แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1219

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฎราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๓ มีนาคม ต่อวันอาทิตย์ที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๒๖


ถ. เหตุสำคัญที่สุดของการเจริญสติปัฏฐาน คือ การได้ฟังธรรมบ่อยๆ

สุ. และเกิดจากความเข้าใจ พิจารณาไตร่ตรองในเหตุผล

ถ. พิจารณาไตร่ตรองในเหตุผลในธรรมที่ได้ฟังมา

สุ. โดยเทียบเคียงกับสภาพธรรมที่สามารถพิสูจน์ได้ เช่น ถ้าพูดถึงเรื่องสภาพธรรมทางตาที่กำลังเห็น ก็ทราบว่าเป็นของจริง พิสูจน์ได้ ถ้าพูดถึงเรื่อง สภาพธรรมทางหูที่กำลังได้ยินและเสียง ก็รู้ว่าเป็นของจริงที่พิสูจน์ได้ เพราะฉะนั้น ถ้ามีหนทางที่จะพิสูจน์ให้รู้ของจริงที่ปรากฏ ต้องเป็นข้อปฏิบัติที่ถูกต้อง เพราะว่าสามารถอบรมเจริญปัญญาจนรู้สภาพธรรมตามปกติได้จริงๆ ไม่ใช่ไปรู้อย่างอื่น ถ้ารู้อย่างอื่นถูกหรือผิด

. การเจริญสติปัฏฐานตัวผมเองเคยได้ผล แต่ไม่ทราบว่าถูกหรือผิด คือ ขณะที่ทำงานหรือปฏิบัติอะไรเร็วๆ เช่น เล่นกีฬา ชกมวย หรืออย่างอื่น กับการที่กำลังอยู่ในสภาพปกติธรรมดา หมายถึงมีสมาธิ จะทราบด้วยตัวเองว่า สติระหว่างที่มีสมาธิจะเกิดได้มากกว่า

สุ. ขณะนั้นรู้อะไร

. รู้ว่าสติเกิด

สุ. สติในขณะนั้นรู้อะไร

. รู้สภาพความเป็นจริง หมายถึงรู้ว่าร้อน รู้ว่าเห็น

สุ. ร้อนเป็นอะไร

. ร้อนเป็นรูป

สุ. ถ้าไม่ใช้คำว่า รูป จะใช้คำอื่นได้ไหม

ถ. ร้อน เป็นสภาพธรรมที่มีเป็นจริง

สุ. เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ท่านผู้ฟังอาจจะสังเกตว่า ในบางกาล สติอาจจะระลึกได้บ่อยกว่าในบางกาล แต่ผลคืออะไรจากการที่รู้อย่างนั้น ต้องละเอียดต่อไปอีกว่า ผลคืออะไรจากการรู้อย่างนั้น

. ผล คือ ได้ทราบว่าเป็นธรรมที่มีจริง

สุ. แต่ผลต่อจากนั้นคืออะไร ผลต่อจากนั้นควรจะเป็นว่า รู้นิดเดียว เท่านั้นเอง แต่ปกติยังไม่รู้ ถูกไหม ยิ่งรู้ว่าตัวเองยังไม่รู้มากเท่าไร ก็จะเป็นทางที่จะอบรมเจริญปัญญามากขึ้นอีกเท่านั้น ถูกไหม

เพราะฉะนั้น ถ้าในขณะใดที่รู้สึกว่า สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมได้บ่อย อาจจะมีความพอใจ อย่าลืม โลภะติดตามอยู่เสมอ เมื่อมีความพอใจเกิดขึ้นก็อาจจะคิดว่า จะต้องทำอย่างนั้น มิฉะนั้นแล้วสติจะไม่เกิด

แต่ตามความเป็นจริงแล้ว การอบรมเจริญปัญญาไม่ได้จำกัดเพียงชาตินี้ ชาติเดียวที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ เพราะว่าชาติเดียวไม่พอที่จะรู้ความจริงว่า ชีวิตปกติธรรมดา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

