แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1204
ที่วัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่
วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๒๕
ถ. เราตั้งสติลำบาก ตอนโกรธแว็บเข้ามา ขุ่นมัวเลย และเวลาอยากได้อะไรขึ้นมา ก็โลภ อยากได้ อยากซื้อใส่ เห็นเสื้อผ้างามๆ ไม่รู้จะตั้งสติอย่างไรให้เร็วทันใจ
สุ. ฟังแล้วเหมือนกับว่า อยากจะเป็นพระอรหันต์โดยไม่ต้องเข้าใจอะไร เพียงแต่จะตั้งสติเอาเท่านั้น พอถึงเวลาก็ตั้งสติเอา ตั้งสติเอา แต่ก็เห็นแล้วว่า ตั้งไม่ได้ และทางใดจะได้ ก็ต้องเป็นปัญญา ถ้าไม่ใช่ปัญญา เป็นตัวเราที่จะตั้งสติ ไม่สามารถที่จะกระทำได้
ปัญญาสามารถกระทำกิจของปัญญา ความเห็นผิดไม่สามารถดับกิเลสได้ ความรู้สึกว่าเป็นตัวเราซึ่งเป็นตัวตนก็ไม่สามารถดับกิเลสได้ เพราะฉะนั้น ข้อสำคัญที่สุด คือ มีปัญญาบ้างหรือยัง ปัญญาเพิ่มขึ้นหรือยัง ทำไมเอาปัญญาไปทิ้ง และเอาตัวตนตั้งสติอยู่เรื่อยๆ
ถ. จะเข้าสติปัฏฐานอย่างไร เวลาลูกทะเลาะกัน ไม่รู้สติปัฏฐานหาย ไปไหนหมด
สุ. เพราะว่าปัญญาไม่เกิด เมื่อปัญญาไม่เกิด จะเอาสติที่ไหนมาตั้งได้ ต้องรู้เหตุว่า ที่สติจะเกิดระลึกได้ก็เพราะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมมากขึ้น เพิ่มขึ้น สติจึงระลึกตามที่เข้าใจถูกแล้ว แต่เมื่อยังไม่เข้าใจเลย สติจะเกิดได้อย่างไร จะเอาสติไปตั้งไว้ที่ไหนก็ไม่ถูกทั้งนั้น อย่าเป็นพระอริยะโดยการพยายามตั้งสติ แต่ต้องเป็นด้วยการอบรมเจริญปัญญา
คนที่พยายามจะตั้งสติ จะไม่รู้เรื่องลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมซึ่งเป็นอนัตตา นามธรรมและรูปธรรมอยู่ใกล้ตัวที่สุด แต่เป็นสิ่งที่ไม่รู้ที่สุด ใช่ไหม รู้เรื่องอื่นนอกตัวมาก แต่นามธรรมและรูปธรรมซึ่งอยู่ใกล้ที่สุดไม่รู้เลย เพราะฉะนั้น ก็เต็มไปด้วยอวิชชาที่ยึดถือลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นเรา ต่อเมื่อใดได้รู้ว่า โลกทั้งโลกที่ปรากฏทางตาเพราะอาศัยจักขุปสาท จึงมีการเห็นเกิดขึ้นและดับไป ในขณะที่ได้ยินก็ต้องอาศัยโสตปสาทเป็นปัจจัย ขณะนั้นจะแยกออกได้ว่า เป็นแต่ละโลก แต่ละลักษณะ
ถ. คำว่า กัมมัฏฐาน พองหนอ ยุบหนอ เป็นรูปหรือเป็นนาม
สุ. เข้าใจว่าอย่างไร ข้อสำคัญอย่าลืมปัญญา รูปมีลักษณะอย่างไร นาม มีลักษณะอย่างไร
ถ. ความเข้าใจของผม พองหนอ ยุบหนอ เป็นรูปใช่ไหม
สุ. สิ่งใดก็ตามซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ เป็นรูปธรรม
ถ. ... หมายความว่าอย่างไร
สุ. ทั้งหมดจะมีแต่ความไม่เข้าใจในลักษณะนามบ้าง ในรูปบ้าง ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ไม่ใช่แต่เฉพาะไม่เข้าใจเรื่องพองยุบ ใช่ไหม
