แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1221

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฎราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๒๖


สุ. สำหรับสติปัฏฐาน ๔ ถ้าท่านผู้ฟังจะพิจารณาจากธรรมที่ได้ศึกษาแล้ว สติปัฏฐาน ๔ ได้แก่ สติเจตสิก ๑ ดวง เป็นโสภณเจตสิก เป็นกุศลเจตสิก เป็นเจตสิกฝ่ายดี แต่เพราะเหตุใดจึงทรงแสดงสติปัฏฐาน ๔ ซึ่งเมื่อรวมแล้วเป็น โพธิปักขิยธรรม ๓๗ โดยจำนวน

แสดงให้เห็นว่า แม้ว่าสติปัฏฐานเป็นสติเจตสิก แต่เพราะอารมณ์ที่สติจะต้องระลึกมีมากทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้น เพื่อรู้ในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนจนกว่าจะคลายการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้ จึงทรงแสดงสติปัฏฐาน ๔ โดยกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นการระลึก รู้ลักษณะของรูปที่เคยยึดถือว่าเป็นกาย ซึ่งไม่พอ เพราะการที่จะละการยึดถือ สภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ไม่ใช่เพียงสติระลึกลักษณะของรูปที่กายเท่านั้น ยังต้องระลึกลักษณะของเวทนาที่เป็นเวทนาขันธ์ ซึ่งเคยยึดถือเวทนา ความรู้สึกนั้นว่าเป็นเรา จึงมีเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานซึ่งสติจะต้องระลึกด้วย

และไม่ใช่ระลึกเพียงแต่กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ยังต้องระลึกสภาพของจิตต่างๆ ที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังรู้กลิ่น กำลังรู้รส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส กำลังคิดนึกต่างๆ

นอกจากนั้น โดยนัยของขันธ์ ๕ รูปที่กายเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนาขันธ์เป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน วิญญาณขันธ์เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน จึงยังมีธรรมที่เหลือ คือ สังขารขันธ์และสัญญาขันธ์ ซึ่งเป็นเหตุที่ทรงแสดง ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น สติปัฏฐาน แม้ว่าเป็นเพียงสติเจตสิกประเภทเดียว แต่ต้องเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏโดยทั่ว ทั้งกาย เวทนา จิต ธรรม และทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

ถ้าไม่ศึกษาโดยละเอียด และไม่ปฏิบัติให้สอดคล้องกับการศึกษา การพิจารณาธรรมย่อมไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรม โดยเฉพาะถ้าคิดว่า เพียงแต่รู้ลักษณะของรูปใดรูปหนึ่งรูปเดียวย่อมสามารถเป็นพระโสดาบันหรือเป็นถึง พระอรหันต์ได้ ก็พิสูจน์ได้ด้วยตัวเองว่า ถ้าเป็นโดยลักษณะนั้นแล้ว ทางตาที่เห็น ไม่สามารถที่จะละคลายการที่เคยยึดถือว่าสิ่งที่เห็นเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดหรือยังเป็นสัตว์ เป็นบุคคลอยู่ จนกว่าสติจะระลึกทางตา และจึงจะรู้ว่า สภาพของธรรมที่เป็นอนัตตา ที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนทางตาที่กำลังปรากฏ ต่างจากการที่สติยังไม่ระลึกนั้น อย่างไร

. เรื่องของเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ ๙ หมวด คือ โสมนัสเวทนา โทมนัสเวทนา อุเบกขาเวทนา ที่อาศัยเรือนก็มี และไม่อาศัยเรือนก็มี

การอาศัยเรือน คือ อาศัยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่ไม่อาศัยเรือน คือ อาศัยเนกขัมมะ ความหมายของเนกขัมมะที่แปลกันทั่วๆ ไป คือ ออกบวช ขอให้อาจารย์อธิบายขยายความเวทนาที่อาศัยเนกขัมมะ ในที่นี้หมายถึงอะไร

สุ. เวลาที่สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นเป็นเนกขัมมะด้วย เป็นการออกจากกาม เนกขัมมะ หมายความถึงออกจากกาม

. ไม่ได้หมายความว่า เป็นเพศที่ออกบวชหรือ

สุ. ด้วยการบวชเป็นบรรพชิต หรือด้วยข้อปฏิบัติ คือ การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ มี ๒ อย่าง