เพราะฉะนั้น ถ้าขณะใดรู้สึกว่า สติเกิดบ่อย ให้เทียบเคียงกับขณะที่ สติไม่ได้เกิดบ่อย เพื่อที่จะได้รู้ว่า ขณะที่สติเกิดบ่อยนั้นน้อยมาก ไม่พอ จำเป็นอย่างยิ่งที่สติจะต้องระลึกรู้ต่อไปจนกว่าสติสามารถจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะไหนก็ได้ นี่เป็นสิ่งที่ถูกต้อง

อย่าไปติดอยู่ที่ว่า ถ้าไปอยู่สถานที่อย่างนั้น หรือเวลานั้นและสติจะเกิดบ่อย แต่ต้องรู้ว่า ที่ว่าสติเกิดบ่อย ก็ยังน้อยมากเมื่อเทียบกับชีวิตปกติประจำวันซึ่งสติยังไม่ได้เกิด เมื่อเห็นว่าสติเกิดน้อย จะเป็นโอกาสให้สติเกิดระลึกรู้ ไม่ว่าขณะที่กำลัง ดูหนัง หรือว่าสนทนากับเพื่อนฝูงมิตรสหาย หรือว่ากำลังรับประทานอาหาร หรือไม่ว่าจะเป็นในขณะใดทั้งสิ้น สติก็ยังสามารถที่จะเกิดได้

. อาจารย์บรรยายว่า ถ้ามีสติแล้วจะทราบว่า ขณะนั้นหลงลืมสติ หรือว่าขณะนั้นกำลังมีสติ

สุ. ถูกต้อง ถ้าขณะใดที่สติเกิด จะรู้ความต่างกันของขณะที่สติเกิดกับขณะที่หลงลืมสติ

. แต่ขณะที่หลงลืมสติ จะไม่ทราบว่าหลงลืม จะทราบเมื่อสติเกิดขึ้น จึงรู้ว่า ขณะที่ผ่านมาหลงลืมสติ

สุ. ถูกต้อง ขอให้เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ ข้อสำคัญที่สุด คือ ต้องละ แม้แต่ขณะใดที่สติเกิดบ่อยๆ ก็ยังจะต้องรู้ว่า แม้ขณะอื่นที่สติไม่เกิด สติก็จะต้องระลึกจนกว่าจะเกิด เป็นปกติ มิฉะนั้นจะมีการติดในขณะที่สติเกิดบ่อยๆ และอยากจะอยู่ในสถานที่นั้น หรืออยากจะให้มีเวลาอย่างนั้นเพื่อที่สติจะได้เกิด

แต่อย่าลืมว่า ถ้าเป็นสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นอนัตตา อาศัยปัจจัยเกิดขึ้นย่อมเกิดได้ไม่ว่าขณะไหนทั้งสิ้น และจะเห็นความเป็นอนัตตาของสติจริงๆ ว่า ไม่ได้คิดเลยว่า สติจะเกิดขึ้นในขณะนี้ แต่สติปัฏฐานก็ยังสามารถเกิดระลึกได้ และเป็นปกติด้วย

ถ. การมีจิตของผู้อื่นเป็นอารมณ์ ถ้าเห็นเขายิ้มหรือร้องไห้ ก็ชัด แต่ถ้าเห็นเขานั่งเฉยๆ ล่ะ

สุ. ขณะนี้กำลังมีอะไรกำลังเป็นอารมณ์

. มีทางตาบ้าง ทางหูบ้าง

สุ. ก็ระลึกเท่านั้นเอง อย่าไปติด เพราะแต่ละวันก็มีแต่ละคนเป็นอารมณ์อยู่เรื่อยๆ

. ก็ยังไม่เข้าใจ

สุ. ถ้าจะเข้าใจ คือ สติเกิดระลึกทันที รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

