นไปไม่ได้

สุ. เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น จึงต้องศึกษา ถ้าศึกษาเพียงนิดเดียวสั้นๆ และสำเร็จ ทำไมพระผู้มีพระภาคจึงทรงเทศนาไว้โดยละเอียดถึง ๔๕ พรรษา ก็ต้องมีเรื่องที่น่าคิดอีก

เปิด  215
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565