ทางตา อะไรเป็นนามเป็นรูป ทางหู อะไรเป็นนามเป็นรูป ทางกาย อะไรเป็นนามเป็นรูป ถ้าเข้าใจแล้วจะไม่มีการถามอย่างเจาะจงว่า นี่เป็นรูป หรือนั่นเป็นนาม เพราะเป็นผู้ที่ได้พิจารณาแล้วว่า สภาพนั้นเป็นสภาพรู้หรือไม่ใช่สภาพรู้ สภาพนั้นปรากฏทางไหน ปรากฏทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ ต้องเป็นผู้ตรงจริงๆ และต้องเป็นปัญญาของตัวเองที่พิจารณา ข้อสำคัญที่สุด ถ้านึกอยากจะตั้งสติที่หนึ่งที่ใด ควรที่จะทราบว่า ขณะนั้นเป็นปัญญาหรือเปล่า หรือว่าเป็นตัวตนซึ่งจะตั้งสติ
เพราะฉะนั้น ไม่มีการจำกัดว่าต้องเป็นข้อปฏิบัติชนิดใด แต่เป็นสภาพของสติซึ่งเกิดระลึกได้ที่จะรู้ลักษณะของสภาพที่กำลังปรากฏตามปกติ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ หรือจะเป็นตัวตนที่จะตั้งสติอยู่ที่หนึ่งที่ใด ซึ่งข้อปฏิบัติ ๒ อย่างนี้ต่างกัน โดยข้อปฏิบัติอย่างหนึ่ง รู้ในลักษณะที่เป็นอนัตตาของสติ แต่ข้อปฏิบัติอีกอย่างหนึ่ง เป็นตัวเราซึ่งจะตั้งสติที่หนึ่งที่ใด
การมีตัวเราที่จะตั้งสติที่หนึ่งที่ใด จะไม่สามารถรู้ว่า สติเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้น ต้องละคลายตั้งแต่ขั้นต้นโดยการรู้สภาพของสติว่า แม้สติก็เป็นอนัตตา จึงจะค่อยๆ อบรมปัญญาที่จะรู้ว่า สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตาจากการรู้ว่า แม้สติก็เป็นอนัตตา
ถ. ยากที่จะรู้ นี่เป็นรูปหรือเป็นนาม
สุ. เสียงไม่รู้อะไรเลย แต่ปรากฏให้รู้ทางหู เพราะฉะนั้น เสียงเป็นรูปธรรม แต่สภาพที่กำลังได้ยินเสียง เสียงจึงปรากฏ ลักษณะนั้นเป็นนามธรรม
ถ. คำว่า หนอ หนอ หมายความว่าอย่างไร
สุ. หนอ คือ คิดคำ คิดถึงคำว่า หนอ
ถ. ทุกสิ่งทุกอย่างที่มากระทบทางหู ทางตา เราก็กำหนดว่า ได้ยินหนอ ได้ยินหนอ …
สุ. ก็เป็นตัวตนที่จะทำอย่างนั้น จะทำอย่างนี้ โดยไม่รู้ว่า สติเป็นอนัตตา
ถ. พองหนอ ยุบหนอ ไม่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งมารบกวน จิตเป็นสมาธิ อย่างนี้จะว่าอย่างไร
สุ. ต้องการสมาธิ หรือต้องการรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตามปกติในขณะนี้
ถ. ไม่มีอะไรปรากฏนี่
สุ. เวลานี้ก็เห็น
ถ. จิตนึกคิดเป็นสมาธิ …
สุ. ก็ไปทำให้เป็นหนึ่งนี่ ไม่ใช่ปกติที่เห็นในขณะนี้ ปกติที่ได้ยินในขณะนี้ ตามเหตุตามปัจจัย และถ้าหลับตาจะรู้ไหมว่า กำลังเห็นเป็นสภาพนามธรรม ซึ่งไม่ใช่เราเห็น
พ.อ.ธงชัย เวลาใกล้จะหมดแล้ว ขอเรียนถามเป็นคำถามสุดท้าย ไม่เรียนปริยัติ ทำไมจึงปฏิบัติวิปัสสนาไม่ได้ เพราะเหตุอะไร ไม่อย่างนั้นคนไม่รู้หนังสือก็ไม่มีโอกาสได้ปฏิบัติวิปัสสนา