. ถ้าเห็นอาการที่ชัด ก็ชัด

สุ. เป็นเครื่องระลึก ไม่ให้หลงลืมสติ ถ้าระลึกแล้ว จะมีแต่ลักษณะของนามธรรมหรือลักษณะของรูปธรรมเท่านั้น ซึ่งขณะนั้นแสดงว่าสติเกิด ถ้าไม่มีลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ขณะนั้นไม่ใช่สติปัฏฐาน เป็นความคิดเรื่องสติปัฏฐานว่า นี่ใช่สติปัฏฐานหรือเปล่า กำลังคิดถึงคนนี้ มีอาการของคนนี้เป็นอารมณ์ ก็เป็นเรื่องความคิด ที่จะเป็นสติปัฏฐานจริงๆ คือ ขณะนั้นมีลักษณะของสภาพธรรม อย่าลืม มีลักษณะของสภาพธรรมแต่ละทาง เช่น ทางตากำลังมีสิ่งที่ปรากฏ

การที่จะคิดถึงจิตของคนอื่น คิดนานไหม

. นิดเดียว

สุ. คำตอบบอกแล้วใช่ไหมว่า หมดไปแล้ว ก็แล้วกันไป เพราะฉะนั้น เป็นเครื่องระลึกว่า ขณะที่ระลึกแล้วอะไรปรากฏ ไม่ต้องไปกังวลถึงจิตของคนอื่นอีกต่อไป เพราะคำตอบตอบแล้วว่า นิดเดียว แต่ยังห่วงอีก ไม่ต้องห่วงแล้ว ไม่ต้องห่วงอะไรเลย

. ผมสงสัยว่า การจะรู้จิตคนอื่น กับเจโตปริยญาณต่างกันแค่ไหน

สุ. นั่นเป็นญาณของผู้ที่ได้อบรมเจริญสมถะ เป็นขั้นอภิญญา ไม่ใช่ขั้นของบุคคลธรรมดา ซึ่งในวันหนึ่งๆ คิดถึงคนนั้นบ้าง คนนี้บ้าง ยังเป็นสัตว์ ยังเป็นบุคคล ยังเป็นตัวตนอยู่ เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานต้องรู้ว่า ในขณะที่กำลังคิดถึงจิตของคนอื่น ก็ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน ทั้งผู้ที่คิดถึง และจิตที่กำลังคิดถึง บุคคลนั้น

. ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา เกิดพร้อมกันหรือเปล่า

สุ. ถ้าเป็นการอบรมเจริญสติปัฏฐานเพื่อให้อนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์ คือ ปัญญาที่เกิดกับโสตาปัตติมรรคจิตเกิด อินทรีย์ ๕ ต้องเกิดพร้อมกัน แต่ถ้าไม่ใช่สติปัฏฐาน เป็นกุศลขั้นอ่อนๆ ศรัทธาเกิด มีวิริยะเกิดร่วมด้วยได้ มีสติเกิดร่วมด้วยได้ มีสมาธิเกิดร่วมด้วยได้ แต่ไม่จำเป็นต้องมีปัญญาเกิดร่วมด้วย

อย่างขณะที่ให้ทาน สตินทรีย์ก็มี แต่เมื่อไม่ได้เกิดร่วมกับปัญญา ก็ไม่ใช่ อินทริยะ ๕ ในโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ที่จะเป็นอินทรีย์ ๕ ต่อเมื่อเป็นการอบรมเจริญ สติปัฏฐาน

เพราะฉะนั้น สำหรับอินทริยปัจจัย ได้แสดงโดยนัยของเจตสิก ได้แก่ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา ซึ่งเป็นปัจจัยแก่จิตแต่ละประเภทเวลาที่เกิดไม่ พร้อมกัน และเวลาที่เกิดพร้อมกันซึ่งเป็นการเจริญอินทรีย์ ๕

. ปกติศรัทธาอย่างเดียวเกิดได้ไหม

สุ. อย่างเดียว หมายความถึงไม่มีเจตสิกอื่นเกิดร่วมด้วยเลยหรืออย่างไร

สติเป็นโสภณเจตสิก ต้องเกิดพร้อมกันกับโสภณเจตสิกอื่นๆ หิริก็เป็น โสภณเจตสิก โอตตัปปะก็เป็นโสภณเจตสิก เวลาที่กุศลจิตจะเกิดแต่ละครั้ง จะต้องมี โสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วยมาก จะมีแต่ศรัทธาเกิดโดยไม่มีโสภณเจตสิกอื่นเกิดไม่ได้ แต่ว่าถึงแม้ว่าจะมีศรัทธา มีวิริยะ มีสติ มีสมาธิเกิดร่วมกัน ไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย ก็ได้ เพราะฉะนั้น มหากุศลจึงมี ๘ ประกอบด้วยปัญญา ๔ และไม่ประกอบด้วยปัญญา ๔ แต่ถ้ากล่าวถึงโดยนัยของการเจริญอินทรีย์ ๕ เพื่อที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมแล้ว ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญาต้องเกิดร่วมกัน

