แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1220

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฎราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๒๖


. คำถามนี้น่าคิด ในอังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต มีข้อความแสดงว่า ผู้ที่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐานในพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งพระองค์ใดแล้ว แต่ยังไม่บรรลุคุณธรรม ตายแล้วได้ไปบังเกิดในสวรรค์ สาวกของ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นไปแสดงธรรมบนสวรรค์ ผู้ฟังนั้นเมื่อได้ฟังพระธรรมแล้วจะได้บรรลุคุณธรรม เพราะฉะนั้น ในสมัยที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่อุบัติขึ้น การเจริญสติปัฏฐานก็ไม่มี แต่ว่าในพระสูตรนี้ฟังแล้วคล้ายๆ กับว่า หลังจากเจริญสติปัฏฐานแล้วไม่บรรลุก็จริง แต่อินทรีย์ก็อบรมไปเรื่อยๆ อินทรีย์ที่อบรมไปโดยไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน อบรมอย่างไร

สุ. ท่านผู้ฟังอาจจะสังเกตเห็นว่า บุคคลที่ยังไม่ได้ฟังพระธรรม มีอัธยาศัยต่างๆ กัน บางท่านดูเป็นผู้ที่มีสติสามารถระลึกได้ว่า สิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร สามารถตัดสินปัญหาต่างๆ ได้โดยฉับพลันทันที ดูเหมือนเป็นผู้ที่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะและปัญญา แต่เป็นปัญญาในทางโลก ซึ่งสามารถพิจารณาเหตุการณ์ต่างๆ ตัดสินเหตุการณ์ต่างๆ ได้ถูกต้อง ยังไม่ใช่การรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ

เพราะฉะนั้น บุคคลใดก็ตาม อย่างเช่น ท่านพระสารีบุตรและท่าน พระมหาโมคคัลลานะ ซึ่งท่านได้เจริญอินทรีย์มาในชาติก่อนๆ เป็นอันมาก พิจารณาได้จากในขณะที่ท่านทั้งสองกำลังดูมหรสพ และท่านเห็นว่า แม้บุคคลซึ่งกำลังแสดงอยู่ ก็อยู่ได้ไม่นาน หรือว่าผู้ที่ดูอยู่มีความสนุกสนานชั่วครู่ชั่วยาม ก็อยู่ได้ ไม่นาน ทั้งผู้แสดงและผู้ดูก็จะต้องจากโลกนี้ไป ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ท่านสามารถจะระลึกได้ แต่สติและปัญญาของท่านยังไม่สามารถที่จะระลึกเป็นสติปัฏฐาน และรู้แจ้ง อริยสัจธรรมได้ แม้ว่าจะได้อบรมมามากแล้ว

เพราะฉะนั้น การปรุงแต่งของสังขารขันธ์ฝ่ายกุศล ซึ่งเป็นโพธิปักขิยธรรม คือ ธรรมที่เป็นองค์หรือเป็นส่วนประกอบที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ย่อมมีสะสมอยู่ในจิต สามารถที่จะปรุงแต่งให้ปรากฏในเหตุการณ์ต่างๆ ได้ แต่ยังไม่ใช่การรู้แจ้งอริยสัจธรรม จนกว่าจะถึงโอกาสสมควรแก่การที่จะเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า หรือเป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือเป็นพุทธสาวก

ถ. ที่ท่านพระมหาโมคคัลลานะและท่านพระสารีบุตรเกิดความสังเวชขณะที่ดูมหรสพ ความสังเวชในขณะที่ดูมหรสพ ปัญญาที่รู้ในขณะนั้น ชื่อว่าเป็นการอบรมเจริญอินทรีย์ด้วยหรือเปล่า

สุ. ขณะใดที่ไม่เป็นไปในการระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ขณะนั้นไม่ใช่อินทรีย์ ๕ ที่กำลังเจริญ แต่เป็นการปรุงแต่งของอินทรีย์ ๕ ซึ่งได้อบรมแล้วไม่สูญหาย เพราะฉะนั้น จึงปรุงแต่งให้ปรากฏที่จะเป็นความคิดนึกที่ถูกต้องในเหตุการณ์ต่างๆ ได้

