แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1203
ที่วัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่
วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๒๕
พ.อ.ธงชัย ขณะที่ให้ทาน ขณะที่มือยกขันใส่ข้าว มีความรู้สึกว่า มีความร้อน มีความตึง มีความหนัก ถ้าขณะที่ให้นั้น สติระลึกสภาพธรรมเพื่อจะพิจารณา อย่างนั้นใช่ไหม เรียกว่าเป็นการให้ทานประกอบด้วยปัญญา
ทรงเกียรติ ก็แล้วแต่สติจะน้อมไป ซึ่งอาจารย์ได้พูดไปหลายครั้งแล้วว่า สภาพธรรมทั้งหลายที่เป็นอัตตาไม่มี เพราะขณะที่ให้ทาน สภาพธรรมมีตั้งหลายอย่าง อาหารที่ร้อนก็มี แต่ถ้าสติไม่น้อมไปรู้ที่ร้อน อาจจะรู้สภาพธรรมทางตาก็ได้ แล้วแต่สติ จะบังคับสติให้รู้สิ่งนั้นสิ่งนี้ บังคับไม่ได้
พ.อ.ธงชัย การให้ทาน โดยที่เรารู้ว่า ผลของทานจะเป็นการละคลายกิเลส จะถือว่าเป็นปัญญาหรือเปล่า
ทรงเกียรติ ต้องเป็น ถ้าทำทานและมีจุดมุ่งหมายที่จะขัดเกลากิเลสก็เป็นปัญญา ถ้าไม่เป็นปัญญาก็จะมุ่งหวังแต่ผลของทาน เช่น บางท่านอาจจะให้ทานเพื่อหวังผลให้ไปเกิดในสวรรค์ก็ได้ หรือบางครั้งท่านทั้งหลายอาจจะเห็นว่า เทศกาลต่างๆ อย่างสงกรานต์ก็ดี ปีใหม่ก็ดี ชาวพุทธทั้งหลาย ชาวไทยทั้งหลาย เขาทำบุญทำกุศล เมื่อทำบุญทำกุศลเสร็จแล้ว ก็ซื้อลอตเตอรี่ติดมือติดไม้ไปสักใบเผื่อว่าจะได้ถูก ด้วยอานิสงส์ที่ให้ทานก็มี
พ.อ.ธงชัย กามาวจรกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา จะมีกับบุคคลนอกพระพุทธศาสนาได้ไหม
ทรงเกียรติ มีได้ เช่น ฤๅษีชีไพร ท่านสามารถอบรมเจริญกุศลต่างๆ ท่านสามารถอบรมเจริญสมถภาวนาจนกระทั่งถึงรูปฌาน อรูปฌานก็ได้ แต่ขณะที่ฌานจิตยังไม่เกิด กุศลในขณะที่อบรมแต่ละขณะนั้น ก็ชื่อว่าเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ เพราะฉะนั้น นอกพระพุทธศาสนา มีได้
พ.อ.ธงชัย เมื่อยังมีชีวิตอยู่ ทำอย่างไรจึงจะถึงนิพพานได้
ทรงเกียรติ เรื่องนี้อาจารย์แสดงมาตลอด ๒๐ กว่าปี เมื่อคืนก็แสดงเรื่องนี้ตลอด และวันนี้ตั้งแต่เริ่มต้นมาจนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้ อาจารย์ก็ได้ชี้แนะว่า ผู้ที่จะเห็นนิพพาน ก็ให้รู้มีความสึกตัว รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงเสียเดี๋ยวนี้ การเห็นเวลานี้มีไหม เมื่อเห็นแล้วสภาพจิตของแต่ละคนเป็นโลภะ หรือเป็นโทสะ หรือเป็นโมหะ หรือเป็นมหากุศล ซึ่งสติจะต้องตามระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงซึ่งกำลังปรากฏในขณะนั้นของแต่ละบุคคล ซึ่งไม่เหมือนกัน
ข้อปฏิบัติอย่างนี้ มีโอกาสเห็นพระนิพพานได้ หนทางมีทางเดียวเท่านี้เอง
พ.อ.ธงชัย การทำทานของบุคคลส่วนมาก ทำแล้วต้องการชื่อเสียง ต้องการชื่อติดไว้ในที่ต่างๆ เป็นกิเลสหรือเปล่า ถ้าเทียบกับทำทานโดยไม่หวังสิ่ง ตอบแทน อย่างไหนจะได้บุญกว่ากัน
