แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1217

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฎราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ต่อวันอาทิตย์ที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๒๖


ศึกษาเรื่องชื่อของอินทรีย์ทั้ง ๕ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา แต่จะเห็นอินทรีย์ ๕ นั้น ในที่ไหน ซึ่งข้อความใน ทัฏฐัพพสูตร ได้อธิบายการเห็นสัทธินทรีย์ในโสตาปัตติยังคะ ซึ่งใน วิภังคสูตรที่ ๑ ข้อ ๘๕๙ อธิบายว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็สัทธินทรีย์เป็นไฉน

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธา เชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็น พระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ทรงถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ทรงเบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม นี้เรียกว่าสัทธินทรีย์

นี่คือลักษณะของศรัทธา ซึ่งเป็นสัทธินทรีย์ของพระโสดาบันบุคคล คือ เป็นผู้ที่เชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถ้ายังไม่ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมจริงๆ จะเป็นผู้ที่มีศรัทธาเชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ จะเชื่อได้จริงๆ ไหม ถ้ายังไม่สามารถประจักษ์แจ้งการเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรม แต่เมื่อได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคลแล้ว หมดความสงสัยในสภาพธรรม ไม่สงสัยในความเกิดขึ้นและดับไปซึ่งเป็นทุกขอริยสัจ ไม่สงสัยในสมุทัยสัจ ไม่สงสัยในนิโรธสัจ คือ พระนิพพาน ไม่สงสัยในมรรคมีองค์ ๘ คือ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา จึงเป็นผู้ที่เชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ทรงถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ทรงเบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม นี้เรียกว่าสัทธินทรีย์

สำหรับวิริยินทรีย์ ที่ว่า จะพึงเห็นวิริยินทรีย์ในธรรมไหนเล่า ในสัมมัปปธาน ๔ ซึ่งข้อความใน วิภังคสูตร ข้อ ๘๖๐ อธิบายว่า

ก็วิริยินทรีย์เป็นไฉน

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ปรารภความเพียร เพื่อละ อกุศลธรรม เพื่อความถึงพร้อมแห่งกุศลธรรม มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดทิ้งธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย นี้เรียกว่าวิริยินทรีย์

ข้อ ๘๖๗

ก็สตินทรีย์เป็นไฉน

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีสติ ประกอบด้วยสติเครื่องรักษาตัวอย่างยิ่ง ระลึกได้ ตามระลึกได้ซึ่งกิจที่กระทำและคำพูดแม้นานได้ อริยสาวกนั้น ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ... ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ... ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย นี้เรียกว่าสตินทรีย์

สำหรับสมาธินทรีย์ ซึ่งมีข้อความว่า จะพึงเห็นสมาธินทรีย์ในธรรมเหล่าไหนเล่า ในฌาน ๔ ข้อความใน วิภังคสูตร ข้อ ๘๖๒ อธิบายว่า

ก็สมาธินทรีย์เป็นไฉน

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ กระทำซึ่งนิพพานให้เป็นอารมณ์แล้วได้สมาธิ ได้เอกัคคตาจิต นี้เรียกว่าสมาธินทรีย์

เพราะฉะนั้น ไม่ได้หมายความถึงฌาน ๔ สำหรับผู้ที่ได้เจริญฌานด้วย แต่หมายถึง อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ กระทำซึ่งนิพพานให้เป็นอารมณ์ แล้วได้สมาธิ ได้เอกคัตตาจิต นี้เรียกว่าสมาธินทรีย์

สำหรับข้อความที่ว่า จะพึงเห็นปัญญินทรีย์ในธรรมไหนเล่า ในอริยสัจ ๔ ใน วิภังคสูตรที่ ๑ ข้อ ๘๖๓ อธิบายว่า

ก็ปัญญินทรีย์เป็นไฉน

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาเครื่องกำหนดความเกิดความดับอันประเสริฐ ชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ นี้เรียกว่าปัญญินทรีย์

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ ๕ ประการนี้แล

จบ สูตรที่ ๙

ในบางพระสูตรทรงแสดงอินทรีย์ ๕ ประการ โดยอินทรีย์ ๑ บ้าง หรือโดยอินทรีย์ ๒ บ้าง อินทรีย์ ๓ บ้าง อินทรีย์ ๔ บ้าง เพราะไม่จำเป็นต้องแสดงทั้ง ๕ อินทรีย์ซ้ำอีก ในเมื่อบุคคลนั้นเข้าใจเรื่องของอินทรีย์ ๕ แล้ว เพราะฉะนั้น จึงทรงแสดงเพียงอินทรีย์ ๑ หรืออินทรีย์ ๒ หรืออินทรีย์ ๓ หรืออินทรีย์ ๔

สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ปุพพารามสูตรที่ ๑ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอินทรีย์ ๑

