แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1209

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฎราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๖


สุ. ถ้าคิดถึงในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน มีผู้ที่มีศรัทธาเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคอย่างยิ่ง ซึ่งบุคคลเหล่านั้นย่อมต้องได้ฟังเรื่องของการเจริญ สติปัฏฐาน การอบรมเจริญอินทรีย์ ๕ แม้กระนั้นพระผู้มีพระภาคก็ยังทรงพยากรณ์ว่า บุคคลนั้นๆ จะบรรลุธรรมในกาลข้างหน้าโน้น แสดงให้เห็นว่า แม้พระผู้มีพระภาคเองก็ไม่ได้ทรงแสดงหนทางลัดเพื่อให้สติปัฏฐานเกิดมากๆ เพราะถ้ามีหนทางอื่น พระผู้มีพระภาคก็ย่อมทรงแสดงว่า ให้ไปสู่สำนัก หรือให้ไปสู่ป่า หรือให้จดจ้องที่ลักษณะของนามนั้นหรือรูปนี้เพื่อที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ซึ่งผู้มีพระภาคเป็นผู้ที่ทรงรู้อินทรีย์ของสัตว์โลกทั้งปวง

ธัมมปทัฏฐกถาแปล ภาค ๓ พาลวรรควรรณนา มีข้อความที่จะให้ท่านผู้ฟังพิจารณาว่า แม้ผู้ที่มีศรัทธาในพระผู้มีพระภาคอย่างยิ่ง ก็ไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้โดยเร็ว ในเมื่อยังไม่ได้อบรมเจริญอินทรีย์จนคมกล้า

ข้อความโดยย่อมีว่า

สมัยที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเวฬุวัน นายมาลาการ ชื่อสุมนะ บำรุงพระเจ้าพิมพิสารด้วยดอกมะลิ ๘ ทะนานแต่เช้าตรู่ทุกวัน ย่อมได้กหาปนะวันละ ๘ กหาปนะจากพระเจ้าพิมพิสาร

วันหนึ่งเขาเห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปสู่พระนครเพื่อบิณฑบาต เขามีจิตเลื่อมใสบูชาพระผู้มีพระภาคด้วยดอกมะลิสำหรับบูชาพระเจ้าพิมพิสารด้วยความคิดว่า พระเจ้าแผ่นดินจะทรงฆ่าเราเสียก็ตาม ขับไล่เสียจากแคว้นก็ตาม ก็พระราชานั้น แม้เมื่อพระราชทานแก่เรา พึงพระราชทานทรัพย์สักว่าเลี้ยงชีพในอัตภาพนี้ ส่วนการบูชาพระศาสดา อาจเพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่เราในโกฏิกัปป์เป็นอเนกทีเดียว เมื่อจิตที่ยอมสละชีวิตตนเพื่อบูชาพระผู้มีพระภาคเกิดขึ้นแล้ว นายมาลาการนั้นก็คิดว่า จิตเลื่อมใสของเราไม่กลับกลายเพียงใด เราจักทำการบูชาเพียงนั้นทีเดียว

เป็นปัญญาของบุคคลในครั้งนั้นหรือเปล่าที่รู้ว่า ความเลื่อมใสศรัทธาก็เกิดดับ สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้ แม้จิตคิดจะบูชาพระผู้มีพระภาคด้วยดอกมะลิก็ตาม แต่ก็ยังไม่แน่ว่า จะบูชาได้เพียงใด เพราะนายมาลาการนั้นคิดว่า จิตเลื่อมใสของเราจะไม่กลับกลายเพียงใด เราจักทำการบูชาเพียงนั้นทีเดียว

เขาเป็นผู้ร่าเริงบันเทิงแล้ว มีจิตเบิกบานและแช่มชื่นบูชาพระศาสดา โดยซัดดอกมะลิ ๒ กำขึ้นไปเบื้องบนพระศาสดา แล้วดอกมะลิ ๒ กำนั้น ก็ได้ตั้งเป็นเพดานเบื้องบนพระเศียร