เพราะฉะนั้น แม้ว่าผู้นั้นจะเป็นคฤหัสถ์ ไม่ใช่บรรพชิต แต่เป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็ชื่อว่าเป็นภิกขุ แม้ไม่ใช่โดยเพศของการอุปสมบท แต่ข้อปฏิบัติทำให้เป็นภิกขุได้ เพราะว่าเป็นผู้ที่ออกจากกามด้วยการอบรมเจริญปัญญา

. โทมนัสที่อาศัยเรือน คือ อาศัยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่เป็นอนิฏฐารมณ์ ไม่มีปัญหา มีปัญหาที่โทมนัสที่อาศัยเนกขัมมะ ผมมองไม่เห็นเลยว่า ในขณะที่ออกจากเรือนเจริญสติปัฏฐานก็ดี หรือว่าอะไรที่จะทำให้เกิดโทมนัส โดยเฉพาะฌานจิต ฌานจิตที่ประกอบด้วยโทมนัสเวทนามีหรือ

สุ. ไม่มี แต่ฌานจิตเป็นอารมณ์ของโทมนัสเวทนาได้

. ไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น ฌานจิตทุกคนต้องการอยู่

สุ. ต้องการแต่ไม่ได้ เสียใจไหม

. เมื่อไม่ได้ ก็ไม่ใช่ฌานจิต

สุ. ถูก แต่ถ้าได้แล้วหมดไป ทำไมไม่เกิดอีก เสียใจไหม

. อ๋อ นัยนี้หรือ คิดไม่ออก ทำไมเป็นไปได้

สุ. แม้แต่ผู้ที่มีปัญญา มีความเห็นถูกแล้ว อกุศลเกิดได้ไหม นี่คือเรื่องที่จะต้องพิจารณาธรรมโดยละเอียดจริงๆ เป็นผู้ที่ตรงต่อธรรม ผู้ที่มีปัญญาเข้าใจ สภาพธรรมถูกต้องแล้ว อกุศลจิตเกิดได้ไหม เกิดได้ เราเข้าใจ คนอื่นไม่เข้าใจ เรารู้ คนอื่นไม่รู้อย่างเรา นั่นเป็นอกุศลหรือเปล่า ก็ยังเป็นอกุศลอยู่

เพราะฉะนั้น เพียงฌานจิต ยังไม่ใช่การรู้แจ้งอริยสัจธรรม ยังไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ย่อมจะมีโทมนัสเวทนาเมื่อไม่ได้ฌานตามความต้องการ อยากจะได้สิ่งใด เมื่อไม่ได้ก็เป็นทุกข์ แม้แต่ต้องการให้ฌานจิตเกิด ฌานจิตก็ไม่เกิดตามปรารถนา ก็เป็นทุกข์

สำหรับการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ได้กล่าวถึงแล้วโดยตลอด เพราะฉะนั้น จะขอกล่าวถึงบางข้อบางประการซึ่งจะเป็นข้อเตือนให้ประพฤติปฏิบัติตรงตามปริยัติที่ได้ฟัง เช่น ข้อความใน อรรถกถา สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค สุกสูตร อวิชชาวรรคที่ ๑ มีว่า

บทว่า มิจฺฉาปณิหิตตฺตา ภิกฺขเว ทิฏฺฐิยา ความว่า เพราะกัมมัสสกตปัญญาและมรรคภาวนาตั้งไว้ผิด คือ เพราะไม่ประพฤติตามกัมมัสสกตปัญญาและ มรรคภาวนา

ในพระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคทรงทำกัมมัสสกตญาณให้อาศัยมรรคแล้ว จึงตรัสมรรคคลุกเคล้ากัน

แสดงให้เห็นว่า ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานจริงๆ ย่อมสามารถเข้าใจกัมมัสสกตญาณได้ เช่น ขณะที่กำลังเห็นอยู่เดี๋ยวนี้ อาจจะมีทุกขเวทนาเกิดขึ้นทางหนึ่งทางใดได้ เพราะเป็นสภาพธรรมที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา สิ่งใดที่เกิดปรากฏกระทบกายและเกิดทุกขเวทนาขึ้น ย่อมเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว

