แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1201

ที่วัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่

วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๒๕


สุ. พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของเหตุผล ตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุด แม้แต่ว่าปัญญาคืออะไร ปัญญาก็คือความรู้ ความรู้คือรู้อะไร ถ้าไม่มีความเข้าใจจะเป็นความรู้ได้ไหม ไม่ว่าจะเป็นวิชาการใดๆ ทั้งสิ้น แม้แต่ในวิชาการทางโลก ขณะใด ชื่อว่ารู้ ก็เพราะขณะนั้นเข้าใจ เมื่อเข้าใจขึ้นๆ พิจารณามากขึ้น ศึกษามากขึ้น ก็เป็นความรู้ทันทีได้

เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีความเข้าใจอะไรเลย นั่งสัก ๓ ชั่วโมง จะเกิดประโยชน์อะไร จะมีความเข้าใจอะไร และถ้าไม่มี สมควรไหมที่จะนั่ง เพราะจุดประสงค์ คือ เพื่อความรู้ เพื่อความเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเคยยึดถือว่า เป็นตัวเรา เป็นเราจริงๆ เห็นก็เป็นเรา ได้ยินก็เป็นเรา คิดนึกก็เป็นเรา ซึ่งตามความเป็นจริง คิดนึกก็เป็นอนัตตา เกิดขึ้นและดับไป

ในขณะที่คิดไม่ใช่ในขณะที่เห็น เพราะว่าคิดโดยไม่เห็นก็ได้ และเห็นก่อนที่จะคิดก็ได้ เพราะฉะนั้น ขณะที่คิดต่างกับขณะที่กำลังเห็น เช่น ขณะที่กำลังได้ยินเสียง ท่านผู้ฟังลองพิจารณาว่า ได้ยินอะไรในขณะนี้

ผู้ฟัง ได้ยินเสียงอาจารย์พูด

สุ. ได้ยินคำ เข้าใจคำ หรือว่าได้ยินเสียง ได้ยินเสียงแต่ไม่คิดคำ ได้ไหม ผู้ฟัง ได้

สุ. เพราะฉะนั้น ได้ยินเสียงเป็นขณะหนึ่ง กำลังคิดคำหรือความหมายของเสียงที่ได้ยินเกิดต่อภายหลัง คนละขณะ ถูกไหม ไม่ใช่พร้อมกัน

ผู้ฟัง ถูก

สุ. เพราะฉะนั้น การเจริญปัญญาเพื่อรู้ว่าสภาพธรรมไม่ใช่ตัวตน ต้องละเอียดที่จะรู้ลักษณะที่ต่างกันของทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ สภาพธรรมจึงสามารถปรากฏตามความเป็นจริงทีละลักษณะให้รู้ชัดว่า แต่ละลักษณะปรากฏเพียงเล็กน้อยและดับไป และสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งก็เกิดขึ้นปรากฏและ ดับไป จึงจะประจักษ์แจ้งการเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรมตามความเป็นจริง

แต่ถ้าไปนั่งอยู่หลายชั่วโมง โดยไม่รู้อย่างนี้ ไม่เข้าใจอย่างนี้ ก็ไม่มีประโยชน์ และทำไมต้องนั่ง เดินก็เห็น ยืนก็เห็น พิจารณารู้ลักษณะของเห็นได้ไหม เดินก็ได้ยิน นั่งก็ได้ยิน นอนก็ได้ยิน พูดก็ได้ยิน จะพิจารณาลักษณะของสภาพได้ยินในขณะนี้ ได้ไหม ในเมื่อเป็นธรรม เป็นสัจธรรม คือ เป็นของจริง ย่อมทนต่อการพิสูจน์

พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของนามธรรมและรูปธรรมในชีวิตปกติประจำวัน ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพื่อให้พุทธบริษัทพิสูจน์ว่า พระธรรมที่ทรงแสดงถูกต้องเป็นความจริงอย่างนั้นหรือไม่ ไม่ใช่บังคับให้ใครเชื่อ แต่ทรงแสดงโดยละเอียดเพื่อที่จะให้เห็นว่า สภาพธรรมทั้งหมดไม่ใช่ตัวตน พิสูจน์ได้ และมีผู้ที่พิสูจน์จนประจักษ์แจ้งแล้วด้วย แต่ต้องอาศัยการอบรมด้วยการฟังพระธรรม จนกว่าจะเข้าใจเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพิ่มขึ้นๆ