ข้อ ๙๘๗

ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปราสาทของนางวิสาขามิคารมารดา ในปุพพาราม ใกล้พระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้วตรัสถามว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะความที่อินทรีย์เท่าไรหนออันตนเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ภิกษุผู้ขีณาสพย่อมพยากรณ์อรหัตตผลได้ว่า เรารู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมทั้งหลายของพวกข้าพระองค์ มีพระผู้มีพระภาคเป็นรากฐาน ฯลฯ

ข้อ ๙๘๘

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะความที่อินทรีย์ประการหนึ่งอันตนเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ภิกษุผู้ขีณาสพย่อมพยากรณ์อรหัตตผลได้ว่า เรารู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว ... กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี อินทรีย์อย่างหนึ่งเป็นไฉน คือ ปัญญินทรีย์

ข้อ ๙๘๙

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ อันไปตามปัญญาของ พระอริยสาวกผู้มีปัญญา ย่อมตั้งมั่น

ถ้ายกปัญญินทรีย์อินทรีย์เดียว ย่อมหมายความถึงอินทรีย์อื่นต้องเจริญด้วย คือ ทั้งศรัทธา ทั้งวิริยะ ทั้งสติ ทั้งสมาธิ ไม่ได้หมายความว่า จะเจริญอินทรีย์ คือ ปัญญาอย่างเดียว โดยที่อินทรีย์อื่นไม่เจริญ เพราะฉะนั้น ไม่ต้องห่วงเรื่องของ ชื่อต่างๆ ถ้าได้อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมถูกต้องตามความ เป็นจริง ก็แสดงว่าได้เจริญอินทรีย์ครบทั้ง ๕

ปุพพารามสูตรที่ ๒ ข้อ ๙๙๒ – ข้อ ๙๙๓ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงการเจริญอินทรีย์ ๒ ว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะความที่อินทรีย์ ๒ ประการ อันตนเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ภิกษุผู้ขีณาสพย่อมพยากรณ์อรหัตตผลได้ว่า เรารู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว ... กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี

อินทรีย์ ๒ ประการเป็นไฉน คือ ปัญญาอันเป็นอริยะ ๑ วิมุตติอันเป็น อริยะ ๑ ก็ปัญญาอันเป็นอริยะของภิกษุนั้นเป็นปัญญินทรีย์ วิมุตติอันเป็นอริยะของภิกษุนั้นเป็นสมาธินทรีย์

ในพระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของการเจริญอินทรีย์ ๒ ซึ่งหมายความว่า เจริญอินทรีย์ทั้ง ๕

สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ปิณโฑลภารทวาชสูตร มีข้อความว่า

ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม ใกล้เมืองโกสัมพี ก็สมัยนั้น ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะได้พยากรณ์อรหัตตผลว่า เรารู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว ... กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี

ครั้งนั้น ภิกษุมากรูปเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคม พระผู้มีพระภาคแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะพยากรณ์อรหัตตผลว่า เรารู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว ... กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะเห็นอำนาจประโยชน์อะไรหนอ จึงพยากรณ์อรหัตตผลว่า เรารู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว ... กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะความที่อินทรีย์ ๓ ประการ อันตนเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ภิกษุปิณโฑลภารทวาชะจึงพยากรณ์อรหัตตผลได้ว่า เรารู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว ... กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี

อินทรีย์ ๓ ประการเป็นไฉน คือ สตินทรีย์ ๑ สมาธินทรีย์ ๑ ปัญญินทรีย์ ๑

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะความที่อินทรีย์ ๓ ประการนี้แล อันตนเจริญแล้วกระทำให้มากแล้ว ภิกษุปิณโฑลภารทวาชะจึงพยากรณ์อรหัตตผลได้ว่า เรารู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว ... กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็อินทรีย์ ๓ ประการนี้ มีอะไรเป็นที่สุด สตินทรีย์ ๑ สมาธินทรีย์ ๑ ปัญญินทรีย์ ๑ มีอะไรเป็นที่สุด มีความสิ้นเป็นที่สุด มีความสิ้นแห่งอะไรเป็นที่สุด มีความสิ้นแห่งชาติ ชราและมรณะเป็นที่สุด

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุปิณโฑลภารทวาชะเห็นว่า ความสิ้นแห่งชาติ ชราและมรณะดังนี้แล จึงพยากรณ์อรหัตตผลว่า เรารู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว ... กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี

จบ สูตรที่ ๙

เพราะฉะนั้น อาจจะแสดงโดยอินทรีย์ ๑ หรือโดยอินทรีย์ ๒ หรือโดยอินทรีย์ ๓ หรือโดยอินทรีย์ ๔ สำหรับโดยอินทรีย์ ๔ เว้นอินทรีย์หนึ่งอินทรีย์ใดก็ได้ ซึ่งใน ปุพพารามสูตรที่ ข้อ ๙๙๖ – ข้อ ๙๙๗ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงการเจริญอินทรีย์ ๔ เว้นอินทรีย์หนึ่ง

