แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1211

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฎราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๓ ต่อวันอาทิตย์ที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๖


แต่ละท่านที่นั่งอยู่ที่นี่ไม่สามารถรู้อดีตชาติของท่านหรือของบุคคลอื่นได้ แต่พระผู้มีพระภาคทรงรู้แจ้งแม้การเจริญอินทรีย์ของแต่ละท่าน

ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ญาณกถา มีข้อความว่า

ข้อ ๒๖๙

อินทริยปโรปริยัตตญาณของพระตถาคตเป็นไฉน ฯ

ในอินทริยปโรปริยัตตญาณนี้ พระตถาคตย่อมทรงเห็นสัตว์ทั้งหลายผู้มีกิเลส ธุลีน้อยในปัญญาจักษุ มีกิเลสธุลีมากในปัญญาจักษุ มีอินทรีย์แก่กล้า มีอินทรีย์อ่อน มีอาการดี มีอาการชั่ว พึงให้รู้แจ้งได้โดยง่าย พึงให้รู้แจ้งได้โดยยาก บางพวกมีปกติเห็นปรโลกและโทษโดยความเป็นภัย บางพวกมิได้เห็นปรโลกและโทษโดยความเป็นภัย ฯ

นี่คือแต่ละท่านในขณะนี้ ท่านผู้ฟังอยู่ในพวกไหน ไม่ยากที่จะรู้จักตัวเองตามความเป็นจริง

ซึ่งข้อความต่อไปอธิบายว่า

คำว่า มีกิเลสธุลีน้อยในปัญญาจักษุ มีกิเลสธุลีมากในปัญญาจักษุ ความว่าบุคคลผู้มีศรัทธา เป็นคนมีกิเลสธุลีน้อยในปัญญาจักษุ บุคคลผู้ไม่มีศรัทธา เป็นคนมีกิเลสธุลีมากในปัญญาจักษุ บุคคลผู้ปรารภความเพียร เป็นคนมีกิเลสธุลีน้อยในปัญญาจักษุ บุคคลผู้เกียจคร้าน เป็นคนมีกิเลสธุลีมากในปัญญาจักษุ บุคคลผู้มีสติตั้งมั่น เป็นคนมีกิเลสธุลีน้อยในปัญญาจักษุ บุคคลผู้มีสติหลงลืม เป็นคนมีกิเลสธุลีมากในปัญญาจักษุ บุคคลผู้มีจิตตั้งมั่น เป็นคนมีกิเลสธุลีน้อยในปัญญาจักษุ บุคคลผู้มีจิตไม่ตั้งมั่น เป็นคนมีกิเลสธุลีมากในปัญญาจักษุ บุคคลผู้มีปัญญา เป็นคนมีกิเลสธุลีน้อยในปัญญาจักษุ บุคคลผู้มีปัญญาทราม เป็นคนมีกิเลสธุลีมากใน ปัญญาจักษุ ฯ

หมายความถึงอินทรีย์ ๕ ซึ่งได้แก่ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญานั่นเอง

ข้อ ๒๗๑ อธิบายคำว่า มีอินทรีย์แก่กล้า มีอินทรีย์อ่อน โดยนัยเดียวกัน

ข้อ ๒๗๒ อธิบายคำว่า มีอาการดี มีอาการชั่ว โดยนัยเดียวกัน

ข้อ ๒๗๓ อธิบายคำว่า พึงให้รู้แจ้งได้โดยง่าย พึงให้รู้แจ้งได้โดยยาก โดยนัยเดียวกัน

ข้อ ๒๗๔ อธิบายคำว่า บางพวกมีปกติเห็นปรโลกและโทษโดยความเป็นภัย บางพวกมิได้เห็นปรโลกและโทษโดยความเป็นภัย โดยนัยเดียวกัน

ข้อ ๒๗๕ อธิบายความหมายของโลกว่า

ชื่อว่าโลก คือ ขันธโลก ธาตุโลก อายตนโลก โลกคือภพวิบัติ โลกคือ สมภพวิบัติ โลกคือภพสมบัติ โลกคือสมภพสมบัติ โลก ๑ คือ สัตว์ทั้งปวงดำรงอยู่ได้เพราะอาหาร โลก ๒ คือ นามและรูป โลก ๓ คือ เวทนา ๓ โลก ๔ คือ อาหาร ๔ โลก ๕ คือ อุปาทานขันธ์ ๕ โลก ๖ คือ อายตนะภายใน ๖ โลก ๗ คือ ภูมิเป็นที่ตั้งวิญญาณ ๗ โลก ๘ คือ โลกธรรม ๘ โลก ๙ คือ ภพเป็นที่อาศัยอยู่ของสัตว์ ๙ โลก ๑๐ คือ อายตนะ ๑๐ โลก ๑๒ คือ อายตนะ ๑๒ โลก ๑๘ คือ ธาตุ ๑๘ ฯ