. ช่วยให้คำจำกัดความของนามและรูป ในการเจริญสติปัฏฐาน

สุ. สั้นๆ คือ นามธรรมเป็นสภาพรู้ รูปธรรมไม่ใช่สภาพรู้

. ช่วยยกตัวอย่างสักหน่อย

สุ. กำลังเห็นทางตา เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่ารู้แล้ว เรื่องของนามธรรมและรูปธรรมจะเห็นได้ว่า ต้องฟังอีก พิจารณาอีก ทางตาที่กำลังเห็นเป็นของจริงทุกวัน แต่ที่จะรู้ว่า กำลังเห็นเป็นลักษณะซึ่งรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา

สิ่งที่ปรากฏทางตา เมื่อปรากฏจึงเป็นรูปธรรม เพราะนามธรรมไม่สามารถจะปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย จะเอามือไปจับ ไปสัมผัสนามธรรม เป็นไปไม่ได้ ไม่ใช่เสียงของนามธรรมที่จะไปฟังว่า นามธรรมนี้เป็นเสียงอย่างนี้ นามธรรมนั้นเป็นเสียงอย่างนั้น เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นนามธรรมแล้ว ไม่ใช่รูป ด้วยประการทั้งปวง คือ ไม่มีลักษณะของรูปหนึ่งรูปใดเจือปนอยู่ในอาการรู้หรือสภาพรู้ หรือธาตุรู้ ซึ่งเป็นเพียงธาตุชนิดหนึ่ง

รูปธาตุมีมากมายหลายอย่าง ไม่ว่าจะโดยนัยของพระพุทธศาสนา หรือโดย นัยของทางโลก เช่น ทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งแต่ละลักษณะของรูปธาตุสามารถปรากฏทางหนึ่งทางใด คือ ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย แต่นามธาตุ เป็นสภาพอย่างหนึ่งซึ่งมีจริง ธาตุชนิดนี้เป็นธาตุที่มีลักษณะอาการรู้ หรือลักษณะรู้เท่านั้น เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังเห็นจึงสามารถบอกได้ว่าเห็นอะไร สิ่งที่เห็นมีรูปร่างสัณฐานอย่างไร เพราะว่าปรากฏให้เห็นทางตา แต่ไม่สามารถที่จะแยกธาตุรู้ อาการรู้ออกจากในขณะที่กำลังเห็น ถ้าไม่พิจาณาให้รู้ว่า ที่สิ่งต่างๆ จะปรากฏทางตาได้ เพราะมีธาตุรู้ คือ เห็นสิ่งนั้น

เช่นเดียวกับทางหู เสียงมีจริง ใช่ไหม เสียงมีเมื่อไร

. มีเมื่ออาจารย์พูด

สุ. เมื่อเสียงปรากฏทางหู ใช่ไหม

. ใช่

สุ. ถ้าไม่ได้ยินเสียง แม้เสียงมี แต่ก็ไม่ปรากฏ เพราะว่าไม่มีการได้ยิน ถูกไหม เพราะฉะนั้น เสียงปรากฏต่อสภาพที่กำลังรู้เสียงนั้น ต้องมีสภาพที่กำลังรู้เสียงนั้น เสียงนั้นจึงปรากฏ

ลักษณะอาการรู้ ธาตุรู้ ทุกคนมีตั้งแต่เกิดจนตาย แต่เมื่อไม่พิจารณาจึงยืดถือว่าเป็นเรา เป็นตัวตนที่ได้ยิน หรือที่ได้เห็น เพราะไม่ได้รู้จริงๆ ว่า ลักษณะรู้หรือสภาพรู้นั้นเป็นแต่เพียงธาตุชนิดหนึ่งเช่นเดียวกับรูปธาตุอื่นๆ แต่เมื่อเป็นนามธาตุ จึงไม่ใช่รูปธาตุ และที่เป็นนามธาตุ ก็เพราะว่าเป็นสภาพรู้ เป็นลักษณะรู้ เป็นอาการรู้เท่านั้น

แม้จะได้พูดอย่างนี้ ๑๐ กว่าปี หรือต่อไปก็อาจจะถึง ๒๐ กว่าปี หรือว่าใครๆ ก็จะพูดต่อๆ กันไปถึง ๑๐๐ ปี ๑๐๐๐ ปีก็ตาม แต่ต้องแล้วแต่การระลึกได้ การพิจารณาในขณะที่กำลังเห็นว่า เริ่มที่จะระลึกได้ไหมว่า ขณะนี้มีสภาพรู้ หรือเป็นธาตุรู้ที่กำลังเห็น ที่กำลังได้ยิน ที่กำลังรู้สิ่งที่อ่อน แข็ง ที่กำลังคิดนึกเรื่องราวต่างๆ จนกว่าจะประจักษ์ว่า ธาตุรู้ก็เกิดดับ