สุ. ปริยัติคืออะไร ปริยัติไม่ใช่กระดาษ สมุด ดินสอ แต่ปริยัติ คือ พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง ที่ปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้น การเรียนปริยัติหมายความถึงการฟังให้เข้าใจเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถ้าไม่เข้าใจเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จะปฏิบัติอะไร เพราะว่าการปฏิบัตินั้นเพื่ออะไร ถ้าไม่ใช่เพื่อความรู้ เพื่อปัญญาที่ประจักษ์แจ้งชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่มีปรากฏตั้งแต่เกิดจนตาย
ถ้าเกิดจนตายไปโดยไม่รู้เรื่องของสภาพธรรมที่มี คือ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส สุข ทุกข์ คิดนึกต่างๆ นั่นคือ ผู้ที่ไม่ศึกษาปริยัติ คือ เกิดมาแล้วก็ตายไปโดยไม่ได้ฟังเรื่องของสภาพธรรมที่ปรากฏที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง
เพราะฉะนั้น ถ้าใครคิดว่าจะปฏิบัติโดยไม่ศึกษา ก็คือ ไม่ฟังให้เข้าใจในเรื่องของสภาพธรรมซึ่งเป็นปริยัติ ซึ่งเป็นการเข้าใจเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ผู้นั้นจะมีพระธรรมเป็นสรณะ หรือว่าจะมีอะไรเป็นสรณะ เพราะเหตุว่าทุกท่านที่ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ไม่ได้ถึงแต่พระผู้มีภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสรณะ แต่ยังถึงพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงเพื่อให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมดับกิเลสได้เป็น สรณะด้วย
การฟังพระธรรมที่ทรงแสดงเรื่องของสภาพธรรม ก็เพื่อให้ปัญญาเกิดขึ้นปฏิบัติกิจของปัญญา สติเกิดขึ้นปฏิบัติกิจของสติ ไม่ใช่ว่าไม่ได้ฟังพระธรรมเลย ก็สามารถปฏิบัติธรรมได้ ถ้าอย่างนั้นไม่ต้องมีธรรมเป็นสรณะ ซึ่งเท่ากับว่าไม่ต้องมีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสรณะนั่นเอง เพราะหนทางข้อปฏิบัติที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมนั้น คนอื่นไม่สามารถแสดงได้ นอกจากพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ศึกษา ก็ไม่ทราบว่าจะมีประโยชน์อะไรกับการที่มีพระธรรมเป็นสรณะ และก็บอกว่า ปฏิบัติโดยไม่ต้องศึกษา
ศึกษา ไม่ใช่ศึกษาอื่น แต่ศึกษาพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และ ทรงแสดง เมื่อเข้าใจแล้ว สภาพธรรม คือ สติ จะเกิดขึ้นปฏิบัติกิจของสติ คือ สัมมาสติ ปัญญาเกิดขึ้นปฏิบัติกิจของปัญญา คือ สัมมาทิฏฐิ ความเข้าใจถูก ความเห็นถูก วิริยะเกิดขึ้นปฏิบัติกิจของวิริยะ คือ สัมมาวายามะ ไม่ใช่ตัวตนที่ไปทำ เพราะว่ามรรคมีองค์ ๘ ได้แก่ เจตสิกซึ่งเป็นสภาพธรรมที่กระทำกิจของตนๆ