นี่คือบางพวกมีปกติเห็นปรโลกและโทษโดยความเป็นภัย บางพวกมิได้เห็นปรโลกและโทษโดยความเป็นภัย เพราะฉะนั้น โลกในขณะนี้ ผู้ใดเห็นโดยความเป็นภัย โดยความเป็นโทษมากหรือน้อย ต้องแล้วแต่อินทรีย์ที่ได้สะสมมา

ข้อ ๒๗๖

ชื่อว่าโทษ คือ กิเลสทั้งปวง ทุจริตทั้งปวง อภิสังขารทั้งปวง กรรมอันเป็นเหตุให้สัตว์ไปสู่ภพทั้งปวง เป็นโทษ ความสำคัญในโลกนี้และโทษนี้ว่าเป็นภัยอันแรงกล้า ปรากฏแล้วด้วยประการดังนี้ เหมือนความสำคัญในศัตรูผู้เงื้อดาบเข้ามาจะฆ่าฉะนั้น พระตถาคตย่อมทรงรู้ ทรงเห็น ทรงทราบชัด ทรงแทงตลอดซึ่งอินทรีย์ ๕ ประการนี้ ด้วยอาการ ๕๐ นี้ นี้เป็นอินทริยปโรปริยัตตญาณของพระตถาคต ฯ

โลกในขณะนี้ต้องเห็นว่าเป็นโทษ และเห็นว่าเป็นภัย เพราะเกิดขึ้นและดับไป ไม่เที่ยง ถ้าอบรมเจริญอินทรีย์ ๕ จริงๆ จะต้องเห็นอย่างนี้ได้ แต่ถ้ายังไม่เห็น ก็มีหนทางเดียว คือ อบรมเจริญอินทรีย์ ๕ ด้วยการเจริญสติปัฏฐาน

ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ญาณกถา มีข้อความที่ท่านผู้ฟังจะได้เห็นพระมหากรุณาคุณของพระผู้มีพระภาค ซึ่งถ้าพระองค์ไม่ทรงตรัสรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง และไม่ทรงแสดงข้อปฏิบัติให้สัตว์โลกได้อบรมเจริญอินทรีย์ ๕ เพื่อรู้แจ้งอริยสัจธรรมเช่นพระองค์ สัตว์โลกย่อมตกอยู่ในกองทุกข์ใหญ่หลวง ซึ่งท่านผู้ฟังอย่าลืมว่า พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ หรือแม้สังฆานุสสติ ขณะที่กำลังฟังพระธรรม ในขณะนั้นเองก็เป็นพุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ และสังฆานุสสติด้วย เพราะได้ฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงพระมหากรุณาแสดง ข้อความมีว่า

ข้อ ๒๘๕

มหากรุณาสมาปัตติญาณของพระตถาคตเป็นไฉน ฯ

พระผู้มีพระภาคทั้งหลายผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงพิจารณาเห็นอยู่ด้วยอาการเป็นอันมาก จึงทรงแผ่พระมหากรุณาไปในหมู่สัตว์ คือ พระผู้มีพระภาคทั้งหลายผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสอันไฟติดโชนแล้ว จึงทรงแผ่พระมหากรุณาไปในหมู่สัตว์

เห็นจริงๆ อย่างนี้หรือเปล่าว่า โลกอันไฟติดโชนแล้ว ถ้าเป็นผู้ที่มีสุขไม่มีทุกข์ จะเห็นความจริงข้อนี้ไหม ถ้าไม่เห็น ไม่ถูก เพราะสัจธรรมย่อมเป็นความจริงไม่ว่าสำหรับผู้ที่เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ แม้แต่ผู้ที่เป็นสุขก็ต้องรู้ว่า สุขไม่เที่ยง ไม่มีใครสามารถเป็นสุขอยู่ได้ตลอดกาล ผู้ที่เข้าใจว่า ท่านเป็นผู้ที่มีความสุขมาก ดูเหมือนไม่มีทุกข์อะไรเลย แต่หิวบ้างไหม ต้องการอะไรบ้างไหม ในขณะนั้นเป็นสุขหรือเปล่า ยังไม่อิ่ม ยังแสวงหา ยังมีการอยากได้ ยังมีความต้องการ ในขณะที่ต้องการนั้น เป็นทุกข์ ไม่ใช่เป็นสุข ถ้าเป็นสุขจะต้องการอะไรไปทำไม ในเมื่อเป็นสุขแล้ว

เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตามที่เกิดความหวัง ความปรารถนา ความยินดี ความต้องการ ให้ทราบว่า ท่านไม่ได้เป็นผู้ที่มีสุข

ข้อความต่อไปมีว่า

พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้วทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสยกพลแล้ว ... โลกสันนิวาสเคลื่อนพลแล้ว ... โลกสันนิวาสเดินทางผิดแล้ว ...

ถ้าเข้าใจข้อปฏิบัติผิด เดินทางผิด ไม่สามารถอบรมเจริญปัญญารู้สภาพธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงได้

ท่านผู้ฟังอาจจะสงสัยว่า โลกสันนิวาสยกพลไปไหน

ยกอยู่ทุกวัน แล้วแต่ว่าจะไปทางไหน ทางตาแสวงหาอะไร ทางหูยกพลไปแสวงหาอะไร ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่ใช่เพียงอย่างเดียวที่ท่านแสวงหา ใช่ไหม แต่มากมายหลายอย่างเหมือนกับยกพล หรือเคลื่อนพลไปสู่อารมณ์ที่ต้องการทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

โลกอันชรานำเข้าไป มิได้ยั่งยืน ... โลกไม่มีที่ต้านทาน ไม่เป็นใหญ่ ...

เพราะว่าโลกเองเกิดขึ้นและดับไปตามเหตุตามปัจจัย

โลกไม่มีอะไรเป็นของตน จำต้องละทิ้งสิ่งทั้งปวงไป ... โลกพร่องอยู่เป็นนิตย์ ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสแห่งตัณหา ... โลกสันนิวาสไม่มีที่ต้านทาน ... โลกสันนิวาสไม่มี ที่เร้น ... โลกสันนิวาสไม่มีที่พึ่ง ... โลกสันนิวาสไม่เป็นที่พึ่งของใคร ... โลกสันนิวาสฟุ้งซ่าน ไม่สงบ ... โลกสันนิวาสมีลูกศร ถูกลูกศรเป็นจำนวนมากเสียบแทงแล้ว ใครอื่นนอกจากเราผู้จะถอนลูกศรทั้งหลายของโลกสันนิวาสนั้น เป็นไม่มี ... โลกสันนิวาสมีความมืดตื้อคืออวิชชาปิดกั้นไว้ ถูกใส่เข้าไปยังกรงกิเลส ใครอื่นนอกจากเราซึ่งจะแสดงธรรมเป็นแสงสว่างแก่โลกสันนิวาสนั้น เป็นไม่มี ...

โลกสันนิวาสตกอยู่ในอำนาจอวิชชา เป็นผู้มืด อันอวิชชาหุ้มห่อไว้ ยุ่งดังเส้นด้าย พันกันเป็นกลุ่มก้อน นุงนังดังหญ้าปล้อง หญ้ามุงกระต่าย ไม่ล่วงพ้นสงสาร คือ อบายทุคติและวินิบาต ... โลกสันนิวาสถูกอวิชชามีโทษเป็นพิษแทงติดอยู่แล้ว มีกิเลสเป็นโทษ ... โลกสันนิวาสรกชัฏด้วยราคะโทสะและโมหะ ใครอื่นนอกจากเราผู้จะช่วยสางรกชัฏให้แก่โลกสันนิวาสนั้น เป็นไม่มี ...

โลกสันนิวาสถูกกองตัณหาสวมไว้ ... โลกสันนิวาสถูกข่ายตัณหาครอบไว้ ... โลกสันนิวาสถูกกระแสตัณหาพัดไป ... โลกสันนิวาสถูกตัณหาเป็นเครื่องคล้อง คล้องไว้ ... โลกสันนิวาสซ่านไปเพราะตัณหานุสัย ... โลกสันนิวาสเดือดร้อนด้วยความเดือดร้อนเพราะตัณหา ... โลกสันนิวาสเร่าร้อนด้วยความเร่าร้อนเพราะตัณหา ...