ถ้ายังไม่ประจักษ์ว่า นามซึ่งเป็นธาตุรู้เกิดดับ รูปซึ่งไม่ใช่ธาตุรู้ก็เกิดดับ ถ้ายังไม่ประจักษ์ ก็จะต้องศึกษาและฟังพระธรรมที่ทรงแสดงเรื่องของนามธรรมและรูปธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจต่อไปเรื่อยๆ และพิจารณาต่อไปเรื่อยๆ สติก็จะเริ่มระลึกรู้บ้างทีละเล็กทีละน้อย ไม่ใช่ว่าไปทำสติได้มากมาย

. คำว่า ประจักษ์ หมายความว่าอะไร

สุ. คือ ปรากฏชัดในสภาพที่เป็นอนัตตา ไม่สืบเนื่องติดต่อจนรวมกันเหมือนกับว่าเป็นอัตตา หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใด

. อาจารย์ยกตัวอย่างรูปและนามน่าฟังมาก คือ ถึงแม้ว่าจะมีรูปธาตุ มีเสียง แต่ถ้าไม่มีธาตุรู้ จะไม่มีการได้ยินเลย ฉะนั้น สภาพรู้กับสภาพไม่รู้ คือ นามและรูปมีแน่นอน ธรรมชาติ ๒ ประการนี้ แต่ต้องพิจารณาไปจนกว่าจะประจักษ์ ใช่ไหม

สุ. ต้องเริ่มตั้งแต่เข้าใจ จนกระทั่งไม่ถามข้อที่ ๑ ข้อที่ ๑ ถามว่าอย่างไร

ถ. ถามว่า ขอคำจำกัดความของนามและรูป

ต่อไปคำถามข้อ ๒ การเจริญสติปัฏฐานที่ว่า ต้องกำหนดนามและรูปที่ปรากฏ ตามความเป็นจริงนั้น หมายความว่าอย่างไร และเพื่อประโยชน์อะไร

สุ. พิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏโดยรอบ โดยตลอด โดย ถี่ถ้วน จึงกำหนด คือ รู้ได้ว่าลักษณะนี้เป็นรูป หรือลักษณะนั้นเป็นนาม

. ต้องกำหนดทุกทวารด้วย ใช่ไหม

สุ. ทีละอย่าง เช่น ในขณะนี้ ท่านผู้ฟังที่อยากจะปฏิบัติเร็วๆ ก็จะถามว่า ทางตาจะกำหนดอย่างไร แต่ถ้าเข้าใจจริงๆ ก็คือ ระลึก พิจารณา รู้ลักษณะของ ธาตุรู้ที่กำลังเห็นทางตาโดยละเอียด โดยทั่ว โดยถี่ถ้วน เพื่อที่จะได้รู้ชัดว่า ลักษณะของธาตุรู้ทางตานั้น คือ กำลังเห็นในขณะนี้เอง

. ถ้าอย่างนั้นก็หมายความว่า เราสามารถพิจารณาได้แม้ว่าเราอยู่ที่บ้าน

สุ. ขณะนี้เอง ขณะที่เข้าใจ แต่ไม่ใช่เป็นเรา สติเกิดระลึกลักษณะที่กำลังเห็นในขณะนี้หรือยัง ถ้าเห็นแล้วยังไม่รู้ความจริงของการเห็น ก็หมายความว่า ยังต้องฟังเรื่องของการเห็นต่อไปจนมีสัญญาความจำที่มั่นคง และเริ่มระลึกศึกษา น้อมพิจารณาจนกว่าจะรู้ เพราะเป็นสภาพธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ในพระไตรปิฎก

. การเจริญสติปัฏฐานสำหรับฆราวาสนั้น มีสิ่งรบกวนอยู่ตลอดเวลา โปรดให้คำแนะนำเพื่อแก้ปัญหานี้ด้วย