ข้อความมีว่า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะความที่อินทรีย์ ๔ ประการ อันตนเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ภิกษุผู้ขีณาสพย่อมพยากรณ์อรหัตตผลได้ว่า เรารู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว ... กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้

อินทรีย์ ๔ ประการเป็นไฉน คือ วิริยินทรีย์ ๑ สตินทรีย์ ๑ สมาธินทรีย์ ๑ ปัญญินทรีย์ ๑

เว้นอินทรีย์อะไร พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอินทรีย์ ๔ คือ วิริยินทรีย์ ๑ สตินทรีย์ ๑ สมาธินทรีย์ ๑ ปัญญินทรีย์ ๑ เว้นอินทรีย์อะไร เว้นศรัทธา เพราะว่า ผู้ที่จะเจริญวิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ และปัญญินทรีย์ ย่อมเป็นผู้ที่ต้องมีศรัทธา คือ สัทธินทรีย์แน่นอน ที่จะเจริญปัญญา หรือสมาธิ หรือสติ หรือวิริยะ โดยขาดศรัทธานั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น แม้ว่าจะทรงแสดงเพียงอินทรีย์ ๔ ก็ไม่ได้หมายความว่า จะขาดสัทธินทรีย์ด้วย

แต่ใน สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค มัลลกสูตร พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอินทรีย์ ๔ คือ สัทธินทรีย์ ๑ วิริยินทรีย์ ๑ สตินทรีย์ ๑ สมาธินทรีย์ ๑ ไม่ได้กล่าวถึงปัญญา เพราะฉะนั้น บางคนอ่านข้อความนี้แล้วอาจจะคิดว่า ไม่ต้องอบรมเจริญปัญญาก็ได้ เพียงแต่มีศรัทธา มีวิริยะ มีสติ และข้อสำคัญที่สุดคนส่วนมากเข้าใจว่า ต้องมีสมาธิ จึงจะเกิดปัญญารู้แจ้งอริยสัจธรรม

ซึ่งข้อความใน มัลลกสูตร มีว่า

ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมของชาวมัลละ ชื่ออุรุเวลกัปปะ ในแคว้นมัลละ ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้วตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็อริยญาณยังไม่เกิดขึ้นแก่อริยสาวกเพียงใด อินทรีย์ ๔ ก็ยังไม่ตั้งลงมั่นเพียงนั้น เมื่อใดอริยญาณเกิดขึ้นแล้วแก่อริยสาวก เมื่อนั้นอินทรีย์ ๔ ก็ตั้งลงมั่น

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนเรือนยอด เมื่อเขายังไม่ได้ยกยอดขึ้นเพียงใด กลอนเรือนก็ยังไม่ชื่อว่าตั้งอยู่มั่นคงเพียงนั้น เมื่อใดเขายกยอดขึ้นแล้ว เมื่อนั้นกลอนเรือนจึงเรียกว่าตั้งอยู่มั่นคง ฉันใด อริยญาณยังไม่เกิดขึ้นแก่อริยสาวกเพียงใด อินทรีย์ ๔ ก็ยังไม่ตั้งลงมั่นเพียงนั้น เมื่อใดอริยญาณเกิดขึ้นแล้วแก่ อริยสาวก เมื่อนั้นอินทรีย์ ๔ ก็ตั้งลงมั่นฉันนั้นเหมือนกัน อินทรีย์ ๔ เป็นไฉน คือ สัทธินทรีย์ ๑ วิริยินทรีย์ ๑ สตินทรีย์ ๑ สมาธินทรีย์ ๑

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ อันไปตามปัญญาของ อริยสาวกผู้มีปัญญา ย่อมตั้งมั่น

จบ สูตรที่ ๒

เพราะฉะนั้น แสดงว่าขาดปัญญาไม่ได้ แม้ว่าจะทรงแสดงเรื่องของอินทรีย์ ๔ แต่ต้องทราบว่า อินทรีย์ ๔ ที่ตั้งมั่นนั้น ไปตามปัญญาของอริยสาวกผู้มีปัญญา ย่อมตั้งมั่น

. ปัญญาในอินทรีย์ ท่านกล่าวถึงทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค แต่ใน ธาตุวิภังค์ท่านกล่าวถึง ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ อากาศธาตุ และวิญญาณธาตุ ท่านจะสงเคราะห์เข้าในอินทรีย์ ๕ นี้ด้วยหรือเปล่า