จิตเลื่อมใสยังไม่หมด

เขาซัดดอกมะลิอีก ๒ กำ ซึ่งดอกมะลิ ๒ กำนั้น ก็ย้อยลงมาตั้งทางพระหัตถ์เบื้องขวา เขาซัดดอกมะลิอีก ๒ กำ ซึ่งดอกมะลิ ๒ กำนั้น ก็ย้อยลงมาตั้งทาง พระปฤษฎางค์ (คือ ทางเบื้องหลัง) เขาซัดดอกมะลิอีก ๒ กำ ซึ่งดอกมะลิ ๒ กำนั้น ก็ย้อยลงมาตั้งทางพระหัตถ์เบื้องซ้าย ซึ่งดอกมะลิทั้งหลายได้หันขั้วเข้าข้างใน หันกลีบออกข้างนอก พระผู้มีพระภาคเป็นราวกะว่า แวดล้อมด้วยแผ่นเงิน เสด็จไปแล้ว …

นายสุมนมาลาการถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วได้ถือกระเช้าเปล่ากลับไปบ้าน เล่าเรื่องให้ภรรยาฟัง แต่ภรรยาเป็นผู้ที่ไม่เลื่อมใสแม้ในพระปาฏิหาริย์ของ พระผู้มีพระภาคแม้ปานนั้น ภรรยารีบไปเฝ้าพระเจ้าพิมพิสาร แล้วกราบทูลให้ทรงทราบว่า ขอให้การกระทำของนายสุมนมาลาการ จงเป็นการกระทำของเขาแต่ผู้เดียว เพราะภรรยาของนายสุมนมาลาการคิดว่า พระเจ้าพิมพิสารคงจะทรงพระพิโรธในการที่นายสุมนมาลาการไม่ได้บูชาพระองค์ด้วยดอกมะลิ

แสดงให้เห็นถึงอัธยาศัยที่ต่างกัน และเมื่อท่านพระอานนท์ได้กราบทูลถาม พระผู้มีพระภาคถึงเหตุการณ์นั้น พระผู้มีพระภาคตรัสกะท่านพระเถระว่า

อานนท์ เธออย่าได้กำหนดว่า กรรมมีประมาณเล็กน้อยอันนายมาลาการนี้กระทำแล้ว ก็นายมาลาการนี้ได้สละชีวิตกระทำการบูชาเราแล้ว เขายังจิตให้เลื่อมใสในเราด้วยอาการอย่างนี้ จักไม่ไปสู่ทุคติตลอดแสนกัป ดังนี้แล้ว ตรัสว่า

นายมาลาการจะดำรงอยู่ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย จักไม่ไปสู่ทุคติตลอดแสนกัป นี่เป็นผลแห่งกรรมนั้น ภายหลังเขาจักเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า นามว่า สุมนะ

ก็ในเวลาพระผู้มีพระภาคเสด็จถึงพระวิหาร เข้าไปสู่พระคันธกุฎี ดอกไม้เหล่านั้นได้ตกลงที่ซุ้มพระทวารแล้ว

ท่านผู้ฟังเพียงได้ฟังพระธรรมไม่มากเลยในชาตินี้ แต่ก็หวังเหลือเกินที่จะให้สติเกิดมากๆ อินทรีย์อะไรก็ไม่คำนึงถึงทั้งนั้น เมื่อไรจะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเกิดดับ มีทางใด วิธีใด ทางลัดใด ที่จะให้ประจักษ์การเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมโดยเร็ว เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ไหม

ท่านผู้ฟังมีความศรัทธาเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเท่ากับนายสุมนมาลาการหรือเปล่า แต่แม้กระนั้นนายสุมนมาลาการก็ยังไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้จนกว่าอินทรีย์จะแก่กล้า และ ภายหลังเขาจักเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า นามว่าสุมนะ