ทรงเกียรติ เรื่องนี้ผู้อื่นจะตอบแทนไม่ได้ ขึ้นอยู่กับเจตนาของแต่ละบุคคล บางคนอาจทำบุญแล้ว เอาชื่อของตัวเองติดไว้ มีจุดประสงค์เพื่อให้ชนรุ่นหลังอนุโมทนา ถ้ามีจุดประสงค์อย่างนี้ก็ไม่เป็นกิเลส แต่ถ้าการให้ทานนั้น ผู้ใดมีจุดประสงค์เพื่อให้ชื่อเสียงของเราโด่งดัง ให้คนอื่นรู้จัก อย่างนี้ก็เป็นกิเลส ซึ่งในพระไตรปิฎกท่านแสดงไว้ ผู้ที่ให้ทาน มี ๘ แบบด้วยกัน
แบบที่ ๑ ให้ทานเพื่อจะได้ผลของทาน
แบบที่ ๒ ให้ทานเพื่อสั่งสมบุญไว้กินไว้ใช้ในชาติหน้า
แบบที่ ๓ ให้ทานตามประเพณี เช่น วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา วันปีใหม่หรือวันสงกรานต์ การให้ทานแบบนี้มีเป็นส่วนใหญ่
บางท่านให้ทานเพราะคิดว่า เมื่อเราให้เขาแล้ว เขาอาจจะให้เราบ้าง ก็เป็นอีกแบบหนึ่ง สรุปว่ามี ๘ แบบ ซึ่งในแบบที่ ๘ เป็นการให้ทานเพื่อปรุงแต่งจิต ทานแบบนี้พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญว่า เป็นการให้ที่ประเสริฐสุด เพราะถ้าบุคคลใดสามารถให้ทานเพื่อปรุงแต่งจิต คือ ปรุงแต่งจิตจากอกุศลมาเป็นกุศล ซึ่งในขณะที่ไม่ได้ให้ทาน ขณะนั้นอาจจะเป็นโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง แต่ขณะที่ให้ทาน ขณะนั้นเป็นกุศล ในเมื่อเป็นกุศล และสติสามารถระลึกในลักษณะของจิตที่เป็นกุศลซึ่งผ่องใส ในขณะนั้น ถ้าอินทรีย์แก่กล้า สามารถจะบรรลุได้ถึงพระอนาคามี ในเมื่อเป็น พระอนาคามีแล้ว ตายจากมนุษย์ก็ไปเกิดในพรหมโลก ไม่ต้องกลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้อีก เพราะฉะนั้น ทานแบบที่ ๘ พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญ
พ.อ.ธงชัย ขอบคุณมาก เป็นคำตอบที่ละเอียด และเป็นความรู้ใหม่ของผม การที่จะมองคนอื่นว่า เขาทำแล้วเขาได้บุญไหม ขึ้นอยู่ที่เจตนาในขณะที่ทำ แม้แต่ชื่อที่ติดไว้ มองเผินๆ อาจคิดว่า เขาติดไว้เพื่อชื่อเสียง แต่ถ้าเขามีเจตนาที่เป็นกุศล เช่น เพื่อจะให้ลูกหลานระลึกได้ เขาจะได้ทำบ้าง ถ้าเจตนาเป็นอย่างนั้น เป็นกุศลแน่นอน
เพราะฉะนั้น เรื่องกุศล อกุศล เราจะวัดคนอื่นยาก ใช่ไหม นอกจากตัวเราเองที่จะพิจารณาบ่อยๆ จึงจะรู้ว่า เป็นกุศลหรืออกุศล และเราก็ไม่สามารถโกหกตัวเองได้ด้วย ใช่ไหม
ต่อไปขอถามถึงเรื่องการเข้าฌานจนถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ การเข้านิโรธสมาบัติได้นั้น ผู้นั้นจะต้องเป็นพระอรหันต์หรือไม่ ระยะนั้นเสพนิพพานเป็นอารมณ์ใช่หรือไม่
ทรงเกียรติ ผู้ที่จะเข้านิโรธสมาบัตินั้น มี ๒ บุคคลเท่านั้น คือ เป็น พระอนาคามีบุคคลที่ได้ปัญจมฌาน และพระอรหันต์ที่ได้ปัญจมฌาน ๒ บุคคลนี้เท่านั้นที่สามารถจะเข้านิโรธสมาบัติได้ บุคคลอื่นเข้าไม่ได้