ถ้าสัมมาสติไม่เกิดขึ้น จะไม่มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ และถ้าไม่มีการน้อมพิจารณาลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ขณะนั้นก็ไม่ใช่สัมมาทิฏฐิ เพราะว่าปัญญาเท่านั้นที่สามารถกระทำกิจพิจารณา ค่อยๆ รู้ในลักษณะของ สภาพธรรมจนกว่าจะรู้ชัด ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ ปัญญาจะเกิดขึ้นได้เอง โดยที่ไม่มีการฟังพระธรรม
เพราะฉะนั้น การปฏิบัติ หมายความถึงเมื่อฟังแล้ว เข้าใจแล้ว สภาพธรรม คือ โสภณเจตสิก ซึ่งเป็นมรรคมีองค์ ๘ จะเกิดขึ้นกระทำกิจของมรรคนั้นๆ ร่วมกัน ไม่ใช่เรา
พ.อ.ธงชัย พระครูสังวรท่านบอกว่า ฟังธรรมบรรยายของอาจารย์แล้ว ท่านก็มีความเลื่อมใส แต่ไม่รู้ว่าท่านอาจารย์เป็นใคร เพราะฉะนั้น อยากจะขอทราบประวัติย่อของอาจารย์บ้าง แม้ผมเองในขณะนี้ ก็รู้จักอาจารย์ว่าเป็นอาจารย์เท่านั้น ไม่มีโอกาสรู้รายละเอียดมากนัก แต่เท่าที่ผมทราบ อาจารย์บรรยายธรรมมานาน ตั้งแต่บรรยายพระอภิธรรมที่วัดสระเกศ สัก ๒๐ ปีกระมัง
สุ. ประวัติก็คือ นามธรรมและรูปธรรมเกิดขึ้น ถูกไหม และมีโอกาสได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อาจจะก่อนท่านผู้ฟังที่นี่หรือพร้อมๆ ท่านผู้ฟังบางท่านที่นี่ โดยเริ่มจากเรียนพระอภิธรรมที่พุทธสมาคมเปิดสอน ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๙๖ และตั้งแต่นั้นมาก็ศึกษาธรรมทั้งที่เป็นส่วนของพระไตรปิฎกและอรรถกถา และอบรมเจริญสติปัฏฐานตลอดมา เท่านั้นเอง ก็เป็นนามธรรมและรูปธรรมที่มีโอกาสได้ศึกษาธรรม
พ.อ.ธงชัย มีจดหมายผู้ฟังที่กรุงเทพ ฯ ได้รับฟังรายการของอาจารย์ทางสถานีวิทยุ สทร. เขารู้สึกว่า มีความเลื่อมใสและประทับใจ อยากจะให้ผู้ที่ปฏิบัติ ใหม่ๆ ได้รู้อย่างเขาบ้าง เขาถึงกับอัดเทป และถอดออกมาจากเทปคัดออกมาเป็นอักษร ส่งมาให้คณะนักศึกษาธรรม บอกว่า ข้อความเหล่านี้ดีเหลือเกิน เป็นประสบการณ์ที่เขาติดอกติดใจมาก ท่านอาจารย์จะให้ผมอ่านสักนิดไหม นี่เขาถอดจากเทป
เป็นนักศึกษาที่ถามอาจารย์ในการบรรยายธรรม ผมคิดว่า คงจะที่วัดมหาธาตุ อาจารย์เปิดโอกาสให้ผู้ฟังว่า ใครมีประสบการณ์จากการปฏิบัติธรรมอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะผู้ปฏิบัติธรรมใหม่ๆ มีนักศึกษาคนหนึ่งยืนขึ้นมาบอกว่า ผมจะเล่าเรื่องการเจริญสติในเบื้องต้นที่กระผมผ่านมาให้ท่านผู้ฟังได้ฟังบ้าง
สุ. ดิฉันเรียนให้ทราบได้ไหมว่าเป็นใคร เขาคือ พ.อ. ธงชัย
พ.อ.ธงชัย ผมเอง ลืมแล้ว ถ้าอย่างนั้นผมไม่ขออ่าน
สุ. แต่ดิฉันจำได้ ซึ่งโดยมากจะจำได้ว่า ท่านผู้ถามเป็นใคร จดหมายฉบับนี้ เป็นข้อความที่ถอดจากเทป และมีข้อความตั้งต้นว่า
“ ที่เวียนมาสำหรับนักศึกษาใหม่ๆ จะได้พิจารณาได้เต็มที่ ถ้าอยากจะฟังตรงข้อความนี้อีก ท่านจะต้องรออีกเกือบปีจึงจะได้ฟังอีก ต้องพยายามฟังให้เข้าใจ ท่านเจ้าคุณอุบาลี สิริจันทรโท ท่านกล่าวไว้ว่า ที่เห็นว่าง่ายๆ นี้แหละ ท่านบอกว่า ยาก ...”