เพราะฉะนั้น ควรที่จะเปรียบเทียบกับชีวิตของท่านตามความเป็นจริงว่า กว่าจะอบรมเจริญอินทรีย์ ๕ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ระลึกรู้ลักษณะของ นามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ จะต้องนานสักเพียงไร เพราะเวลาที่ยาวนานเป็นการแสดงให้เห็นว่า ปัญญาต้องรู้ละเอียดและรู้ทั่ว มิฉะนั้นแล้วทำไมจะต้องนาน น่าคิดไหมว่า ทำไมสาวกแต่ละองค์กว่าที่ท่านจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ต้องอบรมบารมีหรืออินทรีย์นาน ทำไมต้องนาน ก็เพราะว่าต้องรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามปกติโดยละเอียดและโดยทั่วจริงๆ แม้ในขณะนี้ ก็ต้องระลึกรู้ลักษณะของ นามธรรมและรูปธรรมแต่ละขณะ

สังขารขันธ์ที่ปรุงแต่งแต่ละขณะ ไม่ใช่แต่เฉพาะสังขารขันธ์ที่เป็นกุศล แม้สังขารขันธ์ที่เป็นอกุศลก็ปรุงแต่งด้วย นี่คือชีวิตตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น วันนี้อกุศลประเภทไหนเกิดบ้างแล้ว โลภะ ความยินดีพอใจทางตา หรือทางหู หรือ ทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจของแต่ละบุคคล เมื่อวานนี้ วันนี้ พรุ่งนี้ ซ้ำ เสมอๆ ตามอัธยาศัย

เพราะฉะนั้น อกุศลซึ่งเป็นสังขารขันธ์ ก็ปรุงแต่งชีวิตของแต่ละคนให้ต่างๆ กันไป ซึ่งในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ไม่ว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศล ก็ตาม จะเห็นได้ว่า แม้อินทรีย์ที่เป็นกุศล ซึ่งเป็นสังขารขันธ์ ก็ปรุงแต่งส่วนของกุศล สังขารขันธ์ที่เป็นอินทรีย์ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าผู้ใดจะมีอกุศลประเภทใดเกิดขึ้น อินทรีย์ซึ่งเป็นกุศลสังขารขันธ์ซึ่งได้อบรมเจริญแล้ว ก็จะต้องระลึกรู้ลักษณะสภาพของ อกุศลนั้นตามความเป็นจริง จนกว่าจะละการยึดถืออกุศลนั้นว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล

เพราะฉะนั้น การที่พระอริยสาวกแต่ละองค์ต้องอบรมเจริญอินทรีย์นานกว่าจะ รู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็เพราะเหตุว่าต้องรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมโดยทั่ว และโดยละเอียด ดังนั้น ชีวิตในวันนี้ของท่าน เมื่อสติปัฏฐานไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมโดยทั่วและโดยละเอียด วันไหนจึงจะโดยทั่วและโดยละเอียด อีกนานเท่าไรจึงจะเป็นโดยทั่วและโดยละเอียดได้ ซึ่งก็ต้องเป็นระยะเวลาที่ยาวนานมากนั่นเอง

ถ. สักกายทิฏฐิยึดถือขันธ์ ๕ ว่าเป็นตัวตน ส่วนมานะก็ยึดถือขันธ์ ๕ ว่า เป็นเรา เพราะฉะนั้น สักกายทิฏฐิกับมานะต่างกันอย่างไร

สุ. สักกายทิฏฐิ เป็นความเห็นผิด แต่มานะไม่ใช่ความเห็นผิด เป็นความสำคัญตน เป็นเจตสิกแต่ละประเภท

ถ. ต่างกันโดยเป็นเจตสิกแต่ละประเภทเท่านั้น

สุ. และทำอย่างไรจึงจะรู้ได้ว่าเป็นสภาพธรรม หรือเป็นเจตสิกแต่ละประเภท ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด และสติปัฏฐานระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมโดยทั่ว จึงจะรู้ได้ว่า ลักษณะของความเห็นผิดต่างกับลักษณะของมานะ ถ้าไม่อบรมเจริญ สติปัฏฐานจริงๆ จะยังสงสัยอยู่ว่า ลักษณะของทิฏฐิทำไมจึงไม่ใช่ลักษณะของมานะ เพราะฉะนั้น ขณะใดที่ความสำคัญตนเกิดขึ้น ให้รู้ว่าขณะนั้นไม่มีทิฏฐิหรือความเห็นใดๆ เลย