พ.อ.ธงชัย ขอบพระคุณ นี่ก็เป็นเรื่องไกลออกไปอีกนิดหนึ่ง มีผู้ถามว่า สติกับสมาธิต่างกันอย่างไร ฟังอาจารย์บอกว่า การนั่งสมาธิแบบหลับตาบริกรรม พุทโธๆ นั้น ไม่ใช่สมาธิทางพระพุทธศาสนา เป็นแบบฤๅษีโยคีนอกพระพุทธศาสนา ถ้าอย่างนั้นจะนั่งแบบไหนจึงจะเป็นสมาธิแท้ เกิดองค์ฌาน ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน เรื่อยไปตามลำดับได้ แต่ก่อนอื่นขอคำตอบว่า สติกับสมาธิต่างกันอย่างไร
ทรงเกียรติ ต่างกันที่ว่า สมาธิ เกิดกับจิตทุกดวง ไม่ว่าจะเป็นกุศล อกุศล วิบาก กิริยา สมาธินั้นย่อมเกิดร่วมด้วย ส่วนสตินั้น ไม่เกิดกับอกุศลเลย เกิดเฉพาะกุศล วิบาก กิริยา
และเหมือนกันตรงที่ว่า สติและสมาธิต่างก็เป็นเจตสิกธรรม แต่สภาพลักษณะต่างกัน โดยที่สมาธินั้นเกิดกับจิตทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นกุศล อกุศล วิบาก กิริยา ก็เกิดร่วมด้วยทุกขณะ ส่วนสตินั้นไม่เกิดกับอกุศลเลย เกิดเฉพาะขณะที่เป็นกุศล หรือว่าเป็นวิบาก หรือว่าเป็นกิริยาเท่านั้น
พ.อ.ธงชัย นี่เป็นคำตอบที่ชัดเจนว่า สติกับสมาธินั้น สมาธิเกิดได้ทั้งกุศลและอกุศล ยกตัวอย่างง่ายๆ สมาธิที่เกิดกับอกุศล ถ้าเราตั้งใจ ใจจดใจจ่อที่จะประทุษร้ายคนอื่นด้วยกาย ด้วยวาจา อย่างนั้นเป็นสมาธิเหมือนกัน แต่เป็น มิจฉาสมาธิ
เพราะฉะนั้น คำว่า สมาธิ คำเดียว เป็นทั้งกุศลและอกุศล ซึ่งต่างกับสติที่ เป็นโสภณธรรม เป็นธรรมชาติฝ่ายดีเท่านั้น
ถ. ขอถามเรื่องข้อปฏิบัติ จะรักษาศีล ๕ หรือศีล ๘ หรืออุโบสถศีล หรือว่ากินอาหารมังสวิรัติ จะทำให้ปัญญาเกิดขึ้นไหม
ทรงเกียรติ การรักษาศีลเป็นปัญญาก็ได้ ไม่เป็นปัญญาก็ได้ แต่อยากจะให้เป็นปัญญาตลอด ใช่ไหม ซึ่งอาจารย์ก็บรรยายมาโดยตลอดว่า ก่อนอื่นจะต้องมีความเข้าใจ
ตั้งแต่เมื่อคืนนี้ จนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้ ผมสังเกตว่า ปัญหาของชาวเชียงใหม่เกิดจากการปฏิบัติทั้งนั้น แสดงว่าชาวเชียงใหม่นิยมการปฏิบัติ ไม่มีปัญหาปริยัติเลย ปัญหาปฏิบัติทั้งนั้น ซึ่งส่วนใหญ่ปฏิบัติสมาธิ วิปัสสนารู้สึกว่าปฏิบัติน้อย
แต่ถ้ายังไม่เข้าใจ ต้องพยายามค้นคว้า ศึกษาหาความเข้าใจ จึงจะไปปฏิบัติ ถ้าไม่มีความเข้าใจพอและไปปฏิบัติ ดีไม่ดีจะเป็นบ้า ต้องระวัง จะเป็นโทษ
ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญว่า สมถะก็ดี วิปัสสนาก็ดี เป็นของดี จริงอยู่สมถะและวิปัสสนาเป็นของดี แต่ผู้ที่ปฏิบัติ ไม่ใช่ทั้งสมถะและวิปัสสนา จะเป็นบ้า และที่ไม่ใช่สมถะ ไม่ใช่วิปัสสนา เพราะอะไร เพราะความรู้ยังไม่มี พอได้ยินว่าดีก็ไปทำตามๆ กันไป จึงมีอันตราย เพราะฉะนั้น ที่อาจารย์มาในครั้งนี้ คิดว่าเป็นประโยชน์แก่ชาวเชียงใหม่มาก