โลกสันนิวาสถูกกองทิฏฐิสวมไว้ ... โลกสันนิวาสถูกข่ายทิฏฐิครอบไว้ ... โลกสันนิวาสถูกกระแสทิฏฐิพัดไป ... โลกสันนิวาสถูกทิฏฐิเป็นเครื่องคล้อง คล้องไว้ ... โลกสันนิวาสซ่านไปเพราะทิฏฐานุสัย ... โลกสันนิวาสเดือดร้อนด้วยความเดือดร้อนเพราะทิฏฐิ ... โลกสันนิวาสเร่าร้อนด้วยความเร่าร้อนเพราะทิฏฐิ ...

โลกสันนิวาสไปตามชาติ ... โลกสันนิวาสซมซานไปเพราะชรา ... โลกสันนิวาสถูกพยาธิครอบงำ ... โลกสันนิวาสถูกมรณะห้ำหั่น ... โลกสันนิวาสตกอยู่ในกองทุกข์ ...

นี่เป็นพระมหากรุณาหรือเปล่า ทรงแสดงซ้ำโดยละเอียดทุกประการ แต่ถ้าท่านผู้ฟังเบื่อ จะไม่เห็นพระคุณที่พระผู้มีพระภาคทรงพระมหากรุณาแสดงโดยละเอียด

ข้อความต่อไปมีว่า

โลกสันนิวาสถูกผูกไว้ด้วยเครื่องผูกเป็นอันมาก เครื่องผูก คือ ราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ กิเลส ทุจริต ใครอื่นนอกจากเราผู้จะช่วยแก้เครื่องผูกให้แก่ โลกสันนิวาสนั้น เป็นไม่มี ... โลกสันนิวาสเดินไปตามทางแคบมาก ใครอื่นนอกจากเราผู้จะช่วยชี้ทางสว่างให้แก่โลกสันนิวาสนั้น เป็นไม่มี ... โลกสันนิวาสถูกความกังวลเป็นอันมากพัวพันไว้ ใครอื่นนอกจากเราผู้จะช่วยตัดความกังวลให้แก่โลกสันนิวาสนั้น เป็นไม่มี ...

โลกสันนิวาสตกลงไปในเหวใหญ่ ใครอื่นนอกจากเราผู้จะช่วยฉุดโลกสันนิวาสนั้นให้ขึ้นพ้นจากเหว เป็นไม่มี ... โลกสันนิวาสเดินทางกันดารมาก ใครอื่นนอกจากเราผู้จะช่วยให้โลกสันนิวาสนั้นข้ามพ้นทางกันดารได้ เป็นไม่มี ... ฯลฯ

ต่อไปเป็นพระมหากรุณาที่ได้ทรงแสดงหนทางช่วยพาโลกสันนิวาสนั้นมาสู่ ทางอริยะ

… โลกสันนิวาสถูกทิฏฐิ ๖๒ กลุ้มรุม จึงทรงแผ่พระมหากรุณาไปให้หมู่สัตว์ว่า ส่วนเราเป็นผู้ข้ามได้แล้ว แต่สัตว์โลกยังข้ามไม่ได้ ส่วนเราเป็นผู้พ้นไปแล้ว แต่ สัตว์โลกยังไม่พ้นไป ส่วนเราทรมานได้แล้ว แต่สัตว์โลกยังทรมานไม่ได้ ส่วนเราสงบแล้ว แต่สัตว์โลกยังไม่สงบ ส่วนเราเป็นผู้เบาใจแล้ว แต่สัตว์โลกยังไม่เบาใจ ส่วนเราเป็นผู้ดับรอบแล้ว แต่สัตว์โลกยังไม่ดับรอบ

ก็เราเป็นผู้ข้ามได้แล้ว จะช่วยให้สัตว์โลกข้ามได้ด้วย เราเป็นผู้พ้นไปแล้ว จะช่วยให้สัตว์โลกพ้นไปด้วย เราทรมานได้แล้ว จะช่วยให้สัตว์โลกทรมานได้ด้วย เราเป็นผู้สงบแล้ว จะช่วยให้สัตว์โลกสงบด้วย เราเป็นผู้เบาใจแล้ว จะช่วยให้สัตว์โลกเบาใจด้วย เราเป็นผู้ดับรอบแล้ว จะช่วยให้สัตว์โลกดับรอบด้วย พระผู้มีพระภาคทั้งหลายผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงพิจารณาเห็นดังนี้ จึงทรงแผ่พระมหากรุณาไปในหมู่สัตว์ นี้เป็นมหากรุณาสมาปัตติญาณของพระตถาคต ฯ