สุ. พุทธบริษัทมี ๔ ตั้งแต่ครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ทรงปรินิพพาน คือ มีทั้งภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ที่ครองเรือนและที่ไม่ครองเรือน และมีพระอริยบุคคลที่เป็นพระภิกษุ พระภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ทั้งที่ครองเรือนและไม่ครองเรือน ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงทราบอัธยาศัยของสัตว์โลกโดยตลอด จึงทรงแสดงธรรมที่ไม่ว่าจะเป็นบริษัทใด คือ เป็นภิกษุบริษัท หรือภิกษุณีบริษัท หรือ อุบาสกบริษัท หรืออุบาสิกาบริษัท ก็สามารถอบรมเจริญสติระลึกรู้ลักษณะของ สภาพธรรมจนปัญญารู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยบุคคลได้ตามอัธยาศัยของแต่ละบุคคล ไม่มีใครสามารถไปเปลี่ยนการสะสมอัธยาศัยของบุคคลหนึ่งบุคคลใดได้

นี่เป็นเหตุที่ทุกคนมีกุศลกรรมและอกุศลกรรมต่างกัน มีกรรมที่ต่างกัน มี วิถีชีวิตที่ต่างกัน มีความเป็นอยู่ต่างกัน มีการดำเนินชีวิตต่างกัน แต่ทุกท่านสามารถที่จะฟังพระธรรม เข้าใจพระธรรม และน้อมนำมาประพฤติปฏิบัติได้ เพราะว่าการเป็นพุทธศาสนิกชน การที่กล่าวถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะย่อมหมายความว่า พร้อมที่จะฟังพระธรรม และไม่ใช่เพียงฟัง ยังน้อมพระธรรมมาประพฤติปฏิบัติด้วย

ถ้าเพียงฟัง แต่ไม่ประพฤติปฏิบัติตาม จะไม่มีประโยชน์อะไรเลย ย่อมไม่ชื่อว่า เป็นผู้ฟังจริงๆ ซึ่งจุดประสงค์ของการฟัง คือ เพื่อเข้าใจ และเมื่อเข้าใจแล้ว ก็เพื่อประพฤติปฏิบัติตามด้วย จึงจะเป็นสาวกที่แท้จริง

เพราะฉะนั้น พุทธบริษัทสามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ทุกเพศ ถ้าผู้ใดมีความเห็นว่า เพศฆราวาสคับแคบ ไม่เหมาะสำหรับตนเอง ไม่ต้องมีบุคคลหนึ่ง บุคคลใดบังคับ แต่เป็นอัธยาศัยของบุคคลนั้นที่จะน้อมประพฤติปฏิบัติพระธรรมใน เพศบรรพชิต ก็สามารถอบรมเจริญปัญญารู้แจ้งอริยสัจธรรมในเพศบรรพชิตได้ แต่บุคคลใดซึ่งสะสมอัธยาศัยที่จะเป็นฆราวาส และรู้จักตัวเองตามความเป็นจริงว่า เป็นผู้ที่ยังไม่สามารถสละเพศฆราวาสได้ ก็สามารถอบรมเจริญปัญญารู้แจ้ง อริยสัจธรรมในเพศฆราวาสได้ เพราะว่าการรู้แจ้งอริยสัจธรรมต้องรู้จักตัวเองซึ่งเป็นธรรมแต่ละขณะที่เกิดขึ้นเพราะปัจจัยปรุงแต่งตามปกติตามความเป็นจริง

ถ้าผิดจากความเป็นจริง คือ ชีวิตจริงมีอัธยาศัยเป็นฆราวาส และอยากจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่เข้าใจผิดว่า การรู้แจ้งอริยสัจธรรมต้องไปสู่ที่อื่น ซึ่งไม่ใช่ชีวิต จริงๆ ของตัวเอง เพราะฉะนั้น เมื่อกลับมาเป็นปกติในชีวิตจริง จึงไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม คือ สติปัฏฐานไม่สามารถเกิดแทรกในขณะที่กำลังเป็น สภาพธรรมที่สนุกสนาน เป็นโลภมูลจิต ซึ่งไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล หรือเป็นโทสมูลจิต กำลังโกรธ เพราะมีปัจจัยที่จะให้ความโกรธขณะนั้นเกิดขึ้น ก็ไม่สามารถรู้ว่า แม้ขณะนั้นก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

เมื่อไม่รู้ความจริงอย่างนี้ จึงไม่สามารถดับการยึดถือสภาพนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นตัวตนได้ ถ้าอบรมเจริญอย่างนั้น ไม่ใช่การรู้จักตัวเองตามความเป็นจริง และย่อมจะไม่ถึงวันที่จะประจักษ์ได้ว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา สภาพธรรมทั้งหมด ทุกประการ ทุกขณะ ไม่ว่าจะในภพไหน ชาติไหน ก็เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น