อย่าลืม พระพุทธศาสนาอยู่ที่ไหน พระสงฆ์เป็นศาสนาหรือเปล่า ก็ไม่ใช่ ศาลา โบสถ์ เป็นศาสนาหรือเปล่า ก็ไม่ใช่ แต่ศาสนา คือ คำสอน คำสอนเป็นศาสนา เมื่อคำสอนมี ข้อปฏิบัติจึงมี ข้อปฏิบัติมี ปฏิเวธจึงมี เพราะฉะนั้น ศาสนา จึงแบ่งเป็น ๓ คือ ปริยัติศาสนา ปฏิบัติศาสนา และปฏิเวธศาสนา
ในเมื่อปริยัติศาสนายังไม่มี อย่าไปปฏิบัติ ดีไม่ดีจะเป็นบ้าอย่างที่บอกไว้แล้ว ขอเชิญอาจารย์
สุ. รู้สึกว่าเรื่องของข้อปฏิบัติถูก ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะฉะนั้น ที่ปฏิบัติๆ กันมา ท่านผู้ฟังพร้อมที่จะพิจารณาหรือยังว่า ที่ได้ปฏิบัติมาแล้ว หรือว่าที่เคยเข้าใจมาแล้วนั้น ถูกหรือผิด เพื่อประโยชน์ เพราะถ้าข้อปฏิบัติถูกมี ย่อมหมายความว่า ข้อปฏิบัติผิดก็มีด้วย และถ้าข้อปฏิบัติใดถูก ข้อปฏิบัติที่ไม่ใช่ข้อปฏิบัติที่ถูกนั้นก็ ย่อมผิด
บางท่านก็พอใจที่ได้ปฏิบัติมาบ้างแล้ว แต่พร้อมที่จะพิจารณาข้อปฏิบัติที่ได้ปฏิบัติไปแล้วนั้นหรือยังว่า ยังมีอะไรที่คลาดเคลื่อน หรือว่าควรจะปฏิบัติอย่างไรให้ถูกต้องขึ้น เพื่อปัญญาจะได้เจริญจริงๆ เพราะได้ทราบว่า มีหลายท่านที่ได้ปฏิบัติแล้ว และบางท่านก็อาจจะพอใจในข้อปฏิบัติที่ท่านกำลังปฏิบัติอยู่
ถ. เข้าใจว่าปฏิบัติกันทุกคน เพราะท่านอาจารย์เคยสอนไว้ว่า ถึงแม้ว่าเราจะนั่งเฉยๆ หรือพูดอยู่ เราก็เจริญสติปัฏฐานได้ หรือจะทำกับข้าว หรือเราจะเดินอยู่ นอนอยู่ นั่งอยู่ ก็แสดงว่า เราปฏิบัติแล้ว ใช่ไหม
สุ. ถ้าอย่างนั้นก็หมายความว่า ไม่มีใครที่ไม่ปฏิบัติเลยหรือ
ถ. ผมว่าในที่นี้ไม่มีเลย เท่าที่ฟังท่านอาจารย์พูด คือ อาจารย์บอกให้เราพิจารณา เข้าไปในครัว อ้ายนี่กะปิใช่ไหม อ้ายนี่น้ำปลาใช่ไหม ก็ต้องพิจารณา ถ้าไม่พิจารณา ก็หยิบเอาของผิดๆ ไป
สุ. หนูน้อยคนนี้ปฏิบัติหรือเปล่า
ถ. หนูน้อยคนนี้ก็คงปฏิบัติ ถ้าแกไม่มีสติ แกก็หยิบอะไรไม่ถูก ที่ไม่ใช่ของเล่นของแกก็ได้
สุ. ปฏิบัติอย่างนี้จะทำให้ผลอะไรเกิดขึ้น หยิบหอม กระเทียม น้ำปลาอะไรพวกนี้ จะทำให้ผลอะไรเกิดขึ้น
ถ. รู้ของจริงว่า นี่เป็นน้ำปลา นี่เป็นกะปิ
พ.อ.ธงชัย นั่นเป็นบัญญัติ
ถ. อ้อ เป็นเป็นบัญญัติ ถ้างั้นของจริงคืออะไร
พ.อ.ธงชัย จิต เจตสิก รูป
ถ. เท่าที่ผมไปทำมาเดือนเศษ ผมฟังด้วยหู รถยนต์แล่นมาไกลๆ พิจารณาว่า อ้อ นี่มันเสียงรถยนต์หนอ เสียงคนพูด ผมก็ว่าคนพูดหนอ เสียงไก่ขัน ผมก็ว่าเสียงไก่หนอ ผมคิดไปอย่างนี้ เสียงมาใกล้ มาไกลแค่ไหน มีเสียงมาเข้าหู จึงจะได้ยิน คือ เสียงเกิดก่อน จากนั้นหูจึงจะได้ยิน อย่างที่อาจารย์พูดเมื่อครู่นี้ อย่างนี้ผมปฏิบัติถูกหรือผิด ไม่ทราบ