ผู้ที่จะซาบซึ้งในพระมหากรุณาสมาปัตติญาณของพระผู้มีพระภาคมากน้อยย่อมแล้วแต่การเจริญอินทรีย์ของแต่ละบุคคล ท่านผู้ฟังถ้าไม่ได้ศึกษาพระไตรปิฎก อาจจะไม่ทราบว่า ท่านก็เป็นผู้ที่ได้เจริญอินทรีย์ ซึ่งจะมากน้อยต่างกันทราบได้จากชีวิตประจำวันในชาตินี้ เพราะถ้าไม่เคยได้ยิน ได้ฟัง ไม่เคยเข้าใจ ไม่เคยสนใจ หรือไม่เคยมีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญาที่ได้อบรมมาแล้ว ก็คงจะไม่สนใจศึกษาพิจารณาเรื่องการอบรมเจริญอินทรีย์ คือ การเจริญสติปัฏฐาน

เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ว่าแต่ละท่านอบรมเจริญอินทรีย์มาแล้วมากน้อยเพียงไร สังเกตได้จากชีวิตประจำวันของแต่ละบุคคลในชาตินี้ ซึ่งทุกท่านเป็นผู้ที่ตรงต่อตัวเองตามความเป็นจริงว่า ในวันหนึ่งๆ ท่านมีศรัทธาในการศึกษาและอบรมเจริญ สติปัฏฐานเพียงไร หรือว่ามีวิริยะ มีฉันทะมากน้อยแค่ไหน ซึ่งบุคคลอื่นไม่สามารถจะรู้ได้นอกจากตัวท่านเอง และจะเห็นได้ว่า ชีวิตคฤหัสถ์ของแต่ละท่านก็ต่างกันไป แม้จะเป็นผู้ที่กล่าวว่า เป็นพุทธศาสนิกชนมีศรัทธาในพระพุทธศาสนาแล้ว ถ้าพิจารณาจริงๆ บางท่านมีศรัทธาจริง เชื่อว่าตนเองนับถือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ยังไม่มีศรัทธาพอที่จะศึกษาพระธรรมก็มี หรือว่าผู้ที่มีศรัทธาและมีความสนใจใคร่ในการศึกษาพระธรรม แต่ก็ยังไม่ได้พิจารณาไตร่ตรองพระธรรมโดยละเอียดลึกซึ้งจริงๆ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ได้ศึกษาและพิจารณาโดยละเอียดลึกซึ้งจริงๆ ก็ย่อมเข้าใจ พระธรรมผิดพลาดคลาดเคลื่อน ทำให้การปฏิบัตินั้นไม่ใช่เป็นการเจริญอินทรีย์ ๕

จะเห็นได้ว่า พระธรรมซึ่งเป็นธรรมที่ลึกซึ้งสุขุม เป็นสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ถ้าขณะใดที่ยังไม่ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตรงตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ก็แสดงว่าบุคคลนั้นยังต้องอบรมเจริญอินทรีย์ ๕ ต่อไป จนกว่าจะสามารถประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเป็นอนัตตาและกำลังเกิดดับในขณะนี้ได้ ซึ่งท่านผู้ฟังจะทราบว่า บุคคลใดบ้างเป็นผู้ที่เจริญอินทรีย์ และบุคคลใดเป็นผู้ที่เจริญอินทรีย์แล้วจากข้อความใน ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ข้อ ๔๒๘

ข้อความมีว่า

บุคคลเท่าไรเจริญอินทรีย์ บุคคลเท่าไรเจริญอินทรีย์แล้ว

บุคคล ๘ เจริญอินทรีย์ บุคคล ๓ เจริญอินทรีย์แล้ว ฯ

บุคคล ๘ เป็นไฉนเจริญอินทรีย์ พระเสขบุคคล ๗ (ได้แก่ โสดาปัตติมรรค ๑ โสดาปัตติผล ๑ สกทาคามิมรรค ๑ สกทาคามิผล ๑ อนาคามิมรรค ๑ อนาคามิผล ๑ อรหัตตมรรค ๑) กัลยาณปุถุชน ๑ บุคคล ๘ เหล่านี้ เจริญอินทรีย์ ฯ

เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ชื่อว่าเป็นกัลยาณปุถุชน แต่ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ เพราะถ้าข้อปฏิบัตินั้นยังไม่ตรง แม้ว่าจะมีสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมเล็กๆ น้อยๆ แต่ถ้าเข้าใจผิดและประพฤติผิด จะทำให้ไม่ใช่เป็นผู้ที่เจริญอินทรีย์

เปิด  272
ปรับปรุง  19 ส.ค. 2565