ท่านผู้ฟังเคยรู้สึกว่าเป็นคนสำคัญบ้างไหม หรืออยากจะให้คนอื่นเห็นความสำคัญของท่านบ้างไหม ในบางกาละ ในบางเทศะ อาจจะรู้สึกเสียใจ น้อยใจที่ไม่มีใครเห็นความสำคัญของท่าน ซึ่งในขณะนั้นไม่ได้มีความเห็นใดๆ ทั้งสิ้นที่จะเป็นมิจฉาทิฏฐิ มีแต่ความสำคัญตนเท่านั้นเอง

ถ. มานะเกิดกับโลภมูลจิต ทิฏฐิก็เกิดกับโลภมูลจิต อาจารย์มีตัวอย่างเพื่อที่จะแยกออกจากกันให้เห็นชัดบ้างไหม เช่น ขณะที่รับประทานอาหาร ขณะนั้นไม่มีโลภะ ไม่มีทิฏฐิด้วย ใช่ไหม

สุ. ก็ไม่จำเป็นที่มานะหรือทิฏฐิจะเกิดในขณะที่รับประทานอาหาร

ถ. ในขณะใดที่อยากให้คนอื่นชมเชยว่า เราดีกว่าเขา หรือเราเสมอเขา ก็คิดว่าอาหารมื้อนี้ของเราราคาตั้ง ๓๐๐ กว่าบาท คนอื่นอาจจะไม่สามารถซื้อรับประทานได้

สุ. หรือว่าในขณะที่บริโภคด้วยกิริยามารยาทที่ถูกต้อง ก็อาจจะเห็นกิริยาอาการมารยาทในการบริโภคของคนอื่นที่ไม่เหมาะสม ในขณะนั้นก็อาจเกิดความสำคัญตนว่า เราเป็นผู้มีมารยาทงามในการบริโภค คนอื่นขาดมารยาทในการบริโภคก็ได้ หรือบางท่านอาจจะตักอาหารมากไป ทำให้คนอื่นอาจเกิดความสำคัญตน ได้ว่า ทำไมบุคคลนี้จึงตักอาหารมาก ในเมื่อไม่สมควรที่จะตักอาหารมากจนเกินไป

เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ นอกจากสติจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏแล้ว ยังสามารถที่จะเป็นสติปัฏฐานที่จะรู้ว่า แม้ขณะนั้นๆ ก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนได้

ถ. มานะของปุถุชนกับของพระอริยเจ้านั้น มีความต่างกันหรือไม่

สุ. สภาพของมานะก็เป็นสภาพของมานะ ไม่ใช่สภาพของความเห็นผิด ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลแล้วไม่มีทิฏฐิ แต่ยังคงมีมานะ ลักษณะของมานะก็ยังคงเป็นมานะ มิฉะนั้นแล้วพระเจ้ามหานามะก็คงไม่ทรงมีมานะอย่างแรงกล้า แต่เพราะท่านสะสมอัธยาศัยที่จะมีมานะอย่างแรง เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะเป็นพระอริยบุคคลแล้ว ก็ยังไม่ได้ดับมานะได้

การอบรมเจริญสติปัฏฐานต้องเป็นปกติ และต้องเป็นผู้ตรง เป็นผู้ละเอียดที่จะรู้ว่า แต่ละบุคคลต่างอัธยาศัยกันตามการสะสม

ตติยสมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัย มหาวรรควรรณนา มีข้อความที่แสดงให้เห็นถึงการสะสมของพระสาวกบางท่านในอดีตชาติ ซึ่งจะขอแสดงอุปนิสัยในอดีตของท่านพระยศและสหายของท่าน ๕๔ คน ข้อความมีว่า