หรือว่าทางหูในขณะนี้ ถ้าสติกำลังระลึกที่แข็ง สติก็ดับ ได้ยินเสียง ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติจะรู้ได้ว่า สภาพธรรมทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นปรากฏตามเหตุตามปัจจัย เพราะฉะนั้น สติไม่สามารถไปจดจ้องอยู่ที่หนึ่งที่ใดเพื่อที่จะรู้ แต่ต้องเป็นผู้ที่ตามรู้สภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ตามปกติ ตามความเป็นจริง

เมื่อเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ย่อมมีกัมมัสสกตญาณ คือ ปัญญาที่รู้กรรมและผลของกรรมว่า สภาพธรรมทุกอย่างที่ปรากฏ ไม่ใช่เป็นเพราะตัวตนที่จะไปบังคับหรือจะไปพยายามที่จะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏตามเหตุตามปัจจัย และถ้าเป็นสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ย่อมเป็นไปตามกัมมปัจจัย

ถ้ารู้อย่างนี้ ก็เป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานตามกัมมัสสกตปัญญาและ มรรคภาวนา แต่ที่ปฏิบัติผิด เพราะกัมมัสสกตปัญญาและมรรคภาวนาตั้งไว้ผิด คือ ไม่ใช่เป็นผู้มีที่ปกติเจริญสติปัฏฐานรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดดับอย่างรวดเร็ว อย่างละเอียดทุกๆ ขณะ ซึ่งนับไม่ถ้วนจริงๆ

เพราะฉะนั้น ข้อความมีว่า ในพระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคทรงทำกัมมัสสกตญาณให้อาศัยมรรคแล้ว จึงตรัสมรรคคลุกเคล้ากัน แสดงให้เห็นว่า ต้องเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งการอบรมเจริญปัญญาจะต้องนานสักเท่าไร ลองคิดดู ขณะนี้ทางหู สติระลึกศึกษาลักษณะของเสียงที่กำลังปรากฏหรือเปล่า เสียงหนึ่งดับไป ถ้าสติเกิดมีเสียงใหม่ปรากฏแล้ว และยังมีเสียงอื่นปรากฏต่อไปอีก และก็ยังมีการคิดนึกเกิดคั่น เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานจะต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเกิดดับสืบต่อกัน

นี่เป็นประโยชน์ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระอภิธรรมและวิถีจิต เพื่อให้เห็นว่า สภาพธรรมเกิดดับสืบต่อปรากฏอย่างรวดเร็วซึ่งสติจะต้องระลึกรู้ตามความเป็นจริง

กัปหนึ่งพอไหมที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่พอ ใช่ไหม ต้องหลายพัน หลาย หมื่นกัป ถ้าต้องการใน ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน ในชาตินี้ จะเป็นไปได้ไหม เพราะฉะนั้น ต้องรู้ว่า ปัญญาจริงๆ ที่ต้องอบรมจนกว่าจะละคลายความไม่รู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่ปรากฏ จะต้องอบรมเจริญตามปกติอย่างไร

. ขอให้อาจารย์บรรยายคำว่า อิริยาบถปิดบังทุกข์

สุ. ก่อนที่จะกล่าวถึงข้อความใน คัมภีร์สัจจสังเขป เรื่องอิริยาบถปิดบังทุกข์ ขอกล่าวถึงข้อความใน สัมโมหวิโนทนี อรรถกถา พระวิภังคปกรณ์ สติปัฏฐานวิภังคนิทเทส อธิบายคำว่า กายานุปัสสี คือ มีปกติตามเห็นกาย ข้อความตอนหนึ่งมีว่า

ก็กายแม้ใด กล่าวคือ ที่ประชุมแห่งภูตรูปและอุปาทายรูป มีผม ขน เป็นต้น มีอยู่ในกายนี้ จึงมิได้ตรัสว่า มีปกติตามเห็นธรรมสักอย่างหนึ่งนอกจาก ภูตรูปและอุปาทายรูปในกายแม้นั้น

พอไหมที่จะพิจารณาข้อความตอนนี้ ที่ว่า ไม่ทรงแสดงกายโดยบรรพใด เช่น โดยการระลึกถึงส่วนที่เป็นผม ขน เล็บ ฟัน หนัง หรือโดยบรรพอื่น เช่น อานาปานบรรพ หรือบรรพอื่นๆ ก็ตามในหมวดของกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