ถ้าเป็นเพียงผู้ที่มีศรัทธา แต่ไม่ได้ไตร่ตรองธรรมเพื่อที่จะประพฤติปฏิบัติถูกต้อง ขณะนั้นก็ไม่ใช่การอบรมเจริญอินทรีย์ ๕ เพราะไม่ใช่เป็นการเจริญสติปัฏฐานที่จะ ให้ปัญญารู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรม

. มีศรัทธา เช่น แรกๆ เขาเห็นว่าพระธรรมนี้ถูกต้อง เป็นทางแห่งความพ้นทุกข์ แต่ไม่ได้พบหนทางหรือพระธรรมที่ถูกต้อง เขาเกิดศรัทธาอย่างเดียว จะมีวิริยะเกิดร่วมด้วยหรือเปล่า

สุ. มีวิริยะเกิดร่วมด้วย แต่อย่าลืมว่า วิริยะนั้นไม่ใช่สัมมัปปธาน ๔ ซึ่งในคราวต่อไปจะขอกล่าวถึงเรื่องของโพธิปักขิยธรรม ๓๗ เพียงย่อๆ ก่อนที่จะจบเรื่องของอินทริยปัจจัย

วิริยเจตสิกเกิดกับจิตหลายประเภท เกิดกับอกุศลจิตก็ได้ เกิดกับโลภะที่ประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิก็ได้ เกิดกับสีลัพพตปรามาส การประพฤติปฏิบัติข้อปฏิบัติ ที่ผิดได้ แต่วิริยะที่จะเกิดร่วมกับอินทริยะ ๕ ต้องเป็นสัมมัปปธาน ๔ ทำกิจทั้ง ๔ เพราะฉะนั้น ในการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ต้องประกอบด้วยธรรม ๓๗ ประการ แม้วิริยะก็ต้องเป็นวิริยะที่กระทำกิจทั้ง ๔ ด้วย

. เวลาที่ประพฤติปฏิบัติอบรมเจริญปัญญา เราสามารถรู้สภาพธรรมทั้งหลายได้ ๖ ทาง คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ขอเรียนถามว่า ขณะเราเจริญปัญญาอยู่นั้น อย่างทางหู เมื่อเสียงมากระทบเราก็ทราบว่า อะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม แต่อย่างทางตา เราจะสามารถทราบได้อย่างไรถึงการเกิดการดับ เพื่อที่จะให้เห็นไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ขณะที่เรามองเห็นสิ่งที่เห็นว่าเป็นรูป และรู้ก็เป็นนาม

สุ. ที่จริงแล้ว การจะประจักษ์ลักษณะสภาพที่เกิดดับของสภาพธรรม ปัญญาจะต้องถึงขั้นประจักษ์แจ้งในสภาพของนามธรรมและรูปธรรมโดยความเป็นอนัตตาทางมโนทวาร ไม่ใช่เพียงขั้นการฟังและได้ยินในขณะนี้ และที่นึกว่าได้ยินเป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้ และเสียงเป็นรูปธรรม เท่านี้ยังไม่ประจักษ์ลักษณะของนามธรรม

การที่จะประจักษ์ลักษณะเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมถึงอุทยัพพยญาณ จะต้องสามารถระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมสืบต่อกันแต่ละทางที่กำลังปรากฏตามปกติในขณะนี้ตามความเป็นจริง ขอให้คิดดูถึงชีวิตตามความเป็นจริง ตั้งแต่เช้ามาจนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้ ถ้าจะนับโดยขณะจิต นับไม่ถ้วนแน่นอน อาจจะจำได้ว่า เมื่อเช้านี้ทำอะไรบ้าง หรือแม้แต่ในขณะนี้เอง สภาพธรรมอะไรกำลังปรากฏ ถ้าหลงลืมสติจะไม่รู้เลยว่า ทางหูมีเสียงอะไรกำลังปรากฏบ้าง