ถ. ขณะนั้นมีอินทรีย์เท่าไร

สุ. อินทรีย์ ๕ ซึ่งได้แก่เจตสิกต่างๆ ต่อไปท่านผู้ฟังเมื่อศึกษาเรื่องจิต โดยละเอียดแล้วจะทราบว่า เจตสิกซึ่งเป็นอินทรีย์นั้นเกิดกับจิตประเภทไหน ซึ่งที่จริงแล้วท่านที่มีตำราพระอภิธรรมก็สามารถค้นดูได้ รวมทั้งถ้ามีอรรถกถาก็สามารถอ่านประกอบได้ด้วย

ถ. เรื่องของอาการ ๓๒ โกฏฐาส ๓๒ ท่านบอกว่า ขน ผม เล็บ ฟัน หนัง เป็นบัญญัติ ถ้าผู้ใดท่องบ่น ขน ผม เล็บ ฟัน หนัง ขณะนั้นชื่อว่าท่องบัญญัติ แต่ถ้าผู้ใดท่องว่า ขน ผม เล็บ ฟัน หนัง และสามารถเห็นความเป็นปฏิกูลของขน ผม เล็บ ฟัน หนัง ขณะนั้นชื่อว่าเห็นของจริง เพราะฉะนั้น ความเป็นปฏิกูลนั้น เป็นของจริง แต่สงสัยว่า ความเป็นปฏิกูลนั้นไม่ใช่ของจริงโดยปรมัตถ์

สุ. แต่เป็นของจริงหรือเปล่า ที่ว่าปฏิกูล

ถ. ของจริง แต่ไม่ทราบว่า จะเข้าปรมัตถ์ไหนได้

สุ. กลิ่นเป็นปรมัตถ์หรือเปล่า

ถ. เป็น

สุ. สีเป็นปรมัตถ์หรือเปล่า

ถ. เป็น แต่สีก็ไม่ใช่ปฏิกูลเสมอไป

สุ. ไม่เสมอไป หรือว่าปฏิกูลแต่ไม่เห็น

ถ. หมายความว่า เห็นความเป็นปฏิกูล โดยความเป็นสี กลิ่น รส ต่างๆ อย่างนี้หรือ

สุ. ความจริง สิ่งที่ปรากฏถ้าไม่คุ้นเคยในด้านที่จะเห็นว่าเป็นสุภะ แต่คุ้นเคยในด้านที่จะเห็นว่าเป็นอสุภะ ย่อมเป็นได้ อย่างผมบนศีรษะ ถ้าจะดูให้สวยงาม ก็สวยงาม และเคยเห็นจนชินว่า ลักษณะอย่างนั้นสวย ลักษณะอย่างนี้งาม แต่ถ้าจะพิจารณาในด้านที่ไม่สวยงาม ในด้านที่ไม่สวยนี้ ลองดูจริงๆ ว่า พอที่จะเป็นไปได้ไหม อยู่บนศีรษะสีดำๆ ขาวๆ อะไรต่างๆ สวยไหม ดูจริงๆ

ก็มองได้ทั้ง ๒ อย่าง ดูให้สวยก็ได้ เคยเห็นว่าสวย ลองดูใหม่ให้เห็นว่า ไม่สวย จะได้ไหม เพราะฉะนั้น จะเห็นว่าเป็นปฏิกูล ได้ไหม

. โลภะ โทสะเมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะโยนิโสอย่างไรจึงจะถูกต้อง

สุ. พูดเหมือนกับว่า ถ้าบอกแล้วจะโยนิโสได้เลย เก่งจริงๆ แต่ต้องเป็นเรื่องของการอบรมเจริญธรรมฝ่ายกุศลจนกว่าจะชำนาญ เป็นปัจจัยให้ธรรมฝ่ายกุศลปรุงแต่งเป็นสังขารขันธ์ให้กุศลจิตเกิด อย่าได้พยายามที่จะทำ เพราะว่าไม่มีตัวตนที่สามารถจะทำได้ แต่ถ้าอาศัยการฟัง การพิจารณา ความเห็นถูก ความเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรม ย่อมปรุงแต่งให้กุศลจิตเกิด

ใจร้อน อยากจะให้ไม่มีโลภ ไม่มีโกรธ ไม่มีหลง โยนิโสอย่างไร จะได้ทำๆ ไปให้ไม่มีโลภ ไม่มีโกรธ ไม่มีหลง ก็เป็นสิ่งซึ่งไม่สามารถจะเป็นไปได้อย่างนั้น