แต่ถ้าเริ่ม คือ โลภะเกิดขึ้น ซึ่งแต่ก่อนอาจจะกลัวและรังเกียจว่าเป็น สภาพธรรมขั้นหยาบ เป็นโลภะที่มีกำลังแรงกล้า ไม่น่าจะเกิดขึ้นกับตัวท่านได้ แต่ทำไมสภาพนั้นจึงเกิด ก็ควรพิจารณาว่า ทำไมพระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงปฏิจจสมุปบาทและปัจจัยต่างๆ ที่จำแนกออกเป็นเหตุปัจจัย โลภเจตสิกเป็น เหตุปัจจัย เป็นสภาพธรรมที่เป็นเหตุ ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ใครจะยับยั้งลักษณะของโลภะไม่ให้เป็นอย่างนั้นได้ เพราะโลภะเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เมื่อเกิดแล้วก็มีลักษณะอาการของโลภะ กระทำกิจของโลภะ แต่โลภะก็ดับเพราะหมดเหตุปัจจัย ในขณะนั้น เมื่อมีเหตุปัจจัยให้สภาพธรรมอื่นเกิด ซึ่งแต่ละขณะก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

ถ้ามีความอาจหาญร่าเริงตามที่ทรงแสดงไว้ในพระสูตรทุกพระสูตร ที่เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว ก็สมาทาน อาจหาญร่าเริงที่จะน้อมพระธรรมนั้นมายึดถือ มาอบรม มาเจริญ มาปฏิบัติ ถ้าขณะโลภะที่มีกำลังเกิดขึ้น ถ้าสติเกิดระลึกจะรู้ได้ว่า ถ้าไม่เคยสะสมความพอใจทีละเล็กทีละน้อยมาในอดีตอนันตชาติแสนโกฏิกัปป์ โลภะแรงขั้นนี้ก็ย่อมเกิดไม่ได้ แต่ที่โลภะอย่างนี้เกิดได้ ก็เพราะได้สะสมโลภะนั้นมาและโลภะนั้นยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท ยังไม่มีปัญญาดับโลภะนั้น เพราะฉะนั้น ขณะนั้นการสะสมของโลภะจึงปรุงแต่งให้ปรากฏลักษณะของโลภะขั้นนั้นขึ้นได้ ซึ่งเป็นแต่เพียงขณะหนึ่ง ในชีวิตที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และก็ดับไป

สำหรับโทสะ ก็เช่นเดียวกัน มีความโกรธขั้นอ่อนๆ ตั้งแต่สภาพที่รู้สึกขุ่นๆ มัวๆ ไม่แช่มชื่น จนกระทั่งถึงขั้นที่เป็นอันตรายรุนแรง แต่ถ้าสติสามารถเกิดระลึกรู้อาการของโทสะในขณะนั้นว่า เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งต่างกับโลภะ และที่โทสะขั้นนี้เกิดขึ้นได้ ก็เพราะมีเหตุปัจจัย เพราะว่าวันหนึ่งๆ ไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีโลภะขั้นแรง โทสะขั้นแรงอยู่ตลอดเวลา แต่มีโลภะขั้นต่างๆ โทสะขั้นต่างๆ ตามปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้นปรากฏ ซึ่งสติจะต้องระลึกและสามารถที่จะรู้ได้ว่า ทุกขณะเกิดขึ้นเพราะ เหตุปัจจัย และจะคลายการยึดถือ หรือว่าการพยายามที่จะไม่รู้ลักษณะของโลภะ โทสะ เพราะถ้าพยายามหนี บังคับไม่ให้รู้ลักษณะของอกุศล ก็ไม่มีทางละคลาย ขณะที่เป็นอกุศลนั้นว่าไม่ใช่ตัวตน และไม่มีวันที่จะดับความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้

เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐานที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม จึงต้องระลึกรู้ ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยของแต่ละบุคคล แต่ละชีวิต ตามปกติตามความเป็นจริงในชีวิตประจำวัน

ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ตามความเป็นจริงในชีวิตประจำวันของแต่ละบุคคล จะไม่สามารถเป็นพระอริยบุคคลได้แน่นอน

และที่ถามว่า อะไรเป็นนามธรรม อะไรเป็นรูปธรรม คือ ทุกขณะในขณะนี้เอง ถ้าสติระลึก จะรู้ลักษณะของนามธรรมประเภทต่างๆ รูปธรรมประเภทต่างๆ และรู้ว่าขณะนั้นไม่ใช่เราแน่นอน

เปิด  288
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565