ก็กายแม้ใด กล่าวคือ ที่ประชุมแห่งภูตรูปและอุปาทายรูป มีผม ขน เป็นต้น มีอยู่ในกายนี้ จึงมิได้ตรัสว่า มีปกติตามเห็นธรรมสักอย่างหนึ่งนอกจาก ภูตรูปและอุปาทายรูปในกายแม้นั้น

เพราะฉะนั้น ถ้าพิจารณาข้อความสั้นๆ อย่างนี้โดยละเอียดกลับไปกลับมา จริงๆ จะรู้ว่า ในขณะที่สติระลึกที่กาย ลักษณะของมหาภูตรูปย่อมปรากฏ หรือลักษณะของอุปาทายรูป คือ รูปที่ไม่ใช่มหาภูตรูปก็ปรากฏได้ แต่อย่าลืมว่า ต้องเป็นลักษณะของอุปาทายรูป เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นลักษณะของอุปาทายรูป อุปาทายรูปที่ปรากฏที่กายมีลักษณะอย่างไร ต้องเป็นลักษณะของอุปาทายรูปจริงๆ จึงไม่ใช่ท่าทาง ถ้าจะเป็นวิการรูป คือ ลักษณะที่เบาของมหาภูตรูป ลักษณะที่อ่อนของมหาภูตรูป ลักษณะที่ควรแก่การงานของมหาภูตรูปย่อมปรากฏที่กาย เพราะฉะนั้น อย่าลืมว่า เมื่อใช้คำว่า ก็กายแม้ใด กล่าวคือ ที่ประชุมแห่งภูตรูปและอุปาทายรูป มีผม ขน เป็นต้น มีอยู่ในกายนี้ จึงมิได้ตรัสว่า มีปกติตามเห็นธรรมสักอย่างหนึ่ง นอกจาก ภูตรูปและอุปาทายรูป ซึ่งเมื่อเป็นอุปาทายรูป ต้องเป็นอุปาทายรูปจริงๆ ไม่ใช่ท่าทาง แต่ต้องเป็นลักษณะที่เบา หรืออ่อน หรือควรแก่การงานของมหาภูตรูป

ขณะที่นั่ง สามารถพิจารณากายได้ ใช่ไหม มีลักษณะของมหาภูตรูปปรากฏจึงรู้ในลักษณะของกายได้ ถ้าลักษณะของมหาภูตรูปไม่ปรากฏ จะรู้ลักษณะของกาย ได้ไหม ก็ไม่ได้ หรือมิฉะนั้นลักษณะของอุปาทายรูปก็ปรากฏจึงรู้ได้ ถ้าเจริญ สติปัฏฐาน ระลึกรู้ลักษณะของมหาภูตรูปที่กาย ในบางครั้ง บางขณะ สามารถจะรู้ถึงอาการที่วิการของมหาภูตรูปแต่ละส่วนซึ่งต่างกันได้ ส่วนซึ่งกำลังเคลื่อนไหว ในขณะนั้นเป็นลักษณะที่วิการของมหาภูตรูป ไม่เหมือนส่วนของมหาภูตรูปซึ่งไม่ได้เคลื่อนไหว แต่ต้องเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานและต้องระลึกรู้ลักษณะของมหาภูตรูปก่อน จึงจะสังเกตพิจารณาลักษณะของมหาภูตรูปซึ่งวิการต่างจาก มหาภูตรูปที่เคยปรากฏ และก็รู้ว่าต้องมีลักษณะของสภาพธรรมปรากฏจริงๆ