ภาคเช้า เวลา ๖.๐๐ น. วันที่ ๒๓ ต.ค. ๒๕๒๕ จดหมายฉบับนี้ไม่มีระบุว่า ถึงใคร แต่เป็นข้อความที่คัดมาจากเทปที่ดิฉันเองบรรยาย
“ พระโสดาบันเป็นพระอริยบุคคล ซึ่งหมายความถึงปัญญาที่สามารถดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ไม่เกิดอีก แต่ว่ากิเลสมีมาก เพราะฉะนั้น การดับกิเลส ดับทีเดียวถึงความเป็นพระอรหันต์ไม่ได้ จะต้องดับขั้นต้น เป็นพระโสดาบันบุคคล คือ ดับความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ดับความสงสัย ความไม่รู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม พระโสดาบันไม่มีความสงสัยในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม และไม่มีความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน แต่ยังมีโลภะ โทสะ โมหะ ซึ่งจะต้องอาศัยการเจริญปัญญาถึงขั้นสมบูรณ์ที่จะเป็นพระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ จึงจะดับกิเลสต่อไปเป็นลำดับ เป็นขั้นๆ จนหมดสิ้นเป็นสมุจเฉท ไม่ทราบว่าท่านผู้ฟังยังมีข้อสงสัยอะไรอีกหรือเปล่า ท่านที่ปฏิบัติอยู่และมีประสบการณ์ในการปฏิบัติ การที่จะเริ่มเข้าใจธรรมในขั้นต้นจนกระทั่งถึงขั้นอบรมเจริญสติปัฏฐาน ควรที่จะได้อนุเคราะห์ท่านผู้อื่นให้ได้รับฟังข้อปฏิบัติของท่านด้วย มีไหม “
นี่คือจากเทปซึ่งนักศึกษาท่านหนึ่ง คือ ท่านพ.อ.ธงชัย ซึ่งได้กล่าวข้อความต่อไปนี้
“วันนี้เป็นประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวผมนะครับ ...”