ทางหูในขณะนี้ได้ยินไหม มีเสียงอะไรกำลังปรากฏบ้าง ถ้าถามบางท่าน บางท่านอาจจะไม่ได้ยินเสียงหนึ่งซึ่งคนอื่นได้ยิน แต่ถ้าสติระลึกจริงๆ จะมีเสียงเล็กเสียงน้อยบ้าง หรือไม่ก็เสียงดังมากดังน้อยบ้าง เป็นเสียงสิ่งต่างๆ ที่กำลังปรากฏ ถ้าสติไม่ระลึก จะไม่รู้เลยว่าขณะนั้นมีสภาพธรรมที่เกิดขึ้นได้ยินเสียงตามเหตุ ตามปัจจัย ซึ่งไม่มีใครสามารถรู้ได้ว่า ขณะต่อไปจิตจะเกิดขึ้นรู้อะไร เช่น ขณะนี้ ทางตากำลังเห็น ทราบหรือยังว่า ไม่ใช่ตัวตน เพราะเป็นสภาพธรรมที่เกิดตามเหตุตามปัจจัย และในขณะต่อไปจะได้ยินเสียง ซึ่งก็ไม่ทราบว่าจะได้ยินเสียงอะไร แล้วแต่กรรมเป็นปัจจัยที่จะให้เสียงนั้นๆ เกิดขึ้นปรากฏ และเป็นปัจจัยให้จิตได้ยินเกิดขึ้น

เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ไม่ใช่เพียงได้ยิน และเข้าใจว่า ที่ได้ยินเป็นสภาพรู้ เป็นนามธรรม เสียงเป็นรูปธรรม และเมื่อไรจะประจักษ์การเกิดดับทางตา หรือทางอื่นๆ ไม่ใช่อย่างนั้นเลย แต่จะต้องรู้ว่า ลักษณะของนามธรรมซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ที่ปัญญาจะรู้จริงๆ ต้องอาศัย สติเกิดขึ้นระลึก และศึกษาสภาพที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละทางก่อน จนกระทั่งชำนาญ

เพราะฉะนั้น ไม่ต้องคิดถึงเรื่องการเกิดดับ หรือว่าการจะประจักษ์การเกิดดับ แต่ต้องรู้ว่า ทางตายังไม่สามารถจะประจักษ์ความเกิดดับได้จนกว่าจะรู้ว่า ในขณะที่เห็นขณะนี้ไม่ใช่ตัวตนอย่างไร ลักษณะที่เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ทางตานั้น ต่างกับสีสันซึ่งกำลังปรากฏอย่างไร ต้องถ่ายถอนความเป็นตัวตน หรือความเป็นวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งปรากฏทางตาเสมอในขณะที่หลงลืมสติจนกว่าจะรู้แน่ชัดจริงๆ ว่า สภาพธรรมที่ปรากฏทางตาเป็นรูปธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียง สภาพธรรมอย่างหนึ่ง จนกว่าจะชิน

เรื่องของการเกิดดับ เป็นเรื่องที่อีกไกลมาก ทำไมอยากจะประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาโดยรวดเร็ว ในเมื่อยังมีนามธรรมและรูปธรรมอื่นๆ อีกมากในชีวิตปกติประจำวันซึ่งยังหลงลืมสติ และยังไม่ได้ศึกษาจนกระทั่งรู้ชัด

. ผู้ที่เจริญสติจนชำนาญ ตายจากชาตินี้ไป ถ้าชาติหน้าไม่เคยได้ยินเรื่องการเจริญสติเลย สติจะเกิดได้ไหม แต่มีความเข้าใจในการเจริญสติจากชาตินี้แล้ว