ในขณะที่กำลังนั่ง ถ้าหลับตา รูปซึ่งกำลังทรงอยู่ ตั้งอยู่ ซึ่งเคยคิดว่าเป็นเรา เป็นตัวตนที่กำลังนั่งอยู่ มีลักษณะของรูปใดปรากฏ มีแข็งก็ได้ อ่อนก็ได้ ร้อนก็ได้ หรือเย็นก็ได้ เท่านั้นเอง แต่ความทรงจำซึ่งเคยจำได้ว่า เรามีศีรษะ เรามีแขน เรามีขา หมดไปหรือยัง ยังจำอยู่ ยังไม่หมด แต่ว่าลักษณะของศีรษะก็ตาม ลักษณะของ แขน ขา เท้า ไม่ปรากฏเลย นอกจากลักษณะของแข็งหรืออ่อน ร้อนหรือเย็น ตึงหรือไหว ซึ่งทุกท่านพิสูจน์ธรรมในขณะนี้ได้ ถ้าไม่นึกถึงศีรษะ แต่มีแข็งกำลังปรากฏนิดเดียว เราไม่มี ศีรษะของเราก็ไม่มี อาจจะจำได้ว่า เรามี แต่เมื่อศีรษะไม่ได้ปรากฏ จำไว้ถูกหรือผิดที่ว่ายังมีเราซึ่งมีศีรษะ เพราะขณะนั้นจริงๆ มีแต่แข็งและสภาพที่รู้แข็ง ถ้าไม่ลดลงจนกระทั่งเหลือเล็กนิดเดียว คือ ส่วนที่ปรากฏ ยังมี อัตตสัญญา ความทรงจำว่ามีเรา มีกายของเรา มีท่าทางของเราซึ่งกำลังทรงอยู่ตั้งอยู่ในอิริยาบถหนึ่งอิริยาบถใด ในขณะนั้นจะละสักกายทิฏฐิ การยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นเรา เป็นร่างกาย เป็นกายของเราไม่ได้

แต่ถ้าสติระลึกเฉพาะส่วนของแข็ง เล็กนิดเดียวที่ปรากฏ ไม่มีส่วนอื่นปะปนเลย ในขณะนั้นจะรู้ว่า ไม่มีเรา ไม่มีตัวตนเลยจริงๆ เพราะว่าจิตเกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะ และรู้อารมณ์ทีละอย่าง เพราะฉะนั้น ชั่วขณะของแข็งนิดเดียวนั่นแหละเห็นแล้วว่าไม่ใช่เรา แต่เพราะเหตุว่าความทรงจำส่วนอื่นยังมี อัตตสัญญายังมี ก็เลยจำยึดโยงไว้ว่าเป็นท่าทาง

เพราะฉะนั้น ตราบใดที่ยังไม่เพิกถอนอิริยาบถ ยังมีความทรงจำอิริยาบถอยู่ ตราบนั้นย่อมไม่สามารถที่จะเห็นว่า สภาพธรรมที่แท้จริง คือ ชั่วขณะที่จิตเกิดขึ้นรู้แข็งแล้วดับ จึงไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

ข้อความต่อไปมีว่า

อันที่จริง ทรงแสดงการแยกฆนะ (คือ กลุ่มก้อนที่รวมกัน) โดยการแสดงวัตถุ กล่าวคือกาย ด้วยอำนาจแห่งกาย คือ ที่ประชุมนั่นแหละ โดยประการต่างๆ ว่า เป็นผู้มีปกติตามเห็นการประชุมแห่งอวัยวะน้อยใหญ่ทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุคคลผู้ตรวจดูส่วนประกอบแห่งรถด้วย เป็นผู้มีปกติตามเห็นการประชุมแห่งโกฏฐาสทั้งหลาย มีผม ขน เป็นต้น เปรียบเหมือนบุคคลผู้ตรวจดูส่วนประกอบน้อยใหญ่ของเมืองด้วย เป็นผู้มีปกติตามเห็นการประชุมของภูตรูป อุปาทายรูปทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุคคลแยกใบกล้วยหยวกกล้วยออกจากลำต้นกล้วย และเปรียบเหมือนผู้แบกำมืออันเปล่าด้วยฉะนั้น

คำว่า กาย มีความหมายว่า เป็นที่ประชุมของสภาพธรรมต่างๆ ถ้าไม่ประชุม ก็มีแต่แข็งกระจัดกระจายอยู่ในที่ต่างๆ จะเป็นกายได้ไหม ก็ไม่ได้ แต่เพราะว่า ธาตุดินมาประชุมรวมกันเป็นส่วนต่างๆ เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง คิ้ว ตา หู จมูก จึงทำให้เป็นกายเกิดขึ้น

เปิด  270
ปรับปรุง  19 ต.ค. 2566