สุ. ถ้ารู้ลักษณะของธาตุ ธาตุก็คือนามธรรมและรูปธรรม หรือว่านามธาตุกับรูปธาตุนั่นเอง คือ รู้สภาพที่เป็นอนัตตา และต้องประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปของธาตุต่างๆ ด้วย เป็นเรื่องเดียวกันทั้งหมด

. การลำดับของอินทรีย์ ๕ นั้น คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา การเรียงลำดับอย่างนี้ มีความหมายหรือเปล่า

สุ. บางครั้งทรงแสดงโดยเพียง ๒ อินทรีย์ บางครั้งทรงแสดงโดยเพียง ๓ อินทรีย์ บางครั้งทรงแสดงโดยเพียง ๔ อินทรีย์ เว้นอินทรีย์หนึ่งอินทรีย์ใดก็ได้ เป็นเรื่องของการเทศนาโดยนัยของเทศนา แต่ไม่ได้หมายความว่า จะขาดอินทรีย์หนึ่งอินทรีย์ใดในอินทรีย์ ๕ ได้

บางท่านในขณะที่ต้องการรู้ลักษณะของสภาพธรรม อยากจะศึกษาพิจารณาไตร่ตรองให้เข้าใจโดยละเอียด โดยถี่ถ้วน ลักษณะของศรัทธาปรากฏหรือเปล่า หรือว่าลักษณะของปัญญาปรากฏ ในขณะที่ต้องการเข้าใจเรื่องของสภาพธรรม

ขณะนี้มีแข็ง และมีรู้แข็ง มีฉันทะ ต้องการศึกษาน้อมไปพิจารณาให้รู้ชัด ในขณะนั้นลักษณะของศรัทธาปรากฏไหม ถึงไม่ปรากฏก็มี ใช่ไหม ถ้าขาดศรัทธาแล้ว ปัญญาจะพิจารณาลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้อย่างไร แต่เมื่อได้ยินได้ฟัง และน้อมใจพิจารณาแล้วว่า สภาพธรรมมีจริงตามที่ทรงแสดง จึงต้องการที่จะพิสูจน์ หรือต้องการที่จะประจักษ์แจ้งในสภาพธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงประจักษ์แจ้งแล้วด้วย

นี่เป็นเหตุที่ทรงเว้นสัทธินทรีย์ในพระสูตรบางสูตร และทรงแสดงเพียงอินทรีย์ ๔ ไม่อย่างนั้น ถ้าทรงแสดงโดยลำดับจริงๆ ศรัทธาก็หายไปสำหรับในสูตรนั้น ใช่ไหม แต่นี่ไม่ได้หายไป แล้วแต่ว่าลักษณะของสภาพธรรมใดปรากฏชัดในขณะนั้น

บางท่านมีศรัทธา แต่ยังไม่ศึกษา มีไหม มีศรัทธา เชื่อว่าถูก แต่ยังไม่ศึกษา รอก่อน คิดไว้ว่าจะรอโอกาสนั้นโอกาสนี้ มีไหม ซึ่งนั่นแสดงว่า มีศรัทธา แต่ปัญญายังไม่ได้เกิดร่วมด้วยในขณะนั้น

เพราะฉะนั้น อินทรีย์ ๕ แล้วแต่ว่าจะเป็นศรัทธาบ้าง วิริยะบ้าง สติบ้าง สมาธิบ้าง ปัญญาบ้าง จะเกิดยิ่งหย่อนกันไปในแต่ละขณะ แต่จะกระทำกิจเดียวด้วยกัน คือ ศึกษาลักษณะของสภาพธรรมจนกว่าจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม จึงจะเป็นการอบรมเจริญปัญญาจริงๆ

บางท่านมีศรัทธา แต่ว่าไม่ประกอบด้วยปัญญา บางท่านมีการขวนขวาย มีวิริยะ แต่ไม่ประกอบด้วยปัญญา ไปแสวงหา คือ ไปพยายามที่จะได้ฟังธรรมที่ โน่นบ้าง ที่นี่บ้าง ที่นั่นบ้าง ไกลแสนไกล แต่ว่าไม่พิจารณาเหตุผลก็ได้ ก็เป็นผู้ที่มีวิริยะ แต่ว่าไม่ประกอบด้วยปัญญา ซึ่งขณะใดก็ตาม ศรัทธาก็ดี วิริยะก็ดี สติก็ดี สมาธิก็ดี ยังไม่เป็นไปในการเจริญสติปัฏฐาน ๔ ก็ยังไม่ชื่อว่าเป็นการเจริญอินทรีย์ ๕

เพราะฉะนั้น กว่าจะได้ฟังพระธรรม กว่าจะได้มีศรัทธา กว่าจะได้ศึกษาพิจารณาโดยละเอียด กว่าจะน้อมประพฤติปฏิบัติ และกว่าอินทรีย์ ๕ จะเจริญ ต้องเป็นระยะเวลาที่นาน

เปิด  280
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565