ในคราวก่อนได้กล่าวถึง มหาสกุลุทายิสูตร ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสเรื่องการเจริญโพธิปักขิยธรรม ซึ่งได้แก่ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรค ๘ ชื่ออาจจะยังไม่คุ้นหู แต่ให้ทราบว่า การอบรมเจริญ สติปัฏฐาน ๔ ย่อมทำให้สภาพธรรมอื่นๆ เจริญขึ้น จนกระทั่งสามารถที่จะเป็นองค์ คือ ส่วนประกอบ ที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม

เพราะฉะนั้น ถ้าสติระลึกที่แข็งนิดหนึ่ง ถ้าจะให้รู้ก็รู้ว่า แข็งนี้เป็นรูป และสภาพที่รู้นั้นเป็นนาม ก็หมดแล้ว ไม่มีอะไรอีก ดูเหมือนกับว่าไม่มีอะไร แต่ให้ทราบว่า ขณะนั้นสติปัฏฐานยังไม่ได้อบรมเจริญจนกระทั่งสภาพธรรมอื่นเจริญขึ้นพร้อมที่จะเป็นองค์ประกอบให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม จึงต้องอาศัยการระลึกอีกเนืองๆ บ่อยๆ ว่า เพียงแข็ง และสภาพที่รู้แข็ง ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เราที่รู้ เป็นแต่เพียงอาการรู้ ธาตุรู้ ลักษณะรู้ สภาพรู้แข็งจึงได้ปรากฏ และต้องประจักษ์ความเกิดดับของแข็งและสภาพที่กำลังรู้แข็งด้วย

แต่ถ้ายังไม่สามารถประจักษ์การเกิดดับ ก็หมายความว่า จะต้องอบรมเจริญปัญญาจนกว่าธรรมอื่นๆ จะเจริญขึ้น ทั้งสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ และมรรค ๘ รวมเป็นโพธิปักขิยธรรม ๓๗

สำหรับเรื่องของโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ขอกล่าวถึงตามลำดับพอให้เข้าใจว่า การที่ปัญญาจะอบรมเจริญขึ้นจนสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมนั้น ต้องอาศัยการอบรมเป็นเวลานาน และต้องอาศัยธรรมอื่นๆ เช่น สัมมัปปธาน อิทธิบาท และอินทรีย์ ซึ่งจะได้กล่าวถึงตามลำดับด้วย

ท่านผู้ฟังทราบว่า สภาพธรรมกำลังปรากฏ แน่นอน ระลึกอย่างนี้หรือเปล่า เพียงแค่นี้ก็เป็นการระลึกได้ไม่ลืมว่า ขณะนี้มีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่เมื่อหลงลืมสติ จึงไม่ได้ระลึกและไม่ได้ศึกษา เพราะฉะนั้น การฟังเรื่องของการเจริญ สติปัฏฐาน เพื่อให้ระลึกทันทีที่ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพื่อที่จะได้ศึกษาให้รู้ชัดในสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่จะรู้โดยง่าย เพราะแม้สภาพธรรมปรากฏ ก็ลุ่มลึกและเห็นยาก

สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค อรรถกถา วิภังคสูตรที่ ๘ มีข้อความว่า

ในสัจจะ ๔ เหล่านี้ (หมายถึงทุกขสัจจะ ๑ ทุกขสมุทยสัจจะ ๑ ทุกขนิโรธสัจจะคือนิพพาน ๑ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาหรือมรรคสัจจะ ๑ รวมเป็นอริยสัจ ๔) สัจจะ ๒ (คือ ทุกขสัจจะและทุกขสมุทยสัจจะ) ชื่อว่าเป็นธรรมลุ่มลึก เพราะเห็นได้ยาก สัจจะ ๒ (คือ ทุกขนิโรธสัจจะและทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาหรือมรรคสัจจะ) เห็นได้ยาก เพราะเป็นธรรมลุ่มลึก

ท่านผู้ฟังจะเห็นความละเอียดของการแสดงธรรมว่า แม้สัจจะ ๔ เป็นของที่ ลุ่มลึกและเห็นยากทั้ง ๔ แต่แม้กระนั้นข้อความใน อรรถกถาวิภังคสูตร ก็ยังได้กล่าวว่า สัจจะ ๒ (ทุกขสัจจะและทุกขสมุทยสัจจะ) ชื่อว่าเป็นธรรมลุ่มลึก เพราะเห็นได้ยาก แต่ส่วน สัจจะ ๒ (ทุกขนิโรธสัจจะและทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาหรือมรรคสัจจะ) เห็นได้ยาก เพราะเป็นธรรมลุ่มลึก

ถ้าท่านผู้ฟังจะคิดเอง คงต้องเสียเวลานานมากที่จะเข้าใจในข้อความตอนนี้ แต่ข้อความต่อไปอธิบายว่า