สุ. ท่านพระสารีบุตรเคยเจริญสติปัฏฐานในชาติก่อนๆ ไหม

. เคย

สุ. ท่านพระมหาโมคคัลลานะเคยเจริญสติปัฏฐานในชาติก่อนๆ ไหม

. เคย

สุ. ท่านพระมหากัสสปะเคยเจริญสติปัฏฐานในชาติก่อนๆ ไหม

. เคย

สุ. และท่านเหล่านั้นเจริญสติก่อนที่จะได้ฟังพระธรรมจากพระผู้มีพระภาคหรือเปล่า ในชาติที่จะเป็นพระอริยบุคคล แม้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเองก็ได้เคยฟังพระธรรมจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ และพระองค์อื่นๆ มาแล้ว แต่ได้ทรงสั่งสมพระบารมีที่จะทรงตรัสรู้อริยสัจธรรมด้วยพระองค์เอง โดยที่ไม่ต้องฟังจากบุคคลอื่นเลย นี่คือความต่างกันของผู้ที่เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และผู้ที่เป็นอนุพุทธะ คือ ผู้ที่เป็นสาวก

เพราะฉะนั้น สำหรับพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้สภาพธรรมด้วยพระองค์เอง โดยไม่ต้องฟังจากบุคคลหนึ่งบุคคลใดเลย แต่ท่านพระสารีบุตร หรือ ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระมหากัสสปะ ท่านพระสาวกทั้งหลาย ซึ่งเคยบำเพ็ญบารมีมาแล้วในอดีต แต่ว่าเพียงขั้นของการเป็นสาวก เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะได้ฟังพระธรรม ท่านจะเจริญสติปัฏฐานหรือเปล่าในชาตินั้น

. เจริญได้

สุ. ถ้าเจริญได้ ก็ไม่ต้องฟังพระธรรม

. เจริญได้ แต่ยังไม่ถึงขั้นที่จะบรรลุ เพราะมีความเข้าใจเรื่องการเจริญ สติปัฏฐานเป็นปัจจัยให้สติเกิด

สุ. ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ใช่สาวก ผู้ที่เป็นสาวก คือ ผู้ที่ฟังพระธรรมและประพฤติปฏิบัติตาม ผู้ที่บรรลุโดยไม่ต้องอาศัยการฟังพระธรรมมีเพียง ๒ บุคคล คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ากับพระปัจเจกพุทธเจ้า

. ในช่วงเวลา ๒ อสงไขยแสนกัปนี้ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดขึ้นน้อย และนอกพระพุทธศาสนาไม่มีสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น นับเวลาช่วงที่เขา เจริญสติปัฏฐาน เจริญปัญญา ไม่ทราบว่า ...

สุ. ก็ต้องเป็นปัญญาขั้นอื่น เช่น สมถภาวนา แม้พระผู้มีพระภาคเองในสมัยที่ไม่ได้เฝ้าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งพระองค์ใด ก็ทรงเจริญฌาน เพราะเหตุนั้นพระองค์จึงทรงประกอบด้วยทั้งวิชชาและจรณะ ทรงบำเพ็ญพระบารมี ทุกด้าน แม้แต่ฌานสมาบัติมาก่อน

ท่านผู้ฟัง ไม่ทราบว่าชาติก่อนๆ เคยเจริญสติปัฏฐานหรือเปล่า

. คิดว่าเคย

สุ. และก่อนที่จะได้ฟังเรื่องสติปัฏฐาน เจริญสติปัฏฐานหรือเปล่า

. คงไม่เคย

สุ. ก็คงไม่เคย นั่นคือคำตอบ แต่เมื่อได้ฟังแล้ว สติปัฏฐานเกิดหรือเปล่า

. ไม่ค่อยเกิด

สุ. ไม่ค่อยเกิด แต่เกิดหรือเปล่า ก็เกิดบ้าง เพราะอาศัยการฟัง ใช่ไหม นี่คือลักษณะของผู้ที่เป็นสาวก

. แต่ถ้าชำนาญแล้ว

สุ. เหมือนกัน เพราะฉะนั้น จึงมีบุคคลที่ต่างกัน เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑ เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ๑ และเป็นอนุพุทธะ คือ ผู้ที่เป็นสาวกซึ่งต้องฟังธรรม

เปิด  273
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565