อ่านต่อได้ไหม
พ.อ.ธงชัย ขอประทานโทษ ผมไม่ทราบจริงๆ ว่า เป็นข้อความของผม เพราะฉะนั้น ผมขอผ่านไปก่อน และผมได้อัดลงไปในเทปตอนท้ายๆ ทุกวัน วันละครึ่งหน้า เพราะฉะนั้น ฟังในวิทยุก็แล้วกัน สำหรับในวันนี้ เวลาก็เหลือเพียงเล็กน้อย ขอบคุณครับ
เพราะฉะนั้น ก็อย่าใจร้อน ผมเองร้อนกว่าท่านผู้ฟังหลายเท่านัก ผมเองเป็นคนใจร้อน เรื่องปฏิบัตินี้ สติเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง สองครั้ง ก็อยากจะมีปัญญารู้อะไรมากมาย ความจริงไม่ง่ายอย่างนั้น สิ่งที่ปรากฏทางทวารทั้งหลายนั้นเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง และเป็นธรรมชาติที่ลึกซึ้ง ที่เร้นลับ ที่ไม่สามารถจะเห็นได้ง่ายๆ เพราะฉะนั้น การที่เรามีสติเพียงนิดๆ หน่อยๆ จะรู้ไหม ผมว่ายากที่จะเกิดปัญญา แต่ว่าเราสร้างเหตุที่ถูกต้องแล้ว เราเดินทางที่ถูกต้องแล้ว คงจะต้องเจริญต่อไป ถ้าหากว่าเราไม่หวังผลมากเกินไป รู้สึกว่าปัญญาจะเกิดง่ายขึ้น ใช่ไหม
สุ. ปัญญาที่ว่าเกิดง่าย ก็ต้องเป็นไปตามลำดับขั้น ทีละเล็กทีละน้อย
ถ. ผมอยากจะเรียนถามอาจารย์ต่อ คือ คำว่า นึก กับรู้สึก นั้นต่างกัน ตัวอย่างเช่น เกลือ นึกรู้ว่าเค็ม อย่างนี้เป็นนึก เป็นอดีต เอาเกลือมาสัมผัสกับลิ้น จึงรู้สึกว่าเค็ม อย่างนี้เรียกว่ารู้สึก เป็นปัจจุบันธรรม นึกใช้กับการเจริญสมถะ รู้สึก ใช้กับการเจริญวิปัสสนา ถูกต้องหรือไม่
สุ. บางทีสิ่งที่มีอยู่เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ของธรรมดาๆ อาจจะเกิด งงก็ได้ อย่างคำว่า นึก คืออะไร เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม เป็นนามธรรมเพราะฉะนั้น นึกไม่ใช่เห็น ถูกไหม นึกไม่ใช่ได้ยิน เพราะได้ยินกำลังรู้เสียง นึกไม่ใช่การรู้กลิ่น นึกไม่ใช่ขณะที่ลิ้มรส นึกไม่ใช่ขณะที่กำลังรู้เฉพาะแข็ง ยังไม่ได้นึกอะไรเลย
เพราะฉะนั้น นึก คือ การคิดคำต่างๆ เรื่องต่างๆ เท่านั้นเอง ไม่ว่าจะเป็นขณะไหน แต่สำหรับสมถภาวนา เป็นการให้จิตสงบโดยที่ขณะนั้นไม่ใช่การระลึกรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรมที่จะละการยึดถือว่าเป็นตัวตน
พ.อ.ธงชัย ที่จริงก็เป็นสภาพธรรมชาติอย่างหนึ่ง รู้สึกว่าจะเกิดคั่นอยู่ตลอดเวลา สภาพนึกคิดเป็นนามธรรม ขณะใดที่สภาพนึกคิดเกิดขึ้น แสดงว่าขณะนั้นเราไม่ได้พิจารณารูปเย็น ร้อน อ่อน แข็ง เพราะว่านึกคิดเข้ามาคั่น แต่นึกคิดนั้น เป็นอารมณ์ของการเจริญวิปัสสนาได้ ใช่ไหม
สุ. สภาพธรรมทุกอย่างที่มีจริง ไม่ใช่ตัวตน ปัญญาที่รู้ลักษณะของ สภาพธรรมนั้นถูกต้อง ขณะนั้นจึงจะเป็นวิปัสสนา คิด ไม่ใช่ว่าไม่มี เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง เป็นจิตประเภทหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่จิตเห็น ไม่ใช่จิตได้ยิน เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานจะต้องรู้ว่า ขณะใดที่คิด ขณะนั้นเป็นสภาพรู้ชนิดหนึ่ง แต่เป็นการรู้คำ รู้เรื่อง ไม่ใช่รู้กลิ่น รู้รส เป็นต้น