ในอดีตกาล สหาย ๕๕ คน จะทำบุญร่วมกัน จึงเที่ยวช่วยกันจัดการศพคนอนาถา

สมัยนี้มีไหม ซึ่งการกุศลของแต่ละท่าน อบรมเจริญไปพร้อมกับการเจริญ สติปัฏฐาน จะทำให้อัธยาศัยแม้ในกุศลของท่านต่างกัน จนกระทั่งสามารถจะเกื้อกูลเป็นอินทรีย์ที่คมกล้าให้สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามอุปนิสัยที่ได้สะสมมา เช่น ท่านพระยสะ

วันหนึ่งได้พบหญิงมีครรภ์ตาย ก็คิดว่าจะเผา แล้วได้นำไปยังป่าช้าช่วยกันเผา ๕ คน ส่วนพวกที่เหลือพากันกลับไป

ขณะที่พระยสะในชาตินั้นกำลังแทงและพลิกศพนั้นให้ไฟไหม้อยู่ ก็ได้ อสุภสัญญา ท่านก็ได้แสดงให้สหายอีก ๔ คนเห็นความไม่สะอาด น่าเกลียด ซึ่งสหายทั้ง ๔ คนนั้นก็ได้อสุภสัญญาด้วย และเมื่อทั้ง ๕ ท่านกลับไปบ้าน ก็ได้บอกแก่สหายที่เหลือ มารดาบิดาและภรรยา ซึ่งคนเหล่านั้นก็ได้เจริญอสุภสัญญาบ้าง เพราะเหตุนั้น ในชาตินี้ ท่านพระยสะเมื่อเป็นคฤหัสถ์ จึงสำคัญในหญิงช่างฟ้อนที่นอนหลับทั้งหลายว่า เป็นดังป่าช้า

เพราะฉะนั้น แต่ละท่านที่คิดในทางกุศลแต่ละทาง แม้แต่ในการเห็นสภาพที่ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาของสภาพธรรม ก็ต้องแล้วแต่อัธยาศัยที่สะสมมาจริงๆ ซึ่งไม่มีผู้ใดสามารถที่จะรู้ได้ว่า แต่ละท่านที่กำลังฟังพระธรรมได้สะสมอัธยาศัยอย่างไรในอดีต นอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์เดียวเท่านั้นที่มีญาณหยั่งรู้อินทรีย์และอัธยาศัยของบุคคลอื่นได้ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่า ท่านผู้นี้มีจริตอย่างนี้ ให้เจริญสติปัฏฐานกัมมัฏฐานนั้นหรือว่าบรรพนั้น เพราะไม่สามารถจะรู้ได้จริงๆ ว่า แต่ละคนสะสมอุปนิสัยอย่างไรมา

ซึ่งใน ปรมัตถโชติกา อรรถกถา อุรควรรค ใน สุตตนิบาต มีข้อความว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี บุตรช่างทองคนหนึ่งซึ่งเป็นอุปัฏฐากของท่านพระสารีบุตร ได้บวชในสำนักของท่านพระสารีบุตร ท่านพระสารีบุตรก็คิดว่า อสุภกัมมัฏฐานย่อมเหมาะแก่คนหนุ่มทั้งหลาย จึงให้อสุภกัมมัฏฐานเพื่อกำจัดราคะแก่ภิกษุหนุ่มนั้น จิตแม้สักว่าเสพคุ้นในอสุภกัมมัฏฐานนั้นก็ไม่เกิดแก่ภิกษุนั้น ท่านจึงได้บอกแก่ พระเถระว่า กัมมัฏฐานนั้นไม่เป็นอุปการะแก่ผม พระเถระคิดว่า กัมมัฏฐานนั้นย่อมสบายสำหรับคนหนุ่มทั้งหลาย (สบาย คือ เมื่อพิจารณาหรือเมื่อฟังแล้ว สติปัฏฐานย่อมเกิดได้) จึงบอกกัมมัฏฐานนั้นเองซ้ำอีก ๔ เดือนผ่านไปอย่างนั้น ภิกษุนั้นไม่ได้คุณวิเศษแม้สักอย่างหนึ่ง

เปิด  236
ปรับปรุง  19 ต.ค. 2566