จริงอยู่ ทุกขสัจจะก็ปรากฏได้ เพราะความเกิดขึ้นย่อมถึงแม้ซึ่งอันตนพึงกล่าวว่า ทุกข์หนอ ในการกระทบด้วยตอและหนามเป็นต้น

คงจะไม่มีใครที่ไม่รู้จักทุกข์ ใช่ไหม และทุกวันนี้อาจจะบอกว่า มีทุกข์มากมายเหลือเกิน เพิ่มขึ้นทุกวันๆ แต่ว่าทุกคนที่เป็นทุกข์หรือว่ามีทุกข์เกิดขึ้นนี้ น่าจะเห็นว่า ทุกข์นั้นๆ มี เพราะเกิดขึ้น ใช่ไหม ถ้าทุกข์นั้นๆ ไม่เกิด จะมีทุกข์ไหม ก็ไม่มี

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นทุกข์กาย ทุกข์ใจ จะหิว จะปวด เจ็บ เมื่อย หรือแม้แต่เบื่อ รำคาญ ร้อน หนาว ทุกข์อื่นๆ ทั้งหมดที่มี ถ้าพิจารณาธรรมที่เกิดขึ้น ในขณะนั้น ย่อมจะเห็นความลุ่มลึกของสภาพธรรมที่เป็นทุกข์ เพราะว่าเป็นธรรมที่เห็นยากว่า การเกิดขึ้นของธรรมทั้งหลายเป็นทุกข์

เกิดขึ้นแปลว่า มีแล้ว เมื่อมีแล้วก็ต้องเห็นใช่ไหม แต่ไม่เห็น เพราะอะไรเพราะลุ่มลึก จึงเห็นยาก

มีก็มี ทุกข์ก็เกิดอยู่เรื่อยๆ ก็เกิดไป และก็ดับไป และก็เกิดไป และก็ดับไป แต่ไม่เห็นว่าเป็นทุกข์เลย เพราะไม่เห็นว่า การเกิดนั้นเป็นทุกข์

เพราะฉะนั้น ทุกขสัจและทุกขสมุทยสัจ จึงเป็นธรรมที่ชื่อว่าลุ่มลึก เพราะเห็นได้ยาก แม้ว่าเกิดมีขึ้นให้เห็น ก็ไม่เห็น เพราะว่าเป็นสภาพที่ลุ่มลึก

แม้ทุกขสมุทัย คือ ความโลภ ความติด ความพอใจ ความต้องการมีมากไหม ปรากฏได้เพราะเกิดขึ้น ไม่มีใครเลยที่จะไม่มีโลภะ ทุกคนมีโลภะ เพราะฉะนั้น โลภะต้องปรากฏแน่ๆ เพราะว่าโลภะเกิดบ่อยๆ มีความอยากบ่อยๆ เช่น อยากเคี้ยวกิน มีไหม อยากบริโภคใช้สอยสิ่งนั้นสิ่งนี้ต่างๆ ซึ่งมีอยู่เป็นปกติ ในชีวิตประจำวัน เกิดขึ้นบ่อยมาก แต่ว่า โดยการแทงตลอดถึงลักษณะทุกขสัจจะและ สมุทยสัจจะ แม้ทั้ง ๒ ก็เป็นธรรมลุ่มลึก เพราะว่าแม้จะเกิดบ่อย แม้จะมีปรากฏ แต่ ก็เห็นได้ยาก จึงชื่อว่า ลุ่มลึก เพราะเห็นยาก

สำหรับสิ่งที่เกิดมีอยู่เป็นประจำ เช่น ความทุกข์ หรือโลภะซึ่งเป็นสมุทัย แม้ว่าจะเกิดอยู่บ่อยๆ ก็ยังเห็นได้ยาก เพราะเป็นธรรมลุ่มลึก เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่ ไม่เกิดหรือว่าไม่เกิดบ่อยๆ จะเห็นได้ยากเพราะลุ่มลึกสักแค่ไหน ที่ว่าเห็นได้ยากเพราะว่าไม่เกิด อย่างนิพพาน เป็นสภาพธรรมที่ไม่เกิด ตรงกันข้ามกับสังขารธรรม สังขารธรรมทุกอย่างที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นสภาพธรรมที่เกิดจึงปรากฏ แต่ก็ลุ่มลึก เห็นได้ยาก ส่วนสภาพธรรมที่ไม่เกิด จะเห็นยากเพราะลุ่มลึก ใช่ไหม เพราะไม่ได้เกิดขึ้นให้เห็น จึงเห็นยาก และลุ่มลึก