สุ. เป็นการดีที่ได้กล่าวถึงความเข้าใจอันนี้ เพราะยังไม่ใช่การระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม แต่เป็นการนึก ตามที่อาจจะคิดว่า ต้องนึกตาม แต่ความจริงไม่ใช่การระลึกรู้ลักษณะ เวลาเห็น ไม่มีใครจำเป็นจะต้องไปท่องว่า นี่แก้วน้ำ นี่ถาด นี่โต๊ะ ทำไมจะต้องนึกอย่างนั้น พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงสอนให้ทำ อย่างนั้น แต่สอนให้เข้าใจสภาพซึ่งมีจริงว่า ลักษณะใดเป็นนามธรรม ลักษณะใด เป็นรูปธรรม จึงไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน เพราะว่าเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป
ที่เคยคิดว่า เป็นเราที่กำลังเห็น ต้องรู้ว่าสภาพใดเป็นนามธรรม สภาพใดเป็นรูปธรรม ที่เป็นเราได้ยิน หรือที่เป็นเราคิดว่านี่น้ำปลา นี่กะปิ ขณะนั้นเป็นรูปธรรม หรือนามธรรมอะไร ต้องรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม จึงจะรู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน
ถ้ารวมกันทั้งนามและรูป ก็เป็นเราเห็น เราได้ยิน เราคิดนึก เราเป็นสุข เราเป็นทุกข์ ไม่ใช่ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง เพราะว่าไม่ได้ระลึกพิจารณา ทีละลักษณะ
เพราะฉะนั้น เรื่องการปฏิบัติเป็นเรื่องยาก แต่ท่านผู้ใดที่เคยปฏิบัติแบบต่างๆ ควรที่จะได้ใคร่ครวญพิจารณาดูว่า ข้อปฏิบัตินั้นๆ จะทำให้รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้ไหม ถ้าไม่ได้ จะมีหนทางใดที่จะทำให้ค่อยๆ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเพิ่มขึ้นตามปกติ แต่ไม่ใช่รู้อย่างเดิมว่า นี่น้ำปลา นั่นกะปิ
ถ. เท่าที่ผมฟังมา ที่ว่าพยัญชนะทางพระนั่นน่ะ ผมก็ยังไม่เคยได้ยิน อย่างเช่น เมตตา รูป สังขาร อะไร ผมก็ไม่ค่อยเข้าใจ ผมเข้าใจแต่คำพูดธรรมดาๆ ถ้าจะให้ผมรู้ซึ้งเข้าไปถึงนั่นเห็นถ้าจะยาก และสำหรับทุกคนก็คงจะยาก เพราะว่า ทุกคนไม่มีทางรู้พยัญชนะนี้แน่นอน คือ ไม่รู้ความหมาย
สุ. การเป็นปุถุชน กับการเป็นพระอริยบุคคล อะไรง่าย อะไรยาก
ถ. การเป็นปุถุชนง่ายกว่า
สุ. การเป็นอริยะจะง่ายอย่างการเป็นปุถุชนไหม
ถ. ไม่ง่าย
สุ. เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องไม่ง่าย เป็นของแน่นอน เป็นเรื่องที่จะต้องอาศัยความอดทนจริงๆ ที่จะฟังให้เข้าใจ และค่อยๆ พิจารณาให้เข้าใจขึ้น เป็นหนทางเดียว
เพียงชั่วโมง สองชั่วโมง คงไม่อาจทำให้เข้าใจลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้โดยตลอด แต่ก็อาจจะทำให้ระลึกได้ว่า มีสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งในขั้นต้นอาจจะเพียงระลึกว่า มีลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ไม่ว่าจะกำลังเห็น หรือกำลังได้ยิน แต่ยังไม่สามารถที่จะเข้าใจชัดว่า นามธรรมในขณะที่เห็นเป็นอย่างไร แต่รู้โดยขั้นการฟังว่าเป็นนามธรรมก่อน