และสำหรับมรรคมีองค์ ๘ คือ สติปัฏฐาน เกิดบ่อยไหม เมื่อไม่บ่อย ก็ย่อมจะต้องเห็นยากเพราะลุ่มลึก ไม่ใช่มีง่ายๆ เกิดบ่อยๆ ให้รู้ว่านี่คือสติที่ระลึกเป็นไปทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แม้ในขณะที่กำลังเห็น นี่ก็เป็นเรื่องที่ว่า แม้มรรคสัจเอง ก็ต้องเป็นสิ่งที่ลุ่มลึกมากทีเดียว

ข้อความต่อไปอธิบายว่า

ความพยายามเพื่อต้องการเห็นสัจจะทั้งสอง ย่อมเป็นเหมือนการเหยียดมือไปเพื่อจับภวัคคพรหม

ไกลสักแค่ไหน เพราะฉะนั้น การพยายามเพื่อที่จะเห็นสัจจะทั้ง ๒ นี้ ย่อมเหมือนกับการเหยียดมือเพื่อจับภวัคคพรหม เหยียดไปเถอะ เมื่อใดจะได้จับ ภวัคคพรหม คือ อกนิฏฐาพรหม ซึ่งเป็นภพที่ยิ่งใหญ่สูงสุดของรูปพรหม นั่น ทางฝ่ายกุศล แต่ถ้าทางฝ่ายต่ำ เหมือนการเหยียดเท้าไปเพื่อถูกต้องอเวจี ก็ไม่มีทางที่จะเหยียดไปถึงอีกเหมือนกัน เพราะฉะนั้น สัจจะทั้ง ๒ นี้ ชื่อว่าเป็นธรรมลุ่มลึก เพราะเห็นได้ยาก

สำหรับโพธิปักขิยธรรม เริ่มด้วยสติปัฏฐาน เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะต้องศึกษา และพิจารณาโดยละเอียด โดยรอบคอบจริงๆ มิฉะนั้นแล้ว อาจจะเป็นข้อปฏิบัติที่ผิดพลาด เพราะว่าการศึกษาและการปฏิบัติไม่สอดคล้องกัน ซึ่งการศึกษาธรรมและการปฏิบัติธรรมต้องถูกต้องตรงกันโดยตลอด

อย่างท่านผู้ฟังที่กล่าวว่า เวลาสติระลึกที่แข็ง ซึ่งโดยมากทุกท่านจะรู้สึกว่า สติของท่านระลึกที่แข็งได้บ่อยๆ แต่ในขณะที่ระลึกที่แข็งนั้น ไม่เห็นว่าเป็นประโยชน์อย่างไร เป็นเพียงแข็งเท่านั้นเอง ขณะนั้นลืมแล้ว ใช่ไหม สาตถกสัมปชัญญะ ตามที่ได้ศึกษามา คือ ประโยชน์ของสติปัฏฐานที่จะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถูกลวงให้เห็นว่า การระลึกที่แข็งไม่เป็นประโยชน์ เพราะว่าเพียงแข็งเท่านั้นจะเป็นประโยชน์อะไร

แต่ถ้าระลึกถึงธรรมที่ได้ฟังโดยละเอียด เช่น สาตถกสัมปชัญญะ ต้องเป็นผู้ที่เห็นประโยชน์ของสติ รู้ว่าขณะที่กำลังระลึกที่แข็งที่กำลังปรากฏ จะต้องมีการน้อมไปเพื่อที่จะศึกษาพิจารณารู้ลักษณะที่ต่างกันของสภาพแข็งและนามธรรมที่รู้แข็ง จนกว่าจะประจักษ์ชัดในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งเพียงขณะสองขณะไม่สามารถที่จะ ประจักษ์ได้

เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตามที่ระลึกที่แข็งและกำลังน้อมไปที่จะรู้ว่า เป็นสภาพรู้ ธาตุรู้ อาการรู้ ซึ่งกำลังรู้แข็ง ขอให้พิจารณาว่า สตินั้นก็ดับ และก็มีสภาพธรรมอื่นปรากฏ ซึ่งสติจะต้องตามระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏต่อไปโดยไม่เลือก เป็นปกติ จนกว่าจะรู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมจริงๆ

เปิด  247
ปรับปรุง  19 ต.ค. 2566